วันพฤหัสบดี, กันยายน 09, 2553

เมื่ออนาคตประเทศไทยถูกไล่ล่าสืบเนื่องจากความจริงและวิธีคิด?

by Herogeneral on 2010-09-09 - 09:23 pm

เมื่ออนาคตประเทศไทยถูกไล่ล่าสืบเนื่องจากความจริงและวิธีคิด?

มีนิทานพื้นบ้าน แอฟริกันเรื่องหนึ่งที่ถูกยกเป็นตัวอย่างในหนังสือ “AS THE FUTURE CATCHES YOU” นิทานเรื่องนั้นเล่าว่าเมื่อละมั่งตื่นขึ้นมาในตอนเช้าจะคิดว่า “หากจะมีชีวิตอยู่ ฉันต้องวิ่งให้เร็วกว่าสิงโตซึ่งวิ่งเร็วที่สุด”

สำหรับอีกฟากหนึ่งของภูเขา เจ้าสิงโตก็ตระหนักว่า “ฉันต้องวิ่งให้เร็วกว่าละมั่งที่วิ่งช้าที่สุด เพราะมิฉะนั้นเห็นจะอดโซตายแน่” นิทานเรื่องนี้บอกว่ากระทั่งสิงโตถ้ากระทำตัวขี้เกียจ หรือหากละมั่งฉลาดขึ้น พวกสิงโตที่เป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่าย่อมมีสิทธิอดตายได้เหมือนกัน?

เหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2493 สิงคโปร์คงเป็นเพียงเกาะเล็กๆซึ่งเต็มไปด้วยความยากจนและโดดเดี่ยว ตอนนั้นยังไม่เป็นประเทศด้วยซ้ำไป อนาคตของบ้านเมืองสิงคโปร์ ณ เวลาดังกล่าวช่างมืดมนสิ้นดี ยากจนสิ้นหวัง

กระทั่งผู้นำของประเทศต้องบากหน้าหันไปหามาเลเซียขอสมัครร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในแผ่นดินมาเลเซีย ผู้นำมาเลเซียยามนั้นค่อนข้างรู้สึกรังเกียจ เห็นว่าถ้ารวมกับสิงคโปร์จะทำให้ประเทศยากจนลง

ภายหลังเข้าไปรวมได้ไม่นานนัก สิงคโปร์ถูกกดดันให้ต้องถอนตัวออกมา โลกขณะนั้นเป็นช่วงก่อน พ.ศ. 2508 แม้ประเทศอย่างกานา พม่า ศรีลังกา ยังเป็นประเทศที่มีสภาพ มีความหวังของอนาคตดีกว่าสิงคโปร์เสียอีก...

ขนาดหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮอรัลด์ ฟันธงเด็ดขาดว่า “รัฐอิสระสิงคโปร์ที่ดูจะไม่น่าอยู่รอดได้เลยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะอยู่รอดได้เหมือนเดิม”

ทั้งหมดนั้นคือข้อเท็จจริงอันขมขื่นและยากไร้ของสิงคโปร์เมื่ออดีต จากจุดนั้นเป็นต้นมาทำให้สิงคโปร์ไม่มีทางเลือกอะไรอีกแล้ว จึงต้องปฏิรูปรัฐบาล สั่งสมความรู้ ให้การศึกษากับประชาชน ก้มหน้าก้มตาทำงานหนักภายใต้การนำของลี กวน ยิว

โดยลี กวน ยิว หัน กลับไปให้ความสนใจเทคโนโลยี ทุนนิยม เน้นการศึกษา มองหาคนเก่งที่รอบรู้และคิดเป็น ปรับประเทศเข้าใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเมื่อ พ.ศ. 2521 แล้วตั้งหน้าตั้งตาเชิญชวนชาวต่างชาติให้เข้าไปลงทุน...จนถึงวันนี้สิงคโปร์ ที่เปรียบเสมือนลูกที่ถูกมาเลเซียเขี่ยทิ้งได้ยกระดับกลายเป็นชาติที่มี อันดับความมั่งคั่งติด 1 ใน 10 ของโลกแล้ว เป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียนตัวจริง?

โดยความจริงแล้วใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ประเทศชาติบ้านเมืองก็หนีไม่พ้นหลักเกณฑ์ข้อนี้ เราลองหันมาพิจารณาดูเศรษฐกิจของประเทศจีนที่ได้แซงญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่ ตำแหน่งเบอร์ 2 ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

โดยในด้านขนาดจีดีพีของจีนสูงกว่าญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 1.336 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนญี่ปุ่นมี 1.288 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ...แม้จะยังไม่ถึงกับเป็นการแซงหน้าที่ชัดเจน เช่น คนญี่ปุ่นยังมีรายได้ต่อหัวต่อปีเกือบ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนชาวจีนยังอยู่แค่ 3,600 ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อมองเจาะรายหัวเช่นนี้ก็เท่ากับจีนยังห่างชั้นกับญี่ปุ่น คงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30-40 ปี จึงจะมีรายได้ต่อหัวยกขึ้นไปเทียบเท่า นอกจากนี้ก็มีผู้วิจารณ์ถึงความเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจของจีนที่มีโอกาสพลิกผันได้

เนื่องจากมุ่งพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การบริโภคภายในประเทศลดลงมาเหลือ 35% ของจีดีพี ถือเป็นอัตราที่ต่ำสำหรับประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โต...

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดหมายว่าภายใน 15 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2568 จีนมีโอกาสแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้สำเร็จ?

คงมีตัวอย่างอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศในโลกนี้ เคยยิ่งใหญ่ก็อับเฉาลงได้ เคยยากจนข้นแค้นแสนสาหัสสามารถพลิกฟื้นกลายเป็นชาติที่ร่ำรวย ดูเหมือนจะเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เหมือนกัน ประเทศอย่างฟิลิปปินส์เมื่ออดีตหลายสิบปีก่อนคงถือเป็นชาติที่มั่งคั่งใน เอเชีย เหนือกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป

ทำนองเดียวกับพม่าในราวสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะนั้นต้องบอกว่าเป็นอีกชาติที่เข้าขั้นร่ำรวย เปรียบเทียบในเวลาเดียวกันเหนือกว่าประเทศไทยของเรา

จึงมีคำถามไม่น้อยสำหรับความเป็นไปของแต่ละบ้านเมือง ขึ้นสูงและลงต่ำ ยิ่งใหญ่จนถดถอยกระจอกงอกง่อย อะไรๆก็เป็นไปได้ทั้งนั้น มีสาเหตุหลายประการที่จะผลักดันหรือมีอิทธิพลกำหนดให้แต่ละชาติบ้าน เมืองกลายไปเป็นอย่างไร? อยู่ในสภาพไหน? แต่สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะได้แก่ “ความคิดหรือวิธีคิดในการวางยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับและพัฒนาชาติบ้านเมือง ของตัวเอง” คือถ้าคิดผิดไปเสียอย่างก็เท่ากับ “ถอยหลังหรือวิ่งลงเหวเท่านั้นเอง” ไม่อาจไปแสวงหาความก้าวหน้าให้แก่ประชาชนและชาติบ้านเมืองได้?

ลำดับเรื่องมาเสียยาว พาดพิงถึงด้วยความเป็นห่วงสำหรับบ้านเมืองของตัวเอง เกรงว่าการเปิดเสรีทางการค้าและบริการทั้งกับอียูและอาเซียนซึ่งใกล้เวลาจะ เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบอยู่รอมร่อ เข้าใจว่า ณ จุดนี้เองที่จะเป็นตัวชี้วัดศักยภาพแท้จริงของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน การเปิดเสรีที่กว้างขวางเป็นดาบสองคม อยู่ที่ว่าเราจะมีความพร้อมสักแค่ไหน?

มีสัญญาณความหมายอะไรหลายอย่างที่ชวนวิตกสำหรับประเทศไทยของเรา คือโลกทุกวันนี้มีการสำรวจ ประเมิน หรือจัดอันดับต่างๆ ซึ่งคิดว่าไม่ได้เหลวไหลในลักษณะเชื่อถือไม่ได้หรือไม่ควรรับฟัง อาจเปรียบเทียบให้เป็นได้มากกว่า “เสียงจิ้งจกทัก” ตัวอย่างเช่นรายงานเรื่องการประเมินธุรกิจมืดทั่วโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2550

ประเทศไทยเราติดอยู่ในอันดับโลกลำดับที่ 7 จากตารางท้าย หรืออันดับที่ 144 จากทั้งหมด 152 ประเทศ ซึ่งมีธุรกิจมืดมากที่สุดในโลก...แต่เสียดายที่ผลประเมินดังกล่าวไม่ได้ บอกรายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจมืดที่เป็นยาบ้า หวยใต้ดิน เงินกู้นอกระบบ ว่าได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนพรรคการเมืองใดบ้าง?

หรือหันไปดูข้อมูลที่เผยแพร่เป็นผลงานของ “Logistics Services An Overview of Global Market and Potential Effects of Removing Trade Impediments” ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา มีการสอบถามนักธุรกิจจาก 51 ประเทศ พบข้อเท็จจริงว่า “โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ทั้งท่าเรือ ท่าอากาศยาน จัดอยู่ในลำดับที่ 26...ในเรื่องของระเบียบ ประสิทธิภาพในระบบราชการ (โดยเฉพาะพิธีการศุลกากร) อยู่ในลำดับที่ 39” แต่นั่นเป็นข้อมูลสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2548 ซึ่งต้องบอกว่าพิธีการศุลกากรของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น...

รายการที่น่าเป็นห่วงคือกฎระเบียบต่างๆของราชการไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับ ที่ 42 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็นับว่าน่าเป็นห่วง แข่งขันกันได้ยาก โดยเฉพาะสำหรับสิงคโปร์กับมาเลเซีย ทั้ง 2 ประเทศนี้เหนือกว่าเราสำหรับการแข่งขันทางด้านโลจิสติกส์...

ที่น่าห่วงประการสำคัญสุดๆคือความเห็นของเขาที่ระบุว่าประเทศไทยเป็น ประเทศซึ่งมีเฉพาะวิสัยทัศน์และแผนงาน แต่มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรมน้อยมาก...Comment ตรงนี้ถือว่าเจ็บจริงๆ นอกจากนั้นยังมีการพาดพิงอีกว่ากรณีที่ประเทศไทยประกาศตัวหวังเป็นศูนย์กลาง การค้าแห่งเอเชียคงไม่ง่ายนัก เพราะต้องปรับปรุงอะไรอีกมากมายเต็มไปหมด...การเปิดเสรีทางการค้าที่จะถึง นี้คงสามารถพิสูจน์ได้ว่าเราเป็นเพียงประเทศที่ขี้คุยเท่านั้นหรือเปล่า?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 275 วันที่ 4 – 10 กันยายน พ.ศ. 2553 หน้า 11 คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย ดร.ดำรงค์ เปลี่ยนศรีศร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น