จาก อัลบั้ม นสพ.ข่าวสดรายวัน |
คดีปชป.ขาดอายุความจริงหรือ?
หมายเหตุ : นายวิชัย ตันติกุลานันท์ นักกฎหมายอิสระ อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขียนบทความทางวิชาการ เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จากการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้าน ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ด้วยเหตุผลนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้เสนอความเห็นให้ยุบ และคดีขาดอายุความ ไว้ดังนี้
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนฯ ที่ขอให้ยุบพรรค ปชป. โดยอ้างเหตุยกคำร้องตามมาตรา 93 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง พ.ศ.2550
มติตุลาการ ศาลฯ ข้างมาก 4 เสียง มีความเห็นในผลตรงกันให้ยกคำร้องแต่เหตุที่ให้ยกคำร้องนั้นให้เหตุผลต่างกัน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ด้วยมติ 3 ต่อ 1 ดังนี้
มติ 3 เสียง ให้เหตุผลว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2553 นายทะเบียนฯ ยังไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาลฯ สั่งยุบพรรคปชป. คำร้องขอให้ยุบพรรคดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 93 วรรคสอง ให้ยกคำร้อง
มติ 1 เสียง ให้ยกคำร้องโดยเหตุผลว่า เพราะเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2552 นายทะเบียนฯ เสนอความเห็นและได้รับความเห็นชอบจากกกต. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ สั่งยุบพรรค ปชป. แล้ว แต่เพิ่งมายื่นคำร้องต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2553 จึงล่วงเลยเกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ 17 ธ.ค. 2553 คดีจึงขาดอายุความ 15 วัน ตามมาตรา 93 วรรคสอง จึงให้ยกคำร้อง
มาตรา 93 วรรคสอง "เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ว่าพรรค การเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนฯ โดยความเห็นชอบของกกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรม นูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการ เมืองตามคำร้องของนายทะเบียนฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค การเมืองนั้น"
1. การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่ง ยุบพรรคการเมืองเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายทะเบียนฯ ซึ่งตาม กฎหมายให้ประธาน กกต. ดำรง ตำแหน่งนายทะเบียนฯ ด้วย
2. นายทะเบียนฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อนจึงจะยื่นคำร้องนั้นได้
ประเด็น ปัญหาข้อกฎหมายมีว่า นายทะเบียนฯ ต้องยื่นคำร้องนั้นต่อศาลภายในกำหนดเวลาใด ศาลรัฐธรรมนูญ 1 เสียง วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า นายทะเบียนฯ จะต้องยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามมาตรา 93 วรรคสอง และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่านายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2552 แต่ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2553 คดีจึงขาดอายุความ 15 วัน แล้ว
ข้อสังเกต ตามมาตรา 93 วรรคสอง ไม่มีข้อความใดพอที่จะตีความหรือแปลได้ว่า ให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องนั้นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
แต่ มีข้อความว่า ...ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ไม่ใช่นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ดังนั้น ที่ศาล 1 เสียง วินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ 15 วัน นับแต่วันที่นายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าว ตามกฎหมายเมื่อนายทะเบียนฯ ซึ่งเป็นประธาน กกต. ตรวจพบว่าพรรคการ เมืองใดกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง นายทะเบียนฯ ยังไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยุบพรรคนั้นๆ ต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. เสียก่อน
จึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ควรจะพิจารณาว่านายทะเบียนฯ จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ภายในกี่วันนับแต่วันที่ทราบว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายพรรคการเมืองเกิด ขึ้น
เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญดังกล่าว
ตาม มาตรา 93 วรรคสอง กล่าวขึ้นต้นด้วยข้อความว่า ...เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนฯ ว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า มีการกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง ข้อความดังกล่าวสอดรับกับข้อความต่อมาว่า ...ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ...
เมื่อ พิจารณาข้อความทั้งสองโดยรอบคอบแล้ว ก็น่าจะเข้าใจได้ว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ต้องการให้นายทะเบียนซึ่งพบว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิด กฎหมายพรรคการเมือง ให้เสนอข้อความเห็นชอบจาก กกต. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนฯ
ดังนั้น ข้อความ ...ภายในสิบห้าวัน... จึงควรจะหมายถึง กำหนดเวลาให้นายทะเบียนฯ ต้องปฏิบัติเมื่อตรวจพบว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว ต้องรีบเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ภายในกำหนด 15 วัน
ที่ศาล 1 เสียง วินิจฉัยว่ากำหนด 15 วัน ดังกล่าว เป็นอายุความให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องต่อศาลนั้น ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว เห็นว่ากำหนดเวลาดังกล่าวน่าจะไม่ใช่เรื่องอายุความด้วยเหตุผล ดังนี้
1. อายุความนั้นต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและมาตรา 193/12 ซึ่งบัญญัติว่า ...อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป... หรือให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น ไม่ใช่นับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. หากตีความ เช่นนั้น ถ้าอีก 100 ปี กกต. จึงให้ความเห็นชอบอายุความก็จะยาวนานถึง 100 ปี กับ 15 วัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นเลย
2. กำหนดเวลา 15 วันดังกล่าว ไม่ใช่กำหนดเวลาให้ยื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาล เพราะไม่ใช่การใช้สิทธิอุทธรณ์/ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้ฟังคำพิพากษานั้น และไม่ใช่กรณียื่นฟ้องคดีต่อศาลเพราะเหตุที่มีการโต้แย้งคำสั่งหรือคำ วินิจฉัยของเจ้าพนักงาน เช่น โต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการวินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีอากรหรือกำหนดค่าเวนคืน
ตามพระ ราชบัญญัติพรรคการเมืองมิได้กำหนดอายุความไว้ว่าให้นายทะเบียนฯ ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดเวลาใด จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/9 ซึ่งบัญญัติใจความสำคัญว่า "ถ้ามิได้ใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็เป็นอัน ขาดอายุความ" และตามมาตรา 193/30 กำหนดว่าถ้าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้ถือ ว่าคดีมีอายุความ 10 ปี
3. หากถือว่า 15 วัน เป็นกำหนดอายุความฟ้องร้องคดี ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าฝ่ายผู้ถูกร้องได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้หรือไม่ หากไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องคดีไม่ได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 ซึ่งต่างกับกรณีพนักงานสอบสวนมิได้ผัดฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ภายในกำหนดเวลา 48 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่จับผู้ต้องหา กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามมิให้ฟ้องคดีนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก อัยการสูงสุด ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาตรา 9
กำหนดเวลาให้นายทะเบียน ยื่นคำร้องภายใน 15 วันดังกล่าว จึงน่าจะเป็นเพียงเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อต้องการให้นายทะเบียนฯ เร่งรัดดำเนินคดีกับพรรคการเมืองนั้นโดยเร็ว ซึ่งหากนายทะเบียนฯ ไม่ปฏิบัติตามบทดังกล่าวก็อาจจะถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ แต่ไม่น่าจะหมายถึงว่าห้ามมิให้ฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าว ซึ่งกฎหมายในลักษณะดังกล่าวมีหลายมาตรา เช่น กรณีคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องยื่นคำร้องขอ ฝากขังผู้ต้องหาภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด หากยื่นเกินกำหนดก็ไม่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้แต่ก็ยังยื่นฟ้องคดีนั้น ได้ภายใต้อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับมติของศาลอีก 3 เสียง ที่ให้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นายทะเบียนฯ ยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรค ปชป. นั้น
มีข้อสังเกต คือ กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนฯ เป็นประธาน กกต. ด้วย ซึ่งเป็นคนเดียวกัน การประชุมของ กกต. ซึ่งมีนายทะเบียนเป็นประธาน กกต. อยู่ด้วย จะถือว่านายทะเบียนฯ ได้เข้าร่วมประชุมหรือไม่ จะถือว่านายทะเบียนฯ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยุบพรรค การเมืองแล้วหรือไม่
ข้อวินิจฉัย ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลในข้อกฎหมายตามมา คือ หากนายทะเบียนฯ ดำเนินการเริ่มต้นใหม่โดยขอความเห็นชอบจาก กกต. แล้วจะมีอำนาจยื่นคำร้องใหม่ขอให้ศาลสั่งยุบพรรค ปชป. ได้หรือไม่ ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า "จะเป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่"
เนื่องจากคำ วินิจฉัยของศาล 3 เสียง ดังกล่าว มิได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงว่า พรรค ปชป. กระทำผิดกฎหมายพรรคการ เมืองหรือไม่ ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี การวินิจฉัยว่านายทะเบียนฯยังไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ก็เสมือนหนึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาโดยที่พนักงานสอบสวนยังไม่มีการ สอบสวนหรือสั่งฟ้อง ศาลจึงยก ฟ้อง ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าว คือ พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการสอบสวนใหม่ และมีคำสั่งฟ้องแล้วเสนอให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องภายในกำหนดอายุความเดิมได้ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ
ปัญหาดังกล่าวจะต้องรอฟังผลคำพิพากษาหรือคำ วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นคำวินิจฉัยส่วนกลาง หากมีข้อวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความแล้ว นายทะเบียนฯก็ไม่สามารถ ยื่นคำร้องใหม่เพราะจะเป็นการฟ้องซ้ำตามหลักกฎหมายทั่วไป
จากคำ วินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญครั้งนี้ทำให้เกิดข้อกังขาและข้อโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะนักกฎหมายอย่างกว้างขวาง เป็นอุทาหรณ์ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีอำนาจวินิจฉัยหรือพิพากษาคดีความ ตามกฎหมาย แต่ก็ต้องวินิจฉัย ด้วยเหตุด้วยผลและตีความตามตัวบทกฎหมายอย่างรอบคอบที่สุด
ข้อเสนอแนะ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรว่าจ้างเลขานุการหรือที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักกฎหมายที่ มีความรู้ความชำนาญจริงๆ เช่น อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่มีประสบการณ์ในการวินิจฉัยคดีมายาวนานซึ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณค่าสมควรให้มาช่วยเหลือในการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีความ ต่างๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง
สำหรับ กกต.นั้น ควรจะรีบออกประกาศกำหนดขั้นตอนวิธีการและกำหนดเวลาเกี่ยวกับนายทะเบียนฯ ซึ่งจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. และกำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอให้ศาลยุบพรรคการเมือง ซึ่งประธาน กกต. มีอำนาจออกประกาศดังกล่าวได้ตามความในมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.พรรคการเมืองอยู่แล้ว
เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติมิให้เกิดข้อขัด ข้องหรือผิดพลาดในภายหน้าอีก
ที่มา: ข่าวสดรายวัน หน้า 3 (update: วันที่ 08 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7314)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น