วันพฤหัสบดี, กันยายน 09, 2553

ผลการสำรวจตัวชี้วัดทางการเมืองขององค์กรเอกชนชื่อ “Freedom House” ถึงสิทธิทางการเมือง (Political Rights) กับเสรีภาพพลเมือง (Civil Liberties)

by Herogeneral on 2010-09-09 - 09:24 pm

ประชาธิปไตยแบบไทยๆไม่มีวันเหมือนเดิม!

ศาสตราจารย์ทามาดะ โยชิฟูมิ (TAMADA Yoshifumi) อาจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น บรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเมืองร่วมสมัยของไทยให้ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเว็บไซต์ “ประชาไท” ได้นำมาเผยแพร่ ทำให้เห็นมุมมองการเมืองที่น่าสนใจหลายประเด็นดังต่อไปนี้

อาจารย์ทามาดะเริ่มอภิปรายด้วยคำถามว่าการเมืองไทยและความเป็น ประชาธิปไตยของไทยสมัยปัจจุบันมีสถานะอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ อื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำผลการสำรวจขององค์กรเอกชนชื่อ “Freedom House” ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัด 2 ประการในการสำรวจ คือสิทธิทางการเมือง (Political Rights) กับเสรีภาพพลเมือง (Civil Liberties) โดยตัวเลขน้อยแสดงว่ามีสิทธินั้นๆมากในอันดับต้นๆ

ผลสำรวจในประเทศไทยปี 2546 มีสิทธิทางการเมืองอยู่ในระดับที่ 2 เสรีภาพพลเมืองอยู่ในระดับที่ 3 แต่ตกต่ำลงหลังรัฐประหาร โดยในปี 2550 สิทธิทางการเมืองตกไปอยู่ระดับที่ 7 ส่วนเสรีภาพพลเมืองอยู่ระดับที่ 4 ปีล่าสุดนี้สิทธิทางการเมืองของไทยดีขึ้นเล็กน้อยคืออยู่ในระดับที่ 5 ส่วนเสรีภาพพลเมืองยังอยู่ในระดับที่ 4

ขณะนี้เปรียบเทียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเรียงลำดับแล้วสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองอันดับต้นๆคือ อินโดนีเซีย ซึ่งเดิมเคยเป็นรัฐบาลทหารแต่เปลี่ยนเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย รองลงมาได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ขณะที่ไทยมีสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมืองเท่ากับสิงคโปร์ โดยที่สิงคโปร์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นอำนาจนิยม อาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยในไทยตกต่ำลงเพราะการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

สาวกคนดี-สาวกทักษิณ

อาจารย์ทามาดะชี้เหตุการณ์ทางการเมืองไทยผ่านการฉายภาพการ์ตูนล้อการ เมืองของ “ขวด” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ “เซีย” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งตีพิมพ์ระหว่างปี 2549-2553 ว่าคำถามที่ว่ามีสงครามระหว่างใคร มีอะไรเกิดขึ้นใน 3 ปีที่ผ่านมา

พอจะนึกออกแล้วใช่หรือไม่ ประเทศไทยกำลังมีสงครามระหว่างใครกับใคร มีคนอธิบายแบบง่ายๆว่าเป็นสงครามระหว่าง “สาวกคนดี” กับ “สาวกทักษิณ” ซึ่งคิดว่าไม่จริง โดยขออธิบายว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมือง เป็นสงครามที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะมีฝ่ายเดียวที่เป็นฝ่ายรุกโดยส่วนใหญ่

ทั้งนี้ ในระบอบประชาธิปไตยการเลือกตั้งจะต้อง “มีกฎที่แน่นอน แต่ไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร” (Certain rule with uncertain result) แต่ถ้าการเลือกตั้ง “มีกฎที่ไม่แน่นอน แต่ผลแน่นอน” (Uncertain Rule with certain result) แบบนี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้

ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายว่า คนที่สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (Anti democratic forces) ได้แก่ คน 3 กลุ่มคือ 1.ชนชั้นกลาง (Urban elite) 2.พลังข้าราชการ (Bureaucratic power) 3.ฝ่ายนิยมเจ้า (Monarchist) โดยคน 3 กลุ่มเป็นคนละส่วนแต่ได้จับมือกันเพื่อต่อสู้กับทักษิณ ชินวัตร พวกนิยมเจ้าเริ่มสู้กับทักษิณเพราะไม่ชอบทักษิณและกังวลเรื่อง Successor (ผู้สืบสันตติวงศ์) ส่วนคนในเมืองที่เป็นชนชั้นกลางสู้กับคนจนในชนบทและคนจนในเมือง ในขณะที่พวกข้าราชการก็สู้กับ ส.ส.

พวกนิยมเจ้าไม่ชอบทักษิณเพราะรัฐในอุดมการณ์ของเขาเข้ากับทักษิณได้ยาก เขาต้องการปกครองในรูปแบบ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” หรือ “ราชประชาสมาศัย” ซึ่ง 2 อย่างนี้เหมือนกันหรือคล้ายกันมาก

ปิยะบุตร แสงกนกกุล เคยอธิบายว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” มีลักษณะดังนี้ 1.องคมนตรีมีอำนาจแทรกแซงการเมือง 2.ประชาชนเป็นข้าแผ่นดิน ไม่ใช่พลเมือง 3.รัฐบาลเสียงข้างมากต้องประนีประนอมกับอภิชน 4.เชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ตัวบงชี้ 5.กองทัพเป็นผู้อนุบาล 6.ปราศจากการตรวจสอบและความรับผิด (accountability)

ระบอบประชาธิปไตย

ระบบการปกครองต่างๆทั่วโลกที่เป็นระบอบประชาธิปไตยมี 3 รูปแบบคือ 1.ระบบประธานาธิบดี (Presidency System) ผู้นำเป็นประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้

2.ระบบรัฐสภา (Parliamentary System) นายกรัฐมนตรีมีอำนาจ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ภูฏาน สิงคโปร์ ส่วนมากประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องเป็นรูปแบบที่ 1 หรือที่ 2 นี้

3.กึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (Semi-Presidential System) นายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีมีอำนาจเท่าๆกัน ประเทศที่ใช้การปกครองรูปแบบนี้ เช่น ฝรั่งเศส ไต้หวัน รัสเซีย

แบบที่ 4 “แบบไทยๆ” นี่เป็นลักษณะพิเศษ เป็นแบบที่แบ่งอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ Monarch (สถาบันพระมหากษัตริย์)

และแบบที่ 5 Monarchial system หรือแบบกษัตริย์ เช่น บรูไน


โดยระบบประธานาธิบดีเป็นประมุขกับระบบกษัตริย์เป็นประมุขมีลักษณะคล้ายกัน ต่างกันที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่เท่านั้น

ทั้งนี้ รูปแบบที่ 3 กับ 4 มีปัญหาอย่างหนึ่งคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ ประธานาธิบดี และระหว่างนายกรัฐมนตรีกับกษัตริย์ อาจเป็นแบบ Zero-sum game คนหนึ่งได้หมด คนหนึ่งจะเสียหมด ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันได้นี่ยากหน่อย โดยทั่วไปแล้วอีกฝ่ายชนะ อีกฝ่ายแพ้ มักจะเป็นอย่างนั้น

ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะใช้รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแบบนี้ ประธานาธิบดีมีอำนาจแบบนี้ ยึดกันตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่กำหนดอย่างชัดแจ้งจะเกิดปัญหาแบบที่เมืองไทยแย่งชิงอำนาจกัน ใครมีอำนาจมากกว่ากัน

“แบบไทยๆ” นั้นมีปัญหาอย่างไร ถ้าหากนายกรัฐมนตรีมีความชอบธรรมสูงมาก สำหรับพวกนิยมเจ้าถือว่าเป็นปัญหา พวกเขาสนใจมากและห่วงมากหากนายกรัฐมนตรีมีความชอบธรรมสูงมากไป แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นหรืออังกฤษซึ่งมีกษัตริย์เหมือนกัน แต่นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจมากหรือน้อยนั้นพวกนิยมเจ้าไม่สนใจ ส่วนเมืองไทยไม่เป็นอย่างนั้น

จึงถือว่าแบบญี่ปุ่นและอังกฤษทั้ง Popularity (ความนิยมของประชาชน) กับ Ability (ความสามารถ) ของ Monarch นั้นไม่สำคัญกับระบอบ แต่สำคัญสำหรับแบบที่ 4 กับแบบที่ 5 ในญี่ปุ่นและอังกฤษไม่มีปัญหา อำนาจของกษัตริย์ถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญ ผมพูดในฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมาย ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งปัญหาก็จะเกิด

กล่าวคือ ความสูงต่ำของเพดานอำนาจ Monarch จึงเปลี่ยนง่าย ขึ้นอยู่กับความสามารถของ Monarch และความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นพวกนิยมเจ้าจึงพยายามเพิ่มอำนาจของ Monarch

“ทักษิณ” กับฝ่ายนิยมเจ้า

ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายนิยมเจ้ากับ “ทักษิณ” ทะเลาะกัน เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีกับกษัตริย์เริ่มเปลี่ยน เนื่องจากประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมีขั้นตอนเริ่มจากการเลือกตั้งอย่างน้อยหลังปี 2522 สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แล้วอีกประการที่สำคัญหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 มีการแก้รัฐธรรมนูญว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. แปลว่าคนที่เลือกนายกรัฐมนตรีคือประชาชน นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ ต่อมามีรัฐธรรมนูญปี 2540 และในช่วงเดียวกันมีการกระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งบ่อยขึ้น หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นมีการเลือกตั้งมากขึ้น ประชาชนเรียนรู้ว่าจะใช้คะแนนเสียงของตนอย่างไร

สุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้งปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นปัจจัย เงื่อนไขให้พวกนิยมกษัตริย์ตกใจ เป็นห่วง ไม่พอใจ พวกนิยมเจ้าคิดอย่างไร นี่เป็นคำพูดที่มีชื่อเสียง ทุกคนเคยเห็น เคยได้ยินมาแล้ว เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนนท์ (ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) พูดที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ก่อนมีรัฐประหารประมาณ 2 เดือน เขาอธิบายว่า “รัฐบาลก็เหมือนกับ jockey คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” [1]

แต่คำว่า “ชาติ” ของ พล.อ.เปรมหมายถึงอะไรคงไม่มีใครอธิบาย เมื่อวานผมผ่าน “ค่ายตากสิน” (กองพันสัตว์ต่าง กรมการขนส่งทหารบก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) เขียนว่า “เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน” แต่ในตะวันตก ชาติหมายถึงประชาชน เป็นอันเดียวกัน แต่ที่นี่ ที่ประเทศไทยชาติไม่ใช่ประชาชน ชาติหมายถึงอะไร ไม่รู้ ที่นี่ชาติอาจไม่มีความหมาย ทหารจึงเป็นของกษัตริย์ในสายตาของ พล.อ.เปรม

นอกจากนี้มีหนังสือจากประธานศาลฎีกาถึงประธานวุฒิสภา ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2549 อธิบายทำนองว่าในภาวะที่ประเทศว่างเว้นรัฐสภาและรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ถ้ารัฐสภาว่างเปล่า คณะรัฐมนตรีว่างเปล่า เหลือแต่อำนาจศาล กษัตริย์จะใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านศาลได้ [2] เพราะช่วงนั้นสภาว่างเปล่าจริงๆ ไม่มี ส.ส. ส่วน ส.ว. ก็ว่าง เหลือแต่คณะรัฐมนตรีรักษาการ ถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณลาออกหรือถูกทำให้ออกในสมัยนั้น พ.ต.ท.ทักษิณไป คณะรัฐมนตรีก็ไม่มีเหลือ จะเหลือแต่อำนาจศาลเท่านั้น ผมเข้าใจว่ามีการพยายามสร้างสถานการณ์หรือทำให้มีสภาวะของอำนาจแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะสามารถใช้อำนาจอธิปไตยโดยใช้ศาลได้ แต่พอดีเกิดรัฐประหารขึ้น

เสื้อแดงกับเสื้อเหลือง

อาจารย์ทามาดะเปรียบเทียบความแตกต่างทางความคิดระหว่างคน 2 กลุ่มคือ กลุ่มเสื้อแดง กับกลุ่มเสื้อเหลือง ตามตัวชี้วัดต่างๆดังนี้

ประเด็นแรก “การเลือกตั้ง” เสื้อเหลืองไม่ชอบและด่า ส.ส. ส่วนเสื้อแดงถือว่าเขาได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งขาดไม่ได้ ต้องมี ประเด็นที่ 2 เรื่อง “การรัฐประหาร” เสื้อเหลืองยอมได้ เสื้อแดงไม่ยอม ประเด็นที่ 3 เรื่อง “ด่าใคร” ในกรณีการสลายการชุมนุมที่ผ่านมาเสื้อเหลืองด่าคนที่ถูกฆ่า ส่วนเสื้อแดงด่าคนที่สั่งฆ่าหรือคนที่ฆ่า

อาจารย์ทามาดะนำข้อมูลจากงานวิจัยของอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาอภิปราย โดยคำถามในงานวิจัยเกี่ยวกับอาชีพของคน 2 กลุ่มในการสำรวจ พบว่าอาชีพเกษตรกร คนเสื้อเหลืองมีอาชีพนี้ 35% ส่วนคนเสื้อแดง 53%

อาชีพงานนอกระบบ คนเสื้อเหลืองทำงานนอกระบบ 4% คนเสื้อแดง 9% อาชีพในระบบที่เป็นทางการ พบว่าเป็นคนเสื้อเหลือง 35% คนเสื้อแดง 22% ส่วนอาชีพค้าขาย พบว่าเป็นคนเสื้อเหลือง 27% คนเสื้อแดง 6%

เรื่องวุฒิการศึกษา คนเสื้อเหลืองจบระดับปริญญาตรีขึ้นไป 38% คนเสื้อแดง 18.7%

เรื่องรายได้ต่อเดือน คนเสื้อเหลืองมีรายได้ 31,427 บาทต่อเดือน คนเสื้อแดงมีรายได้ 17,034 บาทต่อเดือน ส่วนคนที่เป็นกลางมีรายได้ 11,995 บาทต่อเดือน

ด้านจิตสำนึกเป็นอย่างไร คนเสื้อเหลืองกลับรู้สึกว่าตัวเองยากจน 23% คนเสื้อแดงรู้สึกว่าตัวเองยากจนเพียง 18% คือคนเสื้อเหลืองรวยกว่าแต่รู้สึกว่ายากจนกว่า ส่วนคนที่เป็นกลางรู้สึกว่ายากจน 14.6%

ส่วนคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีฐานะปานกลาง พบว่าคนเสื้อเหลือง 61.5% คิดว่าตัวเองมีฐานะปานกลาง คนเสื้อแดง 50% คิดว่าตนมีฐานะปานกลาง และคนที่เป็นกลาง 78.1% คิดว่าตัวเองมีฐานะปานกลาง ส่วนทัศนคติเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ พบว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองรู้สึกว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนไม่ห่างมาก หมายถึงยังพอรับได้ 57.7% ส่วนคนเสื้อแดง 75.0% และคนที่เป็นกลาง 87.8% คิดเช่นนั้น

เรื่องการยอมรับการรัฐประหาร คนเสื้อแดงไม่ยอมรับการรัฐประหาร 81% ยอมรับการรัฐประหาร 19.2% ส่วนคนเสื้อเหลืองไม่ยอมรับการรัฐประหาร 12.5% ยอมรับการรัฐประหาร 50% และเมื่อถามว่าจะยอมรับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ คนเสื้อเหลือง 73.1% ตอบว่ายอมรับการรัฐประหารหากเป็นไปเพื่อการปกป้องสถาบัน และ 57.7% ยอมรับการรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาจลาจล

อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้มี การเลือกตั้งกับฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง พวก Monarchist ต้องโจมตีทั้ง “Principal” “Agent” และ “Election” โดยโจมตีว่าประชาชนซึ่งเป็น “Principal” นั้นโง่ ยากจน การศึกษาต่ำ จึงขายเสียง โจมตีผู้แทนราษฎรซึ่งเป็น “Agent” ว่าคอร์รัปชัน ซื้อเสียง จึงไม่ชอบธรรม และโจมตีขั้นตอนมอบอำนาจคือ “Election” หรือการเลือกตั้งว่ามีการซื้อเสียง ขายเสียง

อาจารย์ทามาดะเปรียบเทียบวิธีคิดนี้กับคำพูดของนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 ที่กล่าวว่า “เราขอถามที่มาของผู้ทรงอำนาจรัฐ 16 ล้านเสียง แค่คูณด้วยเสียงละพันก็เป็นเงินแค่ 16,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง...” [3] ถ้าเป็นผู้พิพากษาในญี่ปุ่นพูดแบบนี้ถูกปลดทันที แต่ในไทยตอนนี้คนนี้ก็ยังเป็นผู้พิพากษาอยู่

อาจารย์ทามาดะกล่าวถึงความไม่พอใจของคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดง โดยเดาว่า 1.คนเสื้อแดงไม่พอใจกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 2.คนเสื้อแดงไม่พอใจ Injustice หรือ 2 มาตรฐาน ว่าเป็นประชาชนด้วยกัน เป็นคนไทยด้วยกัน แต่มีการปฏิบัติด้วยมาตรฐานหลายอย่าง 3.คนเสื้อแดงไม่พอใจที่มาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เกิดภายในค่ายทหาร เพราะฉะนั้นเขาไม่ชอบ

ส่วนคนเสื้อเหลืองไม่พอใจเพราะกลัวการเมืองแบบเสียงข้างมาก แต่เขาเป็นเสียงข้างน้อย เขาไม่ชอบแบบนี้

ตามคำอธิบายของอาจารย์ยุกติในแง่มุมทางเศรษฐกิจคนเสื้อเหลืองหรือชนชั้น กลางเดิมได้เปรียบหลายอย่าง แต่ 10 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยได้เปรียบ ฐานะเริ่มเท่ากับคนชั้นล่าง จึงไม่พอใจ ส่วนแง่มุมทางวัฒนธรรม คนเสื้อเหลือง ชนชั้นกลางต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ เขาไม่ชอบ ไม่ต้องการให้เปลี่ยน

สงครามยังไม่ยุติ

อาจารย์ทามาดะชี้ว่าการทะเลาะจึงยังไม่จบและจบยาก เพราะการต่อสู้นี้ถ้าเลียนแบบคำพูดของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่พูดกับ ส.ส. เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ว่า “รู้ไหม สู้กับใคร” เพราะฉะนั้น ส.ส. หลายคนจึงกลายเป็นงูเห่า

ดังนั้น ถ้าเลียนแบบเขา เอาคำพูดนี้มาใช้แล้วถามว่า “เขาสู้ กับใคร?” หลายคนคิดว่ากำลังสู้กับทักษิณ? แต่ว่าจริงๆโจมตีทักษิณมา 5 ปีแล้วยังชนะไม่ได้ ทำไม? ยังโจมตีไม่พอ? ทำลายไม่พอ? หรือเปล่า? ก็ไม่ใช่ เขาสู้กับประชาชน เพราะสู้กับประชาชน ดังนั้น จึงไม่มีทางเอาชนะได้

และการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐ 2 แบบคือ รัฐของฝ่ายกษัตริย์นิยมกับรัฐของประชาชน ถ้าเป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบธรรมดาๆ โดยทั่วไปแล้วประชาชนเป็น Principal โดยตัวของเขา และเลือก Agent และ Agent ผู้ถูกเลือกตั้งจะทำการปกครอง โดยเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือประธานาธิบดี นี่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ภายใต้โครงสร้างนี้จะปฏิเสธอำนาจอธิปไตยของประชาชนและปฏิเสธการเลือกตั้งไม่ ได้ เพราะถ้าปฏิเสธสิ่งเหล่านี้เราไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว หนทางของฝ่ายที่กำลังสู้กับประชาชนนี้ไม่มีวันที่จะชนะได้

หมายเหตุโดยประชาไท

[1] หมายถึงคำพูดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ระหว่างบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทหารอาชีพ กับทหารมืออาชีพ” ให้กับนักเรียนนายร้อย จปร. ชั้นปีที่ 1-4 ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) อำเภอเขาชะโงก จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549

[2] หมายถึงหนังสือศาลฎีกาด่วนที่สุด เลขที่ ศย.100/10666 ลงชื่อนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ถึงนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เรื่องการพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง โดยเป็นการชี้แจงเหตุผลถึงมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ไม่สรรหาคณะกรรมการการ เลือกตั้งแทน 2 ตำแหน่งที่ว่างลง ข้อความตอนหนึ่งของหนังสือระบุว่า “...ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขแห่ง ราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกาเมื่อวัน ที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมาจึงเป็นไปโดยชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญ”

[3] หมายถึงคำพูดของนายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกาในขณะนั้น ซึ่งกล่าวระหว่างการเสวนาหัวข้อ “สิทธิชุมชน : เส้นทางกระจายอำนาจจัดการทรัพยากรของชุมชน” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 275 วันที่ 4 – 10 กันยายน พ.ศ. 2553 หน้า 6-7 คอลัมน์ รายงานพิเศษ โดย ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น