วันอาทิตย์, เมษายน 24, 2554

สงคราม”ความเชื่อ”กรณี”ใครยิงก่อน”ที่ชายแดน”ไทย-กัมพูชา"


สงคราม”ความเชื่อ”กรณี”ใครยิงก่อน”ที่ชายแดน”ไทย-กัมพูชา”


ทุกครั้งที่มีเสียงปืนดังขึ้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งกองทัพไทย และกองทัพกัมพูชาจะชี้นิ้วใส่กันทันทีว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ลั่นกระสุนก่อน
ซึ่งเป็น”เรื่องยาก”ที่จะพิสูจน์ได้

ในอดีตการปะทะกันระหว่างกองทัพ 2 ประเทศจะจบลงด้วยการเจรจาหยุดยิง และสานสัมพันธ์กันใหม่ แต่ทันทีที่กรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ยกระดับเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554

ปัญหาความขัดแย้งก็”ยกระดับ”ขึ้นทันที

สหประชาชาติโยน“ลูกบอล”แห่งความขัดแย้งใส่มือ”อาเซียน”ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย เป็นประธาน และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ.กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีมติชัดเจน

“ยินดีต่อการที่กัมพูชาและไทยได้เชิญผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทยในฝั่งของกัมพูชาและของไทยตามลำดับ เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติตามคำมั่นของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอาวุธไม่ให้เกิดขึ้นระหว่างกันอีก”

ถ้าตีความแบบไม่ซับซ้อนก็คือ มี”คนกลาง”มาเฝ้าระวังที่ชายแดน 2 ประเทศ เพื่อเป็น”พยาน”ว่า 2 ฝ่ายจะยุติการปะทะกัน และหากเกิดปะทะกันจะได้มี”คนกลาง”ตัดสินใจว่าใครลงมือก่อน “กัมพูชา”ที่มี”จุดยืน”ชัดเจนว่าต้องการให้องค์กรระหว่างประเทศและ”คนกลาง”เข้ามาจึงเปิดประตูรับทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข พร้อมให้ 15 ผู้สังเกตการณ์ทหารจากอินโดนีเซียเข้าไปได้ทุกจุดแม้ในค่ายทหาร

ในขณะที่ฝั่งไทย มติสภากลาโหมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ กลับมีมติสวนทางกับกระทรวงการต่างประเทศ


“สถานการณ์ไทย-กัมพูชา ยังไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม เป็นการปะทะกันระดับพื้นที่เท่านั้น ถ้าหากส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ซึ่งเป็นคนต่างชาติอาจจะทำให้ความเข้าใจในข้อมูลคลาดเคลื่อน”

และภายใต้เหตุผลเรื่อง”อธิปไตย”ของประเทศ ทางกองทัพจึงมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าผู้สังเกตการณ์ต้องไม่ใส่ชุดทหาร ไม่พกอาวุธ และเป็นส่วนหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ด้วย”ท่าที”ที่แตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งเปิดกว้างสำหรับ”คนกลาง” แต่อีกฝั่งหนึ่งมีเงื่อนไขในการเปิดประตู

การเดินเกมของกระทรวงต่างประเทศที่ไม่เป็นเอกภาพภายในทำให้ไทยเพลี่ยงพล้ำเรื่อง”ความเชื่อถือ” ไม่ว่าจะเรื่อง”คนกลาง” หรือ การถอนบันทึกข้อตกลงเจบีซี 3 ฉบับออกจากสภาฯ ภาพที่ออกมา“ไทย”ย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ดังนั้น เมื่อเกิดการสู้รบครั้งใหม่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และทั้งสองฝ่ายต่างชี้นิ้วใส่กันว่าอีกฝั่งหนึ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน

คำถามเรื่อง”ความเชื่อ”จึงเกิดขึ้น "สหประชาชาติ"และ"อาเซียน"จะเชื่อใคร
...................

ประเทศไทยไม่ได้อยู่เพียงเดียวดายในโลก แต่ประเทศไทยอยู่ในสังคมโลก “ความเชื่อ”ว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของไทย “กัมพูชา”รุกราน”ไทย”ก่อน ฯลฯ

ทั้งหมดอาจเป็น”ความเชื่อ”ของคนกลุ่มหนึ่งในเมืองไทย แต่ในสังคมโลกที่ต้องฟังและต้องคำนึงถึง”วิธีคิด”และ”กติกา”ที่เป็นสากล ประเด็นสำคัญที่สุด ก็คือ ประเทศไทยได้สร้าง”ความน่าเชื่อถือ”มากแค่ไหนในระดับนานาชาติ

โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชายแดน”ไทย-กัมพูชา” ในทางการเมือง มีคนเคยบอกว่า”ความเชื่อ”คือ”ความจริง” ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศ หรือ การเมืองในประเทศ

ตอนที่สหรัฐอเมริกาบุกอิรัก และจับ”ซัดดัม ฮุสเซ็น”ประหารชีวิต ประธานาธิบดีบุชสร้าง”ความเชื่อ”ระดับเรื่อง”อิรัก”สร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมา
เมื่อโลกเชื่อ “ความชอบธรรม”ก็เกิด

แม้สุดท้ายจะพิสูจน์แล้วว่า”ระเบิดนิวเคลียร์”เป็นเพียง”นิยาย”ที่สหรัฐอเมริกาสร้างขึ้นมา

“ความเชื่อ”นั้นผิดพลาด แต่”ความจริง”ก็คือ “อิรัก”ราบเป็นหน้ากลอง และยังไม่สงบจนถึงทุกวันนี้ การเมืองระหว่างประเทศเรื่อง”ไทย-กัมพูชา”ก็เช่นกัน ไม่มีใครรู้ว่า”ความจริง”เป็นอย่างไร

ใครยิงใครก่อน

แต่สำคัญที่ว่า”โลก”จะเชื่อใคร นี่คือ “สัจธรรม”ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย


ที่มา: มติชนออนไลน์ (update: วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:25:27 น.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น