วันศุกร์, ตุลาคม 08, 2553

"เจ้า-ข้า ฟ้าเดียวกัน" : เจาะใจ"บก.ฟ้าเดียวกัน"เบื้องหน้าและเบื้องหลัง"หนังสือต้องห้าม"5รัฐบาล

by herogeneral.blogspot.com
Ref: มติชนออนไลน์ (update วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 17:02:26 น.)

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ

เจาะใจ"บก.ฟ้าเดียวกัน"เบื้องหน้าและเบื้องหลัง"หนังสือต้องห้าม"5รัฐบาล

เมื่อไม่นานมานี้ นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารฟ้าเดียวกัน
ให้สัมภาษณ์นักข่าวในหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

@ ฟ้าเดียวกัน ก่อตั้งมาจะครบ 8 ปี โดนคดีอะไรบ้าง

ความจริงเรื่องมีปัญหากับรัฐบาล ไม่ใช่มีแค่ คดีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่เริ่มในเดือนเมษายน 2549 ก่อนหน้านั้นก็ถูกขู่ว่าจะเล่นงานด้วย ข้อหาขัดต่อความมั่นคงภายในประเทศเนื่องจากเผยแพร่วีซีดี “ความจริงที่ตากใบ” เมื่อปี 2547 นอกจากนั้นยังมีคดีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะก่อนหน้านั้นกระดานสนทนาของเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน (www.sameskybooks.org) ก็ถูกจับตามองจากรัฐ แต่ถ้าถามว่ามีปัญหากับรัฐบาลตอนไหน ถ้านับตั้งแต่ปี 2547 ที่เราทำเรื่อง ตากใบ ก็เกิดในในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

@ ช่วยเล่ากรณีวีซีดีความจริงที่ตากใบ ว่าเกิดอะไรขึ้น

ถ้าจำกันได้กรณีโศกนาฎกรรมที่ตากใบ เกิดขึ้นในเดือน ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นจุดด่างอันหนึ่งของ รัฐบาลทักษิณนั่นแหละ ขณะนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายขนาดนี้ แน่นอนว่าสื่อของรัฐ ไม่ลงภาพเหตุการณ์ในวันนั้น หรือแม้แต่เว็บไซต์ประชาไทในยุคนั้น ก็ยังไม่เอาเหตุการณ์ดังกล่าวมาเผยแพร่อย่างเปิดเผย นี่ยังไม่ต้องพูดถึงสื่ออิสระที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันก็ยังไม่เกิด ด้วยข้อจำกัดนี้ วารสารฟ้าเดียวกันที่เราเป็นสื่อ “ยุคเก่า” จึงต้องแจกแผ่นซีดี บันทึกเหตุการณ์ความจริงที่ตากใบ แม้ว่าตอนนั้น รัฐบาลทักษิณ ก็ขู่ว่าใช้ข้อหาความมั่นคง มาเล่นงานหากใครเผยแพร่วีซีดีตากใบ และถ้าจำได้ ขณะนั้นเมื่อประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน นายธานินทร์ ใจสมุทร ไปปราศรัยว่าทักษิณ มีส่วนในความรุนแรงกรณีตากใบ พร้อมฉายวีซีดีตากใบ เขาก็ถูกฟ้อง จนถึงขั้นถูกกกต.ให้ใบแดง

ผลกระทบแรกที่เราได้รับคือ ร้านค้าขนาดใหญ่ไม่วางขายวารสารฟ้าเดียวกัน คือ 4 ร้านค้าหลัก ซีเอ็ด ศูนย์หนังสือจุฬาฯ บีทูเอส แล้วก็นายอินทร์ ส่วนผลกระทบอื่นเช่น โรงพิมพ์ ก็เกิดความหวาดกลัว หลังจากนั้นเขาก็ถามทุกครั้งก่อนพิมพ์ว่ามีเนื้อหาอะไร จะเป็นภัยต่อเขาหรือไม่

@ กลัวกันด้วยเหรอ เห็นยังพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง

ที่พูดถึงคือโรงพิมพ์ ไม่ได้หมายถึงกองบรรณาธิการ หรือแม้กระทั่งร้านซีดี ที่เราจ้างทำซีดี ก็ถูกขู่ว่าห้ามผลิตซีดีตากใบ โดยเป็นจดหมายเวียนจากกระทรวงมหาดไทย ถึงโรงงานปั๊มซีดี ทั่วประเทศว่าห้ามรับผลิตซีดีตากใบ เพียงแต่วันนั้น เราอาจจะโชคดี ที่เราผลิตออกมาก่อนที่คำสั่งนั้นจะไปถึงโรงงาน ทำให้ซีดีปั๊มเสร็จก่อน

@ ทุกวันนี้วางขายบนแผงได้หรือเปล่า

ก็ขายร้านอื่น

@ คดีที่ทำให้ ฟ้าเดียวกัน ดังกระฉ่อนและถูกเหมา เป็นพวกเดียวกับ ทักษิณ คือคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่โดนหลังจากนั้นใช่หรือไม่

ใช่ เราโดนเล่นงานคดีหมิ่นฯ แต่คนมักลืมไปแล้วว่าเราโดนดำเนินคดีในสมัยรัฐบาลทักษิณ ในเดือนเมษายน 2549

@ ช่วยเล่าเหตุการณ์นั้นด้วย

เราทำวารสารฟ้าเดียวกันฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ออกมาในเดือนธันวาคม 2548 ในเวลานั้น กระแสการใช้สถาบันกษัตริย์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้าม เริ่มถูกจุดมาโดย สนธิ ลิ้มทองกุล แล้ว แต่ก็สังเกตว่าในตอนนั้น ปี 2548 สนธิและเครือผู้จัดการ ไม่ด่าฟ้าเดียวกันเลย อาจจะคิดว่าเราเป็นแนวร่วม เพราะเราก็เคยวิจารณ์ทักษิณ มาก่อน

สื่อเครือผู้จัดการ เคยบอกว่าฟ้าเดียวกัน เป็นสื่อที่ถูกคุกคามโดยทักษิณด้วยซ้ำ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการระบุว่า ใครถูกคุกคามบ้าง ซึ่งก็มี กรณี สุภิญญา กลางณรงค์ ไทยโพสต์ ฟ้าเดียวกัน อยู่ในนั้นด้วยถูกห้ามขาย

ด้านหนึ่งก็ตลก เหมือนตอนที่สนธิ เคยเชียร์ทักษิณ ว่าดีที่สุดในประเทศนั่นแหละ คนก็ลืมไปหมดแล้ว

@ เห็นว่าถึงขนาดเผาฟ้าเดียวกัน แล้วจะบุกมาที่ออฟฟิศด้วยใช่ไหม

วารสารฟ้าเดียวกันเริ่มมีปัญหาตอนพันธมิตรชุมนุมแล้วมีม็อบคาราวานคนจน อย่างที่เรารู้ปัจจุบัน ว่าคนทำม็อบคาราวานคนจน ก็คือ เนวิน ชิดชอบ สมัยอยู่กับทักษิณ โดยให้ ชินวัฒน์ หาบุญพาด เป็นตัวเปิด คำบรรยายฟ้องก็ตลกมาก คือบอกว่าเจอหนังสือเล่มนี้ในม็อบพันธมิตรฯ ในเดือนมีนาคม 2549 เพื่อจะบอกว่าม็อบพันธมิตรเป็นม็อบหมิ่นในหลวง อีกเหตุผลหนึ่งที่มาเล่นงานฟ้าเดียวกัน เพราะในหนังสือมีบทสัมภาษณ์อ. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เพราะแกไปขึ้นเวทีพันธมิตรด้วยเลยโดนเล่นงาน

หลังจากนั้น คนเซ็นต์คำสั่งห้ามขายฟ้าเดียวกันและให้ดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ตอนนั้น คนเดียวกันที่เกือบจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ

@ ตอนนั้นก็มีโครงสร้างการดำเนินคดีของตำรวจ มีคณะกรรมการ ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาคดีหมิ่นเบื้องสูงโดยตรง ใช่หรือไม่

ก็มีมานานแล้ว แต่ คณะกรรมการตำรวจ คงไม่มีความหมาย เพราะขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองที่จะเคาะให้ใคร อยู่ตรงไหนอะไรยังไง

@ เชื่อว่าทุกครั้งที่ถูกดำเนินคดี มีสาเหตุเพราะ ฝ่ายการเมืองเคาะมา

แน่นอน

@ คดีต่างๆ หลังจากนั้น

หลังจากผมโดนคดีแรกในเดือนเมษายน 2549 ในฐานะผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หลังจากนั้นอ.สุลักษณ์ ก็โดนในฐานะคนสัมภาษณ์ แล้วก็มีคนขายหนังสืออีก 2 คน ถูกข้อหาหมิ่นฯ ต่อมาในปี 2550 แล้วปี2550 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อ 19 มกราคม 2550 ในงานเปิดตัว หนังสือรัฐประหาร 19 กันยา ของฟ้าเดียวกัน ก็มีคนมาจับคนขายฟ้าเดียวกันอีก 1 ราย แล้วแจ้งข้อหา ผมอีกกะทงหนึ่ง หนึ่ง สรุปในตอนนี้ มีคนโดนเล่นงานด้วยข้อหาหมิ่นจากหนังสือเล่มนี้ 5 คน 6 คดี

คดีทั้งหมดตอนนี้อยู่ในชั้นการสอบสวนของอัยการ

@ มีใครถูกคุมตัวในห้องขังบ้าง

ก็มีคนขายหนังสือแต่ก็ได้รับการประกันตัว คนขายหนังสือถูกคุมตัวในห้องขังทั้ง 3 คนระหว่างรอการประกันตัวในชั้นศาล แต่ก็ได้รับการประกันออกมา

@ ตั้งแต่โดนคดีมา ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างไร

ในปี2549 เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญคนในกอง บก. เพื่อสอบสวนเนื่องจากเขาเป็นคนที่เปิดตู้ปณ. ของฟ้าเดียวกัน เข้าใจว่าเพื่อจะสืบสวนมาหาตัวผม เมื่อทราบข่าวผมจึงไปที่สน.สำราญราษฎร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่า คุณมาปรากฏตัว จึงไม่ได้ออกหมายเรียกและหมายจับอะไรเลย แต่แจ้งข้อหาหมิ่น วันที่ไปแสดงตัวก็ไปปั๊มลายนิ้วมือ ถ่ายรูป เหมือนผู้ต้องหานั่นแหละ

@ หลังจากนั้น เป็นไงอีก

อย่างที่ทราบคือเมื่อเกิดรัฐประหารเมื่อกันยายน 2549 ฟ้าเดียวกัน ทั้งในส่วนตัวบุคคลและตัวองค์กร ก็ร่วมต้านการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 นับแต่วันนั้น สื่อเครือผู้จัดการ ที่เป็นกระบอกเสียงให้คณะรัฐประหารก็มาซัดว่า เราเป็นพวกทักษิณ แถมพ่วงข้อหาล้มเจ้าตามมาด้วย

@ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ทักษิณ จะจัดการกับ ฟ้าเดียวกันด้วย

ใช่ มันเป็นอย่างนั้น

@ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลชุดไหน ฟ้าเดียวกันหยิบเรื่องสถาบันมานำเสนอตลอด

ไม่ ... เพราะเราคิดว่า วารสารฟ้าเดียวกัน ทำขึ้นเพื่อให้เป็นหนังสือวิชาการ พูดเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่วนสถาบัน ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เราทำ ท่ามกลางความเงียบที่คนตั้งจะละเลยพูดเรื่องนี้ เราพยายามจะบอกว่า ถ้าคุณจะทำความเข้าใจสังคมไทย คุณไม่สามารถละเลยการทำความเข้าใจสถาบัน ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในบท บก. ของเล่ม สถาบันกับสังคมไทย ก็เขียนไว้อย่างชัดเจน

จนปัจจุบันนี้เราคิดว่าเราพูดถูกเพราะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ 48 ถึงปัจจุบันว่า สถาบัน ถูกผู้คนหลายฝ่ายดึงมาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันนี้ อาจจะถูกหลายคนดึงมาเป็นศูนย์กลางของปัญหาเสียด้วยซ้ำ เช่น ฝ่ายเสื้อเหลืองบอกว่าตัวเองพิทักษ์สถาบัน และโจมตีฝ่ายเสื้อแดง ว่าทำลายสถาบัน และล่าสุด บทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ในประชาชาติธุรกิจ ก็บอกเองว่ามีกลุ่มทุน มาเล่นงานสถาบัน เห็นไหมครับ แม้กระทั่งอย่างอาจารย์อคิน ก็บอกว่าเรื่องสถาบัน เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ ด้านหนึ่งเราก็คิดว่า เราตัดสินใจถูกที่ทำเรื่องนี้

แต่ถามว่า เราทำเรื่องนี้ เรื่องเดียวหรือเปล่า ก็ไม่ใช่อีก เพราะฟ้าเดียวกัน ทำเนื้อหาเรื่องอื่นอีกตั้งเยอะแยะเรื่องภาคใต้ การเมืองภาคประชาชน ประวัติศาสตร์ ฯลฯ

@ รายได้จากการขายหนังสือ พอเลี้ยงองค์กรให้อยู่ได้หรือไม่

เรารู้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ตั้งสำนักพิมพ์ ว่าเฉพาะวารสารอย่างเดียวมันเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เราก็เลยต้องทำอย่างอื่นด้วย ดังนั้นเราจึงเซ็ตตัวเองเป็นองค์กรธุรกิจ ในแง่การหาเงินมาจ่ายให้คนทำงาน และจ่ายสำหรับการผลิตหนังสือด้วย เราก็ทำธุรกิจอย่างอื่นที่ใช้ทักษะของเรา เช่น รับจัดหน้า ออกแบบปกหนังสือ รับจัดนิทรรศการ หาข้อมูล อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะตอนหลัง ก็มาทำเว๊บไซต์

@ ยอดขายหนังสือ ไม่พอเลี้ยงองค์กร ต้องทำธุรกิจอื่น

ถ้าพูดถึงที่สุด เราก็ไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เพราะ ไม่มีหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือวารสารไหนที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วยยอดขาย เพียงแต่ว่า อย่างหนังสือพิมพ์ ก็อยู่ได้ด้วยโฆษณา ก็คือต้องมีคนวิ่ง มีฝ่ายโฆษณาวิ่งหาโฆษณา ฟ้าเดียวกัน ก็คิดไม่ต่างกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากฝ่ายที่วิ่งหาโฆษณา มาเป็นฝ่ายที่วิ่งหาจ๊อบ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงสำนักพิมพ์แล้วมันจะต่างกันตรงไหน

เราคิดว่าถ้ามันจะต่างก็อยู่ที่วิธีคิดมากกว่าเอาง่ายๆ เริ่มต้นตอนแรกที่ทำฟ้าเดียวกัน คนจะนึกว่าเป็นหนังสือของเอ็นจีโอ และฝ่ายเอ็นจีโอ ก็จะบอกว่าอยู่ไม่ได้หรอก หนังสือไม่มีโฆษณา ซึ่งเราคิดว่า บางทีมันอยู่ที่ความเคยชินของคนมากกว่า ที่ไม่สามารถคิดโมเดลอะไรที่มันอยู่ได้ นอกเหนือจากการขอเงินจากคนอื่น แล้วพอมีความคิดแบบนี้ในหัว ก็เลยกำกับ ไม่ให้มีอิสระที่จะกล้าคิดจากสิ่งที่คุณคุ้นเคย คือคิดว่า มันไปรับเงินคนอื่นมา แล้วทำตามออเดอร์ หรือคิดว่ามีนายทุนให้ อะไรให้

@ มีหุ้นเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วจะไม่ให้คนคิดว่ามีฝ่ายการเมืองเข้ามาสนับสนุนได้ยังไง

ตอนตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เริ่มกันมา 3 คน มี ผม , ชัยธวัช ตุลาฑล , แล้วก็ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งตอนนั้นเขายังไม่ทำธุรกิจนะ เข้าใจว่ายังทำงานเป็นอาสาสมัครเอ็นจีโออยู่

@ ตอนนั้น ธนาธร เป็นหลานรัฐมนตรี ของรัฐบาลทักษิณ หรือยัง

เรารู้จักกันตั้งแต่ก่อนทักษิณขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วกัน เรา 3 คนนี่อยู่ในแวดวงกิจกรรมนักศึกษา ผมเป็นรุ่นพี่ เรารู้จักกันตั้งแต่สมัย รัฐบาล ชวน หลีกภัย ด้วยซ้ำ ก็คือพวกเราเป็น นักกิจกรรม และมีความเหมือนกันคือ เราอยากทำหนังสือ เราร่วมคิดทั้งเนื้อหาและโมเดลทางธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน ระหว่างที่ทำก็เกิดปัญหาอันหนึ่งคือคุณพ่อของธนาธรเสียชีวิต เขาก็เลยกลับไปดูธุรกิจที่บ้าน แต่โมเดลที่เราคิด ก็มาคิดร่วมกัน

@ เงินลงทุน ตอนแรกเริ่มต้น

บอกตัวเลขเลยก็ได้ เงินก้อนแรกที่ลงกัน มีงบอยู่ 4 แสน ของผม 2 แสน ของธนาธร 2 แสน หมดไปกับอุปกรณ์สำนักงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาเงินมาเลี้ยงออฟฟิศอีกต่อหนึ่ง

@ สถานะของธนาธร ซึ่งรวยกว่า แต่ไม่ได้ลงทุนในสัดส่วนที่มากกว่า มีการแชร์กันยังไง

ผู้ก่อตั้งมีกัน 3 คน มี 2 คน ออกคนละ 2 แสน เงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งคือเราใช้ห้องว่างของธนาธรเป็นออฟฟิศส่วนผมเองก็ไม่มีเงินเดือน จากฟ้าเดียวกัน แต่มีงานส่วนตัวเลี้ยงตัวเอง
เราคิดว่าโมเดลทางธุรกิจแบบนี้ แม้ว่าจะเหนื่อยแต่ทำให้เราไม่เฉื่อย

@ มีนักการเมือง เสนอให้การสนับสนุน หรือไม่ เช่น ฝ่ายพรรคเพื่อไทย
ไม่มี เราไม่คิดว่า เรามีประโยชน์อะไรกับนักการเมืองนะ

@ ขณะที่ภาพลักษณ์ ฟ้าเดียวกัน ถูกมองว่าโจมตีเบื้องสูง

ก็นั่นไง ... เพราะภาพฟ้าเดียวกันแบบนี้ ใครมาสนับสนุน ก็ไม่เป็นผลดีกับเขา เอาง่ายๆ สมมุติ เราเปิดโฆษณา เราก็ไม่คิดว่า จะมีพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไหน จะมาซื้อโฆษณาในหนังสือฟ้าเดียวกัน

@ แล้วมีการสนับสนุนแบบไม่เปิดเผยจากฝ่ายที่คิดว่า ฟ้าเดียวกันโจมตีสถาบันหรือเปล่า

เราไม่คิดว่า จะมีพรรคการเมืองไหนในประเทศไทยจะมีนโยบายโจมตีสถาบัน ขณะเดียวกันเราก็ไม่ใช่หนังสือโจมตีสถาบันอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่ามุมมองของเราอาจจะไม่ตรงกับความคุ้นชินของหลายคนเท่านั้น เราคิดว่า ฟ้าเดียวกัน ไม่ได้พูดอะไรแบบลอยๆ แน่นอน เราพูดเรื่องข้อมูล แนวคิด อ้างอิงมีที่มา ส่วนการตีความก็แล้วแต่คนตีความ

@ ยอดขายในแต่ละช่วงสถานการณ์การเมือง

เราก็ประสบปัญหา จำนวนหนึ่ง เพราะร้านหนังสือใหญ่ๆ ไม่รับไปวางขาย อันนี้แน่นอนชัดเจนเป็นปัญหา ส่วนยอดพิมพ์วรสาร เริ่มแรก 2 พันเล่ม แต่พบว่าไม่คุ้มต้นทุน จึงเพิ่มเป็นสามพันและสี่พันเล่มตามลำดับ

@ ทีม บก. มีกี่คน

เริ่มแรกมี4 คน ตอนนี้ ก็มีใหญ่ขึ้น เพราะต้องมีจ๊อบอย่างอื่น และเราก็มีอีกสำนักพิมพ์หนึ่ง ชื่อสำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งก็แยกเป็นอิสระ ในแง่การบริหารจัดการ ส่วนเนื้อหาของอ่านเป็นเชิงวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรม

@ ขนาดธุรกิจ turn over อยู่ในระดับใด

หมุนเวียน ก็เป็นล้านนะ ส่วนใหญ่เป็นตัวเลขหมุนเวียน เราไม่มีมีเงินสดอยู่ในมือเท่าไหร่ เราดูจากยอดหนี้ที่เป็นหนี้โรงพิมพ์ ก็หนักอยู่ เพียงแต่ว่ามันก็มีรายรับที่เข้ามาต่อเนื่อง เช่น รายรับจากงานจากสัปดาห์หนังสือซึ่งจะได้เป็นกอบเป็นกำเราก็เอามาจ่ายค่าพิมพ์เล่มเก่า ขณะที่เล่มใหม่ก็อาจจะจ่ายในอีกไตรมาสถัดไป ยอดขายของฟ้าเดียวกันก็ไม่ถึงกับเล็กมาก เราไม่ใช่เศรษฐกิจยังชีพแน่ๆ เพราะต้องมีความรับผิดชอบตัวอื่น คนทำงานก็ต้องกินต้องใช้ มีลูกมีเมียกันทั้งนั้น

@ ล่าสุดที่ถูกหอสมุดแจ้งความเรื่องไม่จดแจ้ง แล้วทำไมไม่ไปทำให้ถูกกฎหมาย

ขั้นต้นไอเดียการทำฟ้าเดียวกัน ขั้นต่ำสุดคือเรา liberal เราคิดว่าเสรีภาพในการพูดคิดอ่านเขียน น่าจะเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ นี่คือแนวคิด แล้วรัฐธรรมนูญก็รองรับสิทธิการพิมพ์

@ เมื่อตั้งใจทำเป็นองค์กรธุรกิจ แล้วทำไมไม่จดแจ้ง

ไม่เห็นเกี่ยวเลยเพราะตั้งแต่แรก เมื่อตั้งสำนักพิมพ์ เมื่อปี 2545 ตอนนั้นใช้ พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 โดยเจตนารมณ์กฎหมาย แม้กระทั่ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ มันมีไว้เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นคนทำ ที่ติดต่อได้ เวลามีปัญหาก็ติดต่อคนนั้น ซึ่งเราคิดว่าในตัวหนังสือ บอกไว้หมดแล้ว ไม่มีนามปากกาด้วยซ้ำ เพราะใช้ชื่อจริง มีสถานที่ติดต่อ มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ นี่ต่างหากเจตนาที่แท้จริงของกฎหมาย ซึ่งเราก็บรรลุเจตนาที่แท้จริงในการพิมพ์หนังสือที่เรารับผิดชอบ

ดังนั้นตัว พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ที่หยิบยกขึ้นมา มันก็เป็นแค่ข้ออ้าง เพราะมีหนังสือที่เยอะแยะในเมืองไทยที่ไม่จดแจ้ง

@ อ้างแบบนี้ เหมือนกับดื้อไม่ทำตามกฎหมาย

เรื่องแบบนี้มันสะท้อนไอเดียสำนักพิมพ์ ว่าคุณสามารถคิดไปได้ไกลแค่ไหน และถามว่ามันคืออุปสรรคอะไรในการไม่จดแจ้ง

@ ล่าสุด ไม่ได้โดนข้อหาหมิ่น ด้วยหรือ

เราคิดว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะโหนกระแสเอาสถาบัน เป็นเครื่องมือ ป้องกันตัวเองทางการเมือง เราคิดว่าเป็นแค่การฉวยโอกาสทางการเมือง ถือเป็นการสร้างผลงานของตัวเอง กลัวไม่รู้ว่ามีรัฐมนตรีวัฒนธรรมอยู่ในโลกนี้ ก็หาเรื่องพูดเป็นข่าวได้วันหนึ่ง

@ ก่อนหน้านี้มี เรดพาวเวอร์ สื่อของเสื้อแดงถูกปิด เว๊บไซต์ประชาไทถูกปิด แล้วก็มีฟ้าเดียวกันถูกแจ้งความ คิดว่าเป็นเรื่องการเมืองทั้งหมดหรือเปล่า

เราคิดว่ามีความตั้งใจอยู่แล้วในแง่การจัดการส่วนหนึ่งก็เป็นการปราม ทำให้เรายุ่งยากขึ้น เหนื่อยมากขึ้นน่ารำคาญมากขึ้น แต่ถามว่าเรารู้สึกยังไง ก็คงเหมือนหมาเห่า หรือว่าแมลงวันที่บินมา คือในแง่ถ้าคุณจะทำอะไรใหญ่ๆ ก็ต้องเจอเรื่องนี้เป็นปกติอยู่แล้ว

@ เวลาถูกป้ายว่า เป็นหนังสือของขบวนการหรือฝ่ายการเมืองฝ่ายไหนรู้สึกยังไง

เราอยากจะตอบคล้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ว่า ถ้าคุณนิยาม เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ เป็นสีอะไร เราก็เป็นสีนั้น ถ้านิยามว่าประชาธิปไตย เป็นสีเหลือง เราก็เป็นสีเหลืองก็ได้ หรืออำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรเป็นสีเหลือง เราก็เป็นสีเหลืองก็ได้ แต่ถ้านิยามว่า ตรงนี้เป็นสีแดงหรือสีฟ้า เราก็อาจจะเป็นได้

เรายืนอยู่ในจุดที่เรายืน เรื่องหลายเรื่องเราก็ผ่านมา เราผ่านมา 5 รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านมา 5 รัฐบาลแล้ว ไม่มีครั้งไหนที่บอกว่าเราอยู่ฝ่ายรัฐบาลสักครั้งหนึ่งเลย ฉบับหนึ่งเลย

@ เป็นความภูมิใจไหม

ไม่ได้ภูมิใจหรอก มันก็อยู่ที่จุด ที่เรายืน...

@ทำไมตั้งชื่อ ฟ้าเดียวกัน

เอามาจากหนังสือ เจ้า-ข้า ฟ้าเดียวกัน ซึ่งก็เอามาจากโคลงของศรีปราชญ์อีกทีหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น