by Herogeneral on 2010-09-08 - 10:32 am
ที่มาข้อมูล : ข่าวสดรายวัน ( วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7223 รายงานพิเศษ หน้า 3 )
แนวรบ"ต่างประเทศ"-"มาร์ค"อ่วม
รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าบริหารประเทศ นับแต่เดือนธันวาคม 2551 วัดจากกระแสข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าหนทางของรัฐบาลไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
นอกจากปัญหาการเมืองและความวุ่นวายในประเทศ ซึ่งหนักหนาสาหัส และเชื่อกันว่าไม่สามารถแก้ได้ในรัฐบาลนี้ ปัญหาด้านต่างประเทศ ก็เป็นจุดอ่อนที่ยังแก้ไม่ตก
กรณีของกัมพูชา รัฐบาลต้องใช้เวลาถึงปีเศษกว่าที่ความสัมพันธ์จะขยับมาอยู่ในจุดใกล้เคียงกับที่เคยเป็น ความขัดแย้งของ 2 ประเทศในรอบนี้ ส่อเค้าวุ่นตั้งแต่กลางปี 2550 สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช จากปม "ปราสาทพระวิหาร" ที่กัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่หลักฐานและแผนที่ของกัมพูชาถูกปฏิเสธจากฝ่ายความมั่นคงของไทย
เมื่อการเมืองพลิก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกฯ ตั้งรัฐบาล แต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ เป็นรมว. ต่างประเทศ นอกจากคำด่า "กุ๊ย" ที่นายกษิต ให้สัมภาษณ์ถึง นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ถูกนำมาขยายผลหลังนายกษิต รับตำแหน่งแล้ว ท่าทีแข็งกร้าวของนายกษิตต่อกัมพูชา และนายกฯ ฮุนเซน ก็ถูกโจมตีว่าผิดวิสัยนักการทูตและยิ่งพาประเทศเข้าสู่ความขัดแย้ง ยิ่งมาเจอคู่ต่อสู้สไตล์เดียวกันอย่างฮุนเซน แต่ความเจ้าเล่ห์ กินขาดกว่าหลายช่วงตัว สถานการณ์จึงเลยเถิดกันไปใหญ่
ถึงขั้น 2 ฝ่ายเรียกทูตกลับประเทศ หลังกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นนั่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และที่ปรึกษาส่วนตัวของฮุนเซน ล่าสุดคือการที่ไทยคัดค้านแผนบริหารการจัดการรอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ต่อที่ประชุมยูเนสโก ที่บราซิล ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเริ่มดีขึ้น หลังจากกรมขุนสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาในสมเด็จเจ้านโรดม สีหมุนี กษัตริย์ของกัมพูชา ส่งจดหมายมาถึงนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศลาออกจากที่ปรึกษานายกฯ ฮุนเซน นำมาสู่การคืนสู่สถานะเดิม กัมพูชาและไทยส่งทูตกลับมาประจำเช่นเดิม
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ทำท่าจะดี ก็มาเกิดปัญหากับซาอุดีอาระเบีย ขึ้นอีก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศทำท่าจะดีขึ้น เมื่อสถานทูตซาอุฯ เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวทำนองยินดีที่รัฐบาลไทยจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ให้สู่ระดับปกติ ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เดิมเป็นมิตรประเทศที่แนบแน่นในทุกระดับ
แรงงานไทยเดินทางไปขุดทอง ส่งเงินกลับประเทศ จนกลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการแรงงานไทย แต่ทั้งหมดกลายเป็นอดีตไป เริ่มจากคดีนักการทูตซาอุฯ 2 ปี 4 ศพ คดีอุ้มนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจซาอุฯ ญาติกษัตริย์ซาอุฯ ยังจับมือใครดมไม่ได้ แต่มีคดีอยู่ในศาล และคดีเพชรซาอุฯ ที่คนงานไทย นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ขโมยเพชรมูลค่ามหาศาลของราชวงศ์ซาอุฯกลับประเทศไทย
เมื่อตำรวจเข้าไปทำคดี เกิดการอมเพชรของกลาง จนนำไปสู่คดีอุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ซึ่งเป็นครอบครัวพ่อค้าเพชรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ของกลางบางส่วนที่นำไปคืนกลายเป็นของปลอม รวมทั้ง "บลูไดมอนด์" เพชรประจำราชวงศ์ซาอุฯ ที่นำไปคืนด้วย จนซาอุฯ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ลงเป็นระดับอุปทูตทันที และสั่งขับแรงงานไทยออกนอกประเทศ ซึ่งส่งผลถึงการท่องเที่ยวของไทยด้วย
ผลกระทบทั้งความร่วมมือด้านแรงงาน การท่องเที่ยว และค้าขาย ล้วนเป็นผลเสียต่อไทย และทุกรัฐบาลได้พยายามให้ฝ่ายปฏิบัติเร่งเดินหน้า แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า กระทั่งปี 2547 ดีเอสไอรับคดีฆ่านักการทูต และอัลรูไวลี่ เป็นคดีพิเศษ ก่อนจะมีการออกหมายจับผู้ต้องหาชาวอาหรับ ในคดีฆ่านักการทูต
แต่คดีที่ซาอุฯ ให้ความสำคัญคือคดีของนายอัลรูไวลี่ ซึ่งเป็นพระญาติของกษัตริย์ซาอุฯ และมีผลต่อการจัดการมรดกทรัพย์สิน คดีมีความคืบหน้า เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 พร้อมพวก ซึ่งเป็นตำรวจนอกราชการ รวม 5 คน ต่อศาล ในความผิดร่วมกันฆ่านายอัลรูไวลี่ เป็นการสั่งฟ้องก่อนคดีหมดอายุความในอีก 1 เดือนคือวันที่ 12 ก.พ. 2553 และศาลนัดไต่สวนวันที่ 25 พ.ย.2553
แต่จู่ๆ มติก.ตร. ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ นั่งเป็นประธาน กลับมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท. สมคิด ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผบ.ตร. เป็นการแต่งตั้งหลังจากนายนาบิล เอช อัชรี อุปทูตซาอุฯ เพิ่งเข้าพบนายกฯ ได้ 2 อาทิตย์เท่านั้น มติดังกล่าวทำให้สถานทูตซาอุฯ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจทันที และออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ที่แข็งกร้าวกว่าเดิม หลังนายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ปกป้องพล.ต.ท.สมคิด ความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุฯ จากที่ดูว่าหนทางน่าจะสดใสเลยต้องสะดุดอีกครั้ง
กรณีของ วิกเตอร์ บูท พ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซียที่ถูกจองจำอยู่ที่คุกบางขวาง และศาลให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้สหรัฐ การเข้าไปพบนายบูทของ นายศิริโชค โสภา วอลเปเปอร์ของนายกฯ เป็นเรื่องใหญ่ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
และยิ่งวุ่นวายขยายตัวเมื่อรัฐ บาลลากไปเกี่ยวกับการตามล่าตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เห็นได้ชัดว่า การบริหารความสัมพันธ์กับต่างประเทศของรัฐบาลไทย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผล ประโยชน์ของชาติโดยตลอด
จากซาอุฯ-สหรัฐ-รัสเซีย มาจน ถึงกัมพูชา
และยังไม่เห็นวี่แววว่ารัฐบาลจะแก้ไขได้อย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น