วันพุธ, เมษายน 06, 2554

กองทัพตบเท้าไม่ปฏิวัติพิสูจน์สัจจะชายชาติทหาร



เป็นปรากฏการณ์ที่ออกมาไม่บ่อยนักกับภาพของ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พร้อมด้วยผู้นำ 4 เหล่าทัพทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ออกมาตบเท้าแถลงข่าวพร้อมกันเมื่อวันที่ 5 เม.ย. เพื่อยืนยันต่อสาธารณชนว่ากองทัพจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารอย่างเด็ดขาดในสถานการณ์ทางการเมือง ณ เวลานี้


หมุนเวลากลับไปเมื่อปี 2551 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในเวลานั้น ได้เคยนำผู้บัญชาการเหล่าทัพออกรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งมาแล้วว่า ทหารจะไม่เป่าแตรขนอาวุธออกมายึดอำนาจรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเวลานั้นอย่างแน่นอน แม้ว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กำลังก่อการยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองก็ตาม

ยังไม่รวมถึงการออกมาให้สัมภาษณ์ประปรายของบรรดาผู้นำเหล่าทัพต่างกรรมต่างวาระ เพื่อยืนยันในแบบชายชาติทหารว่าหัวเด็ดตีนขาดอย่างไรทหารก็จะไม่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน โดยจะปล่อยให้ปัญหาการเมืองแก้ด้วยการเมืองเอง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้กองทัพต้องมาชี้แจงต่อสังคม เป็นเพราะในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ได้ปรากฏข่าวความเคลื่อนไหวของอำนาจนอกระบบ ที่จะเตรียมเข้ามาแทรกแซงการเมือง โดยเฉพาะท่าทีของ สดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการยืนยันข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติว่ามีอยู่จริง

“จากการพูดคุยกับคนอื่นรวมทั้งทหาร ก็มีการพูดถึงว่าทหารมีตัวแล้วว่าจะเป็นใคร ก็มีความรู้สึกว่าขนาดนี้เชียวหรอ ไม่อยากพูดว่าใครที่เราได้ไปคุยด้วย จะมีรัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเชียวเหรอ ข่าวที่ได้ยินมาถึงขนาดมีการวางตัวกันไว้แล้วว่าใครจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”

สำทับด้วยการเคลื่อนไหวของของกลุ่ม พธม. ระยะหลังๆ มานี้ได้แสดงความชัดเจนมาตลอดว่า ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร หรือเรียกง่ายๆ ว่า ออกบัตรเชิญทหารปฏิวัติ

จากกระแสดังกล่าวเริ่มมีการวิเคราะห์ไปต่างๆ นานา ว่าการปฏิวัติจะออกมาในรูปแบบใด โดยมีความเป็นไปได้ที่สุด 2 แบบ ได้แก่ ปฏิวัติเงียบและปฏิวัติแบบดัง

ปฏิวัติเงียบ คือ การให้อำนาจนอกระบบเข้ามากดดัน กกต.ให้ลาออกจากตำแหน่งหลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เพื่อไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้ามาจัดการการเลือกตั้ง

ส่วนการปฏิวัติแบบดัง เป็นการเล่นกันซึ่งๆ หน้าเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง โดยกระทำแบบไม่ให้ฝ่ายการเมืองตั้งตัวได้ทัน เพื่อให้บรรลุประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็วและลดการสูญเสียให้น้อยที่สุดเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

ทั้งสองแนวทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น มีการวิเคราะห์ไปสารพัดว่า การปฏิวัติจะเกิดขึ้นหากมีกเค้าลางพรรคเพื่อไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้เป็นรัฐบาล เพื่อปิดทางไม่ให้เครือข่ายทักษิณเข้ามามีอำนาจทางการเมืองสำหรับทำการเช็กบิลผู้นำเหล่าทัพในฐานะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกลดทอนลงไปก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ด้วยประวัติศาสตร์ทางการเมืองของกองทัพเอง ทำให้เป็นวาทกรรมที่ยังต้องย้ำความทรงจำของสังคมว่า ไม่มีสัจจะในหมู่ทหาร พูดอย่างทำอย่าง บอกไม่ปฏิวัติแต่ก็ปฏิวัติ หรือครั้งหนึ่งเคยบอกไม่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็กลืนน้ำลายตัวเอง

ครั้งหนึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. เคยพูดเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2549 ว่า “ยืนยันว่าการปฏิวัติไม่น่าจะมี เราต้องหนักแน่น อย่าไปเชื่อกระแสพวกนี้ แล้วทำให้ความสามัคคีของเราลดลง ขอให้เชื่อมั่นว่าเราตั้งใจที่จะทำให้ประเทศชาติมีความสงบ มีความเรียบร้อย”

แต่ถัดมาอีก 6 วัน บิ๊กบังกลายเป็นผู้นำการปฏิวัติเสียเอง ด้วยการแบบนามธรรมว่าเป็นความต้องการของประชาชน

นอกจากนี้ สมัย รสช. ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. ขณะนั้น ประกาศจะไม่รับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่คล้อยหลังไม่นานก็เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหน้าตาเฉย โดยให้เหตุผลว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

จึงไม่แปลกหากจะมีบางฝ่ายไม่เชื่อคำพูดของทหารอีก แม้ว่ากองทัพในสมัยของ พล.อ.อนุพงษ์ เคยจะพิสูจน์ถึงความอดทนของทหารมาแล้วในช่วงปี 25512552 มาแล้วว่า ถึงต่อให้การเมืองวุ่นวายอย่างทหารจะไม่เข้าไปแทรกแซงแน่นอนก็ตาม

ขณะเดียวกันเมื่อมองสถานการณ์ ณ เวลานี้แล้ว ในใจของผู้นำเหล่าทัพประเมินแล้วว่า ยากต่อการปฏิวัติ เพราะอารมณ์ของสังคมได้เข้าสู่การเลือกตั้งเรียบร้อย ฝืนทำรัฐประหารคำว่า “จำเลยสังคม” คงตกหล่นใส่ทหารอย่างเต็มๆ แน่นอน ในฐานะทื่ทำให้ประเทศต้องถอยหลังลงคลอง พร้อมกับการไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

แบบนี้รัฐบาลที่มาจากปากกระบอกปืนถึงจะอยู่ในอำนาจได้ แต่ก็ลำบากในการปกครองประเทศ แล้วจะมีประโยชน์อะไรหากมีอำนาจในเวลานี้ จึงเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย

จากเหตุผลทั้งหมดนื้ ทำให้ทหารต้องออกมาตบเท้าแสดงสัจจะต่อประชาชนว่า อย่างไรเสียทหารจะไม่เข้าไปแทรกแซงการเมืองแน่นอน และหากเป็นไปตามนี้ ทหารคงจะได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น

ถึงกระนั้น ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ไม่ได้เป็นหลักประกันได้ว่าทหารไทยจะไม่กลืนน้ำลายตัวเองอีกหลังจากประวัติศาสตร์ได้ฟ้องเอาไว้

ที่สุดแล้วคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คำว่า ไม่มีสัจจะในหมู่โจร หรือจะเติมคำว่า ไม่มีสัจจะในหมู่ทหาร เข้าด้วย อีกไม่นานจะได้รู้กัน


ที่มา: โพสต์ทูเดย์วิเคราะห์ โดย...ทีมข่าวการเมือง
07 เมษายน 2554 เวลา 09:40 น.

------------------------------------------------------

ตบเท้าปฏิเสธก็เท่ากับ ปรบมือเรียกข่าวลือเพิ่ม

มืองไทยกลายเป็น “โจ๊ก” การเมืองไปได้จริงๆ...และรักษาตำแหน่ง “ด้อยพัฒนา” ทางด้านวิธีคิดและวิถีปฏิบัติทางการเมือง การทหาร ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ก็เรื่องแม่ทัพนายกองเรียกประชุมเป็นการเร่งด่วน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาอย่างขึงขัง เพื่อประกาศให้ประชาชนคนไทยและทั้งโลกให้ได้รู้ว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพ (รวมถึงตำรวจ) มีมติเป็นเอกฉันท์แล้วว่าจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร

เป็นการ “ตบเท้า” เพื่อลั่นว่าจะไม่ปฏิวัติ พร้อมประกาศสำทับว่าใครเคลื่อนกำลังถือว่าเป็น “กบฏ”

ไม่มีใครไม่รู้ว่าการทำปฏิวัติไม่สำเร็จ คือ การก่อกบฏและมีโทษถึงประหารชีวิต

จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่นายทหารระดับสูงสุดของประเทศจะต้องออกมาย้ำกับประชาชน ว่า กฎหมายเขียนเอาไว้อย่างไร

อีกทั้งไม่มีความจำเป็นจะต้องแตกตื่นไปกับคำให้สัมภาษณ์ของใครต่อใคร ว่า ใครกำลังคิดจะก่อการปฏิวัติ เพราะว่าหัวข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาของคนไทยมาแล้วหลายสิบปี

เป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่บอกว่าไม่ควรจะเกิด ต้องไม่เกิด และต้องพยายามจะทำให้ไม่เกิด...แต่มันก็เกิดอีกครั้งแล้วครั้งเล่า จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมหัวข้อนี้จึงเป็นยี่ห้อแห่งความล้าสมัยของประเทศไทยมาตลอด


กลายเป็น “ความหมกมุ่นประจำชาติ” ที่รังแต่จะทำให้ประเทศไทยไปไม่ถึงไหน ในการสร้างระบอบการปกครอง ที่จะสะท้อนถึงความก้าวหน้าของบ้านเมือง

ยิ่งผู้นำทหารเรียกประชุมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ด้วยเป้าประสงค์เพื่อที่จะปฏิเสธข่าวลือ ก็ยิ่งตอกย้ำว่าประเทศไทยไม่สามารถที่จะเอาตัวเองหลุดพ้นไปจากวงจรเน่าๆ อย่างนี้ไปได้

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกทรงกิตติ จักกาบาตร์ ประกาศหลังการประชุมวันนั้น ว่า นี่คือ “ฉันทามติ” ของนายทหาร

“หยุดเอากองทัพมาอ้าง และหยุดผลักกองทัพออกจากประชาชน...กองทัพจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยเด็ดขาด และไม่ก้าวก่ายกิจการทางการเมืองในอนาคต...เชื่อเถอะว่า เรารักประเทศชาติ เรายึดมั่นครรลองของประชาธิปไตย...”

จะมีใครว่าทหารจะไม่ปฏิวัติมากน้อยเพียงใดไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ยิ่งนายทหารระดับสูงออกมายืนยันอย่างนั้น ก็ยิ่งทำให้ผู้คนมีความสงสัยมากขึ้นว่า “มีอะไรในกอไผ่” หรือไม่ แค่ไหน?

ผู้นำกองทัพที่มั่นใจว่าอย่างน้อย ตนเองและทีมงานจะไม่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของกลุ่มใดก็จะต้องเอาความสงบสยบความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะหากความเคลื่อนไหวและการปล่อยข่าวนั้นเป็นการพยายาม “ล่อเสือออกจากถ้ำ” มากกว่าการตรวจสอบข่าวสารที่แท้จริง

จึงไม่ควรที่ใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างผู้สันทัดกรณี จะตกเป็นเหยื่อของกระบวนการสร้างข่าว เพื่อให้เกิดความสับสนมากพอที่จะทำให้เกิดความสงสัยคลางแคลงใจกลุ่มต่างๆ ถึงขั้นที่ทำให้เกิดเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด

ใครคิดลากรถถังออกมายึดอำนาจการเมืองวันนี้ ย่อมต้องถือว่าบ้า...และผู้นำทหารที่ยืนยันว่าตนไม่มีความต้องการจะได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองและจะไม่ยอมให้เกิดการรัฐประหารอีก ก็จะต้องแสดงจุดยืนด้วยการกระทำ ด้วยการวางกติกาให้โปร่งใส ประชาชน (ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองหรือนักเลือกตั้ง) สามารถตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมาตลอดเวลา

เพราะนายทหารบางคนไปพัวพันตัวเองกับนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม เพราะไม่รู้จักรักษา “ระยะห่าง” ที่ถูกต้อง ไม่สร้างความศรัทธาในบทบาทหน้าที่ของ “ทหารอาชีพ” ในความรู้สึกของประชาชน เรียกง่ายๆ คือ ห่างเหินมวลชน แต่ใกล้ชิดกลุ่มผลประโยชน์มากกว่า จึงทำให้เกิดภาวะของความไม่ไว้วางใจ

จึงทำให้ประชาชนไม่น้อย พร้อมจะเชื่อข่าวลือเรื่องรัฐประหาร หรือ “รัฐบาลในภาวะพิเศษ” เมื่อมีการจงใจปล่อยข่าวหรือเกิดการส่งข่าวลือต่อๆ กัน แม้ว่าบางครั้งจะไร้เหตุ ไร้ร่องรอยก็ตาม

ทหารอาชีพที่เชื่อในพลังประชาชน และ “ฉันทามติสาธารณชน” จริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวต่อข่าวลือ และต้องวางตัว “นิ่ง” และ “มั่นคง” พอที่จะไม่ต้องทำอะไรก็ตาม ที่เข้าข่าย “ยิ่งปฏิเสธ ยิ่งยืนยัน”


ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 7 เมษายน 2554 01:00

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น