วันเสาร์, ธันวาคม 04, 2553

สัมพันธ์ ไทย-รัสเซีย บนความปั่นป่วนของ "วิกิลีกส์"



สัมพันธ์ ไทย-รัสเซีย บนความปั่นป่วนของ "วิกิลีกส์"
โดย ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com
(ที่มา คอลัมน์โกลบอลโฟกัส หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2553)


จาก AFP PHOTO


(ภาพจาก เอเอฟพี)

ผมไม่คิดว่าจะต้องมาพูดถึง จูเลียน แอสแซนจ์ และ วิกิลีกส์ อีกครั้งเร็วขนาดนี้ แต่ดูเหมือนสิ่งที่ "จูเลียน แอนด์ โค." ที่วิกิลีกส์นำเสนอต่อโลกยุคข้อมูลข่าวสารยิ่งนับวันยิ่งใหญ่โตในเชิงผลสะเทือนมากขึ้นตามลำดับ แถมยิ่งใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายทั้งโลกก็ต้องหันมาให้ความสนใจกับวิกิลีกส์ มีปฏิกิริยาต่างๆ นานาต่อวิกิลีกส์ และต้องมานั่งอ่านในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับตนเองที่วิกิลีกส์เผยแพร่ออกมา เมื่อมีการเปิด "บันทึก" และ "คำสั่ง" ทางการทูต 250,000 ชิ้น ที่ถูกส่งไปยัง หรือส่งมาจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลกว่า 250 แห่งทั่วโลก ซึ่งถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ และสามารถเข้าถึงได้ผ่านทาง "ไซพร์เน็ต" เน็ตเวิร์กภายในที่ "เข้าใจกันว่า" เป็นเน็ตเวิร์กปิดลับและมีการป้องกันดีที่สุด 1 ใน 3 เน็ตเวิร์กลับที่ทางการสหรัฐอเมริกาใช้อยู่

แน่นอน ในจำนวน 250 สถานทูตและสถานกงสุลอเมริกันดังกล่าว มีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ถนนวิทยุ รวมอยู่ด้วย

มีบันทึกทางการทูตที่ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า "เคเบิล" จากสถานทูตไทยรวมทั้งสิ้น 2,941 ชิ้น ต่างกรรม ต่างวาระกัน

3 ชิ้นในจำนวนนั้น คือสิ่งที่ผมจะบอกเล่าในลำดับถัดไปจากนี้

ทั้ง 3 ชิ้นเป็นส่วนที่ เดอะ การ์เดียน หนังสือพิมพ์ระดับหัวแถวของอังกฤษ ที่ทำความตกลงกับวิกิลีกส์ เลือกที่จะเปิดเผยออกมาก่อนใครอื่น รวมทั้งเว็บไซต์ของวิกิลีกส์ ที่ทยอยคัดสรรเรื่องออกมาเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง คาดว่ากินเวลายาวนานนับสัปดาห์


เนื้อหาบางส่วนของเคเบิลทางการทูต ทั้ง 3 ชิ้นต่อไปนี้ ถูกตัดทอนออกไปโดยเดอะ การ์เดียน อีกบางส่วนผมเป็นผู้ตัดทอนออกไป นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องเปลี่ยนความตั้งใจแต่เดิมที่จะ "แปลดิบๆ" ให้อ่านกันทั้งดุ้น เปลี่ยนเป็นหยิบยกบางตอน บางส่วนมานำเสนอ ด้วยเหตุผลหลายประการ

แต่เชื่อแน่ว่าผู้ที่สนใจคงตามอ่านฉบับที่สมบูรณ์ในเดอะ การ์เดียน ได้อยู่ดี ส่วนของผมถือว่าเป็นการ "โหมโรง" ไปก็แล้วกัน

โดยรวมแล้ว "แบงค็อก เอ็มบาสซี่ เคเบิล" 3 ชิ้นแรก ว่าด้วยเรื่องไทยกับรัสเซียโดยเฉพาะ

2 ในจำนวน 3 ชิ้น ตีตราชั้นความลับเอาไว้ว่า "ลับ" อีกชิ้นที่เขียนเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2009 เป็นเพียงเอกสาร "ปกปิด" ทุกชิ้นมีตัวบุคคลที่จัดชั้นความลับและข้อกฎหมายที่ใช้รองรับการตีตราชั้นความลับนั้นๆ อยู่ด้วยชัดเจน

มี 2 ชิ้นที่บันทึกโดย อีริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาที่กำลังอำลาตำแหน่ง ถึงขนาดเข้าพบเพื่อร่ำลา กษิต ภิรมย์ เจ้ากระทรวงบัวแก้วแล้วด้วยซ้ำไป อีกชิ้นเป็นของ "เบอร์ 2" ของสถานทูต

เรื่อง "ลับ" 2 ชิ้นนั้น เกี่ยวเนื่องกับคดี "วิคเตอร์ บูท" อีกเรื่องเป็นภาพความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างไทยกับรัสเซีย เชื่อว่าเดอะ การ์เดียน เลือกนำเสนอเรื่องนี้ก่อนเพราะความโด่งดังของเจ้าของฉายา "พ่อค้าความตาย" เป็นเหตุมากกว่าอย่างอื่น

ส่วนที่เหลือยังมีอีกมากให้ลุ้นระทึกกันเป็นลำดับๆ ไป

ใน บรรดา "แบงค็อก เอ็มบาสซี่ เคเบิล" ทั้ง 3 ชิ้น มีที่น่าสนใจมากที่สุดในความเห็นของผมเป็นชิ้นที่เขียนขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2009 เป็นการสรุปการสนทนาระหว่างอีริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และท่านทูตจอห์น กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันเดียวกันนั้น

บันทึก ชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า คดีวิคเตอร์ บูท นั้นมีความสำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกาและรัสเซียมากเพียงใด แม้จะไม่มีเหตุผลอธิบายไว้ว่าเพราะเหตุใดก็ตามที ในคอมเมนต์แรกของบันทึกระบุเอาไว้อย่างนี้ครับ

"นับตั้งแต่วิ คเตอร์ บูท ถูกจับกุมในกรุงเทพฯ เมื่อเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา การคืบหน้าไปสู่การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นหัวข้อในความสัมพันธ์ทวิภาคีลำดับสูงสุดสำหรับที่นี่

นอก เหนือจากความพยายามเป็นเวลานานเดือนของสถานทูต ประธานาธิบดี (จอร์จ ดับเบิลยู.) บุช ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทยในเวลานั้น ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2008"

บันทึกชิ้นนี้สะท้อนเอาไว้ว่า แม้ว่ากระบวนการดำเนินการเรื่องนี้จะ "เนิ่นช้าอย่างเจ็บปวด" แต่ก็เคลื่อนไปในทิศทางที่สหรัฐอเมริกาต้องการ แต่...

"อย่างไร ก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ได้มีสิ่งบ่งชี้ที่ชวนให้กวนใจเกิดขึ้นที่แสดงให้เห็นว่า xxxxxx ของบูท และผู้สนับสนุนชาวรัสเซีย ได้ใช้เงินและอิทธิพลเพื่อพยายามสกัดการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้

ตัวอย่าง ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การขึ้นให้ปากคำที่เป็นเท็จของ xxxxxxx ที่ว่า การเดินทางเข้ามายังไทยของบูทนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามตกลงซื้อขายเรือดำน้ำในแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ดังนั้น เรารู้สึกว่าถึงเวลาอีกครั้งหนึ่งแล้วที่จะต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็น ประเด็นหารือกับระดับสูงสุดในรัฐบาลไทย..."

นั่นนำไปสู่การพบ หารือกันที่อาคารรัฐสภาระหว่างนายจอห์นกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เมื่อมีการถกกันถึงเรื่องนี้ บันทึกระบุเอาไว้ว่า นายกรัฐมนตรีไทยบอกเอาไว้อย่างนี้

"อภิสิทธิ์บอกเอกอัครราชทูต ว่า เขาเชื่อว่าสำนักนายกรัฐมนตรีของตนมีหนทางจำกัดอย่างยิ่งที่จะมีอิทธิพล ประการหนึ่งประการใดต่อกระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่กำลังดำเนินอยู่ เน้นว่าระบบยุติธรรมถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสอง ฝ่าย และแสดงความไม่เต็มใจในอันที่จะ "พลิกคำตัดสิน" ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ หรือ "ช่วยเหลือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด""

ท่านทูตจอห์นได้รับฟังอย่างนั้นก็ทำอย่างที่สมควรจะทำละครับ คือแสดงหลักฐานให้เห็นว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับคดีนี้!

"หลังจากได้แสดงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เอกอัครราชทูตจึงได้อธิบายถึงหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า กระบวนการดำเนินการเพื่อส่งตัวบูทในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนได้เกิดการแปดเปื้อน ขึ้นแล้ว อันเป็นผลมาจากความพยายามจากสมัครพรรคพวกของบูทที่จะติดสินบนเจ้าหน้าที่ไทย

โดย เฉพาะอย่างยิ่ง เอกอัครราชทูตได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการขึ้นให้ปากคำที่เป็นเท็จในนามของ บูทโดย xxxxxxxxx ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลว่าบูทเดินทางมายังไทยเพื่อดำเนินการทางธุรกิจอย่างเป็นทาง การกับรัฐบาลไทย เกี่ยวเนื่องกับโครงการเรือดำน้ำโครงการหนึ่ง

ราย ละเอียดของบันทึกถ้อยแถลงโดยพรรคพวกชาวไทยของบูทรายหนึ่งที่ระบุว่า เขาได้จัดการให้ xxxxxxxx ขึ้นให้การในฐานะพยานของบูทได้เรียบร้อยแล้ว, หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงแผนดำเนินกระบวนการติดสินบนที่ (สหรัฐอเมริกา) รวบรวมได้จากหลายๆ ที่ทางทั่วโลก และแผนดำเนินการเพื่อให้มีการจับกุม ซึ่งจะส่งผลในเชิงก่อกวนต่อ 2 เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐอเมริกา อาทิ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปราบปรามยาเสพติด (ดีอีเอ) 2 คนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สอบสวนสืบสวนกรณีบูท ด้วยข้อหาที่ไม่มีมูลความจริงซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินการบันทึกคำพูดของ บูทอย่างผิดกฎหมายในวันที่ดำเนินการจับกุมเขา

ถ้าหากคำให้การดัง กล่าวยังคงอยู่ต่อไป โดยไม่มีการให้การคัดง้าง มีความเป็นไปได้ว่า ศาลอาจตัดสินใจปฏิเสธการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนบนพื้นฐานของข้อสรุปที่ผิดพลาด ว่า รัฐบาลไทยกำลังดำเนินความตกลงที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่กับบูท นักค้าอาวุธที่ถูกสหประชาชาติแซงค์ชั่นอยู่ในเวลานี้"


เมื่อได้ แสดงดังนั้นแล้ว เอกอัครราชทูตจอห์นบอกกับท่านนายกรัฐมนตรี ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้แน่ใจว่า คดีนี้จะปลอดจากสินบนและคอร์รัปชั่นจริงๆ

"เอกอัครราชทูตเสนอแนะ ว่า (รัฐบาล) ควรปฏิเสธคำให้การของ xxxxxxxx พยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ทางการรายหนึ่งจากกองทัพเรือหรือกระทรวงกลาโหม และแสดงท่าทีให้แน่ใจว่ารัฐบาลไทยสนับสนุนการขอส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน"

หลัง จากรับฟังหลักฐานต่างๆ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับปากว่าจะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา "ผิดปกติ" ที่เกิดขึ้นในคดีส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนผ่านทาง "ช่องทางที่เหมาะสม"

"ใน การสรุปปิดการพบหารือครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอข้อมูลบ่งชี้ถึงตัวบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแผนดำเนินการให้สินบน และทูตยุติธรรม ซึ่งเดินทางไปพร้อมกับเอกอัครราชทูตเพื่อร่วมพบหารือครั้งนั้น ได้มอบข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้กับคนสนิทผู้หนึ่งไป"

นั่นหมายความว่า ชื่อและสิ่งที่คนเหล่านี้เตรียมการกระทำ หรือติดสินไปแล้วนั้น อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีไทยเรียบร้อยแล้ว

ผมถามได้ไหมขอรับว่า ท่านดำเนินการไปอย่างไร? ถึงไหนแล้ว?

แล้วรายชื่อในมือท่านมีใครกันบ้างหนอ?

ใน "แบงค็อก เอ็มบาสซี่ เคเบิล" อีก 2 ชิ้น ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย อันเชื่อมโยงกับกรณีของวิคเตอร์ บูท นั้น น่าสนใจไม่น้อยเช่นเดียวกัน ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2009 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับข้อเสนอแนะ "ให้ดำเนินการ" ในระดับสูง เพื่อขับเน้นให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกายึดถือคดีนี้สูงสุดเพียงใด และจะกระทบกับความสัมพันธ์ทวิภาคีได้เพียงใด ด้วยการขอให้ ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ และ/หรือ แม้กระทั่งประธานาธิบดี บารัค โอบามา ให้โทรศัพท์มาหานายกรัฐมนตรีของไทย

นั่นเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษา "ยกคำร้อง" การส่งตัววิคเตอร์ บูท ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้กับสหรัฐอเมริกาแล้ว

ความ เห็นของท่านทูตจอห์นก็คือ คำตัดสินดังกล่าวอาจถูกนำมาตีความได้ว่า ขบวนการก่อความไม่สงบทางภาคใต้ของไทยก็อาจถูกจัดเป็น "ความเคลื่อนไหวทางการเมือง" ได้ด้วย ในขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้การส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนที่ไทยต้องการลำบากยากเย็นมากยิ่งขึ้น

อีก ชิ้นหนึ่งมีเนื้อหาสาระหลักๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซีย ทั้งในทรรศนะของผู้สื่อข่าว นักวิชาการ และทรรศนะส่วนตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับรัสเซีย ตั้งแต่ด้านการค้า พลังงาน เรื่อยไปจนถึงการก่อตั้งขบวนการมาเฟียรัสเซียในเมืองไทย

มีข้อมูลเปิดเผยเอาไว้ด้วยว่า ระหว่างที่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น

พ.ต.ท.ทักษิณ "เดินทางไปมอสโกบ่อยครั้งมาก" และ "พบปะเงียบๆ กับวลาดิมีร์ ปูติน" นายกรัฐมนตรีรัสเซีย อยู่บ่อยครั้งเช่นเดียวกัน


ข้อมูลที่วิกิลีกส์เผยแพร่ออกมา ชิ้นหลังสุดนั้นเป็นเดือนธันวาคม 2009 ทำให้ผมได้ตระหนักว่า ที่สงสัยกันว่า พลทหารแบรดลีย์ แมนนิ่ง เป็นคน "ปูด" เรื่องทั้งหมดนี้ให้กับวิกิลีกส์นั้น ไม่น่าจะจริงตามนั้นเสียแล้ว

ตอนนั้นแบรดลีย์ แมนนิ่ง ถูกจับขังเดี่ยวในคุกทหารไปนานหลายเดือนแล้วซ้ำไป

คงต้องเป็นคำถามกันต่อไปว่า ใครกันแน่คือตัวการปูดเรื่องนี้ เป็น "คนใน" หรือ "แฮกเกอร์" จากภายนอก ที่ทะลวงไส้สหรัฐอเมริกาแตกยับเยินไปทั้งยวงอย่างนี้!!!

วิกิลีกส์จอมเปิดโปง ยังมีความลับให้ค้นหาอีกมากมาย โปรดติดตามต่อไปด้วยใจระทึกครับ


ที่มาบทความ: มติชนออนไลน์ (update: วันที่ 04 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19:00:00 น.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น