วันเสาร์, กันยายน 24, 2554

"หม่อมอุ๋ย" ชำแหละ 3 นโยบายร้อน "ยิ่งลักษณ์" ค่าแรง 300-กองทุนน้ำมันฯ-จำนำข้าว


"หม่อมอุ๋ย" ชำแหละ 3 นโยบายร้อน "ยิ่งลักษณ์" ค่าแรง 300-กองทุนน้ำมันฯ-จำนำข้าว

แม้การแถลงนโยบายของรัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า การดำเนินนโยบายต่าง ๆ นั้นจะเดินหน้าไปอย่างไร และด้วยว่าส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายเรียกคะแนนเสียงของประชาชน ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบของการดำเนินนโยบายที่จะตามมาว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่

"ประชาชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (หม่อมอุ๋ย) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสะท้อนมุมมองในฐานะผู้ที่เคยกุมบังเหียนทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ต่อผลดีผลเสียและผลกระทบของการดำเนินนโยบายของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" โดยเฉพาะ 3 นโยบายร้อนอย่าง การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน-การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท รวมถึงนโยบายรับจำนำข้าว

ศก.ไทยพึ่งพา "สหรัฐ-ยุโรป" น้อย

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความท้าทายต่อปัญหาหนี้ของชาติยุโรปและสหรัฐ แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า โชคดีที่ส่งออกของไทยไปยุโรป-สหรัฐมีสัดส่วนไม่ถึง 30% ขณะที่ส่งออกไปเอเชียตะวันออกรวมญี่ปุ่น 60% ทำให้ปัจจุบันไทยพึ่งสหรัฐและยุโรปน้อยลง ผลกระทบจึงไม่มาก ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศ (domestic demand) ดีขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ราคาพืชผลในประเทศที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังเห็นว่า รัฐบาล (ยิ่งลักษณ์) เข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศไม่มีอะไรน่าห่วง ไม่มีปัญหาหนักที่ต้องรีบแก้ไข มีแต่เรื่องที่ต้องเดินไปข้างหน้า ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปอย่างไร ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ออกมานั้นสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ นโยบายหาเสียงที่สร้างความพอใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ และนโยบายที่มุ่งให้เกิดผลดีกับประเทศในระยะยาวอย่าง โครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะฝั่งอันดามันก็ยังไม่มีท่าเรือน้ำลึก ขณะที่สินค้าไทยที่ส่งไปยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอินเดีย เยอะขึ้นเรื่อย ๆ และหากไทยมีท่าเรือน้ำลึก ตรงนี้จะเป็นที่พึ่งของหลายประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลที่ช่วยให้ระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคดีขึ้น ประหยัดเวลาไปเป็น 10 วัน ต้นทุนถูกลง อีกโครงการก็คือ แลนด์บริจด์ คู่กับท่าเรือน้ำลึก จะช่วยสร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางด้านเทรดดิ้งเหมือนสิงคโปร์ ทำให้มีโอกาสของธุรกิจต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย

ค่าแรง 300 ระวังเศรษฐกิจ ตจว.พัง

ในส่วนนโยบายหาเสียงนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุว่า ปัจจุบันนโยบายหาเสียงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยในการเลือกตั้งไปแล้ว เพียงแต่ใครที่สามารถทำนโยบายหาเสียงให้เป็นนโยบายที่ยั่งยืนได้ก็เป็นเรื่องที่ดี สำหรับนโยบายหาเสียงของรัฐบาลที่ถือว่ามีผลกระทบต่อภาพรวม และได้รับความสนใจมากนโยบายแรกก็คือ นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยให้การกระจายรายได้ดีขึ้น แต่จุดสำคัญอยู่ที่ "จังหวะ" ของการปรับขึ้น สำหรับรายใหญ่รับได้อยู่แล้ว แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศที่มีกว่า 2 ล้านราย ซึ่งถือว่าเป็นฐานรากสำคัญของธุรกิจในต่างจังหวัดจะมีปัญหาแน่นอน เพราะตอนนี้ในกรุงเทพฯส่วนใหญ่จ่ายแพงกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่ต่างจังหวัดยังจ่าย 160-180 บาท

ถามว่าธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมในต่างจังหวัดมีความสำคัญแค่ไหน กลุ่มนี้เปรียบเหมือมเข็มต้นเล็ก ๆ ที่ปูรองรับฐานบ้าน เข็มเล็กเหล่านี้ถ้าเราทำอะไรเร็วไป ขึ้นค่าแรงทีเดียวพวกนี้ก็จะอ่อนแอ และทำให้เศรษฐกิจต่างจังหวัดจะทรุดโทรม แล้วคนที่จะได้เปรียบคือรายใหญ่ที่จะเอาเข็มใหญ่ไปลง

อันนี้คือเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง (wealth) ของประเทศ ผมเห็นด้วยที่ต้องขึ้นค่าแรง แต่จังหวะการขึ้นต้องไม่เป็นการไปทำลายรายเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดที่เป็นฐานของบ้าน แล้วไปปูทางให้รายใหญ่เข้าไปกินตลาด เรื่องเศรษฐกิจจะคิดแค่บวกลบคูณหารชั้นเดียวไม่ได้ แต่มันต้องคิดชั้น 2 ว่าใครชนะใครแพ้ ชั้น 3 ใครฮุบใคร ถ้าคิดครบแล้วจะช่วยให้ออกนโยบายที่ดี

"ผมไม่ได้บอกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำคัญกว่าประชาชน แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเราต้องให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ ค่าแรงค่อย ๆ ดันขึ้นและผู้ประกอบการอยู่ด้วย ถ้าไม่ทำแบบนี้เราจะเสียใจทีหลังว่าช่วยให้ยักษ์ใหญ่ฮุบหมด สังเกตว่าตอนนโยบายออกมายักษ์ใหญ่ออกมาขานรับหมดเลย แต่รายเล็ก ๆ จะตายอยู่แล้ว ต้องระวังอย่าปูทางให้ยักษ์ใหญ่เข้าฮุบ แต่ผมเชื่อว่ารัฐบาลคิดได้ และเข้าใจว่ารัฐบาลจะทำเป็นขั้นเป็นตอน"

และถ้าไม่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลกระทบที่จะสะท้อนออกมา 2 ภาพคือ หนึ่ง ลดคน สอง ผลักราคาให้ผู้บริโภค สำหรับสินค้าและบริการที่ผลักราคาได้ก็ขึ้นราคาทันที ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่รายได้แท้จริง (real income)

งดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ "ไม่ทำ-ไม่มีปัญหา"

ส่วนนโยบายที่เริ่มแล้วอย่าง นโยบายลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ปัญหาคือ

รัฐบาลทำไม่ครบเครื่อง ทำให้บิดเบือนตลาด และถ้าไม่ทำอะไรก็ครบเครื่องอยู่แล้ว เพราะนโยบายเดิมส่วนต่างของราคาน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ และดีเซลกับไบโอดีเซลกว้างพอที่จะดึงให้คนไปใช้พลังงานทางเลือก มีผลต่อการประหยัดพลังงาน การนำเข้าน้ำมันดิบลดลง ทั้งยังทำให้ราคามันสำปะหลัง ปาล์ม ที่เอามาทำเอทานอล ทำไบโอดีเซลมีราคาดีขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ส่งผลถึงการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และชัดเจนว่าพืชสองชนิดนี้ทำให้ชาวไร่ชาวนามีรายได้มากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

แต่พอหยุดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯทำให้โครงสร้างตลาดบิดเบือน เพราะแทบไม่มีส่วนต่างระหว่างเบนซินกับแก๊สโซฮอล์ คนกลับไปใช้เบนซิน 91 กลับไปใช้ดีเซล ตรงนี้มันไปทำลายโครงสร้างหรือแนวทางการส่งเสริมพลังงานทางเลือก ราคามันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันก็จะลง กระเทือนทุกหย่อมหญ้าไปไกลกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเชื่อว่า สักพักรัฐบาลจะต้องทำให้ครบเครื่องคือ ทำให้ช่องว่างราคาห่างขึ้น อย่างที่มีการเสนอเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อดึงราคาเบนซินขึ้นไป หรือลดราคาแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซลลง แต่ส่วนนี้เหนื่อยเพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปลด เพราะภาษีที่เก็บยังปิดหีบไม่ลง เงินกองทุนน้ำมันฯก็ไม่มีแล้ว จะติดลบอยู่แล้ว สรรพสามิตจะต้องไปเก็บภาษีบาป (sin tax) อื่น ๆ มาชดเชย แต่มันก็เยอะจนหามาโปะไม่ง่าย

เชื่อว่าที่สุดนโยบายนี้จะอยู่ได้ไม่นาน สัก 3 เดือนรัฐบาลก็จะต้องแก้ เพราะผลกระทบที่ตามมาจะรับไม่ไหว เพราะเมื่อการใช้พลังงานทางเลือกลดลงการนำเข้าน้ำมันดิบก็จะเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีผลต่อดุลการค้า สถานการณ์จะบีบให้ต้องแก้ รัฐบาลที่ดีต้องกล้าเผชิญปัญหา แก้นโยบายก็ไม่เป็นไร เสียหน้านิดหน่อย



ค้าน "จำนำข้าว" ผลกระทบเกินรับไหว


สำหรับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้แน่นอน เพราะมีวิธีอื่นที่ทำแล้วทำให้ชาวนาได้ราคาสูงกว่าตลาดพอควรโดยไม่เปิดช่องว่างของความไม่ชอบมาพากล และไม่ทำให้รัฐบาลต้องขาดทุนมากขนาดนี้ เพราะขณะที่ตลาดราคา 1 หมื่นบาท รัฐบาลออกมารับจำนำ 1.5 หมื่นบาท เชื่อว่าชาวนาต้องแห่เข้าโครงการจำนำทั้งหมดแน่นอน

ปีหนึ่งผลผลิต 30 ล้านตัน ถ้ารัฐบาลรับเข้ามาบริหาร อย่างเก่งก็ขาดทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และต้องทำต่อเนื่อง 4-5 ปีประเทศก็ยืนไม่อยู่แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก

ปัญหาคือว่า รัฐบาลทำไปด้วยความรู้หรือความไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ควรศึกษาให้ลึกซึ้งกว่านี้ แต่ถ้ารู้แล้วทำก็ยิ่งน่ากลัว เพราะเวลาข้าวอยู่ในมือรัฐบาลทั้ง 30 ล้านตัน พ่อค้าก็จะบอกว่าอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวจัดการให้ เวลารัฐบาลเอาออกมาขายก็จะกดราคาลงได้อีก แล้วผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับใคร มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่าที่คิด ซึ่งตอนนี้นโยบายยังไม่เริ่ม ดร.วีรพงษ์ (รามางกูร) ก็ทักแล้ว ก็คิดว่ารัฐบาลจะไม่บุ่มบ่ามและมูมมาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น