จาก อัลบั้มภาพ Matichon Online |
ก้าวข้ามชาตินิยมและการเผชิญหน้า ประสบการณ์มรดกโลกจากสหภาพยุโรป
โดย มรกต ไมยเออร์ E-mail: morakot.j.meyer@gmail.com
กรณีปราสาทพระวิหารฟื้นคืนชีพเป็นประเด็นเดือดและยังไม่มีทีท่ายุติลงง่ายๆ สมกับคำว่า "ชาตินิยมตายยาก"
แต่ประสบการณ์จากสหภาพยุโรปหรืออียูในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาชี้ให้ เห็นว่า ชาตินิยมอาจตายยาก แต่ไม่ได้ครอบครองใจคนอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและสั่นคลอน
ประสบการณ์จากอียูอาจเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยต่อความเข้าใจ สาธารณะและการกำหนดทิศทางนโยบายเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน รวมทั้งการจัดการมรดกวัฒนธรรมและมรดกโลกของประเทศไทย
นับจากยุครักชาติแบบหลงผิดที่ยุโรปไปยึดครองบ้านเมืองคนอื่นเป็น อาณานิคมทั่วโลก เรื่อยมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นาซีเยอรมันทำลายล้าง ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และประเทศต่างๆ รบกันจนวินาศสันตะโร ผู้คนประเทศในยุโรปจึงเกิดปัญญาว่า ความรักและคลั่งชาตินี่เองที่เป็นต้นเหตุของความตาย โศกนาฏกรรมและความพินาศ ส่งผลให้เกือบทุกภาคส่วนของสังคมมุ่งมั่นลงมือ "กระชับพื้นที่" ความคลั่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการยึดถือแนวคิดใหม่ที่มุ่งสู่การบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อ ให้เกิดสันติภาพที่ถาวร
การจัดการมรดกวัฒนธรรมและพรมแดนในอียูเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้ เห็นว่า การบูรณาการยุโรปต้องการหันหลังให้กับความคิดชาตินิยมในการดำเนินการทางการ เมืองภายในระหว่างประเทศสมาชิก
กล่าวคือ เน้นเรื่องความร่วมมือ (co-operation) กับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นสมาชิกอียูด้วยกันมากกว่าสร้างความขัดแย้ง (conflict) และการเผชิญหน้า (confrontation)
การสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในอียู คือ การเพิ่มความหมายของมรดกวัฒนธรรมซึ่งเคยแต่เป็นตัวแทนลักษณะเฉพาะของชาติ (particularism) ให้ขยายเป็นตัวแทนของความเป็น "ยุโรป" (European dimension) และเป็นสากล (cosmopolitanism) ด้วยการใช้ระบบโลกาภิวัตน์โดยเฉพาะโครงการมรดกโลกของยูเนสโกให้เป็นประโยชน์
ความเป็นไปดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความพยายามจัดการเรื่องพรมแดน ที่ลดความสำคัญของพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยการใช้แนวคิดปราศจากพรมแดน (borderless) เพื่อให้เกิดระบบตลาดเดียวภายในประเทศกลุ่มอียู
ซึ่งถ้าอธิบายง่ายๆ หมายถึง ประชาชนในกลุ่มประเทศอียูสามารถเดินทางทำงาน ลงทุน ศึกษาและย้ายถิ่นฐานไปในประเทศสมาชิกต่างๆ ได้อย่างเสรีภายใต้แนวคิดดังกล่าว
พรมแดนของชาติได้รับการมองว่าเป็นอุปสรรคของการเกิดและการขยายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การเมือง การศึกษา หรือแม้แต่การสร้างและเติบโตของธุรกิจเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่า อุตสาหกรรมมรดกวัฒนธรรม (heritage industry) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศสมาชิกได้เป็นอย่างดี
มรดกวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม เช่น โบสถ์ ปราสาท หอระฆัง สวนภูมิทัศน์ เหมืองถ่านหิน บ้านพักคนงานเหมืองหรืออื่นๆ ในแต่ละประเทศสมาชิกอียูนั้น แน่นอนว่าผ่านการประทับตราหรือการทำให้มีลักษณะเฉพาะของชาติ โดยเกิดจากการรวมมรดกท้องถิ่นไว้ใต้ร่มของวัฒนธรรมชาติ พร้อมๆ กับสร้างมรดกวัฒนธรรมใหม่ๆ ผ่านกระบวนการผลิตความรู้ เช่น การศึกษาไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือการศึกษาทั่วไป และผ่านกระบวนการสร้างประเพณีและการบันเทิงใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรมเหล่านั้น
การเติบโตของอียูในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของหน่วยทางการเมืองในยุโรปว่ามีหน่วยการเมืองที่ เหนือชาติคือ "ยุโรป" หรือ อียู เพิ่มเติมจากหน่วยทางการเมืองท้องถิ่นและรัฐชาติซึ่งมีอยู่มาก่อนแล้ว
ความเป็นไปดังกล่าวเกี่ยวพันไปถึงมรดกวัฒนธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อียูต้องการทำให้มรดกวัฒนธรรมทั้งหลายที่มีอยู่แล้วสื่อความเป็น "ยุโรป" จึงดำเนินสร้างความเป็นยุโรปหรือยูโรเปี้ยนไนเซชั่น (Europeanization) มรดกวัฒนธรรมต่างๆ ด้วยการทำให้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในวงการ อุตสาหกรรมมรดกวัฒนธรรมระดับภูมิภาคและโลก ด้วยการดำเนินนโยบายวัฒนธรรมและนโยบายภูมิภาค (regional policy) ที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกหลายประเทศเพื่อรวมตัวกัน เป็นเครือข่าย (network) ร่วมกันคิดและสร้างโครงการมรดกวัฒนธรรม (heritage package) ใหม่ๆ ที่เกิดจากการรวมกลุ่มมรดกวัฒนธรรมชาติที่มีลักษณะคล้ายกัน
แล้วดึงลักษณะที่เป็นสากล (cosmopolitanism) มาคิดเป็นโครงการที่มีลักษณะสร้างสรรค์เพื่อรับเงินสนับสนุนจากอียูส่งเสริม ให้เกิดการสร้างมรดกวัฒนธรรมใหม่ๆ จำนวนมหาศาล
กล่าวอีกนัยหนึ่ง กระบวนการยูโรเปี้ยนไนเซชั่นของมรดกวัฒนธรรม คือการส่งเสริมให้มีการสร้างและพัฒนาโครงการมรดกวัฒนธรรมที่มีลักษณะข้าม ชาติและพรมแดนนั่นเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการแข่งขันให้กับมรดกวัฒนธรรม ชาติด้วยการสร้างแพคเกจใหม่ในรูปแบบของมรดกวัฒนธรรมข้ามชาติหรือมีความเป็น ยุโรปที่น่าตื่นเต้นกว่าแบบเดิม
กระบวนการยูโรเปี้ยนไนเซชั่นของมรดกวัฒนธรรมนี้ดำเนินการโดยไม่ได้ ทวนกระแสโลกาภิวัตน์ คือ มีการใช้การดำเนินการมรดกโลกของยูเนสโกในการสร้างและโฆษณามรดกวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือ ยูโรเปี้ยนไนเซชั่นของมรดกวัฒนธรรมเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงการมรดก วัฒนธรรมที่เน้นความร่วมมือข้ามพรมแดน ที่ส่งเสริมให้โครงการเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกเป็นมรดกโลกและใช้ป้ายมรดก โลกในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาท้องถิ่น
สวนมุสเคา (Muskau Park) ซึ่งยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.2004 เป็นตัวอย่างความร่วมมือทางมรดกวัฒนธรรมและพรมแดนระหว่างเยอรมนีและโปแลนด์ ซึ่งในเป็นสมาชิกอียูที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
โดยสวนแห่งนี้เป็นสวนภูมิทัศน์ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Landscape park ถือเป็นศิลปะแขนงใหม่ที่มีลักษณะเป็นเสมือนการวาดรูปด้วยการใช้พรรณไม้ ทำให้เกิดสวนขนาดใหญ่เต็มไปด้วยไม้นานาพันธุ์ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม
สวนภูมิทัศน์มุสเคามีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง559เฮคเตอร์ (1ไร่เท่ากับ0.16เฮคเตอร์) โดยมีแม่น้ำไนเซอร์ซึ่งเป็นเขตแดนธรรมชาติระหว่างเยอรมนีและโปแลนด์ไหล ผ่านกลางสวน
ดังนั้น เนื้อที่ของประมาณ 300 กว่าเฮคเตอร์จึงอยู่ในเขตแดนเยอรมนี และส่วนที่เหลืออยู่ในเขตแดนของโปแลนด์ โดยส่วนที่เป็น Buffer Zone ตามกฎของยูเนสโกก็อยู่ในดินแดนของทั้งสองประเทศ
ตอนที่แฮร์มาน ฟอน ปุ๊คเลอร์-มุสเคาแห่งปรัสเซียสร้างสวนนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แม่น้ำไนเซอร์ที่ไหลผ่านสวนมุสเคายังไม่ได้เป็นเขตแดนธรรมชาติระหว่างประเทศ ซึ่งความเป็นไปดังกล่าวเพิ่งมาเปลี่ยนแปลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง เมื่อผู้ชนะสงครามในครั้งนั้นอันประกอบด้วยรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกันเข้ามาขีดเส้นพรมแดนระหว่างโปแลนด์กับเยอรมนีด้วยการใช้ แม่น้ำไนเซอร์เป็นพรมแดนธรรมชาติที่สำคัญ
สวนมุสเคาซึ่งเป็นสมรภูมินองเลือดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงจึงกลายเป็นสวนอกแตก
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสวนมุสเคาซึ่งตั้งอยู่บนดินแดนของสองประเทศ เริ่มจากความเปลี่ยนแปลงระดับประเทศเยอรมนีถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกต่างมีจุดยืนทางการเมืองคนละขั้ว
ส่วนระดับภูมิภาคเกิดการเริ่มต้นการบูรณาการในยุโรปตะวันตก โดยประเทศสมาชิกเริ่มแรกหกประเทศรวมทั้งเยอรมนีตะวันตกร่วมกันก่อตั้ง ประชาคมเศรษฐกิจร่วมยุโรป โดยมุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นอียูในปี 1992 ส่วนในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งรวมถึงโปแลนด์และเยอรมนีตะวันออกเริ่มพัฒนา ภายใต้องค์กรโคมินเทิร์นตามทิศทางของระบอบสังคมนิยม
การที่มุสเคาเป็นสวนอกแตกภายใต้การแบ่งแยกทางการเมืองยุคสงครามเย็นนี้ ดูเหมือนว่าไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรจากความเป็นไปดังกล่าว
พรมแดนด้านโปแลนด์ติดกับเยอรมนีตะวันออกแต่รัฐบาลเยอรมนีตะวันตกก็ ไม่ใคร่พอใจ และเรียกว่ายังทำใจไม่ได้นักกับเส้นพรมแดนดังกล่าวถึงขนาดสร้างแผนที่พรมแดน ประเทศเยอรมนีตามความฝันที่ไม่ตรงความจริงเอาไว้
ทางฝ่ายโปแลนด์เองประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกยึดและทำลายจากนาซีเยอรมันไม่ใช่เรื่องที่จะลืมกันได้ง่ายๆ
และแม้ว่านโยบายนายกรัฐมนตรีวิลลี่ บร๊านด์แห่งเยอรมนีตะวันตกที่เรียกว่า Ostpolitik ที่มุ่งปรับท่าทีและความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรปตะวันออกปลายทศวรรษ 1960 ต้นทศวรรษ 1970 ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างโปแลนด์และเยอรมนีตะวันออกเกี่ยวกับสวนมุสเคา บ้าง
แต่สวนมุสเคาก็ยังไม่ได้รับการพัฒนานัก
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของสวนมุสเคาเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เมื่อเกิดนโยบายเปเรสทรอยก้า-กลาสนอส และการล่มสลายของระบบสังคมนิยมในยุโรป รวมไปถึงเกิดการรวมชาติเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือการที่อียูถือเอาการขยายรับประเทศในยุโรป ตะวันออกมาเป็นสมาชิกใหม่เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน ส่งผลให้โปแลนด์เป็นรายชื่อต้นๆ ของประเทศที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของอียู และได้รับเงินทุนช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการมรดกวัฒนธรรมข้ามพรมแดนหลาย โครงการภายใต้นโยบายภูมิภาคของอียู
ซึ่งสวนมุสเคาเป็นโครงการสำคัญภายใต้นโยบายดังกล่าว
ตอนนี้ทั้งเยอรมนีและโปแลนด์มาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่า จะเลือกความยึดมั่นอคติด้านพรมแดน ความรักชาติ และบาดแผลในความทรงจำระหว่างโปแลนด์กับเยอรมนีที่รุนแรงร้าวลึกหรือจะก้าว ข้ามชาตินิยมและการเผชิญหน้าในการจัดการด้านพรมแดนและมรดกวัฒนธรรม
ความร่วมมือกันระหว่างโปแลนด์และเยอรมนีในการเสนอสวนภูมิทัศน์มุสเคา เป็นมรดกโลกต่อยูเนสโกในปี ค.ศ.2002 เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นได้ชัดว่าทั้งสองประเทศเลือกเส้นทางประการหลังเพราะ เส้นทางนี้เป็นเส้นทางแห่งโอกาส
โดยสรุป ปัจจัยที่ทำให้เกิดความร่วมมือทางมรดกวัฒนธรรมข้ามพรมแดนในกรณีของมุสเคาประสบความสำเร็จ
ประการแรกคือ ไม่มีการท้าทายทางพรมแดน (border challenge) พรมแดนระหว่างโปแลนด์กับเยอรมนีเป็นเส้นพรมแดนที่มีความชัดเจนนับมาตั้งแต่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าพรมแดนดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดให้โดยทั้งสองประเทศไม่เห็นด้วย นั้น แต่ทั้งสองประเทศไม่เคยท้าทายข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมาแล้ว
ปัจจัยประการที่สอง การบูรณาการภูมิภาคหรือการพัฒนาของอียูนั้น นอกจากส่งเสริมให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับพรมแดนและมรดกวัฒนธรรมแล้ว ยังมีการดำเนินนโยบายและปฏิบัติงานที่ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือในการสร้าง มรดกวัฒนธรรมข้ามชาติ (trans-national cultural heritage) อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้โครงการเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากโครงการมรดกโลกของยูเนสโก ในการสร้างความร่วมมือด้านมรดกวัฒนธรรมข้ามพรมแดนได้อย่างเต็มที่เพื่อสร้าง มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับมรดกวัฒนธรรม
ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ สร้างมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรมให้มรดกวัฒนธรรมนั้นๆ มีความเป็นสากล
ปัจจัยประการที่สาม คือ ความจริงใจของทั้งโปแลนด์และเยอรมนีในการมองเรื่องของมรดกวัฒนธรรมและพรมแดน ว่า เป็นเรื่องของโอกาสในการสร้างความร่วมมือใหม่ที่จะนำไปสู่สันติภาพและโอกาส ทางเศรษฐกิจ
ซึ่งในประเด็นที่สามนี้ นักวิชาการด้านมรดกวัฒนธรรมและมรดกโลกเสนอสิ่งที่น่าสนใจว่าแรงจูงใจและผล ประโยชน์ที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากเสนอชื่อมรดกวัฒนธรรมเป็นมรดกโลกนั้นแตกต่างกัน
โดยประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับมรดกวัฒนธรรมและความเป็น มรดกโลก เนื่องจากเป็นช่องทางที่จะสร้างและขยายความร่วมมือข้ามพรมแดนและความร่วมมือ ทุกระดับ ด้วยเหตุว่าความร่วมมือดังกล่าวส่งผลเชิงบวกมากกว่าการดำเนินงานระดับชาติ เท่านั้น
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามักให้ความสำคัญกับการนำมรดกวัฒนธรรมขึ้น ทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยความต้องการสร้างความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมของชาติ ให้เป็นที่รับรู้และยอมรับระดับนานาชาติ หรือไม่ก็ด้วยเหตุผลการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือการสร้างการยอมรับและการชอบธรรมทางการเมืองในประเทศ มากกว่าต้องการสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างประเทศ
ข้อสังเกตนี้และประสบการณ์จากอียูเหมือนจะท้าทายประเทศไทย ให้ปรับกระบวนคิด และยิ่งไปกว่านั้นท้าทายอาเซียนและประเทศสมาชิกให้เร่งปรับตัวในการลงมือ สร้างการบูรณาการอาเซียนบนพื้นฐานของวัฒนธรรมอย่างแท้จริง
ที่มา: มติชนออนไลน์
วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 16:00:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น