วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 26, 2553

บลูไดม่อนด์ ที่สูญหายไป ..ใครไม่เคยเห็นของจริง ..ทางซาอุฯ เอามาฝากเสื้อแดง

by Generalhero on 2010-08-27 - 00.56 pm
Ref: คดีขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย พ.ศ. 2532


ภาพเพชร บลูไดม่อนด์ ที่สูญหายไป ..ใครไม่เคยเห็นของจริง ..ทางซาอุฯ เอามาฝากเสื้อแดง(จากอัลบั้ม รูปภาพบนกระดาน โดยชมรมคนคิดถึง ทักษิณ)

คดีขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย พ.ศ. 2532
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คดีขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย เมื่อปี พ.ศ. 2532 หรือที่รู้จักกันว่า คดีเพชรซาอุ เป็นคดีการขโมยเครื่องเพชรของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย โดยลูกจ้างชาวไทย ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียและไทยเสื่อมลงเป็นเวลานานถึง 20 ปี

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การขโมยเครื่องเพชร
คดีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากการที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งได้เดินทางไปทำงานยังซาอุดิอาระเบีย และถูกทาบทามให้เข้าไปทำงานในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 นายเกรียงไกรได้ขโมยเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด (Prince Faisal Bin Fahd Bin Abdul Aziz) แห่งราชวงศ์ไฟซาลของซาอุดิอาระเบียมาได้ถึง 2 ครั้ง โดยที่ด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเครื่องเพชรดังกล่าวถูกนำมายังจังหวัดลำปาง[1] หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย จึงประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้ติดตามเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ส่งคืน

การสืบสวน การจับกุมผู้ต้องหา
อธิบดีกรมตำรวจ พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตภาคเหนือ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ออกติดตามเครื่องเพชรคืนให้แก่รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้นเมื่อนายเกรียงไกร ถูกชุดสืบสวนของ พล.ต.ท.ชลอ จับกุมและนำตัวมาสอบสวนจนยอมรับสารภาพ และให้การถึงบุคคลที่รับซื้อเครื่องเพชรไป เนื่องจากเกรงว่าจะถูกจับส่งไปดำเนินคดีที่ซาอุฯ ซึ่งมีโทษเพียงสถานเดียว คือ "แขวนคอ" ทำให้ศาลพิพากษาตัดสินจำคุกนายเกรียงไกร เตชะโม่งในข้อหาลักทรัพย์ 7 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน

ในช่วงเวลานี้ยังมีนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียคนหนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดกับราชวงศ์ได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อสืบสวนหาเครื่องเพชรดังกล่าว แต่บุคคลนั้นถูกลักพาตัวและถูกฆ่า อีกสามเดือนต่อมา เจ้าหน้าที่สามคนจากสถานทูตซาอุดิอาระเบียถูกยิงเสียชีวิต และมือสังหารก็ยังคงลอยนวลมาจนถึงปัจจุบัน[2]

การจับกุมนายเกรียงไกร ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย เริ่มดีขึ้น โดย พล.ต.ท.ชลอ ได้รับการยกย่องจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ให้เป็นแขกพิเศษ และถูกยกให้เป็น "ชี้ค" อีกด้วย หลังจากนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ แต่กลับถูกทางการซาอุดิอาระเบีย ตอบกลับว่า "คุณเอาเพชรปลอมมาคืน แถมชุดที่เหลือยังหายไปอีกมาก แบบนี้แล้วเราจะสานความสัมพันธ์กันได้อย่างไร" ส่งผลให้ฝ่ายไทยต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา ตามหาเครื่องเพชรอีกครั้ง

การตามหาเครื่องเพชรของจริง
การย้อนรอยตามหาเพชรฯ โดยคณะทำงานของ พล.ต.ท.ชลอ เริ่มต้นที่กลุ่มญาติของ พล.ต.อ.แสวง แต่ภายหลังเมื่อมีการตรวจสอบไม่พบว่ามีมูลความจริงแต่อย่างใด นอกจากนี้ นักการเมือง ตลอดจนคุณหญิง คุณนาย และ "คนมีสี" หลายคนก็ถูกกล่าวหาว่ามีการจัด "ปาร์ตี้เพชรซาอุฯ" ในสโมสรแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้น นายโมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย ได้ว่าจ้าง "ชุดสืบสวนพิเศษ" เพื่อแกะรอยอย่างลับ ๆ ตามหาเครื่องเพชรราชวงศ์แห่งซาอุดิอาระเบีย

สำหรับเครื่องเพชรชุดที่ทางการซาอุดิอาระเบียต้องการมากที่สุด คือ เพชรสีน้ำเงิน หรือ "บลูไดมอนด์" เนื่องจากเป็น "เพชรอาถรรพณ์" แม้กระทั่งช่างที่เจียระไนก็ต้องมีอันเป็นไปสาบสูญไปจากโลก จึงเป็นเพียงเพชรชุดเดียวที่มีอยู่ในโลก และไม่ว่าจะตกไปอยู่ในมือใคร กษัตริย์ซาอุดิอาระเบียก็จะทรงจำได้เสมอ เพราะมีการทำตำหนิไว้ด้วยแสงอินฟราเรดอยู่ภายในใจกลางของเม็ด แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครหาพบ ซึ่งนายเกรียงไกรสารภาพกับนายโคจาว่า ได้โจรกรรมมาจริง แต่จำไม่ได้แน่ชัดว่าอยู่ในมือใครระหว่างพ่อค้าเพชรกับชุดจับกุม

กรณีตระกูลศรีธนะขัณฑ์
ดูบทความหลักที่ คดีระหว่างพนักงานอัยการ กับชลอ เกิดเทศ และพวก
พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ กลับมาทำคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ได้ทุกวิถีทางในการนำเพชรที่เหลือกลับคืนมาให้ได้ จากคำให้การของนายเกรียงไกร ที่บอกว่า ได้โจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายไฟซาล แล้วนำเข้ามาขายในประเทศไทย โดยขายให้ นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร ซึ่งภายหลังถูกตำรวจในทีม พล.ต.ท.ชลอ ข่มขู่คุกคาม แต่นายสันติก็ไม่ยอมคืนเพชรให้

ในที่สุด พล.ต.ท.ชลอ ก็ตัดสินใจให้คณะทำงานตั้งด่านตรวจ หน้าซอยบ้านนายสันติ ระหว่างที่ภรรยาของนายสันติคือ นางดาราวดี กำลังจะไปส่งลูกชาย ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ที่โรงเรียน ทีมของพล.ต.ท.ชลอ ก็ได้จับทั้งคู่ไปกักขัง เพื่อบังคับให้นายสันตินำเพชรส่วนที่เหลือมาคืน ซึ่งนายสันติก็ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ ว่าลูกและเมียถูกอุ้ม แต่ขังไว้นานเป็นเดือน ย้ายที่กบดานไปหลายแห่งก็ยังไม่ได้เพชรคืน ซ้ำตำรวจคนหนึ่งยังได้ข่มขืนภรรยาของนายสันติ ทีมตำรวจชุดนี้จึงฆ่าปิดปากสองแม่ลูก แล้วอำพรางคดีให้เป็นเหมือนกับเกิดอุบัติเหตุรถชน พล.ต.ท. ชลอถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานออกคำสั่งฆ่าสองแม่ลูกในปี พ.ศ. 2538[3]

ต่อมา ทีมสอบสวนชุดใหม่กลับสืบพบว่าเป็นการอุ้มฆ่า จึงได้ทำการจับกุมตัว พล.ต.ท.ชลอ และลูกน้องทั้ง 9 คน มาดำเนินการทางกฎหมาย ในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ และศาลฏีกาก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ยืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต ทำให้คดีขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบียถูกปิดลงอย่างเด็ดขาดในทางกฎหมาย[4]
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซาอุดิอาระเบียยกเลิกการทำวีซ่าทำงานให้กับคนไทย และประกาศเตือนคนในประเทศไม่ให้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ทำให้จำนวนคนงานไทยในซาอุดิอาระเบียลดลงจาก 150,000 คน ในปี พ.ศ. 2532 เหลือเพียง 10,000 คน ในปี พ.ศ. 2549

อ้างอิง
1. ^ Thai Foreign Minister to reopen Saudi gems scandal case
2. ^ Thai cop convicted of Saudi gem theft
3. ^ The Economist: A law unto themselves
4. ^ ศาลฏีกาพิพากษาประหารชีวิต 'ชลอ เกิดเทศ
http://th.wikipedia.org/wiki/คดีขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย_พ.ศ._2532

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น