วันอังคาร, สิงหาคม 03, 2553

ยูเนสโกเเฉเอง ไทยแพ้ พลาดท่าเซ็นชื่อ :บ้านเมืองออนไลน์

รับขั้นตอนตั้งกก. สุวิทย์แถไม่เสียโง่ก็แค่ลงนามทราบ มาร์คล็อบบี้ 4 ปท. จี้เลิกเอ็มไอยู 43ไทยเสียท่าเขมร ยูเนสโกยันไทยรับขั้นตอนตั้ง กก.ไอซีซี “สุวิทย์” แถไม่เสียค่าโง่ ลงนามเพียงรับทราบบันทึก 5 ข้อ ไม่มีผลผูกพันใดๆ ด้าน “อภิสิทธิ์” ป้องลงนามแค่กระดาษแผ่นเดียวไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องข้อพิพาท สั่งล็อบบี้ 4 ประเทศยักษ์ใหญ่ปมปราสาทพระวิหาร เครือข่ายประชาชนฯ เดินหน้าจี้ “มาร์ค” เลิกเอ็มโอยู 43 หวั่นทำไทยเสียดินแดน เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “สุวิทย์” ละเมิดมติ ครม.-ผิดมาตรา 190 ขณะที่พร้อมผ่านงบกว่า 200 ล.ให้กองทัพใช้สู้เขมร ด้านกัมพูชาไม่น้อยหน้าเตรียมออก กม.เกณฑ์กำลังพลสำรอง


ยูเนสโกยันไทยเซ็นยอมเขมร

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 นายซูซาน วิลเลียมส์ หัวหน้าฝ่าย Media หน่วยงานข้อมูลข่าว ยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ ได้แจ้งเรื่องข่าวจากคณะกรรมการมรดกโลกเรื่องปราสาทพระวิหาร ว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ กรุงบราซิเลีย ในวันที่ 29 ก.ค.53 ได้มีการรับมติโดยการสนับสนุนจากทั้งทางประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เรื่องแหล่งมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกและรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของบราซิล นายชูลา เฟร์ไรรา ได้ยื่นมติโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา รับขั้นตอนของประเทศกัมพูชาในการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน โดยมติยังมีการรับทราบถึงการที่ศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารที่ยื่นโดยประเทศกัมพูชา ซึ่งโดยทางคณะกรรมการจะทำการพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 35 ในปี พ.ศ.2554


เครือข่ายฯ จี้ “มาร์ค” เลิกเอ็มโอยู 43

ส่วนที่ห้องรามราฆพ สโมสรราชตฤณมัยสมาคม สนามม้านางเลิ้ง เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ เครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ และภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร ร่วมกันแถลงข่าว “ชำแหละ MOU 43” นำโดย นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายวีระ สมความคิด นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดร.สมปอง สุจริตกุล นักกฎหมายระหว่างประเทศ และนายวีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยนายไชยวัฒน์ กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ.2543 (MOU 43) ได้ระบุหลักใหญ่ 2 ประการ คือ ให้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา และการปักปันเขตแดนนั้นให้เป็นไปตามแผนที่ฝรั่งเศส 1 : 200,000 ซึ่งผลจากเนื้อหาดังกล่าวส่งผลให้ไทยเสียพื้นที่กว่า 3 พันไร่ และนับจากนี้ สุ่มเสี่ยงจะเสียดินแดนใน 7 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่อุบลราชธานี-ตราดกว่า 1.8 ล้านไร่ และจะสูญเสียพื้นที่ทางทะเลฝั่งอ่าวไทยอีก 1 ใน 3 ทางเครือข่ายภาคประชาชนได้แสดงความห่วงใยในเรื่องดังกล่าวจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 43 อย่างไรก็ตาม การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า การไม่ยกเลิก MOU 43 จะทำให้ไทยได้เปรียบกัมพูชานั้นไม่เป็นความจริง เพราะพื้นที่ที่นายกฯกล่าวถึงนั้น ไทยได้เสียดินแดนให้กัมพูชาไปแล้ว


ทหาร-คนเขมรลุกพื้นที่ 4.6 ตร.กม.อื้อ

นายปานเทพ กล่าวว่า หลังศาลโลกมีคำพิพากษาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาไทยก็ได้สงวน สิทธิ์มาโดยตลอดโดยการล้อมรั้วเขตแดนนานกว่า 38 ปี จนกระทั่งมีการทำ MOU 43 พื้นที่ของไทยจึงกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน เป็นเหตุให้มีประชาชนและกำลังทหารของกัมพูชาเข้ามา แต่รัฐบาลไทยไม่ทำการผลักดัน เนื่องจากข้อตกลงในข้อที่ 8 ของ MOU 43 ระบุว่า ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องระงับด้วยการเจรจา รัฐบาลไทยจึงได้ทำหนังสือประท้วงไปยังกัมพูชาถึง 11 ครั้งแต่ไม่เป็นผล อีกทั้งทางการกัมพูชายังเป็นฝ่ายบอกด้วยว่าข้อพิพาททางดินแดนที่เกิดขึ้น เนื่องจากฝ่ายไทยเป็นฝ่ายบุกรุกทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นของฝั่งไทย ซึ่งวันนี้รัฐบาลเป็นเด็กดี ยึดมั่นในสัญญาข้อตกลงตาม MOU 43 จนทำให้ขณะนี้มีทั้งกำลังทหาร ประชาชนกัมพูชาที่มาปักหลักในพื้นที่พิพาทจนกระทั่งเราไม่สามารถผลักดันให้ออกจากพื้นที่ได้แล้ว ขณะที่รัฐบาลไทยบอกว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็นพื้นที่ทับซ้อน กัมพูชากลับบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา มีแต่รัฐบาลไทยพูดกับคนไทยเท่านั้นว่าไทยได้เปรียบกัมพูชา ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ ภาคประชาชนได้แสดงความเป็นห่วงว่า ถ้าไม่ยกเลิก MOU 43 ในรัฐบาลนี้ หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลในสมัยหน้าเกรงว่า กลุ่มผู้คิดจะใช้ช่องว่างของ MOU 43 เพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง อีกทั้งสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดสงคราม เพราะขณะนี้ไทยและกัมพูชาได้มีการปะทะกันไปมา ด้วยเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายทำการรุกล้ำดินแดนของตน ที่สุดแล้วจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งบานปลายและเกิดสงครามในที่สุด


แฉ “สุวิทย์” พลาดเซ็นรับรอง

ด้าน นายวีรพันธุ์ กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ภาคประชาชนและนักวิชาการต้องการให้รัฐบาลยกเลิก MOU 43 คือการกระทำที่ส่อว่าบันทึกความเข้าใจดังกล่าวยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งเจตนา คือ ฉ้อฉลดินแดน ตนในฐานะที่ปรึกษาสำนักโบราณคดีที่ 11 อุบลราชธานี ซึ่งดูแลรับผิดชอบโบราณสถานปราสาทเขาพระวิหาร เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการระดับประเทศเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนที่ฉบับดังกล่าว จากนั้นก็ทำเป็นข้อเสนอระดับโลกต่อไป


ขณะที่นายวีระ สมความคิด ในฐานะที่เป็นผู้ติดตามการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศบราซิล กล่าวถึงกรณีที่ นายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกมาประกาศว่า กัมพูชาได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือไทยภายหลังที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ไปเซ็นรับร่างเอกสารชื่อ WHC-10/34.COM/7B.add.3. ที่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมบราซิล ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมได้จัดทำขึ้น ซึ่งในร่างเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญ 5 ข้อ คือ 1.ไทยได้ยินยอมและรับร่างเอกสารดังกล่าวว่าถูกต้อง 2.ไทยยอมรับผลมติผูกพันที่มีในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 32 และ 33 ข้อ 3.บันทึกว่าคณะกรรมการมรดกโลกได้ยอมรับเอกสารการบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาแล้ว ข้อ 4.ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศยินดีและยอมรับว่ากัมพูชาสามารถเดินหน้าตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศ เพื่อการบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร (ICC) ได้ และข้อ 5.ระบุว่า ในการประชุมครั้งที่ 35 ที่ประเทศบาห์เรน จะมีการพิจารณาแผนบริหารจัดการของกัมพูชา เนื่องจากที่ประชุมได้รับร่างแผนดังกล่าวแล้ว


จี้รัฐแจงหวั่นทำไทยเสียเปรียบเขมร

“ในร่างเอกสารที่ผมได้มาซึ่งถ่ายวีดีโอโดยผู้ติดตามนายสุวิทย์เอง บอกว่า ไม่มีจุดไหนเลยที่นายสุวิทย์คัดค้าน การที่เราเซ็นยอมรับให้กัมพูชาตั้งคณะกรรมการไอซีซีนั้น ผมตั้งข้อสังเกตว่า นายสุวิทย์ ทำการเกินมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และการเป็นเซ็นยอมรับแบบนี้จะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องออกมาให้คำตอบว่าจะดำเนินการอย่างไรกับนายสุวิทย์ ขณะที่นายกฯ ออกมาพูด ท่านยังไม่ได้เห็นร่างเอกสารนี้ แต่ถ้าเห็นแล้วจะตีความว่าอย่างไร” นายวีระ กล่าวว่า ตนและภาคประชาชนมีความเป็นห่วงว่าไทยจะเสียเปรียบกัมพูชา เพราะจะไปบอกว่าไทยไม่ได้มีมติให้นายสุวิทย์ไปเซ็นยอมรับร่างเอกสารดังกล่าว กัมพูชาก็คงไม่ยอม ตนและเครือข่ายประชาชนจะทำการรวบรวมข้อมูล เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำการวินิจฉัยว่าการกระทำของนายสุวิทย์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ และในวันที่ 7 ส.ค.จะไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อฟังคำตอบจากปากนายกรัฐมนตรีว่าจะยกเลิกเอ็มโอยู 2543 หรือไม่


“สุวิทย์” ยันไม่เสียค่าโง่เซ็นตั้งไอซีซี

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่นครบราซิเลีย ประเทศบราซิล แถลงชี้แจงกรณีกลุ่มพันธมิตรระบุว่า ไปลงนามในเอกสารตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่ร่วม (ไอซีซี) จนทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชา ในการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า เอกสารที่ตนลงนามไปเป็นเพียงข้อมติที่ประธานการประชุมร่าง (Draft) มาให้ลงนามเท่านั้น เหตุที่ตนลงนามเพราะพิจารณาแล้วไม่มีข้อผูกพัน ทั้งทางเขตแดนและทางกฎหมาย โดยเนื้อหาทั้ง 5 ข้อในร่างดังกล่าว ไม่มีข้อไหนระบุว่าได้พิจารณาเรื่องการตั้งไอซีซี แถมยังเปลี่ยนข้อความจากคำว่า “ได้พิจารณา” มาเป็น “ได้รับ” เอกสารจากกัมพูชาแทน เพราะไม่มีกรรมการมรดกโลกคนไหนได้รับเอกสารฉบับเต็มจากทางกัมพูชาก่อนวันประชุม 6 สัปดาห์ตามข้อบังคับแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ในร่างดังกล่าวยังระบุให้เลื่อนวาระปราสาทพระวิหารไปพิจารณาในการประชุมที่ประเทศบาห์เรน ปี 2554 ด้วย โดยเนื้อหาร่างข้อมติดังกล่าว ต่างจากเนื้อหาในเอกสารฉบับย่อ 7 ข้อที่ทางกัมพูชาเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก และมีผลผูกพันทางกฎหมายชัดเจน ทั้งนี้สถานะทุกอย่างไม่เปลี่ยนไปจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อ 2 ปีก่อนที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ที่มีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และให้ตั้งไอซีซี แต่ไทยทำหนังสือคัดค้านมาตลอด ตั้งแต่การประชุมที่เมืองเซบียา ประเทศสเปน ในปี 2552 จนถึงครั้งนี้ และเงื่อนไขการตั้งไอซีซี จะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ตราบใดที่ไทยยังไม่ยอมรับ ก็ตั้งไม่ได้ ยืนยันผมจะไม่ทำให้ไทยเสียค่าโง่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลนี้ แต่เกิดจากรัฐบาลชุดก่อนที่เราต้องมาตามแก้ไข


นายกฯ ยันการเซ็นไม่มีผลผูกพัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติเปิดเผยเอกสารว่านายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามรับรองในเอกสารแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชาแล้วว่า นายสุวิทย์ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ถึงตัวข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกให้ ครม.รับทราบ ซึ่งเป็นข้อมติที่เปลี่ยนแปลงไปจากร่างที่กัมพูชาเตรียมไว้ในการที่จะยื่นเข้าไป ซึ่งความแตกต่างก็ชัดเจนว่าข้อมติของ คกก.มรดกโลกจะไม่มีการรับทราบเอกสารที่ทางกัมพูชายื่นเพียงแต่ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวได้ถูกส่งมาถึงสำนึกงานของคณะกรรมการฯ แล้ว และจะมีการพิจารณากันในปีหน้า ซึ่งที่ห่วงว่าอาจมีบางส่วนที่ไปผูกพัน และทำให้ไทยเสียสิทธิ์ในการที่จะโต้แย้งในอนาคตนั้น ยืนยันว่าไม่มี เพราะขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณา ทั้งนี้หัวใจสำคัญของมติในปีนี้คือ ยังไม่มีการพิจารณาอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นจุดยืนของเราที่ไม่ต้องการเห็นการพิจารณาในปีนี้ก็ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง โดย ครม.จึงมีมติตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา มีนายสุวิทย์เป็นประธาน เพื่อเตรียมการในช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้า จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนที่มีความสนใจ สามารถที่จะให้ข้อมูลหรือข้อคิดเห็นเข้ามา คณะกรรมการระดับชาติก็อยากให้คนไทยทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพซึ่งจะเป็น สิ่งที่ดีที่สุดในการรักษาผลประโยชน์ของเรา


สำหรับการที่จะให้รัฐบาลไม่ยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทย-กัมพูชาปี 2543 นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความจริงแล้วก็มีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งรัฐบาลยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่คิดว่าการใช้วิธีการยื่นคำขาดจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย และต้องการปกป้องอธิปไตย ใครที่คิดเห็นไม่เหมือนกันก็มาพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมากล่าวหา ดังนั้นถ้าเราผนึกกำลังกันเราก็จะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าทำให้เกิดสิ่งที่สะท้อนภาพของความขัดแย้งภายในประเทศก็จะทำให้งานยากขึ้น และจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงาน


ป้อง “สุวิทย์” ลงนามไม่ทำให้เสียเปรียบ

ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนมองว่าเป็นการยืดเวลาเนื่องจากไม่ได้มีการคัดค้านนั้น นายกฯ กล่าวว่า ตนเห็นว่าหากมีการคัดค้านจะต้องมีการเสนอและมีการพิจารณา สิ่งที่เรายืนยันคือ กรรมการมรดกโลกไม่ควรพิจารณา เพราะเอกสารมาเวียนให้กะทันหัน การคัดค้านจะเกิดขึ้นเมื่อมีการพิจารณา ฉะนั้นจะต้องไปว่ากันปีหน้า ตนได้บอกแล้วว่าสิ่งที่ทำในปีนี้ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจบ รู้ว่าปีหน้าปัญหานี้ยังคงอยู่ แต่ต้องเทียบว่าถ้าปีนี้เราไม่สามารถทำแบบนี้ได้ และเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ตนคิดว่าประเทศไทยจะเสียเปรียบมากกว่านี้อีก และเราจะไม่มีความพร้อมเลยในการรับมือสิ่งที่จะตามมา สิ่งที่นายสุวิทย์ เซ็นเอกสารเป็นเพียงกระดาษที่ใช้ในการทำงานว่าทั้ง 2 ฝ่ายเห็นเป็นอย่างนี้ และเป็นเรื่องที่อยู่ที่คณะกรรมการมรดกโลก



Ref: บ้านเมืองออนไลน์
วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2553 เวลา 8:44:00
-----------------------------------------------------------


"นพดล" แฉกลับ "ครม.ชวน1" ออก พรฎ.อุทยานพระวิหาร รับรองแผนที่ "แอล 7017" ทำไทยเสียดินแดน


“นพดล” ป้องแถลงการณ์ร่วมไทย-เขมร ไม่ทำเสียเปรียบ อ้างปกป้อง “พื้นที่ทับซ้อน” ซัดกลับ “มาร์ค” ร่วมครม.ชวน1 ออก พรฎ.อุทยานพระวิหาร รับรองแผนที่ “แอล 7017” ยก “เปรี๊ยะวีเฮีย” ให้ “กัมพูชา” ทำเสียดินแดน


เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม นายนพดล ปัทมะ โฆษกประตำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงที่พรรคเพื่อไทย ถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีระบุว่าที่นายนพดล ไปลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเมื่อปี 2551 นั้นทำให้ไทยเสียเปรียบกรณีปราสาทพระวิหารว่า ตนเสียใจที่นายอภิสิทธิ์ ใส่ร้ายตน เพราะเป็นความเท็จ และนายอภิสิทธิ์ ยังคงนิสัยถาวรคือการพูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นอยู่เป็นประจำ แม้ตนไม่หล่อแต่ก็ไม่หลักลอย ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้นคือ 1.การเลื่อนวาระการประชุมที่จากสมัยการประชุมที่ 34 ที่บราซิล ไปพิจารณาในวาระการประชุมที่ 35 ที่ประเทศบาร์เรน นั้นรัฐบาลและนายสุวิทย์ คุณกิติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติทำได้ดีแล้ว แต่ไม่อยากให้มีการฉลองชัยชนะกันจนเกินเหตุ เพราะไม่ควรฉลองความสำเร็จจากการเลื่อนคดีไปตัดสินในวันข้างหน้า แต่ควรมาฉลองกันในวันที่ศาลพิพากษาตัดสิน และประเทศไทยไม่ควรไปตีปี๊บกันยกใหญ่ว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาล และ 1 ปีหลังจากนี้จะเป็นปีที่ไม่เงียบเหงาเรื่องประสาทพระวิหาร


“ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ไขได้ง่ายๆ และได้สวดภาวนาทุกวันว่าในปี 2554 ขอให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา และให้นายอภิสิทธิ์ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่จะได้รู้ว่ามีความสามารถในการแก้ไขหรือไม่ เพราะคดีปราสาทพระวิหารนั้นเราแพ้คดีในศาลโลกเมื่อ 2505 จากการว่าความของนายเสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ทำให้กรรมสิทธิ์ตัวปราสาทต้องตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาไม่ยอมให้ขึ้นทะเบียนร่วมแน่นอน เพราะจะเหมือนกับกัมพูชาจะมาขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมในเมืองอยุธยา ซึ่งเป็นของไทยที่ไม่สามารถเป็นไปไม่ได้ในทางการฑูตและทางการเมือง หากเปรียบเทียบง่ายๆก็คือเหมือนผมมีแฟนคนหนึ่งแล้วจู่ๆ เพื่อนของผมมาขอนอนกับแฟนผมด้วย จะขอขึ้นร่วม ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ”นายนพดลกล่าว


นายนพดล กล่าวว่า 2.นายอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ถล่มตนเมื่อปี 2551 แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลตลอด 2 ปี นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์กลับไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องพระวิหารเลย โดยไม่เคยไปเจรจากับสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หรือทำบันทึกข้อความไปถึงการเปลี่ยนแปลงท่าทีของไทย หรือประสานงานไปยังคณะกรรมมการมรดกโลกหรือยูโนสโกเลยเนื่องจากไม่รู้ว่าจะไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมในประเด็นไหน เพราะฉะนั้นนายอภิสิทธ์ ไม่ควรพูดตีกินเพื่อหวังผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว


นายนพดลกล่าวว่าภายหลังไทยแพ้คดีที่ศาลโลกทำให้ไทยจำยอมยกปราสาทพระวิหารและที่ดินใต้ปราสาทให้กัมพูชา โดยมีการขีดขอบเขตและตัดพื้นที่ให้กัมพูชาไป ซึ่งเป็นที่มาของแผนที่ชุดแอล 7017 ที่กรมแผนที่ทหารได้กำหนดไว้เมื่อ 48 ปีที่แล้ว และประเทศไทยใช้แผนที่นั้นเป็นแผนที่อ้างอิงเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาตลอดมา


“นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าไทยถือตามสนธิสัญญา 1904 แบบสันปันน้ำ แต่เมื่อปี 2541 นายอภิสิทธิ์ และ ครม.ชุดชวน 1 ไปประกาศเขตอุทยานเขาพระวิหาร และแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานเขาพระวิหาร โดยแนบท้ายแผนที่พื้นที่เขาพระวิหารไปด้วย โดยใช้แผนที่แบบ แอล 7017 ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงได้ทำแผนที่ยกประสาทพระวิหารและดินแดนใต้ปราสาทให้กับกัมพูชาไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2541 และในเมื่อคุณรับรองไปเรียบร้อยแล้วยังมีหน้ามาบอกผมว่ายังเป็นของไทยได้อย่างไร ในเมื่อตัวคุณเองทำแผนที่รับรองไปแล้ว ซึ่งไม่มีอะไรชัดไปกว่านี้แล้ว นี่ถือว่าชัดล้านเปอร์เซ็นต์ และ นายอภิสิทธิ์ จะต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจน” นายนพดลกล่าว


นายนพดลกล่าวว่า หากนายอภิสิทธิ์ ยังยืนยันว่าเส้นเขตแดนไทยนั้นยังเป็นแบบสันปันน้ำทั้งหมดก็ต้องถามว่าสันปันน้ำเป็นแบบทั้งหมดหรือสันปันน้ำแบบตัดพื้นที่เขาพระวิหารออกแล้ว แต่หากนายอภิสิทธิ์ บอกว่าแบบสันปันน้ำทั้งหมด ตนก็จะถามแล้วทำไมปี 2541 ไปทำแผนที่ตัดพื้นที่ปราสาทพระวิหารออกไป แล้วหลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วไปขอค่าเช่าจากกัมพูชาหรือยัง และสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศทำบันทึกข้อความไปถึง สมเด็จฮุน เซน สักครั้งหรือยังว่าไทยขอเปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับประสาทพระวิหารและจะเอาสันปันน้ำทั้งหมดถือเป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งตนมั่นใจว่ายังไม่เคยทำ ซึ่ง 3. ตนขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ทำเรื่องเขาพระวิหารเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกฝ่าย ทุสี มาช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้วนำวาระเรื่องนี้ไปเจรจากับกัมพูชา


นายนพดลกล่าว ส่วนการพูดว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมเมื่อปี 2551 แล้วทำให้ไทยเสียเปรียบนั้นเป็นการพูดแบบชุ่ยๆ และไม่รับผิดชอบ เพราะตนทำแถลงการณ์ร่วมไปเพื่อปกป้องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยเจรจาตัดพื้นที่ทับซ้อนออกและให้ขึ้นทะเบียนได้เฉพาะตัวปราสาท เพราะเมื่อปี 2550 กัมพูชาได้เอาพื้นที่ทับซ้อนผนวกกับตัวปราสาทพระวิหารเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขอเลื่อนการพิจารณามาเป็นปี 2551 ซึ่งตนก็ต้องรับผิดชอบและเจรจาสำเร็จ สามารถตัดพื้นที่ทับซ้อนออกไปได้ และที่สำคัญคือการพิจารณาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 นั้นได้ห้ามนำแถลงการณ์ร่วมเข้าพิจารณา เพราะในมติมรดกโลกที่อนุมัติปราสาทพระวิหาร ข้อ 5ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามนำเข้าที่ประชุมเนื่องจากศาลปกครองของไทยได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไปแล้ว ดังนั้นการมีแถลงการณ์ร่วมหรือไม่มี ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น


“ดังนั้นการที่นายอภิสิทธิ์ไปบอกว่าการที่นายนพดล ไปทำแถลงการณ์ร่วมแล้วทำให้ไทยเสียเปรียบนั้นไม่จริงเลย เป็นการพูดหาเศษหาเลยทางการเมือง ซึ่งน่ารำคาญมาก และผมจะไม่ตอบโต้เลยหากท่านนายกฯ จะไม่เกว่งเท้าออกมา จนต้องเจอปังตอกลับไป แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ของประเทศอีกเรื่องหนึ่งก็ คือกรณีที่นายอภิสิทธิ์ กำลังถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โจมตีกรณีเอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543ที่จะทำให้ไทยเสียดินแดน 1.5 ล้านไร่นั้นนายอภิสิทธิ์ จะต้องตอบว่าใช้แผนที่ระวาง 1 ต่อ 2 แสน หรือที่เรียกว่า ระวางดงรักไปเป็นแนวทางในการปักปันเขตแดน จะทำให้คนไทยเสียหายหรือไม่ แต่ผมไม่อยากไปยุ่ง เพราะจะขอนั่งบนภูดูอย่างเดียว”นายนพดลกล่าว


Ref: มติชนออนไลน์
วันที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 16:23:29 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น