วันพุธ, สิงหาคม 04, 2553
คำชี้แจง"กัมพูชา"ยัน เริ่มแผนบริหาร"พระวิหาร"แล้ว / เอกสารฉบับ"สุวิทย์" & คำชี้แจงจากยูเนสโก : Matichon Online
หมายเหตุ - รายละเอียดคำต่อคำของเอกสารเผยแพร่อย่างเป็นทางการของสำนักงานเพื่อการตอบ โต้และชี้แจงข่าวเร่งด่วน (พีคิวอาร์) ในสังกัดสำนักคณะรัฐมนตรีกัมพูชา จำนวน 2 ฉบับ ว่าด้วยผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยประชุมที่ 34 ณ กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล ซึ่งมีการเผยแพร่ออกมายังสื่อมวลชนในกัมพูชา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม
ผลประชุม
@ การตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลก (34 คอม 7บี.66) ได้รับรู้ว่ามีรายงานซึ่งจัดทำโดยศูนย์มรดกโลก (ดับเบิ้ลยูเอชซี) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักเลขานุการของคณะกรรมการ รายงานดังกล่าว (ดับเบิ้ลยูเอชซี-10/34.คอม/7บีผนวก3) ขณะนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกของศูนย์มรดกโลก
@ รายงานของศูนย์ดับเบิ้ลยูเอชซี มีเนื้อหาประกอบด้วยการประเมินแผนบริหารจัดการและรายงานว่าด้วยการอนุรักษ์ ปราสาทพระวิหารของรัฐ รายงานทั้งสองชิ้นนี้ทางการกัมพูชาได้ส่งมอบให้ดับเบิ้ลยูเอชซีในเดือน มกราคม 2553
@ รายงานทั้งสองของทางการกัมพูชาตามที่การตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกได้รับ รู้แล้วดังกล่าวนี้ เป็นไปตามมติจากการตัดสินของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยประชุมควิเบก (2551) และเซบีย่า (2552)
@ การประเมินแผนบริหารจัดการ และการประเมินรายงานความคืบหน้าว่าด้วยการอนุรักษ์พระวิหาร ซึ่งมีบรรจุอยู่ในรายงานของศูนย์มรดกโลก เป็นการพิจารณาร่วมกันของคณะทำงานมืออาชีพขององค์กรดังต่อไปนี้
- ศูนย์มรดกโลก ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักเลขานุการของคณะกรรมการมรดกโลก
- อิโคมอส องค์กรที่ปรึกษา ซึ่งมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการประเมินคุณค่าและตรวจสอบทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
- องค์กรที่ปรึกษาอื่นๆ อันประกอบขึ้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเชิงเทคนิค เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของสำนักเลขาธิการและคณะกรรมการมรดกโลก
@ ในส่วนที่เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการ รายงานของศูนย์มรดกโลก ซึ่งได้รับการรับรู้จากคณะกรรมการมรดกโลกนั้น กล่าวเอาไว้ดังต่อไปนี้
- แผนบริหารจัดการ แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2552 หลังจากทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานที่ตั้งหลายครั้ง
- คณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ได้บ่งชี้ประเด็นในการอนุรักษ์ และอธิบายว่าการอนุรักษ์ดังกล่าวควรดำเนินการอย่างไร และเสนอให้มีแผนปฏิบัติการขึ้นมาหนึ่งแผน
- คำชี้ขาดสำคัญของคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับแผนบริหาร จัดการก็คือ คณะผู้เชี่ยวชาญ "เห็นว่า แผนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ดีสำหรับการอนุรักษ์ทรัพย์สินที่ เป็นมรดกโลก และจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการช่วยให้เอเอ็นพีวี (สำนักงานเพื่อการคุ้มครองพระวิหารแห่งชาติ) สามารถพัฒนาแนวนโยบายและกระบวนปฏิบัติ เพื่อการนี้"
@ ในส่วนของรายงานว่าด้วยปราสาทพระวิหาร เอกสารที่จัดทำขึ้นตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองเซบีย่า (ประเทศสเปน) ว่าด้วยการรายงานความคืบหน้าในการอนุรักษ์สถานที่มรดกโลก ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักเลขาธิการและองค์กรที่ปรึกษาได้ชี้ขาดเอาไว้ในรายงาน นำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกไว้ดังต่อไปนี้
- รายงานนี้อธิบายถึงการดำเนินการอย่างกว้างขวางของทางการกัมพูชาที่เกิดขึ้น ในปี 2552 ในอันที่จะนำแผนดังกล่าวมาใช้ปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนจากคณะผู้เชี่ยวชาญนานาชาติต่อการดำเนินการปรับปรุง ภูมิทัศน์ และขยายพื้นที่กันชน การเคลื่อนย้ายหมู่บ้านแห่งหนึ่งออกจากพื้นที่ ซึ่งมีการค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ว่าส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน และการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยาโลกขึ้น เป็นต้น
- การชี้ขาดสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติมีไว้ในส่วนเกี่ยวกับรายงานซึ่งทางการกัมพูชานำเสนอ มีดังต่อไปนี้
ศูนย์ มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาทั้งหลาย ขอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยความพอใจในขั้นตอนซึ่งรัฐภาคีดำเนินการเพื่อขยาย พื้นที่เขตกันชนของสถานที่มรดกโลกไปยังด้านใต้ เนื่องเพราะจะช่วยในการอนุรักษ์ภาพรวมที่ปรากฏต่อสายตาให้รวมถึงสภาพ ธรรมชาติที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ศูนย์มรดกโลกและอิโคมอสยังได้แสดงความยินดีต่อมาตรการที่ดำเนินการโดยรัฐ ภาคีในอันที่จะอนุรักษ์สภาวะแวดล้อมทรัพย์สินที่เป็นมรดกโลกให้ขยายไปยัง ด้านใต้ ซึ่งแก้ปัญหาด้วยการโยกย้ายผู้ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานซึ่งเข้ามายึดครอง พื้นที่มีนัยในเชิงโบราณสถานเมื่อไม่นานมานี้ เช่นเดียวกันกับการก่อตั้ง "พิพิธภัณฑ์นิเวศวิทยาโลก"
@ รายงานของดับเบิ้ลยูเอชซี ซึ่งนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ยังได้สนับสนุนการดำเนินการต่อเนื่องของกัมพูชา ในการขยายขอบเขตของวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ข้างต้น โดยศูนย์มรดกโลกได้ให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินการดังต่อไปนี้เป็นการเฉพาะ
- รายงานของดับเบิ้ลยูเอชซีให้ความเห็นชอบต่อการนำเอาแผนบริหารจัดการมาบังคับ ใช้ทางปฏิบัติต่อไป รายงานนี้เน้นย้ำไว้ว่า "ศูนย์มรดกโลก" และ "อิโคมอส" ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "...ข้อเสนอสำคัญอย่างมากหลายประการที่ระบุไว้ในแผนบริหารจัดการยังไม่มีการ นำมาปฏิบัติ และได้กระตุ้นให้รัฐภาคี (กัมพูชา) ดำเนินความพยายามทุกประการเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ภายใต้ความร่วมมือของประชาคมนานาชาติ"
- รายงานของดับเบิ้ลยูเอชซี ยังตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามของกัมพูชาในอันที่จะจัดการประชุม คณะกรรมการประสานงานนานาชาติ (ไอซีซี) ขึ้นเพื่อสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์พระวิหารไว้ดังนี้
"ศูนย์ มรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษาทั้งหลาย ยังได้แสดงความยินดีต่อการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของกัมพูชา ในอันที่จะจัดการประชุมเบื้องต้นว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานนานา ชาติขึ้น และได้รับรู้ถึงความพยายามที่จะดำเนินการเพื่อการดังกล่าว โดยหวังว่าการหารือที่กำลังดำเนินไปนี้จะยังผลในทางที่ดีต่อไป"
- ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยประชุมที่กรุงบราซิเลีย ได้ให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินความพยายามในอันที่จะจัดตั้ง "คณะกรรมการประสานงานนานาชาติ เพื่อการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน" ขึ้น
@ กัมพูชามีอำนาจเต็มในอันที่จะเดินหน้าต่อไปบนพื้นฐานของแผนบริหารจัดการซึ่ง ได้พัฒนาขึ้นมาเรียบร้อยแล้วและได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากศูนย์มรดก โลก,องค์กรที่ปรึกษาทั้งหลาย และตัวคณะกรรมการมรดกโลกเองด้วย
@ การคัดค้านของการไทยไม่ยังผลใดๆ ขึ้นมา เพราะไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ต่อรายงานของศูนย์มรดกโลกอย่างมีสารัตถะ รวมทั้งไม่มีข้อโต้แย้งอย่างมีสารัตถะใดๆ ต่อเอกสารทั้ง 2 ชิ้นที่นำเสนอโดยทางการกัมพูชา (ไทย) อาจพูดได้ว่าไม่มีเวลาเพียงพอที่จะศึกษารายงานของศูนย์มรดกโลก และเอกสารต่างๆ ซึ่งประกอบขึ้นเป็นพื้นฐานของรายงานดังกล่าว และแม้ว่าจะมีรายงานข่าวกันอย่างมากในไทย แต่ไม่มีการหารือใดๆ ในกรุงบราซิเลีย ในเรื่องของการขึ้นทะเบียนร่วมหรือการบริหารจัดการร่วมแต่อย่างใด
@ เพื่อหลีกเลี่ยงการถกเถียงในเรื่องกระบวนการเกี่ยวกับกำหนดเส้นตายสำหรับ ศูนย์มรดกโลกในการแจกจ่ายเอกสาร (ยกตัวอย่างเช่น ต้องมีขึ้น 6 สัปดาห์ก่อนหน้าสมัยการประชุม) รายงานของศูนย์มรดกโลก, แผนบริหารจัดการ, และรายงานว่าด้วยการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร จึงไม่ได้มีการนำขึ้นมาหารืออย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการมรดกโลกใน กรุงบราซิเลีย คณะกรรมการจะพิจารณารายงานต่างๆ ดังกล่าวในสมัยประชุมหน้าในปี 2554 อย่างไรก็ตาม เมื่อมองบนพื้นฐานของการรับรู้อย่างชื่นชมจากที่ประชาคมนานาชาติ รวมทั้งศูนย์มรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษาต่างๆ ของคณะกรรมการมรดกโลก กัมพูชาจะเดินหน้าต่อไปในการนำแผนบริหารจัดการมาใช้ในทางปฏิบัติ, จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ (ไอซีซี) และดำเนินมาตรการอื่นๆ อันกำหนดมาเพื่อขยายการอนุรักษ์พื้นที่ขึ้นทะเบียนต่อไป
ประเด็นชี้แจง
@ การตัดสินใจที่จะนำเอารายงานต่างๆ ไปหารือในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 35 ในปีหน้า ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร เพราะไม่ได้มีข้อบังคับหรือข้อกำหนดใดที่ระบุให้คณะกรรมการมรดกโลกจะต้องให้ การรับรองแผนของกัมพูชา ทั้งนี้ คณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้มีหน้าที่ให้การ "รับรอง" หรือ "ไม่รับรอง" ความคืบหน้าใดๆ ของแผนบริหารจัดการที่รัฐภาคียื่นเสนอ เพียงแต่ทำหน้าที่ "ทบทวน" เอกสารเพื่อการ "รับทราบ" เท่านั้น เพราะการดำเนินการเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์โบราณสถานถือมีความสำคัญเกินกว่า จะปล่อยให้เนิ่นช้าออกไป
@ รัฐบาลกัมพูชาได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการดังกล่าว เห็นได้จากรายงานของศูนย์มรดกโลก ซึ่งทำหน้าที่เสมือนสำนักเลขาธิการของคณะกรรมการมรดกโลก เห็นได้จากการประเมินผลที่ดำเนินการโดยศูนย์มรดกโลก และผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของอิโคมอส และคณะที่ปรึกษาอื่นๆ กัมพูชาจะดำเนินการตามแผนบริหารจัดการดังกล่าวต่อไป
@ รัฐบาลกัมพูชายังได้รับคำชื่นชมจากประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกในการ ดำเนินการอย่างเป็นระบบในปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาแผนอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร ซึ่งรวมถึงการปรับสภาพภูมิทัศน์ การขยายพื้นที่กันชน การย้ายหมู่บ้าน รวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์ระบบนิเวศวิทยาโลก เป็นต้น
@ คณะกรรมการมรดกโลกยังแสดงความชื่นชมและสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาล กัมพูชาในการจัดตั้ง "คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ" เพื่อสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์พื้นที่
@ ดังนั้น ประเทศไทยจึงประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะทำให้แผนบริหารจัดการพื้นที่ หยุดชะงัก ล้มเหลวในความพยายามที่จะให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมกันโดยสองประเทศ และยังล้มเหลวในความพยายามที่จะให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการได้ตัดสินใจให้เวลาเพิ่มขึ้นเพื่อการแจกแจงและพิจารณาเอกสาร ซึ่งจะถูกนำไปหารือในการประชุมครั้งหน้า การตัดสินใจดังกล่าว "มิใช่" การขัดขวางการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาแต่อย่างใด
@ ข้อโต้แย้งเดียวที่ถูกยกขึ้นโดยคณะผู้แทนไทยคือการที่รายงานดังกล่าวและ เอกสารอื่นๆ ถูกส่งมอบให้พวกเขาล่าช้า อย่างไรก็ดี หากดูจากข้อมูลจะเห็นว่าแผนบริหารจัดการและรายงานในเรื่องการอนุรักษ์ปราสาท พระวิหารถูกส่งมอบให้ศูนย์มรดกโลกตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ ซึ่งเป็นการส่งมอบให้ก่อนกำหนดเวลาที่คณะกรรมการมรดกโลกระบุไว้
@ อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสังเกตคือหลังจากที่ฝ่ายไทยได้รับรายงานของศูนย์มรดกโลกไปแล้ว 3 วัน คณะผู้แทนไทยก็ไม่ได้มีการแสดงความเห็นใดๆ ที่เป็นสาระต่อรายงานดังกล่าว
@ ความพยายามที่จะหน่วงเหนี่ยวกระบวนการดังกล่าวของไทย ซึ่งปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก 4 ครั้งหลัง เปรียบได้กับการพยายามแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา เพราะศาลโลกได้ตัดสินตั้งแต่ พ.ศ.2505 ว่าปราสาทพระวิหารและพื้นที่ข้างเคียงเป็นดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ดังนั้น ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียใดๆ ในเรื่องปราสาทพระวิหาร รวมถึงการอนุรักษ์ดูแลต่างๆ ด้วย
-----------------------------------------------
เอกสารฉบับ"สุวิทย์" & คำชี้แจงจากยูเนสโก
หมายเหตุ : เป็นร่างข้อตัดสินใจที่ผ่านการประนีประนอมซึ่งนำเสนอโดยประธานที่ประชุมคณะ กรรมการมรดกโลก (34 คอม 7 บี.66) ที่ประเทศบราซิล
มีลายเซ็นรับรอง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายกัมพูชา และประธานที่ประชุม
1.ได้รับเอกสาร WHC-10/34.COM/7B.Add.3.
2.อ้างถึงข้อตัดสินใจ 31 COM 8B.24, 32 COM 8B.102 และ 33 COM 7B.65 ซึ่งผ่านการรับรองของที่ประชุมครั้งที่ 31 (ไครซ์เชิร์ส, 2550) ที่ประชุมครั้งที่ 32 (ควิเบก, 2551) และที่ประชุมครั้งที่ 33 (เซบีย่า, 2553) ตามลำดับ
3.รับทราบว่าศูนย์มรดกโลกมีเอกสารที่เสนอโดยรัฐภาคี
4.รับ ทราบด้วยความยินดีต่อขั้นตอนที่รัฐภาคีจะจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่าง ประเทศ (International Coordinating Committee-ICC) เพื่อการคุ้มครองปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน
5.ตัดสินใจที่จะพิจารณาเอกสารซึ่งเสนอโดยรัฐภาคีในการประชุมครั้งที่ 35 ในปี 2554
ขณะเดียวกันสำนักงานยูเนสโกได้ออกข่าวคำชี้แจง เรื่อง "ปราสาทพระวิหาร" เช่นกัน ความว่า
"การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 ได้มีการรับมติโดยการสนับสนุนจากทั้งทางประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เรื่องแหล่งมรดกโลกปราสาทพระวิหาร
ประธาน คณะกรรมการมรดกโลกและรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของบราซิล นายชูลา เฟร์ไรรา ได้ยื่นมติโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนประเทศไทย และประเทศกัมพูชา รับขั้นตอนของประเทศกัมพูชาในการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน
มติ ยังมีการรับทราบถึงการที่ ศูนย์มรดกโลก ได้รับเอกสารที่ยื่นโดยประเทศกัมพูชา ซึ่งโดยทางคณะกรรมการจะทำการพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 35 ในปี พ.ศ.2554"
ขอบคุณที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 12:13:40 น.
(หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม 2553)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น