วันอาทิตย์, เมษายน 03, 2554
โพสต์ทูเดย์วิเคราะห์: หนาวหน้าร้อนสะเทือนทุกวงการ
อากาศหนาวๆ สลับร้อนๆ ในช่วงนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อเข้าฤดูร้อนเต็มตัวเดือน เม.ย.นี้ หากอากาศไม่ร้อนตามที่ควรจะเป็นผลกระทบจะเกิดขึ้นกับภาคส่วนใดบ้าง....
คาดการณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาล่าสุด ระบุว่า ช่วง 1-2 วันนี้อากาศจะกลับเข้าสู่ฤดูร้อน เพราะอุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้น แต่ช่วงวันที่ 5-6 เม.ย. อากาศจะกลับมาเย็นอีกครั้ง จากการพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคใต้ตอนกลางมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้จะมีฝนลดลง คลื่นลมอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะอ่อนลง
ช่วงวันที่ 5-7 เม.ย. ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ และมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนประเทศไทยตอนบน ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง อาจเกิดพายุฤดูร้อนและมีลูกเห็บตก
นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นภาวะปกติที่อากาศเย็นเจออากาศร้อนก็จะเกิดฝนหรือลูกเห็บ ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูร้อนทุกปี เพียงแต่ปีนี้ประเทศไทยต้องเจอกับอากาศหนาวก่อนเข้าหน้าร้อน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระยะเวลา 60 ปี จึงทำให้คิดว่าหน้าร้อนปีนี้จะไม่ร้อน แต่สภาพอากาศจะกลับเข้าสู่หน้าร้อนปกติเช่นทุกปี
อย่างไรก็ดี สภาพอากาศผันผวนอย่างรุนแรงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมอุตุฯ ประมวลผลคลาดเคลื่อนเพราะคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะหนาวและฝนตกในหน้าร้อนช่วงเดือน มิ.ย. แต่ไม่คิดว่าจะรุนแรงและเกิดในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา อากาศหนาวที่มาเร็วกว่าคาดการณ์ไว้เป็นผลจากภาวะโลกร้อนตามที่หลายฝ่ายกังวล
กรมอุตุฯ ยอมรับว่า จุดอ่อนที่การคาดการณ์มักคลาดเคลื่อนก็เพราะเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ไม่พร้อมต่อการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าแบบเป็นเดือนหรือเป็นปี เครื่องมือที่มีอยู่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเพียง 3-7 วัน และทำได้ในระดับจังหวัด ไม่สามารถลงลึกไประดับย่อยตำบลหรือหมู่บ้านได้
“เราเคยเสนอของบประมาณไทยเข้มแข็งวงเงิน 4,000 ล้านบาท หรือเพียง 4% ของมูลค่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติเมื่อปีที่ผ่านมานับแสนล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องมือที่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ถึง 50 ปี และลงลึกระดับตำบล ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถวางแผนด้านการเกษตร โลจิสติกส์ และท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ แต่รัฐบาลยังคงมองไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้” นายสมชาย ระบุ
เมื่อสภาพฟ้าฝนอากาศแปรปรวน แน่นอนว่าระบบนิเวศโดยรวมของประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย อาทิ ผลไม้อร่อยๆ ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงหน้าร้อนก็จะเปลี่ยนไป เนื่องจากพืชบางชนิดชอบอากาศเย็น บางชนิดไม่ชอบอากาศเย็น
นายประจวบ จำเนียรศรี เกษตรกรดีเด่น บอกว่า อากาศเย็นหรือหนาวจะทำให้มังคุดและเงาะได้รับผลกระทบ เงาะจะร่วง ติดลูกน้อย แต่จะได้ผลใหญ่ ขณะที่มังคุดชอบอากาศเย็น แต่จะโตช้า ทำให้ต้องเลื่อนการเก็บเกี่ยว ส่วนลองกองก็ไม่ชอบหนาว ปีนี้จึงเสี่ยงจะไม่ออกดอก ขณะเดียวกันจะทำให้ศัตรูพืชระบาดเพิ่มขึ้น เช่น ขณะนี้เพลี้ยไฟและไรแดงกัดกินใบพืชสวนอย่างหนัก ทำให้ต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากพืชจะไม่กินอาหารทางราก แต่จะกินทางใบ จากเดิมใส่ปุ๋ยโคนต้น 5 เดือน 2 ครั้ง ต้องเปลี่ยนมาฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ 10 วันต่อครั้ง
กลุ่มพืชไร่ อาหารหลักอย่างข้าว นักวิจัยจากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ระบุว่า หากอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ข้าวจะได้รับผลกระทบ เช่น หากเป็นช่วงข้าวออกรวงออกดอกจะทำให้ข้าวไม่ผสมเกสร หรือผสมเกสรไม่ติด จะทำให้เมล็ดข้าวเป็นหมัน ลีบมีแต่เปลือก ไม่ได้น้ำหนักและนำไปปลูกเป็นพันธุ์ขยายต่อไม่ได้ หากเป็นช่วงที่ข้าวผสมเกสรไปแล้วและเจออากาศหนาว จะทำให้ชะงักการเติบโตเล็กน้อย ต้องเลื่อนเวลาเก็บเกี่ยว
ขณะที่กลุ่มผักหลายชนิดที่ไม่ชอบหนาว ผลผลิตจะลด ในขณะที่พันธุ์ที่ชอบอากาศหนาวกลับเติบโตได้ดี เช่น ถั่วฝักยาว แตงกวา ไม่ชอบอากาศหนาว ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงประมาณ 50% จากเดิมเก็บผลผลิตได้ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงเหลือประมาณ 30 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่แตงกวาที่ออกลูกแล้วเมื่อเจออากาศหนาวผิวจะเปลี่ยนสี และเมื่อมาเจออากาศร้อนก็จะเน่าเสีย ผลดีจะไปตกอยู่กับกลุ่มผักตระกูลกะหล่ำปลี ผัดกาดขาว หัวจะใหญ่ขึ้น น้ำหนักผักจะดี เพราะชอบอากาศหนาว
ด้านปศุสัตว์ก็ไม่แตกต่างกัน นสพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกว่า สัตว์เลี้ยงในฟาร์มระบบปิดไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ไก่เนื้อ ทว่ากรณีไก่ไข่กว่า 90% จะเป็นฟาร์มเกษตรกรรายย่อย ไม่ได้เลี้ยงในระบบปิด ไก่จะติดโรคหวัดหรืออหิวาต์ได้ง่าย ซึ่งหากไก่ป่วยจะลดปริมาณการออกไข่
ขณะที่วัวพื้นเมืองจะเสี่ยงต่อโรคปอดบวม เพราะจะไม่ชอบอากาศหนาว ยิ่งปล่อยเลี้ยงในทุ่งจะเป็นโรคปอดและเสียชีวิตง่าย วัวนม แม้จะชอบอากาศหนาว แต่หากดูแลไม่ดีจะป่วยและลดปริมาณการให้นม
สุกรเป็นสัตว์ที่ไม่ถูกกับอากาศหนาวอย่างมาก และไม่มีต่อมเหงื่อ จะทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ และโตช้า แม้กินอาหารเท่าเดิมหรือให้อาหารเพิ่มสุกรก็จะไม่ได้น้ำหนัก และกรณีแม่พันธุ์ก็จะให้ลูกน้อยลง ปลาก็เช่นกัน อากาศหนาวส่งผลให้อุณหภูมิน้ำลดต่ำลง สัตว์น้ำจะกินอาหารน้อยลง มีอาการเครียด อ่อนแอ ไม่ทนต่อโรคและอาจตายได้ เพราะภูมิคุ้มกันลดลง
อากาศวิปริตสินค้าหน้าร้อนเหงื่อตก
หน้าร้อนถือเป็นช่วงพีกซีซันของเกือบทุกสินค้าหรือบริการ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค สัดส่วนขายช่วงหน้าร้อนมีถึงกว่า 30% เมื่อเทียบกับยอดขายในฤดูกาลอื่นๆ สินค้าเจ้าประจำที่อัดกิจกรรมตลาดหนักฤดูนี้ อาทิ เครื่องดื่มดับกระหายสารพัดประเภท โลชันกันแดด ชุดว่ายน้ำ เครื่องปรับอากาศ แป้งเย็น แต่หน้าร้อนปีนี้ต่างต้องกุมขมับ ปรับกลยุทธ์กันอุตลุด
นายตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไปการจัดการธุรกิจและการตลาด บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) และนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย บอกว่า อากาศที่แปรปรวนในฤดูร้อนปีนี้จะส่งผลกระทบระยะสั้นสำหรับสินค้าบางประเภท จึงอาจต้องปรับกลยุทธ์การทำตลาด แต่อีกมุมก็จะมีสินค้าบางประเภทที่ขายดีทดแทน เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (สกินแคร์) บางสูตร หรือกลุ่มเวชภัณฑ์ เป็นต้น
กลุ่มเครื่องปรับอากาศ นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรับอากาศภายใต้แบรนด์ซัยโจ บอกว่า พัดลม ตู้เย็น สต๊อกอาจล้นตลาด เพราะขายไม่ได้ตามเป้า ทำให้บริษัทต้องลดเป้าขายลงถึง 30% ขณะเดียวกันได้มุ่งให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีฟอกอากาศในเครื่องปรับอากาศใช้เป็นจุดขายแทนเพื่อให้ขายได้ตลอดทั้งปี
น.ส.สอางทิพย์ อมรฉัตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เพาเวอร์บาย ผู้บริหารร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าและไอที เพาเวอร์บาย ยอมรับว่า ได้ปรับกลยุทธ์การจัดวางสินค้าหน้าร้าน (ดิสเพลย์) ใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังเจออากาศหนาว เช่น สาขาใน จ.เชียงใหม่ และนำเครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อต่างๆ วางจำหน่ายหน้าร้านมากขึ้น
ตรงกันข้ามกับกลุ่มสินค้าเครื่องทำน้ำอุ่นน้ำร้อน ซึ่งนายนพพล ผาสุขดี ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท สตีเบล เอลทรอน เอเซีย ผู้นำตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นน้ำร้อนสัญชาติเยอรมัน ภายใต้แบรนด์สตีเบล เอลทรอน บอกว่า อากาศหนาวกลายเป็นปัจจัยบวกกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน การจัดกิจกรรมในห้างสรรพสินค้าก็ต้องปรับกลยุทธ์ตามสภาพอากาศด้วย แต่ นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล บอกว่า แม้ในปีนี้สภาพอากาศจะผิดปกติ แต่ในช่วงเดือน เม.ย.นี้จะยังเตรียมจัดกิจกรรม (อีเวนต์) เช่นทุกปี ไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่ร้านค้าภายในศูนย์การค้าอาจต้องปรับตัวสินค้าที่จำหน่ายให้เหมาะสมกับอากาศที่เย็นลง อาทิ ผ้าพันคอ
หนาวๆ ร้อนๆ ไม่ดีต่อสุขภาพ
แม้สภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้หลายคนได้หยิบเสื้อหนาวมาปัดฝุ่นใช้อย่างอารมณ์ดี แต่หนาว 3 วัน แล้วกลายเป็นร้อน ร้อนแล้วกลับมาหนาวอีกรอบ ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพนัก เพราะอาจทำให้ล้มป่วยได้
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศจะกระทบต่อสุขภาพ 2 ส่วน 1.อากาศที่เย็นลงทำให้เสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ 2.ฝนตกชุกและมีน้ำท่วมขังจะเสี่ยงต่อโรคแตกต่างกัน โดยช่วงอุณหภูมิลดลงส่วนใหญ่จะเกิดโรคทางเดินหายใจในช่วงปลายฝนต้นหนาว อาทิ ไข้หวัด ปอดบวม ในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ
ขณะที่ฝนตกชุกในภาคใต้ในระยะแรกจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง เสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออกกับไข้มาลาเรีย ซึ่งระบาดหนักในช่วงเดือน มิ.ย.ของทุกปี และระบาดได้ทุกจังหวัด
ภายหลังฝนหยุดตกแต่น้ำท่วมขังต้องระวัง การติดเชื้อในบาดแผล การติดเชื้อฉี่หนู รวมถึงเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัด โรคตาแดง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยรวมๆ แล้ว นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวมเท่าไรนัก
ที่มาบทความ: โพสต์ทูเดย์วิเคราะห์ (update: 03 เมษายน 2554 เวลา 12:50 น.)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น