วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 22, 2554

พิษน้ำมันปาล์มลามการเมือง

อัญชลี วานิช เทพบุตร เนวิน ชิดชอบ ศุภชัย ใจสมุทร


พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ :

รายงานพิเศษ: พิษน้ำมันปาล์มลามการเมือง

ปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาด ถีบราคาขายต่อขวดให้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่ชิ่งกระทบมาถึงการเมือง

กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลเรื่องสต๊อกสินค้า มี นางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นรมว.พาณิชย์ ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ อยู่ในความดูแลของพรรคชาติไทยพัฒนา

เมื่อปัญหานี้ลุกลาม นายกฯ แต่งตั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ เข้าไปแก้ปัญหา

ระหว่างนี้ ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยและอดีตแกนนำบ้านเลขที่ 111 แท็กทีมกันเปิดแผลขยี้ปมร้อนรายวัน รวมถึงปูดชื่อย่อนักการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการกักตุนน้ำมันปาล์ม


อัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี


ถ้าพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ระบุชื่อดิฉันอย่างนั้นจริงก็ดี ขอให้เก็บม้วนเทปที่เขาให้สัมภาษณ์นั้นไว้ด้วย

กำลังให้ทนายความเก็บข้อมูล และต้องดูก่อนว่าที่เขาไปพูดอักษรย่อ ให้เชื่อมโยงมาถึงดิฉันนั้นเข้าข่ายเสียหายหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทจะฟ้องร้องดำเนินคดี

'หญิงสุ' กับ 'ชายพร้อม' ชอบเล่นละครก็เล่นกันไป 2 คน อย่าดึงดิฉันเข้าไปด้วย เพราะไม่เกี่ยว ไม่ชอบเล่นละคร ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ในเรื่องพวกนี้

ถามว่าดิฉันเกี่ยวพันกับผลผลิตปาล์มน้ำมันหรือไม่ ครอบครัวดิฉันทำธุรกิจเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน คุณปู่เป็นคนแรกที่นำปาล์มน้ำมันต้นแรกเข้ามาปลูกในไทย พัฒนากลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศจนทุกวันนี้ และเป็นบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

แต่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันพืช หรือน้ำมันบริสุทธิ์

สิ่งที่เขาพูด ไม่ได้ทำการบ้าน แล้วเหมารวมว่าโรงสกัดน้ำมันก็เข้าใจเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่นำน้ำมันพืชบรรจุขวด ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เป็นความพยายามดึงตัวละครเข้าไปร่วมเล่นด้วยเท่านั้นเอง พรรคเพื่อไทยต้องการทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นการเมือง

ถามว่าวันนี้ปาล์มน้ำมันขาดตลาดหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าขาดผลผลิตการเกษตร เป็นรอบ 10 ปีที่ขาดมาก เพราะไทยประสบปัญหาภัยแล้ง จึงส่งผลกระทบต่อสต๊อกน้ำมันพืช

เป็นปัญหาที่ต้องเข้าไปดูที่ระบบบริหารจัดการ ลงไปในรายละเอียด โดยเฉพาะกรมเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย ระบุราคาผลปาล์มอยู่ที่ 11-12 บาท แต่รับซื้อจริงแค่ 6 บาทเท่านั้น ไม่ทราบว่าโรงงานที่รับซื้อในราคาดังกล่าวเป็นของคุณหญิงหรือไม่ แต่เวลาซื้อกันวันนี้อยู่ที่ 8 บาท เป็นสัดส่วนที่ขึ้นลงตามกลไกตลาด ไม่มีใครบิดเบือน

คนไม่รู้จริงอย่าออกมาพูด จะทำให้คนสับสนได้

ดิฉันไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการชุดใด หากถามว่าการแก้ปัญหาเดินมาถูกทางหรือไม่ คิดว่าการนำน้ำมันปาล์มเข้านั้นจำเป็น ของมันขาดจริงๆ แต่ปัญหาอยู่ที่จำนวนเท่าไหร่

และอยู่ที่ฝีมือว่าจะบริหารจัดการสต๊อกที่นำเข้านั้นได้อย่างไร เพื่อรองรับผลผลิตปาล์มน้ำมันที่จะออกช่วงปลายเดือนมี.ค. ต้นเม.ย.

หากบริหารจัดการดีๆ ช่วงนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติและเป็นประโยชน์ ผู้บริโภคไม่ต้องซื้อน้ำมันพืชแพง รัฐบาลไม่ต้องช่วยเหลือมาก

วันนี้ต้องบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด กระทรวงเกษตรฯ ต้องเก็บข้อมูลของสวนกระทรวง พาณิชย์เก็บข้อมูลสต๊อกน้ำมันพืช ภาคอุตสาหกรรม ถ้าบริหารจัดการตัวเลขอย่างนี้ให้ดีๆ น่าจะไปได้

ส่วนการทำงานของทั้ง 2 กระทรวง ต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้น อาจบกพร่องในเรื่องบริหารจัดการอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องตัวเลข เช่น ข้าราชการประจำกระทรวงเกษตรฯ ต้องรู้อยู่ว่าผลผลิตดิ่งๆ เป็นสัญญาณอันหนึ่งแล้ว

กระทรวงพาณิชย์น่าจะรู้ว่าสต๊อกมันขาดจริงๆ ไม่มีใครหลอกใครได้ ตัวเลขในโรงกลั่นน้ำมันมีอยู่ว่า สต๊อกในประเทศเท่าไหร่ ใครกลั่นได้เท่าไหร่


พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย

ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มนั้นเกิดจากการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งเรื่องของการผลิต การกระจายสินค้า การดำเนินการด้านนโยบายที่เอาน้ำมันปาล์มไปทำไบโอดีเซล รวมถึงปล่อยให้มีการกักตุนเพื่อปั่นราคา ซึ่งทำกันอย่างเป็นกระบวนการ

ขอท้า นายสุเทพ และครม.ชุดนี้ ให้ไปสาบานด้วยกันที่วัดพระแก้วว่าใครเกี่ยวข้องกับกระบวนการกักตุน ปั่นราคา และหาประโยชน์จากน้ำมันปาล์มบ้าง จะกล้าหรือไม่

ผ่านมา 3 เดือนแล้วแต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ รัฐบาลหวังผลแค่หากระสุนดินดำเพื่อเป็นทุนไว้ใช้เลือกตั้งครั้งหน้า วันอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเปิดเผยว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้อง ใครผลิต โรงงานไหน เชื่อมโยงไปถึงใครที่เป็นนักการเมืองบ้าง

กลุ่มทุนไหน กลุ่มข้าราชการฝ่ายใดที่หนุนนักการเมืองชั่ว


เนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย

การเข้ามาแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งเป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ ผมบอก คุณพรทิวา ไปแล้วว่า ให้เดินหน้าเต็มที่เพราะพรรคภูมิใจไทยไม่เกี่ยวข้อง ส.ส. พรรคไม่มีใครทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องปาล์ม น้ำมัน

ถ้ากระทรวงพาณิชย์มีมตินำเข้าเสรีน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และสั่งห้ามส่งออกขายนอกประเทศแค่ 3 เดือน ก็เรียบร้อยทุกอย่าง กลับสู่สภาพเดิม

เรื่องนี้ดูไม่ยากเพราะแหล่งน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่ที่ โดยเฉพาะจ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง และ ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จังหวัดเหล่านี้มีโรงงานสกัดและโรงงานกลั่นน้ำมันอยู่แล้ว

ที่คนทำเรื่องนี้กลัวมากที่สุดคือปาล์มทะลายจะราคาตก จะส่งผลกระทบต่อฐานหัวคะแนนสำคัญซึ่งเป็นของพรรคไหนทุกคนก็พอจะรู้อยู่แล้ว เพราะปัจจุบันคนเหล่านี้ไม่ได้ปลูกยางพารากันแล้ว

เรื่องปาล์มน้ำมันขอให้ใจเย็นๆ เดี๋ยวก็รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง ตอนนี้พรรคเพื่อไทยมีข้อมูลในการอภิปรายแล้ว พรรคภูมิใจไทยเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น

ที่มองกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องโยนเผือกร้อนและโยนปัญหามาที่พรรคภูมิใจไทย ก็เอาให้สนุก เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง (เพลงไว้ใจของวงไมโคร) ถ้าพรรคตอบโต้ก็เหมือนบ้านแตก

และตรงนี้ไม่ใช่การประนีประนอม แต่เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในฐานะคนที่อยู่ร่วมกันแบบผัวเมีย ต้องมีทะเลาะกันบ้าง

เป็นเมียก็ยอมให้เตะๆ ไป ไม่มีเมียคนไหนคิดเลิกกับผัว สาเหตุที่ผัวจะเตะเมียมี 2 เรื่อง คือ 1.เมามา 2.เตะเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็รักกันเมียก็ยอมๆ ไปเสีย

ส่วนถ้าผัวเตะบ่อยๆ เมียคิดจะมีชู้หรือเปล่า ผมบอกได้ว่าตอนนี้ยังไม่รู้ ให้ไปคิดกันเอาเอง แต่เท่าที่เห็นตามหน้า 1 หนังสือพิมพ์ เมื่อผัวเตะเมียบ่อยๆ ก็จะถูกเมียเอามีดไปฟันหัว หรือไม่ก็โดนตัดจู๋ เลือกเอาแล้วกันว่าจะโดนอะไร

ดังนั้น ขอเตือนหากผัวจะทำอะไรก็ต้องให้เนียนกว่านี้ และหาจังหวะเผลอให้ดีกว่านี้


ศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย

ยืนยันไม่มีความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายแต่ละพรรคมีวิธีการบริหารงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ไม่ได้ทำให้แตกหัก

นางพรทิวาทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ไม่มีเรื่องผลประโยชน์และการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง มีสายตาประชาชนและสื่อจับจ้องอยู่คงไม่มีใครคิดฆ่าตัวตาย ส่วนอักษรย่อที่ออกมาก็มาจากการพูดของฝ่ายค้าน ตัวย่อบางตัวพรรคอื่นก็ออกมาปัดกันพัลวัน

ข่าวเสนอปลดรมว.พาณิชย์ ถ้านางพรทิวา เป็นรัฐมนตรีสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจเป็นไปได้ที่ ส.ส.จะเสนอกันภายในพรรค แต่วันนี้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลคงคิดว่าเป็นเรื่องการบริหารงานปกติ แต่ไม่ได้หมาย ความว่าต้องเสนอให้ปลด มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ไม่สามารถทำได้อย่างที่อยากจะทำ

ภาพความเป็นผู้ร้ายมันมักจะเกิดขึ้นอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่เรื่องรถเมล์ ขสมก. แล้ว สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยต้องทำให้มากที่สุดในวันนี้คือพิสูจน์ให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา


ที่มา: ข่าวสดรายวัน : วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7391

---------------------------------------------

ไขปริศนาวิกฤตน้ำมันปาล์ม ขาดแคลน-กักตุน-ปั่นราคา รัฐบาลไร้น้ำยา"โยนกันไปมา"


ปัญหาน้ำมันปาล์มกำลังบานปลาย เป็นปมขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกันเองอีกครั้ง เมื่อฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาติการแก้ปัญหาของนางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลภาวะสินค้าไม่ให้เกิดการขาดแคลนและราคาแพงจนไม่อาจ ควบคุมได้ และล่าช้าต่อการแก้ปัญหาจนกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง พร้อมกับเสนอสูตรแก้ปัญหาของนายสุเทพเอง

ปล่อยข่าว นักการเมือง นามย่อ ส.

เป็นการเกิดขึ้นหลังจากนางพรทิวาเปรยถึงปัญหาปาล์มขาดแคลน เพราะมีขบวนการจงใจกักตุน และรวมหัวกับต่างชาติ กว้านเก็บน้ำมันปาล์มในท้องตลาด เพื่อให้เหลือปริมาณในตลาดให้น้อยที่สุด มุ่งเป้าหมายเพื่อปั่นราคาขายในท้องตลาดให้แพงลิบลิ่ว พุ่งเป้าไปยังคนใกล้ชิดในพรรคประชาธิปัตย์เอง ว่ามีความเกี่ยวพันกับโรงสกัดและโรงกลั่น

จนกระทั่งมีการปล่อยข่าวว่าคนทางการเมืองนามย่อ "ส" อยู่เบื้องหลังปัญหา

การคาดเดาพุ่งเป้าไปยังนายสุเทพ ที่เป็นทั้งนักการเมืองภาคใต้ มีข้อครหาเรื่องการนั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ทั้งที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องการสร้างให้ซ้ำรอยเหมือนครั้งการระบายสินค้าเกษตรกรในสต๊อครัฐบาล

ครั้งนั้นปมขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างนางพรทิวากับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสินค้าเกษตร ขยันเหยียบเบรกขวางการระบายขายข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าวสาร ที่นางพรทิวาเสนอ

การลดบทบาทรมว.พาณิชย์


จนสุดท้ายที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ดึงการพิจารณาและอนุมัติไปไว้ทำเนียบรัฐบาลทั้งหมด เท่ากับเป็นการลดบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากเดิมมีอำนาจเต็มเซ็นอนุมัติขายหรือไม่ขายให้ใคร ปริมาณ และราคาเท่าไหร่ก็ได้ กลายเป็นเพียงผู้เสนอว่าควรเปิดระบายสินค้าเท่านั้น

มุ่งไปให้เห็นว่าเป็นทางออกของการลดภาพพจน์ เรื่องความไม่โปร่งใสและการเอื้อประโยชน์ให้คนใกล้ชิดกับการเข้ามาเกี่ยว ข้องกับการระบายสินค้า

แต่ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า ลำพังกระทรวงพาณิชย์คงไม่อาจแก้ปัญหาปาล์มขาดแคลนได้ และจะกลายเป็นปัญหาลุกลามถึงอาหารสินค้าอื่นๆ อ้างน้ำมันแพงขยับขึ้นราคายกแผง จนเป็นภาระค่าครองชีพประชาชนและผู้มีรายได้น้อย

จึงเป็นที่มาของการดึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาตรวจสอบการกักตุนน้ำมันปาล์ม แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นเพียงการเข้าตรวจสอบว่าน้ำมันมีการซุกซ่อนที่ใด แค่ไหน และมีอำนาจในการจัดการได้อย่างไร

เพราะก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์เองก็พบปัญหาว่ามีโรงกลั่น 4 แห่ง ประวิงเวลาการผลิตและระบายปาล์มน้ำมัน ได้รับการจัดสรรจากการนำเข้าในล็อตแรก 3 หมื่นตัน มีรวมกันแล้วถึง 9 ล้านขวด จากจำนวนที่ผลิตได้ 24-25 ล้านลิตร

แต่ก็เพียงรับรู้ ไม่อาจดำเนินการเอาผิดได้ ทำได้แค่เร่งรัดให้ผลิตออกสู่ตลาด ทั้งที่น่าจะหาทางลงโทษ หรือใช้การยึดคืนปาล์มเพื่อให้บริษัทอื่นผลิตแทน

ความเชื่องช้าหรือเจตนาแฝง ?

หากจะย้อนดูถึงปัญหาปาล์ม ปัญหาที่เกิดเป็นเพราะความ "เชื่องช้า" ของหลายฝ่าย แต่ยังเกิดข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องของเจตนาจะให้เกิดขึ้นหรือไม่


ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 ในวงการผลิตและค้าปาล์มน้ำมันได้ทำหนังสือเร่งรัดถึงนางพรทิวา ขอให้พิจารณาเสนอนายสุเทพอนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มดิบกึ่งบริสุทธิ์ เพราะเริ่มเห็นความผิดปกติของผลผลิตเกษตรกรลดลงและสต๊อคปาล์มน้ำมันดิบลดลง ต่อเนื่อง ขณะที่ราคาขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันปาล์มตามห้างสรรพสินค้าและตลาดสดลดลง น้ำมันดิบเข้าโรงกลั่นก็ฝืดเคืองขึ้นเรื่อยๆ

โรงผลิตและผู้ค้าปาล์มน้ำมันบางราย เริ่มมีการกักตุน ปรับวิธีการค้าขาย ลดสัดส่วนบรรจุขวดเพื่อป้อนตลาดครัวเรือน หันมาเพิ่มบรรจุถุงและปี๊บแทน เพราะขายได้ราคาดีกว่าแบบบรรจุขวด ที่มีกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ของกระทรวงพาณิชย์คุมราคาขายอยู่ และไม่ต้องเจอโทษจำคุก 7 ปี ถูกปรับอีกไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตลอด 3-4 เดือนก่อนเข้าวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผลผลิตปาล์มสดยังใกล้เคียงปี 2552 ประมาณ 8.2 ล้านตัน แต่กลับเห็นความผิดปกติในตัวเลขสต๊อคน้ำมันปาล์มจากที่เคยกันสำรองไว้ 2 แสนตัน ในเดือนสิงหาคม 2553 ลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือ 1.85 แสนตัน 1.33 แสนตัน และ 98,015 ตันในเดือนพฤศจิกายน เหลือ 0% ในเดือนธันวาคม 2553 จนถึงเดือนมกราคม 2554

รวมถึงตัวเลขการใช้ไบโอดีเซลจากใช้เพียง 2.6 หมื่นตันในปี 2550 เพิ่มเป็น 4.7 แสนตันในปี 2553

สำหรับการเพิ่มขึ้นของตัวเลขส่งออกน้ำมันปาล์ม พบว่าเดือนกันยายน เอกชนส่งสัญญาณต่อกระทรวงพาณิชย์แล้วว่า มีปาล์มในประเทศลดลง มีการส่งออกสูงถึง 37,137 ตัน จากก่อนหน้านี้ส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 23,000 ตัน แม้ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ก็ยังมีการส่งออก 7,901 ตัน และ 3,606 ตันตามลำดับ ขณะที่ในประเทศต้องเข้าแถวรอซื้อน้ำมันปาล์มแล้ว

เพราะไม่ใส่ใจ ...จนวิกฤตรุนแรง

ทั้งปี 2553 ยอดส่งออกมีถึง 223,984 ตัน สูงกว่าปี 2552 ส่งออกไป 189,780 ตัน อัตราเพิ่มของมูลค่าสูงกว่าปริมาณ ปี 2553 มีมูลค่า 6,656 ล้านบาท แต่ปี 2552 มีมูลค่า 4,720 ล้านบาท

หากรัฐบาลใส่ใจและไม่ปล่อยให้ปัญหาล่วงเลยถึงเดือนธันวาคม 2553 วิกฤตขาดแคลนปาล์มเพื่อใช้ในการบริโภคก็จะไม่รุนแรงอย่างวันนี้

สุดท้าย นายสุเทพยอมเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ครั้งแรกในปี 2553 เพื่อพิจารณามาตรการตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการบริหารผิดพลาด เอื้อประโยชน์กลุ่มพ่อค้าคนกลาง ตั้งแต่โรงสกัดถึงโรงกลั่น เพราะรัฐบาลเลือกปรับเพิ่มราคาควบคุมขวด (1 ลิตร) ทันที 9 บาท จาก 38 บาท เป็น 47 บาท ก่อนใช้มาตรการขั้นสองคือนำเข้าปาล์ม 3 หมื่นตัน เพื่อให้ชดเชยปริมาณที่หายไป แต่กลับเป็นการนำเข้าในปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการจริง จึงถูกดูดซับจากกระแสการตื่นตระหนกว่าจะไม่มีสินค้า และราคาจะถีบตัวสูงขึ้นอีก โดยไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเท่าไหร่

ภาพการแย่งซื้อน้ำมันตามห้างจนหมดแผงทุกวัน จนห้างต้องจำกัดการปล่อยน้ำมันเหลือคนละ 2 ขวดบ้าง 1 ขวดบ้าง ก็มีการโยนกันไปมาทั้งผู้ผลิต พ่อค้าคนกลาง และค้าปลีกว่ามีการกักตุนเพื่อปั่นราคาตลาดให้สูงขึ้น หวังเก็งกำไร รวมถึงโรงผลิตไบโอดีเซลตุนปาล์มเพื่อผลิตพลังงานทดแทน ต่างก็เป็นสาเหตุให้วิกฤตขาดปาล์มแย่ลงไปอีก

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็เสียเวลาไปกับการไล่จับไล่ปรับปลาซิวปลาสร้อย ร้านค้ารายย่อยขายเกินราคา ทั้งที่เป็นผลกระทบมาจากยี่ปั๊วซาปั๊วส่งสินค้ามาให้ในราคาสูงกว่าราคาขวดละ 47 บาท ตามราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์

เมื่อน้ำมันปลาล์มเกิดภาวะขาดแคลนหนักขึ้น สุดท้ายมีการขอนำเข้าอีกรอบ 2 แสนตัน แต่ได้รับการอนุมัติ 1.2 แสนตัน โดยยังคงบังคับผลิตและขายในราคาควบคุมลิตรละ 47 บาท แต่ก็ส่อว่าจะเหมือนการนำเข้ารอบแรก คือผู้ผลิตอ้างต้นทุนแพง ราคาน่าจะนำเข้าได้ลิตรละ 40-41 บาท บวกค่ากลั่นและบริหารจัดการอีกลิตรละ 15 บาท จะขายต่ำกว่า 50 บาทคงไม่ไหวแล้ว

เกมการตักตวงผลประโยชน์

จึงเกิดการรวมตัวกันในกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่บางราย งดรับการจัดสรรน้ำมันปาล์ม อ้างแบกรับต้นทุนไม่ไหว หากจะให้ทำต้องปล่อยลอยตัวหรือภาครัฐต้องชดเชยส่วนต่างให้

นับเป็นเกมการตักตวงผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย โดยมีเงื่อนไขเวลาเป็นหัวใจหลัก เพราะในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ผลผลิตปาล์มจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ดังนั้นในช่วงนี้ ปริมาณการระบายน้ำมันปาล์มออกสู่ตลาด จึงมีความสำคัญทั้งต่อความต้องการใช้ของประชาชนอย่างเพียงพอ และต้องไม่ให้มีผลกระทบกับราคาผลปาล์มดิบของเกษตรกรในประเทศด้วย

เมื่อมาผนวกกับบรรยากาศการเมืองกำลังคุกรุ่น ใกล้ช่วง "ยุบสภา" เต็มที จึงไม่น่าแปลกใจ หากจะเห็นต่างฝ่ายต่างออกมาโยนความรับผิดชอบกันไปมา ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ทั้งที่ความรับผิดชอบน่าจะอยู่ที่รัฐบาล เพราะทุกฝ่ายก็รู้ปัญหาความขาดแคลนมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจดูแล ไม่เกาะติดปัญหา จนปัญหาลุกลาม

ต้องติดตามว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่มีนายสุเทพนั่งหัวโต๊ะ บรรดาผู้รับผิดชอบทั้งหลาย ยังโยนกันไปโยนกันมา หรือเอาจริงเอาจังกับการลากคอ "ไอ้โม่ง" ที่หากินบนความเดือดร้อนของประชาชนออกมาลงโทษได้แค่ไหน


บทความชื่อ:ไขปริศนาวิกฤตน้ำมันปาล์มขาดแคลน-กักตุน-ปั่นราคารัฐบาลไร้น้ำยา"โยนกันไปมา"
โดย Sahanut Natt Maneekul ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2011 เวลา 22:20 น
ที่มาบทความ: http://www.facebook.com/note.php?note_id=499286547734

-------------------------------------------------------


น้ำมันปาล์ม

ปัญหาน้ำมันปาล์มขยับราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบทั้งในระดับครัวเรือน และระดับอุตสาหกรรม

รัฐบาลชี้แจงว่า ราคาน้ำมันปาล์มที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่อง จากขาดแคลนวัตถุดิบเพราะประเทศไทยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และความต้องการในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

จึงต้องมีหลายมาตรการออกมาช่วย เช่น ให้นำเข้าผลปาล์ม 30,000 ตันจากต่างประเทศ แต่สถาน การณ์ก็ไม่ดีขึ้น

กลายเป็นปัญหาการเมืองไปทันที เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหลายฝ่าย

สำหรับ"ปาล์มน้ำมัน" เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้น จึงเจริญเติบโตได้ดีในภาคใต้ของประเทศ บริเวณที่ปลูกมากที่สุด คือจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร สตูล และตรัง

ปาล์มน้ำมันชนิดที่ปลูกเป็นการค้า มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และได้นำเข้ามาปลูกในไทย ผ่านทางอินโดนีเซียและมาเลเซีย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 ที่สถานีทดลองยางคอหงษ์ จ.สงขลา และสถานีกสิกรรมพลิ้ว จ.จันทบุรี

ส่วนการปลูกเพื่อเป็นการค้า เริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ จ.สงขลา แต่ก็ได้ล้มเลิกกิจการไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2511 จึงได้ส่งเสริมอีกครั้งหนึ่ง และพื้นที่เพาะปลูกขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว

ปาล์มน้ำมันมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ปลูกเป็นการค้ามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Elaeis guineensis จำแนกออกเป็น 3 พันธุ์ คือ

1.พันธุ์ดูรา (Dura) มีเปลือกหุ้มผลค่อนข้างบาง และมีกะลาหนา มีปริมาณน้ำมันต่อทะลายต่ำเพียงร้อยละ 18-20

2.พันธุ์ฟิสิเฟอรา (Pisifera) มีเปลือกหุ้มผลค่อนข้างบาง แต่ให้ผลขนาดเล็ก และดอกตัวเมียเป็นหมันผลิตผลต่อต้นต่ำ 3.พันธุ์เทนเนอรา (Tenera) เป็นพันธุ์ลูกผสม โดยรวมลักษณะดีจากทั้งสองพันธุ์ดังกล่าวเข้าด้วยกัน โดยใช้ดูราเป็นแม่ และฟิสิเฟอราเป็นพ่อ ให้น้ำหนักผลปาล์มต่อทะลายสูง เนื่องจากมีเปลือกหุ้มผลหนา และมีปริมาณน้ำมันมาก

เนื่องจากผลตอบแทนของการปลูกปาล์มน้ำมันดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ยางพาราและการทำนาข้าว จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี ระบุว่า ปี 2553 ประเทศไทยปลูกปาล์มน้ำมัน 3,637,536 ไร่ ให้ผลผลิต 9,032,635 ตัน

ทั้งนี้ผลปาล์มให้น้ำมันปาล์ม ได้จาก 2 ส่วน คือ จากเปลือกหุ้มภายนอก และจากเนื้อในของเมล็ด

"น้ำมันจากเปลือกของปาล์ม" ประกอบด้วยกรดไขมันที่อิ่มตัว ประมาณร้อยละ 52 และกรดไขมันไม่อิ่มตัว ร้อยละ 48 เมื่อจะนำมาใช้จึงต้องนำน้ำมันดิบมาผ่านกรรมวิธีแยกกรดไขมันทั้งสองออกจากกันก่อน

น้ำมันไม่อิ่มตัว สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เช่น ใช้ปรุงอาหาร ทำเนยเทียม หรือ มาการีน เนยขาว เป็นส่วนผสมของนมข้นหวาน ไอศกรีม และขนมอีกหลายชนิด

ส่วนที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวสามารถนำไปทำสบู่ ผงซักฟอก และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ

ส่วน "น้ำมันเนื้อในของเมล็ดปาล์ม" ประกอบ ด้วยน้ำมันชนิดอิ่มตัวสูงถึงร้อยละ 85-90 ไม่เหมาะต่อการบริโภค จึงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสบู่ เครื่องสำอาง ผงซักฟอกอุตสาหกรรมสี และเรซิน เป็นต้น

วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งหาแหล่งพลังงานทดแทนจากพืช ซึ่งปาล์มน้ำมันก็จัดเป็นพืชที่มีศักยภาพอันดับต้นๆ จึงมีการนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลด้วย

หลังเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันปาล์ม ครม.จึงมีมติให้ชะลอการใช้ไบโอดีเซลไปก่อน


ที่มา: ข่าวสดรายวัน
(update: วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7391)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น