วันพุธ, เมษายน 06, 2554

16คำถามไขข้อข้องใจ กทม.เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวขนาดไหน


16คำถาม ไขข้อข้องใจ กรุงเทพฯเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติจากเหตุแผ่นดินไหวหรือไม่ และผู้เกี่ยวข้องควรเตรียมการเพื่อรับมืออย่างไร...

คำถามที่ 1. ดูเหมือนว่าเหตุแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะนี้ทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่ที่นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จนมาถึงพม่า แต่ละจุดที่เกิดขึ้นก็มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าโลกเราอยู่ขั้นวิกฤติแล้วหรือไม่?

ผมได้รับคำถามลักษณะนี้มาหลายครั้งแล้ว หากดูจากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกย้อนหลังไป 10 ปีจะพบว่าเรามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทั่วโลกนับเป็นพันครั้งต่อวัน แผ่นดินไหวบางอันก็มีขนาดเล็กไม่เกิน 2-3 ริกเตอร์ไม่ทำให้คนรับรู้ได้ แต่สามารถตรวจวัดโดยใช้เครื่องมือวัด แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือนมักจะมีขนาดเกิน 5 ริกเตอร์ขึ้นไปและเกิดในที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เยอะๆ

หากมาดูเฉพาะแผ่นดินไหวขนาดกลางขึ้นไปจะพบว่าตามสถิติแผ่นดินไหวขนาด 5.0-5.9 ริกเตอร์จะเกิดขึ้นประมาณ 1500 ครั้งต่อปี ขนาด 6.0-6.9 จะเกิดขึ้นประมาณ 150 ครั้งต่อปี ขนาด 7.0-7.9 จะเกิดขึ้นประมาณ 15 ครั้งต่อปี และ ขนาดใหญ่กว่า 8.0 ริกเตอร์ขึ้นไปจะเกิดประมาณ 1 ครั้งต่อปี หากดูตามสถิตินี้แล้วในช่วงย้อนหลัง 10 ปี ก็ยังไม่พบสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราการเกิดแผ่นดินไหวมีความถี่เพิ่มขึ้นผิดสังเกตแต่อย่างใด

คำถามที่ 2. แล้วแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อคืนวันที่ 24 มีนาคม 2554 มีอะไรที่บ่งชี้ถึงสิ่งผิดปกติหรือไม่?

จริงๆ แล้วบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวในพม่าคราวนี้ หากไปดูสถิติจะพบว่ามันเป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวเป็นประจำอยู่แล้ว ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์ขึ้นไปเกิดขึ้นในบริเวณนี้นับได้ถึง 30 ครั้งด้วยกัน และในจำนวนทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้มีขนาด 6.8-7 ริกเตอร์ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ดังนั้นบริเวณนี้จึงมีอัตราความถี่ของการเกิด 10 ปีต่อครั้ง จะเห็นว่ามันเกิดค่อนข้างถี่ นอกจากนี้แผ่นดินไหวในบริเวณนี้มักเกิดที่ระดับไม่ลึกคือไม่เกิน 30 กิโลเมตรจาก พื้นดิน จึงมีโอกาสก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารและสาธารณูปโภคได้ค่อนข้างมาก

คำถามที่ 3. ตึกสูงในกรุงเทพได้รับการสั่นสะเทือน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในตึกสูงหลายแห่งรับรู้ได้ บางคนวิ่งหนีลงมา แล้วโครงสร้างอาคารในกรุงเทพจะมีปัญหาหรือไม่?


อาคารสูงในกรุงเทพได้รับแรงสั่นสะเทือนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แม้กระทั่งแผ่นดินไหวขนาด 7.9 ที่เสฉวนในปี 2551 ซึ่งอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพถึง 2,600 กิโลเมตร หรือ แม้กระทั่งแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา เมื่อปี2547 ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพถึง 1,200 กว่ากิโลเมตร ก็ยังส่งผลให้อาคารสูงในกรุงเทพได้รับแรงสั่นสะเทือนจนไหวตัวเหตุการณ์ที่เชียงรายในคราวนี้มีขนาด 6.8 ริกเตอร์แต่ห่างจากกรุงเทพประมาณ 770 กิโลเมตร ก็ทำให้อาคารในกรุงเทพสั่นสะเทือนได้อย่างแน่นอน ซึ่งไม่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะกรุงเทพตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน จึงเกิดการเคลื่อนตัวและสั่นไหวได้ง่าย

คำถามที่ 4. อาคารในกรุงเทพมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย และ มีโอกาสจะถึงขั้นถล่มลงมาหรือไม่?

ผมว่าเราลองมาเปรียบเทียบเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่พม่าในคราวนี้ แผ่นดินไหวที่เสฉวน และ แผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา จากข้อมูลพบว่าเหตุแผ่นดินไหวที่สุมาตราทำให้อาคารสูงในกรุงเทพเกิดการสั่นสะเทือนมากที่สุดในบรรดาแผ่นดินไหวทั้งสามนี้ แต่แม้ว่าอาคารจะโยกตัวไปมา ก็ไม่ได้หมายความว่าอาคารจะเกิดการถล่มลงมา หลังจากเหตุแผ่นดินไหวเหล่านี้ เมื่อเข้าไปสำรวจโครงสร้างอาคารก็ไม่พบรอยแตกร้าวหรือความเสียหายในเสา หรือ คาน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักของอาคาร อาจมีรอยร้าวขนาดเล็กๆ ในผนังอิฐซึ่งไม่มีผลต่อกำลังรับน้ำหนักของโครงสร้างแต่อย่างใด

คำถามที่ 5. อาจารย์กำลังจะบอกว่ากรุงเทพมีความปลอดภัย?

ผมบอกว่าอาคารในกรุงเทพสั่นไหวได้เป็นเรื่องปกติ และ หากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจากที่ไกลๆ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรงมากพอที่จะทำอาคารได้รับความเสียหายจนถึงขั้นถล่มลงมา แต่เราต้องไม่ลืมว่าเรามีรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ๆกรุงเทพฯ ด้วยนะ นั่นคือรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และ รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีบางส่วนที่เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่าซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่มีพลังสูงมากอาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

ที่สำคัญรอยเลื่อนเหล่านี้อยู่ห่างจากกรุงเทพไม่เกิน 300 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่อันตรายทีเดียวเพราะเคยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.1 ริกเตอร์เมื่อปี 2528 ที่เกิดขึ้นห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ออกไป 350 กิโลเมตร ส่งผลให้กรุงเม็กซิโกซิตี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก อาคารถล่มจนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 10,000 คน

คำถามที่ 6. ถ้าอย่างงั้นกรุงเทพก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว?

ใช่ครับ กรุงเทพๆถือว่ามีปัจจัยเสี่ยงครบทั้ง 3 ประการคือ 1) เราอยู่ใกล้ๆรอยเลื่อนที่มีพลังที่อาจก่อให้เกิด แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ (2)กรุงเทพตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน และ ที่สำคัญ (3) โครงสร้างอาคารบ้านเรือนเราไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว

คำถามที่ 7. ถ้าอย่างงั้นเราควรจะเตรียมรับมือกันอย่างไร?

ผมบอกได้เลยนะว่าเรายังค่อนข้างโชคดีอยู่ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่แผ่นดินไหวมีความรุนแรงสูงเหมือนประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และ อื่นๆ อันที่จริงแล้วหากเราได้มีการเตรียมความพร้อมโครงสร้างอาคารของบ้านเราไว้ให้ดี ก็ย่อมจะสามารถต้านทานแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ปัญหาของเรา คือโครงสร้างอาคารบ้านเรือนของเราไม่ค่อยได้เตรียมรับมือให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว แต่ก็ยังไม่สายเกินไป ยังสามารถแก้ไขได้ทัน เราสามารถปรับปรุงโครงสร้างให้อาคารของเรามีความแข็งแรงขึ้นมาได้

คำถามที่ 8. อาคารประเภทไหนบ้างที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว?

อาคารที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากๆ มีอยู่สองสามประเภทคือ พวกตึกแถว ซึ่งเสามีขนาดเล็กๆ และการก่อสร้างไม่ได้ควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างให้ดี ไม่มีวิศวกรมาออกแบบหรือคุมงาน พวกนี้หากเกิดแผ่นดินไหว อาจทำให้อาคารทรุดเอียงลงมาทางด้านหน้าของอาคารซึ่งมักเปิดโล่งเพื่อใช้ทำการค้า ผมค่อนข้างกังวลกับตึกแถว เพราะเราแทบไม่มีข้อมูลเลยว่าอาคารเหล่านี้ใส่เหล็กในเสา และ คานเท่าใด และ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีแบบก่อสร้างเก็บไว้ ทำให้ไม่มีข้อมูลที่จะนำมาประเมินกำลังรับน้ำหนักได้

อาคารอีกประเภทที่เสี่ยงก็คือพวกอาคารไร้คาน พวกนี้เราจะเห็นเค้าก่อสร้างเป็นแผ่นพื้นที่วางบนเสาเป็นชั้นๆแต่ไม่มีคานรองรับ บางทีก็ฝังลวดอัดแรงอยู่ข้างในด้วย พวกนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะก่อสร้างได้รวดเร็ว เช่นอาคารจอดรถ อาคารสำนักงาน แต่อาคารพวกนี้ก็เสี่ยงมากนะครับ เพราะถ้าพื้นบางเกินไป มันอาจจะพังทะลุผ่านเสาตกลงไปกระแทกพื้นชั้นล่างลงไปเป็นทอดๆ แล้วทำให้อาคารทั้งหลังถล่มลงไปกองกันอยู่บนพื้นได้เลย

คำถามที่ 9. พวกบ้านเดี่ยว หรือ บ้านจัดสรรมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด?

ถ้าเป็นบ้านที่ก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูป เช่น ใช้คาน หรือ เสาสำเร็จรูปมาต่อกัน ก็มีความเสี่ยงที่บริเวณรอยต่อที่ประกอบคานกับเสาเข้าด้วยกัน ซึ่งหากทำไว้ไม่แข็งแรงพอ ก็อาจจะหลุด แล้วทำให้อาคารเสียหายได้

คำถามที่ 10. พวกอาคารสูงในกรุงเทพฯเข้าข่ายเสี่ยงหรือไม่?

ดังที่ผมบอกไปแล้วว่า อาคารสูงไหวตัวได้ง่าย และ ผู้คนก็รู้สึกกันเยอะ ทำให้คนกลัวอาคารสูงกันมาก แต่ความเข้าใจตรงนี้ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด การโยกตัวหรือการไหวของอาคารไม่ได้หมายความว่าอาคารจะเสียหายหรือ ถล่มลงมาเสมอไป ต้องอย่าลืมนะครับว่าอาคารสูงส่วนใหญ่กว่าจะออกแบบและก่อสร้างจนสำเร็จได้ จะต้องมีวิศวกรออกแบบและควบคุมงานดีกว่าอาคารประเภทอื่นๆ และถ้าเป็นอาคารสูงที่มีรูปทรงเรียบง่าย มีเสาวางเรียงตัวกันอย่างสม่ำเสมอ ก็น่าจะมีความปลอดภัย แต่ถ้าเป็นอาคารสูงที่มีรูปทรงซับซ้อน มีส่วนเว้า ส่วนโค้ง ส่วนยื่น หรือ ลูกเล่นมากๆ หรือ มีกำแพงเยื้องออกไปจากศูนย์กลางของอาคารมากๆ หรือ มีด้านล่างเปิดโล่ง พวกนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่า

คำถามที่ 11. แล้วเราจะมีการเตรียมความพร้อมอาคารของเราให้มีความปลอดภัยได้อย่างไร?

ถ้าเป็นอาคารใหม่ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง จะต้องออกแบบและก่อสร้างให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวตามกฎกระทรวงปี 2550 หากออกแบบและก่อสร้างอาคารตามกฎหมายนี้ก็จะทำให้อาคารมีความปลอดภัย แต่ปัญหาก็คืออาคารเก่าที่มีอยู่จำนวนมากที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่หรือเกือบจะทั้งหมดจะไม่ได้ออกแบบให้ต้านทานต่อแผ่นดินไหว อาคารเหล่านี้หากจัดอยู่ในกลุ่มของอาคารเสี่ยงตามที่ผมได้อธิบายไป ก็ควรจะต้องนำมาวิเคราะห์และหาวิธีการเสริมความมั่นคงให้อาคารแข็งแรงรองรับแผ่นดินไหวได้ในระดับเดียวกับอาคารที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ตามกฎกระทรวง

คำถามที่ 12. อาคารเก่าที่ก่อสร้างไปแล้วแก้ไขให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้หรือไม่?

อาคารที่ก่อสร้างไปแล้วไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาคารเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ผมคิดว่าเรามีวิธีที่จะแก้ไขให้กลับมาต้านทานแผ่นดินไหวได้ หากเราทราบข้อมูลของอาคาร เช่น แบบก่อสร้าง แบบการเสริมเหล็ก เราก็สามารถนำแบบเหล่านั้นมาวิเคราะห์ตรวจสอบดูว่าอาคารดังกล่าวมีความแข็งแรงเพียงใด และ หากจำเป็นจะต้องเสริมกำลังจะใช้วิธีใดจึงจะได้ผลดีและในราคาที่ประหยัด วิธีการวิเคราะห์ตรวจสอบและเสริมกำลังอาคารคอ่ นข้างจะมีมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว แต่หากอาคารบางประเภทที่เราไม่มีแบบก่อสร้างหรือหาข้อมูลไม่ได้ ก็อาจทำให้การวิเคราะห์ทำได้ยากในกรณีนี้ก็ต้องเผื่อการเสริมความแข็งแรงให้มากๆ หน่อย ชดเชยกับการที่เราขาดข้อมูลที่ชัดเจน

คำถามที่ 13. การเสริมความแข็งแรงให้แก่อาคารทำได้อย่างไรบ้าง แล้วค่าใช้จ่ายสูงมากน้อยเพียงใด

การเสริมความแข็งแรงของอาคารจะเน้นที่การปรับปรุงให้อาคารโยกตัวได้มากและนานขึ้น ปัญหาของอาคารเก่าคือมันจะโยกตัวไปไม่ได้มากนัก เพราะเมื่อมันโยกตัวไปมากๆ ปูนจะกะเทาะหลุดออกมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณโคนเสา ซึ่งเมื่อปูนกะเทาะหลุดออกมาแล้ว ก็อาจจะทำให้โครงสร้างพังทลายลงมา หากเป็นอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ เราจะเน้นที่ใส่เหล็กปลอกที่บริเวณโคนเสาให้มากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปูนกะเทาะหลุดออกมา แต่หากเป็นอาคารที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว ก็อาจจะใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์มาพันรอบเสากันปูนกะเทาะหลุดออก และ หากเป็นอาคารหลังเล็กๆ หรือ ตึกแถว การใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ก็อาจเป็นสิ่งที่เกินจำเป็น ผมคิดว่าน่าจะใช้เฟอโรซีเมนต์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชาวบ้านที่มีราคาถูกกว่าคาร์บอนไฟเบอร์มาก ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายผมคิดว่าไม่สูงมากอยู่ระหว่าง 2-5% ของค่าก่อสร้าง

คำถามที่ 14. อาจารย์มีข้อแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับอาคารที่ได้ก่อสร้างไปแล้ว?

ผมคิดว่าเราควรตรวจสอบอาคารที่สำคัญๆ เช่น อาคารสาธารณะ อาคารโรงพยาบาล อาคารสถานที่ราชการตลอดจน อาคารสูง และ อาคารเอกชนหลายๆ แห่งที่มีคนใช้งานเป็นจำนวนมาก ว่าสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้มากน้อยเพียงใด และ จะต้องเสริมความแข็งแรงอย่างไรที่จะปรับปรุงให้อาคารต้านทานแผ่นดินไหวได้ การตรวจสอบไม่ใช่แค่เดินเข้าไปดูในอาคารและจะทราบได้ แต่จะต้องนำแบบก่อสร้างมาทำตามวิธีการประเมิน และ การเสริมกำลังตามมาตรฐานสากลซึ่งเรามีองค์ความรู้มากพอที่จะตรวจสอบและประเมินได้ ผมคิดว่าเราควรจะต้องเตรียมความพร้อม อาคารของเราให้แข็งแรงทุกเมื่อ เพราะเราไม่อาจจะทราบได้เลยว่าแผ่นดินไหวครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นที่ไหน และ เมื่อไร

คำถามที่ 15. อาจารย์มีข้อแนะนำไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง?

ผมคิดว่าหน่วยงานราชการก็ตื่นตัวมากพอสมควรแล้วครับ ผมได้เคยเตือนไปแล้วว่า อย่าดูเฉพาะอาคารอย่างเดียว โครงสร้างประเภทอื่นๆ เช่น โครงสร้างทางยกระดับ สะพาน และอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ก่อสร้างไปนานๆแล้วอาจจะไม่สามารถรองรับแผ่นดินไหวในระดับแรงๆได้ ก็จำเป็นจะต้องทำการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และ เสริมความแข็งแรงเช่นกัน ส่วนอาคารเก่าที่เป็นของเอกชน รัฐก็ควรเอื้อให้เขาทำการปรับปรุงอาคารได้สะดวกขึ้น

แต่ทั้งนี้ต้องมี วิศวกรมาควบคุมทั้งในขั้นตอนการออกแบบ และ การก่อสร้างด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือพื้นที่ที่บังคับใช้ในกฏกระทรวงปี2550 ปัจจุบันมีภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด คือที่กาญจนบุรี กรุงเทพและปริมณฑลอีก 4 จังหวัด และ จังหวัดในภาคใต้อีก 7จังหวัด ผมเป็นห่วงว่าอาจจะครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงยังไม่ครบ ต้องไม่ลืมว่าชั้นดินอ่อนไม่ได้มีอยู่ เฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑลแค่ 4 จังหวัดเท่านั้น แต่ครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่านั้นอีกหลายจังหวัด และต้องไม่ลืมว่าจังหวัดในภาคอีสานตอนบนก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในลาวเช่นกัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาดูเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังกันเสียที

คำถามที่ 16. อาจารย์คิดว่า วสท. ควรจะแสดงบทบาทอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง?

ในฐานะที่ วสท. เป็นองค์กรทางวิชาการและวิชาชีพที่ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้เป็นจำนวนมาก วสท. จะต้องแสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้แก่สังคม และ จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และแค่นั้นคงยังไม่พอ แต่จะต้องเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ปฏิบัติได้อีกด้วย ซึ่ง วสท. จะต้องรักษาจุดยืนตรงนี้เอาไว้ ในส่วนผมเองในฐานะที่เป็นกรรมการอำนวยการ และ ประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างและสะพานก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ และ ให้ความรู้แก่ประชาชน ทุกวันนี้ก็มีชาวสอบถามผมเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมก็มีความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านในนาม วสท. อยู่แล้วและก็อยากจะฝาก วสท. ว่าหากชาวบ้านตลอดจนองค์กร หรือ หน่วยงานต่างๆ ต้องการความช่วยเหลือ ก็ให้ติดต่อมาที่ วสท. หรือ ติดต่อมาที่ผมโดยตรงก็ได้ อย่างน้อยเราคงต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมพอสมควร


ที่มาบทความ: โพสต์ทูเดย์วิเคราะห์
ชื่อบทความ: 16คำถามไขข้อข้องใจ กทม.เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวขนาดไหน
บทความโดย: รศ.ดร. อมร พิมานมาศ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
06 เมษายน 2554 เวลา 13:52 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น