ชื่อบทความเดิม:
ครบรอบ 5 ปี วิกฤติประเทศไทยปัจจุบัน ประเด็นใจกลางตั้งแต่ต้นจนทุกวันนี้ ไม่เคยเปลี่ยน : จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?
แด่ B.E.
"If from the distance that separated us, am I still recognizable to you, the past, O you sharer of my sufferings?"
"Those were beautiful days, but they were followed by a sorrowful twilight . . ."
Friedrich Holderlin
ต้นเดือนกันยายน 2548 สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ "เปิดตัว" หนังสือ "พระราชอำนาจ" โดย ประมวล รุจนเสรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่มีบท "อาเศียรวาท" (เพิ่มขึ้นมาจากการพิมพ์ครั้งแรก) ที่อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวฯ (ที่ทรงรับสั่งให้ ปีย์ มาลากุล นำมาให้ประมวล) ว่า "เราอ่านแล้ว เราชอบมาก" - ผมเสนอว่า เราอาจถือเอาเหตุการณ์นี้ เป็น "จุดเริ่มต้น" ของวิกฤตประเทศไทยปัจจุบัน [1] นี่เป็นวิกฤต ที่มีความเข้มข้นแหลมคม รุนแรง และยืดเยื้ออย่างต่อเนื่องไม่หยุด (และยังไม่ยุติ) ชนิดไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
ปัญหาใจกลางของวิกฤตินี้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นนี้ และไม่เคยเปลี่ยนเลยมาจนขณะนี้ อาจสรุปได้เป็นประโยคเดียวคือ
"จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?"
พูดอีกอย่างคือ จะให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะและอำนาจอย่างไร ตั้งแต่ประเด็นทางกฎหมาย-การเมือง ระดับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายย่อย ไปถึงประเด็นเชิงวัฒนธรรม จิตสำนึก ตั้งแต่เรื่ององคมนตรี ไปถึงตุลาการภิวัฒน์ (ที่มีจุดเริ่มต้นจากพระราชดำรัสสาธารณะของกษัตริย์) ตั้งแต่ปัญหากองทัพ "ของพระราชา" ไปถึงประเด็น องค์กรรัฐใด ควรเป็นผู้ที่ set agenda (กำหนดวาระ) ของสังคมและทิศทางประเทศ (คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ พระมหากษัตริย์)
สิ่งที่เป็น irony ที่สุดของวิกฤตินี้ คือ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (อาจจะเรียกสั้นๆว่า "พวกเสื้อเหลือง" หรือ "พวกอำมาตย์" หรือคำที่หรูกว่าเช่น "ชนชั้นนำ" "ชนชั้นสูง" ฯลฯ แต่ควรเข้าใจว่า ฝ่ายดังกล่าวมีมากกว่า "ชนชั้นสูง" หรือ "ชนชั้นนำ" หรือกระทั่ง "อำมาตย์" เพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่มีฐานกำลังใหญ่โตที่รวม "ชนชั้นกลาง" และ "ชนชั้นล่าง" จำนวนมากด้วย) - ในขณะที่ฝ่ายนี้เข้าใจ "โดยสัญชาติญาณ" (instinctively, intuitively) ตั้งแต่ต้นว่า นี่คือปัญหาใหญ่ใจกลางที่สุดของวิกฤตินี้ และได้อภิปราย โฆษณา โดยเอาเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ใจกลางมาตลอด - ดูตั้งแต่การ "เปิดตัว" หนังสือประมวลที่เป็นจุดเริ่มต้น จนถึงคำขวัญ "สู้เพื่อในหลวง" และการโปรโมต "เสื้อเหลือง" ของสนธิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองแบบ "สู้ตามสีเสื้อ" มาถึงปัจจุบัน) การเรียกร้อง "นายกฯมาตรา 7" ของพันธมิตร, ข้ออ้างเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์" จนถึง "แผนผัง ล้มเจ้า" ของ ศอฉ., ไม่นับการรณรงค์อีกนับไม่ถ้วนของบรรดา "เสื้อหลากสี", กลุ่มที่ชู "คุณธรรม" ต่างๆ ในจุฬา ไปถึงในวงการแพทย์ ฯลฯ
แต่ในทางตรงข้าม ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย" ซึ่งย่อมหมายถึงการปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในด้านต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (องคมนตรี ถึง ตุลาการ ถีง "ทหารของพระราชา" และอื่นๆ) ตั้งแต่ ตัวทักษิณ ถึง แกนนำ นปช. ถึงบรรดานักวิชาการ นักเขียน นัก นสพ. และแอ๊คติวิสต์ ต่างๆ (ถ้าจะเรียกด้วยคำรวมๆ ปัจจุบันว่า ฝ่าย "เสื้อแดง" ก็ได้ แต่ควรเข้าใจว่า แม้แต่การปรากฏของ "จิตสำนึก" แบบ "เสื้อแดง" - การเมืองวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณะของการเลือกสี ที่ไมใช่สีเหลือง - ก็เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังวิกฤติดำเนินไปแล้วกว่า 3 ปี คือหลังกรณี 7 ตุลาคม 2551) - ฝ่ายนี้ กลับเป็นฝ่ายที่ช้า ตั้งแต่ในการทำความเข้าใจว่าประเด็นนี้แหละคือประเด็นใจกลางของความขัดแย้ง (คนจำนวนมากในฝ่ายนี้ ใช้เวลา 2-3 ปีของช่วงวิกฤติ กว่าจะ "ตาสว่าง" - คำนี้ สะท้อนลักษณะการเข้าใจที่้้ช้าดังกล่าวได้ชัดเจน)
และที่สำคัญที่สุด จนถึงวินาทีนี้ ฝ่ายนี้ (เรียกได้ว่า) ทั้งหมด ยังไม่เห็นความจำเป็นทีจะ นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างตรงๆ เป็นระบบ นี่เป็นความจริงของฝ่ายนี้ ตั้งแต่ส่วนที่เป็น "ปีกขวา" เช่น ทักษิณ-จตุพร-แกนนำ นปช. ("ปีกขวา" นี้ รวม "อดีตซ้าย" ไว้หลายคน ตั้งแต่จรัล, เหวง, ธิดา คนเหล่านี้ โดยส่วนตัวอาจจะถือเป็น "ปีกซ้าย" หรืออย่างน้อย "ปีกกลาง" ของขบวน แต่ในแง่เป็นองค์รวม ต้องจัดว่า อยู่ใน "ปีกขวา" ของขบวน) ไปถึง "ปีกกลาง" เช่น นักการเมืองอย่างจาตุรนต์ ไปถึง "ปีกซ้าย" อย่าง จักรภพ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน ถึงนักวิชาการซ้ายอย่าง พิชิต สุธาชัย (กรณีหลังมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง) ไม่ต้องพูดถึงบรรดานัก นสพ. (มติชน ฯลฯ) และนักวิชาการที่ในระยะหลังหันมาให้ความเห็นอกเห็นใจสนับสนุนเสื้อแดง อย่างกลุ่ม "สันติประชาธรรม" ฯลฯ
เรื่องนี้ ซึ่งผมเห็นว่า เป็นความผิดพลาดสำคัญ ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยข้อจำกัดเชิงกฎหมายเท่านั้น (เช่นการมี ม.112 ในประมวลอาญา) เพราะอันที่จริง ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ข้ออ้างหรือเหตุผลของการไม่ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับประเด็นสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ของฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลง นี้ ส่วนใหญ่จริงๆ ไมใช่เรื่องทางกฎหมาย (ทางกฎหมาย แม้จะมีข้อจำกัดอย่างไร ก็ยังทำได้แน่นอน - ดูบทความที่กำลังอ่านนี้เป็นตัวอย่าง ถ้านึกไม่ออก) แต่เป็นเรื่องที่อาจจะเรียกว่าในทาง "วัฒนธรรม" นั่นคือข้ออ้างหรือเหตุผลประเภท "คนส่วนใหญ่ยังรับไม่ได้" "เดี๋ยวจะถูกโจมตีว่าล้มเจ้า" ฯลฯ อะไรทำนองนี้
นี่เป็นเรื่อง"ตลก" ที่หัวเราะไม่ออก เพราะความจริงคือ ขณะที่ไม่มีการ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" อย่างเป็น"ทางการ" ในหมู่ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ก็มีลักษณะของการ "อภิปราย" หรือ "แสดงออก" ในเชิงสัญลักษณ์ ในเชิงภาษาแบบ metaphors (อุปลักษณ์) และอื่นๆ อย่างแพร่หลายนับไม่ถ้วน (และยิ่งนานยิ่งขยายออกไป) ตั้งแต่เรื่อง "คุณซาบซึ้ง" ไปถึงเรื่อง "เพชร" เรื่อง "รูปๆ บ้านๆ" ไปถึงเรื่อง "นิยาย ยายไฮ" ถึงเรื่องอีกสารพัดอย่าง (ล่าสุดเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับ "การทำธุรกรรม" บางอย่าง)
และนี่เป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่ฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง (คือพวก "เสื้อเหลือง" ที่เอ่ยถึงก่อนหน้านี้) จะรู้ดี แต่แม้แต่สังคมวงกว้าง ก็รู้กันดีหมดแล้ว ว่ามีการแสดงออก ในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ในหมู่ "ชุมชน" ของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ มีใครที่ใช้อินเตอร์เน็ต แล้วไม่เคยเห็น ไม่เคยผ่านตา บรรดา metaphors ต่างๆ ที่ผมเอ่ยถึงในย่อหน้าก่อนบ้าง? หรือต่อให้ไม่เคยเห็น ป่านนี้ มีใคร ไม่รู้ข่าวกรณี "สาว DHL" "ก้านธูป" หรือ "มาร์ค วี11" บ้าง?
ส่วนข้อที่อ้างว่า "ถ้าพูดจะทำให้ถูกกล่าวหาว่าคิดล้มเจ้า" - ขอถามว่า แล้วที่ผ่านมา การไม่ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ไม่ถูกกลาวหาหรือ? ตั้งแต่กรณีสุเทพโจมตีทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี (ซึ่งศาลโอเคว่า ทำได้) ไปถึงกรณี แผนผัง ศอฉ. ถึงกรณีรายการ "เจาะข่าวร้อน" และบรรดาหนังสือ "เปิดโปงขบวนการล้มเจ้า" ต่างๆ
มีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่บางคนในหมู่ "เสื้อแดง" เสนออกมา คือ (ถ้ายืมคำที่มีการใช้กันตามเว็บบอร์ด) "ปล่อยให้ธรรมชาติจัดการกับปัญหานี้ดีกว่า" ข้อโต้แย้งของผมคือ ลำพัง "ธรรมชาติ" ไม่ว่าจะเข้า "แทรกแซง" อย่างไร ก็ไม่สามารถจัดการกับเรื่องทางโครงสร้างการเมือง- กฎหมาย และเรื่องทางวัฒนธรรม รูปการจิตสำนึกต่างๆ ได้ "ธรรมชาติ" อาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้จริง แต่ผมขอเสนอว่า ไม่สามารถทำให้เกิดผลกระทบในแง่ของความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง และระบอบจิตสำนึก (ideology) ได้ หากไม่มีการอภิปราย นำเสนอ ทางเลือกอื่น เข้ามาต่อสู้แข่งขันทางความคิดด้วยตั้งแต่บัดนี้
เพื่อให้เข้าใจชัดเจนว่าผมกำลังพยายามเสนออะไร ผมขอยกตัวอย่าง รูปแบบการนำเสนอ-อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์แบบหนึ่ง ที่ผมขอเรียกรวมๆว่า "โมเดล นปช.USA" (ผมไม่ได้หมายความว่า มีแต่ที่เว็บไซต์ นปช.USA ที่ใช้รูปแบบนี้ ต้องขออภัยต่อเว็บดังกล่าวที่ "ยืม" ชื่อมาตั้งเป็นแบบอย่างอภิปรายเพื่อให้เห็นง่ายๆ ชัดเจน) "โมเดล" นี้ ความจริงเป็นคนละแบบกับเรื่องการใช้ metaphors ต่างๆ ที่เพิ่งพูดไป แต่ในหลายกรณี ก็มีลักษณะ "ซ้อนทับ" หรือ "เหลื่อม" กันอยู่ ชนิดที่แทบจะแยกกันไม่ออก (กรณี "นิยาย ยายไฮ" อาจจะเป็นตัวอย่างได้ดี) ผมไม่เคยเสนอ หรือสนับสนุน หรือทำเอง การอภิปรายตาม "โมเดล" นี้ ด้วยเหตุผลดังนี้
ในขณะที่ผมเห็นว่า ตามหลักการประชาธิปไตย การอภิปรายในลักษณะนี้ ควรจะไม่ผิด (เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาก็ย่อมเป็นสิทธิของคนฟัง) แต่ความจริงคือ นี่เป็นการอภิปรายที่เกินขอบเขตของกฎหมายในขณะนี้ และดังนั้น จึงมีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถทำให้เป็นเรื่อง "กระแสหลัก" (mainstream) ของชีวิตสาธารณะของสังคมได้ แต่วิกฤตครั้งนี้ เกี่ยวพันถึงอนาคตของประเทศที่มีพลเมืองหลายสิบล้านคน ว่า เราต้องการการเมือง และสังคม หรือวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตแบบใด (เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่มีเพลงสรรเสริญฯก่อนฉายหนัง หรือ "ข่าวสองทุ่ม" ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างไร? เป็นต้น - นี่ยกตัวอย่างรูปธรรมสุดๆ ให้ดู) ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาได้ จะต้องผ่านการทำความเข้าใจ หรือกระทั่งยอมรับ-รับได้ของคนจำนวนมหาศาล ซึ่งคงไมใช่ด้วยการใช้โมเดล ที่ว่าเป็นแน่ แต่จะต้องด้วยการทำให้ เกิดความเข้าใจอย่างแพร่หลายที่สุดว่า หลักการและการปฏิบัติที่เป็นอยู่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งไม่ถูกต้องอย่างไร โดยทีการอภิปรายนี้ จะต้องทำให้เป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องเปิดเผยให้มากที่สุดได้ ภายใต้ข้อจำกัดแน่นหนาของกฎหมายปัจจุบัน
ถึงเวลาหรือยัง? - ความจริง ผมเห็นว่า เกินเวลาไปนานแล้ว แต่เริ่มช้า ดีกว่าไม่เริ่ม - ที่จะมีการ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับประเด็นใจกลางของวิกฤติครั้งนี้ คือ "จะจัดวางตำแหน่งแห่ง ที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม- การเมืองไทยอย่างไร?" หรือ สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ควรเป็นเช่นไร ตามหลักการประชาธิปไตย จากในหมู่ "คนเสื้อแดง" หรือคนที่เห็นใจ "คนเสื้อแดง" ตั้งแต่ตัวทักษิณลงมา ถึงบรรดานักวิชาการ นัก นสพ. นักการเมือง ที่เห็นอกเห็นใจเสื้อแดงทั้งหลาย (พูดอย่าง realistic ผมคิดว่า ต้องเริ่มจาก 3 กลุ่มนี้ ในเวลาใกล้เคียงกัน หรือตามลำดับกัน คือ นักวิชาการ, สื่อมวลชน, นักการเมือง)
ผมขอเสนอว่า การทำให้การ "นำเสนอปัญหา-อภิปราย-เสนอข้อเรียกร้อง" เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตามหลักการประชาธิปไตย ให้เป็นเรื่อง "กระแสหลัก" (mainstream) ของสังคมให้ได้ คือ ให้มีการอภิปรายเรื่องนี้ตรงๆ ในวงวิชาการ ในที่สัมมนา ในทางสื่อมวลชน นสพ. ทีวี และในวงการนักการเมือง เป็นภาระสำคัญที่สุดของฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยต้องการการเปลี่ยนแปลงใน ปัจจุบัน
หากยังไม่มีการอภิปรายปัญหานี้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และจริงจัง และไม่หาทางแก้ปัญหานี้อย่างสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ก็มีโอกาสอย่างยิ่งที่ . . .
ประเทศ ไทยจะมุ่งหน้าไปสู่การปะทะครั้งใหม่ ที่จะมีความรุนแรง ชนิดที่ทำให้เหตุการณ์ทีราชประสงค์เมื่อเร็วๆนี้ กลายเป็นเรื่อง "งานเลี้ยงปิคนิค" ไปได้
Ref: สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร?
Mon, 2010-08-09 23:18
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น