วันจันทร์, มกราคม 24, 2554
ไข่ชั่งกิโลฯป่วน พ่อค้าคนกลางโวยถูกตัดตอน มองปัญหาปลายเหตุ เชื่อสุดท้ายเหลว !!
ขายไข่เป็นกิโลกรัมส่อเค้าวุ่นหนัก คนซื้อ-ผู้ค้าไข่ตั้งคำถาม จะเปลี่ยนระบบให้วุ่นวายไปทำไม กับการคิดกำไร 5-10 สตางค์ มองปัญหาที่ปลายเหตุ แต่กลับไม่ยอมไปดูแลราคาไข่ ณ หน้าฟาร์มที่ประกาศขึ้นกันโครม ๆ ครั้งละ 10 สตางค์ เชื่อสุดท้ายเหลว กลายเป็นนโยบายสร้างภาพ ด้าน "ล้ง" หวั่นกลัวถูกตัดตอนออกจากระบบค้าไข่ไก่ในปัจจุบัน
การเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลด้วยการขอความร่วมมือให้ พ่อค้า-แม่ค้าในตลาดสดขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม (ก.ก.) ควบคู่กับการขายไข่เป็นเบอร์แบบเดิม ได้สร้างความวุ่นวายให้กับทั้งผู้บริโภคและระบบการค้าไข่ไก่ในปัจจุบัน เมื่อมีการคำนวณออกมาแล้วพบว่า ไม่ว่าจะซื้อไข่ไก่เป็นเบอร์หรือซื้อไข่ไก่เป็น ก.ก. ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่วิธีการซื้อไข่ไก่เป็น ก.ก.กลับเพิ่มภาระและความยุ่งยากให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
กรมการ ค้าภายใน โดยนางวัชรี วิมุกตายน อธิบดี ได้ "ขอความร่วมมือ" ไปยังตลาดสดและผู้ค้าไข่ไก่ให้เพิ่มช่องทางเลือกในการซื้อไข่ไก่ให้กับผู้ บริโภคจากปัจจุบันที่จำหน่ายไข่ไก่เป็นเบอร์ (เบอร์ 0-5) มาเป็นการจำหน่ายเป็น ก.ก.ด้วยวิธีชั่งในราคา ก.ก.ละ 50-52 บาท โดยเชื่อว่า ผู้ขายจะประหยัดต้นทุนคัดไข่ไปได้ 5-10 บาท/ก.ก. (ฟองละ 10 สตางค์) และผู้ซื้อจะประหยัดเงินลงไปได้ 2-3 บาท/ก.ก. การขายไข่เป็น ก.ก.จะเริ่มจำหน่ายตามตลาดสดธงฟ้าในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังผู้ค้าไข่ไก่ในตลาดส่วนใหญ่ตอบตรงกันว่า ระบบการขายไข่ไก่เป็น ก.ก.จะสร้างความยุ่งยากมากกว่าการขายเป็นเบอร์ในปัจจุบัน โดยสิ่งที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไข่จะต้องเจอหลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ก็คือ 1) ความเสียหายจากการเลือกไข่ในกระจาดแบบคละขายเป็น ก.ก. บางคนต้องการไข่เป็นจำนวนมากก็จะเลือกไข่เบอร์ 4-5 ขณะที่บางคนต้องการไข่ใหญ่ก็จะเลือกแต่เบอร์ 0-2 ในกระจาด ในแง่ผู้ขายต้องการให้ไข่ทุกเบอร์กระจายกันอยู่ในการซื้อแต่ละครั้ง (1 ก.ก.) ยิ่งเลือกมากความเสี่ยงที่จะเกิดจากไข่แตกก็สูงมากขึ้นด้วย
2) เรื่องของน้ำหนักไข่ในแต่ละฟอง เนื่องจากการขายไข่เป็น ก.ก.คิดเป็นหน่วยกรัม หรือ 1,000 กรัม เท่ากับ 1 ก.ก. แต่น้ำหนักของไข่แต่ละฟองจะหายไปตลอดการเดินทางตั้งแต่ฟาร์มมาถึงมือผู้ บริโภค ถึงแม้ว่าตั้งไข่ไก่ไว้เฉย ๆ น้ำหนักไข่ก็จะลดลงทุกวัน อาทิ นำไข่ 1 ฟอง แช่ไว้ที่ความเย็น 2-4 องศา เป็นเวลา 3 เดือน น้ำหนักไข่จะเหลือเท่ากับครึ่งฟอง เนื่องจากการระเหยของน้ำในไข่ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ผู้ค้าซื้อไข่ไก่ตามเบอร์แต่ต้องมาขายเป็น ก.ก. ยิ่งนานวันน้ำหนักไข่ยิ่งลดลง
3) ปัญหาไข่บุบไข่เปลือกไม่สวย ตามปกติไข่ประเภทนี้ราคาขายจะลดลงครึ่งหนึ่งของราคาปกติตามเบอร์ เมื่อเปลี่ยนระบบการซื้อไข่เป็น ก.ก.ผู้ขายย่อมนำไข่เหล่านี้เข้ามาคละไว้ในกระจาด ขณะที่ผู้ซื้อก็ไม่ต้องการไข่ประเภทนี้ แต่จะเลือกตามขนาดที่ตนต้องการมากกว่า
4) เกิดปัญหาเรื่องการโกงตาชั่ง จากความจริงที่ว่า ทุกวันนี้ตาชั่งในตลาดไม่เที่ยงตรง ดังนั้นโอกาสที่ผู้ซื้อจะได้ไข่น้ำหนักครบ 1,000 กรัม จึงเป็นไปได้ยาก
ในแง่ของฟาร์มผู้ผลิตไข่ไก่ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการขายไข่เป็น ก.ก. และเริ่มกังวลกันว่า หากกรมการค้าภายในจะบังคับให้ระบบการขายไข่ทั้งประเทศเป็นแบบ ก.ก.โดยยกเลิกการขายไข่เป็นเบอร์แล้ว แรงงานคัดไข่ภายในประเทศที่เชื่อกันว่าน่าจะมีไม่น้อยกว่า 30,000-50,000 คน จะต้องตกงาน เกิดการลงทุนสูญเปล่าไปกับเครื่องคัดแยกไข่ที่มีระดับราคาตั้งแต่ 100,000 บาทไปจนกระทั่งถึง 20-30 ล้านบาท จะทำอย่างไร
"ความจริงการขายไข่ เป็น ก.ก.เคยทดลองทำมาแล้วเมื่อประมาณ 10-12 ปีก่อนที่ห้างโรบินสัน รัชดาฯ แต่ปรากฏว่าประสบความล้มเหลว เกิดปัญหาไข่แตกไข่เสียหายจากการชั่ง-เลือกไข่ของผู้ซื้อ ซึ่งโดยทั่วไปอาจเห็นว่า ไข่แตกไข่เสียไปบ้างไม่น่าจะกระทบกับผู้ขาย แต่ธุรกิจนี้กำไรกันที่ราคาขายไข่ต่อฟอง 2-5 สตางค์ ดังนั้นความเสียหายของไข่แต่ละใบเมื่อรวมกันมาก ๆ เข้า ผู้ขายก็รับไม่ไหว ส่งผลให้ต้องเลิกไปในที่สุด" ผู้ค้าไข่รายหนึ่งกล่าว
ทางด้านผู้ค้า ส่งไข่ไก่หรือล้ง ซึ่งจัดเป็นกลไกสำคัญ 1 ใน 3 ของระบบการค้าไข่ไก่ในปัจจุบัน (ฟาร์ม-พ่อค้าคนกลาง/ล้ง-พ่อค้า/แม่ค้าปลีก) ให้ความเห็นกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การขายไข่เป็น ก.ก.เท่ากับเป็นความพยายามที่จะตัดวงจรล้งออกจากระบบการค้าไข่ไก่ในปัจจุบัน จากความเชื่อที่ว่า พ่อค้าคนกลางเป็นผู้บวกกำไรสูงสุด
"หน้าที่ของ ล้งก็คือ ผู้กระจายไข่ไก่เข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่าย เราจึงเป็น 1 ใน 3 ของกลไกหลักในการค้าปัจจุบัน กำไรของล้งมาจากการหักต้นทุนค่าขนส่ง-ค่าแรงงาน-ความเสี่ยงที่จะเกิดความ เสียหายต่อสินค้าอยู่ในระดับ 10-20 สตางค์ จากราคาไข่ ณ หน้าฟาร์มที่เรารับมา พอเราส่งไข่ต่อให้กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเขาก็จะบวกเข้าไปอีก 10-30 สตางค์ ขึ้นอยู่กับภาวะที่ไข่ออกสู่ตลาดในช่วงนั้น ๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ไข่มีราคาแพงนั้นอยู่ที่ราคาไข่ ณ หน้าฟาร์มที่ปัจจุบันถูกประกาศโดยสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ขึ้นราคาครั้งละ 10 สตางค์ ยกตัวอย่าง ไข่เบอร์ 3 ปัจจุบันราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.90 บาท/ฟอง มาถึงตลาดราคาขายปลีกอยู่ 3.05 สตางค์ หรือราคาขยับขึ้นมาแค่ 15 สตางค์/ฟอง เท่านั้น"
ส่วนความแตกต่างระหว่างการขายไข่เป็นเบอร์กับการขายไข่ เป็น ก.ก.นั้นพบว่า หากผู้บริโภคเลือกซื้อไข่เป็นเบอร์ระหว่างเบอร์ 0-3 จะได้ราคาถูกกว่าการซื้อเป็น ก.ก.ประมาณ 5-7 บาท แต่หากผู้บริโภคเลือกซื้อไข่ระหว่างเบอร์ 4-5 จะต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าการซื้อเป็น ก.ก.ประมาณ 6-9 บาท (ตารางประกอบ) "ดังนั้นความได้เปรียบเสียเปรียบตรงนี้จะขึ้นอยู่กับว่า พ่อค้าแม่ค้าจะเลือกคละไข่เบอร์อะไรในกระจาดมากน้อยแค่ไหน"
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (update: วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:12:19 น.)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น