วันอาทิตย์, สิงหาคม 15, 2553

"ความตายที่รอคำตอบของฟาบิโอ" :มติชน ออนไลน์

byHerogeneral@2010-08-15 – 07:28

อิซาเบลลา โพเลนกี

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์
ภาพถ่ายหน้าศพฟาบิโอ โพเลนกี ในงานฌาปนกิจที่วัดคลองเตยใน, 24 พ.ค. 2553

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์
เกษียร เตชะพีระ

"ความตายที่รอคำตอบของฟาบิโอ"
โดย เกษียร เตชะพีระ
ที่มา: มติชนออนไลน์
วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 20:00:02 น.

รายงานพิเศษของ The Committee to Protect Journalists (CPJ-คณะกรรมการปกป้องนักข่าว-อันเป็นองค์การอิสระที่ไม่แสวงกำไรเพื่อส่ง เสริมเสรีภาพหนังสือพิมพ์ทั่วโลกด้วยการปกป้องสิทธิของนักข่าวที่จะรายงาน ข่าวโดยไม่ต้องกลัวถูกเล่นงานตอบโต้) เรื่อง "In Thailand unrest, journalists under fire" (ในเหตุไม่สงบในประเทศไทย นักข่าวถูกยิงใส่-http://cpj.org/reports/ 2010/07/in-thailand-unrest-journalists-under-fire.php) เขียนโดย Shawn W. Crispin ผู้แทนอาวุโสของ CPJ ประจำเอเชียอาคเนย์และเผยแพร่เมื่อ 29 กรกฎาคม ศกนี้

ได้ระบุถึงกรณีสังหารฟาบิโอ โพเลนกี ว่า: -

ในกรณีการยิงโพเลนกี, การสอบสวนที่อึมครึม

การตายของฟาบิโอ โพเลนกี ช่างภาพชาวอิตาเลียน เป็นศูนย์รวมเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉบับต่างๆ ที่มาประชันขันแข่งกัน โพเลนกีวัย 48 ปีถูกฆ่าด้วยกระสุนปืนเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ศกนี้ระหว่างรายงานข่าวปฏิบัติการทางทหารเพื่อขับไล่ผู้ชุมนุมออกจากบริเวณ ถนนราชดำริอันเป็นเขตพื้นที่การชุมนุมประท้วงที่ซับซ้อนพิสดารซึ่ง นปช.ได้สร้างขึ้นในย่านการค้าสุดยอดของกรุงเทพฯ

แบรดลี คอกซ์ นักทำหนังสารคดีผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เล่าว่า เช้าวันนั้นก่อนเกิดเหตุทหารได้ยิงปืนประปรายจากด้านหลังเครื่องกีดขวางเข้า ใส่พื้นที่ห่างออกไป 200 เมตรซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของ นปช. คอกซ์บอกว่าทั้งเขากับโพเลนกีได้บันทึกภาพผู้ประท้วงคนหนึ่งถูกยิงที่ขาเวลา ประมาณ 10.45 น.

เวลา 10.58 น. เมื่อรู้สึกว่าการยิงสงบลงพักหนึ่ง คอกซ์เล่าว่า เขาก็ออกจากบังเกอร์ที่ นปช.คุมอยู่ไปยังถนนที่เกือบโล่งร้างเพื่อสืบดูว่าความปั่นป่วนวุ่นวายใน หมู่ผู้ประท้วงห่างไปราว 30-40 เมตรนั้นมันเรื่องอะไรกัน คอกซ์บอกว่าเขาเชื่อว่าโพเลนกีตามหลังเขาไปห่างกันไม่กี่ก้าว ขณะวิ่งไปตามถนน คอกซ์รู้สึกปวดแปลบด้านข้างของขา ปรากฏว่ากระสุนนัดหนึ่งเฉี่ยวหัวเข่าเขาบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อเขาหันกลับไปมองในทิศทางของกองทหาร เขาก็เห็นโพเลนกีแผ่หราอยู่กับพื้นข้างหลังเขา 2-3 เมตร ตอนนั้นโพเลนกีสวมหมวกกันน็อคสีฟ้าเขียนคำว่า "สื่อสิ่งพิมพ์" ทั้งหน้าหลังและติดปลอกแขนสีเขียวเพื่อบอกว่าเขาเป็นนักข่าวที่ปฏิบัติ งานอยู่

"ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเราถูกยิงพร้อมกันเป๊ะเลย บางทีอาจจะโดยกระสุนนัดเดียวกันด้วยซ้ำไป" คอกซ์กล่าว และเสริมว่า เขาไม่ได้ยินเสียงปืนหนึ่งหรือหลายนัดที่ยิงถูกเขาหรือโพเลนกี "ผมไม่รู้ว่าใครยิงผมหรือฟาบิโอ แต่ถ้าทหารกำลังพยายามยิงพวกเสื้อแดงละก็ มันไม่มีใครอยู่รอบตัวพวกเราเลยนี่ครับ ... ทหารกำลังยิงใส่สิ่งของหรือผู้คนแบบไม่เลือก"

ภาพวิดีโอที่คอกซ์ถ่ายเหตุการณ์บรรดานักข่าวและผู้ประท้วงช่วยกันหามร่าง โพเลนกีออกจากถนนขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ไปยังโรงพยาบาลแถวนั้นดูเหมือนจะแสดงให้ เห็นว่ากระสุนเจาะเข้าตัวโพเลนกีทางใต้รักแร้ซ้ายและทะลุออกสีข้าง รายงานข่าวต่างๆ ระบุว่าเขาเสียชีวิตแล้วเมื่อไปถึงโรงพยาบาลในท้องที่ เจ้าหน้าที่ไม่ได้รายงานว่าพบหัวกระสุนใดๆ

ครอบครัวของโพเลนกีได้แสดงความห่วงกังวลที่รัฐบาลสนองตอบต่อการตาย ของเขาอย่างอึมครึม อิซาเบลลา โพเลนกี น้องสาวของเขาบอก CPJ ว่า ครอบครัวเธอได้ร้องขอรายงานชันสูตรพลิกศพทางการครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ยังไม่ ได้รับ เธอกล่าวว่าตำรวจกับกระทรวงยุติธรรมบอกเล่าขัดกันว่าตำแหน่งบาดแผลของพี่ชาย เธออยู่ตรงไหนแน่ ซึ่งเธอเองก็ไม่ทันได้เห็นร่างเขาก่อนฌาปณกิจ เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าทรัพย์สินส่วนตัวของโพเลนกีหลายรายการรวมทั้ง กล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์หายไป ความขัดแย้งและคลุมเครือทำนองนี้ทำให้เธอยิ่งหวั่นวิตกว่าโพเลนกีอาจถูกหมาย หัวในฐานที่เป็นนักข่าวก็เป็นได้

เธอกับเพื่อนร่วมงานของโพเลนกีกลุ่มหนึ่งจึงร่วมกันปะติดปะต่อวิดีโอ คลิปต่างๆ ที่บ้างก็ได้จากนักข่าวผู้อยู่บริเวณข้างเคียงกับโพเลนกีและบ้างก็ดาวน์โหลด จากแหล่งไม่ทราบชื่อบนอินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นลำดับเหตุการณ์การ เคลื่อนไหวก่อนและหลังการยิง เท่าที่ทราบไม่มีฟิล์มภาพตัวเหตุการณ์การยิงนั้นเอง วิดีโอคลิปอันหนึ่งแสดงภาพชายสวมหมวกกันน็อคสีเงินที่ไม่รู้ว่าเป็นใครเข้า ถึงตัวโพเลนกีหลังถูกยิงเป็นคนแรก ฟิล์มภาพสั้นๆ นั้นแสดงภาพเขาคลำไปรอบอกโพเลนกีและกระแทกเข้ากับกล้องถ่ายรูปของโพเลน กีอยู่ประเดี๋ยวหนึ่ง ขณะที่ชายสวมหมวกกันน็อคสีเหลืองที่ไม่รู้ว่าเป็นใครอีกคนคุกเข่าลงและถ่าย รูปโพเลนกีไว้

ฟิล์มภาพของคอกซ์ดูจะแสดงภาพชายคู่เดียวกันอยู่ในหมู่คนที่เคลื่อน ย้ายร่างของโพเลนกีออกจากถนนไปขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ที่พาเขาไปโรงพยาบาล ภาพของชายสวมหมวกกันน็อคสีเงินถูกตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมติชน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่รู้ว่าเขากับชายสวมหมวกกันน็อคอีกคนหนึ่งนั้นเป็นใคร กันแน่ อิซาเบลลา โพเลนกี กล่าว

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล ไม่ตอบคำถามจาก CPJ เกี่ยวกับการยิงโพเลนกี รวมทั้งคำกล่าวอ้างที่ว่าตอนนั้นทหารยิงไม่เลือกหน้า หรือรายละเอียดของกรณีการยิงรายอื่นๆ นายเสก วรรณเมธี อัครราชทูตของสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ตอบข้อห่วงใยของ CPJ กว้างๆ ในจดหมายลงวันที่ 14 มิถุนายนว่า "รัฐบาลเสียใจที่เกิดการสูญเสียชีวิตและยึดมั่นที่จะสืบสวนกรณีการตายทั้ง หลายอย่างเต็มที่และเที่ยงธรรม....."

ล่าสุด Shawn Crispin ยังได้รายงานความคืบหน้ากรณีนี้ไว้ในเว็บล็อกของ CPJ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ศกนี้ ภายใต้หัวข้อ "In Polenghi case, autopsy shared but more needed" (ในคดีโพเลนกี เผยผลชันสูตรพลิกศพแล้ว แต่ต้องทำมากกว่านี้) http://cpj.org/blog/2010/08/in-polenghi-case-autopsy-shared-but-more-needed.php ว่า: -

.....อย่างไรก็ตาม กว่าสองเดือนต่อมา (หลังการตายของฟาบิโอ) มันก็ไม่ปรากฏชัดว่าทางการไทยกำลังพยายามทำดีที่สุดเพื่อไขคดีนี้ให้กระจ่าง และนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม

อิซาเบลลา โพเลนกี น้องสาวของเขา ได้แสดงความห่วงใยดังกล่าวนั้น ณ ที่แถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ (ที่ 30 กรกฎาคม ศกนี้) ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยในกรุงเทพฯ ทาง CPJ เราได้ร่วมขึ้นเวทีเพื่อนำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง "ในเหตุไม่สงบในประเทศไทย นักข่าวถูกยิงใส่" ซึ่งสืบสวนกรณีการตายและบาดเจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้กับนักข่าวในประเทศไทย รวมทั้งการยิงโพเลนกีจนเสียชีวิตด้วย

ในบรรดาข้อเสนอแนะต่างๆ ของเรา CPJ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับผู้สืบสวนอิสระและเปิดเผยผลการชันสูตรพลิก ศพทางการรวมทั้งหลักฐานเชิงนิติเวชอื่นๆ ปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้ตอบสนองผลการสืบสวนของเราอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แม้ว่าดูเหมือนทางราชการจะรับฟังข้อเสนอแนะของ CPJ ประการหนึ่ง

ในวันพฤหัสบดี (ที่ 29 กรกฎาคม ศกนี้) อันเป็นวันเผยแพร่รายงานของ CPJ ข้างต้น ตำรวจกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้พบกับอิซาเบลลา โพเลนกี เป็นการส่วนตัวและนำผลการชันสูตรพลิกศพคดีพี่ชายของเธออย่างเป็นทางการให้ เธอดูเป็นครั้งแรก ตำแหน่งบาดแผลที่แน่ชัดของโพเลนกีจะเป็นร่องรอยให้สืบเสาะได้ว่าเขาถูกยิง โดยทหารจากระดับพื้นถนนหรือโดยผู้ประท้วงที่อยู่บนตึกข้างเคียง

ในที่แถลงข่าว อิซาเบลลา โพเลนกี ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการชันสูตรพลิกศพและเน้นว่าเป้าหมายของการพบปะกับทาง เจ้าหน้าที่ซึ่งสถานทูตอิตาลีช่วยจัดให้นั้นก็เพื่อ "ร่วมด้วยช่วยกัน" และหาทางประกันให้มั่นใจว่าการสืบสวนของของทางการ "กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษถือ การค้นหากล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์ของโพเลนกีที่หายไปคืนมาเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนอื่นทั้งด้วยเหตุผลทางนิติเวชศาสตร์และทางอารมณ์ความรู้สึก

อิซาเบลลา โพเลนกี กล่าวว่า เธอเข้าใจว่าการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ "อาจนานหลายปี" แต่ก็บอกว่าถ้าหากไม่มี "ความรุดหน้า" ใดๆ ในสองเดือนข้างหน้าแล้วเธอก็คงจะกลับมาเมืองไทยอีกเพื่อกดดันในเรื่องที่เธอ ห่วงใย

พรรคพวกเพื่อนฝูงของฟาบิโอซึ่งหลายคนเป็นนักข่าวชาวต่างชาติผู้มาหลง รักเมืองไทย อาศัยอยู่เป็นเหย้าและตั้งใจจะเอาเป็นเรือนตายเหมือนกัน ได้เล่าให้ฟังว่าพวกเขาพิศวงงงงันมากว่าเพราะเหตุใดก็ไม่รู้หน่วยราชการ ต่างๆ ไม่ว่าอำอวด, อีเอสไอ, หรืออ๋ออออ๋อ ต่างพากันยัวะเป็นฟืนเป็นไฟที่พวกเขาพยายามร่วมด้วยช่วยกันหาความกระจ่าง เกี่ยวกับสภาพการณ์การตายของฟาบิโอ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าใครเป็นคนเอาการ์ดบันทึกข้อมูล (memory card) และกล้องถ่ายรูปของฟาบิโอไป รวมทั้งช่วยกันจัดแถลงข่าวให้อิซาเบลลา น้องสาวของฟาบิโอ

แล้วจู่ๆ เพื่อนชาวอเมริกันที่นำภาพวิดีโอที่เขาถ่ายไว้ตอนฟาบิโอตายมาเปิดเผยก็ถูก ดำเนินการขับไล่ออกจากประเทศและข้างภรรยาที่เป็นคนไทยของเพื่อนคนนั้นก็ถูก คุมตัวด้วยอำนาจพิเศษ, โทรศัพท์บางเบอร์ที่เพื่อนๆ ของฟาบิโอใช้ติดต่อประสานงานกันก็ชักมีอาการรบกวนแปลกๆ, เวลาพวกเขาไปไหนมาไหนก็มีคนหน้าตาบ้องแบ๊วคอยติดตามยังกับนิยายสืบสวนสอบ สวน.....

นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐมนตรีองอาจ คล้ามไพบูลย์, อธิบดีธาริต เพ็งดิษฐ์, โฆษกปณิธาน วัฒนายากร, ผู้การสรรเสริญ แก้วกำเนิด-ไม่แปลกหรือครับที่หน่วยงานราชการซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบสืบสวน สอบสวนหาความจริงทุกกรณีการตายที่เกิดขึ้นช่วงเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตที่ ผ่านมา-ทั้งการตายของฟาบิโอและคนไทยกับชาวต่างชาติอื่นๆ อีก 90 คน-ดูเหมือนจะพยายามนานัปการที่จะไม่ให้คนอื่นเขาทำความจริงให้ปรากฏต่อ สาธารณะ?

พวกคุณกลัวอะไรหรือครับ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น