by Herogeneral on 2010-09-09 - 09:04 pm
กบฏกับเมฆทะมึนปกคลุมสยามจุดบรรจบที่สงครามกลางเมือง
ในฝ่ายที่ยังคงจง รักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและระบอบการปกครองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มเคลื่อนไหวโดยมีการประชุมหารืออยู่บ่อยครั้ง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวหาได้เล็ดลอดไปจากการเฝ้าสังเกตจับตาโดยคณะราษฎร แต่อย่างใด และเพื่อเป็นการปรามแนวคิดที่จะก่อการยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร พันโทหลวงพิบูลสงครามทำหนังสือไปถึงคณะบุคคลที่กำลังเคลื่อนไหวกันอย่างเป็น ความลับนั้น ดังมีใจความว่า
“...ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเตือนให้ท่านจงสงบจิตสงบใจ หากท่านยังจุ้นจ้านอีก คณะราษฎรตกลงจะทำการอย่างรุนแรง และจำต้องถือเอาความสงบของบ้านเมืองเป็นกฎหมายสูงสุดในการทำแก่ทาน ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาด้วยความหวังดี”
คำขาดที่ว่านี้มีไปถึงบุคคลที่คิดก่อการ ดังเช่น พระองค์เจ้าบวรเดช, พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, หม่อมเจ้าวงศ์ เนรชร, หม่อมเจ้าไขแสง ระพีพัฒน์, หม่อมเจ้าโสภณ ภาราไดย์, พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช), พระศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ทุกพระองค์และทุกคนพากันเข้าพบหลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัยที่วังปารุสก วันเพื่อเคลียร์ตัวเอง เว้นพระองค์เดียวคือ พระองค์เจ้าบวรเดช ทั้งยังคงเดินทางไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดนครราชสีมาอย่างไม่ใส่ใจ ต่อคำขาดจากผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบจากฝ่ายคณะราษฎร
นั่นคือสัญญาณเตือนว่าฝ่ายก่อการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่หยุดการ เคลื่อนไหว ทั้งนี้ การรวมตัวกันนั้นใช้ชื่อเรียกว่า “คณะกู้บ้านเมือง” ซึ่งประกอบด้วยบุคคลระดับหัวหน้า ดังนี้ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พลตรีพระยาเสนาสงคราม (หม่อมราชวงศ์อี๋ นพวงศ์) พลตรีพระยาทรงอักษร (ชวน ชวนะลิขิกร) พันเอกพระยาจินดาจักรรัตน์ (เจิม อาวุธ) พันเอกพระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ทองคำ ไทยไชโย) และหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญคือ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) สหายสนิทของพระยาพหลฯและพระยาทรงสุรเดชเอง
วันที่ 3 ตุลาคม 2476 “คณะกู้บ้านเมือง” ก็ลอบออกเดินทางไปรวมตัวพร้อมหน้ากันที่นครสวรรค์ ผู้ก่อการวางแผนเข้ายึดนครราชสีมาอย่างสายฟ้าแลบ โดยใช้หน่วยทหารที่ยังจงรักภักดีต่อพระองค์เจ้าบวรเดช นอกจากนี้ยังพยายามระดมทหารจากหัวเมือง เช่น อุบลราชธานี เข้าร่วมด้วย แต่ผู้บังคับบัญชาและคุมกำลังส่วนใหญ่หัวเมืองต่างๆเกิดการไหวตัว เพราะเชื่อว่าพวกอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ
ช่วงวันที่ 8-10 ตุลาคม ฝ่ายกบฏมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลโดยผ่านทางหัวหน้าคนสำคัญ 2 คนคือ พระยาศรีสิทธิสงครามสั่งการให้ทหารช่างจากอยุธยาเข้ายึดดอนเมือง พร้อมกับกำลังทหารมาจากสระบุรีภายใต้การนำของพันเอกพระยาฤทธิรงค์รณเฉท
จากนั้นการปฏิบัติการก็เริ่มต้นในเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม 2476 โดยกองกำลังผสมที่ประกอบด้วยทหารจากนครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี และอยุธยา เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานีรถไฟบางเขนและดอนเมือง
ทันทีที่ได้รับรายงานการเคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่เป้าหมายของฝ่ายกบฏ ฝ่ายรัฐบาลก็เร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการอารักขาบรรดาสถานทูตต่างๆไว้ อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งส่งกำลังทหารไปให้ความอารักขาบุคคลสำคัญๆของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ เช่น พระองค์เจ้าอลงกต พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ พระยาเทพหัสดินฯ ส่วนพระยาศราภัยพิพัฒน์ลอบหลบหนีไปก่อนเนื่องจากรู้ตัวดีว่าเป็นเป้าจับตา จากฝ่ายคณะราษฎรมาตั้งแต่มีข่าวการก่อกบฏ
ในตอนค่ำรัฐบาลพระยาพหลฯออกแถลงการณ์ให้ประชาชนได้ทราบทั่วประเทศ มีใจความว่า พระองค์เจ้าบวรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม พระยาเทพสงคราม เป็นกบฏต่อแผ่นดิน และพยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ถัดมาในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 เวลา 05.00 น. กำลังทหารช่างอยุธยาจึงยึดดอนเมืองได้ ส่วนกองระวังหน้าทหารโคราชมาถึงสระบุรี และได้ส่งหมวดเฝ้าระวังคุมเชิงที่สะพานข้ามคลองบางเขนระหว่างสถานีบางเขนและ หลักสี่ ถึงตอนนี้พระยาศรีสิทธิสงครามรู้สึกไม่พอใจเนื่องจากได้กำลังแค่ทหารช่าง 4 กองร้อยที่ไม่เต็มอัตราศึก มิหนำซ้ำการดำเนินการก็ล่าช้าไป 1 วันจากแผนเดิมที่วางไว้ และในเวลา 06.40 รถขบวนพิเศษที่มีพระองค์เจ้าบวรเดชประทับก็เข้าเทียบชานชาลาที่สถานีสระบุรี
เวลา 08.00 น. ตัวแทนของรัฐบาลที่ประกอบไปด้วย พันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ร้อยโทขุนไสวแสนยากร ร้อยโทขุนปิยยรัตน์รณยุทธ์ และนายดาบแสง จุลจาริตต์ เดินทางจากสถานีบางซื่อไปสถานีบางเขนด้วยรถโยกเพื่อเจรจากับฝ่ายกบฏ เมื่อไปถึงจากนั้นหลวงเสรีเริงฤทธิ์ได้เจรจากับหลวงลพบาดาลอยู่พักใหญ่ ซึ่งแจ้งว่ายินดีถอนทัพถ้าได้รับหนังสือรับรองว่าจะไม่เอาผิดที่ลงนามโดยพัน โทหลวงพิบูลสงคราม ผู้บังคับการกองผสม เพื่อแลกกับการถอนทัพ พอกลับไปที่บางเขนอีกครั้งก็โดนทหารช่างปลดอาวุธกลายเป็นเชลยศึก แล้วถูกส่งไปจองจำที่กองพันทหารช่างอยุธยา
ฝ่ายรัฐบาลได้รวบรวมกำลังทหารในพระนครจัดเป็นกองผสม มีทหารราบ 3 กองพัน ทหารม้า 1 กองพัน กับปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขึ้นอยู่กับการบังคับบัญชาของพันโทหลวงพิบูลสงคราม เข้ายึดแนวสถานีบางซื่อ สนามเป้า สามเสน มักกะสัน
ตอนบ่ายวันเดียวกันนั้นพวกกบฏใช้เครื่องบินทำการบินเหนือพระนครเพื่อเป็น การขู่ขวัญและสืบการเคลื่อนไหว รัฐบาลได้ใช้ปืนต่อสู้อากาศยานยิงสกัด เวลาเดียวกันนาวาโทพระแสงสิทธิการ ตัวแทนของฝ่ายกบฏ นำสาสน์จากพระยาศรีสิทธิสงครามมาส่งมอบต่อพระยาพหลฯ โดยมีใจความสำคัญว่า
“คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงขอให้คณะรัฐบาลถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งภายใน 1 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะใช้กำลังบังคับ และจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราวจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งคณะ รัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารประจำการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”
คณะรัฐบาลเรียกประชุมเป็นการฉุกเฉินเพื่อพิจารณาข้อเสนอฝ่ายกบฏ โดยมีมติเห็นว่ารัฐบาลดำเนินการปกครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งยังประกาศยืนยันไม่นำเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯมาใช้อย่างที่ ฝ่ายกบฏพยายามโฆษณาชวนเชื่อ ข้อเสนอของพวกกบฏเป็นการใช้กำลังมาบีบรัฐบาล และเห็นควรต่อต้านปราบปรามพวกกบฏเหล่านี้
ดังนั้น รัฐบาลจึงจับกุมพระยาแสงสิทธิการในฐานะสมคบกับพวกกบฏ
ที่มาข้อมูล : จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข รายงาน(วันสุข) โดย อรัน
(ปีที่ 6 ฉบับที่ 275 ประจำวัน จันทร์ ที่ 6 กันยายน 2010)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น