วันอังคาร, มกราคม 25, 2554

ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา กับปัญหาการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตย

บันทึกของ วิสา คัญทัพ ฉบับที่ 9
โดย Visa Khanthap ณ วันที่ 25 มกราคม 2011 เวลา 20:33 น.

ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา กับปัญหาการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตย

หยุดเอาความขัดแย้งทางชนชาติ

มากลบเกลื่อนความขัดแย้งทางชนชั้น



เมื่อ ใดก็ตามที่ปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นดำเนินไปอย่างดุเดือดแหลมคมและรุนแรง องค์ประกอบและแนวร่วมต่างๆของ “คนชั้นสูง” บวก “คนชั้นกลางส่วนบน” ซึ่งรวมกันเป็นชนชั้นปกครองก็จะดำเนินการสร้างเรื่องปลุกระดมความคลั่งชาติ เพื่อให้เกิดความขัดแย้งทางชนชาติ

ขอย้ำว่า ความขัดแย้งทางชนชั้นถึงที่สุดแล้วคือเรื่องผลประโยชน์ อำนาจบารมี ความไร้ซึ่งความเสมอภาค ภราดรภาพ และความเป็นธรรม ส่วนความขัดแย้งทางชนชาติเป็นผลสืบเนื่องมาจากชนชั้นสูงที่ต้องการสร้าง อิทธิพลและครอบครองผลประโยชน์ จึงสร้างรัฐชาติขึ้นมา แล้วทำสงครามรบราแย่งชิงดินแดนสร้างแคว้นสร้างอาณาจักร ทั้งๆที่ประชาชนธรรมดาสามัญมิได้ดำรงเผ่าพันธุ์ไว้เพื่อขัดแย้งและต่อสู้ หากดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ด้วยความรักความสัมพันธ์อันดีน้ำใจไมตรี และภราดรภาพ ชายแดนของทุกประเทศในโลกที่ความขัดแย้งทางชนชั้นอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำที่สุด มักจะเป็นชายแดนที่สันติสงบ ประชาชนไปมาหาสู่สัมพันธ์กัน สืบผสมเผ่าพันธุ์กัน เป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติกัน ทำมาค้าขาย ไปมาหาสู่ ข้ามแดน make love not war อยู่ร่วมกันโดยปกติสุข

สังคมไทยวันนี้เป็น อย่างไร ความขัดแย้งทางชนชั้นดุเดือดแหลมคม บารมีและอำนาจของคนชั้นสูง ขุนศึก ศักดินาถูกท้าทายลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความขัดแย้งทางชนชาติจึงถูกกลุ่มสมุนบริวารที่รับใช้อำนาจเก่าหยิบยกขึ้นมา เพื่อกลบเกลื่อนความขัดแย้งทางชนชั้น หมายลวงให้คนเสื้อแดงบางส่วนหลงทาง ดีที่แกนนำหลักขององค์กรเสื้อแดงยึดกุมแนวทางการต่อสู้ทางชนชั้นได้มั่นคง ทั้งเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาเรื่องข้อพิพาทระหว่างดินแดนไทยกัมพูชา แจ่มชัด ส่วนคนชั้นล่างอันเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมก็ตื่อนตัวในเรื่องการต่อสู้ทางชน ชั้น และไม่ใส่ใจจดจำการศึกษาประวัติศาสตร์ชาตินิยมบิดเบือนที่กระทรวงศึกษาธิการ ของรัฐชาติพยายามยัดเยียดให้ตลอดมาทุกรุ่นของเยาวชนตลอดร่วมร้อยปีที่ผ่านมา

ขุนวิจิตรวาทการไปเอาแผนที่จากเวียดนามที่เขียนโดยฝรั่งเศสมาอธิบายความให้จอม พล ป.พิบูลสงครามฟังว่าคนไทยมีเผ่าพันธุ์กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เลยเกิดความคิดที่จะรวมชาติไทยซึ่งไม่รู้ว่ามีจริงหรือเปล่า เพื่อทำลายความหลากหลายทางชนชาติที่มีอยู่ในอาณาจักรสยาม (ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ถูกปกครอง) คำถามก็คือประชาชนธรรมดาทั่วไปพูดภาษาอะไรกันบ้าง และชนชั้นผู้ปกครองพูดภาษาอะไรในเวลานั้น โดยที่ภาษาไทยกับภาษาลาวแทบไม่ได้ต่างกันอยู่แล้วโดยพื้นฐาน พูดกันโดยไม่ต้องใช้ล่ามแปลก็เข้าใจเรียกว่า 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เว้นเสียแต่สำเนียงเสียงที่ต่างกันไปเท่านั้น ชนชั้นผู้ปกครองในเมืองเวลานั้นอาจพูดภาษาลาวสำเนียงเมืองหลวงก็ได้ หรือพูดเหน่อแบบสุพรรณฯ สำเนียงเมืองหลวงสมัยอยุธยาเป็นอย่างไร หรือสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน กระทั่งสำเนียงพูดสมัยขุนวิจิตรวาทการเองก็คงไม่เหมือนสำเนียงคนกรุงเทพฯใน ปัจจุบันนี้ (ชิมิ) เช่นนี้เป็นต้น ผมขออนุญาตยกข้อความซึ่งเรียบเรียงจากเค้าความบางตอนในต้นฉบับของหนังสือ "MA VIE MOUVEMENTEE" ฯ โดยปรีดี พนมยงค์ เขียนที่ชานกรุงปารีส เมื่อ 2 เมษายน 2517

(สาเหตุแห่งการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย นั้น สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม(ยศและบรรดาศักดิ์ขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ เป็นนายกรัฐมนตรี ในบรรดารัฐมนตรีแห่งรัฐบาลนั้น มีข้าพเจ้าด้วยผู้หนึ่งซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นรัฐมนตรีลอย (ไม่ว่าการกระทรวง)

ต่อมาประมาณอีก 4-5 เดือน หลวงวิจิตรวาทการได้เดินทางไปฮานอย เพื่อชมกิจการโบราณคดีของสำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศส เมื่อหลวงวิจิตรฯ กลับจากฮานอย ได้นำแผนที่ฉบับหนึ่งซึ่งสำนักฝรั่งเศสนั้นได้จัดทำขึ้น แสดงว่ามีคนเชื้อชาติไทยอยู่มากมายหลายแห่งในแหลมอินโดจีน ในประเทศจีนใต้ ในพม่า และในมณฑลอัสสัมของอินเดีย

ครั้นแล้วผู้ฟังวิทยุ กระจายเสียงได้ยินและหลายคนยังคงจำกันได้ว่า สถานีวิทยุกรมโฆษณาการ (ต่อมาปัจจุบันคือ กรมประชาสัมพันธ์) ได้กระจายเสียงเพลงที่หลวงวิจิตรฯรำพันถึงชนเชื้อชาติไทยที่มีอยู่ในดินแดน ต่างๆ และมีการโฆษณาเรื่อง "มหาอาณาจักรไทย" ที่จะรวมชนเชื้อชาติไทยในประเทศต่างๆ เข้าเป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน ทำนองที่ฮิตเลอร์กำลังทำอยู่ในยุโรป ในการรวมชนเชื้อชาติเยอรมันในประเทศต่างๆ ให้เข้าอยู่ในมหาอาณาจักรเยอรมัน

ใน การประชุมวันหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปัญหาด่วนนอกระเบียบวาระ โดยให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แถลงให้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" โดยนำสำเนาแผนที่ฉบับที่สำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศสทำไว้ ว่าด้วยแหล่งของชนเชื้อชาติไทยต่างๆ มาแสดงในที่ประชุมด้วย โดยอ้างว่า "สยาม" มาจากภาษาสันสกฤต "ศยามะ" แปลว่า "ดำ" จึงไม่ใช่ชื่อประเทศของคนเชื้อชาติไทยซึ่งเป็นคนผิวเหลืองไม่ใช่ผิวดำ และอ้างว่าคำว่า "สยาม" แผลงมาจากจีน "เซี่ยมล้อ"

การ เปลี่ยนชื่อสยามมาเป็นประเทศไทย นอกจากจะเป็นการทำลายความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสยามลงไปแล้ว แท้จริงข้อที่ว่าได้ “รวบรวมชนเผ่าไทย” นั้นยังน่าสงสัยว่า “ชนเผ่าไทย” มีจริงหรือไม่ ลำพังแผนที่ที่เอามาจากฝรั่งเศสย่อมไม่มีน้ำหนักพอเพียงที่จะทำให้เชื่อได้ ตามฝรั่งว่า การที่บอกว่ามีไทยอยู่ในที่ต่างๆทั่วอินโดจีน อาจหมายถึงไทยในความหมายที่เป็น “คน” ก็ได้เพราะในภาษาลาว คำว่า “ไท” มีความหมายว่า “คน” “ไทบ้านใด๋” ก็คือ “คนที่ไหน” เท่านั้นเอง จึงเป็นความเข้าใจผิดพลาด

ผมมีความเชื่อว่าสิ่งยืนยันถึงลักษณะ การดำรงอยู่ของชาติพันธุ์ที่ดีที่สุดน่าจะอยู่ที่ภาษา ภาษาที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของภาษาไทย อย่างศิลาจารึกสมัยสุโขทัยก็ถูกนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ปฏิเสธด้วยหลักฐานยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ทำขึ้นในภายหลัง ดังนั้นจึงแทบไม่จำเป็นต้องสงสัยเลย หากศึกษาอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบคำตอบว่ารากที่มาของภาษาไทยอาจมาจากภาษาลาว ภาษาเขมร และภาษาบาลีสันสกฤต ภาษาไทยเหมือนภาษาลาวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยล่ามแปลดัง กล่าว ส่วนภาษาเขมร มีคำไทยเหมือนคำเขมรกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ที่บอกว่าตัวเลขไทย ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แท้จริงแล้วเอามาจากเขมรหรือเปล่าเป็นเรื่องที่น่าค้นคว้า พ้นจากเรื่องของภาษาก็คงเป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ซึ่งจะยืนยันถึงอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี พูดให้ถึงที่สุด ปรางแขก ปรางสามยอดที่ลพบุรี ประสาทหินพิมายที่โคราช หรือเขาพนมรุ้งที่บุรีรัมย์ และอื่นๆ ฯลฯ ย่อมเป็นของขอม หรือขแมร์ทั้งสิ้น หากพิจารณาย้อนไปยังยุคแห่งอานาจักรชัยวรมันที่ 7 เพราะฉะนั้น การพิจารณาปัญหาการปักปันเขตแดนจะเอายุคอาณาจักรซึ่งไม่เคยมีแผนที่แบ่งเขต มาปะปนกับยุครัฐชาติในปัจจุบันไม่ได้ ลองฟังทัศนะของนักประวัติศาสตร์อย่าง อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

“ปัญหามันเกิดเมื่อ 100 กว่าปีก่อน สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเข้ามา ก็นำแผนที่ พิกัด การปักปันเขตแดนเข้ามาในภูมิภาคนี้ ทั้งที่สมัยนั้น ไม่มีหรอกคำว่าเขตแดน รัฐชาติก็ยังไม่มี ยังเป็นอาณาจักร ซึ่งอาณาจักรจะเล็กหรือใหญ่ ก็ขึ้นอยู่กับศูนย์กลาง ว่ามีอำนาจแค่ไหน ถ้ามีมากก็ขยายกว้าง ถ้ามีน้อยก็หดลง ครั้งหนึ่งกัมพูชาเคยกว้างใหญ่ไพศาลมาก แต่พอเสื่อมก็หดลงอย่างที่เห็นปัจจุบัน เรื่องเขตแดนจึงเป็นมรดกของฝรั่งโดยแท้ ประเทศไทยก็รับมาจากสยาม กัมพูชาก็รับมาจากฝรั่งเศส ซึ่งบางคนคิดว่าไทยกับสยามเหมือนกัน ผมว่าไม่เหมือนนะ วิธีคิดไม่เหมือนกัน เหมือนกัมพูชาสมัยนั้นกับสมัยนี้ก็คิดไม่เหมือนกัน”

“กระแส ชาตินิยมมันปลุกได้เป็นครั้งคราวแล้วแต่ประเด็น ถ้าประเด็นมันฮอตก็ปลุกขึ้นได้ แต่สมัยปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปเยอะ คนมีข้อมูลข่าวสารมาก ทำให้รู้อะไรที่ไม่เคยรู้ สิ่งที่เคยรู้เฉพาะในหมู่ผู้ปกครองก็รู้กันมากขึ้น บ้านเมืองเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่รุนแรงมาก เปลี่ยนจากความคิดเดิมมาเป็นความคิดใหม่ แต่หลายอย่างมันเปลี่ยนไม่ทัน อย่างตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่พูดเฉพาะการเสียดินแดน 14 ครั้ง แต่ไม่เคยบอกว่า ได้ดินแดนอะไรมาบ้าง

ถ้าคุณไปเปิดหนังสือ “แผนที่ภูมิศาสตร์ไทย” ของ ทองใบ แตงน้อย ที่ให้เด็กม.4 ม.5 เรียน หนังสือเล่มนี้ได้สร้างอคติให้กับคนไทยได้อย่างวิเศษสุด เพราะทำให้มองอะไรด้านเดียว เขียนแผนที่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย-อยุธยาว่ามีอาณาเขตเท่าไร ทั้งที่ในยุคนั้นยังไม่มีแผนที่ ไม่มีเขตแดน ยังเป็นอาณาจักรอยู่ การทำแผนที่ของไทย เริ่มครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 ที่รัฐบาลสยามจ้าง James McCarthy ทำ แผนที่ เมื่อปี ค.ศ.1888/พ.ศ.2431 ก่อนหน้านั้นสยามไม่มีแผนที่ มีแต่แผนการเดินทัพ ซึ่งไม่ได้บอกเขตแดนอะไรเลย บอกแค่ว่าหงสาวดีมาเจอกับอยุธยาแถวๆนี้แหล่ะ แต่หนังสือของทองใบ กลับบอกว่าสุโขทัย-อยุธยามีเท่าไร แล้วเขียนแค่ว่าไทยเสียดินแดนไปเท่าไร โดยไม่ได้บอกว่าเคยได้มาเท่าไร ทำให้คนไทยคิดว่า ไอ้นี่ก็ของเราๆ

แผนที่ซึ่งรัฐบาลสยามให้ทำครั้งแรก หรือแผนที่ McCarthy ตอนนั้นยังไปกินลาวและเขมรอยู่ แต่ค่อยๆหดลงไปเรื่อยๆ แต่เวลาทองใบ แดงน้อยเขียนหนังสือกลับบอกว่ามี ซึ่งหมายความว่า ตำราเรียนนั้นไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็น อประวัติศาสตร์ เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก อ.ธงชัย วินิจกูล เป็นคนแรกที่ชี้ประเด็นนี้* ถ้าไม่แก้ตำราเรียนของทองใบ แตงน้อย ก็ยากมากที่จะแก้ไขอคติของคน คนไทยก็จะบอกว่าไอ้นี่ก็ของเรา ทั้งที่ความจริงมันเป็นของเขา ลาวเป็นของใคร ก็ต้องของคนลาว แต่คนไทยเอามาหนหนึ่ง แล้วหลุดมือไป ถามว่าตอนนี้จะไปเอากลับมาได้ไหม ไม่ได้แล้ว..เพราะมันเกิดชาตินิยมในลาว หรือเราจะไปเอาเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณคืนจากกัมพูชาได้หรือเปล่า..ก็ไม่ได้”

เมื่อศิลาจารึกที่ นับว่าเก่าที่สุดยังถูกพิสูจน์ทราบว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาภายหลัง เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ตัวเองให้ยิ่งใหญ่ แล้วยังจะมีอะไรอีกเล่าที่บอกว่าเป็น “ของไทย” เครื่องดนตรี พิณ แคน ระนาด ซอ เมื่อขุดค้นรากที่มาแล้วก็หาไม่พบความเป็นของไทย ชนชั้นสูงที่ผูกขาดการปกครองในอดีตบิดเบือนประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็นไทย ได้ส่อเค้าให้เห็นการเปลี่ยนความรักสามัคคีของทุกหมู่เหล่าเผ่าพันธุ์อัน หลากหลายให้กลายไปเป็นไทยเดียวที่มีแต่ชื่อหากปราศจากวิญญาณ

ศูนย์รวม ความเป็นชาติย่อมอยู่ที่ประชาชน ถ้าไทยเป็นชื่อที่ขุนวิจิตรมาตราและจอมพล ป.พิบูลสงคราม คิดขึ้นจากแผนที่ฝรั่งเศสที่อาจไม่รู้เรื่องชาวอุษาคเนย์ที่แท้จริง เหตุที่คิดในวันนั้นกำลังจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในวันนี้ด้วยน้ำ มือของ “ชนชั้นสูง” กลุ่มเดิม เพราะปัญหาชนชาติ เนื้อแท้ก็คือปัญหาชนชั้น ถ้าเรายังเป็นประเทศสยาม พิณแคนระนาดซอก็ย่อมเป็นเครื่องดนตรีสยามอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสยามอยู่มานับเป็นพันปีแล้วขณะที่ประเทศไทยของ จอมพล ป.อยู่มายังไม่ถึงเจ็ดสิบปีเลย

เพราะฉะนั้นการต่อสู้ทางชนชั้นขณะนี้ กำลังขับเคลื่อนไปม้วนเอาความขัดแย้งทางชนชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะรวมไปพัวพันถึงความสงสัยในเรื่องชื่อประเทศไทยที่ทำไมต้องเปลี่ยนจาก สยาม ทำไม เพราะเหตุใด เปลี่ยนแล้วดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ทำให้ชาติเจริญก้าวหน้าหรือเสื่อมโทรมถอยหลัง สามัคคีหรือแตกแยก โดยที่เวลานี้ตัวละครที่เปิดการแสดงนำร่องก่อนเป็น “กัมพูชา” แต่หากจัดการไม่ถูก ตัวละครก็จะเป็นเพื่อนบ้านชาติอื่นๆต่อไป เท่ากับว่าชื่อประเทศไม่เป็นมงคลนำมาซึ่งความแตกแยกทั้งชาวสยามด้วยกันเอง และเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่าลืมว่าเมื่อเรานึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง เรามักจะนึกถึงพระสยามเทวาธิราช ไม่เห็นมีใครอ้างถึงพระไทยเทวาธิราชเลย ลองไปฟัง อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เปรียบเทียบสยามเป็นบ้านทรายทอง ส่วนประเทศไทยเป็นแค่บ้านสว่างวงศ์

“คำว่าสยาม หรือ Siam นั้นหมายถึงดินแดนหรือแผ่นดิน หมายถึงบ้านเมือง ส่วนคำว่าไทย Thai/Tai หมายถึงคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ อาศัยร่วมกับคนชนเชื้อชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย/ไท ลาว คนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ จาม ชวา มลายู ซาไก มอแกน ทมิฬ เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่งชาติต่างๆ แขกชาติต่างๆ ลูกครึ่งอีกเยอะมาก..ดังนั้นเราจะต้องไม่สับสนระหว่างบ้านเมืองกับคนที่อาศัยอยู่ในบ้านในเมืองนี้ ยก ตัวอย่าง อุปมาอุปมัยให้เห็นชัดๆ ก็คือบ้านทรายทองเป็นนามของบ้าน แต่คนที่อยู่ในบ้านนั้น มีทั้งสว่างวงศ์ มีทั้งพินิตนันท์ ถ้าอยู่ๆ วันดีคืนร้ายพวก สว่างวงศ์ลุกขึ้นมายึดอำนาจแย่งชิงไป แล้วก็เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็นบ้านสว่างวงศ์ก็คงพิลึกพิลั่น” (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)

ถึง วันนี้ ความพยายามที่จะ “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” โดยบิดเบือนความจริงแห่งความเป็นมาของสยามเดิมทำท่าว่าจะไปไม่รอด เพราะชาติเชื้อต่างๆในสยาม แท้จริงแล้วก็มิได้มี “คนไทย”เป็นส่วนใหญ่ หรือหนักกว่านั้น“ไทย”อาจไม่มีจริง ไทยเป็นเพียงคำที่แปลว่า “คน” ดังที่ได้กล่าวมา ที่สำคัญ ทุกคนที่ถูกบังคับให้เป็นไทยต้องเป็นไพร่เป็นข้าของคนชั้นสูงที่กดขี่เอารัด เอาเปรียบ แม้ในยุคโลกเจริญรุดหน้าเป็นโลกไร้พรหมแดนขณะนี้เสรีภาพที่แท้จริงก็ยังไม่ บังเกิดขึ้น

ถึงที่สุดคนก็จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “กูเป็นคนไทยหรือเปล่า” และถ้ากูไม่ใช่คนไทย แผ่นดินนี้เป็นของกูหรือเปล่า ถ้าแผ่นดินนี้เป็น “สยาม” แผ่นดินนี้ก็เป็นของกู แต่ถ้าแผ่นดินนี้เป็น “ประเทศไทย” แผ่นดินนี้กูก็ต้องต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชกลับคืนมา เหมือนดั่งเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งลึกๆแล้ว รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องเพราะคนเหล่านั้นเกิดความรู้สึกไม่ใช่ไทยดังกล่าว และแผ่นดินที่เขาอยู่วันนี้ก็ไม่ใช่แผ่นดินสยามเดิม หากเป็นแผ่นดินประเทศไทยซึ่งมิใช่แผ่นดินของเขา

เราต้องยอมรับว่า การปราบปรามเข่นฆ่าไล่ล่าคนเสื้อแดง ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมวันนี้ นอกจากปลุกจิตสำนึกการต่อสู้ทางชนชั้นแล้ว ยังปลุกประเด็นปัญหาชนชาติขึ้นมาเป็นเงาตามตัว เพราะคนที่ถูกปราบปรามดังกล่าวเป็นคนชั้นล่างจากท้องถิ่นต่างจังหวัด เหนือ อีสาน กลาง ใต้ ซึ่งไม่ได้พูดภาษาไทยบางกอกอยู่แล้ว

ดังนั้นจึงอยาก ถามว่า การปลุกกระแสคลั่งชาติของพันธมิตรเสื้อเหลืองคือการทำงานเพื่อกลบเกลื่อนการ ต่อสู้ทางชนชั้นให้กลายเป็นเรื่องคนไทยแตกแยกกันเพราะปัญหาความขัดแย้งทางชน ชาติใช่หรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องฐานะครอบงำของชนชั้นสูงให้ดำรงอยู่อย่างสง่างามและทรง บารมีต่อไป

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ความขัดแย้งทางชนชาติล้วนมาจากการปลุกกระแสของคนชั้นสูงที่ดำรงฐานะเป็นผู้ ปกครองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นด้านหลัก ประชาชนจำต้องฉลาด รู้เท่าทัน แยกแยะประเด็นให้ออก ไม่ตกเป็นเครื่องมือ หลงวู่วามไปตามกระแส ซึ่งจะส่งผลเสียหายให้กับประเทศชาติในท้ายที่สุด.


(บันทึกเขียนเสร็จ วันที่ 25 มกราคม 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น