วันเสาร์, พฤศจิกายน 20, 2553

เงื่อนไขรุมเร้า ยุบสภาโชยหึ่ง




การเมืองไทยเดินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ


รัฐบาลอภิสิทธิ์ เห็นชอบนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ

คือร่างแก้ไข มาตรา 190 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

และร่างแก้ไขมาตรา 93-98 เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่จะกลับไปใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว เข้าขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมรัฐสภา


ประธาน ชัย ชิดชอบ มีคำสั่งนัดประชุมวันที่ 23-25 พ.ย. นอกจากจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว ยังรวมถึงร่างแก้ไขฉบับ คปพร.ของน.พ.เหวง โตจิราการ และร่างแก้ไขของ 102 ส.ส.ด้วยรวมเป็น 4 ฉบับ

ท่ามกลางการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมไทยที่พร้อมจะทะเลาะกันได้ทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่อยู่ในประเด็นขัดแย้งใหญ่

ทุกครั้งที่รัฐบาล-ฝ่ายค้านหรือกลุ่มใดก็ตาม ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็จะมีคนอีกกลุ่มออกมาแสดงความเห็นคัดค้านทันที

ครั้งนี้ก็ไม่แตกต่างกัน หลังจากนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น


อุณหภูมิการเมืองก็ปรับตัวสูงขึ้นพรวดพราดทันทีทันใด

ภายในพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีความเห็นแตกเป็น 2 ทาง คือ กลุ่มนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กับกลุ่มนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กลุ่มนายบัญญัติ สังหรณ์ใจว่าการรวบรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงนี้ ช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องลุ้นคดียุบพรรค ไม่น่าจะใช่เวลาที่เหมาะสม

ทั้งยังจะเป็นตัวกระตุ้นให้กลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวนำไปสู่วิกฤตการณ์ขัดแย้งรุนแรง

สะเทือนต่อเสถียรภาพรัฐบาลในที่สุด


อย่างไรก็ตาม นายกฯอภิสิทธิ์ ยืนกรานว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 จาก 6 ประเด็นที่คณะกรรมการชุดนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เสนอมาโดยไม่ต้องทำประชามติ

และไม่ควรนำเรื่องการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาอ้างว่าจะทำให้ เกิดวิกฤต เพราะจะแก้หรือไม่แก้ การชุมนุมก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง

แต่ที่เหมือนระเบิดลงคือการที่นายกฯ พูดย้ำเรื่องยุบสภาและการปฏิวัติ

ก่อนหน้านี้หลายคนคาดหวังการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวช่วยคลายปมขัดแย้งทางการเมือง


แต่จากสภาพที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

ที่น่าเป็นห่วงคือกรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์โจมตีนายกฯอภิสิทธิ์ และรัฐบาลอย่างรุนแรง

แกน นำเรียงหน้าออกมาแถลงทวงบุญทวงคุณกับรัฐบาลว่า ถ้ากลุ่มพันธมิตรฯ ปล่อยให้รัฐบาลสมัคร แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เมื่อปี 2551

ประชาธิปัตย์ก็คงไม่ได้มาเป็นแกนนำรัฐบาลดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

กลุ่มพันธมิตรฯ ถือเอาการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วน ประกาศเป่านกหวีดระดมพลชุมนุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภา วันที่ 23-25 พ.ย.

กดดันให้รัฐบาลถอนร่างแก้ไข

ขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์ มิตรที่กลายเป็นศัตรู อ่านเกมเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งในเรื่องเขตชายแดนไทย-กัมพูชา และการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า

มีเจตนาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการปฏิวัติ


ถึงจะปฏิเสธภายหลังว่าไม่ได้หมายถึงกลุ่มพันธมิตรฯ โดยตรง แต่หมายถึงบางคนที่แอบอิงอยู่กับกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการให้เกิดการปฏิวัติ

อย่างไรก็ตามเรื่องการปฏิวัตินั้น จะมีเค้าลางความจริงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

ถ้าเป็นระดับตาสีตาสาออกมาพูดก็ไม่เท่าไหร่

แต่สำหรับคนเป็นนายกฯ ไม่สมควรนำมาพูดให้ประชาชนแตกตื่นตกใจ

ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับกองทัพโดยไม่รู้ตัว


การชุมนุมของคนเสื้อแดงจำนวนนับหมื่นกลางแยกราชประสงค์ เพื่อรำลึกครบรอบ 6 เดือนเหตุการณ์ 19 พฤษภาฯ

สะท้อนบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่ได้ลดทอนลงไป

ถึงรัฐบาลจะอยู่เบื้องหลังการประกันตัวชั่วคราว ปล่อยคนเสื้อแดงออกจากคุกแล้วบางส่วน

แต่นักวิชาการบางคนชี้ว่า เป็นแค่การสร้างความปรองดองแบบผักชีโรยหน้า


เพราะความจริงคนเหล่านั้นที่ไปร่วมชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค. ไม่สมควรถูกจับกุมหรือตั้งข้อหาใดๆ ตั้งแต่แรก

เมื่อถูกจับกุมแล้วก็ควรได้รับการประกันตัวโดยเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้ติดคุกอยู่นาน 6 เดือน กว่ารัฐบาลจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งสมควรทำ

นอกจากนี้สิ่งที่สวนทางโดยสิ้นเชิง คือกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอแถลงความคืบหน้าคดี 91 ศพ

ระบุการตายของพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจรวม 12 ศพ เป็นฝีมือฝ่ายเสื้อแดง

ขณะที่ตายของคนเสื้อแดง และประชาชนที่เหลืออีกเกือบ 80 ศพกลับไม่มีความคืบหน้า


จุดประเด็นความโกรธแค้น ผลักดันสังคมออกห่างไกลจากคำว่าปรองดองจนกู่ไม่กลับ

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีอีกสารพัดปัญหา พันแข้งพันขาจนยากจะเดินหน้าต่อไปได้

ไม่ว่าคดียุบพรรคที่ยังต้องลุ้นหนัก กรณีคลิปศาลรัฐธรรมนูญที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับผู้เกี่ยวข้อง

การเปิดโปงการทุจริตสิ่งของช่วยเหลือน้ำท่วม กรณีงบประมาณแก้ภัยแล้งที่กระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด

การแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมในกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

ปัญหาสภาล่มซ้ำซาก การสร้างบรรทัดฐานคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมือง ที่กว่าจะได้มาต้องเรียกร้องกันคอแหบคอแห้ง ฯลฯ

เหล่านี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับข้อมูลการปฏิวัติที่คนระดับนายกฯ ลงทุนปล่อยออกมาเอง


ในจังหวะลงล็อกกับการเคลื่อนไหวของม็อบสีเสื้อ

นายกฯ จงใจปั่นสถานการณ์ทำลายบรรยากาศความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เจตนาสร้างความขัดแย้งและเผชิญหน้า

เพื่อเป็นเหตุในการยุบสภาเอาตัวรอด แล้วโยนความผิดให้ผู้ชุมนุมเป็นแพะรับบาปหรือไม่

คำตอบน่าจะอยู่อีกไม่ไกล


ที่มา: ข่าวสดรายวัน หน้า 3 (update: วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7296)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น