หลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ19พ.ค.ผ่านไปไม่ถึงเดือน ครม."มาร์ค 5" เริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่กี่วัน
ก็มีกระแสข่าวรัฐบาลเจรจาเทมาเส็กซื้อคืน "ไทยคม" โดยข้อมูลส่วนใหญ่ออกมาจาก นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนใกล้ชิด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี เปิดประเด็นว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อบริษัท "ไทยคม" คืนจากเทมาเส็ก โฮลดิ้ง
คำพูดไม่ได้ออกมาแบบเลื่อนลอย โดยนายศิริโชค อธิบายถึงเหตุผลการซื้อคืนไทยคม ว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศ เป็นความคิดตั้งแต่สมัยเป็นฝ่ายค้าน เนื่องจากวงโคจรดาวเทียมเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคง ไม่ควรถูกนำไปขายให้ต่างชาติ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบายให้เอาไทยคมคืนมา โดยมอบหมายให้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและตนเดินทางไปสิงคโปร์ เพื่อพูดคุยกับเทมาเล็ก
ซึ่งทางเทมาเส็กไม่ขัดข้อง แต่ขอดูเงื่อนไขทางธุรกิจต่างๆ ก่อน โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังที่จะดูแนวทางที่เหมาะสม อาจเป็นการซื้อทั้งบริษัท หรือเฉพาะกิจการดาวเทียมของไทยคม
นอกจากนี้ ยังระบุว่าการซื้อคืนมี 2 แนวทาง คือ ให้รัฐวิสาหกิจ อย่าง บริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) เข้าไปซื้อ และแนวทางที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโดยตั้งเป็นกอง ทุนซื้อดาวเทียมไทยคม
เรียกว่ามีแผนปฏิบัติการเอาคืน "ไทยคม" ออกมาอย่างชัดเจน
และพลันที่ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า รัฐบาลมีแนวคิดซื้อดาวเทียมไทยคมจริง โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา
พร้อมคำยืนยันจาก นายกรณ์ จาติกวณิช ที่ยอมรับว่าช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาได้เดินทางไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อพูดคุยกับเทมาเส็กจริง ซึ่งเป็นผลจากที่สถานการณ์การเมืองขณะนั้นมีม็อบเสื้อแดงไปบุกสถานีไทยคมและ มีกองทหารไปปิดล้อม จึงจำเป็นต้องไปชี้แจงสถานการณ์
พร้อมกับการเดินทางครั้งนั้น ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาซื้อคืน "ไทยคม" จากเทมาเส็ก โฮลดิ้ง
"หน้าที่ของผมคือไปหาแนวทางพูดคุยกับเจ้าของโดยชอบว่าจะขายหรือไม่ รัฐบาลต้องพิจารณาด้วยความเหมาะสม และต้องดูข้อเสนอของฝ่ายที่เป็นเจ้าของด้วย ส่วนเรื่องราคายังไม่ขอพูดถึงเพราะจะมีผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นและผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา
คำยืนยันต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ราคาหุ้น "ไทยคม" พุ่งกระฉูดทันที โดยในวันที่ 14 มิถุนายน ราคาหุ้นไทยคมพุ่งชนเพดานที่ระดับ 7.05 บาทเพิ่มขึ้น 1.60 บาทหรือ 29.36% มูลค่าการซื้อขาย 825 ล้านบาท มีมูลค่าการซื้อขายมากเป็นอันดับ 8และวันต่อมาราคาก็ยังขึ้นต่อเนื่องสูงสุดที่ 8.20 บาทและสุดท้ายลงมาปิดที่ 7.20 บาท
ขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และคำถามจากทุกสารทิศถึงความเหมาะสมกับการซื้อคืน "ไทยคม"
พร้อมกับคำถามว่าเป็นแค่เกมหาเสียง หรือปั่นหุ้นหรือไม่
ด้านหนึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่า การออกข่าวจะซื้อดาวเทียมไทยคมล่วงหน้า ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปถึง 29% คิดเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท พร้อมชี้ว่าการกระทำครั้งนี้มีคนที่ได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.)
นอกเหนือจากประเด็น "ปั่นหุ้น" แล้ว คำถามสำคัญในการติดสินใจเดินเกม "ซื้อคืน" ไทยคมนั้น ยังต้องเผชิญกับอีกหลายด่านคำถาม
แม้โดยความจริงเรื่องนี้มีกระแสออกมาเป็นระยะๆ เพียงแต่ยังไม่เคยมีความชัดเจนออกมาจากปากของผู้นำประเทศ
ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงก็คือ "ไทยคม" เป็นหนึ่งในปัญหาทางการเมือง ที่รัฐบาลพยายามกล่าวอ้างเรื่องความมั่นคง เพื่อที่จะหาเหตุผลซื้อคืน กลับมาเป็นของคนไทย
ซึ่งในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมา "ไทยคม" ตกเป็นตัวประกันและจำเลยในกรณีที่ปล่อยให้มีการเผยแพร่สัญญาทีวีดาวเทียม "พีเพิล แชนแนล" หรือพีทีวี ของคนเสื้อแดงทั้งที่รัฐบาลสั่งให้มีการตัดสัญญาณ
ดังนั้น กระแสของการที่จะยึดคืนไทยคมก็กระหึ่มขึ้นมา
โดยเฉพาะเมื่อมีคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาท กรณีปัญหาของไทยคมที่มีการทำผิดเงื่อนไขสัญญาสัมปทานรวมอยู่ด้วย
เพียงแต่ยังมีคำถามว่า การซื้อคืนเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่?
เพราะมีการยืนยันจากหลายฝ่ายว่า ตามสัญญาสัมปทาน ดาวเทียมไทยคมเป็นของกระทรวงไอซีทีอยู่แล้ว เนื่องจากในเงื่อนไขของสัมปทาน บริษัทต้องสร้างดาวเทียมและโอนกรรมสิทธิ์ให้กระทรวง ก่อนที่จะได้สิทธิเอาไปดำเนินการ
ทำไมเราจะต้องเอาเงินไปซื้อทรัพย์สินของเราคืน?
ปัญหาอยู่ที่การไปบังคับให้ไทยคมทำตามสัญญา!
"สิ่งที่รัฐต้องทำอยู่ตอนนี้ จึงต้องไปเจรจากับ บมจ.ไทยคม เพื่อให้มีการดำเนินการตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อทำให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมที่ถูกต้องตามสัญญาสัมปทาน ไม่ใช่อยู่ที่การไปซื้อหุ้นคืน" แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจสื่อสารให้ความเห็น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเฉพาะหน้า ที่ดาวเทียมตามสัมปทานของไทยคมถูกปลดระวางไปเป็นจำนวนมาก มีดาวเทียมที่ยังใช้งานได้แค่ดาวเทียมไทยคม 5 และไอพีสตาร์ ขณะที่มีการใช้ช่องสัญญาณอย่างหนาแน่น และยังไม่มีแผนจะยิงดาวเทียมขึ้นไปทดแทน ทั้งที่ตามเงื่อนไขสัญญาไทยคมจะต้องยิงดาวเทียมสำรองไว้เพื่อรองรับกรณีที่ มีปัญหา
ดังนั้น ประเด็นที่รัฐบาลไทยจะไปซื้อหุ้นไทยคมคืนนั้น จึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและสมควรหรือไม่
และเป็นข้อข้องใจว่า การตัดสินใจแบบนั้นอาจจะเป็นการเข้าทาง "เทมาเส็ก" ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้ต้องการธุรกิจดาวเทียมอยู่แล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวเป็นระยะว่า เทมาเส็กมีการเร่ขายบริษัทไทยคมอยู่เป็นระยะ
ดังนั้น การออกมาเปิดประเด็นของ นายศิริโชค โสภา คนสนิทของนายกรัฐมนตรี มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ เพราะทำให้ราคาหุ้นไทยคมพุ่งรับข่าวดังกล่าวไปแล้ว
และถึงที่สุดแม้รัฐบาลไม่ซื้อหุ้นคืนแต่มีคนได้ประโยชน์ จากการสร้างราคาหุ้นไปแล้ว
แม้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีออกมายืนยันว่า แนวคิดการซื้อไทยคมเป็นเรื่องที่รัฐบาลเห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง พร้อมระบุว่าถ้าใครได้ผลประโยชน์และได้มาโดยไม่ชอบจากการซื้อขายหุ้นก็ให้ ดำเนินการตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การประกาศเจรจาซื้อไทยคมคืนจากเทมาเส็ก นอกจากเป็น Question Mark ? ตัวโต ที่รัฐบาลต้องตอบให้ชัดถึงประโยชน์ที่ประเทศได้รับจะที่คุ้มค่ากับความสูญ เสีย
เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้นายกฯ อภิสิทธิ์ที่เปิดเกมซื้อคืน "ไทยคม" อาจต้องเข้ามุมอับเช่นที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ปฏิบัติการขาย "ชินคอร์ป" เมื่อปี 2549
บทความ:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 12:18:42 น.
----------------------------------------------------------------
Genseh's song: บทหนึ่งของชีวิต เพียว KPN
MyFuzzyhair | June 22, 2010 | 4:06
single แรกจาก เพียว ชนะเลิศถ้วยพระราชธานนักร้องยอดเยี่ยมแห่งประเทศ ไทยประจำปี พ.ศ.2553 KPN Award 2010
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น