by Herogeneral on 2010-09-08 - 00:43 pm
ที่มาข้อมูล : คมชัดลึก โดยทีมข่าวความมั่นคง(วันพุธที่ 8 กันยายน 2553)
ในขณะที่ "แผนปรองดอง" ของพรรคเพื่อไทยยังไม่ชัดเจนว่า จะขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างไร บรรยากาศความไม่ปรองดองรอบใหม่ก็กำลังตั้งเค้าทะมึนขึ้นทีละน้อย
จับปฏิกิริยาเบื้องต้นจากปฏิทินการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งมีอีเวนท์ใหญ่ในเดือนกันยายนนี้ ถึง 2 อีเวนท์ติดๆ กันคือ
1.การนัดวางดอกกุหลาบหน้าเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศในวันที่ 17 กันยายน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่นักโทษทางการเมืองของกลุ่มนปช. และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด
2.การจัดกิจกรรมครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ภายใต้ชื่อ "ยุทธศาสตร์ตาสว่างทั้งแผ่นดิน" โดยจัดกิจกรรม 2 แห่ง คือ กทม. และ จ.เชียงใหม่
ที่ กทม. จะมีการขี่รถจักรยาน 50 คัน ผูกผ้าแดงที่ราชประสงค์ นำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ส่วน จ.เชียงใหม่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จะยกทีมมาปราศรัยใหญ่เพื่อโจมตีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหารครั้งนั้นด้วย
สองอีเวนท์ใหญ่ข้างต้นจึงนำมาสู่ความวิตกกังวลของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ว่า อาจเป็นเชื้อปะทุที่จะนำมาสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นอีกครั้ง
สายข่าวด้านความมั่นคง ประเมินว่า เหตุการณ์ความวุ่นวาย และรุนแรงในบ้านเมืองจะเริ่มต้นอีกครั้งตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป เรื่อยไปจนถึงเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เพื่อสร้างสถานการณ์ว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพพอที่จะควบคุมสถานการณ์ได้
ส่วนรูปแบบของการเคลื่อนไหวก็จะมีทั้งการจัดกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เช่น งานรำลึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง หรือการเคลื่อนไหวอื่นๆ เพื่อหาโอกาสในการรวมตัวพบปะกัน
ขณะเดียวกันการก่อเหตุความรุนแรง เช่น การยิงระเบิดเอ็ม 79 หรือลอบก่อวินาศกรรมต่างๆ ก็จะกลับมาอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่อีกฝ่ายต้องการ
สายข่าวคนเดิมมองว่า รูปแบบในการรวมตัวของมวลชนเหมือนเมื่อเดือนเมษายน 2552 และ 2553 คงจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะพิสูจน์แล้วว่า ทำแล้วไม่ได้ผลจนต้องประสบความพ่ายแพ้ทั้ง 2 ครั้ง ที่สำคัญ ยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมอีกด้วย
"ผมมองว่าเป้าหมายในการปฏิวัติประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบของอีกฝ่ายเป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น เพราะพวกเขาไม่มีผู้นำที่มีศักยภาพพอในการนำมวลชน แต่ต่อจากนี้จะเป็นการก่อเหตุความวุ่นวายเพื่อนำไปสู่การเจรจาตกลงกันมากกว่า"
เขามองว่า การผุดแผนปรองดองของพรรคเพื่อไทยเป็นการปูพื้นฐานในระยะยาวเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน คือ "รัฐบาลแห่งชาติ" มากกว่า
ส่วนสาเหตุที่ต้องเดินตามแนวทางนี้ เนื่องจากประเมินแล้วว่า การเคลื่อนไหวด้วยกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบระบอบ และการแข่งขันในสนามเลือกตั้งยังมองไม่เห็นทางชนะ ตราบใดที่ผู้ถืออำนาจ และระบบของประเทศยังเป็นแบบนี้
เขาจึงเชื่อว่า ยุทธวิธีในการต่อสู้จะเปลี่ยนไปจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อปักหลักสู้ในระยะยาวมากขึ้น และจะมีการสร้างเงื่อนไขของความวุ่นวายเพื่อกดดันให้อีกฝ่ายเจรจาจนนำไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และการเลือกตั้งครั้งใหม่
ขณะที่การเคลื่อนไหวในระยะเวลาอันใกล้ก็ให้จับตาความปั่นป่วนวุ่นวายใน "เรือนจำ" เป็นพิเศษ เพราะได้ข่าวว่าจะมีการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายในเรือนจำเพื่อ "เปิดคุก" นำไปสู่ความวุ่นวายครั้งใหญ่เพื่อให้สอดรับกับแผนเดิมที่เคยวางไว้
ส่วนการประชุมหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก (นขต.ทบ.) และการประชุมผู้บังคับหน่วยระดับกองพันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุมนขต.ทบ.ครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ก็กำลังจับตาความเคลื่อนไหวบางอย่างในช่วงครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารเป็นพิเศษ
“ผมฝากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ เข้ามาบูรณาการสานงานต่อเกี่ยวกับระบบการต่อต้านข่าวกรอง ให้มีความเข้มข้น และมีความชัดเจน เพราะขณะนี้ยังมีความเป็นห่วงกับกลุ่มใต้ดินที่ยังแอบแฝงอยู่ เพื่ออาศัยจังหวะเวลาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย ขณะเดียวกันอยากให้มีการฝึกกำลังพลเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลบ้านเมืองหากเกิดกรณีฉุกเฉินด้วย เพื่อให้กองทัพสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวย้ำถึงประเด็นที่ห่วงใย
ข้อห่วงใยของคนระดับ ผบ.ทบ. โดยเฉพาะเรื่องใหญ่อย่างเรื่องการข่าว และการฝึกกำลังพลเพื่อ "รับมือม็อบ" แสดงว่า ขุนทหารประเมินแล้วว่า ความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมืองยังไม่จบ เพราะมี "คลื่นใต้น้ำ" ที่กำลังรอจังหวะโผล่ขึ้นมาสร้างความรุนแรงอยู่
สอดรับกับท่าทีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ต้องการให้มีการยกเครื่องงานข่าวใหม่ทั้งหมด เพราะเห็นว่า การข่าวยังไม่มีการบูรณาการพอ ทำให้กลุ่มใต้ดินสามารถก่อเหตุวางระเบิด และยิงเอ็ม 79 ได้อย่างอิสระ
ฝ่ายข่าวในกองทัพอีกรายมองว่า สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ยังไม่นิ่ง ทางหน่วยเหนือจึงได้สั่งการให้หน่วยข่าวทุกสำนักติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะการ “ก่อวินาศกรรม” ในพื้นที่สัญลักษณ์ทางการเมือง อาทิเช่น ทำเนียบรัฐบาล อาคารรัฐสภา ศาล พรรคการเมือง หรือ บ้านพักบุคคลสำคัญ
"อีกจุดที่ห่วงกันมาก คือ เรือนจำที่มีการควบคุมตัวแกนนำคนสำคัญไว้หลายคน โดยเฉพาะเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำบางขวาง จึงทำให้เวลานี้ นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ต้องวางมาตรการดูแลความปลอดภัยขั้นสูงสุด นอกจากนี้ แหล่งพลังงาน และแหล่งสาธารณูปโภคต่างๆ ก็เป็นอีกจุดที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ” ฝ่ายข่าวกองทัพ แจ้งเตือน
สำหรับการนัดรวมตัวอีกครั้งของกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน เขามองว่าไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่ายอดผู้ชุมนุมคงไม่มากอย่างที่คุยเอาไว้ แต่ห่วงมือที่สามจะก่อเหตุสร้างสถานการณ์เท่านั้น
ส่วนสาเหตุที่เชื่อว่าคงไม่สามารถระดมคนได้มากเหมือนก่อนเป็นเพราะ "น้ำเลี้ยง" ที่ถูกบล็อกอย่างแน่นหนา ประกอบกับหัวขบวนยังไม่กล้าตัดสินใจว่า จะทุ่มให้เต็มที่เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ จึงเชื่อว่า สองอีเวนท์ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้คงเป็นเพียง "น้ำจิ้ม" เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น