จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ |
เมื่อครั้งที่โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี กำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรียุค นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งครั้งนั้นมูลค่าโครงการสูงแตะ 1 แสนล้านบาท รศ.ธนชัย ยมจินดา นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เคยวิเคราะห์โครงการเอาไว้อย่างถึงกึ๋น จนสุดท้ายต้องพับไป
วันนี้ โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะลดมูลค่าโครงการลงเหลือกว่า 6 หมื่นล้าน แต่ก็ยังถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย แม้แต่คณะรัฐมนตรีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งหัวโต๊ะ ก็ตีกลับไปแล้วถึงสามครั้ง
รศ.ธนชัย วิเคราะห์ทางเลือกโครงการเช่ารถเมล์ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด และเพื่อเป็นบทพิสูจน์ธรรมาภิบาลของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
บทวิเคราะห์ของ รศ.ธนชัย ระบุว่า การตัดสินใจใดๆ โดยทั่วๆ ไปจะยึดหลักสมการ D = F + J หรือการตัดสินใจจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน (Facts) และการใช้วิจารณญาณที่ดี (Judgment) ซึ่งต้องเป็นการใช้วิจารณญาณเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และหรือสาธารณะอย่างแท้จริง จึงจะถือว่าสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องมีปัญหากับข้อถกเถียงใดๆ
และเมื่อพิจารณาการตัดสินใจของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ชูแนวทางธรรมาภิบาลเป็นหลักการมาโดยตลอดด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีความชัดเจนในประเด็นของคำว่า “ธรรมาภิบาล” ให้มากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณด้วย
ในฐานะที่เป็นประชาชนผู้เสียภาษีคนหนึ่ง ที่อยากจะเห็นการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นแบบมืออาชีพ และเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง จึงได้ลองนำเอาข้อมูลต่างๆ ที่มีการเผยแพร่ออกมาสู่สายตาประชาชนผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มาแล้ว มาช่วยคิด โดยนำมาตั้งวางในกรอบการพิจารณาของมืออาชีพ ที่มีการพิจารณาปัจจัยทุกแง่มุมอย่างรอบด้าน และตัดสินใจบนฐานการวิเคราะห์ข้อมูลโดยไม่มีอะไรแอบแฝง เพื่อหาข้อสรุปว่า การเช่ารถ NGV 4,000 คันนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของรัฐบาลหรือไม่ และรัฐบาลควรตัดสินใจตามแนวทางใด ระหว่างการเช่า หรือการเช่าซื้อ
ทางเลือกที่ 1 : อายุโครงการ 10 ปี รายได้รวม 6,146 บาท/คัน/วัน
ผลการวิเคราะห์ : ขสมก. จะมีกำไร /คัน/วัน = 6,146 - 4,522 = 1,624 บาท/คัน/วัน
หรือ = 2,371 ล้านบาท/4,000 คัน/ปี
กระแสเงินสดรับของ ขสมก. ใน 10 ปี = 2,371 ล้านบาท x (PVIFA 8% n = 10)
= 2,371 ล้านบาท x 6.71 = 15,909 ล้านบาท
ขสมก.ขาดทุนจากการลงทุน = 15,909 - 66,000= -50,091 ล้านบาท/ตลอดอายุ 10 ปี
ข้อสรุป
ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามข้อมูลข้างต้น โดย ขสมก. ทำรายได้เพียง 6,146 บาท /คัน/วัน และมีค่าใช้จ่าย 4,522 บาท /คัน/วัน (ข้อมูล รมต.) ขสมก.จะมีกำไร/คัน/วัน 1,624 บาท และคิดเป็นเงินรายได้ที่เป็นกำไร 2,371 ล้านบาท/4,000 คัน/ปี รวม 10 ปี จะได้กระแสเงินสดรับทั้งสิ้น 15,909 ล้านบาท และได้รับผลขาดทุนรวม 50,091 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 10 ปี ดังนั้นหากพิจารณา ตามข้อมูลข้างต้น โครงการนี้จะขาดทุนอย่างมหาศาล และจะไม่เป็นผลดีต่อประโยชน์สาธารณะอย่างแน่นอน ถ้า ครม. เลือกตัดสินใจตามทางเลือกที่ 1 คงจะตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากว่ามีปัจจัยแอบแฝงอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
ทางเลือกที่ 2 : ปรับลดโครงการเหลือ 5 ปี ค่าเช่าเท่าเดิม 4,522 บาท/คัน/วัน
ผลการวิเคราะห์ : การลดโครงการเหลือ 5 ปี จะทำให้มูลค่าโครงการลดลงเหลือ 33,000 ล้านบาท
ขสมก. ยังคงได้รับผลขาดทุน = (2,371 x 3.99) - 33,000
= - 23,540 ล้านบาท (ตลอดอายุ 5 ปี)
ทางเลือกที่ 3 : ปรับลดค่าเช่าลง 20 % ปรับลดโครงการเหลือ 5 ปี
ผลการวิเคราะห์ : มูลค่าโครงการจะลดลง = 33,000 ล้านบาท
กระแสเงินสดรับสุทธิ/ปี ของ ขสมก. = 3,692 ล้านบาท/ปี (6,146 - 3,617 = 2,529 x 4,000 x 365)
กระแสเงินสดรับสุทธิ 5 ปี = 14,732 ล้านบาท (3,692 x PVIFA 8 %n =5)
ขสมก. ยังคงขาดทุน = 14,732- 33,000
= - 18,268 ล้านบาท
ทางเลือกที่ 4 : ปรับลดโครงการเหลือ 5 ปี ปรับลดค่าเช่า 50%
ผลการวิเคราะห์ : มูลค่าเงินลงทุนโครงการ = 33,000 ล้านบาท
กระแสเงินสดรับสุทธิ/ปี ของ ขสมก. = 5,672 ล้านบาท
ขสมก.ยังคงขาดทุน = (5,672 ล้านบาท x PVIFA 5 ปี 8 %) - 33,000
= 22,631 (5,672 ล้านบาท x 3.99) - 33,000
= -10,369 ล้านบาท/ตลอด 5 ปี
ทางเลือกที่ 5 : ปรับรายได้เพิ่มจากเดิม 30 % เป็น 7,989 บาท/คัน/วัน ระยะเวลาเช่า 10 ปี
ผลการวิเคราะห์ : กระแสเงินสดรับสุทธิ = 3,467 บาท/คัน/วัน
กระแสเงินสดรับสุทธิ ตลอด 10 ปี = 5,061 ล้านบาท/4,000 คัน/ปี
ขสมก. ยังคงขาดทุน = 33,953 - 66,000 = - 32,041 ล้านบาท
ดังนั้น การพิจารณาทางเลือกของการเช่าดูจะมีความเป็นไปไม่ได้ เพราะผลการวิเคราะห์พบว่า ขสมก. มีผลการขาดทุนในทุกกรณี (ทั้ง 5 ทางเลือก) แม้ว่าจะปรับลดโครงการเหลือ 5 ปี ปรับลดค่าเช่ากึ่งหนึ่ง หรือเพิ่มรายได้ขึ้น 30% ก็ยังคงมีผลขาดทุนอยู่ดี จึงต้องลองพิจารณาทางเลือกของการเช่าซื้อ โดย ขสมก. กู้เงินมาดำเนินการเอง
ทางเลือกที่ 6 : ลงทุนโดย ขสมก. โครงการ 5 ปี ดอกเบี้ย 8%
มูลค่าลงทุนของโครงการ 5 ปี จะอยู่ที่ 20,800 ล้านบาท (รถคันละ 5.2 ล้านบาท) และสมมติให้ ขสมก. มีรายจ่ายค่าซ่อมเป็นไปตามข้อมูลของ รมต. คมนาคม ก็จะพบว่าจะเสียค่าซ่อม (โดยไม่เสียค่าเช่า) เพียง 1,985 บาท/คัน/วัน
ผลการวิเคราะห์ : การคำนวณผลกำไรขาดทุนของโครงการจะปรากฏข้อค้นพบว่า ขสมก. ประสบผลกำไรตลอดอายุ 5 ปี ของโครงการ จำนวนเงิน 4,239 ล้านบาท ดังนี้
มูลค่าเงินลงทุน = 20,800 ล้านบาท
กระแสเงินสดรับ สุทธิ/ปี = (6,146 - 1,985 = 4,161 x 4,000 x 365) = 6,075/ปี
กระแสเงินสดรับทั้ง 5 ปี = 6,075 ล้านบาท x PVIFA 8 %n = 5
= 6,075 ล้านบาท x 3.99
= 24,239 ล้านบาท
ผลกำไรของโครงการ = 24,239 - 20,800 = 4,239 ล้านบาท/ 5 ปี
ถ้าพิจารณาจากทางเลือกการลงทุนเองของ ขสมก. จะพบว่าจะทำให้ ขสมก.มีกำไรทั้งสิ้น 4,239 ล้านบาท ตลอด 5 ปี โดยยังไม่นับรวมมูลค่าซากของรถ 4,000 คัน ที่จะขายในปีที่ 5 และรับเป็นเงินสดได้อีก แล้วอย่างนี้คิดว่าจะเลือกตามทางเลือกของการเช่า ตามที่ รมว. คมนาคม เสนอ ครม.พิจารณาจะไปได้หรือ
“ผมเห็นว่าเป็นการตัดสินใจนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้โดยไม่ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล เพราะประสบผลขาดทุนอย่างเห็นได้ชัดเจน ขณะที่ ครม.ซึ่งควรต้องเป็นมืออาชีพจะตัดสินใจยอมรับผลขาดทุนได้อย่างไรเมื่อมีทางเลือกอื่นซึ่งให้ผลกำไรและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า”
บทพิสูจน์โดยการคำนวณนี้แสดงชัดแล้วว่า “การเช่าซื้อ” ดีกว่า “การเช่า” เหลือแต่รอเพียงบทพิสูจน์ “ธรรมาภิบาล” ของ ครม.ชุด นายอภิสิทธิ์ เท่านั้น
ข้อมูลโครงการ : (เผยแพร่ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ)
- มูลค่าโครงการ 66,000 ล้านบาท - ระยะเวลาเช่า 10 ปี
- ประมาณการรายได้ 6,146 บาท/คัน/วัน - ประมาณการรายได้รายได้ 7,989 บาท/คัน/วัน
(ข้อมูล ขสมก. ปัจจุบัน) (เพิ่ม 30% จากรายได้ปัจจุบันของ ขสมก. )
- ค่าเช่ารถ 2,537 บาท/คัน/วัน - ค่าบริหารจัดการ 417/คัน/วัน (รวมดอกเบี้ย)
- ค่าซ่อม 1,359 บาท/คัน/วัน - ค่าประกันภัย/ภาษี 39 บาท/คัน/วัน
- ค่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ 170 บาท/คัน/วัน - ค่าใช้จ่ายรวม 4,522 บาท/คัน/วัน (ข้อมูลของ รมต.)
- ดอกเบี้ย 8% - มูลค่ารถ 5 ล้านบาท/คัน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น