วันศุกร์, ธันวาคม 17, 2553

"วิกิลีกส์เกท"-"ผ่าตัวตน"จูเลียน แอสแซนจ์"




ในขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาความเป็นไปของนายจูเลียน แอสแซนจ์ ผู้ก่อตั้ง"วิกิลีกส์"ที่กำลังเขย่าโลกอย่างเกรียวกราว เพราะการปล่อยข้อมูลลับกว่า 250,000 ชิ้น(ซึ่งกระทบกระเทือนต่อชาติต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ชนิดก่อเป็นแผ่นดินไหวแบบลูกระนาด)หลังจากที่เขาถูกจับกุมจากทางการตำรวจ อังกฤษในข้อหาข่มขืนผู้อื่น และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวไปแล้วนั้น มีความเคลื่อนไหวที่น่าประหลาดใจจากฝ่ายหนึ่ง ชนิดที่เรียกว่า เป็นกระแสที่ตรงข้ามกับรัฐบาลทั่วโลกทีเดียว


กระแสนั้นก็คือ การที่"ออสเตรเลีย"ได้ประกาศว่า นายแอสแซนจ์ ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย จากการเผยแพร่ข้อมูลของวิกิลีกส์ หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลีย ได้สั่งให้มีการตรวจสอบว่า การกระทำของเขา ขัดต่อกฎหมายของออสเตรเลียหรือไม่


ฐานหนึ่งนั้น เข้าใจได้ว่า ลึก ๆ แล้ว นี่อาจเป็นความพยายามปกป้องนายแอสแซนจ์ ในฐานะพลเมืองของออสเตรเลีย เพราะนายแอสแซนจ์เป็นชาวออสซี่ และเขากำลังถูกรัฐบาลทั่วโลกรุมสกรัมอย่างหนัก ต่อบทบาท "จอมปากโป้ง" ป่าวประกาศความลับของประเทศต่าง ๆ ออกมาสู่ที่สาธารณะ


อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ท่าทีของออสเตรเลีย อาจถูกมองได้ทั้งว่า"เป็นการตีชิ่งจากนายแอสแซนจ์ ในเชิงการทูต คือไม่ขอเกี่ยวข้อง หรือไม่รู้เห็นด้วยกับบุคคลนามนี้ หรือถูกมองได้ทั้งว่า เป็นการออกโรงปกป้องเขา ซึ่งไม่ต่างจากการแสดงทีท่า"เชียร์"นายแอสแซนจ์ ในท่ามกลางสงครามชักคะเย่อ ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่า เขากระทำผิด และฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่า สมควรมีคนอย่างเขาอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าเขาจะผิดหรือถูกก็ตาม


ว่ากันว่า โลกถูกแบ่งออกเป็นสองซีกโดยพลัน หลังจากข้อมูลของวิกิลีกส์ทะลักออกมาตั้งแต่ในช่วงหลายเดือน เพราะเอกสารข้อมูลลับ ได้สร้างความแตกแยกให้แก่ชาวโลก กับฝ่ายหนึ่งที่ต้องการ "ความจริง" และฝ่ายหนึ่งที่ต้องการ "ปกป้องความจริง" อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช


ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย(อย่างรู้สึกสะใจ)กับการออกโรงแฉของนายแอสแซนจ์ เพราะเห็นว่า โลกเรานี้มีพฤติกรรมลับ ๆ ล่อ ๆ มากเกินไป และหลายพฤติกรรมก็ไม่เหมาะสม ทั้ง ผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม ผิดกฎสังคมโลก และผิดต่อหลักการเสรีภาพของชาวโลก ที่มีสิทธิล่วงรู้ข้อมูลของรัฐบาล ที่เล่น "ซ่อนหา" กับประชาชน งัดกับอีกฝ่ายหนึ่งที่ยืนอยู่ในโลกมืดที่ต้องการให้"ความลับ"ยังคงเป็น"ความ ลับ"ต่อไป เพราะการถูกเปิดเผยความลับ อาจมีผลกระทบอย่างเหลือคณาเกินคาด เช่น เขย่าเสถียรภาพของรัฐบาล หรือความนิยมต่อประชาชน


หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ปรากฎการณ์ "จูเลียนเกท" เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ แง่หนึ่งก็คือ จูเลียน แอสแซนจ์ เป็นบุคคลประเภทใดกันแน่ เขาเป็นฮีโร่หรือคนบาป ที่เปิดโปงได้แม้กระทั่งข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงทางทหาร ซึ่งก็หมายถึงชีวิตคน


นักวิเคราะห์รายหนึ่งบอกว่า จูเลียน แอสแซนจ์ ไม่ได้เป็นทั้งสองอย่าง หากแต่เขาเป็นพวก "แอนตี้ ฮีโร่" ที่นิยมกระทำสิ่งใดก็ตามที่ "เขามองว่า" ถูกต้องในสายตาเขา เป็นคนที่ไม่มีขั้วสนับสนุนทางการเมืองต่อกลุ่มใดอย่างชัดเจน นอกจากกลุ่มที่ร่วม "อุดมการณ์บ้าบิ่น" เดียวกับกันเขา บุคคลพวกนี้มีอยู่ไม่มากในสังคม แต่จะก่อให้เกิดแรงเขย่าสะเทือนขึ้นมาทันที หากเขามีบทบาทสำคัญต่อมวลชน เหมือนกับที่เขาได้ก่อปรากฎการณ์ "จูเลียนเกท" ขึ้นมา ในช่วงที่ผ่านมา


ทว่าการก่อเกิดตัวตนของจูเลียน แอสแซนจ์ และกระแสสนับสนุนต่อเขา ก็เป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์เช่นกัน


ว่ากันว่า ธรรมชาติมนุษย์นั้น มีลักษณะเป็นพวกหัวกบฎในตัวเอง รักความยุติธรรม แต่ไม่พร้อมที่จะยอมรับหลักกฎหมายที่บกพร่อง ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม กฎหมายที่บกพร่อง มีหลายประเภท เช่น การที่ศาลไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ เพราะขาดหลักฐาน หรือกฎหมายลงโทษคนผิด ปรากฎการณ์นี้ไม่แปลกเลยที่ทำให้เกิดภาพยนตร์ทำนองหัวขบถไม่น้อย ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชม เช่น Prison Break หรือ Law abiding Citizen


ขณะที่ "จูเลียน แอสแซนจ์" คือจิ๊กซอว์ที่เชื่อมต่อระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการเปิดโปงความลับที่เป็นภัยต่อมวลสังคม หรือปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ของมวลชน และการแก้เผ็ดรัฐ ใช้ "เกลือจิ้มเกลือ" เล่นงานกลไกลรัฐ หรือการใช้วิธีผิด ๆ (ตามบัญญัติของกฎหมาย)เล่นงานกระบวนการที่ผิด ๆ


ในแง่ชะตากรรมของจูเลียน แอสแซนจ์ ต่อไปอาจจะต้องหนักหนาสาหัส เพราะสหรัฐได้เตรียมหา "ช่องทาง" เล่นงานเขาด้วยการใช้กฎหมายจารกรรมความลับราชการกับเขาไว้แล้ว


แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เขากระทำต่อโลก ได้กลายเป็น "ตำนานหน้าหนึ่ง" ของประวัติศาสตร์โลกไปแล้ว ในฐานะมนุษย์ทรงอิทธิพลที่สามารถเขย่าโลกและเขย่ารัฐบาลต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีใครหน้าไหนกระทำได้มาก่อน


ที่มา: มติชนออนไลน์ (update: วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เวลา 18:20:50 น.)

------------------------------------------

"วิกิลีคส์" เผยกิจวัตรของพวกผู้ดี????


“วิกิลีคส์” ปูดเอกสารล่าสุด บันทึกทูตสหรัฐสนทนากับ เปรม ติณสูลานนท์ - สิทธิ เศวตศิลา - อานันท์ ปันยารชุน เป็นการสนทนากันต้นปีนี้ โดยเปรมกล่าวว่าอภิสิทธิ์ “หนุ่มไป” และ “ไม่เข้มแข็งพอ” แต่ยังเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นนายกฯ ส่วน พล.อ.อ.สิทธิ บอกว่ามาร์คเกาะโพเดียมมากไป พร้อมเผยไม่ไว้ใจ “เสธ.แดง” กังวล “อนุพงษ์” มั่นใจ “ประยุทธ์”

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. เวลา 21.00 น. ตามเวลาสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์วิกิลีกส์ ได้เผยแพร่เอกสารลับ หมายเลข “S E C R E T SECTION 01 OF 03 BANGKOK 000192” ซึ่งเป็นบันทึกทางการทูตของนายอีริคส์ จี จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ลงวันที่ 25 ม.ค. 53 โดยบันทึกซึ่งถูกแบ่งเป็น 15 ย่อหน้า หัวข้อแรกเป็นบทสรุป รายละเอียดเป็นบันทึกของทูตภายหลังจากพบกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

ทูตระบุว่าได้สนทนากับ พล.อ.เปรม ในระหว่างการรับประทานอาหารกลาง วัน วันที่ 13 ม.ค. 53 ส่วนทูตสหรัฐฯ สนทนากับ พล.อ.อ.สิทธิ ที่บ้านพักของ พล.อ.อ.สิทธิ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 53 ส่วนอานันท์สนทนากับทูตสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 52 ในรายงานส่วนใหญ่เป็นบันทึกความเห็นของ พล.อ.เปรม กับ พล.อ.อ.สิทธิ เป็นส่วนใหญ่ มีความเห็นของนายอานันท์ประกอบเล็กน้อย

ในรายละเอียดของเอกสาร มีการสนทนาหัวข้อสำคัญหลายหัวข้อ ทั้งเรื่องการตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความท้าทายที่มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา



บันทึกระบุ “เปรม” เห็นว่า “อภิสิทธิ์” หนุ่มไปและไม่เข้มแข็ง แต่เปรมยังไม่มีตัวเลือก

ในย่อหน้าที่ 3 ของบันทึก ระบุว่า พล.อ.เปรม เห็นว่านายกรัฐมนตรี “หนุ่มเกินไปและไม่เข้มแข็งพอที่จะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่ยากลำบาก” อย่างไรก็ตาม พล.อ.เปรม รู้สึกว่าสิ่งที่อภิสิทธิ์ถูกทดสอบในปี 2552 ก็คือ การถูกท้าทายการทำงานในการขับเคลื่อนรัฐบาลผสมที่มีหลายค่าย ซึ่งไม่ใช่งานง่าย พล.อ.เปรม ยังเสริมว่า ไม่มีนักการเมืองคนไหนที่ดูมีหลักการและมีความซื่อสัตย์มากกว่าอภิสิทธิ์ และประเทศไทยต้องการมีผู้นำเช่นนี้ พล.อ.เปรม มีความหวังว่าชาวไทยและชาวต่างประเทศจะเพิ่มความอดทนกับอภิสิทธิ์ ซึ่ง พล.อ.เปรม เชื่อว่า เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


พล.อ.อ.สิทธิเห็นว่าอภิสิทธิ์ใช้เวลาบนโพเดียมมากไป

ในย่อหน้าที่ 4 บันทึกระบุว่า พล.อ.อ.สิทธิ วิจารณ์อภิสิทธิ์ มากกว่า พล.อ.เปรม โดย พล.อ.อ.สิทธิ กล่าว่าได้บอกบิดาของนายอภิสิทธิ์แล้วว่าในปี 2553 ลูกชายควรเป็นคนกล้าตัดสินใจมากกว่านี้ และมีเพื่อนมากกว่านี้ พล.อ.อ.สิทธิ ยังวิจารณ์ว่าอภิสิทธิใช้เวลาอยู่บนโพเดียมมากเกินไป ไม่มีเวลาที่จะสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้อภิสิทธิ์สามารถมอบหมายนโยบายและคิดริเริ่มเรื่องนโยบาย อภิสิทธิ์จำเป็นต้องไปมีส่วนร่วมกับคนรากหญ้า ซึ่งสิ่งนี้เป็นด้านหนึ่งของจุดแข็งทักษิณ ในความคาดหวังของ พล.อ.อ.สิทธิ ยังหวังให้อภิสิทธิ์ตั้ง พล.ต.อ.ประทีป (ตันประเสริฐ) เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างถาวร หวังให้อภิสิทธิ์ใช้อำนาจที่มีเหนือพรรคร่วมรัฐบาลโดยการขู่ว่าจะ ยุบสภาถ้าพวกเขาออกนอกแถว และบอกให้กองทัพดำเนินการขับ “ทหารนอกแถว” อย่าง พล.ต.ขัตติยะ (สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง) แม้ว่า พล.อ.ประวิตร (วงศ์สุวรรณ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมปฏิเสธคำสั่งปลด พล.ต.ขัตติยะ

ในย่อหน้าที่ 5 รายงานว่า พล.อ.เปรมสอบถามเกี่ยวกับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่ป่วนการทำงานของรัฐบาลและชีวิตประจำวันของประชาชน ทูตอธิบายว่าระบบของสหรัฐอเมริกาให้สิทธิผู้ชุมนุมในด้านเสรีภาพการแสดงความเห็น แต่ไม่สามารถไปชุมนุมได้ทุกที่ ทูตยังแสดงความไม่พอใจในการตัดสินใจที่ส่งผลลบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการลงทุน อย่างเช่น มาบตาพุด การยกเลิกหวยออนไลน์ การบังคับใช้กฎหมายที่มีความไม่เป็นธรรม การฝ่าฝืนข้อตกลง และการควบคุมเคลื่อนย้าย มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนมากกว่าความยุ่งเหยิงทางการเมือง


ไม่ไว้ใจ “เสธ.แดง” กังวล “อนุพงษ์” มั่นใจ “ประยุทธ์”

ในย่อหน้าที่ 6 ทูตสหรัฐบันทึกว่า พล.อ.อ.สิทธิ แสดงความกังวลมากกว่า พล.อ.เปรม ในเรื่องสถานการณ์ด้านความมั่นคงในปี 2553 โดยเสนอว่า ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา) ไร้ความสามารถในการควบคุมพล.ต.ขัต ติยะ “นายพลหัวแข็ง ซึ่งอยู่ในเครือของเสื้อแดง” ซึ่ง พล.อ.อ.สิทธิกล่าวหาว่า เป็นผู้ยิงระเบิดเอ็ม-79 ใส่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง และ พล.ต.ขัตติยะ ยังได้ไปพบกับทักษิณในต่างประเทศด้วย พล.อ.อ.สิทธิ กล่าวด้วยว่า พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ใช่ผู้หาข่าวที่ดี

ในบันทึกของทูตอีริค ยังวงเล็บด้วยว่า สามวันถัดจากการคุยกับ พล.อ.อ.สิทธิ มีผู้โจมตีห้องทำงานของ พล.อ.อนุพงษ์ในช่วงกลางคืนด้วยเอ็ม-79 และ พล.ต.ขัตติยะ ถูกสงสัยอย่างมาก

โดยในย่อหน้าที่ 6 บันทึกของอีริค จี จอห์น ระบุว่า พล.อ.อ.สิทธิ มีความหวังกับรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ (จันโอชา) มากกว่า โดยคาดหมายว่าจะได้มาแทนตำแหน่งของ พล.อ.อนุพงษ์ ในเดือนตุลาคม [...] พล.อ.อ.สิทธิอ้างด้วยว่า พล.อ.เปรม ได้ส่งสัญญาณว่าไม่พอใจ พล.อ.อนุพงษ์ โดยแสดงอาการดูแคลนในระหว่างที่บรรดา นายพลเข้าพบ พล.อ.เปรม ที่บ้านพักเพื่ออวยพรวันเกิด โดย พล.อ.เปรม ไม่พูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์เป็นการส่วนตัว ระหว่างที่ พล.อ.อนุพงษ์ยืนอยู่กับกลุ่มผู้บัญชาการทหารคนสำคัญๆ

นอกจากนี้ในบันทึกยังกล่าวถึงทัศนะของ พล.อ.เปรม พล.อ.อ.สิทธิ และนายอานันท์ ต่อเรื่องการสืบราชสมบัติด้วย […]


ทักษิณยังเป็นประเด็นสำหรับเปรม-สิทธิ-อานันท์

ส่วนในย่อหน้าที่ 13 บันทึกของทูตยังระบุด้วยว่า ทักษิณยังคงเป็นประเด็นสำหรับสามบุคคลสำคัญนี้ (เปรม-สิทธิ-อานันท์) อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์กล่าวถึงพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว […] และการท้าทายของทักษิณเป็นต้นเหตุต่อเรื่องเสถียรภาพของประเทศนี้ พล.อ.เปรมถามต่อทูตสหรัฐฯ ว่าสหรัฐอเมริกาควรทำอย่างไรต่อสถานการณ์ของไทย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านได้แต่งตั้งอดีตผู้นำรายนี้ (หมายถึงทักษิณ) ขึ้นเป็นที่ปรึกษา ซึ่งบุคคลนี้มีความแน่วแน่ในการโค่นล้มรัฐบาล ทูตสหรัฐฯ ตอบว่าขณะที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐจะกล่าวสุนทรพจน์ถึงประเด็นในประเทศอื่นเป็นบางครั้งคราว แต่อาจจะไม่เหมาะสำหรับรัฐบาลประเทศอื่น แต่ทูตสหรัฐ ได้แนะนำ พล.อ.เปรม และเจ้าหน้าที่ไทยให้ใช้วิธีให้ความเห็นต่อสาธารณะในเรื่องกัมพูชา และไม่ควรเล่นเกมตาต่อตาฟันต่อฟันกับทักษิณและฮุนเซ็น

ในบันทึกของทูตวงเล็บว่าดูเหมือนว่า พล.อ.เปรม จะรำพึงถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ก็มีความชัดเจนว่า พล.อ.เปรม มุ่งไปที่ความรับรู้ต่อเรื่องการคุกคามโดยทักษิณ และการที่ฮุนเซ็น อำนวยความสะดวกให้กับกิจกรรมของทักษิณ


พล.อ.อ.สิทธิ ไม่ไว้ใจกัมพูชา บรูไน ลาว เวียดนาม หนุนหลัง “ฮุนเซ็น”

ในย่อหน้าที่ 14 พล.อ.อ.สิทธิ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เพิ่งมาเยี่ยมเขาในวันคล้ายวันเกิดครบ 90 ปี และชี้ให้เห็นว่าอีกไม่นานไทยจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน อภิสิทธิ์จะมีข้อจำกัดน้อยลงในการตอบโต้ด้วยฝีปากกับฮุนเซ็น พล.อ.อ.สิทธิ แสดงความกังวลเพิ่มเติมต่อกรณีของกัมพูชา และบรูไน ว่าน่าจะอยู่ในฝ่ายทักษิณ โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทักษิณ กับฮุนเซ็น และสุลต่านบรูไน ลาว และเวียดนาม ซึ่งน่าจะหนุนหลังฮุนเซ็น ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทย-กัมพูชา ขณะนี้

ในย่อหน้าที่ 15 พล.อ.อ.สิทธิ โจมตีทักษิณว่า พยายามใช้เงิน, ผู้ชุมนุมเสื้อแดง และ ฮุนเซ็น เพื่อ “ทำลายประเทศของเรา” แต่เขาทำนายว่าทักษิณจะทำไม่สำเร็จ ทักษิณไม่เคยพยายามเจรจา พล.อ.อ.สิทธิแนะนำว่า ข้อเรียกร้องทักษิณจะได้รับการตอบสนอง ถ้าเขากลับเข้าประเทศ และรับโทษในคุกพอเป็นพิธี ทักษิณก็น่าจะได้รับการอภัยโทษอย่างรวดเร็ว และได้รับการปล่อยตัวในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ทักษิณพยายามก่อความยุ่งเหยิง จุดชนวนโดยใช้กำลัง ในขณะที่ พล.อ.อ.สิทธิ ยังคาดด้วยว่า ทักษิณจะแพ้คดีในวันที่ 26 ก.ย. (ปี 53) ต่อกรณีเงินที่ถูกอายัดเงินจำนวน 76,000 ล้านบาท แต่ พล.อ.อ.สิทธิ อ้างว่าจากข้อมูลของเขาแสดงให้เห็นว่าทักษิณยังคงมีเงินราว 240,000 ล้านบาทในต่างประเทศ ทักษิณแทนที่จะอยู่ต่างประเทศเงียบๆ แต่ทักษิณได้ตัดสินใจสู้ โดย พล.อ.อ.สิทธิ อ้างว่า ทักษิณได้ให้ทุนสนับสนุนบรรดาเว็บไซต์โจมตีพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เพื่อจุดชนวนต่อทัศนะการต่อต้านสถาบันกษัตริย์


ที่มา: ประชาไท (update: Fri, 2010-12-17 17:04)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น