วันเสาร์, มิถุนายน 26, 2553

วิถีตำรวจกล้า “จ่าเพียร”


ล่วงมากว่า 3 เดือนของการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ “นักรบแห่งเทือกเขาบูโด” ผู้ได้รับการประดับยศนายพลเมื่อ “ห่มธงชาติ” พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา



คนส่วนใหญ่รู้จัก “จ่าเพียร” จากสื่อหลายแขนง แต่อีกหลายสมญาที่น้อยคนจะรู้ ทั้ง จ่าเพียรขาเหล็ก วีรบุรุษผู้กล้า ผู้กำกับฯ นักสู้ ของชาวบ้านในแถบพื้นที่สีแดงชายแดนใต้ หรือแม้แต่ “เสือเฒ่า นังตา” ของภรรยาสุดที่รัก


ชื่อของ “พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา” ผกก.สภ.อ.บันนังสตา จังหวัดยะลา กระฉ่อนทั่วกรุงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 ชายวัยกลางคนสวมเครื่องแบบตำรวจสีกากี ติดเข็ม ตรา เครื่องหมายเต็มยศมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ความหวังครั้งต่อไปคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ก็ดูเหมือนเรื่องจะเงียบหายเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง


“การแต่งตั้งครั้งนี้เป็นการแต่งตั้งครั้งที่เลวร้ายที่สุด ที่พูดผมไม่กลัว เพราะไม่มีอะไรจะสูญเสีย ไม่มีการแต่งตั้งตำรวจครั้งไหนที่แย่เท่าครั้งนี้อีกแล้ว” ประโยคกินใจพร้อมน้ำตาลูกผู้ชายที่เอ่อล้น


“บาดแผลบนร่างกายเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตราชการ เลือดที่รดบนแผ่นดินครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นความภาคภูมิใจ เปรียบเสมือนปุ๋ยที่บำรุงพื้นดิน...แบบอย่างที่ทำมาตลอด ตำรวจรุ่นหลังกำลังสานต่อไปด้วยดี อยากให้ตำรวจรุ่นหลังเขามีแบบอย่างที่ดีเพื่อความก้าวหน้า แต่มาถึงบัดนี้ ผลการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาไม่ได้สร้างแบบอย่างที่ดี


เนื่องจากคนทำงานไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้บังคับบัญชาที่มีคุณธรรม หรือเพราะว่าผู้บังคับบัญชาก้าวหน้ามาด้วยระบบอุปถัมภ์ ไม่ได้ก้าวหน้ามาจากผลงาน” ใจความตอนหนึ่งของหนังสือราชการที่ขอความเป็นธรรม กรณีไม่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และขอความเป็นธรรมให้ข้าราชการตำรวจที่มีผลงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้


“ถ้าโรงพักไม่ปลอดภัย ก็ไม่มีที่ไหนปลอดภัยอีกแล้ว” ตามมาด้วยคำสั่งให้รื้อลวดหนามกับบังเกอร์หน้าโรงพักออก ก่อนเดินหน้าลงพื้นที่พบปะชาวบ้านทันที แม้ยศตำแหน่งจะสูงขึ้นแต่ชาวบ้านก็ยังเรียกติดปากว่า “จ่าเพียร”เช่นเดิม เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปราบโจรก่อการร้ายจนผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสายตา ผู้บังคับบัญชา


ทำให้กรมตำรวจ(ในขณะนั้น)อนุมัติจบหลักสูตร “นายตำรวจสัญญาบัตร” โดยไม่ต้องสอบ น้อยคนนักที่จะได้รับโอกาสนี้ และรางวัลชีวิตที่ทำให้ “จ่าเพียร” ปลาบปลื้มอย่างที่สุดคือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้เข้า เฝ้าฯรับพระราชทาน “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร”


ด้วยรูปแบบการทำงานแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ถึงลูกถึงคน กล้าได้กล้าเสียในแบบฉบับลูกผู้ชายตัวจริง ทำให้ชื่อของจ่าเพียรเป็นที่เลื่องลือทั้งในหมู่ชาวบ้านและโจรผู้ร้าย จ่าเพียรถูกลอบยิงไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง และรอดมาได้ราวปาฏิหาริย์ แม้มีรอยแผลฝากไว้ตามร่างกายบ้าง


แต่หนักหนาสาหัสเห็นจะเป็นเหตุเหยียบกับระเบิด ขาข้างซ้ายบาดเจ็บสาหัสแทบพิการ แพทย์ต้องใส่เหล็กดามกระดูกช่วยพยุงและแบกรับน้ำหนักตัว จ่าเพียรขาเหล็กที่ย่ำลาดตระเวนเดินบุกป่าฝ่าดงเพื่อปิดล้อมจับโจรอย่างไม่ รู้จักเมื่อยล้าต้องใช้ขาเหล็กจริงเสียแล้ว ถึงอย่างนั้นนักสู้ขาเหล็กผู้นี้ยังคงนำชุดปฏิบัติการเข้าป่าปิดล้อมจับโจร เกือบทุกครั้ง


“สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” แล้ววาระสุดท้ายของจ่าเพียรก็มาถึง 12 มีนาคม 2553 เหตุลอบวางระเบิดขณะออกตรวจพื้นที่ในบันนังสตา กระชากลมหายใจจ่าเพียรหลุดออกจากร่าง


วีรกรรมของนักสู้ขาเหล็กควรได้รับการกล่าวขาน หนังสือวิถีตำรวจกล้า “จ่าเพียร” โดยกองบรรณาธิการมติชน บันทึกวีรกรรมระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ตำรวจชั้นผู้น้อยเดินตามรอยเท้าที่ซื่อสัตย์ เตือนสติตำรวจชั้นผู้ใหญ่ให้หันมาเหลียวมองลูกน้องบ้าง และบันทึกไว้ในความทรงจำของคนไทยทุกคน เพราะอย่างน้อย “จ่าเพียร” คงไม่ใช่ข้าราชการน้ำดีคนแรกที่สละชีพปกป้องประเทศ เพื่อถูกทอดทิ้งอย่างไม่ไยดี!!!


“อุตส่าห์ทุ่มเทการทำงานอย่างหนักมาตลอด แต่ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจกลับมองไม่เห็นหัว คงอยากจะทำเรื่องขอพระราชทานยศ พล.ต.อ.ให้ผมตอนตายแล้วมากกว่า” ระบบสีกากีไทยเป็นอย่างที่วีรบุรุษสมเพียรว่าไว้จริงๆ


ข่าว: มติชนออนไลน์
วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 10:10:23 น.
-------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น