วันศุกร์, กันยายน 30, 2554

วันอาทิตย์, กันยายน 25, 2554

"ปู" กับ เขา และเราสองคน นิติยุทธ์ ของกองทัพกับรัฐบาล เกมโผทหาร และ "You know me a little go" !!

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา



"ปู" กับ เขา และเราสองคน นิติยุทธ์ ของกองทัพกับรัฐบาล เกมโผทหาร และ "You know me a little go" !!

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 19:00:08 น.


กลิ่นไม่ค่อยดีแห่งความสัมพันธ์ของกองทัพกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ของ นายกฯ ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายเป็นเงาอำนาจอยู่เบื้องหลัง เริ่มโชยปะทะจมูกแรงขึ้นๆ ทุกวันๆ

โผโยกย้ายทหารครั้งนี้ เป็นดัชนีชี้วัดถึงบรรยากาศมาคุ ที่ตลบอบอวลเสียยิ่ง

ไม่มีใครคาดคิดว่า จู่ๆ นายกฯ หญิง ซึ่งขอคุมงานกลาโหมเองโดยตรง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ทางทหารมากนัก ก็เอาโผทหารไปใส่ลิ้นชักดองไว้กว่าสัปดาห์


แล้วจู่ๆ ก็มาบอกว่า ไม่ต้องการให้เปิดตำแหน่งประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหม อัตราจอมพลนี้โดยไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่โผโยกย้ายทหารเสร็จสิ้นถึงมือหมดแล้ว

แม้ บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม จะพยายามชี้แจงความจำเป็นที่ต้องขอเปิดอัตรานี้เพื่อแก้ปัญหาการโยกย้ายที่ไม่ลงตัวแล้ว แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ อ้างนโยบายที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ บิ๊กแอ๊ด พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็น รมว.กลาโหม เพื่อเอาไว้แก้ปัญหาการโยกย้ายนายพลระดับสูง

รวมทั้งแย้งว่า เป็นการขออนุมัติคณะรัฐมนตรีย้อนหลัง ทั้งๆ ที่ได้มีการประชุมตกลงใจกันในคณะกรรมการ 6 เสือกลาโหม ไปแล้ว แม้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ จะระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่กองทัพเคยปฏิบัติกันมา


แต่ดูเหมือน พล.อ.ยุทธศักดิ์ จะไม่อาจเอ่ยปากอะไรได้มากกว่านั้น เมื่อเจอประโยคเด็ดจากนายกฯ หญิง ที่นั่งหลังตรงเชิดคอที่งามระหงส์ ตัดบทว่า "ช่วยไปทำให้เรียบร้อยนะคะ"

รวมถึงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ต้องพูดอะไรมาก แค่อ้างเรื่องอาวุโส และผลประโยชน์ที่เกิดและจะเกิดแก่พรรค

แค่นี้ก็ทำให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่ปกติถูกตั้งฉายา "บิ๊กแหย" เพราะยอมทำตาม ผบ.เหล่าทัพมาตลอด ก็พยักหน้ารับอย่างเดียว ยอมสยบแน่นิ่งต่อสตรีหมายเลข 1 ที่อยู่เบื้องหน้า แม้ความรู้สึกในใจดวงเหี่ยวๆ ของทหารแก่ผู้นี้จะแสนเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใดก็ตาม

แต่นี่ก็คือสิ่งที่เขาทำใจ ก่อนที่จะตกลงใจรับตำแหน่ง รมว.กลาโหม แล้วมิใช่หรือ

จากที่เคยยืนกรานถึงขั้นจะให้กฤษฎีกาตีความว่า การตั้ง ปลัดกลาโหม เป็นอำนาจของ รมว.กลาโหม ที่สุด พล.อ.ยุทธศักดิ์ เสียงอ่อย บอก "ไม่ใช่" โดยหน้าที่แล้วปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่ท่านดูแลเรื่องกระทรวงเขาจะเป็นผู้เสนอชื่อปลัดกลาโหมคนใหม่"

ชื่อของ บิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ประธานที่ปรึกษา บก.กองทัพไทย จึงขึ้นมาเป็นเต็งหนึ่ง ในตำแหน่งปลัดกลาโหม แทนชื่อของ บิ๊กอู๊ด พล.อ.วิทวัส รัชตะนันทน์ รองปลัดกลาโหม น้องรักของ พล.อ.ยุทธศักดิ์

"แต่การจะเปลี่ยนแปลงรายชื่อโยกย้ายนายพลแม้แต่คนเดียว จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.กลาโหมปี 2551 อีกครั้ง" บิ๊กอ๊อด สำทับ



แต่เมื่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ขอให้ บิ๊กหมู พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกลาโหม ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการ เชิญ ผบ.เหล่าทัพร่วมประชุม เมื่อ 19 กันยายน แต่ก็ไม่ว่างกัน บิ๊กตุ้ย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. กำลังเดินสายอำลามิตรประเทศ และเหล่าทัพ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ก็ไปต่างประเทศ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ตรวจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัดต่อเนื่อง

จนทำให้ถูกจับตามองว่า จะมีการประชุม คณะกรรมการ 6 เสือกลาโหม นี้อีกครั้งหรือไม่ หลังจากที่มีการประชุมครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน ไปแล้ว

เพราะแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยคำรามแล้วว่า "ประชุมแล้วถือว่าจบ เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ใครเปลี่ยนถือว่าผิดกฎหมาย จบๆ"

เนื่องจากงานนี้ จุดยืนของ ผบ.เหล่าทัพ อาจไม่เป็นหนึ่งเดียวในการเลือกปลัดกลาโหม เมื่อ พล.อ.ทรงกิตติ และ พล.อ.กิตติพงษ์ หนุน พล.อ.เสถียร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ พล.ร.อ.กำธร และ พล.อ.อ.อิทธพร อาจมีใจให้ พล.อ.วิทวัส

"ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร. ก็ให้กำลังใจผม ผบ.ทอ. ด้วย ก็เพื่อน ตท.11 กับผม ใครว่า ผบ.เหล่าทัพ ไม่สนับสนุนผม" พล.อ.วิทวัส กล่าว

"ผมไม่เคยให้ร้ายเพื่อน เสถียร เขาเพื่อนผม เป็นประธานรุ่นด้วย ผมว่าเขาไม่ได้อยากเป็นหรอก เพราะเขาโตมาทางโน้น แต่ผมโตที่นี่มากว่า 20 ปี แต่มีคนอื่นที่หนุนอยากให้เสถียรเขาเป็น" พล.อ.วิทวัส เสริม พร้อมยันความเป็นเพื่อนยังคงอยู่ ด้วยเพราะชะตาชีวิตของเพื่อนรักทั้งสองคนนี้ อยู่ในมือนายกฯ ปู และ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ แล้ว

ถึงขั้นที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เปรยๆ ว่า "อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด" เลยทีเดียว

ทว่า ครั้งนี้ ไม่ใช่การประชุมเพื่อเลือกปลัดกลาโหมคนใหม่ ตามบัญชานายกฯ เท่านั้น แต่เพราะมีตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบจากการที่นายกฯ ไม่ให้เปิดตำแหน่งประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหมใหม่อีกด้วย ซึ่งกระทบกับ ทบ. เต็มๆ

ในเมื่อ บิ๊กอ๊อด พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ น้องเลิฟของพี่ๆ บูรพาพยัคฆ์ ต้องกลับเข้านั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหมตัวเดิม เพราะในเมื่อโผโยกย้ายยังไม่ได้มีผล ก็เท่ากับ พล.อ.คณิต ยังคงนั่งอยู่ ตำแหน่งนี้ยังไม่ปิด จนกว่า พล.อ.คณิต จะเกษียณในปี 2556 หรือย้ายไปลงตำแหน่งอื่น

จึงส่งผลให้เก้าอี้ รอง ผบ.สส. ว่าง จากเดิมที่เคยเป็นชื่อของ พล.อ.คณิต แถมทั้งเป็นเก้าอี้ในโควต้าของกองทัพบก ที่ ทบ. จะต้องส่งพลเอก คนใดคนหนึ่งมานั่งอัตราจอมพล 3 เหล่าทัพ เก้าอี้ รอง ผบ.สส. ตัวนี้ หรือว่าจะสละสิทธิ์ เช่นที่เคยสละสิทธิ์ให้ พล.อ.คณิต

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ สละสิทธิ์ ก็อาจทำให้การแก้ปัญหาง่ายลง ด้วยการให้ บิ๊กต่าย พล.อ.ภุชงค์ รัตนวรรณ ผบ.สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (ผบ.สปท.) เพื่อน ตท.10 ของทักษิณ ขึ้นมาเป็น รอง ผบ.สส. เลย

แต่ที่ ทบ. หวั่นคือ เกรงว่า เก้าอี้ รอง ผบ.สส. จะเป็นช่องว่างให้การเมืองเข้าแทรก เช่น การจะขยับห้าเสือ ทบ. ใหม่อีกครั้ง เพราะต้องส่งคนไปเป็น รอง ผบ.สส. ที่อาจจะเป็น บิ๊กเล็ก พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ผช.ผบ.ทบ ที่เดิมมีชื่อเป็นประธานที่ปรึกษา ทบ.

แล้วก็ต้องดัน พลเอก ขึ้นมาครองอัตราจอมพล ประธานที่ปรึกษา ทบ. นี้แทน ที่อาจทำให้ต้องขยับ บิ๊กยอด พล.ท.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ผบ.นปอ. เพื่อน ตท.12 ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. แทน

แต่ฝ่ายการเมือง ก็จะหนุน บิ๊กอ๋อย พล.ท.จิระเดช โมกขะสมิต รอง เสธ.ทบ. แกนนำ ตท.13 ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. แทน

แต่ที่ฮือฮาที่สุดคือ เป็นหลุมพรางของฝ่ายการเมือง ที่จะย้าย บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. เพื่อนรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ข้ามมาเป็น รอง ผบ.สส. จากเดิมที่ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทบ. เพื่อที่จะแยกมันสมองออกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยรู้กันดีว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ นั้นเป็น เสธ. คู่ใจที่คิดเรื่องต่างๆ ทุกเรื่อง

อีกทั้งเป็นการขานรับความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่ต่อต้านนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบม็อบเสื้อแดง โดยเฉพาะ พล.อ.ดาว์พงษ์ ซึ่งเป็นผู้วางแผนกระชับพื้นที่ ด้วยฝ่ายการเมืองหมายจะดัน บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. ซึ่งใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทบ. เพื่อหายใจรดต้นคอ พล.อ.ประยุทธ์ ให้หนาวๆ ร้อนๆ รอพร้อมขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แทนทันที หาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเด้งในโยกย้ายปลายปีหน้า หรือโดนคดี 91 ศพเสื้อแดง

ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และทักษิณ ต้องการจะใช้เก้าอี้ประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เป็นที่รองรับบิ๊กทหารบางคนในอนาคตด้วยก็เป็นได้

หลุมพรางของฝ่ายการเมือง ในการเขย่าโผอีกครั้ง ยังมีเป้าหมายที่จะให้ บิ๊กโอ๋ พล.ท.พฤณท์ สุวรรณทัต แกนนำ ตท.10 หรือ พล.ท.จิระเดช มานั่งเป็น เสธ.ทบ. แทน บิ๊กบี้ พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รอง เสธ.ทบ. เพราะต้องการให้คุม กอ.รมน. ด้วย เนื่องจาก เสธ.ทบ. เป็นเลขาธิการ กอ.รมน. อีกด้วย

เพราะความพยายามของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่มีทักษิณ อยู่เบื้องหลัง ที่จะเข้ามายึด กอ.รมน. ยังคงมีอยู่ ทั้งการเสนอให้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำการแทน ผอ.รมน. แต่ก็ถูก กอ.รมน. ตีกลับ เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคง ปี 2551 ที่คณะกรรมการอำนวยการ 23 คนนั้น มีแต่ข้าราชการประจำ ตัวแทนรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และ ผบ.เหลาทัพ เท่านั้น ไม่มีฝ่ายการเมือง

จนนายกรัฐมนตรีต้องขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ว่าได้เป็นแค่ที่ปรึกษา กอ.รมน. ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ในการสั่งการ จน พล.อ.พัลลภ แนะนำให้นายกฯ ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 8 ที่นายกฯ ในฐานะ ผอ.รมน. จะเสนอให้หัวหน้าส่วนราชการใด ทำการแทน ผอ.รมน. ได้ แต่ต้องตั้ง พล.อ.พัลลภ เป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เสียก่อน

ด้วยเพราะ พล.อ.พัลลภ นั้นเคยเป็น รอง ผอ.รมน. ทำงาน กอ.รมน. มาหลายปี รู้ตื้นลึกหนาบาง และกลไกต่างๆ เป็นอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ จึงต้องการให้มาดูแล กอ.รมน. จากที่ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ ตท.12 ยึด กอ.รมน. มาตลอด และใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกองทัพในการสกัดกั้นพรรคเพื่อไทยมาตลอด

"ไม่ต้องตีกันผม ไม่ต้องกลัวผม ผมทหารแก่ๆ คนหนึ่ง ผมใจดี ไม่คิดร้ายกับใคร เป็นทหารที่รู้จักและเข้าใจน้องๆ ดี ผมไม่ได้มาแก้แค้นล้างบางใคร ผมจะมาช่วยดูแลความมั่นคง" พล.อ.พัลลภ เปรย

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาตีกัน "ท่านจะตั้งใคร ใครจะมาใครจะไป ก็เชิญ แต่ กอ.รมน. ในยุคนี้ ใครจะมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ไปทำงานการเมือง ไม่ได้แล้ว หมดสมัย"

การต่อสู้ด้วยข้อกฎหมาย และการแย่งชิงอำนาจของกองทัพ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงส่อเค้าความขัดแย้งรุนแรง ในทุกหัวระแหง


ต้องยอมรับว่า คำบัญชาของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในการให้แก้ไขโผทหาร และกลเกมครั้งนี้ ทำให้กองทัพเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นไม่น้อย เพราะ ผบ.เหล่าทัพ ต่างได้กลิ่นไม่ดี ด้วยไม่มีใครเชื่อว่า ปฏิบัติการเขย่าโผทหารของนายกฯ หญิงคนนี้ ย่อมไม่ได้มาจากมันสมองของเธอเอง แต่มีทีมกุนซือที่วางแผนบางอย่างรออยู่

โดยเฉพาะการไม่เปิดอัตราประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ให้ แถมยังเป็นการแจ้งล่าช้า ทั้งๆ ที่นายกฯ ปู ได้รับบัญชีรายชื่อโยกย้ายทหาร ไปดองไว้กว่าสัปดาห์ จนเวลาล่วงเลยเข้ากลางเดือน และปลายกันยายน ในการจะแก้ไข

ท่ามกลางข่าวสะพัดว่า เกมของกุนซือทหารพรรคเพื่อไทย ต้องการลากยาวโผทหาร ให้ไปคลอดหลัง 1 ตุลาคม เพื่อหมายให้ ผบ.เหล่าทัพชุดเดิม เกษียณราชการ แล้วอาศัยช่องว่างกฎหมาย ในการจัดการโผทหารใหม่

เพราะใน ผบ.เหล่าทัพ จะเหลือ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. และ พล.อ.อ.อิทธพร ผบ.ทอ. เท่านั้น ส่วนทั้ง พล.อ.กิตติพงษ์ ปลัดกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ ผบ.สส. และ บิ๊กติ๊ด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. เกษียณไปตั้งแต่ 30 กันยายน

ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 ไม่ได้ระบุว่า สามารถให้รักษาการ ผบ.เหล่าทัพ เป็นตัวแทนในนามคณะกรรมการ 6 เสือกลาโหม ได้หรือไม่ อาจทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย แล้วอาจนำไปสู่การใช้อำนาจของ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการ หรือในที่สุดให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน

หาก พ.ต.ท.ทักษิณ และผองเพื่อนกุนซือฝ่ายทหาร เลือกที่จะเล่นเกมยื้อโผทหารแบบนี้ ก็ย่อมเสี่ยงต่อความขัดการแย้งกับกองทัพที่รุนแรง เพราะแค่นี้กองทัพก็หวั่นไหว ด้วยเกรงว่าจะมีการโยกย้ายแบบฟ้าผ่า ล้วงลูกล้วงโผ

ที่สำคัญคือ อาจนำไปสู่การแก้ปัญหา ด้วยการให้ตั้งส่วนหัว คือ ผบ.เหล่าทัพ เท่านั้นก่อน แล้วค่อยมาตั้งในระดับรองๆ ลงไป เหมือนเมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นปลัดกลาโหม ที่แอบทำโผส่วนหัว ย้าย ผบ.เหล่าทัพ ย้าย บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จาก ผบ.ทบ. ไปแขวนเป็น ผบ.สส. ไปก่อนมาแล้ว

ทั้งหมดนี้คือ ความหวาดหวั่นที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การดองโผ ยื้อโผทหาร ที่อาจจะจบลงด้วยดี หาก ผบ.เหล่าทัพ กับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตกลงกันได้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะยอมอ่อนข้อหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเขากางปีกป้องโผ ทบ. ด้วย พ.ร.บ.กลาโหม อย่างขึงขัง

ในขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็ถูกจับตามองอย่างหนักว่า จะเลือกใคร ระหว่าง ผบ.เหล่าทัพ กองทัพ หรือพรรคเพื่อไทย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และทักษิณ ในเมื่อเขาถูกเลือกมาเพื่อให้มา "แก้ไข" กองทัพ แต่กลับมายอมให้กองทัพทุกเรื่อง ยอมให้กองทัพขู่ และกำลังถูกกองทัพกลืนกลายเป็นพวก ด้วยเพราะความที่เลือดทหารย่อมข้นกว่าน้ำ ข้นกว่าการเป็นนักการเมือง


จนเกิดเรื่องกดดันให้เปลี่ยน รมว.กลาโหม ในโอกาสอันใกล้ โดยมีชื่อของ พล.อ.ทรงกิตติ ผบ.สส. ที่กำลังจะเกษียณ และ บิ๊กเกาะ พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ อดีต ผบ.ทบ. พี่เลิฟของ พล.ท.พฤณท์ และเครือญาติของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ รออยู่แล้ว

แต่สำหรับบิ๊กอ๊อด แล้ว เขารู้ดีว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ นี่เป็นการทำตามนโยบาย ไม่แก้แค้น แต่จะแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ช้า ตอนนี้ยอมไปก่อน ให้ขู่ ยอมให้มาพูดปรามาส ขู่เรื่องปกป้องสถาบัน เรื่องความจงรักภักดีมาตลอด ปล่อยให้คิดว่า แหย ให้คิดว่ายอมไปก่อน

"You know me a little go" แล้วที่สุดพวกน้องๆ ในกองทัพ จะได้รู้ว่า "น้องยังรู้จัก พี่อ๊อด คนนี้น้อยไป"...

................

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่23-29 ก.ย.2554
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316862133&grpid=&catid=01&subcatid=0100

รมว กลาโหม เผย ฮุนเซน ยอมแลกนักโทษกับ วีระ ราตรี



"ยุทธศักดิ์"เผย"ฮุน เซน" รับข้อเสนอแลกนักโทษไทย-กัมพูชา
วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 14:05:00 น.

วันที่24ก.ย. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังเดินทางกลับจากประเทศกัมพูชาว่า สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักโทษ โดยก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้หารือกับ สมเด็จฮุน เซน เมื่อวันที่21ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงความพยายามช่วยนักโทษไทยในกัมพูชาอีก 37 คน นอกเหนือจากนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ โดยขั้นตอนจากนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่า มีนักโทษกัมพูชาที่ถูกจำคุกในประเทศไทยจำนวนเท่าไหร่

วันเสาร์, กันยายน 24, 2554

"ฐิติมา" ทิ้งบทนางมาร สวมวิญญาณองครักษ์ "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ"


"ฐิติมา" ทิ้งบทนางมาร สวมวิญญาณองครักษ์ "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ"


เมื่อตระกูล "ฉายแสง" สอบตกยกตระกูลในรอบ 19 ปี มีชื่อ ฐิติมา ฉายแสง เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และชื่อวุฒิพงษ์ ฉายแสง ประจำการที่กระทรวงมหาดไทย

ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงมาพร้อมกับบทบาทและสคริปต์ ที่ส่งตรงมาจากพรรค เธอจึงอาจต้องรับทั้งบทองครักษ์พิทักษ์คนในตระกูล "ชินวัตร" และตอบโต้ประเด็นการเมืองของรัฐบาล

"ฐิติมา" ตอบทุกข้อสงสัย ไขข้อข้องใจกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ดังนี้

- คิดว่าตนเองเข้ามาเป็น "โฆษกรัฐบาล" ได้อย่างไร

ดิฉันเป็นคนอธิบายอะไรให้คนเข้าใจได้ง่าย พรรคก็เลยดึงมาทำงานตรงนี้ อีกอย่างคือเป็น ส.ส.สอบตก และเขาต้องการผู้หญิงให้ทำหน้าที่ตรงนี้พอดี ดิฉันก็เลยมีโอกาสได้ทำงาน

- สถานการณ์การเมืองดุเดือดมากขึ้น โฆษกรัฐบาลต้องเตรียมตัวอย่างไร

เรื่องการเมืองที่กำลังถาโถมเข้ามา ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของรัฐบาล ว่าเป็นอย่างไร วันนี้ไม่ใช่เรื่องของ เสื้อเหลืองเสื้อแดง เว้นแต่จะมีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมา เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ ผ่านมาอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามีก็คงมีการตอบโต้กันเป็นปกติ คงไม่ใช่แบบฮาร์ดคอร์ที่ตอบโต้รุนแรง และท่านนายกรัฐมนตรีก็คงไม่ตอบโต้มากมายเหมือนรัฐบาลสมัยท่านสมัคร (สุนทรเวช)

- สังคมยังติดภาพ "นางมารร้าย" ในสภาผู้แทนราษฎร

ต้องเข้าใจบทบาทของการเป็นโฆษกรัฐบาลเสียก่อน พออยู่ในสภาจำเป็นต้องเป็นแบบนั้น แต่เบื้องหลังความเป็นจริงก็เป็นคนธรรมดา เป็นตัวเอง จะอยู่ตำแหน่งไหนก็ต้องเล่นตามบทบาท

- นายกรัฐมนตรีหญิงกับโฆษกรัฐบาลหญิง ถูกวางตำแหน่งไว้ตั้งแต่ต้น

ถ้าดิฉันไม่สอบตกคงไม่ได้เป็น แต่พรรคก็นั่งหาโฆษกมานาน ซึ่งเขาอยากได้ผู้หญิง เมื่อเขาหาไม่ได้และก็มีคน เชียร์เยอะ ก็เลยเข้ามาทำหน้าที่เป็นความบังเอิญ ที่ดิฉันสอบตกและเป็นผู้หญิง ทำให้สะดวกในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีได้ตลอด

- ในทางการเมือง ภาพลักษณ์ของผู้หญิงจะทำให้สถานการณ์เบาบางลง

นายกรัฐมนตรีก็เพิ่งพูดกับดิฉันว่า ผู้หญิงไม่มีความรุนแรงนี่คือประโยชน์ที่จะเอามาใช้ในการสร้างความปรองดอง และผู้หญิงเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการจะเป็นประโยชน์ในการทำงานอย่างมาก

หากคู่ตรงข้ามโจมตีรัฐบาลก็เหมือนรังแกผู้หญิง เพราะเราเป็นผู้หญิง เขา กลัวผู้หญิงด่า ถ้าด่าผู้หญิงก็เหมือนรังแก

- โฆษกจำเป็นต้องมีที่ปรึกษา

ต้องมีที่ปรึกษา มีทีม ท่านนายกฯ เคยพูดว่า เราใหม่กันทั้ง ครม. อย่างพี่ปึ้ง (สุรพงษ์ รมว.ต่างประเทศ) ก็ไม่รู้จับพลัดจับผลูมาอย่างไรที่ได้รับตำแหน่ง

ส่วนตำแหน่งโฆษก เป็นจุดที่ต้องมีองค์ความรู้ครอบจักรวาล ดิฉันก็มีคนคอยให้ปรึกษา อย่างคุณนิวัฒน์ธํารง (บุญทรงไพศาล) เพราะท่านเชี่ยวชาญงานด้านประชาสัมพันธ์ รวมถึงรุ่นพี่ในบ้าน 111 อย่าลืมนะว่าอีก 1 ปีพวกเขาก็กลับมาแล้ว

- ประเด็นเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกโยงเข้ากับการทำงานของรัฐบาล

มันคงหนีไม่พ้นที่เขาจะหยิบยกมาโจมตี แต่ต้องคิดว่าบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวของท่านทักษิณ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่เห็นต้องไปกังวลเรื่องคุณทักษิณมากมาย เดี๋ยวจะกลายเป็นข้อกล่าวหาพี่ชายช่วยน้องสาว

- มีคำวิจารณ์ว่าคุณทักษิณเป็นคน สั่งการ โฆษกรัฐบาลจะแก้ต่างอย่างไร

(นิ่งคิด) คือไม่รู้เหมือนกันว่าจะสวนกลับอย่างไร แต่ท่านทักษิณก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ จะปฏิเสธว่าไม่ได้พูดจากันเลยคงจะไม่ใช่ แต่ถ้าเอาความรู้ความสามารถของท่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่ดีกว่าหรือ เป็นน้องคนเล็กของท่านทักษิณ แล้วมันทำไม ทำไมต้องออกมาแอนตี้กันขนาดนี้ หรือคำว่า "ทักษิณ" มันเป็นคำแสลงใจหลายคน

- โดนข้อกล่าวหาพี่ชายเดินเกมข้างนอก น้องสาวเดินเกมข้างในประเทศ

ก็การสร้างข่าวกันไป กำหนดการไปญี่ปุ่นของท่านทักษิณก็มีตั้งนานแล้ว ทำไมถึงเพิ่งมาพูดกัน ส่วนที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นออกมาพูดนั้น ดิฉันก็ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร

- "ฐิติมา-ยิ่งลักษณ์" เป็นน้องสาวเป็นผู้แบกภาระตระกูล "ชินวัตร-ฉายแสง" เหมือนกัน

เราเป็นองคาพยพกันมานาน ดิฉันเคยได้ทำงานร่วมกับท่านทักษิณ ส่วนคุณจาตุรนต์ เขาก็เป็นแกนหลักในพรรค ถึงขั้นเคยเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค

คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้รับมาจากพี่ชาย แถมมีความสามารถในด้านธุรกิจพ่วงเข้ามาอีก ซึ่งมุมการเมืองท่านที่ปรึกษาส่วนตัว คงจับทางได้ เอาตัวรอดได้

ท่านแบกมากกว่าดิฉัน ท่านแบกประเทศทั้งประเทศ ส่วนดิฉันถือว่าอยู่ในตำแหน่งนี้ก็ยิ่งใหญ่มาก เป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล เคยเป็น ส.ส.เหมือนกันรุ่นพี่ชายก็เป็น ตรงนี้ท่านก็เลยหวังว่า จะให้ดิฉันตอบโต้ทางการเมืองให้

- ต้องวางตัวอย่างไรในการพูดไม่ให้กระทบกับคนเสื้อแดง

คนเสื้อแดงก็เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงดิฉันไม่มีทางที่จะแสดงอาการรังเกียจคนเสื้อแดง เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่ไม่ใช่ชื่นชม

อย่าลืมว่าดิฉันไม่ใช่โฆษกเสื้อแดง ฉะนั้นทุกประเด็นต้องเกี่ยวกับงานรัฐบาล

"หม่อมอุ๋ย" ชำแหละ 3 นโยบายร้อน "ยิ่งลักษณ์" ค่าแรง 300-กองทุนน้ำมันฯ-จำนำข้าว


"หม่อมอุ๋ย" ชำแหละ 3 นโยบายร้อน "ยิ่งลักษณ์" ค่าแรง 300-กองทุนน้ำมันฯ-จำนำข้าว

แม้การแถลงนโยบายของรัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า การดำเนินนโยบายต่าง ๆ นั้นจะเดินหน้าไปอย่างไร และด้วยว่าส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายเรียกคะแนนเสียงของประชาชน ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบของการดำเนินนโยบายที่จะตามมาว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่

"ประชาชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (หม่อมอุ๋ย) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสะท้อนมุมมองในฐานะผู้ที่เคยกุมบังเหียนทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ต่อผลดีผลเสียและผลกระทบของการดำเนินนโยบายของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" โดยเฉพาะ 3 นโยบายร้อนอย่าง การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน-การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท รวมถึงนโยบายรับจำนำข้าว

ศก.ไทยพึ่งพา "สหรัฐ-ยุโรป" น้อย

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความท้าทายต่อปัญหาหนี้ของชาติยุโรปและสหรัฐ แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า โชคดีที่ส่งออกของไทยไปยุโรป-สหรัฐมีสัดส่วนไม่ถึง 30% ขณะที่ส่งออกไปเอเชียตะวันออกรวมญี่ปุ่น 60% ทำให้ปัจจุบันไทยพึ่งสหรัฐและยุโรปน้อยลง ผลกระทบจึงไม่มาก ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศ (domestic demand) ดีขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ราคาพืชผลในประเทศที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังเห็นว่า รัฐบาล (ยิ่งลักษณ์) เข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศไม่มีอะไรน่าห่วง ไม่มีปัญหาหนักที่ต้องรีบแก้ไข มีแต่เรื่องที่ต้องเดินไปข้างหน้า ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปอย่างไร ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ออกมานั้นสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ นโยบายหาเสียงที่สร้างความพอใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ และนโยบายที่มุ่งให้เกิดผลดีกับประเทศในระยะยาวอย่าง โครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะฝั่งอันดามันก็ยังไม่มีท่าเรือน้ำลึก ขณะที่สินค้าไทยที่ส่งไปยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอินเดีย เยอะขึ้นเรื่อย ๆ และหากไทยมีท่าเรือน้ำลึก ตรงนี้จะเป็นที่พึ่งของหลายประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลที่ช่วยให้ระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคดีขึ้น ประหยัดเวลาไปเป็น 10 วัน ต้นทุนถูกลง อีกโครงการก็คือ แลนด์บริจด์ คู่กับท่าเรือน้ำลึก จะช่วยสร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางด้านเทรดดิ้งเหมือนสิงคโปร์ ทำให้มีโอกาสของธุรกิจต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย

ค่าแรง 300 ระวังเศรษฐกิจ ตจว.พัง

ในส่วนนโยบายหาเสียงนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุว่า ปัจจุบันนโยบายหาเสียงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในการเลือกตั้งไปแล้ว เพียงแต่ใครที่สามารถทำนโยบายหาเสียงให้เป็นนโยบายที่ยั่งยืนได้ก็เป็นเรื่องที่ดี สำหรับนโยบายหาเสียงของรัฐบาลที่ถือว่ามีผลกระทบต่อภาพรวม และได้รับความสนใจมากนโยบายแรกก็คือ นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยให้การกระจายรายได้ดีขึ้น แต่จุดสำคัญอยู่ที่ "จังหวะ" ของการปรับขึ้น สำหรับรายใหญ่รับได้อยู่แล้ว แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศที่มีกว่า 2 ล้านราย ซึ่งถือว่าเป็นฐานรากสำคัญของธุรกิจในต่างจังหวัดจะมีปัญหาแน่นอน เพราะตอนนี้ในกรุงเทพฯส่วนใหญ่จ่ายแพงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่ต่างจังหวัดยังจ่าย 160-180 บาท

ถามว่าธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมในต่างจังหวัดมีความสำคัญแค่ไหน กลุ่มนี้เปรียบเหมือมเข็มต้นเล็ก ๆ ที่ปูรองรับฐานบ้าน เข็มเล็กเหล่านี้ถ้าเราทำอะไรเร็วไป ขึ้นค่าแรงทีเดียวพวกนี้ก็จะอ่อนแอ และทำให้เศรษฐกิจต่างจังหวัดจะทรุดโทรม แล้วคนที่จะได้เปรียบคือรายใหญ่ที่จะเอาเข็มใหญ่ไปลง

อันนี้คือเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง (wealth) ของประเทศ ผมเห็นด้วยที่ต้องขึ้นค่าแรง แต่จังหวะการขึ้นต้องไม่เป็นการไปทำลายรายเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดที่เป็นฐานของบ้าน แล้วไปปูทางให้รายใหญ่เข้าไปกินตลาด เรื่องเศรษฐกิจจะคิดแค่บวกลบคูณหารชั้นเดียวไม่ได้ แต่มันต้องคิดชั้น 2 ว่าใครชนะใครแพ้ ชั้น 3 ใครฮุบใคร ถ้าคิดครบแล้วจะช่วยให้ออกนโยบายที่ดี

"ผมไม่ได้บอกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำคัญกว่าประชาชน แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเราต้องให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ ค่าแรงค่อย ๆ ดันขึ้นและผู้ประกอบการอยู่ด้วย ถ้าไม่ทำแบบนี้เราจะเสียใจทีหลังว่าช่วยให้ยักษ์ใหญ่ฮุบหมด สังเกตว่าตอนนโยบายออกมายักษ์ใหญ่ออกมาขานรับหมดเลย แต่รายเล็ก ๆ จะตายอยู่แล้ว ต้องระวังอย่าปูทางให้ยักษ์ใหญ่เข้าฮุบ แต่ผมเชื่อว่ารัฐบาลคิดได้ และเข้าใจว่ารัฐบาลจะทำเป็นขั้นเป็นตอน"

และถ้าไม่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลกระทบที่จะสะท้อนออกมา 2 ภาพคือ หนึ่ง ลดคน สอง ผลักราคาให้ผู้บริโภค สำหรับสินค้าและบริการที่ผลักราคาได้ก็ขึ้นราคาทันที ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่รายได้แท้จริง (real income)

งดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ "ไม่ทำ-ไม่มีปัญหา"

ส่วนนโยบายที่เริ่มแล้วอย่าง นโยบายลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ปัญหาคือ

รัฐบาลทำไม่ครบเครื่อง ทำให้บิดเบือนตลาด และถ้าไม่ทำอะไรก็ครบเครื่องอยู่แล้ว เพราะนโยบายเดิมส่วนต่างของราคาน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ และดีเซลกับไบโอดีเซลกว้างพอที่จะดึงให้คนไปใช้พลังงานทางเลือก มีผลต่อการประหยัดพลังงาน การนำเข้าน้ำมันดิบลดลง ทั้งยังทำให้ราคามันสำปะหลัง ปาล์ม ที่เอามาทำเอทานอล ทำไบโอดีเซลมีราคาดีขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ส่งผลถึงการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และชัดเจนว่าพืชสองชนิดนี้ทำให้ชาวไร่ชาวนามีรายได้มากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

แต่พอหยุดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯทำให้โครงสร้างตลาดบิดเบือน เพราะแทบไม่มีส่วนต่างระหว่างเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ คนกลับไปใช้เบนซิน 91 กลับไปใช้ดีเซล ตรงนี้มันไปทำลายโครงสร้างหรือแนวทางการส่งเสริมพลังงานทางเลือก ราคามันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันก็จะลง กระเทือนทุกหย่อมหญ้าไปไกลกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเชื่อว่า สักพักรัฐบาลจะต้องทำให้ครบเครื่องคือ ทำให้ช่องว่างราคาห่างขึ้น อย่างที่มีการเสนอเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อดึงราคาเบนซินขึ้นไป หรือลดราคาแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซลลง แต่ส่วนนี้เหนื่อยเพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปลด เพราะภาษีที่เก็บยังปิดหีบไม่ลง เงินกองทุนน้ำมันฯก็ไม่มีแล้ว จะติดลบอยู่แล้ว สรรพสามิตจะต้องไปเก็บภาษีบาป (sin tax) อื่น ๆ มาชดเชย แต่มันก็เยอะจนหามาโปะไม่ง่าย

เชื่อว่าที่สุดนโยบายนี้จะอยู่ได้ไม่นาน สัก 3 เดือนรัฐบาลก็จะต้องแก้ เพราะผลกระทบที่ตามมาจะรับไม่ไหว เพราะเมื่อการใช้พลังงานทางเลือกลดลงการนำเข้าน้ำมันดิบก็จะเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีผลต่อดุลการค้า สถานการณ์จะบีบให้ต้องแก้ รัฐบาลที่ดีต้องกล้าเผชิญปัญหา แก้นโยบายก็ไม่เป็นไร เสียหน้านิดหน่อย



ค้าน "จำนำข้าว" ผลกระทบเกินรับไหว


สำหรับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้แน่นอน เพราะมีวิธีอื่นที่ทำแล้วทำให้ชาวนาได้ราคาสูงกว่าตลาดพอควรโดยไม่เปิดช่องว่างของความไม่ชอบมาพากล และไม่ทำให้รัฐบาลต้องขาดทุนมากขนาดนี้ เพราะขณะที่ตลาดราคา 1 หมื่นบาท รัฐบาลออกมารับจำนำ 1.5 หมื่นบาท เชื่อว่าชาวนาต้องแห่เข้าโครงการจำนำทั้งหมดแน่นอน

ปีหนึ่งผลผลิต 30 ล้านตัน ถ้ารัฐบาลรับเข้ามาบริหาร อย่างเก่งก็ขาดทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และต้องทำต่อเนื่อง 4-5 ปีประเทศก็ยืนไม่อยู่แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก

ปัญหาคือว่า รัฐบาลทำไปด้วยความรู้หรือความไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ควรศึกษาให้ลึกซึ้งกว่านี้ แต่ถ้ารู้แล้วทำก็ยิ่งน่ากลัว เพราะเวลาข้าวอยู่ในมือรัฐบาลทั้ง 30 ล้านตัน พ่อค้าก็จะบอกว่าอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวจัดการให้ เวลารัฐบาลเอาออกมาขายก็จะกดราคาลงได้อีก แล้วผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับใคร มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่าที่คิด ซึ่งตอนนี้นโยบายยังไม่เริ่ม ดร.วีรพงษ์ (รามางกูร) ก็ทักแล้ว ก็คิดว่ารัฐบาลจะไม่บุ่มบ่ามและมูมมาม

วันจันทร์, กันยายน 19, 2554

จุดเทียนระลึกเสธ.แดง13กันยายน2554



ภาพบรรยากาศการจุดเทียนระลึกเสธ.แดง
ณ สวนลุม 13กันยายน2554
วีรบุรุษนักสู้ประชาธิปไตยของชาติไทย
ที่อยู่ในใจทุกคน

บันทึกโดย
อ.ken

สนับสนุนสิ่งดีๆโดย
ปาฏิหาริย์ ดอทคอม
http://www.patiharn.com