จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
ความรุนแรงจากการฆ่าทางการเมือง
นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์รุ่นใหม่และผู้บรรยายหลักสูตรสำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เขียนตำราวิชาการหนังสือวิชาการ "ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา" และหนังสือ "รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า"ปาฐกถา หัวข้อ "ความรุนแรงและอำนาจรัฐ" ในโอกาสครบรอบ 34 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์
จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
นายศิโรตม์ กล่าวถึงความรุนแรงว่า มีความหมายกว้างการทำร้ายร่างกาย ฆ่าผู้อื่น แต่หมายถึง ความรุนแรงชนิดอื่นๆ เช่น ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ หรือ ความรุนแรงทางการเมือง
1. ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ
ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีช่องว่างในการทำงานนับตั้งแต่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ 19 ตัวเลขที่น่าสนใจ คือ คนจำนวนมากในประเทศมีช่องว่างทางรายได้มาก ในช่วง ค.ศ. 1960 ช่องว่างทางรายได้ของสังคมไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.3 หลังจากที่มีพัฒนาไปเรื่อยๆ ช่องว่างทางรายได้เพิ่มตามไปด้วย
ตัวเลขที่ 2 คือ รายได้ของคนภาคเกษตรกร ในรอบ 30-40 ปี ที่ผ่านมาแทบไม่เคยขึ้นเลย ทำให้คนในภาคเกษตรออกมาเป็นคนงาน แรงงานในเขตเมืองและโรงงานอุตสาหกรรม และตัวเลขเศรษฐกิจยังบอกอีกว่ารายได้ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมรายได้ของคนจนเมืองในรอบ 30-40 ปี รายได้รวมเพิ่มขึ้นแต่รายได้ที่แท้จริงไม่เพิ่มขึ้น หมายความว่า ในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา แรงงานขั้นต่ำมีรายได้ที่สูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นรายได้แรงงานไทยไม่เพิ่มขึ้นเลย นี่คือตัวอย่างความรุนแรงทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอย่างอื่นตามมาอีก เช่น ปัญหาคนไม่มีที่อยู่อาศัยในเมือง
2. ความรุนแรงของภาษา
ภาษาเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง เมื่อ 2-3 วันก่อน ส.ส.มีการประชุมเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เรื่องความขัดแย้งกับกลุ่มกระเทย คือ ผู้ชายที่อยากแปลงเพศ ทุกครั้งที่มีการเกณฑ์ทหารกระทรวงกลาโหมจะบอกว่าคนเหล่านี้เป็นคนโรคจิต เป็นประเด็นที่คนเหล่านี้ถกเถียงตลอดว่าเขาไม่ใช่คนโรคจิต ถ้าระบุว่าพวกเขาเป็นคนโรคจิต สิทธิตามกฎหมายที่จะทำนิติกรรมบางอย่างจึงทำไม่ได้ จึงเกิดความพยายามของกระเทยในสังคมไทยที่อยากจะให้กระทรวงกลาโหมยกเลิกการเรียกเขาว่าพวกโรคจิต มีความพยายามในการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.มีการประชุมกันในเรื่องนี้ระหว่างแพทย์ ทหารจากกระทรวงกลาโหม กรรมาธิการ ส.ส. ตัวแทนสื่อ เพื่อคุยกันว่า "กระเทย" เป็นโรคจิตหรือไม่
วิธีการของทหารจากกระทรวงกลาโหมที่ให้คำนิยามว่ากระเทยเป็นโรคจิตมีความน่าสนใจโดยยกเอานิยามขององค์การอนามัยโลกที่บอกว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งความจริงมันเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพการเมือง ในประเทศตะวันตก เช่น ถ้ากลุ่มรักร่วมเพศมีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองสูงก็สามารถในการกดดันว่าองค์กรอนามัยโลกหรือรัฐบาลไม่มีอำนาจที่นิยาม ว่า กระเทยโรคจิต แต่ในสังคมไทยอ้างอิงองค์กรอนามัยโลกจึงมีการถกเถียงกันว่ากระเทยเป็นโรคจิตหรือไม่เป็นในที่สุดทางกระทรวงกลาโหมก็ยอมที่จะกลับไปแก้ไขว่ากระเทยไม่ใช่โรคจิต เพราะการระบุ ว่า กระเทยเป็นโรคจิตไม่มีข้อมูลทางการแพทย์มายืนยัน
ประเด็นที่จะชี้ให้เห็นความรุนแรงจากภาษา การบอก ว่า กระเทยเป็นโรคจิตเป็นนิยามที่จะทำให้กระเทยต้องเผชิญปัญหาชีวิตไปอีกยาวนาน
3.ความรุนแรงของกฎหมาย
กฎหมายเป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องที่อยากต่อการทำความเข้าใจเพราะประเทศไทยอยู่ภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนดมายาวนานประมาณ 6 เดือน หลายคนมองว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายปกติที่รัฐบาลออกมาเพราะว่ามีความจำเป็นต้องออกเนื่องจากมีเหตุบางอย่าง แต่พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษหลายข้อ
ข้อแรก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้การกระทำในหลายๆเรื่องในสภาวะปกติไม่ผิดกลายเป็นการกระทำที่ผิดแล้วถูกลงโทษได้ เช่น คนที่ถูกจับและถูกดำเนินคดีในช่วง พฤษภาคม 2553 มีแม่ค้าคนหนึ่งขนข้าวออกจากตลาดไทยมาให้ผู้ชุมนุมจนถึงตอนนี้แม่ค้าคนนี้ยังติดคุกอยู่ การกระทำเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่พอการกระทำนี้เกิดในช่วงที่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินกลายเป็นความผิดขึ้นมา
คนจำนวนมากที่ถูกยิง บาดเจ็บเสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ที่ผ่านมา พฤษภาคม 53 ทุกคนใช้สิทธิในการชุมนุมตามปกติบางคนไม่ได้เกี่ยวกับการชุมนุมโดยตรงด้วยซ้ำ ในหลายพื้นที่คนจำนวนมากถูกจับโดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่กฎหมายระบุว่าผิดเพราะเขาไปอยู่ผิดที่ผิดเวลาในสถาการณ์ที่กฎหมายระบุว่าการกระทำแบบนั้นผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นตัวอย่างความรุนแรงของกฎหมายเพราะโดยการกระทำในตัวมันเองไม่ผิดเลย ผลจากการกระทำดังนี้ทำให้คนจำนวนมากติดคุก เสียชีวิต บาดเจ็บโดยไม่มีใครรับผิดชอบจนปัจจุบัน
4.ความรุนแรงผ่านวาทกรรมและอุดมการณ์
ความรุนแรงผ่านวาทกรรมและอุดมการณ์ เป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งที่คนไม่คิดว่าเป็นปัญหา ในช่วงที่สังคมไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองหลังปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา มีประเด็นที่เห็นว่าเป็นข้อขัดแย้งในกลุ่มต่างๆ ตัวอย่าง กรณีการจับคนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งประเด็นส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับความเชื่อและความคิดว่า การเมืองไทยหรือการปกครองไทยคือการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเรื่องน่าสนใจว่าในประเทศไทยขณะนี้การนิยามคำว่า ประชาธิปไตยไทย คืออะไร การเอาประมุขของรัฐเป็นศูนย์กลาง กระทั่งนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกับคนจำนวนมาก ซึ่งหลายกรณีอาจจะไม่มีความผิด หลายกรณีถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง หลายกรณีอาจจะเป็นการถูกลงโทษเกินกว่าเหตุก็เป็นได้
กรณีแบบนี้น่าสนใจว่าประเทศไทยทำไมไม่เป็นประเทศที่ถูกนิยามว่าคำว่าประชาธิปไตยแยกออกจากประมุขของรัฐเช่น ประชาธิปไตยที่มีมวลชนเป็นแกนกลาง ที่มีความเชื่อว่าต้องยึดเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนขั้นพื้นฐานเป็นการเมืองการปกครองที่เคารพในสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรม
"ความรุนแรงทางวาทกรรม ถ้าดูนิยามประชาธิปไตยทั่วโลกจะเห็นว่านิยามประชาธิปไตยมีเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ประชาธิปไตยของไทยถูกนิยามผ่านมุมมอง กรอบบางเรื่อง ในที่สุดแล้วสร้างปัญหาสร้างสถานการณ์บางอย่าง ประชาชนบางกลุ่มได้รับความเดือดร้อนโดยไม่มีเหตุอันควร"
ยกตัวอย่าง "ดา ตอร์ปิโด" ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบความเห็นในสิ่งที่ดา ตอร์ปิโด พูดก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ดา ตอปิโด ถูกลงโทษ คือ ติดคุก 18 ปี มันมากเกินไป ถ้าใช้นโนธรรมสำนึกพิจารณาดูว่านักโทษข่มขืน ค้ายาเสพติด ติดคุกไม่ถึง 18 ปี แต่ในกรณีนี้มีคนติดคุก 18 ปีได้ นี่คือ ตัวอย่างความรุนแรงทางวาทกรรมโดยตรง
งานวิจัยของอาจารย์ไครสเลอร์ นักวิชาการจากประเทศออสเตรเลีย พูดถึงความรุนแรงในสังคมไทย 2 ช่วง คือ
1. สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี
2. เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
1.1 กรณีของจอมพลสฤษดิ์ คนจำนวนมากถูกจับกุมโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยเฉพาะคนที่ถูกกล่าวหาเป็นภัยสังคมตามที่จอมพลสฤษดิ์เห็นว่า เป็น "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์" คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีบางฉบับยอมให้เจ้าหน้าที่สามารถกักขังผู้ต้องสงสัยได้ 30 วัน และการต่ออายุสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตโดยไม่มีกำหนดเวลา คล้ายกับกรณีที่คนเสื้อแดงถูกจับในสถานการณ์พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือว่า เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมกักขังคนเหล่านี้ได้ เพียงแต่ว่าในประเทศไทยปัจจุบันมีวิธีการที่ซับซ้อนว่าเป็นการจับกุมและกักขังโดยผ่านการพิจารณาของศาล อันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นวิวัฒนาการที่ดีขึ้นหรือแย่ลง
คำสั่งที่ให้กักขังของจอมพลสฤษดิ์ถูกยกเลิกไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลายเป็นว่าประเทศเรามีคนถูกจับกุมกักขังจำนวนมากโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลเป็นเวลา 16 ปี
ในคำสั่งยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า เพราะกฎหมายนี้ขัดต่อหลักประชาธิปไตย คนที่ถูกจับไปนับร้อยคนจนถึงขณะนี้มีคนชดเชยให้พวกเขาแล้วหรือยัง หมายความว่าในเวลาต่อมาเรารู้ว่ากฎหมายแบบนี้ผิด แล้วถามว่าคนที่ถูกจับไปฟรีๆ ได้มีการชดเชยความยุติธรรมให้พวกเขาแล้วหรือยัง ซึ่งไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
1.2 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม มีคำสั่งคณะปฏิรูปให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมและต่ออายุการจับกุมไปเรื่อยๆ เพื่อให้บุคคลเป็นพลเมืองดี ผู้มีอำนาจในการจับกุม ผู้บัญชาการ หทาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถจับได้ ตัวเลขผู้ที่ถูกจับกุม 6 ตุลาคม ค่อยข้างหลากหลายบางตัวเลขบอกว่า 2 พันบางตัวเลขบอก 1 หมื่นคน แต่นี่คือสภาพของสังคมที่เกิดขึ้น
ในงานวิจัยของอาจารย์ไครสเลอร์ พูดถึงตัวเลขการอบรมคนเป็นพลเมืองดี สัมภาษณ์คนที่ถูกจับกุมในช่วง 6 ตุลาคม ว่าถูกทำอะไรบ้างเพื่อให้เป็นพลเมืองดี คนที่ถูกจับกุมบอกว่าไม่ได้ถูกซ้อมหรือถูกทรมาน โดยไม่ได้มองว่าการซ้อมหรือการทรมานเป็นปัญหาคุกคามมากเท่ากับการถูกอบรมเป็นเรื่องซ้ำๆซากๆ ในเรื่องเอกลักษณ์ของชาติ ประวัติศาสตร์ชาติคืออะไร คนจำนวนมากที่ถูกจับกุมในช่วงเดือน 6 ตุลาคม แม้ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดไม่รู้สึกว่าเขาเผชิญปัญหาถูกซ้อมหรือทรมานแต่ทุกคนรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกซ้อมและถูกทรมานได้ทุกเมื่อ
นี่สะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงทำงานอย่างไร ในอีกด้านหนึ่ง คือ แสดงให้เห็นว่าคนหวาดกลัวว่าจะถูกทำร้ายซึ่งเป็นเรื่องคุกคามตลอดเวลา เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบันคล้ายกับกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจับคนในลักษณะแบบเดียวกัน คือ จับคนเข้าอบรมการเป็นพลเมืองดี ชาติไทย ศาสนาอิสลาม ที่ถูกต้องคืออะไร ส่วนใหญ่ได้รับการอบรม 30-45 วัน จนกระทั่งทหารจะมองว่าถึงเวลาแล้วที่คนเหล่านี้จะออกไปเป็นพลเมืองดี นี่คือวิธีการที่คล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลา
5. ความรุนแรงที่เกิดจากอำนาจรัฐโดยตรง
ความรุนแรงที่เกิดจากอำนาจรัฐโดยตรง หรือ ความรุนแรงเรื่องการกดขี่ปราบปราม คือ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เดือนพฤษภา 2553 กรือเซะ ตากใบ คงมีภาพคล้ายกัน การกดขี่ปราบปราม คือ การบังคับข่มขู่เพื่อให้ประชาชนอ่อนแอและอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจตลอดเวลา อาจจะหมายถึงการทำร้ายทางกายภาพ การ ทรมาน การจับกุม การคุมขัง การติดตาม การสอดแนม การดักฟังโทรศัพท์ การเตือน การข่มขู่
กรณีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกจับขังจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เล่าให้ฟังว่าตอนที่ถูกเชิญไป ศอฉ. 3 สัปดาห์ถูกใครไม่รู้ติดตามไปตลอด
การกดขี่ปราบปรามไม่ได้หมายถึง การกระทำโดยใช้กำลังทำร้ายอย่างเดียว การสร้างสภาพที่ทำร้ายจิตใจประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ฉะนั้นความกลัวเป็นการกดขี่อย่างหนึ่ง การส่งจดหมายเตือนให้หยุดพูดอย่างนั้นอย่างนี้เป็นการกดขี่อย่างหนึ่ง เช่น เว็บไซต์ประชาไทดอทคอมเป็นเว็บไซต์ที่ถูกปิดอย่างถาวรโดยไม่มีผู้รับผิดชอบทางกฎหมายในการปิด พอเกิดเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ศอฉ.ก็สั่งปิดโดยไม่ทราบสาเหตุอ้างว่าข้อมูลในเว็บไซต์ประชาไทกระทบต่อความสงบเรียบร้อย แต่จนถึงขณะนี้เว็บไซต์ประชาไทก็ยังถูกปิดอยู่ไม่ทราบสาเหตุเพราะอะไร
"นี่คือตัวอย่างการกดขี่ปราบปรามที่คนปกติไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ต้องทำงานภายใต้ความหวาดกลัว เว็บไซต์ที่ถูกกฎหมายกลายเป็นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย นี่คือการข่มขู่ทางอ้อม"
การปราบปรามโดยรัฐ ในที่สุดแล้วเป็นเรื่องใหญ่เพราะแสดงออกถึงพฤติกรรมทางการเมืองให้คนคิดมากขึ้นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆมีความรับผิดชอบระวัง การข่มขู่มีความรุนแรงมากขึ้นอาจจะใช้กฎหมายบังคับหรือไม่ใช้ ซึ่งการข่มขู่อาจทำให้คนในสังคมตัดสินใจปิดปากเงียบ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐไม่คิด คือการข่มขู่และปราบปรามในสังคมที่มีความขัดแย้งสูงๆ จะส่งผลให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐและประท้วงรัฐด้วยวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไป
"สังคมไทยเป็นประเทศที่รัฐยังใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทั้งความรุนแรงทางกฎหมาย ทางการทหาร ทางการเมือง มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ"
โจทย์ที่รัฐควรคิดคืออะไร
เมื่อรัฐใช้ความรุนแรง รัฐจะสามารถควบคุมสถานการณ์ควบคุมความเคลื่อนไหวพฤติกรรมของประชาชนได้ทั้งหมด ถ้าไปดูแบบแผนการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองต่างๆเราจะเห็นว่า การควบคุมโดยรัฐและการปราบปรามโดยรัฐเป็นตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจริง ขณะเดียวกันก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ประชาชนที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ที่เป็นเผด็จการสูงต้องคิดวิธีที่จะตอบโต้รัฐออกมาด้วย รัฐไทยไม่ค่อยมีความเข้าใจและคิดว่าการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จมากขึ้นสังคมจะไม่กล้าพูดอะไรมากขึ้น
"แน่นอนว่าสังคมทุกแห่งที่ผ่านการปราบปรามครั้งใหญ่มาอย่างสังคมไทยผ่านเหตุการณ์พฤษภา 53 , พฤษภา 35 , 6 ตุลาคม 19 , 14 ตุลา 16 ในช่วงต้นๆจะมีภาวะความเงียบในเมื่อประชาชนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในสังคมฝ่ายที่อยู่รอดจากการปราบปรามและถูกมองข้ามโดยรัฐจะค่อยๆฟื้นขึ้นมาเพื่อรักษาในอุดมการณ์การต่อต้านเผด็จการและในที่สุดกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอิทธิพลในการประท้วงเพื่อนำไปสู่สังคมที่มีประชาธิปไตยมากขึ้น "
จากสังคมไทยในช่วงตุลาคม 2519 ที่มีการฆ่านักศึกษาโดยเชื่อว่านักศึกษาจะหยุดและมีการเปลี่ยนแปลงสังคมไปอีกแบบหนึ่งได้ แต่ปรากฎว่าเมื่อฆ่าแล้วพรรคคอมมิวนิสต์ขยายอิทธิพลขึ้น การต่อต้านรัฐขยายกว้างขวางมากขึ้น คนที่ทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์ในสังคมเมืองมีมากขึ้น จะเห็นการฟื้นตัวของขบวนการนักศึกษา มีการจัดทำนิตยสารใต้ดินจำนวนมากส่งผลทางการเมืองอย่างรุนแรง
เหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ก็เช่นเดียวกัน ฝ่ายที่ปราบปรามมีความเชื่อว่า หากทำการปราบปรามประชาชนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ได้แล้วการชุมนุมและการต่อต้านอำนาจรัฐจะยุติลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามแน่นอนว่าพฤษภาคม 2553 เรามีระยะเวลาหนึ่งที่คนไม่กล้าออกมาพูดอะไร ในที่สุดแล้วประชาชนฝ่ายที่ถูกปราบปรามค่อยๆพัฒนาหลักในการต่อต้านขึ้นมา กรณีของ บก.ลายจุด (สมบัติ บุญงามอนงค์) เป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญต่อให้ถูกปราบไปแล้วแต่ยังลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ละคนจะมีความถนัดและความชำนาญต่างกัน
"กรณีแม่ค้าใส่รองเท้าที่มีรูปหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แล้วถูกจับ จริงๆแล้วว่าการที่ใส่รองเท้าซึ่งเป็นหน้าของคนที่เกลียดมีนานมาแล้ว สมัยที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีหน้าพ.ต.ท.ทักษิณและภรรยาปรากฏบนร้องเท้าที่วางขายในที่ชุมนุมเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการดำเนินคดีกับคนที่ใส่รองเท้าหน้าพ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยเกิด ปัจจุบันในสมัยของนายกฯอภิสิทธิ์การใส่รองเท้ารูปหน้านายกฯมีความผิด ไม่รู้ว่าแสดงถึงอะไรบ้าง อาจจะมีความอดทนและความใจกว้างทางการเมืองที่ไม่เท่ากัน แต่ประเด็นคือแม่ค้าใส่รองเท้าแบบนี้และถูกฟ้องดำเนินคดีว่ารองเท้าคืออาวุธ ถ้าคำตอบในทางกฎหมายคือไม่ผิดเชื่อว่าในอนาคตคงมีร้องเท้าหลากหลายหน้ามากขึ้น"
นายศิโรตม์ อธิบายว่า รัฐไทยไม่เข้าใจเรื่องนี้ และเห็นว่าการปราบจะหยุดการต่อต้านได้ รูปแบบการปราบปรามต่อคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐเป็นเรื่องที่น่าสนใจ การปราบปรามจะพุ่งไปที่คนบางกลุ่มและมีลักษณะการผ่อนผันประนีประนอมกับคนอีกกลุ่ม เช่น ในสังคมไทยถ้ามีการประท้วงรัฐบาลโดยอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยการประท้วงจะได้รับการมองจากรัฐและได้รับการปฏิบัติในลักษณะประนีประนอมผ่อนผันเห็นอกเห็นใจหรือไม่กล้าทำอะไร แต่ถ้าเป็นการประท้วงโดยประชาชนกลุ่มอื่นๆ นอกมหาวิทยาลัยทำโดยประชาชนที่ต่างจังหวัดการประท้วงอาจจะถูกทำร้ายและถูกจับกุมได้
"รูปแบบการประท้วงแบบเดียวกันแต่คนต่างกลุ่มอาจจะทำได้หรือทำไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่ทำการต่อต้านทำการประท้วงเป็นคนกลุ่มไหน ในสังคมที่เผชิญปัญหาแบบนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐหรือฝ่ายที่แตกต่างจากอำนาจรัฐ ควรพยายามประเมินให้ออกหรือประเมินให้ได้ว่ารัฐในแต่ละช่วงมีพฤติกรรมหรือวิธีการในควบคุมประชาชนอย่างไรบ้าง เพื่อกำหนดกิจกรรมในการต่อสู้ให้อยู่กึ่งกลางระหว่างการต่อต้านกับการต่อสู้ที่จะไม่นำผู้ชุมนุมไปเผชิญปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม"
6. ความรุนแรงจากการฆ่าทางการเมือง
ความรุนแรงจากการฆ่าทางการเมือง เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาคม 2519 กับ พฤษภาคม 2553 ด้วย ในแต่ละสังคมที่มีการฆ่ากันทางการเมืองไม่ใช่สังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างเดียว ความเห็นที่แตกต่างกันเป็นประเด็นหนึ่ง แต่ปัจจัยที่ทำให้สังคมหนึ่งมีการฆ่า คือ สังคมนั้นมีความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจฝ่ายฆ่ากับฝ่ายที่ถูกฆ่าเท่ากันหรือไม่ ในสังคมที่มีความเห็นแตกต่างกันอย่างรุนแรง แต่บังเอิญฝ่ายถูกฆ่าและฝ่ายฆ่ามีอำนาจเท่ากันการฆ่าจะไม่เกิดขึ้น
การฆ่าทางการเมืองเกิดขึ้นในสังคมที่เห็นแตกต่างกันและฝ่ายฆ่ากับฝ่ายถูกฆ่ามีอำนาจแตกต่างกันมาก ฉะนั้นการฆ่าทางการเมืองเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางอำนาจทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันถ้าเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกันทางอำนาจการฆ่าจะไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
ความสำคัญของอำนาจที่ไม่เท่ากันทำให้เกิดการฆ่ากันได้อย่างไร ผู้ที่จะลงมือฆ่าคนอื่นต้องคิดแล้วว่าจะต้องได้ชัยชนะจากการฆ่าหรือกรณีกลับกันการฆ่าทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่าฝ่ายตัวเองถูกกดขี่หรือรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่ามากเห็นว่าการต่อสู้อย่างสันติไม่มีทางทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นอีกต่อไปได้แล้ว
ดังนั้นการฆ่าทางการเมืองเกิดได้จากทางฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่ากระทำหรือฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่ากระทำก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าสั่งก่อน มีไม่กี่สังคมที่ฝ่ายมีอำนาจน้อยกว่าเป็นคนทำ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมี
รัฐควรมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้การฆ่าทางการเมืองเกิดขึ้น มี 2 เรื่อง
1.ไม่ทำให้สังคมอยู่ในจุดที่ว่ามีช่องว่างทางอำนาจระหว่างฝ่ายที่มีอำนาจมากกับฝ่ายที่ไม่มีอำนาจมากจนคุยกันต่อไปไม่ได้อีกแล้ว สังคมไหนก็ตามที่เกิดภาวะแบบนี้ขึ้นมาแสดงว่าสังคมนั้นเข้าใกล้สภาพสังคมที่จะเกิดการฆ่าทางการเมือง เพราะช่องว่างทางอำนาจมันมากมายมหาศาลการต่อสู้อย่างสันติไม่มีประโยชน์ ฝ่ายที่มีอำนาจมองว่าฝ่ายที่ไม่มีอำนาจด้อยกว่ามากมันเป็นฝุ่นละอองเป็นชีวิตที่ไม่มีราคามาก ดังนั้นรัฐต้องป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแบบนี้ขึ้นมา
2.ป้องกันไม่ให้คนที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าถูกกดขี่ในสังคมรู้สึกว่าเขาไม่สามารถต่อสู้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ จากกระบวนการทางการเมืองแบบปกติ สิ่งที่รัฐควรป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่ากันทางการเมือง คือ การทำให้คนที่รู้สึกว่าด้อยกว่าเห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองแบบปกติมันมีเงื่อนไขสามารถทำได้ หรือกรณีฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่าตัดสินใจใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ทางการเมืองรู้สึกว่าสู้แล้วจะมีคนอื่นมาช่วย สู้ไปแล้วต่อให้วันนี้แพ้วันหน้าก็ชนะ เป็นประเด็นหนึ่งในช่วงพฤษภาคม 2553 ที่มีคนจำนวนหนึ่งคิดแบบนี้ว่าสู้ไปเรื่อยๆจะมีคนอื่นมาช่วยหรือมีปัจจัยบางอย่างให้เราชนะในภายหลัง พอเวลาผ่านไปพบว่าเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าที่ดีที่สุดคือการขจัดเงื่อนไขที่ทำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามันไม่มีทางออกจากสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญอยู่เลย การขจัดเงื่อนไขเป็นเรื่องที่จำเป็น การทำให้คู่กรณีเห็นว่ามีทางอื่นที่จะออกจากโจทย์ความรุนแรงครั้งนี้โดยไม่ต้องใช้พลกำลังเพื่อออกจากปัญหา
ส่วนใหญ่จะมองว่าการฆ่าทางการเมืองจะเกิดขึ้นจากรัฐฝ่ายเดียวแต่ในบางสังคมความรุนแรงและการฆ่าทางการเมืองเกิดขึ้นจากชนชั้นนำหรือฝ่ายที่นิยมความรุนแรงต่างๆก็ได้ ซึ่งเป็นได้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุม ความรุนแรงในหลายสังคม บางครั้งเกิดโดยรัฐบางครั้งเกิดโดยผู้ชุมนุมที่นิยมความรุนแรง โดยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมา การใช้กลไกระดมมวลชนจำนวนมากจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทางการเมืองได้
สิ่งที่น่าสนใจในกรณีการฆ่าทางการเมือง คือ ทำอย่างไรที่จะป้องกันการฆ่าทางการเมืองในสังคม ทำอย่างไรไม่ให้เกิดฝ่ายที่นิยมความรุนแรง ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการต่อสู้โดยมีกองกำลังติดอาวุธ ทำอย่างไรไม่ให้กลไกระดมมวลชนนำไปสู่การฆ่าทางการเมืองอย่างที่ไม่จำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่ากันทางการเมืองด้วยวิธีรุนแรง
การทำความเข้าใจวิธีการที่สังคมจดจำความรุนแรงเป็นอย่างไร ปกติเรามักจะคิดกันว่าสังคมไม่ค่อยจดจำความรุนแรงที่ถูกรัฐกระทำ แต่นอกจากประเด็นสังคมจะจดจำหรือไม่จดจำแล้ว วิธีการที่สังคมเลือกจดจำก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย
คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจดจำความรุนแรงที่สอดคล้องกับอคติผลประโยชน์ทางการเมืองในปัจจุบัน หรือว่าสอดคล้องกับความต้องการทางการเมือง ไม่ค่อยเกิดขึ้นเพราะเห็นว่าความรุนแรงเป็นปัญหาของมันเองแต่เราจะจดจำเฉพาะความรุนแรงที่เป็นประโยชน์ทางการเมือง
คนที่ตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จำนวนมากถูกจดจำว่าเขาเป็นคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา มากกว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร มีความสำคัญอย่างไรกับครอบครัว ความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่เราใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อวิจารณ์อะไรบางอย่างที่เราไม่เห็นด้วยในปัจุบัน แต่ความทรงจำในตัวของคนเหล่านี้หายไป
ฉะนั้นในแง่มุมความรุนแรงทางการเมืองต้องยอมรับว่าเราเป็นสังคมที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ความรุนแรงในรูปแบบที่เราจดจำตัวบุคคล เราจดจำแค่ความรุนแรงเท่านั้น หรืออย่างผู้ที่พูดถึงกรณีราชประสงค์ปี 53 จะมีความกล้าพูดถึงความรุนแรงกรณีตากใบที่มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ ได้อย่างไร เพื่อจะได้ให้เห็นว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องความรุนแรงจริงๆ ที่หลุดออกจากกรอบ เหตุผล หรืออคติในทางการเมืองของตัวผู้พูด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น