วันเสาร์, กันยายน 25, 2553

ความปรองดองบนเส้นขนาน

ความปรองดองบนเส้นขนานโดย...ทวี สุรฤทธิกุล

by Generalhero on 2010-09-26 - 09:23 am
Ref: Post Today (update 25 กันยายน 2553 เวลา 01:45 น.วิเคราะห์ » สดจากสนาม)

จาก อัลบั้มโพสต์ทูเดย์


บางทีอาจจะต้องยอมให้ความปรองดองเดินทางไปบนเส้นขนาน อันหมายถึงใครที่มีหน้าที่ก็ต้องพยายามทำต่อไป แต่ที่สำคัญจะต้องมีความจริงใจ โดยไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือใคร....

ผู้คนกำลังจับตาดูว่าความพยายามที่จะให้มีการปรองดองของหลายๆ ฝ่ายจะ “เป็นจริง” หรือไม่ และที่ต้องเอาคำว่า “เป็นจริง” ไว้ในเครื่องหมายคำพูดก็เพราะยังสงสัยว่า หนึ่ง เป็นความพยายามที่จะปรองดองกันอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือสอง แล้วจะสำเร็จได้จริงหรือเปล่า

ผู้เขียนเป็นฝ่ายที่มีความเชื่อเชิงปฏิเสธในทั้งสองประเด็น !

ในประเด็นแรก “เป็นความพยายามที่จะปรองดองอย่างแท้จริงหรือไม่” ที่ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ก็เพราะ “ความทะแม่งๆ” 2 ส่วน คือ หนึ่ง กลุ่มคนที่พยายามจะขอปรองดอง และสอง เป้าหมายของการปรองดอง ร่วมกับ “3 ความทะมึน” คือกระแสต่อต้านที่ก่อเค้าอย่างน่าเป็นห่วง

เมื่อมองที่กลุ่มคนที่นำเสนอ เราจะพบว่ามีอยู่ 3 พวกหลักๆ หนึ่ง คือ พรรคเพื่อไทยที่ “กะโต้งโห่ง” ออกมาโดยคุณปลอดประสพ สุรัสวดี ในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จากนั้นก็มีคนอื่นๆ ร่วมตกกระไดพลอยโจน ไม่เว้นแม้กระทั่งอดีตผู้นำที่ยังมีอิทธิพลควบคุมพรรคนี้อยู่แม้จะเร่ ร่อนอยู่ในที่ไกลๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเสนอทั้ง 5 ประการนั้นแล้ว ก็โฟกัสเป็นจุดรวมความต้องการได้ว่า อยากนำอดีตผู้นำคนนั้นกลับมาพร้อมด้วยการยกความผิดให้กับท่านและลิ่วล้อ บริวารทั้งหลายนั้นด้วย

ฝ่ายที่นำเสนอต่อมาในระยะเวลาห่างกันไม่นานนักก็คือพรรคภูมิใจไทยโดยการ “จุดบั้งไฟ” ของผู้มีบารมีสูงสุดนอกพรรคชื่อเนวิน ที่นั่งให้สัมภาษณ์อย่างแข็งขันเมื่อสุดสัปดาห์ก่อนว่าจะต้องทำให้สำเร็จให้ ได้ แล้วพอเริ่มสัปดาห์ก็มีการออกมาขานรับของบรรดาลูกกระพรวนทั้งหลายอย่าง เกรียวกราว แล้วทำท่าเอาจริงด้วยการผลักดันกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของพรรคร่วมรัฐบาล ทันที แต่ก็มาตกม้าตายเพราะถูกชะลอออกไปด้วยข้อตำหนิว่า “ยังไม่สมบูรณ์” เนื่องจากไม่ได้รวมการนิรโทษกรรมคนผิดในเหตุการณ์ที่ราชประสงค์เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมานั้นไว้ด้วย

ข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทยใต้แนวคิดของนายเนวินส่งกลิ่นออกมาอย่างชัดเจน ว่าทำเพื่อเป็นการหาเสียงโดยแท้ ที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนมองว่านายเนวินคงอยากจะดึงมวลชนทั้งใน ฟากที่เชียร์คนเสื้อแดงกับฟากที่เชียร์คนเสื้อเหลืองให้เข้ามาสนับสนุนพรรค ภูมิใจไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานที่พรรคภูมิใจไทยจะต้องแย่งมวลชนจากพรรคเพื่อไทยที่ชื่น ชอบอดีตผู้นำ

ในขณะเดียวกันก็ต้องการแย่งมวลชนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองเคยสนับสนุน เพราะนายเนวินอาจจะเชื่อว่า “บุญคุณ” ที่เขานิรโทษกรรมให้กับคนเสื้อเหลืองด้วยนี้จะทำให้คนเสื้อเหลือง “เปลี่ยนสี” มาเป็นสีน้ำเงินหรือมาชอบพรรคภูมิใจไทยนั้นได้

อีกฝ่ายที่นำเสนอก็คือประชาชนที่เบื่อหน่ายในความขัดแย้งที่ดูอึมครึมและ หลายคนก็กลัวว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงในรอบใหม่ คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นเสียงข้างมากในสังคมที่ผู้รู้ทางการเมืองประมาณว่ามี อยู่กว่า 80% เพียงแต่ว่าวิธีการนำเสนอจะเป็นเรื่องของ “กระแสความรู้สึก” ส่วน หนึ่งก็เออออไปกับพรรคเพื่อไทย อีกส่วนหนึ่งก็เฮเฮ้วไปกับพรรคภูมิใจไทย และบางส่วนที่ไม่เอาด้วยกับทั้งสองพรรคแต่ก็อยากให้มีการนำเสนอการปรองดองใน รูปแบบอื่นๆ ขึ้นมาอีก โดยที่ทั้งหมดปรารถนาเพียงสิ่งเดียวว่าทำอะไรก็ได้ขอให้ปรองดองกันให้ได้ ด้วยเถิด

ส่วน “ความทะมึน” อันเป็นกระแสต่อต้านความปรองดองก็มีอยู่ 3 ส่วน หนึ่ง คือ พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาลก็ดูจะไม่แยแสกับแนวคิดของนาย เนวินหรือเกรงใจพรรคภูมิใจไทยเท่าใดนัก โดยพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล” รวมทั้งการให้ชะลอการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยนั้นออกไปก่อนก็ เกิดจากแรงต่อต้านของพรรคประชาธิปัตย์นี้ด้วย สอง คือ ฝ่ายเสื้อเหลืองที่ไม่ยอมงับเหยื่อบุญคุณที่นักการเมืองสองกลุ่มนั้นหยิบ ยื่นให้ และสาม คือ ฝ่ายเสื้อแดงในส่วนที่ยังอยากจะรักษาความขัดแย้งนี้ไว้ เผื่อว่าจะเอาไว้ขายนายใหญ่เพราะยังเชื่อว่า ด้วยการสร้างความรุนแรงเท่านั้นจึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและนำนายใหญ่กลับ มาได้

ทีนี้ลองมาพิจารณาด้านความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จก็ยิ่งเป็นไปได้ ยาก ซึ่งถ้าจะนำเพลงของครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่ชื่อว่า “ยากยิ่งสิ่งเดียว” มาอธิบายก็จะพบว่า สิ่งที่ยากยิ่งสิ่งเดียวของความสำเร็จในครั้งนี้ก็คือ “ความจริงใจ” ซึ่งไม่ปรากฏว่าจะมีในส่วนของผู้นำเสนอในส่วนของพรรคการเมือง แม้ประชาชนจำนวนมากมีความต้องการที่จะให้ทุกฝ่ายปรองดอง แต่การนำเสนอของประชาชนก็ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน

ผู้เขียนมีความเชื่อว่าการปรองดองโดยการนำเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านกระบวนการทางรัฐสภาและความรับผิดชอบของนักการเมืองนั้นน่าจะ “ปิดประตู” หรือลืมไปได้เลย เนื่องจากมองไม่เห็นวี่แววของความสำเร็จ แต่ถ้านักการเมืองจะผลักดันความพยายามนี้ต่อไป (ถ้าอยากจะปรองดองอย่างแท้จริง) ก็อาจจะต้องนำเสนอเป็นนโยบายในการเลือกตั้ง (ที่อาจจะมีเร็วๆ นี้) โดยให้พรรคการเมืองที่อยากจะนำเสนอกฎหมายนี้ประกาศเป็นทางเลือกและพันธสัญญา ออกไปเลย จากนั้นเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งก็จะเป็นการนำความรู้สึกของประชาชนมาทำให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ด้วย

คือวัดออกมาเลยมาว่า คนไทยอยากให้มีการปรองดองจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีวิธีการปรองดองอีกวิธีหนึ่ง ที่โดยส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะประสบความสำเร็จได้ดีกว่าวิธีอื่น และอาจจะเป็นวิธีเดียวที่เหลืออยู่ นั่นก็คือ “วิธีการปรองดองโดยวิถีธรรมชาติ” ที่มีกระบวนการอยู่ 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ

หนึ่ง ปล่อยให้แต่ละฝ่ายที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทำงานไปเรื่อยๆ โดยอย่าไปเร่งรัดหรือควบคุมที่อาจจะถูกกล่าวหาได้ว่า “ไม่มีมาตรฐาน” หรือ “หลายมาตรฐาน” สอง ใช้ “ธรรมชาติบำบัด” คือให้เวลาเป็นเครื่องรักษาแผลใจ ความขัดแย้งใดๆ อาจจะเจือจางได้บ้างตามกาลเวลา และสาม ร่วมกันสร้าง “สิ่งดีๆ” อย่างใหม่ขึ้นมาทดแทน คือบางครั้งก็ต้องตัดสิ่งชั่วร้ายออกไป เป็นต้นว่า กำจัดนักการเมืองเลวๆ ออกไป แล้วเลือกนักการเมืองดีๆ เข้าไปแทน

บางทีอาจจะต้องยอมให้ความปรองดองเดินทางไปบนเส้นขนาน อันหมายถึงใครที่มีหน้าที่ก็ต้องพยายามทำต่อไป แต่ที่สำคัญจะต้องมีความจริงใจ โดยไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือใครหรือคนกลุ่มใดอย่างเฉพาะเจาะจง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องให้เวลาช่วยเยียวยา ซึ่งแม้ว่าจะกลบเกลื่อนความขัดแย้งไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็คงจะทำให้สังคมนี้มีความราบรื่นมากขึ้น

เส้นขนานอาจจะไม่มีวันบรรจบกัน แต่ก็ไม่ไขว้เขวมาทับกัน !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น