วันพฤหัสบดี, กันยายน 09, 2553

เหตุผลวิบัติญาติสนิทคู่เคียงการตอแหล

by Herogeneral on 2010-09-09 - 09:20 pm
ที่มาข้อมูล: คิดเหนือข่าว โดย เรืองยศ จันทรคีรี จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
(ปีที่ 11 ฉบับที่ 2881 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 9 กันยายน 2010)

เหตุผลวิบัติญาติสนิทคู่เคียงการตอแหล

เมื่อตอนที่แล้วผม เขียนถึงเหตุผลวิบัติซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของ ประเทศไทยที่เราเห็นชัดเจนตั้งแต่ภายหลังก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549...ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับปรากฏการณ์ “เหตุผลวิบัติ” หรือ Fallacy ในฐานะของการเป็นอาวุธที่ถูกใช้เพื่อขับเคลื่อนในทางการเมืองด้วยความสนใจ ที่เป็นพิเศษและมากขึ้น อีกทั้งเป็นสาระซึ่งมิอาจละข้ามไปจากการศึกษาวิจัยได้แม้แต่น้อยนิด?

Fallacy โดยความหมายทั่วไปก็คือการพิสูจน์หรือการสื่อสารที่อ้างเหตุผลอันมีน้ำหนัก อ่อน กระทั่งอาจจะไม่มีน้ำหนักเสียด้วยซ้ำไปเพื่อเอาไปสนับสนุนในข้อสรุปสุดท้าย การให้เหตุผลวิบัติจึงแตกต่างไปจากวิธีให้เหตุผลในลักษณะอื่นๆ เพราะมักพบว่าการให้เหตุผลนั้นย่อมเป็นสถานะของความน่าเชื่อถือในทางจิตวิทยา

เป็นศักยภาพที่ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมเกิดความเข้าใจผิดพลาด และยกเหตุผลอย่างผิดๆเหล่านั้นไปใช้เป็นเหตุผลที่จะเชื่อในข้อสรุปนั้นๆ การให้เหตุผลจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน มีโอกาสกลายเป็นเหตุผลวิบัติในหลายสถานการณ์แม้กระทั่งเมื่อข้อสรุปจะเป็น เรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม...

โดยทั่วไปแล้วความเป็นเหตุผลวิบัติคงจำแนกออกไปได้หลายรูปแบบ มีทั้งเหตุผลวิบัติชนิดเป็นทางการซึ่งเกิดจากหลักตรรกะที่ไม่ถูกต้อง ยังมีเหตุผลวิบัติที่ไม่เป็นทางการ อาจไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาว่าเป็นความผิดตามหลักตรรกะ ยังสามารถก่อให้เกิดความเป็นเหตุผลวิบัติได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นเรื่องของเหตุผลวิบัติก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำ

เกิดจากการโน้มน้าวชักนำ “ด้วยภาษา” ใช้ภาษาชักนำเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาที่กำกวมหรือการพูดมากเกินไปอย่างไม่จำเป็น เหตุผลวิบัติบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาถึงความผิดของการใช้ ตรรกะ มีเหตุสำคัญอีกส่วนหนึ่งสืบต่อมาจาก “การสันนิษฐาน”

ความเป็นเหตุผลวิบัตินับเป็นสิ่งที่เลวร้าย เพราะการยกเหตุผลที่ห่อหุ้มด้วยสำบัดสำนวนเพื่อจงใจต่อการสร้างความเคลือบ แคลงที่จะยกเหตุผลในตรรกะ อาจทั้งด้วยเจตนาและไม่เจตนา ก็ทำให้เกิดสภาวะของเหตุผลวิบัติที่ยากจะตรวจสอบ คือไม่ง่ายในการรับรู้โดยความสามารถที่จะกลั่นกรอง...

พิษภัยของเหตุผลวิบัติจะแพร่กระจายและขยายผลออกไปได้ยาวนานกระทั่งตอบได้ ยากถึงผลลัพธ์สุดท้ายว่าจะกระทบไปสู่การรับรู้ของผู้คนให้บิดเบี้ยวและ วิปริตกันได้ขนาดไหน? ความหมายของเหตุผลวิบัติเราเรียกได้หลายอย่าง แต่โดยรวมก็คือเหตุผลหลอกลวงในรูปแบบต่างๆซึ่งมีอยู่มากมายหลายวิธีการ

เป็นเรื่องของผู้อธิบายเหตุผลอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม หลอกล่อให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านต้องยอมรับถึงข้อสรุปที่ฟังดูดี (แม้เหตุผลอ่อน) เนื่องจากใช้วิธีการยอกย้อนและพลิกแพลงจนเป็นไปในทำนองร้อยลิ้นกะลาวน กระทั่งอาจเป็นประเภทกล่อมลิงหลับก็ได้!

มีตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผลวิบัติที่น่าสนใจและควรกล่าวถึง เห็นจะได้แก่กรณีของ “GT 200” ซึ่งเคยมีการอธิบายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตัวนี้ด้วยกรรมวิธีในขบวนการทำงานของ มัน โดยมีการใช้ “กรอบทฤษฎีของวิทยาศาสตร์เทียมเข้ามาอ้างอิง”

แล้วชักจูงให้เข้าใจผิดไปว่าคือสิ่งที่สร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีทางสนามแม่ เหล็กหรือไฟฟ้าสถิตซึ่งซับซ้อนจนพิสูจน์ได้ยากถ้าจะใช้กรอบทฤษฎีของวิทยา ศาสตร์กระแสหลัก...

ผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องใช้ความพยายามแนวทางนี้ในการอธิบายสร้างความชอบ ธรรมกับสังคมสำหรับการสั่งซื้อเครื่องมือ GT 200 เข้ามาใช้งาน...นอกจากการอ้างกรอบทฤษฎีของวิทยาศาสตร์เทียมยังผสมกลมกลืนกับ การใช้วิธี Argumentum ad Baculum ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของเหตุผลวิบัติ โดยเป็นการ “เอาอำนาจเข้าข่ม”

Fallacy ที่ใช้อำนาจเข้าข่มจะถูกใช้เป็นเหตุผลวิบัติสำหรับกรณีที่ผู้ถกเถียงไม่ สามารถเอาชนะด้วยเหตุผล ดังนั้น วิธีง่ายที่สุดสำหรับพวกเขาก็คือการใช้อำนาจเข้าข่มเพื่อให้เกิดการยอมรับใน เหตุผล เราต้องถือกรณีศึกษาของเหตุผลวิบัติที่เล่นกับความกลัวของผู้อื่น (Appeals to Fear) ค่อนข้างเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย

เนื่องจากผู้พูด “มีอำนาจอยู่ในมือ” เมื่ออธิบายอะไรออกมาจะจริงหรือเท็จไม่ใช่เรื่องสำคัญ ให้เป็นเอาสีข้างเข้าถูเหมือนเช่นกรณี GT 200 ก็สามารถสร้างข้อสรุปและความชอบธรรมให้แก่ตัวเองได้?

Fallacy ยังจำแนกได้อีกมากมาย แต่สำหรับเรื่องของการใช้อำนาจเข้าข่มเพื่อบังคับให้สังคมยอมรับในเหตุผลนับ เป็นเหตุผลวิบัติที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐมักนิยมเลือกเอามาใช้ เพราะพวกนี้เชื่อว่า “การเล่นกับความกลัวของผู้อื่น” จะกระทำได้ง่าย พูดอะไรก็ได้? จะให้เหตุผลอะไรก็สะดวก

ประชาชนคงมีหน้าที่เพียงต้องฟังและต้องเชื่อ...เรื่องที่นายศิริโชค โสภา บอกว่าเข้าพบวิคเตอร์ บูท แล้วค่อยมารายงานให้มาร์ครับทราบ...อันนี้ก็เป็น Appeals to Fear ได้อีกตัวอย่าง?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น