วันพุธ, มิถุนายน 30, 2553

Daily News Online ข่าวยามเช้า 'เกลียด-แค้น' ยังกรุ่น

Daily News Online ข่าวยามเช้า 'เกลียด-แค้น' ยังกรุ่น

จาก อัลบั้มเดลินิวส์ออนไลน์
วันพฤหัสบดี ที่ 01 กรกฎาคม 2553 เวลา 1:00 น

ไทยติดหล่ม!! 'ธรรมในใจ' เจือจาง?

กระแสข่าวเรื่องการวางระเบิด เรื่องการยิงระเบิด ที่หวนกลับมาเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นการต้องการสนองความแค้น เป็นการสร้างสถานการณ์โดยบางฝ่ายเพื่อดำเนินการจัดการกับอีกฝ่าย หรือทั้งสองอย่าง จะอย่างไรก็สร้างความไม่สบายใจให้คนไทยโดยรวมอีกครั้ง และน่าหวั่นใจว่าที่สุดอาจนำสู่การ เกิดวิปโยคอีกครา

ขณะเดียวกันนี่ก็สะท้อนสภาวะ “สังคมไทย”

หรือความเป็น “สังคมพุทธ” เจือจางมาก??

ทั้งนี้ ว่ากันถึงความเป็นสังคมพุทธของสังคมไทย ในแวดวงสื่อสารมวลชนก็มีส่วน ซึ่งองค์กรสื่อในยุคนี้ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างเช่นในวันที่ 4 ก.ค. 2553 นี้ ทาง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะจัดงานครบรอบ 13 ปี ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมในงานนี้คือการปาฐกถาเรื่อง “จริยธรรมสื่อมวลชนตามแนวพุทธ” ซึ่งนี่ก็สะท้อนว่าแวดวงสื่อสารมวลชนตระหนักดีว่าจริยธรรม ศีลธรรม มีความสำคัญต่อสันติสุขของสังคมไทย

และสำหรับคนไทยโดยรวมก็น่าจะได้พิจารณาเรื่องนี้

โดยเฉพาะกับผู้ที่ยังยึดติดกับ “เกลียด-โกรธ-แค้น”

“การแสดงออกซึ่งเมตตาธรรมต่อผู้ด้อยโอกาสกว่า การแสดงความห่วงใยผู้อื่นเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถจัดการกับอุปสรรคของยุคสมัยเรา หากดำเนินตามจิตวิญญาณที่แท้จริงของพุทธศาสนา หรือศาสนาหลักอื่น ๆ ในโลกนี้แล้ว เป้าหมายอันสูงส่งเหล่านี้จะสามารถเป็นจริงได้” ...นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของ บัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นการระบุในสาร เนื่องในการประชุมชาวพุทธนานาชาติในไทยเมื่อปลายเดือน พ.ค. เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก ประจำปี 2553

แม้แต่ยูเอ็นยังยอมรับว่าหลักธรรมนั้นมีความสำคัญ

คนเมืองพุทธ-คนไทยก็ไม่น่าจะมองข้ามคุณค่าที่มีอยู่

ไม่จำเป็นต้องถือศีลเป็นร้อย ๆ ข้อ แค่มี “เมตตา-กรุณา-มุทิตา-อุเบกขา” นี่ก็ทำให้ชีวิตตนเองมีความสุขได้ และทำให้สังคม โดยรวมสงบสุขได้ด้วย ซึ่งกับจุดนี้ บางบทความในเว็บไซต์ของสถาบันนโยบายศึกษา ก็มีเนื้อหาน่าพิจารณา ยกตัวอย่างบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนากับการเมือง โดย อำไพ วานิชเจริญธรรม

เนื้อหาของบทความนี้ โดยสรุปก็เช่น... เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นหลัก พรหมวิหาร 4 ที่เป็นธรรมประจำใจ สำคัญหมวดหนึ่งในการบริหารชีวิตที่ถูกต้องดีงาม เพื่อให้ชีวิตที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลาย อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขในสังคมมนุษย์ ซึ่งพรหมวิหารนั้น แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม พระพุทธเจ้าตรัสแสดงพรหมวิหารให้ปฏิบัติเพื่อให้ทุกคนเป็นพระพรหม จะได้เป็นผู้แก้ปัญหา สร้างสรรค์ และอภิบาลสังคมเสียเอง ซึ่งจุดสำคัญคือต้องมีหลักธรรมทั้ง 4 ข้อคือ... เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ความหมาย และการใช้หลักธรรมทั้ง 4 ข้อ โดยสังเขปคือ... เมตตา ความมีไมตรี ความเป็นมิตร ความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข ใช้ในสถานการณ์ที่คนอื่นเขาอยู่ดีเป็นปกติ, กรุณา ความสงสาร ความมีใจพลอยหวั่นไหว เมื่อเขาประสบความทุกข์ก็อยากช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์ ใช้ในสถาน การณ์ที่คนอื่นเขาตกต่ำเดือดร้อน, มุทิตา ความพลอยยินดีด้วย เอาใจสนับสนุน ส่งเสริม เมื่อเขาประสบความสำเร็จ ได้ดีมีสุข ก็อยากให้เขาได้ดีมีสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ใช้ในสถานการณ์ที่คนอื่นเขาขึ้นสู่ภาวะที่สูงขึ้นไป, อุเบกขา การวางเฉยเป็นกลางให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม ซึ่งอุเบกขาต่างจากเมตตา กรุณา มุทิตา ที่ใช้เพียงความรู้สึกที่ดี

อุเบกขา ต้องใช้ความรู้ (ปัญญา) ด้วย คือต้องรู้ว่าอะไร ถูก อะไรผิด อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความถูกต้องดีงาม อะไรคือหลักการ แล้วเอาความรู้นั้นมาปรับเข้ากับความรู้สึกให้ลงตัวพอดี เพื่อวางตัวได้ถูกต้อง เป็นกลางตามธรรม อนึ่ง เมื่อบุคคลใดละเมิดธรรม คือทำผิดกฎหมายหรือกฎกติกาของสังคม ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลนั้น ต้องหยุดขวนขวายช่วยเหลือทุกวิถีทางทันที ปล่อยให้มีการปฏิบัติต่อเขาเป็นไปตามความเป็นจริง ตามหลักการ เพื่อเป็นการรักษาธรรมไว้ มิฉะนั้นสังคมก็ปั่นป่วน วุ่นวาย

ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าวยังระบุไว้ด้วยว่า... มีเมตตา กรุณา มุทิตา ที่เหมาะพอดี และมีอุเบกขาคุมท้าย ไว้แล้ว ก็จะดำรงรักษาความเป็นธรรมในสังคม และความเข้มแข็งรับผิดชอบในตัวคนไว้ได้ แล้วก็จะเป็นผู้อภิบาลโลก ดำรงรักษาสังคมให้มีสันติสุข ตั้งแต่สังคมเล็กในบ้าน จนถึงสังคมสากล ของมวลมนุษย์

และนี่ก็สอดคล้องกับที่ พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยไว้ถึงการประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชา ปี 2553 ว่า... ผู้นำชาวพุทธได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า “การแก้วิกฤติในประเทศไทยนั้นจะต้องแก้ด้วยการสร้างศีลธรรม จริยธรรม ให้เกิดขึ้นในจิตใจ”

เข้าสู่เดือน ก.ค. เดือนนี้มีทั้งวันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา

นี่ก็น่าจะเป็นฤกษ์ตั้งต้นในการ “แก้ธรรมในใจเจือจาง” ได้

แล้วจุดนี้ก็จะช่วย “สร้างความปรองดอง-นำสู่สันติ” ได้ !!!.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น