วันอังคาร, ธันวาคม 21, 2553

การชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐ(Protest)กับการชุมนุมเพื่อก่อการจลาจลต่อรัฐ(Riot)




บทความโดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
ที่มาบทความ: มติชนออนไลน์(update:วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2553 เวลา17:45:42 น.)

บทความนี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ใด แต่เมื่อเกิดข้อเท็จจริงในบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายสำคัญ ผู้เขียนมีเจตนาที่จะเสนอข้อคิดเห็นทางวิชาการต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ใน ทางวิชาการ

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 บัญญัติว่า “ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุมครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ”

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะเห็นได้ว่า การชุมนุมสาธารณะหรือการชุมนุมในที่สาธารณะจะกระทำไม่ได้เลย แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะไว้ แต่อย่างใด ดังนั้นการชุมนุมในที่ซึ่งไม่ใช่เป็นที่สาธารณะหรือเป็นที่สาธารณะที่ไม่มี ประชาชนใช้ที่สาธารณะนั้น การชุมนุมย่อมกระทำได้โดยสงบและปราศจากซึ่งอาวุธ การกำจัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในที่ซึ่งมิใช่เป็นที่ สาธารณะหรือในที่สาธารณะที่ไม่มีประชาชนใช้นั้น จึงไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในกรณีใด

เสรีภาพในการชุมนุม สาธารณะหรือการชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่อาจกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรคสอง เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎหมาย (ที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ)ออกใช้บังคับในกรณีการชุมนุมสาธารณะ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะไว้แต่อย่างใด เมื่อยังไม่มีกฎหมายออกมาคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะใน กรณีที่มีการชุมนุมสาธารณะแล้ว บุคคลผู้ชุมนุมจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองได้เท่าที่ไม่ละเมิดต่อสิทธิและ เสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 วรรคแรก เท่านั้น

เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ชุมนุมกับเสรีภาพของบุคคลอื่นที่จะต้องมีความ สะดวกในการใช้ที่สาธารณะ และสิทธิเสรีภาพอื่นๆของบุคคลที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพที่ เท่าเทียมกันซึ่งจะกระทำละเมิดต่อกันไม่ได้ การชุมนุมในที่สาธารณะจึงกระทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ดังกล่าว และเมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใช้บังคับโดยฝ่ายบริหารแล้ว การชุมนุมสาธารณะหรือการชุมนุมในที่สาธารณะจึงไม่อาจกระทำได้โดยเด็ดขาดใน เขตที่ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน

การชุมนุมสาธารณะ (ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่ได้ออกกฎหมายให้มีการชุมนุมสาธารณะใช้บังคับ นั้น ) การชุมนุมสาธารณะจะกระทำได้ จะต้องเป็นการใช้สิทธิตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ หรือมีหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มีหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เช่นรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 ซึ่งบัญญัติให้บุคคลมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีจากการกระทำใดๆเพื่อให้ได้มา ซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐ ธรรมนูญ

หรือในกรณีที่เกิดความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ (ซึ่งก็คือรัฐบาล) ที่ไม่เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในหมวด 5 ส่วนที่ 1 - ส่วนที่ 10 ซึ่งประชาชนมีหน้าที่ตามบริบทที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่าง เป็นรูปธรรม และมีหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 ในเรื่อง “ หน้าที่ของชนชาวไทย” ตามมาตรา 70 -74 การชุมนุมสาธารณะจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น และต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมสาธารณะแม้กระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธก็มีความผิด

หากไม่มีข้ออ้างซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาเป็นเหตุแห่งการ ชุมนุม เพราะการชุมนุมดังกล่าวไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็น มนุษย์ของบุคคลอื่น ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ( มาตรา 26 -มาตรา 69 ) และได้บัญญัติจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมไว้ตามมาตรา 28 วรรคแรก

แม้บุคคลจะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 63 วรรคแรกก็ตาม แต่ก็ไม่มีสิทธิและเสรีภาพที่จะไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคแรก

หากปรากฏว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐล้มเหลว ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ เช่นไม่อาจรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ) หรือไม่อาจควบคุมให้มีการรักษาวินัยการเงินการคลังไว้ให้มีเสถียรภาพและความ มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ [ รัฐธรรมนูญ มาตรา 84 (3) ] หรือไม่มีประสิทธิภาพในการจัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็น ระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ [ รัฐธรรมนูญ มาตรา 85 (4) ] และ ฯลฯ ความล้มเหลวที่ไม่สามารถดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบาย พื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งในหมวด 5 จึงเป็นกรณีที่รัฐ( ซึ่งหมายถึงรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ) ไม่ทำหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

และการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ บุคคลหรือประชาชนย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่สามารถแสดงบทบาท และเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็น รูปธรรม โดยมีการชุมนุมสาธารณะแสดงความคิดเห็นต่อต้าน ( Protest ) เพื่อบังคับ กดดันให้รัฐกระทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้ การใช้สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเป็นสิทธิและ หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในบริบทและตามรัฐธรรมนูญในหมวดหน้าที่ของชนชาวไทย

แต่จะต้องมีเหตุเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการที่รัฐ ( รัฐบาลและหน่วยงานที่มีหน้าที่ ) ไม่ได้บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนว ตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้นแล้ว การกระทำดังกล่าวของประชาชนจึงไม่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดใดๆ ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของบุคคลอื่น( ที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุม) ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลไว้ ในหมวดที่ 3 ซึ่งว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และการชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานกีดขวางทางจราจร ไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เป็นต้น

การชุมนุมต่อต้านเพื่อบังคับกดดันเรียกร้องให้รัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการกระทำเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของบุคคลอื่นซึ่งเป็น ประชาชนและไม่มาร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจถือได้ว่าผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณ ชน ( Public Interest ) นั้นด้วย การกระทำโดยมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และมีเหตุเนื่องมาจากการที่รัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญหรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ การชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาใดๆ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย


อย่างไรจึงถือว่ารัฐ (รัฐบาล หรือ องค์กรของรัฐ) ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อันเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ หรือด้านอื่นใด ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 75 - 87 นั้น เป็นกรอบที่รัฐต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามโอกาสและตามจังหวะที่ต้อง ปฏิบัติในการบริหารงานของประเทศเท่านั้น


การจะถือว่ารัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าว จึงขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของรัฐในสถานการณ์หนึ่งๆนั้นว่า รัฐได้กระทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในเรื่องนั้นๆ ด้วยความจริงใจ โดยสุจริตให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ( Good Faith ) หรือไม่ และการกระทำการต่างๆดังกล่าวของรัฐนั้นได้สร้างความน่าเชื่อถือและความไว้ วางใจ ( Credit ) ให้กับประชาชนได้หรือไม่ เพียงใด


ถ้าการกระทำของรัฐดังกล่าวได้ดำเนินการในลักษณะที่ไม่สุจริต จริงใจ หรือมีพฤติการณ์ของการกระทำอันเป็นที่ไม่น่าเชื่อถือศรัทธาและไม่เป็นที่น่า ไว้วางใจของประชาชนปรากฏให้เห็นโดยชัดเจนแล้ว ประชาชนย่อมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะชุมนุมเพื่อต่อต้านการกระทำของรัฐที่ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐไม่มีสิทธิที่จะบริหารราชการแผ่นดินโดยขัดต่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่ง รัฐตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินโดยขัดต่อนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อ รัฐสภานั่นเอง


กรณีดังกล่าวย่อมแตกต่างกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยไม่ชอบอันจะเป็นความผิดอาญาด้วยตนเองหรือไม่นั้น เป็นคนละกรณีกัน เพราะมีอำนาจในการบริหารงานแผ่นดินทับซ้อนกันอยู่ โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล

กรณีจึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นได้รู้หรือ ไม่ว่า รัฐบาลได้บริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับหน่วยงานนั้น โดยขัดต่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 - 87 หรือไม่ ( ซึ่งไม่ใช่เฉพาะมาตราที่มีชื่อเกี่ยวกับงานของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ทุกองคาพยบของหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ให้เป็นไปตามแนว นโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 – 87 ทั้งสิ้น )


และหากปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐนั้นได้รู้แล้วว่า รัฐบาลไม่ได้บริหารงานราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตาม รัฐธรรมนูญแล้วแต่ยังขืนกระทำไป หน่วยงานของรัฐนั้นก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าวด้วย การชุมนุมของประชาชนเพื่อต่อต้านการกระทำของรัฐรวมทั้งองค์กรของรัฐ แม้เป็นการชุมนุมในที่สาธารณะ ( แต่ต้องโดยสงบและปราศจากอาวุธ ) ก็กระทำได้ทั้งสิ้นโดยไม่มีความผิด เพราะเป็นการใช้สิทธิและมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ อันมีผลจากการกระทำของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทำหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญ



การชุมนุมสาธารณะของประชาชนโดยไม่มีข้ออ้างถึงการกระทำใดๆที่รัฐได้กระทำ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีข้ออ้างที่รัฐมิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 และรัฐธรรมนูญมาตรา 75 – 87 แต่มีการชุมนุมโดยอ้างว่าชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำของรัฐบาลที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลัก ประชาธิปไตยอย่างไร การชุมนุมดังกล่าวย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย


แต่ถ้าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเพราะรัฐบาลไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม รัฐธรรมนูญ โดยเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยไม่เป็นธรรม รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือดำเนินการด้วยการใช้อำนาจฝ่ายบริหารดำเนินการประกัน ตัวผู้ต้องขัง ด้วยการใช้เงินหลวงประกันตัวผู้ต้องขังเฉพาะผู้ต้องขังบางคน บางกลุ่ม โดยไม่ได้ช่วยเหลือผู้ต้องขังทั่วประเทศ หรือไม่ได้วางมาตรฐานการช่วยเหลือผู้ต้องขังไว้ให้มีมาตรฐานการช่วยเหลือ อย่างเดียวกันไว้เช่นนี้แล้ว ประชาชนย่อมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเสมอภาคได้ เพราะการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังดังกล่าว เป็นการกระทำของรัฐที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีการ ชุมนุมโดยอ้างว่าเพื่อรำลึกวันครบรอบวันตายของบุคคลคนหนึ่ง หรือมีการชุมนุมเพื่อรำลึกวันสำคัญครบรอบการชุมนุมรอบ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ฯลฯ


การชุมนุมดังกล่าวมิใช่เป็นการชุมนุมต่อต้านการทำหน้าที่โดยไม่ชอบหรือละเว้นการทำหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใดไม่ แต่การชุมนุมดังกล่าวเป็นการแสดงออกของการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะเป็นการก่อความไม่สงบ ก่อความอลหม่านอันเป็นการจลาจล ( Riot ) โดยฝูงชน ( mob ) เท่านั้น


การก่อความไม่สงบโดยฝูงชนหรือการเรียกฝูงชนมาชุมนุมเพื่อให้มีประชาชนมารวม ตัวกันจำนวนมากเพื่อให้เป็นม็อบเพื่อก่อความอลหม่าน วุ่นวายของประชาชนโดยทั่วไป ทำให้ประชาชนต้องงดเดินทางหรือต้องหาทางสัญจรใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการชุมนุม ที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ต้องปิดร้านค้างดการทำมาหาได้เพื่อการยังชีพของประชาชน งดไปโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน รัฐต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน เพราะไม่อาจคาดคิดได้ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ทั้งในกลุ่มผู้ชุมนุมเองหรือกับความปลอดภัยของประชาชน และสถานที่ในบริเวณนั้นหรือไม่ ความอลหม่านวุ่นวายได้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนดังกล่าว


แม้ผู้ชุมนุมจะชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือกระทำในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันเกิดจากการ บริหารราชการแผ่นดินของรัฐที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการชุมนุมที่ปราศจากซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติ ให้มีสิทธิหรือมีหน้าที่ไว้ การชุมนุมในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยขัดต่อรัฐ ธรรมนูญและขัดต่อกฎหมาย และเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 วรรคแรก


(เรื่องโดย ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น