จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ |
เรื่องนี้เราไม่ได้ไปบอกให้เปลี่ยนการเลือกตั้ง ให้เขาอยู่แบบนั้น แต่จะมีอำนาจสังคมขึ้นมาถ่วงดุล"
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
นพ.อำพล ได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่ในฐานะเลขาคณะกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุด ว่า เขาคิดว่าคณะกรรมการทั้งสองชุด เปรียบเหมือนพญานาค 2 หัว ที่มีลำตัวเดียวกัน คือ สังคม กระบวนการขับเคลื่อนส่วนลำตัวจะมีความสำคัญไม่น้อยกว่าหัว เพราะการปฏิรูปต้องรับฟังความเห็นของสังคมส่วนใหญ่ ว่า ต้องการให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ดิน ระบบการกระจายอำนาจ อุปสรรคกฎระเบียบของทางราชการ โครงสร้างทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และบริการสาธารณะ
การทำงานของคณะกรรมการทั้งสองชุด จะมีกระบวนการขับเคลื่อนที่เครือข่ายการทำงานหลายภาคส่วนเข้ามามีทำงานแบบมีส่วนร่วมแบบไม่ทิ้งกัน โดยมีกรรมการในแต่ละคณะเป็นตัวเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เช่น คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะมีประธานที่ประชุมอธิการบดีเข้ามาเป็นกรรมการ ที่สามารถเข้าไปทำงานกับมหาวิทยาลัยทั้งหมด เข้ามาทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ทั้งเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายนักธุรกิจ ซึ่งโครงสร้างแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนเพราะต่างคนต่างทำ และอาจจะมองกันเป็นปฏิปักษ์ แต่แบบนี้ทุกคนจะเข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
"สช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ในระเบียบสำนักนายกฯ ต้องการให้ฝ่ายเลขาที่สนับสนุนมีความคล่องตัวที่ไม่ใช่ฝ่ายราชการ เพราะถ้าเป็นราชการจะถูกสั่งจากรัฐบาล หากเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเขาบอกให้เป็นทำช้าๆ หรือในรัฐบาลนี้เขาก็สั่งได้เพื่อให้ได้คะแนนเสียงหรืออะไรก็ตาม โอกาสแบบนั้นมันมีสูง"
ในช่วงปลายเดือนก.ค. นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สช.ออกระเบียบจัดตั้งสำนักงานปฏิรูป (ปร.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานในสังกัดของ สช. ซึ่งรูปแบบในการจัดตั้งจะคล้ายกับสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ( สปรส.) ก่อนที่จะตั้ง สช.ที่มีคนทำงานกว่า 10 คน แล้วเข้าไปทำงานเชื่อมกับคนอื่น ทำหน้าที่เป็นผู้ประสาน อย่างน้อยก็ประสานกับคณะกรรมการชุดของนายอานันท์ และนพ.ประเวศ และภาคส่วนของสังคม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปฏิรูปเป็นงานที่ใหญ่มาก สช.ทำเองทั้งหมดไม่ได้ ถ้าจะทำเรื่องจัดการความรู้จะรู้ต้องมีนักวิชาการเข้ามาจัดการความรู้เชื่อมโยงกับชุดคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ซึ่งอาจจะต้องมีกลไกเพิ่มขึ้นมารับงาน เช่นหน่วยงานหรือองค์กรอื่นที่เก่งในเรื่องวิชาการ ซึ่งกำลังคุยกันอยู่
นอกจากนี้ นพ.อำพล กล่าว ถ้าจะสื่อสารกับสังคมอย่างกว้างขวาง เหมือนที่บอกว่าถ้ามีหัวสองหัวแล้วตัวไม่ขยับ ชีวิตก็จะไม่เกิด ชีวิตจะเกิดตัวต้องขยับด้วย ฉะนั้นถ้ามีการสื่อสารสาธารณะก็จะมีกลไกเข้ามาทำงานเพิ่มเติม ขณะนี้ที่คุยคร่าวๆ คือ จะให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีความเชี่ยวชาญและทำงานกับสื่ออยู่แล้วเข้าไปเชื่อมสื่อทั้งหลาย ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก เข้ามาทำงานร่วมกับสังคม
ส่วนการจัดกระบวนการสมัชชา ต้องมีการออกแบบอย่างเป็นระบบ ภายใน 3 ปี จะมีการจัดสมัชชาอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้สังคมเข้มแข็งขึ้น เพราะเป็นการทำประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ทำครั้งเดียว ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ และใน 3 ปี คนอาจจะเห็นว่ากระบวนการนี้ทำให้คนเข้ามาร่วมมากขึ้น ไม่ใช่ไปหวังพึ่ง ส.ส.อย่างเดียว
การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 ชุดที่เป็นส่วนของพญานาคจะทำงานเชื่อมโยงกับสังคมตลอดเวลา คิดว่าภายใน 1 ปีจะเห็นแนวคิดของภาคประชาชน อย่างชัดเจนว่าเขาต้องการอะไร เพราะเท่าที่ทำงานด้านปฏิรูปสุขภาพมา 10 ปี ได้มีโอกาสไปสัมผัสกับประชาชนเห็นว่าความสำนึกและการตื่นตัวข้างล่างมีสูงมาก แม้ว่าคนทั้ง 63 ล้านคน อาจจะมีคนที่ตื่นตัวไม่ถึง 1 ล้านคน แต่นี่คือพลังการเปลี่ยนแปลงของประเทศ
“การเปลี่ยนแปลงอะไรในโลกนี้จะเกิดจากเกิดจากคนที่ไม่ใช่คนทั้งหมด เพราะคนทั้งหมดหาเช้ากินค่ำ เหน็ดเหนื่อยกับชีวิตการทำงาน ถูกระบบให้วิ่งไปแข่งขัน ทำงานหาเงินต่อสู้ แต่จะมีคนที่สังคมไทยเปิดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 คน มารวมตัวกันคิด รวมตัวกันทำ ไม่ใช่เอาไปฝากไว้ที่ใคร”
นพ.อำพล มองว่า การทำงานปฏิรูปต้องเปิดกว้างให้มีเวทีเครือข่ายสาธารณะมากๆ อย่าไปรอคณะกรรมการหรือสำนักงานที่จะตั้งขึ้นมาเป็นฝ่ายเลขาเข้าไปขับเคลื่อน ใครมีศักยภาพทำอะไรได้ก็ทำเลย นี่คือจุดยืนที่นพ.ประเวศพูดอยู่บ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม สปร.ที่จะตั้งขึ้นไม่ได้มีงบประมาณมากถึง 600 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าวเพราะคงไม่ใช้เงินมากขนาดนั้น และคิดว่างบที่รัฐบาลสนับสนุนจะมาใช้ในการจัดเวทีสมัชชา การประชุมต่างๆ มากกว่า แต่ไม่ใช่เอาเงินไปหนุนให้ใครทำ เพราะทุกวันนี้แหล่งเงินไม่ใช่จะเอามาจากแหล่งเดียว เช่น บางงาน สสส. อาจจะไปสนับสนุน บางงานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีเงินก็ทำไปได้ นำประเด็นหลอมรวมเป็นข้อเสนอเดียวกันของสังคม
นพ.อำพล ระบุถึงการขับเคลื่อนขบวนว่า ต้องอาศัยพลังทางสังคม เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะจัดทำข้อเสนอในลักษณะนี้ แต่พลังขับเคลื่อนไม่พอ ส่งเรื่องไปที่รัฐบาลและสภาแล้วหาย เพราะกระบวนการตัดสินใจอยู่ที่ผู้มีอำนาจและผลประโยชน์เสมอเรื่องจึงถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก แต่ครั้งนี้ถ้ามีกระบวนการส่งผ่านทางสังคมให้สังคมเคลื่อนไหวส่งผ่านกันเองให้พญานาค 2 หัวที่ลำตัวเคลื่อนด้วยกัน แล้วสังคมก็เป็นเจ้าของเรื่องมันจะเกิดพลัง
เช่นรัฐธรรมนูญปี 2540 ภาคประชาสังคมยังไม่เข้มแข็ง ประชาชนที่ตื่นรู้ยังไม่มากเท่าปัจจุบัน ตอนโหวตรัฐธรรมนูญฝ่ายการเมืองไม่เอาด้วย แต่วันโหวตรัฐธรรมนูญเขาเอาด้วย เพราะสังคมเอา อย่าง นายเสนาะ เทียนทอง คัดค้านมาตลอดแต่วันนั้นนายเสนาะก็โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ
“บางทีคนเรามานั่งเถียงกัน คุณไปเลือกตั้งเข้ามาสิ คุณได้คะแนนเท่าไร คุณสู้เราไม่ได้หรือ แต่พอสังคมเคลื่อนไปถึงจุดๆ หนึ่ง พลังมันมี เขาจะแย้งยากมาก ว่า คุณไม่ได้เลือกตั้งเข้ามา เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเลือกตั้ง ไม่ใช่การลงประชามติด้วย แต่เป็นฉันทามติ หรือเป็นความคิดส่วนใหญ่ของสังคมจะเอาแบบนี้ ผมคิดว่ามันต้องเคลื่อนไปถึงตรงนั้น และถามว่ามีโอกาสเกิดหรือไม่ ตอบได้ว่ามันมี มันถึงเวลาที่จะเกิดแล้ว” นพ.อำพล สะท้อนมุมมองการขับเคลื่อนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
นพ.อำพล ยังยกตัวอย่าง การจัดทำสมัชชาสุขภาพในภาคใต้ที่เสนอให้การทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ที่ภาคสังคมมีงานทางวิชาการเสนอว่าถ้าปล่อยให้การพัฒนาเป็นไปตามความคิดของระบบทุนและระบบรัฐกลางอีกไม่กี่ปีก็จะซ้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงจัดทำข้อเสนอเป็นระบบคิดให้รัฐพิจารณาทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการกำหนดแผน ซึ่งข้อเสนอในลักษณะนี้คือข้อเสนอในทางจัดการอำนาจ ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ใครจะไปใช้อำนาจแบบ Top Down มันไม่ง่ายเหมือนเดิม
อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้คิด คือ กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะลงไปจังหวัดต่างๆ แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการ เขาจึงถามว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใครต้องการ เพราะคนที่ใช้ไฟมากคือคนกรุงเทพฯ ใช่หรือไม่ เขาจึงเสนอว่าถ้าแบบนั้นทำไมไม่สร้างที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นข้อเสนอแบบเถียงไม่ออก
“ตรงนี้คือการปะทะสังสรรค์ ถ้าไม่มีกระบวนการแบบนี้ โอกาสจะถูกตัดสินโดยข้างบนอยู่เสมอ ความขัดแย้งก็จะรุนแรงมากขึ้น เพราะคนข้างล่างเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ตอนนี้เขาไม่ยอมแล้ว เขามีความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะมีการเผา หรือระดมกันมาเดินขบวนรุนแรง ซึ่งมันไม่ควรจะเกิด”
นพ.อำพล กล่าวว่า กระบวนการผลักดันให้เกิดการปฏิรูป เมื่อภาคส่วนต่างๆ จัดทำข้อเสนอขึ้นแล้วการผลักดันไม่ใช่เสนอให้รัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่จะเสนอให้ภาครัฐ เสนอให้ภาคทุนที่จะเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำข้อเสนอมาถกแถลงด้วยข้อมูล และเชื่อว่าในที่สุดภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจก็จะต้องฟังภาคสังคมว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งจะพบสมดุลใหม่เกิดขึ้น
"การขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากแบบไม่เคยมีมาก่อน เข้าใจว่าความคิดข้างล่างเกิดขึ้นเร็ว อย่างการชุมนุมที่ผ่านมาก็เป็นการส่งสัญญาณที่แรงจากข้างล่างว่ามันอยู่ต่อไปไม่ได้ถ้าคุณทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรม "
คิดว่าผู้ใหญ่ทั้ง 2 คน คือ นายอานันท์และนพ.ประเวศ มองเห็นแล้วว่าบ้านเมืองไปไม่ได้ จึงเข้ามาก่อตัวตรงนี้ เท่าที่รับฟังทราบว่าทั้งนายอานันท์และนพ.ประเวศต้องทำอะไรให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องที่เร็ว ภายในระยะเวลา 4-6 เดือน ต้องมีอะไรที่เป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพื่อให้สังคมได้มีกำลังใจ
ที่ผ่านมาเราเลือกตั้งเข้ามาเป็นการเมือง พอเวลาผ่านไป กลุ่มทุน เข้าไปเป็นการเมือง ปัจจุบันมีทั้งทุนชุมชน เถ้าแก่ พ่อค้า คนที่อยู่ข้างบนในจังหวัด ลูกหลาน ครอบครัวเข้าไปเป็นการเมือง เมื่อเข้ามาตรงนี้ก็เป็นการเมืองที่เรียกว่าการเมืองกับทุนเป็นอันเดียวกัน ต่างจากในอดีตที่การเมืองอยู่กับทหาร ซึ่งเป็นเผด็จการอีกแบบของกลุ่มชนชั้นที่มีอำนาจ
แต่พอเวลาผ่านไปประชาธิปไตยบ้านเราเปลี่ยนเป็นกลุ่มทุนเข้ามาอยู่กับการเมือง ถ้าจะดูในเชิงอำนาจจะพบว่ามีอยู่ 3 วง คือ อำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจประชาชน และสังคมที่มีอำนาจประชาชนเล็กมาโดยตลอด ขณะที่อำนาจทุนใหญ่มากภายหลังโลกาภิวัตน์ เพราะประเทศเราขับเคลื่อนด้วยทุน แล้วทุนก็เอาความรู้ความแก่งไว้ตรงนี้เยอะมาก
เมื่อทุนไปเชื่อมกับรัฐ ทุกอย่างเมื่อเลือกตั้งเข้าไปการตัดสินใจก็อยู่ที่ทุนซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ขณะที่สังคมถูกบีบให้เล็กลงไปเรื่อยๆ คือได้แค่เลือกตั้งแล้วก็จบ แต่ที่เรามองคือ การขับเคลื่อนครั้งนี้คือการเพิ่มอำนาจให้สังคม แต่ไม่ได้ไปทำลายอำนาจใคร เรื่องนี้เราไม่ได้ไปบอกให้เปลี่ยนการเลือกตั้ง ให้เขาอยู่แบบนั้น แต่จะมีอำนาจสังคมขึ้นมาถ่วงดุล เวลาจะตัดสินอะไรมันไม่ง่ายแบบไปตัดสินกันเอง สังคมต้องมีปากมีเสียง และมีความรู้พอที่จะเท่าทัน ไม่เช่นนั้นถ้าพูดไปในเรื่องยากๆ ฝ่ายข้างบนฝ่ายรัฐก็พูดเรื่องยากๆ มาจนไม่รู้จะทำอย่างไร
ส่วนที่มองว่าในช่วงรอยต่อของรัฐบาลอาจทำให้การปฏิรูปสะดุด นพ.อำพล มองว่า เรื่องที่เขาทำไม่เกี่ยวกับรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะรัฐบาลเปลี่ยนไปอย่างไร รัฐบาลนี้อยู่หรือไป เราถือว่าฝ่ายค้านและรัฐบาล คือพวกที่มาจากตัวแทนโดยอำนาจ เขามีหน้าที่รับโจทย์ของสังคมทั้งสิ้น เพราะโจทย์นี้เป็นของสังคม คุณจะไม่เอาไปหรือไม่ ถ้าคุณไม่เอาไป สังคมก็จะกดดันคุณ เพราะเป็นประโยชน์ของเขา
นอกจากนั้น กระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปครั้งนี้ยังถูกออกแบบมาดี เพราะข้อเสนอที่จะเสนอไม่ใช่ข้อเสนอต่อรัฐบาล แต่เป็นการเสนอต่อสาธารณชนและภาครัฐ เมื่อมีการเลือกตั้งภาคประชาชนก็มีสิทธิเอาข้อเสนอไปถามพรรคการเมืองว่าเอาด้วยหรือไม่ โดยหลังจากจัดทำข้อเสนอต่างๆ เสร็จแล้ว กรรมการชุดของนายอานันท์จะจัดทำรายงานต่อสาธารณะ และภาครัฐ ซึ่งคำว่าภาครัฐจะมีความหมายกว้างมาก ทั้ง ส.ส.รัฐสภา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ ไม่ใช่กลับไปฝากไว้ที่รัฐบาล เพราะจะผิดหวังเหมือนในอดีต
“จะเปิดรับข้อเสนอเข้ามาเรื่อยๆ แล้วเปิดรับฟังความเห็น อันไหนที่ตกผลึกได้ อาจจะไม่ต้องรับฟังความเห็น อันไหนที่ตกผลึกได้ก็ทำพิมพ์เขียว จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร เช่นการจัดการที่ดินสาธารณะของชุมชน มองเข้าไปก็จะเห็นว่าติดขัดกฎหมายอะไร แม้ว่าที่ผ่านมาเรื่องนี้มีการแก้ไขมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จแต่เที่ยวนี้คิดว่าแก้ไขได้สำเร็จ ที่ผ่านมาแก้ไขไม่ได้ เพราะขาดพลังสังคม"
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น