จาก อัลบั้มกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ |
เครือข่ายสิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) ได้จัดเวทีสาธารณะ “มองย้อนสื่อไทยในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง”
โดยมีบุคคลในแวดวงสื่อสารมวลชนทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมกว่า 100 คน ที่โรงแรมสยามซิตี วานนี้ (30 มิ.ย.)
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย โครงการเฝ้าระวังสื่อและพัฒนารู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดีย มอนิเตอร์) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการรายงานข่าวสถานการณ์การชุมนุมทางเมือง ของ 10 สถานีโทรทัศน์ คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11, ทีวีไทย, เนชั่นแชนแนล, เอเอสทีวี, ทีเอ็นเอ็น และดีสเตชั่น ระหว่างวันที่ 12-15 มี.ค. และ 21-23 มี.ค. ตลอด 24 ชั่วโมง
พบว่า สถานีโทรทัศน์ทุกช่องเน้นแต่การรายงานบรรยากาศเร้าอารมณ์ เป็นการรายงานข่าวสงครามมากกว่าการนำเสนอรายงานข่าวเชิงลึก เพื่อเฝ้าระวังเหตุการณ์ความรุนแรง โดยมุ่งเน้นให้สำคัญกับแหล่งข่าวที่เป็นคู่ขัดแย้ง และนำเสนอภาพความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมา ใช้ภาษาบรรยายข่าวตอกย้ำสร้างความรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายทำให้เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามกันและกัน มีส่วนทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งบานปลายจนเป็นเหตุไปสู่ความรุนแรง
“มีเดีย มอนิเตอร์จึงมีข้อเสนอแนะว่า สถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอข่าว และตระหนักในผลกระทบของการนำเสนอว่าอาจสร้างความแตกแยก หรือทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น มุ่งเน้นการรายงานข่าวเชิงสันติภาพ เน้นแนวทางประนีประนอมทั้ง 2 ฝ่าย ให้ความสำคัญกับประชาชนทั่วไปที่อยู่ในเหตุการณ์มากกว่าแกนนำผู้ชุมนุมและ รัฐบาล
ที่สำคัญสื่อควรคำนึงถึงบทบาทและหน้าที่ของตนในการรายงานข่าวอย่างมีอิสระ และเสรี ไม่ควรให้อำนาจรัฐหรืออำนาจทุนเข้ามาแทรกแซง และไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มใด”
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า สถานการณ์สื่ออินเทอร์เน็ตเมืองไทยเข้าขั้นเลวร้ายมาก กระทรวงไอซีทีมีสถิติการปิดเว็บไซต์สูงมากอย่างรวดเร็วจากปี 2549 มีการปิดเว็บไซต์ 2 พันเว็บ แต่ต่อมาปี 2553 ปิดไป 4 หมื่นเว็บ ปีหน้าอาจจะเป็นหลักแสนเว็บ ทั้งๆ ที่ พื้นที่ในเว็บไซต์จำนวนไม่น้อย ได้ทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างในเฟซบุ๊ค
แต่ขณะเดียวกันรัฐก็ไล่ล่าเว็บไซต์ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถไล่ปิดได้หมด เพราะถึงปิดเว็บหนึ่งก็ไปโผล่ได้อีกอยู่ดี
“รัฐเดินมาถึงทาง 2 แพร่งที่ต้องเลือก คือ เดินหน้าปิดทั้งระบบแบบจีน หรือไม่ก็ทำใจปล่อยให้มันเติบโตไป แล้วรัฐพยายามชี้แจงในส่วนของตนไป” น.ส.สุภิญญา กล่าว
จากนั้นได้มีการเสวนาหัวข้อ “เมื่อผู้ส่งสารตกอยู่ในอันตราย พวกเขาปฏิบัติหน้าที่กันอย่างไร” โดยผู้สื่อข่าวภาคสนามหลายคนได้เรียกร้องให้องค์กรสื่อตระหนักถึงสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวภาคสนาม ที่ต้องทำหน้าที่รายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรง
โดยเร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันชีวิตที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเกราะ หมวกกันกระสุน เนื่องจากปัจจุบันยังมีหลายองค์กรข่าวใช้อุปกรณ์ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงดูแล เยียวยาสภาพจิตใจผู้สื่อข่าวภาคสนามที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงเพื่อให้เป็น ปกติ
นายชาติ พัฒนกุลการกิจ ผู้สื่อข่าวทีวีไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทางสถานีแม้จะมีเสื้อเกราะ แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันอาวุธหนักได้ เพราะในการชุมนุมครั้งที่ผ่านมามีการใช้อาวุธสงครามถล่มกัน แต่ที่แย่กว่านั้นคือ บางสำนักยังเป็นเกราะอ่อนบอบบางมาก ทุกองค์กรอยากจะให้นักข่าว ช่างภาพไปเก็บภาพที่ใกล้ๆ เหตุการณ์ ก็ควรจะตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตของคนที่ทำงานด้วย
นายมานพ ทิพย์โอสถ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า แม้ว่าทางองค์กรจะมีอุปกรณ์ป้องกันชีวิตให้ แต่ยังไม่มีคุณภาพมากพอเมื่อเทียบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างหมวกกันน็อคในความเป็นจริงแล้วก็สามารถกันได้แค่หนังสติ๊ก หรือเสื้อเกราะที่สวมอยู่ปัจจุบันทหารเคยบอกว่าไม่สามารถป้องกันได้แม้กระทั่งปืนพกด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังควรจะมีการดูแลด้านสุขภาพจิตนักข่าว เพราะเชื่อว่าหลายคนยังมีความทรงจำที่ไม่ดี อย่างตนทุกวันนี้ได้ยินเสียงประทัดแล้วสะดุ้งทุกที
นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า สถานการณ์หลังจากนี้ยังไว้ใจไม่ได้ แต่ก่อนที่เคยคิดว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วจะไม่มีใครทำอะไร ต้องเลิกคิดแล้วเพราะปัจจุบันกลุ่มที่ก่อเหตุไม่เลือกเป้าหมาย สื่อมวลชนอาจจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายก็ได้
นายเวน เฮย์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอัลจาซีรา กล่าวว่า สำหรับนโยบายข่าวอัลจาซีราจะเน้นความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวที่ต้องลงพื้นที่ เป็นอันดับหนึ่งโดยทุกครั้งที่ลงพื้นที่เสี่ยงภัย จะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านการรักษาความปลอดภัยจากบริษัทเอกชน ติดตามไปด้วยทุกแห่ง เพื่อแนะนำว่าจะปฏิบัติตัว อย่างไรในสถานการณ์นั้นๆ แต่ไม่สามารถห้ามเราไม่ให้ไปไหนได้ โดยทีมนี้จะมีเครื่องมือปฐมพยาบาลติดไปด้วย สามารถช่วยชีวิตเราได้ในยามฉุกเฉิน
นายกวี จงกิจถาวร บรรณาธิการอาวุโส เครือเดอะเนชั่น ในฐานะอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “จริยธรรมกับเสรีสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง” ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะต้องมีอุปกรณ์ดูแลความปลอดภัยนักข่าวในภาคสนามให้ดี ที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างคุณภาพในการรายงานข่าวของนักข่าวพร้อมกันไปด้วย
โดยต้องฝึกทักษะให้นักข่าวรอบรู้สามารถเข้าใจโครงสร้างความขัดแย้งได้ ไม่ใช่เป็นแค่นักรายงานความขัดแย้ง หรือความรุนแรงแบบวันต่อวันเท่านั้น
"ที่ผ่านมาสื่อไทยถูกประณามว่าไม่สามารถอธิบายภาพความขัดแย้งได้ มีแต่รายงานปรากฏการณ์ไปวันๆ เท่านั้น นักข่าวจึงต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้เข้าใจในเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และถ้านักข่าวมีความรู้ในสถานการณ์แล้ว จะสามารถลดข้อผิดพลาดของข้อมูลได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์" นายกวี กล่าว
การเมือง : บทวิเคราะห์
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 01:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น