Ref: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (update วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 18:09:02 น.)
จาก อัลบั้มประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
“โกร่ง”ออกโรงสับแบงก์ชาติอีก เลิกอวดดี จี้ใช้ยาแรงลดดบ.ทันที0.75% กลับไปกำหนดค่าเงิน ประกาศซื้อดอลลาร์ไม่อั้น เลิกเป็นเด็กดีอยากได้โล่ห์ เตือนต่างชาติปั่นราคาหุ้นหวั่นฟองสบู่แตก ชี้ ศก.ดีแค่ภาพลวงตา คาด3-6เดือนข้างหน้าเห็นผล ระบุภาคเกษตรจะหนักสุด แถมยังกระทบชิ่งไปถึงภาคท่องเที่ยวและบริการด้วย บอกให้ทุกคนเตรียมตัว ถ้าเปลี่ยนผู้ว่าฯไม่ได้ก็ควรจะเปลี่ยนนายกฯไปซะเลย ธปท.ระบุผลการประเมินนโยบายการเงินยังดี เสนอให้เผยผลลงมติกนง. ปรับขอบล่างเป้าหมายเงินเฟ้อ ลดเงินฝืด
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 สถาบันสร้างอนาคตไทยร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “ตั้งรับยุคค่าเงินบาทแข็งตัว โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย” ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติแนนตัล
นายวีระพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 20ตุลาคมนี้ ธปท.ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75%จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.75 %เพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่าลงไม่ใช่คงอัตราดอกเบี้ยแต่ต้องลดอย่างรวดเร็ว อย่ากลัวเสียหน้า แม้จะมีคนได้คนเสียแต่ให้นึกถึงประเทศชาติไว้ก่อน ขณะเดียวกันธปท.ต้องประกาศกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าแข็งกว่าระดับนี้ประกาศไปเลยว่าจะซื้อหมด อย่าไปกลัวสหรัฐฯเพราะอยากเป็นเด็กดีขององค์การระหว่างประเทศ ธปท.ต้องลดมิจฉาทิฐิ ลดความอวดดี เลิกหลอกลวงประชาชน อย่าแล้งน้ำใจกับประเทศชาติ
“อาจจะเกิดวิกฤตรอบสองได้ เพราะความโง่เขลาของธปท.เพราะขณะนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ได้เป็นไป ตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การส่งออกที่ดีขึ้นก็ไม่ได้ดีจริง 3-6 เดือนข้างหน้าก็เห็นว่าเป็นอย่างไร เมื่อถึงจุดหนึ่งนักลงทุนต่างชาติรู้ว่าค่าเงินบาทแข็งเกินพื้นฐานของประเทศ แต่พวกเราไม่รู้ ถึงจุดนั้นนักลงทุนเหล่านั้นก็จะทุ่มโจมตีค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง อาจจะกลับมาถึงระดับ 35บาทต่อดอลลาร์ก็ได้ ค่าเงินบาทกำลังจะถูกปั่นถ้าหากบาทแข็งไปถึง25 บาทต่อดอลลาร์อาจจะไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งได้”
นายวีระพงษ์ กล่าวต่อว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวของธปท.ที่ใจดำ รู้ทั้งรู้ว่ากระแสโลกถูกสหรัฐฯบีบคั้นให้เงินหลายสกุลแข็งค่า เพื่อให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ฉนั้นองค์กรระหว่างประเทศทั้ง ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลกต่างอยู่ภายใต้สหรัฐฯทั้งสิ้น ธนาคารกลางใดที่ปฏิบัติตามองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ ก็จะได้รับการสรรเสริญเยินยอว่าเป็นธนาคารกลางที่ดี เป็นผู้ว่าการที่ดี ธปท.ก็คงอยากเป็นอย่างนั้น แทนที่จะให้ประชาชนคนไทยสรรเสริญ ถึงได้บอกว่าธปท.เห็นแก่ตัวและใจดำกับประชาชนคนไทยและประเทศชาติ เพราะผลกระทบจากค่าเงินบาทกำลังส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมเพราะไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะไม่ผลิตเพื่อการส่งออก เพราะส่งออกที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถึง 90% ก็ยังได้รับผลกระทบ ขณะที่ธปท.ก็เสนอให้ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ไม่ใช่เอกชนไม่รู้ แต่ราคาถูกกำหนดโดยต่างประเทศ
ที่หนักคือภาคการเกษตร ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตรเท่านั้นยังส่งผลกระทบไปถึงภาคท่อง เที่ยวและบริการ วิกฤตครั้งนี้อาจจะหนักกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ เพราะครั้งนี้ลำบากกันถ้วนหน้า และเชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ หรือแม้ว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์กัน แต่เชื่อว่าปี 2554 จะเจอปัญหาหนักกว่านี้แน่ เพราะผลกระทบไม่ได้เกิดทันที แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า แม้แต่ผู้นำเข้าก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วย ทุกคนรู้ ยกเว้นพวกธปท.ที่ไม่รู้ เมื่อเป็นอย่างนี้คนขายมากก็เจ๊งมาก ขายน้อยเจ๊งน้อย ก็คงจะต้องชะลอการผลิตลงในที่สุดก็จะกระทบต่อแรงงานและจ้างงาน เงินปันผล และค่าแรงที่จะปรับขึ้นก็มีปัญหา
ปัญหาที่น่าห่วง คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ตลาดทุนและตลาดหุ้น เพราะจะเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งสูงขึ้น ประเด็นนี้ต้องระวังเพราะราคาหุ้นที่มีกำไรทางบัญชีมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ แข็งค่าขึ้นจึงเป็นเพียงภาพลวงตา ไม่ใช่ของจริง ขณะที่ราคาตราสารหนี้ก็ถูกบิดเบือนไป การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. 2 ครั้งที่ผ่านมา คือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเพราะสหรัฐยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ธปท.ต้องการจะปัดความรับผิดชอบ ที่จริงไม่ทำอะไรยังจะเสียหายยิ่งกว่าทำผิดเสียอีก ที่สุดเราคงคงต้องระวังตัวเอง เพราะว่าธปท.พูดไม่รู้เรื่องแล้วมีมิจฉาทิฐิ มีอวิชาเข้าสิงการที่ ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นคงเพราะต้องการรักษาหน้าของตัวเองมากกกว่า ประเทศชาติ จะคอยดูหน้าของธปท.กับความฉิบหายยับเยินของประเทศธปท.จะเลือกอย่างไหน เท่าที่ดูผู้ว่าการฯคนใหม่ยิ่งหนักกว่าผู้ว่าฯคนเก่าอีก หยุดพูดได้แล้วว่าค่าเงินบาทเป็นไปตามภูมิภาค แต่ทำไมสิงคโปร์ และอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงอย่างหนัก ความจริงคือ เงินบาทแข็งค่าเร็วมากกว่าคนอื่น ไม่ควรจะไปอ้างใครควรจะดูตัวเอง ดูว่าโครงสร้างเศรษฐกิจเราเป็นอย่างไร และทำไมจะต้องเป็นไปตามภูมิภาคยกเว้น จีนกับฮ่องกงหรือยังไง ธปท.บอกว่าบาทแข็งแล้วจะดี จะได้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่จริงเลยเพราะคนกำลังจะเจ๊งจะไปขยายการลงทุนอะไรได้
“5-6 มาตรการที่ธปท.ออกมายังเกาไม่ถูกที่คัน ที่เจ็บใจคือ ธปท.บอกว่า บาทแข็งค่าไม่กระทบส่งออก มีผู้ได้ประโยชน์ ถ้าไม่ต้องการเป็นผู้ว่าดีเด่น ธนาคารกลางดีเด่นขอให้เป็นรางวัลที่คนไทยให้ไม่ได้รางวัลจากต่างชาติ ถ้าคิดได้ ปัญญาก็จะเกิด อวิชชาก็จะหายไป คนไทยไม่ได้กินหญ้าที่ธปท.แนะให้คนไทยเอาเงินไปซื้อดอลลาร์ไปลงทุนในสหรัฐ ขณะที่ตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอดจะให้ไปลงทุนที่ไหน”
นายวีรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นถูกบิดเบือนไปแล้วสหรัฐไม่ได้ฟื้นจริงแถมยังจะพิมพ์เงินเพิ่ม ขึ้นและยังสั่งการให้องค์การระหว่างประเทศต่างๆปั่นราคา ผลที่เกิดขึ้นขณะนี้คือภาพลวงตาในตลาด บริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแม้บัญชีจะแสดงผลกำไรจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ขึ้น ทั้งๆที่ผลประกอบการไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ต่างชาติก็รับรู้ว่าสิ้นปี2553นี้ ผลกำไรทางบัญชีก็จะเพิ่มขึ้น ก็ปั่นราคาหุ้นบริษัทเหล่านี้
“ผมขอให้ทุกคนเตรียมตัว ถ้าเปลี่ยนผู้ว่าฯไม่ได้ก็ควรจะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ที่ธปท.ไม่ทำเพราะเขาโง่ พรรคฝ่ายค้านควรจะเสนอให้แก้กฎหมายธปท.ให้มีการคานอำนาจระหว่างผู้ว่า ธปท.กับรัฐมนตรีคลัง เพราะพอธปท.เป็นอิสระเขาก็มีอวิชามีความหยิ่งยโสก็จะไม่ฟังใครเลย ”
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยผลการประเมินการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงิน เฟ้อ(2543-2553)ที่ธปท.ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญอิสระจากต่างประเทศว่า กรอบนโยบายการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีอยู่ แล้ว แต่ผู้ประเมินเห็นว่ายังมีบางจุดที่ผู้ประเมินเห็นว่า ธปท.ควรพิจารณาเปิดเผยผลการลงมติ และรายงานการประชุมของกนง. และควรจะให้ความสำคัญกับค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อมากกว่ากรอบเพดานที่ ปัจจุบันธปท.กำหนดไว้ที่0.5-3%เพื่อลดโอกาสที่อาจเข้าใจผิดว่าขอบบนของช่วง เป้าหมายเป็นสิ่งที่กนง.คาดหวังจะเห็น และควรปรับขอบล่างของช่วงเป้าหมายขึ้นเพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาเงินฝืดโดยมีการ เสนอให้ธปท.ปรับขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อขึ้นจากปัจจุบันที่กำหนดไว้ ที่ 0.5% โดยต่างประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1% ประเด็นดังกล่าวธปท.จะเสนอให้กนง.พิจารณาต่อไป
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ผู้ประเมินเห็นว่าการดำเนินนโยบายนี้ของประเทศไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สอดคล้องกับ มาตรฐานสากลสูงสุด ขณะเดียวกันก็ประเมินว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าว ยังเหมาะสมกับประเทศไทยในระยะต่อไป ซึ่ง ธปท. จะนำผลประเมินนี้เข้าหารือกับกนง. เพื่อพิจารณาทั้งนี้ผลการประเมินพบว่า ธปท. สามารถทำได้ดีในด้านการรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยอยู่ภายในกรอบเป้าหมาย 90% ของเวลาที่ได้ดำเนินนโยบาย และที่ออกนอกเป้าหมายก็เป็นด้านที่ต่ำกว่าเป้าหมายแม้ ธปท. จะนำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการประเมินว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เฉลี่ยที่ร้อยละ 4.2% ต่อปีแต่คาดน่าจะสูงกว่านี้ ถ้าไม่เกิดวิกฤตการเงินโลกและมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ผู้ประเมินยังมีความเห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ไม่ได้ขัดกับการดำเนินงานในด้านอื่นของ ธปท. ทั้งการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน หรือด้านการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้วิกฤติการเงินโลกที่ผ่านมาทำให้ผู้ประเมินมีความเห็นว่า การที่งานด้านกำกับดูแลสถาบันการเงินยังอยู่ที่ธนาคารกลางน่าจะเป็นข้อดี ในด้านการแก้ไขปัญหาที่จะสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว
จาก อัลบั้มประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
Ref: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (update วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 07:19:52 น.)
คำต่อคำผู้ว่าแบงก์ชาติ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" โต้ "ดร.โกร่ง" วีรพงษ์ รามางกูร แก้เงินบาทแข็งค่า ระบุหากจะกลับไปกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนมีความเสี่ยงสูง ไปฝืนตลาดไม่ได้ แถมยังต้องใช้เงินมาก และจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศเหมือนปี40 ยันนโยบายที่ใช้อยู่ยืดหยุ่นพอควร โยนการปรับอัตราดอกเบี้ย 20ต.ค.นี้เป็นเรื่องของกนง.
หมายเหตุ :
ภายหลังจากนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างหนัก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้ให้สัมภาษณ์ระหว่างการไปร่วมประชุมการสัมมนาวิชาการระหว่างประเทศของ ธปท. ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี มีรายละเอียดดังนี้
----------------------------
@มีความเห็นอย่างไรต่อกรณีนายวีรพงษ์ เสนอให้ ธปท.กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
สภาวะ ขณะนี้เป็นสถานการณ์ฝุ่นตลบ ฝุ่นยังไม่สงบ แล้วอยู่ดีๆ เราก็เข้าไปบอกว่าจะเอาอย่างนี้ ก็ค่อนข้างจะอันตรายเพราะไม่มีใครทำนายได้ว่าดุลยภาพที่เหมาะสมอยู่ในระดับ ใด เพราะปัญหาระลอกนี้ เศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโตต่ำและคาดว่า 2-3 วันนี้มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะเพิ่มปริมาณเงินในระบบอีก ประเด็นนี้ต้องจับตา ตอนนี้จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและถือเป็นจุดสุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างมาก ถ้าจะไปฝืนตลาดก็อันตรายมาก การกลับไปกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนก็จะมีความเสี่ยงสูงเพราะเคยเกิดขึ้นกับ ประเทศไทยมาแล้ว ถ้าผู้ลงทุนไม่เชื่อในดุลยภาพที่ ธปท.สร้างขึ้นมา เราจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงมาก เท่ากับว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมาก เพราะจะเห็นว่าบางประเทศที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เมื่อถึงจุดที่ต้อง ปรับเปลี่ยนมีความเสียหายตามมามาก และเราก็ได้รับบทเรียนมาแล้วเมื่อวิกฤตปี 2540
ที่สำคัญกว่านั้น หลังจากวิกฤตดังกล่าว ธปท.ได้มีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ด้าน คือ 1.การดำเนินนโยบายการเงินเป็นการตัดสินใจโดยคณะบุคคลโดยจะเห็นว่าคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) มีผู้ทรงคุณวุฒิจากคนนอกมากกว่าคนในด้วยซ้ำ 2.กรอบนโยบายการเงินชัดเจนขึ้น โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นแบบมีการจัดการ ธปท.จะไม่ฝืนกลไกตลาด แต่ก็จะไม่ให้เงินทุนไหลเข้าออกได้ 100% ธปท.ยังดูแลอยู่ แต่ ธปท.จะทำทั้ง 3 อย่างพร้อมกันไม่ได้ คือ ทั้ง 1.ดูและเสถียรภาพด้านราคา 2.ให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี และ 3.กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน
บทเรียนปี 2540 ทำให้รู้ว่าเราไม่สามารถทำทั้ง 3 อย่างพร้อมกันได้ จึงเลือกทำได้เพียง 2 ใน 3 เท่านั้น คือ ธปท.เลือกจะดูแลเสถียรภาพด้านราคาและให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรีพอ สมควร
@แล้วตอนนี้ถึงเวลาทบทวนนโยบายหรือไม่
แม้ เราจะไม่สามารถทำทั้ง 3 อย่างพร้อมกันได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่านโยบายการเงินที่ ธปท.ทำอยู่ก็มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นพอสมควร และเราไม่แน่ใจว่าดุลยภาพใหม่ที่เราสร้างขึ้น ถ้าไปทำตอนนี้จะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศชาติ เพราะยังไม่มีใครรู้เลยว่าดุลยภาพที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับไหน
@จนถึงขณะนี้การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด
ขณะ นี้ค่าเงินบาทได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในภาคส่งออกและการท่องเที่ยวและ ธุรกิจที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศ ความจริงควรจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนและการบริโภคเพิ่มขึ้น เวลานี้เป็นจังหวะที่จะซื้อเครื่องจักร แต่คนที่ได้ประโยชน์ก็เงียบ
ที่ ธปท.เป็นห่วงคือ หากความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นไปอย่างฉับพลันอาจจะส่งผลต่อภาคการส่งออกและ การท่องเที่ยวได้ แต่ ธปท.ก็เข้าไปซื้อ-ขายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้น แต่จะไปฝืนกระแสไม่ได้ หากจะให้ออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นก็อาจมีผลกระทบข้างเคียงเพิ่มขึ้นด้วยเช่น กัน แต่ ธปท.ก็ดูมาตรการที่มีอยู่ไม่ใช่เราไม่มีประสบการณ์ แต่คนที่รับผิดชอบคือ ธปท.
@ตอนนี้จำเป็นที่ต้องใช้ยาแรงหรือไม่
จะ ให้ ธปท.ใช้ยาแรงเรื่องประสิทธิผลยังเป็นคำถามอยู่ เพราะทั้งญี่ปุ่นและบราซิลที่ออกมาตรการควบคุมเงินทุนแต่กลับพบว่าได้ผลน้อย มาก แม้ขณะนี้เราจะแยกการเก็งกำไรได้ยากแต่ก็มีข้อมูลยืนยันได้ว่า เงินที่ไหลเข้ามาในประเทศยังเป็นไปตามเศรษฐกิจในเอเชียที่เติบโตได้ดี
@นายวีรพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่าค่าเงินบาทกำลังถูกโจมตี เงินทุนที่ไหลเข้ามาไม่ได้เป็นไปตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อาจเกิดต้มยำกุ้งรอบ 2 ความจริงแล้วเป็นอย่างไร
ข้อมูลพื้นฐานทาง เศรษฐกิจที่เห็นชัดคือในสหรัฐ ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ยังไม่ดี ล่าสุดรายงานการประชุมคณะกรรมการตลาดการเงินของธนาคารกลางสหรัฐก็แสดงความ เป็นห่วง และส่งสัญญาณว่าจะปล่อยปริมาณเงินค่อนข้างมากในเดือนพฤศจิกายนนี้ก็เป็นข้อ เท็จจริงว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ค่อยดี ยุโรปบางประเทศแม้จะฟื้นตัวบ้างแต่โดยรวมก็ยังไม่ดี ในทางกลับกัน ความจริงแล้วเศรษฐกิจไทยและเอเชียมีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญทำให้เงินทุน ไหลเข้ามายังประเทศในภูมิภาค ในขณะที่สหรัฐยังน่าเป็นห่วง ถ้าเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเดียวกันแล้วเงินทุนไหลเข้าอย่างนี้มันน่ากลัว เพราะอาจเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น แต่ขณะนี้ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย รวมทั้งไทยมีดุลบัญชีชำระเงินและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตรงข้ามกับสหรัฐ ที่ยังขาดดุลอยู่
@มีโอกาสที่การประชุมกนง.รอบนี้จะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่
การ ประชุม กนง.ในอีก 4-5 วันนี้ก็ต้องมาพิจารณาร่วมกัน แต่การปรับดอกเบี้ยไป 2 ครั้งที่ผ่านมาก็มีข้อมูลที่ยืนยันได้ถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและสอดคล้อง กับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น แต่การประชุมรอบนี้จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับ กนง. ไม่ได้เป็นการตัดสินใจเฉพาะผู้ว่าฯกนง.ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ยอมรับว่าประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนก็จะนำไปพิจารณาในการประชุมวันที่ 20 ตุลาคมนี้ด้วยเช่นเดียวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็ต้องนำมาพิจารณา เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านนโยบายซึ่งขณะนี้ยังเป็นประเด็นสำหรับ ประเทศในภูมิภาค
@หนักใจกับการทำงานที่มีแรงกดดันจากภายนอกเพิ่มมากหรือไม่
เป็น เรื่องธรรมดาที่จะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ ธปท. เพราะ ธปท.ต้องดูแลเสถียรภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวก็จะมีทั้งฝ่ายที่ถูกใจและ ไม่ถูกใจจะทำให้ทุกฝ่ายถูกใจไม่ได้ แต่ก็พยายามเรียนรู้บทเรียนจากอดีตมาปรับปรุง จึงไม่ได้หนักใจอะไร จะให้ออกมาตรการใดมีทั้งคนได้และเสียผลประโยชน์ แต่ก็ไม่มีปัญหา หากกระทรวงการคลังจะเข้ามาคานอำนาจ ธปท.ตามที่นายวีรพงษ์เสนอ เพราะอย่าลืมว่า กนง.ก็มีคนนอกอยู่แล้ว และการออกมาตรการเก็บภาษีของกระทรวงคลังก็ไม่มีอะไรที่ขัดกันกับ ธปท.
@มีการพาดพิงว่าผู้ว่าฯธปท.อยากเอาใจไอเอ็มเอฟอยากได้เหรียญ จะทำอะไรก็กลัวจะเสียหน้า
ผม ไม่ได้อยากได้เหรียญไอเอ็มเอฟ และความจริงเราไม่ได้แคร์เขามากขนาดนั้น เพราะเราเป็นประเทศเจ้าหนี้เขาไม่ใช่ลูกหนี้เขาแล้ว ทุนสำรองระหว่างประเทศเราก็มีมากในขณะที่เขาก็ยังอ่อนแออยู่
@มองสถานการณ์ข้างหน้าอย่างไรในเมื่อแต่ละประเทศยังต่างคนต่างทำ
ผม เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน เมื่อประเทศยักษ์ใหญ่ชนกันก็เหมือนช้างสาร แต่เราเป็นเหมือนหญ้าแพรกที่เลี่ยงไม่ได้ว่าจะถูกกระทบ ถ้ายังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาร่วมกันก็เป็นห่วงว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเกิดความชะงักงันจริงๆ เราจึงได้หารือกันระหว่างธนาคารกลางประเทศอื่นเป็นระยะๆ เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เพราะทุกคนเดือดร้อนกันหมด แต่ไม่อยากพูดอะไรมากเพราะไม่เหมาะสม
------------------------
ที่มาบทความ: วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 08:33:31 น.
บทความชื่อ: คนเดินตรอก โดย...วีรพงษ์ รามางกูร
ดร.โกร่งดับเครื่องชน "ธปท.-ปธ.แบงก์ชาติ-รมว.คลัง" แก้บาทแข็งเวอร์ชั่นคนเดินตรอก เตือนระวังพัง
"ดร.โกร่ง" คนเดินตรอกออกโรงฉะแบงก์ชาติผ่านคอลัมน์"คนเดินตรอก" จวกยับผู้บริหารแบงก์ชาติตั้งแต่ผู้ว่าการฯยันประธานธปท. รมว.คลัง กระทั่งรมว.พาณิชย์ พูดได้ไงบาทแข็งไม่กระทบส่งออก-เศรษฐกิจของประเทศ ทั้งๆที่ภาคเอกชนร้องกันเซ็งแซ่ ทั้งสภาอุตฯ สภาหอการค้าฯ อัดคนแบงก์ชาติไม่รู้ศก.ไทยทั้งที่มีคนจบดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์นั่งตบยุง เต็มไปหมด แนะให้พูดน้อยๆหน่อย ย้ำถ้าไม่อยากให้บาทแข็งต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลง เตือนรัฐบาลอาจจะพังเพราะปัญหาบาทแข็ง
ค่าเงินบาทแข็งเร็วเกินไปอีกแล้ว
ขณะนี้ในวงการธุรกิจต่างก็หวาดผวากับค่าเงินบาทที่จะ แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินตราสกุลอื่น ๆ ในทวีปเอเชียเกือบทั้งหมด รวมทั้งประเทศจีน ซึ่งนับวันจะยิ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยเราเพิ่มขึ้น
ในขณะที่เอกชนไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้าก็ดี สภาอุตสาหกรรมก็ดี สื่อมวลชนก็ดี ออกมาส่งเสียงเซ็งแซ่กันไปทั่วว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่านี้จะเป็นการทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศเรา แต่ผู้ว่าการ ธปท.ก็ดี ประธานคณะกรรมการ ธปท.ก็ดี ออกมาพูดได้อย่างไรก็ไม่ทราบว่า เงินบาทที่แข็งขึ้นไม่กระทบการส่งออก ไม่กระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็เป็นไปกับเขาด้วย ออกมาแก้ต่างให้ ธปท.ถ้า ธปท.ออกมาพูดฝ่ายเดียวก็พอเข้าใจ เพราะ ธปท.ไม่เคยเข้าใจและไม่สนใจความรุนแรงของการแข็งค่าของเงินต่อการ ส่งออก และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สื่อมวลชนของเราก็ไม่เคยเข้าใจ คอยแต่เอาอกเอาใจ ธปท. เพื่อจะได้ข่าวจากผู้ใหญ่ใน ธปท.
ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นย่อมมีผลกระทบ ต่อการส่งออก การส่งออกย่อมกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ หลายคนเข้าใจว่าเมื่อค่าเงินบาทแข็งขึ้นก็ย่อมทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมที่ ต้องนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ถูกลง แต่ไม่พูดว่าผู้ส่งออกที่ขายของเป็นเงินดอลลาร์ เมื่อนำเงินมาแลกเป็นเงินบาทก็ได้เงินบาทน้อยลงเป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่าการลด ลงของวัตถุดิบ ชิ้นส่วนต่าง ๆ เสมอไม่ว่าจะใช้วัตถุดิบ ชิ้นส่วนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมดก็ตาม ยิ่งมีต้นทุนจากการนำเข้าน้อย เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ก็ยิ่งถูกกระทบมาก
ยกตัวอย่างบริษัทแห่งหนึ่งนำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบเกือบทั้งหมด ณ อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าของการนำเข้าที่เป็นวัตถุดิบชิ้นส่วน คิดเป็นเงินบาทได้ 950 บาท เสียค่าขนส่ง ค่าจ้างเงินเดือน ค่าเช่า ค่าไฟ ค่าน้ำ รวมเฉลี่ย ต่อหน่วย 5 บาท ขายออกไปได้ 1,000 บาทต่อหน่วย กำไร 5 บาท หรือครึ่งเปอร์เซ็นต์
ต่อมาอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนจาก 33 บาท มาเป็น 30 บาท หรือประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนที่นำเข้าก็จะลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ด้วย คือประมาณ 81 บาท ส่วนรายรับเมื่อแตกเป็นเงินบาทจะลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ด้วย กล่าวคือ ลดลง ประมาณ 90 บาท ต้นทุนลดลง 81 บาท แต่รายได้หายไป 90 บาท จากที่เคยกำไร 5 บาท ต่อชิ้น กลายเป็นขาดทุน 4 บาท ต่อชิ้น รายได้ที่แตกเป็นเงินบาทใน อัตราแลกเงินบาทที่แข็งขึ้นย่อมลด ลงมากกว่าการลดลงของต้นทุนที่ลดลงเสมอ เพราะไม่มีใครทนขายของที่มีรายได้ต่ำกว่าต้นทุนได้นาน
เมื่อจะตั้งราคาขายลอตใหม่ก็ต้องตั้งราคาเพิ่มขึ้น 9 บาท จึงจะกลับมาอยู่ในฐานะเดิม ทำให้ต้องตั้งราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะขายได้ยากขึ้น หรือไม่ก็ต้องลดปริมาณการส่งออกลงในกรณีที่ขึ้นราคาขายไม่ได้ เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกอาจจะต้องเลิกการส่งออก ผลิตแค่ขายในประเทศก็พอ ทำให้การส่งออกน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น แม้ตัวเลขการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเงินบาทไม่แข็งขึ้น
ถ้าสัดส่วนของการนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนยิ่งมีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่า นี้ เช่น มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยมากในกรณีของสินค้าจากภาคเกษตรหรืออาหาร เช่น หมู ไก่ หรืออาหารสำเร็จรูป หรือที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร ประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นต่อต้นทุนการนำเข้าก็จะยิ่งน้อยกว่าราย รับที่ลดลง เมื่อแลกเป็นเงินบาทมากขึ้นก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงเป็นเปอร์เซ็นต์ ที่มากกว่าสินค้าที่มีสัดส่วนของการนำเข้าสูงมากขึ้น เช่น สินค้าที่มีสัดส่วนของต้นทุนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนจะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่รายรับเมื่อแตกเป็นเงินบาทจะลดลงอย่างเต็มที่
อัตราแลกเปลี่ยนย่อมกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย เพราะมีการแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมาก เมื่อเงินบาทแข็งขึ้นบริษัทนำเที่ยวก็ต้องขึ้นราคามิฉะนั้นก็ขาดทุน ทำให้การเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมีราคาแพง
การกล่าวว่า ไม่กระทบกระเทือนต่อการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะประเทศอื่นในภูมิภาคก็มีค่าเงินที่ แข็งขึ้น แต่ดูให้ดี ค่าเงินบาทของเราแข็งขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและสิงคโปร์
การกล่าวว่า เงินบาทที่แข็งขึ้นไม่กระทบการส่งออก ไม่กระทบต่อชาวไร่ชาวนา จึงเป็นการกล่าวอย่างไม่รับผิดชอบ หรือไม่ก็กล่าวโดยไม่รู้ หรือรู้แต่พูดแก้ตัว ถ้ารู้ก็เป็นการกล่าวเท็จ
หนักยิ่งกว่านั้น เคยฟังประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้ว่าการ ธปท.พูดว่า จะไม่กำหนดเป้าหมายของอัตราแลกเปลี่ยนแล้วแทรกแซงให้ได้ตามเป้าหมาย แถมย้ำว่า จำไม่ได้หรือปี 2540 เราถูกโจมตีค่าเงินบาทเจ็บแสบ แค่ไหน
ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นคำกล่าวของผู้หลักผู้ใหญ่ใน ธปท.เพราะประเทศที่ถูกโจมตีคือประเทศที่ตรึงค่าเงินไว้แข็งกว่าความเป็นจริง ทั้ง ๆ ที่ฐานะทุนสำรองก็ต่ำ ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ขาดดุล จึงถูกโจมตีให้ค่าเงินอ่อนลง แต่ถ้าค่าเงินควรแข็งและตรึงไว้ให้อ่อน ยังไม่เคยเห็นเงินของประเทศไหนถูกโจมตีให้แข็งขึ้น เพราะถ้าโจมตีก็คือ ขนเงินดอลลาร์มาซื้อเงินบาทแบบหนัก ๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ของ ธปท.ยังมีความคิดเหมือนกับเต่าล้านปีที่หงายท้อง ไม่สามารถปรับตัวปรับความคิด ทั้ง ๆ ที่ฐานะทางการเงินของประเทศไทยเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือแล้ว ก็ยังไม่ตื่นจากฝันร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540
สาเหตุสำคัญที่เงินบาทแข็งเร็วมากผิดปกติ ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญก็เพราะ ธปท.ประกาศขึ้นดอกเบี้ย แถมยังประกาศล่วงหน้าว่าจะขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายปี ขณะเดียวกันเจ้าของเงินดอลลาร์คือสหรัฐอเมริกาประกาศตรึงดอกเบี้ยไว้
ไม่ขึ้นดอกเบี้ย จึงเป็นเหตุให้ผลต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินบาทกับเงินดอลลาร์ถ่างมากขึ้น ผลตอบแทนต่อเงินบาทสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลตอบแทนต่อการถือเงินดอลลาร์ ฝรั่งจึงขนเงินดอลลาร์มาแตกเป็นเงินบาท แล้วนำมาลงทุนในตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้นบ้าง ฝรั่งเลยได้กำไร 3 ต่อ คือ ฝากธนาคารไว้ก็ได้กำไรกว่าอยู่ที่อเมริกา เข้ามาซื้อหุ้น พอหุ้นขึ้นก็ขายได้กำไร พร้อม ๆ กันค่าเงินบาทก็แข็งขึ้น ยิ่งเข้ามาเงินก็ยิ่งแข็ง ตกลงกำไร 3 เด้ง
ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ตลาดเงินตราต่างประเทศก็เล็ก ตลาดพันธบัตรก็เล็ก ตลาดหุ้นก็เล็ก ฝรั่งนำเงินเข้ามาซื้อ ราคาหุ้นก็ขึ้น ค่าเงินบาทก็ขึ้น เวลาขึ้นเขาก็ขายได้กำไร ได้กำไรไปแล้วก็ไม่ต้องเอาออก ฝากธนาคารในเมืองไทยก็ได้ดอกเบี้ยมากกว่าเมืองนอก
วิธีแก้ไขของ ธปท.ก็น่ารัก คือ ผ่อนผันให้คนไทยนำเงินออกไปลงทุนใน ต่างประเทศได้ แต่คนไทยไม่ได้กินแกลบกินหญ้า ก็รู้เท่า ๆ กับฝรั่ง คือ ฝรั่งขนเงินดอลลาร์เข้าเมืองไทย มาแตกเป็นเงินบาท คนไทยมีเงินบาท ซึ่งมีอนาคตกว่าดอลลาร์ในเรื่องค่าเงิน แล้วคนไทยจะเอาเงินบาท ไปแตกเป็นดอลลาร์ไปลงทุนในต่างประเทศทำไม นอกจากเอาไปซื้อบ้านราคาถูกในสหรัฐ เราอยากเห็นอย่างนั้นหรือ ซึ่งคงจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาของ ผู้ผลิตในเมืองไทยกำลังเผชิญ
ขณะเดียวกันผู้คนก็ผวากลัวว่า ธปท.จะออกมาตรการแปลก ๆ อย่างที่เคยทำมาแล้ว เหมือนการออกมาตรการให้สำรองการนำเงินเข้า 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2550 วันเดียวดัชนีราคาหุ้นลดลงกว่า 100 จุด มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือที่เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า ′market cap′ ลดลงกว่าแสนล้านบาท ไม่มีอะไรที่ ธปท.ทำไม่ได้ เพราะความไม่รู้เศรษฐกิจไทย ทั้ง ๆ ที่ มีนักเรียนทุนจบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์นั่งตบยุงกันเต็มสำนักงาน เหลือเชื่อจริง ๆ
ถ้าไม่อยากให้เงินบาทแข็งเร็วอย่างที่ผ่านมาก็ควรลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายเลิกพูดว่าบัดนี้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นแล้ว และควรลดอัตราดอกเบี้ยโดยเร็ว เพราะอัตราดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเหมือนด้านหัวกับด้านก้อยของ เหรียญอันเดียวกัน ขณะเดียวกันก็เอาเงินบาทซึ่ง ธปท. มีไม่จำกัดออกมาซื้อดอลลาร์เข้าใส่เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ทุนสำรองมีมากขึ้น เงินบาทที่นำออกมาซื้อดอลลาร์ต้องมากพอจนเงินบาทอ่อนลงสู่ระดับที่เป็นเป้า หมายที่ตั้งไว้ในใจ ไม่ต้องบอกใครก็ได้ ค่อย ๆ เคลื่อนไหวก็ได้ แบบจีนเขาทำถ้าเห็นว่าสภาพคล่องในตลาดมากเกินไปก็ออกพันธบัตรของ ธปท.ออกมาดูดซับ กลับคืนไป อย่ากลัวเสียดอกเบี้ยมากทีขึ้นดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนยังไม่เห็นกลัว กลับไปกลัวเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องอีกนาน เพราะราคาพลังงานก็ไม่น่าจะขึ้นจากความต้องการใช้ เมืองไทยนั้นอัตราเงินเฟ้อขึ้นอยู่กับพลังงานกับอัตราแลกเปลี่ยนเอาเรื่อง เฉพาะหน้าระยะสั้นก่อน เพราะนโยบายการเงินเป็นนโยบายระยะสั้นไม่ใช่ระยะยาวอย่างที่ท่านว่าที่ผู้ ว่าการเข้าใจ ยิ่งตลาดเงินบาทบ้านเราเป็นตลาดเล็ก ไม่ใช่ตลาดใหญ่อย่างตลาดดอลลาร์ เราต้องเป็นเรือเข็ม ไม่ใช่เรือเอี้ยมจุ๊น อย่างอเมริกา
อีกอย่างอย่าไปเชื่อไอเอ็มเอฟ หรืออยากได้คำชมเชยจากไอเอ็มเอฟมากนัก เพราะกรรมการไอเอ็มเอฟที่มีอิทธิพลมาก ที่นั่นเป็นคนที่ธนาคารกลางอเมริกาส่งมา จุดมุ่งหมายเขาเพื่อประโยชน์ของอเมริกา ไม่ใช่จะมาดูแลผลประโยชน์ของประเทศเรา ผลประโยชน์ของไทยเราก็มีแต่คนไทยเท่านั้นที่จะช่วยกันดูแล
ถ้าผู้ใหญ่ใน ธปท.ไม่ค่อยรู้เรื่องเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะภาคผลิต ภาคการส่งออก การขยายตัวทางเศรษฐกิจ พูดน้อย ๆ หน่อยก็จะดี ผู้คนจะได้ไม่รู้ว่า ธปท.ไม่ค่อยรู้เรื่องทางภาคเศรษฐกิจที่ แท้จริงมากนัก
ภาคธุรกิจทั้งส่งออกและผลิตชิ้นส่วน ส่งให้โรงงานผู้ส่งออกที่ทำงานมาทั้งปีเจอฝรั่งมาโยกตลาด 2-3 ที โดย ธปท.ช่วยพูดให้ท้ายด้วยความไร้เดียงสา ฝรั่งเอาไปกินหมด พวกเราทำงานฟรี แถมขาดทุนด้วย แล้วยังถูก ธปท.พูดให้ช้ำใจอีก
เมื่อจะเปลี่ยนผู้ว่าการ ทีแรกก็ดีใจแต่พออ่านที่ว่าที่ผู้ว่าการให้สัมภาษณ์ก็ดี ฟังดูวิสัยทัศน์ก็ดี ดูจะหนักกว่าเก่าในความไม่เข้าใจเศรษฐกิจของไทย วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ผ่านมา ธปท.เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ไม่เคยเกิดขึ้นเพราะวินัยทางการคลังในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังเลย
ภาระการชำระหนี้ในประเทศที่เป็น ภาระแก่ผู้เสียภาษีและงบประมาณแผ่นดินก็เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากกองทุน ฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันการเงินในความดูแล ของ ธปท.เป็นส่วนใหญ่ กระทรวงการคลังต้องตั้งงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยให้ถึงปีละ 50,000 ล้านบาท ธปท.ซึ่งสัญญาว่าจะจ่ายเงินต้นก็ไม่เคยผ่อนจ่ายหนี้กว่า 2.2 ล้านล้านบาทนี้เลย
สื่อมวลชนก็ลำเอียง ธปท.พูดอะไรเชื่อหมด ไม่มีความรู้พอที่จะวิเคราะห์ว่าอะไรถูก อะไรผิด แถมรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังออกกฎหมายให้ ธปท.เป็นอิสระเต็มที่ ปราศจากการถ่วงดุลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเลย ด้วยเหตุผลเดียว ไม่ไว้ใจนักการเมือง แต่ไว้ใจสถาบันที่เคยสร้างความพินาศให้กับประเทศไทยครั้งแล้ว ครั้งเล่า
การไม่รับผิดชอบ ไม่ทำอะไร ทั้ง ๆ ที่มีหน้าที่ต้องทำ บางทีเสียหายยิ่งกว่านักการเมืองที่ทุจริตเสียอีก นักการเมือง เขารู้ดีว่าจะเสียหายอย่างไร เพียงแต่เขาพูดเป็นระบบไม่ได้เท่านั้น
รัฐบาลอาจจะพังด้วยเรื่องนี้ก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น