ิัby Herogeneral on 2010-09-23 - 01:32 pm
ที่มาข้อมูล: prachatai-newspaper google groups
Ref: บทความเรื่อง นักปรัชญาชายขอบ: ตาสว่างและเดินทางต่อ โดย นักปรัชญาชายขอบ
(update Wed, 2010-09-22 17:49)
ผมรู้สึกชื่นชมไอเดีย “เขียนจดหมายถึงฟ้า” กับ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” มาก ในขณะที่ขำเกือบตกเก้าอี้เมื่อเห็นท่าน “อภิสิทธัตถะ” เทศนาอัปปมาทกถา (ถ้อยแถลงว่าด้วยความไม่ประมาท) ทางทีวีว่า ให้ระมัดระวัง “ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์”
แสดงว่า ในสายตาของเขาไม่ว่าคนเสื้อแดงจะขยับทำอะไร ก็ต้องรุนแรงเสมอ ไม่รุนแรงทางกายภาพก็ต้องรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ แต่โทษทีครับ สติปัญญาระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากอ๊อกฟอร์ดคิดไม่ออกเลยหรือไงว่า เป็นนายกฯ แล้วออกมาปรามประชาชนโดยอ้าง “ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์” ในสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยถูกใช้สัญลักษณ์กดทับไว้เช่นทุกวันนี้ มันเป็น “ทัศนะอำมหิต” ต่อการใช้เสรีภาพทางการเมืองของประชาชนที่จะบอกเล่าความจริงและทวงคืนประชาธิปไตยมากเกินไป!
นึกถึงประโยคสรุปในหนังสือ “สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย” ของ อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่ว่า “ถึงเวลาที่ต้องให้การศึกษาแก่ชนชั้นนำให้เข้าใจและรู้คุณค่าประชาธิปไตย” มันเป็นข้อสรุปที่สวนทางกับทัศนะของชนชั้นนำที่พูดซ้ำๆ ซากๆ ว่า ประชาชนโง่ ไม่รู้ประชาธิปไตย จะต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนให้เข้าใจประชาธิปไตย แต่ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ “อุปสรรค” ที่เด่นชัดของพัฒนาการประชาธิปไตยก็คือ “ชนชั้นนำ”
จดหมายถึงฟ้า มันจึงมีความหมายสำคัญว่า ประชาชน เช่น คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กรรมกร ชาวนา แม่ค้าขายส้มตำ ลูกชิ้น ฯลฯ เขาตาสว่างแล้ว เขาเกิดปัญญารู้แจ้ง (Enlightenment) แล้วว่าประชาธิปไตยคืออะไร และเขาต้องการสอนบรรดาชนชั้นนำ
โดยเฉพาะ “คนอย่างอภิสิทธัตถะ” ซึ่งถูกยกให้มีอภิสิทธิ์ทางศีลธรรมให้รู้ว่าคุณไม่สามารถต้านกระแสประชาธิปไตยได้ คนที่ต้านกระแสประชาธิปไตยคือคนที่ต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
พูดอย่างถึงที่สุด ต้านกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย คือ ต้านกระแสเรียกร้องความเป็นคน ซึ่ง “ความเป็นคน” นั้นโดยพื้นฐาน หรือโดย essence เลย คือ freedom หรือเสรีภาพ รูปแบบการปกครองของรัฐที่จำกัดเสรีภาพก็เท่ากับจำกัดความเป็นคน อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่นี่ไง เพราะเราถูกจำกัดความเป็นคนจนเคยชิน
เราจึงไม่รู้ว่าความเป็นคนของตัวเองและเพื่อนมนุษย์คืออะไร เราจึงเรียกร้องอำนาจพิเศษ อำนาจเบ็ดเสร็จของกองทัพ การใช้ พรก.ฉุกเฉิน ฯลฯ มาจำกัดความเป็นคนของตัวเองและเพื่อนมนุษย์ ไม่ให้เขา (และเรา) สามรถใช้เสรีภาพตามที่ควรจะเป็น
โดยเฉพาะพวกใช้เจ้าเป็นอาวุธเพื่อทำลายคนที่เห็นต่าง หรือศัตรูทางการเมืองของตนเอง ยิ่งชัดเจนว่าคุณกำลังทำลายความเป็นคนของตนเองและเพื่อนมนุษย์อย่างโง่เขลาและเลือดเย็น เพราะโดย “อาวุธ” ที่คุณใช้กับคนอื่น เขาก็จะใช้อาวุธเดียวกันกับคุณ สังคมเราจึงพยายามจำกัด หรือริบสิทธิในการใช้เสรีภาพของกันและกันไปด้วยการใช้อาวุธเช่นนี้
แต่ไม่มีใครสามารถห้ามคนไม่ให้มีเสรีภาพได้ คุณอาจจำกัดการใช้เสรีภาพของคนได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่คุณไม่อาจเอาเสรีภาพออกไปจากความเป็นคนได้ ถ้าประชาชนตระหนักถึงคุณค่าความเป็นคนที่ต้องมีเสรีภาพ อำนาจที่จำกัดเสรีภาพย่อมถูกท้าทาย และไม่อาจคงอยู่ต่อไปได้!
คนเสื้อแดงเขาเรียกร้องเสรีภาพที่จะเป็นคนอย่างสมบูรณ์ ก็คือโดยพื้นฐานที่สุดคนต้องมีเสรีภาพที่จะพูด จะคิด แสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้ โดยเฉพาะการพูดความจริง การเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้อง คนมันต้องมี “อิสระทางศีลธรรม” หรือมีอิสระในการวินิจฉัยถูกผิดในเรื่องคุณค่าเชิงบรรทัดฐานหลักๆ ของสังคม ไม่ใช่ต้องคอยแต่เชื่อฟังและทำตาม
ถ้าคนชั้นนำคิดผิด ทำผิดในทางศีลธรรม ประชาชนที่มีความเป็น “คน” จะต้องตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ เรียกร้องให้เขารับผิดชอบในทางศีลธรรม และทางกฎหมายได้ ถ้าเสรีภาพดังกล่าวนี้มีไม่ได้ ถูกกดทับหรือถูกจำกัดก็หมายความว่าความเป็นคนของประชาชนถูกกำกัด
คุณอยากมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ความเป็นคนของคุณถูกจำกัดหรือครับ คุณไม่อยากให้ศักยภาพที่จะเป็นคนอย่างเต็มที่ของคุณได้แสดงตัวออกมาหรือครับ ศักยภาพความเป็นคนมันเป็น “สภาพแฝง” (potentiality) มันจะแสดงออกมาหรือกลายเป็น “สภาพจริง” (actuality) ได้ ก็ต่อเมื่อเรามีเสรีภาพ เราไม่ถูกจำกัดหรือถูกกดทับเสรีภาพเอาไว้ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่เท่าเทียมของมนุษย์
แน่นอนว่า ในสังคมประชาธิปไตย การใช้เสรีภาพอาจถูกจำกัดหากมันไปละเมิดความเท่าเทียมในความเป็นคน เช่น เราไม่มีเสรีภาพที่จะประณามคนอื่นด้วยเหตุผลว่า เรามีสถานะความเป็นคนสูงส่งกว่าคนอื่น แต่การจำกัดเสรีภาพเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผล เพราะเป็นการปกป้องความเท่าเทียมของคนซึ่งเป็นรากฐานในการปกป้องเสรีภาพที่เท่าเทียม
มันต่างกับการอ้างว่า “ทุกคนมีเสรีภาพได้เต็มที่นะตราบเท่าที่ไม่ไปพูดความจริงเกี่ยวกับคนที่มีความเป็นคนเหนือกว่าทุกคน” เพราะข้ออ้างเช่นนี้มันหมายความว่า มนุษย์จำเป็นต้องมีเสรีภาพไม่เท่ากัน (ระว่างทุกคนกับคนที่เหนือกว่าทุกคน) และจำเป็นต้องถูกจำกัดเสรีภาพในการพูดความจริงเกี่ยวกับการกระทำของคนที่เหนือกว่าทุกคน
ซึ่งเป็นไปได้ว่าการกระทำนั้นอาจส่งผลด้านลบต่อทุกคน และหรือกล่าวอย่างรวบยอด ทุกคนย่อมไม่มีอิสระทางศีลธรรมหากคนที่เหนือกว่าทุกคนเป็นผู้กำหนดถูก-ผิด ในเรื่องศีลธรรมที่เป็นบรรทัดฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง การมีชีวิตที่ดี ฯลฯ แทนประชาชน และประชาชนก็ไม่สามารถตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ได้
ฉะนั้น จดหมายถึงฟ้า/ตาสว่างทั้งแผ่นดิน จึงเป็นก้าวย่างทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่มีความหมายสำคัญยิ่ง ก้าวต่อไปก็คือเราต้องทวงเสรีภาพเพื่อให้ทุกคนภายใต้ผืนฟ้า (จริงๆ) นี้ มีความเป็นคนที่เท่าเทียม!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น