วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม 2553
จาก อัลบั้ม นสพ.คมชัดลึกออนไลน์ |
(1ก.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายด้านความมั่นคง กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษาเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วงกันว่า กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงฝ่ายเดียวอาจจะเอาไม่อยู่ว่า เอาอยู่หรือไม่พูดยาก แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องทำหน้าที่ของเขา
“ผมเชื่อว่าด้วยฐานะของการเป็นกระทรวงการต่างประเทศ การไปพูดจาต่อมิตรประเทศทั้งหลาย ต้องมีน้ำหนักกว่าคำพูดของคุณนพดล ที่ใครก็จะต้องเข้าใจเจตนาชัดว่าเป็นลูกน้องและเป็นบริวารคุณทักษิณ เพราะฉะนั้นน้ำหนักการพูดจาก็จะแตกต่างกัน ยิ่งกระทรวงการต่างประเทศได้พูดเรื่องที่เป็นความจริง มีเหตุมีผลชัดเจนก็จะยิ่งได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น” นายสุเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยควรมีการจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ในต่างประเทศ เพื่อชี้แจงกับต่างประเทศได้ง่ายขึ้นหรือไม่ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า เป็นส่วนของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบทางด้านนี้ ถ้าเห็นว่ามีความจำเป็น ตนไม่สามารถให้ความเห็นได้
ทนาย“ทักษิณ-13แกนนำนปช.”บี้รัฐบาลไทยหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ค.สำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ว่าจ้างเพื่อต่อสู้คดีตามข้อกล่าวหาผู้ก่อการร้าย ได้เผยแพร่จดหมายผ่านทางเว็บไซต์www.robertamsterdam.com โดยจดหมายฉบับดังกล่าวเป็นการแปลจากภาษาอังกฤษซึ่งได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เดียวกันเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา
จดหมายดังกล่าวระบุ ส่งถึงบุคคล ซึ่งประกอบด้วย นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความ ปรองดองแหงชาติ ,ดร. กิติพงษ์ กิติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขานุการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ, นายธาริต เพ็งดิษ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีกรรมการ ศอฉ. ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรื่อง การดําเนินการสอบสวนกรณีที่มีผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดง (เดือนเม.ย.-พ.ค. 2010)
โดยเนื้อหาระบุว่า “ท่านสุภาพบุรุษ สํานักงานกฎหมายแห่งนี้ เป็นทนายความของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และเป็นที่ปรึกษาของทีมทนายความไทยของสมาชิกของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการหรือ นปช. ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทําความผิดกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ ในเดือนเม.ย.และเดือนพ.ค. 2010 สํานักงานฯ เข้าใจว่าแต่ละท่านที่ระบุชื่อไว้ข้างต้นมีฐานะเป็นผู้แทนหน่วยงานของรัฐบาลไทยแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการดําเนินการสอบสวนคดีอาญาที่มีการกล่าวหาต่อลูกความของสํานักงานฯ วัตถุประสงค์ของหนังสือฉบับนี้ก็เพื่อเป็นการย้ำถึงสิทธิของลูกความของสํานักงานฯ ในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ในการที่รัฐบาลทําการสอบสวนและดําเนินคดีอาญาเนื่องจากความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศรวมถึง ไม่จํากัดเพียงการดําเนินการตรวจสอบบรรดาข้อเท็จจริงทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาในคดีอาญาที่มีต่อลูกความของสํานักงานฯ อย่างเต็มที่ เป็นธรรมและสมบูรณ์ซึ่งย่อมรวมถึงการตรวจสอบและวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงความเหมาะสมและความสมควรแก่เหตุของการใช้กําลังของหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่กระทําต่อการชุมนุม สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิของพลเรือน (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศตกลงเข้าผูกพันมีข้อกําหนดให้หลักประกันแก่ลูกความของสํานักงานฯ
ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับสิทธิที่จะต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม (fair treatment in the conduct of their defense) นอกจากนี้ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ICCPR ยังรับรองสิทธิที่จะได้รับคําแนะนํา คําปรึกษาทางกฎหมายจากทนายความ ที่ลูกความของสํานักงานฯ ต้องการอย่างมีอิสระและยังรับรองสิทธิผ่านทางทนายความและผู้เชี่ยวชาญอิสระที่จะตรวจสอบและทําการทดสอบบรรดาพยานหลักฐานทั้งปวงที่รัฐใช้อ้างในการกล่าวหาและดําเนินคดีลูกความของสํานักงานฯสําหรับกรณีของลูกความบางรายของสํานักงานฯ สิทธิที่จะทําการตรวจสอบพยานหลักฐานยอมเกี่ยวพันไปถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเสียชีวิตของบุคคลจํานวน 90 รายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ลูกความของสํานักงานฯ จํานวน 13 ราย
ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาว่าเป็นผู้เกี่ยวพันหรือก่อให้เกิดการใช้กําลังและความรุนแรง ดังนั้นข้อเท็จจริง ข้อมูล และพยานที่เกี่ยวข้องโดยตรง และโดยพฤติเหตุแวดล้อมกับการเสียชีวิตของพลเรือนและทหารในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเกี่ยวพันโดยตรงกับการตั้งข้อกล่าวหาของรัฐบาลไทย
นอกจากนี้แล้ว พยานหลักฐานจะเป็นตัวพิสูจน์ว่ารัฐบาลไทยได้ปฏิบัติต่อประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างเหมาะสมและโดยสมควรแก่เหตุหรือไม่
และยังเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ว่าการใช้กําลังเข้าสังหารพลเรือนโดยรัฐบาลไทย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่และการใช้กําลังของรัฐบาลไทยดังกล่าวเป็นเหตุชนวนที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือไม่ ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นสิ่งที่จําเป็นและเกี่ยวข้องโดยตรงในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกความของสํานักงานฯ อย่างน้อย 13 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดอาญาอย่างร้ายแรงซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
นอกจากนี้ เป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าประเทศไทยมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องทําการสอบสวนการกระทําความผิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ และหากพบว่ามีการกระทําความผิด ประเทศไทยก็มีภาระหน้าที่ที่จะต้องดําเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุไว้โดยชัดแจ้งในสนธิสัญญาแห่งกรุงเจนีวาปี 1949 (the Geneva Convention of 1979) ในสนธิสัญญาสหภาพยุโรปว่าด้วยการก่อการร้ายปี 1977 (European Terrorism Convention of 1977) ในสนธิสัญญาว่าด้วยตัวประกัน (Hostages Convention of 1979) ในสนธิสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการประทุษร้ายปี 1984 (Anti-Torture Convention of 1987) และสนธิสัญญา แห่งนครนิวยอร์ค ว่าด้วยอาชญากรรมต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศปี 1973 (the New York Convention of Crime against Internationally Protected Person of 1973)
การดําเนินการของรัฐบาลไทยที่เป็นการละเมิดหลักประกันต่อพลเรือนว่าจะไมถูกกระทําวิสามัญฆาตกรรมและการกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ตามอําเภอใจ อาจเป็นการกระทําที่เป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ว่าการกระทําต่างๆ ของรัฐบาลจะอ้างว่าเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเหตุกรณีพิเศษ
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงมีภาระหน้าที่ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะทําการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ ครบถ้วน และเป็น ธรรม สําหรับเหตุการณ์ที่มีการสังหารพลเรือนมากกว่า 80 ราย โดยหน่วยงานของรัฐบาลไทยในระหว่างที่มีการใช้อํานาจตามกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินต่อประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และมีหน้าที่ต้องดําเนินคดีต่อบุคคลใดๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสั่งการให้มีการดําเนินการจนเป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตของพลเรือนดังกล่าว
นอกจากนี้ ในสภาวการณ์เช่นนี้รัฐบาลไทยจะต้องให้องค์กรที่เป็นอิสระและมีความเป็นกลางทําการสอบสวนข้อเท็จจริงเพราะ จะต้องมีการใช้กลไกของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เกิดหน้าที่โดยทั่วไปในการตรวจสอบข้อกล่าวหาถึงการละเมิดกฎหมายโดยทันที โดยละเอียดรอบครอบและอย่างมีประสิทธิภาพผ่านทางองค์กรที่เป็นอิสระและมีความเป็นกลางและเป็นหน้าที่ที่ชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่า หากการสอบสวนแสดงว่ามีการละเมิดสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ รัฐมีหน้าที่ต้องดําเนินคดีเพื่อทําให้เกิดความยุติธรรม การที่รัฐบาลล้มเหลวในการดําเนินการเช่นนี้ อาจถือเป็นการกระทําละเมิดต่อภาระหน้าที่ ต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
ภาระหน้าที่ของรัฐมีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะต่อการละเมิดกฎหมายที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมทั้งภายใต้กฎหมายภายในประเทศและภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ในเรื่องการประทุษร้ายและการปฏิบัติต่อพลเรือนด้วยความทารุณโหดร้าย ไมเคารพสิทธิมนุษยชน (มาตรา 7) และ การฆาตกรรมตามอําเภอใจและเลือกปฏิบัติ (มาตรา 6)”
นอกจากนี้ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the Human Rights Committee of the United Nations) ได้กําหนด “อาจมีสถานการณ์ที่หากรัฐไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ตามมาตรา 2 ของสนธิสัญญาจะนําไปสู่การกระทําอันถือว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาโดยรัฐ เนื่องจากการที่รัฐปล่อยหรือละเลยที่ใช้มาตรการที่ปฏิบัติภาระหน้าที่ด้วยความระมัดระวังในการป้องกัน ลงโทษตรวจสอบหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทําผิดเหล่านั้น” ภายใต้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว ลูกความของสํานักงานฯ และคณะทนายความที่ดําเนินการสู้คดีแก่ลูกความเหล่านี้จึงมีสิทธิที่จะร้องขอ และโดยหนังสือฉบับนี้ถือเป็นร้องขอต่อรัฐบาลไทยและท่านให้ดําเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้ท่านดําเนินการผ่านทางองค์กรที่มีความอิสระและเป็นกลาง สืบสวนสอบสวนถึงการใช้กําลังอาวุธโดยหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่กระทําต่อประชาชนผู้ร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในระหว่างเดือนเม.ย.และพ.ค. 2010 ในกรุงเทพฯ (“การชุมนุม”) อย่างเต็มที่ เป็นธรรมและโดยสมบูรณ์
2.ให้ท่านเก็บรักษาพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งวัตถุพยาน พยานในทางนิติเวช เอกสาร เทปบันทึกภาพและเสียงที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม คําร้องขอนี้รวมไปถึงบรรดาพยานหลักฐานของหน่วยงานของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับการชุมนุม รวมถึงพยานหลักฐานที่อาจบ่งชี้ถึงการกระทําที่อาจเป็นการผิดกฎหมายอาญาของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หรือบรรดาแกนนํา นปช. ในส่วนที่เกี่ยวกับการชุมนุม
3.ขอให้ท่านเปิดเผยรายละเอียดของพยานหลักฐานต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในวรรค 2 ต่อคณะทนายความของลูกความของสํานักงานฯ โดยละเอียดและในทันที คําร้องขอให้เปิดเผยพยานหลักฐานนี้รวมถึงแถลงการณ์จากตํารวจ และ/หรือทหาร รวมทั้งแถลงการณ์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐตามลําดับชั้นของการสั่งการของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องหรือโต้ตอบต่อการชุมนุม
4.ขอให้ท่านได้อนุญาตและเปิดโอกาสให้ลูกความของสํานักงานฯ การดําเนินการแทนโดยคณะทนายความในการที่จะตรวจสอบ ก.บรรดาวัตถุพยานต่างๆ และทําการชันสูตรและวิเคราะห์หลักฐานในทางนิติเวชโดยอิสระ ซึ่งรวมถึงการชันสูตรศพ การทดสอบการใช้ยุทธภัณฑ์ทหาร และการวิเคราะห์วิถีกระสุนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุม ข.บรรดาพยานหลักฐานทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวหาลูกความของสํานักงานฯ
รวมถึงการสอบปากคํา การไต่สวน คําให้การของพยาน รายงานการชันสูตรและรายงานวิถีกระสุน รายงานของผู้เชี่ยวชาญ และพยานหลักฐานอื่นๆ ที่อยูในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงแถลงการณ์โดย ตํารวจ ทหาร และ/หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับการสั่งการในเรื่องการใช้กําลังในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ค.บรรดาพยานผู้เชี่ยวชาญและบรรดาพยานอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานของรัฐบาลไทยใช้เป็นหลักฐานในการตั้งข้อกล่าวหา และงานการสอบสวนอื่นๆ ที่หน่วยงานของรัฐบาลไทย จัดเตรียมขึ้นมาเพื่อใช้กับการชุมนุมของคนเสื้อแดง
5.ให้ท่านอนุญาตให้คณะทนายความผู้ดําเนินการแทนลูกความของสํานักงานฯ เข้าร่วมในการสัมภาษณ์ การสอบปากคําพยาน หรือการสอบสวนบุคคลใดๆ โดยหน่วยงานของรัฐบาลไทยในการดําเนินการสอบสวน ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศอฉ. คณะกรรมการฯ หรือคณะทํางานด้านการสืบสวนสอบสวนใดๆของทางการในส่วนที่เกี่ยวกับการชุมนุม6.ให้ท่านดําเนินการเปิดโอกาสให้คณะทนายความของลูกความของสํานักงานฯ เข้าถึงเพื่อการตรวจสอบเอกสารหลักฐานดังรายการที่ระบุไว้ข้างท้ายนี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการต่อการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ก.บรรดาเอกสารของหน่วยงานราชการหรือทหารเกี่ยวกับเป็น “แผนการหลัก” จนนําไปสู่เหตุวุ่นวาย ข.บรรดาเอกสารของหน่วยงานราชการหรือทางทหารเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางการทหารในการจัดการสลายการชุมนุมตามแผนการหลักข้างต้น ค.บรรดาเอกสารของหน่วยงานราชการหรือทางทหารเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การปฏิบัติการของทหารในการจัดการสลายการชุมนุมตามยุทธศาสตร์ทางการทหารเป็นฐานในการออกคําสั่งในทางปฏิบัติ เพื่อทําการสลายการชุมนุม
รวมถึงรายงานข่าวกรองและการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ ฉ.บรรดาคําสั่งปฏิบัติการณ์ของหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ช.บรรดาข้อมูลที่เกี่ยวกับคําสั่งทั้งด้วยวาจาและที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สั่งต่อหน่วยงานต่างๆของกองทัพเกี่ยวกับการใช้กําลังเพื่อการสลายการชุมนุมการบังคับบัญชาภายในกองทัพไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุม
ฌ.บรรดาเอกสารทางการหรือทางทหาร ซึ่งระบุการบรรยายสรุปที่จัดต่อหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพ รวมถึงหน่วยหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในกองทัพที่มีส่วนเกี่ยวพันโดยเฉพาะเจาะจงในการสลายการชุมนุม รวมถึงการอธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว ฎ.บรรดาเอกสารทางการเมืองหรือทางทหารที่แสดงถึงขั้นตอนการปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานของกองทัพหรือกองกําลังของไทยในการจัดการกับการชุมนุมทางการเมือง
รวมถึงรายงานสถานการณ์เบื้องต้น (rst impression report) หรือรายงานหลังเกิดเหตุการณ์ (after action report) ที่มีการจัดทําขึ้นและ ฏ.บรรดาเอกสารทางการหรือทางทหารที่อยู่ภายใน ประเภทที่ระบุไว้ในวรรค 6 (ก) - (ฎ) ข้างต้น ซึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์อื่นๆที่มีลักษณะทํานองเดียวกันกับการชุมนุม
7.ให้ท่านให้คณะทนายความของลูกความของสํานักงานฯ มีโอกาสที่จะเข้าถึงวัตถุพยานและรายงานทางนิติเวชดังต่อไปนี้ ก.บรรดาข้อมูลทางการแพทย์ของการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของทหาร ข.บรรดาข้อมูลทางการแพทย์ของการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของพลเรือน ค.การศึกษาและทดสอบวิถีกระสุน ง.บันทึกภาพและบันทึกเสียงที่เกี่ยวกับการชุมนุม
รวมถึงบันทึกภาพและเสียงของหน่วยงานรัฐบาลไทยในการสลายการชุมนุม จ.บรรดาข้อมูลที่เกี่ยวกับคําสั่งที่มีต่อหน่วยงานของกองทัพเรื่องการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่พลเรือนในระหว่างการชุมนุม ฉ.รายงานการชันสูตรศพ ซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการชุมนุม รวมถึงรายงานการชันสูตรศพที่ทําโดยแพทย์ทางด้านนิติเวชและ
ช.บรรดาแถลงการณ์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศอฉ. คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือคณะกรรมการชุดอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐที่เกี่ยวกับการชุมนุม
8.ให้ท่านดําเนินการให้ความสะดวกแก่คณะทนายความของลูกความของสํานักงานฯ ในการสัมภาษณ์บุคคลดังต่อไปนี้ ก.บรรดาผู้บัญชาการผู้บังคับการของหน่วยงานของกองทัพที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการที่เกี่ยวกับการชุมนุม
ข.บรรดาผู้นําทางการเมืองที่มีอํานาจสั่งการกองทัพในการเข้าสลายการชุมนุม และ ค.บรรดาพยานผู้เชี่ยวชาญที่หน่วยงานของรัฐบาลไทยเชื่อถือ โดยรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ทั้งนี้จดหมายได้ระบุทิ้งท้ายว่า สํานักงานฯ หวังว่ารัฐบาลไทยจะปฏิบัติหน้าที่ตามภาระหน้าที่ที่มีและผูกพันไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และด้วยเหตุนี้ เราจะรอฟังคําตอบจากท่านภายใน 10 วันข้างหน้า ขอแสดงความนับถือ
พร้อมกันนี้สำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม ยังได้แนบสําเนาจดหมายที่ส่งถึง มาดาม นาวิ พิเลย์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติ เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ศาสตราจารย์ เนื้อหาว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิของพลเรือนICCPR เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1996 สนธิสัญญา ICCPR กําหนดโดยชัดเจนว่ารัฐต้องให้หลักประกันแก่พลเรือนภายใต้สนธิสัญญานี้ ในกรณีที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง หรือเหตุฉุกเฉินสาธารณะอื่นๆ
โปรดดูมาตรา 6 ของสนธิสัญญา ICCPR และกฎขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยหลักขั้นพื้นฐานในการใช้กําลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะหลักในการปฏิบัติข้อที่ 7 และข้อที่ 8 (U.N. Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Oficials of 1990, Principle 7 and 8) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตทั่วไปที่ 31, ลักษณะของหน้าที่ตามกฎหมายทั่วไปต่อรัฐที่เป็นภาคีของสนธิสัญญาความเห็นที่ 31 วรรค 2
----------------------------------------------------
Dailyworldtoday: “นพดล”ยืนยันเดินสายชี้แจงไม่ทำลายต่างชาติ
“นพดล” แนะรัฐบาลไม่ควรตื่นตระหนกกับการเดินสายชี้แจงข้อมูลอีกด้านของสถานการณ์ในไทยให้ต่างชาติรับทราบ ยืนยันไม่คิดทำร้ายหรือทำลายประเทศ ระบุนายกฯควรปรับทัศนคติใหม่ หากอยากสร้างความปรองดองต้องทำใจให้กว้าง เลิกมองคนที่เห็นแตกต่างเป็นศรัตรู ป้ายสีให้เป็นผู้ก่อการร้าย ไม่รักชาติ “ศิริโชค” โยนตรวจคนเข้าเมืองตัดสินใจเองให้ทนาย “ทักษิณ” เข้าประเทศหรือไม่
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุไปชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทยที่สหรัฐเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของเจ้านาย อยากให้ทำประโยชน์เพื่อประเทศบ้างว่า การเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ไปเพื่อโจมตีประเทศไทย จึงไม่อยากให้รัฐบาลมองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่โต ไม่ควรตื่นเต้นจนเกินเหตุ
“ผมไม่ได้โจมตีประเทศไทย แต่ไปเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่น ประเทศไทยมีศักยภาพ แต่ความขัดแย้งในประเทศทำให้เสียโอกาส หากมีความปรองดองเกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อการลงทุนและการท่องเที่ยว” นายนพดลกล่าวและว่า หากรัฐบาลและผู้นำยังมีจิตใจคับแคบ มองคนเสื้อแดงเป็นศรัตรู เป็นผู้ก่อการร้าย ไม่รักประเทศชาติ ก็ทำให้ปรองดองกันยาก คิดว่านายกรัฐมนตรีควรปรับทัศนคติในเรื่องนี้เพื่อให้การปรองดองเกิดได้เร็วขึ้น
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรค กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณเริ่มใช้แนวร่วมในแต่ละภูมิภาคผ่านสำนักกฎหมายของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เพื่อล็อบบี้ชาติในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ล่าสุดประสานให้นายนพดลได้เข้าพบบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจของสหรัฐ แต่เนื้อหาที่นายนพดลพูดกับสื่อไทยผ่านวิดีโอลิ้งยังแตกต่างกับการพูดกับสื่อต่างประเทศ
“ชัดเจนว่ามีความต้องการดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย และให้ร้ายรัฐบาล” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวพร้อมเรียกร้องให้นายอัมสเตอร์ดัมนำหลักฐานมายืนยันกรณีที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พูดดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูงของไทย และอยากให้กระทรวงการต่างประเทศจริงจังกับการตรวจสอบเรื่องนี้ หากพบว่าพูดให้ร้ายจริงต้องดูต่อไปว่าทำในฐานะเป็นทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ หากนายอัมสเตอร์ดัมอยากพิสูจน์เรื่องนี้เราพร้อมไม่ว่าจะในศาลไทยหรือศาลระหว่างประเทศ
นพ.บุรณัชย์กล่าวอีกว่า วันที่ 29-30 มิ.ย. ที่ผ่านมามีตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เดินทางไปร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ จากนั้นมีการประชุมร่วมกันของพรรคการเมืองเสรีประชาธิปไตยในอาเซียน 10 ประเทศ โดยมีการเสนอญัตติด่วนให้การสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลไทยในการจัดการกับความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งพรรคเสรีประชาธิปไตยทั้ง 10 ประเทศชื่นชมแนวทางของรัฐบาลไทยที่ใช้ความรอบคอบและหลีกเลี่ยงความสูญเสียจนถึงที่สุด นอกจากนี้ยังตอบรับกระบวนการปรองดองของรัฐบาล พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันอย่างจริงจังในการดำเนินการต่อกองกำลังที่คุกคามสังคมไทยอีกด้วย
“มีพรรคการเมือง 8 ใน 10 ประเทศลงมติสนับสนุนญัติติด่วนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ถือเป็นสิ่งยืนยันแนวทางของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียนที่มีอุดมการณ์ด้านเสรีประชาธิปไตย” นพ.บุรณัชย์กล่าว
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า สหรัฐเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างดี ไม่มีข้อสงสัยใดๆ การเดินทางไปของนายนพดลไม่ได้เข้าพบกับผู้บริหารระดับสูง มีเพียงระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น ส่วนเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้สหรัฐเข้ามาแทรกแซงกิจการในไทย
ส่วนการเคลื่อนไหวของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม นายชวนนท์กล่าวว่า เป็นความพยายามขอความเห็นใจให้อดีตนายกรัฐมนตรี สำหรับการเดินทางไปประเทศต่างๆของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อเดินทางไปที่ไหนประเทศนั้นๆจะแจ้งให้ไทยทราบ โดยช่วงนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปประเทศแถบยุโรปและเอเชียเพื่อพูดคุยเรื่องของตัวเอง เช่น การขอเข้าประเทศ จึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ขอยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ไปดำเนินการอะไร เพราะยังไม่มีความจำเป็น
นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีนโยบายสั่งห้ามนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เข้าประเทศ ปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หากเห็นว่าเข้ามาแล้วจะเป็นภัยต่อความมั่นคงก็ห้ามได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศคงต้องทำงานหนักขึ้นในการชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย หลังจากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณเคลื่อนไหวอย่างหนักในต่างประเทศ ส่วนการจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ตอบโต้นั้นคงไม่จำเป็น เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก รัฐบาลจะใช้กลไกของกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลัก
เรื่องจากปก
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2832 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 2 กรกฏาคม 2010
--------------------------------------------
จาก ไทยรัฐออนไลน์ |
ถล่มแผ่นดินเกิด เปิดทางกลับบ้าน
ปฏิบัติการ "ทักษิณ" ขยายผลวิกฤติ "เผาเมือง" ฟ้องโลก
เหตุการณ์ วิกฤติม็อบเสื้อแดง ยุติลงไปแล้วเป็นแรมเดือน แต่ภาวะสงครามการเมือง และปัญหาความขัดแย้งในสังคม ยังไม่สิ้นสุด ภายหลังจากเหตุวิกฤติ ม็อบเสื้อแดงยึดย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ และรัฐบาลใช้กำลังทหารกระชับพื้นที่ปิดล้อมกดดันให้สลายการชุมนุม
เกิด ปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างทหารกับการ์ดเสื้อแดงและกองกำลังติดอาวุธที่แฝง ตัวอยู่ในม็อบ ส่งผลให้ทั้งฝ่ายทหารและผู้ชุมนุม เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก กลายเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศ
มาถึงวันนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้ากระบวนการตามแผนปรองดองแห่งชาติ และขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศไทย
โดยแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ
ทำหน้าที่ในการ กำหนดยุทธศาสตร์ มาตรการแนวทาง ต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ
รวม ทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปเสนอต่อสาธารณชนและภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างต่างๆ อาทิ
ระบบ การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ระบบภาษีและการเงินการคลัง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบการเมืองและการจัดการภาครัฐ ระบบการสื่อสาร ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการสังคม
มีเป้าหมายหลักในการขจัดความเหลื่อม ล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ได้มีการ ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน
ทำหน้าที่ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ความไม่สงบทางการเมืองในห้วงวิกฤติม็อบเสื้อแดง
รวมทั้งตั้งคณะ กรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธาน
มีหน้าที่ในการวางแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น ไปตามครรลองประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อ เดินไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในประเทศ
แต่ในขณะเดียวกัน ขั้วการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งและ แย่งชิงอำนาจกันมาอย่างดุเดือด ก็ยังเปิดเกมตอบโต้เข้าใส่รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เปิดปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทยอย่างเข้มข้น
ทั้ง การว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ในต่างประเทศ และนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม นักกฎหมายเชี่ยวชาญคดีอาญาระหว่างประเทศ มาเป็นทนายความ
ขับเคลื่อน กระบวนการต่อสู้คดีในข้อหาก่อการร้าย และเรียกร้องความเป็นธรรมจากเวทีโลก
ถึงขั้นส่งเรื่องร้องเรียนไปยังองค์สิทธิมนุษยชนสากล และหน่วยงานของสหประชาชาติ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ที่รัฐบาลไทยสั่งใช้กำลังทหารล้อมปราบสลาย การชุมนุมม็อบเสื้อแดง
ตั้งแท่นเตรียมชงเรื่องฟ้องร้องนายกฯ อภิสิทธิ์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย
ขณะที่ทีม ทนายความต่างประเทศที่ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจ้างเพื่อต่อสู้คดีก่อการร้าย ก็รุกคืบส่งจดหมายถึงนายกฯอภิสิทธิ์เกี่ยวกับการสอบสวนกรณีที่มีผู้เสีย ชีวิตในห้วงวิกฤติม็อบเสื้อแดง
ย้ำถึงสิทธิของ พ.ต.ท.ทักษิณในการได้รับการพิจารณาคดี อย่างเป็นธรรมตามหลักกฎหมายสากล
พร้อม ทั้งระบุว่า การกระทำบางอย่างของรัฐบาลอาจเป็นการกระทำที่เป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่าง ประเทศ อ้างสิทธิที่จะขอรายละเอียดเกี่ยวกับพยานหลักฐาน และส่งทีมทนายจากต่างประเทศมาสอบปากคำพยาน
ใช้เวทีสากลเป็นเครื่อง มือต่อสู้กดดันรัฐบาลไทย
ขณะเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปเข้าพบชี้แจงกับตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของประเทศสหรัฐ อเมริกา
โดยเน้นย้ำถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับจากฝ่ายถืออำนาจรัฐในประเทศไทย
พร้อมทั้งปฏิเสธ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เกี่ยวกับการก่อการร้ายตามข้อกล่าวหาของรัฐบาลไทย และผู้ชุมนุมม็อบเสื้อแดงไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เพียงแต่มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และความยุติธรรม
ฟ้องพี่เบิ้ม สหรัฐฯว่าโดนกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม
แน่นอน การที่ พ.ต.ท.ทักษิณพยายามใช้บริษัทล็อบบี้ยิสต์ ทีมทนายต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมาย เดินสายให้ข้อมูลชี้แจงในเวทีโลก
โดยฉายภาพให้ เห็นว่า เขาเป็นฝ่ายถูกกระทำ ไล่ตั้งแต่ โดนรัฐประหารยึดอำนาจ โดนคดีความต่างๆ จนต้องหนี ไปอยู่ต่างประเทศ
ในขณะที่ยังมีประชาชน จำนวนมากในประเทศไทยยังให้การสนับสนุน จนมีการชุมนุมของม็อบเสื้อแดงเรียกร้องความเป็นธรรมและประชาธิปไตย
แต่ ก็ถูกฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
ป่าวประกาศเรียก ร้องขอความยุติธรรม
โจมตีโครงสร้างอำนาจในประเทศไทยกลั่นแกล้งรังแก
ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงของไทย ก็พยายามออกมาตอบโต้ชี้แจงว่า
เหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียที่ เกิดขึ้นในห้วงการชุมนุมของม็อบเสื้อแดง เป็นเพราะแกนนำม็อบและเครือข่าย "ทักษิณ" มีการวางแผนเอาไว้อย่างเป็นระบบ
มีการเคลื่อนไหวชุมนุมของ มวลชน ควบคู่ไปกับการใช้ความรุนแรงโดยมีกองกำลังติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในม็อบในลักษณะ ก่อการร้าย
ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายทหารกับการ์ดเสื้อแดงและ กองกำลังติดอาวุธ เป็นผลให้มีการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และเกิดจลาจลตามมา
ทั้ง นี้ ทางฝ่ายรัฐบาลพยายามชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเวทีโลกผ่านสื่อต่างประเทศ และทูตประเทศต่างๆตามกลไกของกระทรวงการต่างประเทศ
รวมถึงชี้แจงกับ ประชาชน ผ่านศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะ
ที่สำคัญ สิ่งที่รัฐบาลชี้แจงออกไปส่วนใหญ่เป็นเพียงการบอกเล่าเรื่องราวและมีคลิปภาพ ต่างๆประกอบเท่านั้น
แต่ในเรื่องของพยานหลักฐานที่มีความสำคัญทาง คดี โดยเฉพาะตัวบุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นกองกำลังติดอาวุธ มาถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน
ผู้วางแผนและไอ้โม่งที่ลงมือปฏิบัติ การก่อการร้ายที่อ้างว่าเป็นผู้ลงมือยิงใส่ประชาชน ก็ยังไม่มีการนำมาเปิดเผยกันอย่างจะจะ
ตรงนี้ทำให้เกิดความเคลือบ แคลงจากประชาชนในประเทศ และองค์กรในเวทีโลก ที่จับตามองสถานการณ์ในเมืองไทย
ฉุด ให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดน้อยลงไป
อย่างไรก็ตาม การที่ "ทักษิณ" ปฏิบัติการใช้เวทีโลกกดดันประเทศไทยในวันนี้ชัดเจนว่า เป็นการขยายผลจากเหตุการณ์ความสูญเสียจากวิกฤติม็อบเสื้อแดง
ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในห้วงดัง กล่าว เกิดขึ้นเองจากปฏิบัติการกระชับพื้นที่ของฝ่ายทหาร หรือมีการเตรียมการวางแผนให้เกิดการปะทะ จนเกิดความสูญเสีย
เพื่อนำ ไปสู่การเดินเกมในเวทีโลก
ตรงนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องมีการพิสูจน์กันต่อไป
แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดที่ว่า นานาชาติและเวทีโลกจะเชื่อถือยอมรับข้อมูลของฝ่ายไหน
เมื่อย้อนกลับ มามองเหตุการณ์ภายในประเทศขณะนี้ ถือว่ายังอยู่ในห้วงที่อันตราย เพราะ อย่างที่เห็นๆกันอยู่มีทั้งการลอบวางระเบิดซาเล้งบอมบ์ถล่มพรรคถูมิใจไทย ตามด้วยคนร้ายยิงจรวดอาร์พีจีใส่คลังน้ำมันทหาร
เหตุการณ์ที่เกิด ขึ้น บางคนอาจมองว่าเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อใช้เป็นข้ออ้างที่ฝ่ายรัฐบาลจะต่อ อายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มองกันได้ หรือบางคนอาจมองว่าเป็นขบวนการใต้ ดินที่ต่อต้านรัฐบาลต้องการก่อวินาศกรรมป่วนเมือง ก็มองได้เหมือนกัน เหนือ อื่นใด ในห้วงนี้ยังมีข่าวออกมาจากฝ่ายความมั่นคงและตำรวจเป็นระลอกว่า
มี คนบางกลุ่มจ้องก่อวินาศกรรมสถานที่สำคัญ 68 จุด และมีแผนลอบสังหารนายกฯ แน่ นอน ในภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้คนในสังคมวิตกกังวล ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จะโดนลูกหลงกันรึเปล่า ผู้คนต้องใช้ชีวิตกันอย่างหวาดผวา
ขณะเดียวกัน การที่สถานการณ์เดินมาถึงจุดที่ "ทักษิณ" เดินหน้าปฏิบัติการใช้เวทีโลกกดดันประเทศไทย ต่อสู้ทวงความยุติธรรม
เพื่อ ให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ได้กลับเมืองไทยโดยไม่ต้องรับโทษทาง อาญา และทวงทรัพย์สมบัติคืน
แน่นอน การที่ใช้เวทีโลกเข้ามาแทรกแซงจัดการปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทย ในภาวะปกติทำไม่ได้แน่นอน
ยกเว้นเสียแต่เกิดภาวะรัฐไทยล้มเหลว ไม่สามารถบริหารจัดการควบคุมความมั่นคงและความปลอดภัยให้ประชาชน ไม่สามารถดูแลจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยตามวิถี ประชาธิปไตย องค์กรในเวทีโลกถึงจะเข้ามาแทรกได้
ถ้า "ทักษิณ" ยังเดินหน้าสู้ในแนวทางนี้ ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเดินไปสู่จุดนั้น
สุด ท้ายแล้วรัฐไทยจะตกอยู่ในสภาพอย่างไร เลวร้ายรุนแรงถึงขั้นไหน ยังไม่มีใครรู้
แต่ที่แน่ๆ คนไทยทุกคนทุกฝ่ายต้องรับผลกระทบร่วมกัน.
บทความ: "ทีมการเมือง" ไทยรัฐออนไลน์
• โดย ทีมการเมือง
• 4 กรกฎาคม 2553, 05:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น