by Generalhero on 2010-09-25 - 09:05 pm
Ref: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (updateวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 16:57:55 น.)
1 ใน 20 อรหันต์ เข้าประจำการในบ้านพิษณุโลก เพื่อปฏิรูปประเทศไทย
หลายคนมีสีเสื้อติดตัว-ตีตรา กากบาท แสดงตัวตนว่ามาจากสังกัด "ขั้ว" การเมืองฝ่ายไหน
บางคนเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้าย บางรายเป็นข้าราชการฝ่ายขวา บางคนก้าวหน้า นั่งเผชิญหน้าสภาวะฝ่ายอนุรักษนิยม บางคนมาจากชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง
ภารกิจหัวรถจักร ขับเคลื่อนประเทศไทย ออกจากรถไฟขบวนแดง-เหลือง จึงเป็นส่วนหนึ่งของพันธะของชีวิตวัย 77 ของ "ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์" ที่แทบทั้งชีวิต ผูกติดอยู่กับชุมชน-สลัมและคนจน
"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "ม.ร.ว.อคิน" ที่ปรากฏตัวท่ามกลางปัญญาชน-สามัญชน และทายาทอำมาตย์ แห่งบ้านพิษณุโลก
@ เดิมทำงานกับภาคประชาสังคม นี่เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่ทำงาน ขับเคลื่อนสังคมในฝ่ายรัฐบาล
การเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ความจริงอันนี้ก็ไม่ใช่รัฐบาลนะ ต้องแยกออกจากรัฐบาล ที่มาทำเพราะผมทำงานกับชาวบ้านมาเยอะแล้ว ตั้งแต่สมัยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แล้วก็ทำงานสลัมเรื่อยมา ผมถือว่าคราวนี้เป็นโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือ หลังจากที่เรียนรู้เกี่ยวกับคนยากจน เมื่อก่อนก็ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่เขียนไปว่าไป ตอนนี้คิดว่าน่าจะมีช่องทางช่วยได้จริง ๆ ความจริงก็แก่แล้วน่าจะหยุดได้สักที
@ คณะปฏิรูปประเทศไทยมีความคาดหวังว่าจะได้นำไปสู่การปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน
เราคงจะมีมาตรการอะไรออกมาในไม่ช้า ผมหวังว่าอย่างนั้น ในเมืองไทยมี 2 อย่าง นักวิชาการที่อยากจะปฏิรูปแบบรื้อโครงสร้างทำโครงสร้างใหม่ แต่ผมไม่คิดอย่างนั้นนะ แล้วผมพยายามผลักดันมาก ผมคิดว่าปัญหาเร่งด่วนที่ชาวบ้านมีความทุกข์ควรจะแก้เดี๋ยวนี้ ควรจะจัดการโดยเร็ว ทางคณะกรรมการเข้าใจ เราได้พูดถึงเรื่องมาตรการเร่งด่วน มาตรการปานกลาง และระยะยาว เป็น 3 ระยะ
@ ระหว่างนี้ไปถึง 3 ปี จะมีมาตรการอะไรออกมาต่อเนื่อง
ใช่ ผมคิดว่าอย่างนั้น บางมาตรการควรจะเริ่มภายในไม่กี่เดือนก่อนสิ้นปี เป็นมาตรการเร่งด่วนที่พอจะทำได้ มาตรการเร่งด่วนหมายความว่า เป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่เวลานี้ ยกตัวอย่างเรื่องที่ดินมีเยอะมากไปประกาศเป็นอุทยาน ไปทับชุมชนที่เขาอยู่แล้วก็มีการจับกุม เอาไปติดคุกก็มี แล้วที่ยังไม่พิสูจน์ว่าเป็นที่ของชุมชนหรือเป็นที่ของประกาศอุทยานไปทับที่ ของชุมชนเก่าหรือเปล่า ต้องช่วยคนที่ลำบาก ผมคิดว่ามันก็ไม่น่าจะยากอะไร
@ มาตรการเกี่ยวกับที่ดินของคนที่มีปัญหากับรัฐน่าจะทำได้ภายในสิ้นปีนี้
ช่วยคนที่ต้องติดคุก หรือคนที่ถูกจับ และมาตรการที่น่าจะทำได้ คือการหยุดยั้งการกระทำ เช่น ขอว่าอย่าไปจับเขาในกรณีเช่นนี้ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินเป็นของใคร แล้วก็อาจจะหยุดยั้งการประกาศที่ดินเป็นเขตหวงห้าม ต้องให้เขาหยุดยั้งไว้ก่อน
@ เวลานี้คณะกรรมการมีข้อมูลทั่วประเทศแล้วหรือยัง
ทางเรามีข้อมูล เพราะมีประชุม ประเด็นพวกนี้เป็นของที่ชาวบ้านร้องขอมาเยอะมาก เพราะเขาประกาศอยู่เรื่อย ทั้ง ๆ ที่อุทยาน... มันไม่ใช่อุทยานอย่างเดียว กรมเจ้าท่าก็ประกาศที่ดินอันหนึ่ง รัฐก็ประกาศที่ดินอันหนึ่ง แล้วบางทีก็เอาไปจากชาวบ้าน ไปให้พวกนายทุน ทำรีสอร์ต เราก็ต้องให้ยับยั้งการประกาศพวกนี้
ทางภาคใต้ มีที่ดินที่ชาวบ้านเขาอยู่มาก่อนแล้ว พอสึนามิ ชาวบ้านก็หลบไป พอกลับมาอีกที กลายเป็นที่มีโฉนดไป แล้วของนักการเมืองก็เยอะ
@ กรรมการปฏิรูปเข้าไปจัดการ ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน แบบนี้ก็ขัดผลประโยชน์นักการเมือง
ก็ต้องคุยกัน เพราะผมยังไม่รู้มาตรการเราจะทำอย่างไร แต่ผมคิดว่าถ้าจะประกาศให้เขาหยุด ก็คงต้องคุยกับเขาด้วย
คือตอนนี้ ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะราบรื่นขนาดไหน จากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ก็ทำให้คนรู้สึกว่าอยากจะร่วมมือ ชักชวนให้ร่วมมือแก้ไขปัญหา ไม่ให้บ้านเมืองวิกฤตเรื่อยไป ที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของรัฐและของคนที่ร่ำรวยอยู่ไม่กี่คนหรอก ที่เหลือที่ชาวบ้านอยู่มันน้อยมาก จะต้องมีการกระจายที่ดินกันใหม่ แต่จะทำได้แบบไหน
เรื่องโฉนดชุมชน ในที่ประชุมก็มีบางคนค้านเพราะไม่เห็นด้วยกับโฉนดชุมชน ในกลุ่มย่อย...ที่เขาพูดคล้าย ๆ กับว่าชาวบ้านจะตีกันเอง
@ การจัดการที่ดินของรัฐถ้าไม่เร่งทำแล้ว ประเทศจะลุกเป็นไฟ
ใช่ คือปัญหาเรื่องที่ดิน ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ไม่หยุดยั้ง คนที่ไม่พอใจจะมีมาก ๆ
@ งานชุมชน-สลัมที่อาจารย์ศึกษา มา30-40 ปีจะมาผลักดันผ่านการปฏิรูปคราวเดียวหรือเปล่า
ผมคิดว่าคณะกรรมการปฏิรูปมีของที่จะทำสำเร็จภายใน 3 ปี และมีของเยอะที่จะไม่ทำสำเร็จภายใน 3 ปี หน้าที่อย่างหนึ่งคือต้องสร้างองค์กรอะไรสักอย่างของประชาชนที่จะทำหน้าที่ แทนเรา สภาประชาชนประกอบด้วยกลุ่มเครือข่ายชุมชน กลุ่มเอ็นจีโอ และตั้งแต่ระดับล่าง ทำคู่ขนานกับองค์กรของรัฐอย่าง อบต. และรัฐบาล
@ คณะกรรมการปฏิรูปส่วนใหญ่มีความคิดคล้าย ๆ กันหรือเปล่า
ในคณะกรรมการปฏิรูปมีคนที่มีความคิดแตกต่างกันเยอะแยะ คุณคิดดู อย่างอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช กับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตรงกันข้ามกันนะ ผมคิดว่าไม่เลว ถ้าในใจผมประเมินดู ผมว่าประธานของเราเก่งมาก ท่านอานันท์เก่งมาก ท่านสามารถที่จะตะล่อมคนที่หลายความคิดเข้ามาสรุป
@ ข้อเสนอของคณะปฏิรูปต้องใช้ความกล้าหาญ คิดว่าจะผลักดันไหวไหม
ผมว่าเราผลักไม่ไหว แต่ถ้าเราร่วมกับประชาชนอาจจะไหว ต้องไปด้วยกัน ทางเราต้องพยายามให้อำนาจประชาชน เราเสนออะไรที่ประชาชนอยากได้ ก็หวังว่าประชาชนจะสนับสนุน
@ ปัญหาความขัดแย้งเฉพาะหน้าจะได้รับการตอบสนองจากคณะกรรมการปฏิรูปแค่ไหน
เรามีเวทีก็มีทั้งเหลืองทั้งแดง ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ
@ คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ตอบสนองรัฐบาลฝ่ายเดียว
ไม่ได้ตอบสนองรัฐบาลฝ่ายเดียว ความจริงเราตอบสนองประชาชนมากกว่า
@ 3 ปีดูยาวนานเกินไปไหมสำหรับการแก้ปัญหา
ไม่ เพราะเราทำอะไรด่วนก็ทำก่อน แต่มีอะไรที่เลย 3 ปีไปอีกกว่าจะทำได้ กว่ากฎหมายจะออก แล้วถ้าเผื่อบางอย่างนักการเมืองไม่ชอบ ยิ่งนานไปใหญ่ ยิ่งไปกันใหญ่
@ ข้อเสนอมีแนวโน้มจะถูกค้านจากฝ่ายการเมือง
นักการเมืองยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ดินเยอะ ครอบครองที่ดินเยอะ ผมก็ไม่รู้จะเป็นยังไง สุดแท้แต่ว่าเราจะสามารถทำให้เขาเห็นแก่บ้านเมืองได้ขนาดไหน
@ หัวรถจักรขับเคลื่อนประเทศไทยทั้งหมด 4 หัว ทั้งรัฐบาล มีคณะกรรมการปฏิรูป สมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ คณะกรรมการปรองดอง จะผนวกหัวที่ 5 ของคุณทักษิณและเพื่อไทยด้วยหรือเปล่า
ทั้ง 4 หัวก็ต้องร่วมมือประสานกันมาก ๆ เพราะมีหลายเรื่อง ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านมันมีมานานแล้ว แต่พรรคการเมืองที่เข้ามาเอาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ดึงความเดือดร้อนนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของตัวเอง อันนี้ก็ลำบากว่าเราจะสามารถดึงคนมาทางเราได้มากแค่ไหน ปัญหาอยู่ที่นักการเมือง มันเป็นเรื่องการเมืองจริง ๆ ทำไงให้ประชาชนรู้ว่ามีอีกอย่าง ทุกวันนี้เขาก็รู้ว่านักการเมืองเป็นยังไง
@ 4 หัวขบวนของฝ่ายรัฐเปิดช่องให้นักการเมืองอีกฝ่ายด้วยหรือไม่
ผมไม่รู้นักการเมืองฝ่ายไหนเป็นยังไง อย่างคณะกรรมการนี้ก็เป็นอิสระจากกรรมการมากพอสมควร อย่างข้อเสนอให้เลิก พ.ร.ก. อันนั้นก็ชัดว่าเราไม่ได้เป็นพวกเดียวกับรัฐบาล แล้วเราก็ไม่ใช่พวกเดียวกับคุณทักษิณ ทีนี้ใครที่พอจะเป็นกลาง ๆ ที่จะดึงทั้ง 2 ฝ่าย เรามีความตั้งใจจะสร้างให้ประชาชนมีพลัง หวังว่าคนกลาง ๆ ที่มีอยู่ทั้ง 2 ข้างจะเข้ามาหาเรา เห็นว่าเราพยายามทำให้เขา
@ ปัญหาที่ผ่านมามีการพูดเรื่องชนชั้นเป็นอุปสรรค อาจารย์มองอย่างไร
(ถอนหายใจ) ก็เถียงกันอยู่ว่าประเทศไทยมีชนชั้นหรือเปล่า ถ้าสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์มาก ๆ เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง ชนชั้นซึ่งเป็นความสัมพันธ์แนวราบก็จะไม่มี นี่เป็นหลักการที่ผมกับอาจารย์นิธิเถียงกันมานมเน อาจารย์นิธิบอกว่าเมืองไทยไม่มีระบบอุปถัมภ์ เพราะเปลี่ยนไปมากจนไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นคนกลุ่มหนึ่งคิดว่าเมืองไทยมีชนชั้น อีกกลุ่มคิดว่าไม่มี แต่เป็นระบบอุปถัมภ์
@ ผู้ชุมนุมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลได้หยิบยกเรื่องชนชั้นผู้เสียเปรียบกับได้เปรียบ
ใช่ ก็มีคนเถียงเขาอยู่ว่ามีชนชั้นผู้เสียเปรียบและชนชั้นผู้ได้เปรียบ เขาใช้คำว่าอำมาตย์ใช่ไหม แต่อำมาตย์มันมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น แสดงว่าเขามองเห็นว่าเมืองไทยมีลักษณะ ฟิวดัล (feudalism) แล้วเปลี่ยนมา แล้วชนชั้นอำมาตย์นี้คือชนชั้น ฟิวดัล อันนี้เขาไปแรงนะ อันนี้แรง เพราะจะไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน ใช่ไหม คล้าย ๆ กับชนชั้นอำมาตย์ก็คือข้าราชการมาเชื่อมกับพวกนายทุน ใช่ไหม เป็นชนชั้นหนึ่งที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
@ เป็นการสร้างวาทกรรมอำมาตย์ และชนชั้นผู้ได้เปรียบ
สมัยนี้มันมีปัญหา ผมเป็นพวกหัวโบราณ คิดไม่เหมือนพวกสมัยใหม่ คือสมัยนี้เขาคิดว่า สื่อมีอำนาจมาก ก็มีความคิดอย่างฟูโก (มิเชล ฟูโก Michel Foucault) มาพูดเรื่องนี้แล้วมีอิทธิพลมาก คือคนเราสามารถใช้สื่อทำให้คนเชื่อ ตั้งมาเป็นวาทกรรม ทำให้คนเชื่อ
@ หัวใจที่ทำให้วาทกรรมคำว่าอำมาตย์ดำรงอยู่ได้ เพราะมีชุดความจริงสนับสนุนอยู่หรือเปล่า
มี ก็มีอยู่เหมือนกัน ตั้งแต่ผมทำงานมาในชนบท พ.ศ. 2511-12 ไล่มาเรื่อย ผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เคยพบเห็นในชนบท คือชาวบ้านเขาไม่ชอบข้าราชการ เขาไม่ชอบด้วยความรู้สึก 2 อย่าง บางทีเขาก็หัวเราะ บางทีเขาก็โกรธ คือเขาไม่ชอบ ว่ามาเอาเปรียบเขา อย่างการขุดคลองชลประทาน มาวัดมาบอกว่าจะให้เงินค่าที่ดินที่เอามาทำคลอง แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้เงิน เมื่อนำมาพูดเปรียบเทียบ ทำให้ชาวบ้านก็รู้สึกว่ามันมีความจริงอยู่
@ ช่วงชีวิตของอาจารย์ มองเห็นพัฒนาการคำว่าอำมาตย์ และคนที่มีเชื้อเจ้า ในขณะนี้ถือว่าถูกท้าทายที่สุดหรือเปล่า
ที่สุดหรือไม่ที่สุด ผมไม่รู้ รู้แต่ว่ามีการท้าทาย เป็นการสร้างวาทกรรม บางอย่างก็เอามารวมกัน แต่ไม่รู้มันจะเวิร์กขนาดไหน เพราะในอีกด้านหนึ่งคือคนไทยยังมีความจงรักภักดี และอีกอย่างคือการปฏิบัติองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
@ ทำไมจู่ ๆ คนถึงลุกขึ้นมาท้าทาย
ผมคิดว่ามันคุกรุ่นมานาน ความจริงมันเป็นเรื่องตลกที่การท้าทายสถาบัน แต่อาจจะไม่ได้ทำโดยชาวบ้าน แต่คนที่ท้าทายสถาบัน... ซึ่งความจริงสถาบันถูกท้าทายมาหลายหนแล้ว โดยมากจะเป็นผู้มีอำนาจมาก เช่น เมื่อก่อนทหารมีอำนาจมาก ก็มีการท้าทาย สมัยจอมพลแปลก ก็มีการท้าทายพอสมควร อันนั้นก็เป็นสาเหตุอันหนึ่ง ที่จอมพลสฤษดิ์ลุกขึ้นมา...อ้างอย่างงั้น จอมพลสฤษดิ์ก็อ้างอย่างนั้น
ทุกครั้งที่มีคนที่มีอำนาจมากก็จะท้าทายสถาบัน เพราะการใช้อำนาจของเขาก็จะติดขัดอยู่ที่สถาบัน ใช่หรือเปล่า เขาใช้อำนาจไม่ได้เต็มที่เพราะติดขัดที่สถาบัน ทีนี้มาถึงสมัยนี้ คนที่มีอำนาจมากคือใคร ก็คือคนที่มีเงินมาก คนที่มีเงินมาก เขาก็ต้องการที่จะ....สถาบันก็กลายมาเป็นอุปสรรคของเขา
ถ้าเขามีเงินมาก เขาก็คิดว่าสามารถที่จะใช้เงินเอามาพัฒนาการใช้อำนาจ เพราะสมัยนี้อำนาจอยู่ที่เงิน แต่เมื่อก่อนอำนาจอาจจะอยู่ที่อื่น ครั้งหนึ่งอาจจะอยู่ที่คุณทำความดีอะไรต่าง ๆ นานา แต่เดี๋ยวนี้อำนาจไม่ได้อยู่ที่คุณธรรมความดี แต่มาใส่ในเงินตรา ถ้าคุณมีเงินคุณก็มีอำนาจ อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น
@ อาจารย์มองว่าคนที่ท้าทายไม่ใช่ชาวบ้าน
แต่เขารวมชาวบ้านที่มีปัญหา ที่มีความทุกข์ยากมาเป็นพวกได้
@ อำนาจเงินกับชาวบ้านมาผนวกกันทำให้มีพลังต่อรองหรือไม่
ใช่ เขาใช้เงิน เอาชาวบ้านมาเป็นพวกได้ ก็แปลกนะ ความจริงเขาก็ใช้ระบบอุปถัมภ์ แต่ว่ามันเปลี่ยนจากฐานเก่า สมัยเก่าอยู่ที่สถาบันและสถาบันอยู่ที่คุณธรรม แต่เดี๋ยวนี้ฐานมันอยู่ที่เงิน
@ เรื่องคนชนบทกับคนในเมืองเป็นเกณฑ์การแบ่งแยกปัญหาได้หรือไม่ ในเมื่อในเมืองก็มีคนจนจำนวนมาก
คนจนในเมืองไม่ได้ขัดกับคนจนในชนบท ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน คนในเมือง ในสลัมก็อพยพมาจากชนบท มาจากอีสานจำนวนมาก คุณจะรู้ว่าคนในสลัมส่วนมากเป็นเสื้อแดงนะ ผมก็รู้จักเขาเยอะนะ อย่างบ่อนไก่ เคยคุ้นอยู่
@ คนในสังคมเอาปัญหาที่สะสมมาฝากความคาดหวังไว้ในคณะกรรมการปฏิรูป
ใช่ ๆ ความจริงคนก็หวังเยอะนะ เขาคาดหวังกันมาก แต่ผมไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร
@ ในช่วง 3 ปีอาจจะเปลี่ยนรัฐบาล
คณะกรรมการอยู่ต่อ แต่จะเข้ารูปหรือจะแตกเยอะ ผมไม่ทราบ อนาคตมันทายยาก มันเปลี่ยนเยอะ โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากจนปรับตัวไม่ทัน มันลำบากมาก จากการทำนายของนักสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา ทำนายอนาคตผิดทุกวัน (หัวเราะ)
สืบสาแหรก ′คุณชาย′ ขวัญใจชาวดิน สายพระโลหิตแห่งรัชกาลที่ 4 และ 5
Ref: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (update วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 12:39:29 น.)
คอลัมน์ มนุษย์การเมือง โดย อิศรินทร์ หนูเมือง isuans@yahoo.com
เชื้อสายของ "ม.ร.ว.อคิน" ฝ่าย "สมเด็จปู่-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์" นั้น สืบสาแหรกสายตรงมาจาก สมเด็จพระ ปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาตลับ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ต้นราชสกุล "รพีพัฒน์"
ส่วนสายของ "ท่านย่า-หม่อมอ่อน รพีพัฒน์ ณ อยุธยา" นั้น เป็นธิดาใน หม่อมราชวงศ์สำอาง เสนีวงศ์ กับ พระยาสุพรรณพิจิตร
ส่วนเชื้อสายฝ่าย "สมเด็จตา-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ" นั้นก็สืบสาแหรกมาจากสายเดียวกันคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาอ่วม ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 12 ต้นราชสกุล "กิติยากร"
เชื้อสายแห่งตระกูล "ท่านยาย-หม่อมเจ้าหญิงอัปษรสมาน เทวกุล" นั้น เป็น พระธิดาที่สืบสายพระโลหิตมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นราชสกุล "เทวกุล" กับหม่อมใหญ่ เทวกุล (สุจริตกุล)
ตัวตนของ "ท่านพ่อ-หม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์" ของ "ม.ร.ว.อคิน" จึงสืบเชื้อสายมาจาก ร. 5 ทั้งจากฝ่าย "ปู่-ย่า-ตา"
ส่วนฝ่าย "ท่านแม่-หม่อมเจ้าหญิงทรงอัปษร รพีพัฒน์ (กิติยากร)" และฝ่าย "ท่านยาย" นั้นสืบเชื้อสายมาจาก ร. 4 กับสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทร มาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)
ความเป็น "ม.ร.ว.อคิน" จึงมีทั้งสาย พระโลหิตแห่งราชสกุล "รพีพัฒน์-กิติยากร และเทวกุล"
ร้อยตำรวจเอก รองศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ ที่ถือกำเนิดความเป็น "เจ้า" ในช่วงการเปลี่ยน แปลงการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (22 มกราคม พ.ศ. 2476) จึงมีมุมมองการเมือง-สังคมและประวัติศาสตร์ ต่างไปจาก "เจ้านาย" พระองค์อื่น
หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขากฎหมาย จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และปริญญาโทและปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล แล้วจึงอุทิศตัวเป็น "ครู" ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และ ม.ขอนแก่น นานหลายปี
ผันตัวเองเป็น "เอ็นจีโอ" ทำงานในสลัม และแบ่งภาคไปทำงานให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย
ความเป็น "หม่อมราชวงศ์" ที่ถูกฝ่ายขวาเปรียบเทียบเป็น "อีกชนชั้น"นั้น อาจารย์อคินบอกว่า "เป็นการพูดที่เหมารวมเกินไป"
"ความจริง ผมคิดว่า พวกเจ้า หลัง พ.ศ. 2475 ก็ลำบากมาก มันไม่ได้ขึ้นนะ มันลงเยอะ สมัยจอมพลสฤษดิ์อาจจะดีขึ้น"
"สมัยที่ผมไปทำงานในชุมชนสลัม 40 ปีก่อน มีหนังสือชื่อ มองสังคมผ่านชีวิตในชุมชน เล่าว่ามีหม่อมราชวงศ์คนหนึ่ง หากินด้วยการร่อนทอง จะออกมาที่คลองผดุงกรุงเกษม โดยเรือลำหนึ่ง ออกมางมของ ที่ตกอยู่ใต้สะพาน และเหลาไม้ทำตะหลิว มีภรรยาเป็นแม่ชี โกนหัวนุ่งผ้าขาว พอวันอาทิตย์ก็ไปนั่งที่สนามหลวงเพื่อรับบริจาค นั่นก็เป็นหม่อมราชวงศ์ โฮ้ย...หม่อมราชวงศ์ตกต่ำเยอะนะ เขาไม่ใช่เจ้า"
ข้อสมมติฐานที่ว่า หม่อมราชวงศ์และเจ้าอาจถูกจงเกลียดจงชัง เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ "อาจารย์อคิน" ค้นหาคำตอบ ด้วยความเป็นนักมานุษยวิทยา
"มันก็ไม่เชิงนะ ผมไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร พ่อผมเองเป็นผู้พิพากษาในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พ่อเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่ผมเกิดเมื่อปี 2475 เป็นหัวหน้าศาลด้วย แต่พอหลัง 2475 สักพัก พ่อผมเล่าว่า เงินเดือนไม่ได้ขึ้น ตำแหน่งไม่ได้ขึ้น คนอื่นก้าว ข้ามหมด"
"คือมีระยะหนึ่งที่เขากดพวกเจ้าไว้ไม่ให้ขึ้น ช่วงนั้นมีจริง ๆ แล้วพ่อก็ทนไม่ไหว พ่อก็ลาออกจากผู้พิพากษาและมีผู้พิพากษาหลายคนที่สนับสนุนเจ้าก็ลาออกหลายคนเลยในยุคนั้น แล้วก็ฐานะตกต่ำแล้วก็สมัยจอมพลสฤษดิ์ ...มันเปลี่ยนกลับขึ้น"
ในทรรศนะ "ม.ร.ว.อคิน" เจ้า-อำมาตย์ในยุค 2553 ถูกท้าทาย เพราะ "ข้อมูลไม่รอบด้าน" และวรรณกรรม "ฝรั่ง"
"ผมว่าอิทธิพลจากหนังสือ The king never smile นั้นมีเยอะ คือเรื่องนั้นเขียนเกี่ยวกับพวกเจ้า แต่ข้อมูลผิดเยอะ เนื้อหาแสดงภาพคล้าย ๆ ว่าพวกเจ้า รวม หัวกันทำอะไรเยอะ แต่ความจริง พวกเจ้าเนี่ยเกลียดกัน ทะเลาะกัน สะบั้น หั่นแหลกเลย โฮ้ย...จะตายชักตายดิ้น ไม่รู้... แต่ฝรั่งมองมาอีกแบบ แล้วบางทีฝรั่งไม่ชอบเจ้า อย่างพวกอเมริกัน เขาไม่มีโอกาสได้มีเจ้าเขาก็ไม่ค่อยชอบ"
ด้วยทรรศนะเช่นนี้ เกือบทั้งชีวิตของ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ จึงคลุกอยู่กับชนบท สลัม และชุมชน
ในวัย 77 ปี จึงกลับมามีชีวิตใน "ดงอำมาตย์" ในบ้านบรรทมสินธุ์ ของ "พระยาอนิรุทเทวา" อีกครั้ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น