วันเสาร์, กรกฎาคม 03, 2553

ชำแหละมาตรการฟรี มุ่งสู่ภาระ"ถาวร"เพื่อใคร

จาก อัลบั้ม นสพ.ข่าวสดออนไลน์

รรอยร้าวลึกของสังคมไทยเพิ่งแสดงให้เห็นผ่านสงครามใจกลางเมือง บนถนน ราชประสงค์ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะที่มาหรือเบื้องลึกของ ปัญหาเกิดจากการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยในเมืองและคนจนในชนบท ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง

จุดนี้จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชูนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดความแตกต่างทางรายได้ของประชาชนทั้งประเทศ

และประเด็นที่สังคม กำลังจับตามอง และตกเป็นเป้าวิจารณ์มากที่สุดในขณะนี้ คือหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.53 มีมติต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ลดค่าไฟฟ้าฟรี 90 หน่วย ค่าโดยสารรถเมล์ร้อนฟรี และค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ฟรี ไปจนถึงสิ้นปี "53

รัฐบาล ก็จะทำให้มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการถาวร โดยมอบให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพศึกษาความเหมาะสมอีกครั้ง

"เป็น เรื่องที่เรากำลังอยากจะให้มันเป็นระบบ แต่จะเอาไม่เอาอีก 6 เดือนคงมีคำตอบ เราเชื่อว่าบริการเหล่านี้เป็นบริการสำหรับ คนที่มีรายได้น้อย คนด้อยโอกาส ก็เป็นเรื่องของรัฐ วิสาหกิจให้เขาทำเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่รัฐบาลให้ เงินอุดหนุน เป็นบริการทางสังคม ซึ่งเป็นระบบที่มี ความโปร่งใสชัดเจนดี" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ก็ไม่สนใจว่าใครจะมองว่าเป็นการหาเสียง หรือเป็นนโยบายประชานิยม แต่ยืนยันโจทย์ของรัฐบาลคือเมื่อประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน คน รวยมาก วิธีการใดก็ตามที่รัฐบาลจะลดปัญหานี้ได้ และอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สร้างปัญหาต่องบประมาณก็จะทำให้

หากยกระดับเป็น มาตรการถาวร รัฐ บาลจะใช้งบประมาณอุดหนุนผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

แต่หากจะให้เฉพาะค่ารถเมล์ฟรี และรถไฟฟรี ต้องตั้งงบประมาณอุดหนุนผลการดำเนินงานปีละประมาณ 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรถเมล์ฟรี 2,500 ล้านบาท และค่ารถไฟฟรีอีก 1,000 ล้านบาท

สำหรับ งบที่ใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.52-31 มี.ค.53 ในส่วนของลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน 9.158 ล้านครัวเรือน ใช้งบทั้งสิ้น 16,035.89 ล้านบาท ส่วนรถเมล์ฟรี มีประชาชนใช้บริการ 422.562 ล้านตั๋ว ใช้งบ 2,875.38 ล้านบาท

รถไฟชั้น 3 ฟรี มีประชาชนได้ประ โยชน์ 48.525 ล้านคน ใช้งบทั้งสิ้น 1,161.93 ล้านบาท ส่วนค่าน้ำประปาฟรี ซึ่งยกเลิกแล้วมีประชาชนได้ประโยชน์ 3.176 ล้านครัวเรือน ใช้งบทั้งสิ้น 6,447.38 ล้านบาท

ขณะที่งบที่ใช้กับมาตรการเหล่านี้ก่อน รัฐบาลประชาธิปัตย์จะเข้ามาเป็นรัฐบาล หน่วยงานราชการไม่ได้เก็บข้อมูลไว้

ส่วน การยืดมาตรการครั้งล่าสุดนี้อีก 6 เดือน สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน รัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 7,465 ล้านบาท ช่วยค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง รัฐรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวน 1,259 ล้านบาท และช่วยค่าใช้จ่ายเดินทางโดยสารรถไฟชั้น 3 รัฐรับภาระค่าใช้จ่าย 530 ล้านบาท

รวมภาระที่รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่าย 9,254 ล้านบาท

ปัจจุบัน คนไทยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 3-5 ล้านคน

หากทำมาตรการ ช่วยค่าครองชีพประชา ชนเป็นมาตรการถาวร เท่ากับคนเสียภาษี 3-5 ล้านคน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของคนทั้งประเทศที่ปัจจุบันมีกว่า 66 ล้านคน

และ นั่นก็เป็นเหตุผลที่ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐ กิจ ออกโรงคัดค้าน

"ผมไม่เห็นด้วย ที่รัฐบาลจะทำเรื่องมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน เป็นมาตรการถาวร เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้ว ในเรื่องของรัฐสวัสดิการแบบสวีเดน ที่มีคนจ่ายภาษีเพียงแค่ 6 ล้านคน แต่ต้องไปแบกรับค่าใช้จ่ายของคนอีกกว่า 60 ล้านคน อยากให้เป็นแบบนี้กันหรือไง นักวิชาการเขาด่ากันทั้งบ้านทั้งเมือง" นายไตรรงค์กล่าว

นอกจากนี้ หากเป็นมาตรการถาวรยัง กระทบต่องบประมาณโดยรวมของประเทศ เพราะยังมีอีกหลายโครงการที่สามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างโรงเรียน ถนน โรงพยาบาล

ที่สำคัญประเทศ ไทยกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ

ดังนั้น ควรปล่อยให้ประชาชนได้ดูแลตัวเองบ้าง ตามแนวทางของสังคมสวัสดิการ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเพียงเล็กน้อยน่าจะเหมาะสมกว่า

สอดคล้องกับ ความเห็นของ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิ ปัตย์ อดีต รมช.คลัง ที่มองว่ามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพหากเป็นระยะยาวจะเป็นภาระของรัฐบาล เพราะถ้าให้ประชาชน ก็ต้อง ให้ตลอด จะยกเลิกง่ายๆไม่ได้ ผลกระทบ จะลงไปสู่ประชาชน

นโยบายนี้จะเป็นผลให้สัดส่วนของงบประจำเพิ่มมาก ขึ้นเฉียดๆ 80% ของงบประมาณทั้งปี ไม่ต่างจากงบประจำที่ต้องจ่ายประจำ เช่นเดียวกับเงินเดือนข้าราชการ เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ

นอกจากนี้ ตัวเลขงบประจำยังเพิ่มขึ้นจากนโยบายการให้ต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือนโยบายเรียนฟรี

"ผมไม่ได้ต้อง การตำหนิว่าเป็น นโยบายไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง เพียงแต่มันขัดกับแนวคิดของผมสมัยที่เป็นรมช.คลัง และนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรมว.คลัง แต่ก็เข้าใจว่ายุค สมัยมันเปลี่ยนไป แนวทางหรือแนวคิดต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนไป" นายพิเชษฐกล่าว

ด้าน นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการควบคุมราคา แม้สะท้อนถึงความตั้งใจที่ดีในการดูแลค่าครองชีพ แต่ควรใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสม หากใช้นานเกินไปไม่เป็นผลดี เพราะบิดเบือนกลไกตลาด กระ ทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

และ การต่ออายุมาตรการอาจทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อปีนี้ต่ำกว่าที่ ธปท. เคยประเมินไว้ เชื่อว่าตัวเลขเงินเฟ้อ จะปรับตัวในทิศทางที่เร่งขึ้นได้ช่วงปีหน้า ซึ่งอาจเห็นได้ตั้งแต่กลางปีหน้า

นายพิเชต สุนทรพิพิธ ประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 วุฒิสภา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แม้ จะเป็นไปในลักษณะการบริการทางสังคมของรัฐ วิสาหกิจ เนื่องจากจะเป็นภาระงบประมาณของรัฐ

"ประเทศไทยมีสภาพ เศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสมและเอื้ออำนวย อีกทั้งการจัดเก็บรายได้ก็ยังมีปัญหา แต่หากจะต่ออายุมาตรการเป็นครั้งคราวก็น่าจะเป็นแนว ทางที่ดี" นายพิเชต กล่าว

ส่วน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับ แนวคิดนี้ รัฐบาลควรนำเงินไปลงในพื้นที่ที่จนจริงๆ จะดีกว่า

เจตนาในการบริการการลดค่าครองชีพ มุ่งเน้นไปที่ผู้มีรายได้น้อย คนใช้รถเมล์ฟรีมีรายได้น้อยจริง แต่ยังมีคนมีรายได้น้อยมากกว่าที่ไม่ได้อยู่ใน กรุงเทพฯ

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาล ตัวอย่างเรื่องรถเมล์ขสมก. ฟรี จากงานวิจัยพบว่าในต่างจังหวัด ซึ่งมีคนยากจนอยู่จำนวนมาก ยังขาดเรื่องนี้อยู่มาก

รัฐบาลควรจะนำงบประมาณที่มีอยู่จำกัดไป พัฒนางานด้านขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดให้ดีขึ้นจะเหมาะสมกว่า

นี่เป็น หลากหลายความคิดที่สะท้อนออกมาในมุมเดียวกัน

และเป็นโจทย์ที่รัฐบาล ต้องตีให้แตกก่อนตัดสินใจว่า

เมืองไทยพร้อมจริงหรือสำหรับรัฐ สวัสดิการ และเป้าหมายใหญ่เพื่อใครกันแน่



บทความ: ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ รายงานพิเศษ หน้า 8
วันที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7157

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น