วันจันทร์, พฤศจิกายน 22, 2553

นายกฯย้ำพันธมิตรฯประสงค์ "ก่อปฏิวัติ" ลั่นรับผิดชอบหากแก้รธน.ไม่ผ่าน ไม่สอดไส้ "นิรโทษกรรม"

จาก posttoday.com


นายกฯย้ำพันธมิตรฯประสงค์"ก่อปฏิวัติ"ลั่นรับผิดชอบหากแก้รธน.ไม่ผ่าน ไม่สอดไส้ "นิรโทษกรรม"


"มาร์ค" ยันแก้ รธน. ไม่สอดไส้ "นิรโทษกรรม"


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ว่า "มีคนกล่าวหาว่าผมไม่รักษาคำพูดตระบัดสัตย์ อะไรต่าง ๆ นานา ผมไม่รักษาคำพูดตระบัดสัตย์ อะไรต่าง ๆ นานา แต่ขอยืนยันว่าจนถึงวันนี้รัฐบาลก็มีแนวคิดเช่นเดียวกันว่าไม่ควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะที่จะเป็นการนิรโทษกรรมโดยเด็ดขาด อันนี้จะได้ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะที่จะสร้างปัญหาความขัดแย้ง โดยการมีการนิรโทษกรรมนั้น รัฐบาลยังยืนยันในจุดเดิมว่าไม่เห็นด้วย"

"มาร์ค"ชี้อยากได้"เขตใหญ่"แต่ต้องฟังกก.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ กรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดชุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภาและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าทั้งสองกลุ่มคงไม่ต้องการเห็นความรุนแรง ซึ่งได้คุยกับพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. แล้วก็จะประสานกับแกนนำของทุกกลุ่มว่าจะให้ความร่วมมือในการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญอย่างไร และหากให้ความร่วมมือกันคงไม่มีปัญหาอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นเงื่อนไขของความแตกแยกจะทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหาข้อยุติ และการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ว่าจะจบในสามวัน เพราะมีกระบวนการของรัฐสภา หลังรับหลักการต้องไปพิจารณาในกรรมาธิการ จากนั้นเว้นระยะ 15 วัน แล้วกลับมาพิจารณาในวาระ 3 หากถึงจุดนั้นมันยังเป็นความขัดแย้งในขั้นตอนไหนเราสามารถพิจารณาตามความเหมาะสมได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องระบบเลือกตั้งก็มีการฟังเสียงประชาชนและศึกษากันมาหลายครั้ง และเป็นการศึกษาของคนที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียงและมีการรับฟังข้อท้วงติงปัญหาระบบเขตเล็กจึงได้มีการเสนอลดจำนวนส.ส.ลงและเพิ่มส.ส.สัดส่วน ดังนั้นมันมีการฟังความคิดเห็นกัน ส่วนตัวตนก็อยากได้เขตใหญ่ แต่ถ้าตนอยากได้อย่างนี้ คนอื่นอยากได้อย่างนั้นพอไปตั้งคณะกรรมการเพื่อหาข้อยุติมา ให้ฝ่ายวิชาการไปดูแล้วออกมาบอกว่าตนยังเห็นเหมือนเดิมถ้าอย่างนั้นต่อไปก็ไม่ต้องดำเนินการตั้งคณะกรรม การหรือให้ใครมาช่วยทำงาน

ลั่นแก้รธน.ไม่ได้ "รับผิดชอบ"

เมื่อถามว่า ทำไมไม่รอการทำประชามติให้เรียบร้อยก่อน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเรื่องประชามติถ้าตนกลับไปถามใหม่ต้องไปนั่งตั้งต้นกันใหม่กับทุกพรรคการเมืองและวุฒิสภา คนก็จะต่อว่าเวลาตนไม่ทำก็มีเสียงต่อว่า เวลาทำก็มีเสียงต่อว่า ต้องตัดสินใจวันนี้ยืนยันว่าตนเดินอย่างนี้ถ้าสถานการณ์บ่งบอกว่าเดินอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ผมก็ทบทวน"นายอภิสิทธิ์ กล่าว เมื่อถามว่า สถานการณ์ขนาดไหนถึงจะบอกได้ว่านี่คือการตัดสินใจไม่ถูกต้อง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อย่าไปตั้งประเด็นให้เกิดเป็นการท้าทายเป็นการยั่วยุ อะไรทั้งสิ้นเราเอาตามข้อเท็จจริงขณะนี้และเอาตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า หากขัดแย้งบานปลายขึ้นมาจะรับผิดชอบอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ผมต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ต้องดูตามสถานการณ์ เพราะยังไม่ทราบเลยว่าการแก้ไขจะผ่านหรือไม่หรืออะไร เพราะผมมีหน้าที่ดูแลบ้านเมืองมีความเรียบร้อย ถ้าทำไม่ได้ผมก็ต้องรับผิดชอบ"

อ้างแก้ รธน. ลดความขัดแย้ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ได้สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งให้มากขึ้น แต่หากตนไม่ทำตามก็จะมีปัญหาตามมาเหมือนกัน เพราะบรรดาคณะกรรมการที่อยู่ในกรอบของความปรองสมานฉันท์ทั้งหมด จะตั้งคำถามว่าตกลงจะให้เขาทำงานหรือไม่เพราะทำงานแล้วมีความเห็นเสนอมาไม่ตรงกับความเห็นของตน สุดท้ายเอาความเห็นตนเป็นใหญ่แล้วเราจะเดินหน้ากระบวนการปรอง ดองสมานฉันท์อย่างไร คนเหล่านี้ทำงานไม่มีส่วนได้เสีย ช่วยลดปัญหาภาพรวมความขัดแย้งในสังคม ถ้าไม่ให้ความมั่นใจกับคนเหล่านี้ว่า สิ่งที่ทำจะนำไปสู่ผลการปฏิบัติอย่างแท้จริงคงไม่มีประโยชน์

"ความขัดแย้งในการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอดมา เรื่องหลักคือการจะไปนิรโทษกรรมหรือไปทำให้กระทบกระเทือนต่อกลไกเพิ่มอำนาจให้กับ ส.ส.หรือผู้บริหาร ซึ่งกติกาเป็นเรื่องที่สามารถกำหนดกันได้ และนี่เป็นเรื่องของกติกาของการเลือกตั้ง ฝ่ายที่เห็นด้วยก็มีเหตุผลบอกว่าควรปรับให้เป็นสากล เพื่อความเสมอภาค" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าหลังจากนี้หากฝ่ายการเมืองไม่พอใจรัฐธรรมนูญมาตราที่กระทบกับตัวเอง ก็สามารถแก้ไขได้เลยใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล เช่น เพิ่มอำนาจให้ตัวเอง ทำลายหลักนิติธรรมรัฐบาลก็ไม่เสนอ เพราะต้องแยกแยะในประเด็นที่เห็นว่าสามารถเดินหน้าได้กับประเด็นที่เห็นว่ายังละเอียดอ่อน แต่เราไปยึดอย่างเดียวว่าไม่แก้ไขเลยจะมีคนอีกกลุ่มในสังคมที่บอกว่าเขาไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมาโดยการทำรัฐประหารก็เป็นจุดทำให้เกิดความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น

ย้ำพันธมิตรฯประสงค์ "ปฏิวัติ"

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี นายกรัฐมนตรีเคยบอกว่าในกลุ่มพันธมิตรฯ มีคนพยายามก่อการปฏิวัติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "เขาไม่ได้ก่อการ เขามีความประสงค์" เมื่อถามว่า เกรงว่าจะมีคนใช้เงื่อนไขการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิวัติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนต้องดูแล ซึ่งผู้ที่ดูแลฝ่ายความมั่นคง ก็กังวลในเรื่องการเคลื่อนไหวของมวลชนทั้งนั้น แต่เราพยายามที่จะให้กระบวนการทั้งหลายมันกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทุกคนเห็นแตกต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง ถ้าเหตุการณ์ผ่านไปได้ด้วยดีก็จะช่วยให้สามารถยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้เร็วขึ้น

"ผมเรียนว่าผมไม่สร้างเงื่อนไขการปฏิวัติ ผมต้องการให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกับเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย พันธมิตรฯชุมนุมทุกครั้งผมก็บอกแล้วว่า มีสิทธิ์ที่จะชุมนุม แต่ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เหมือนกับตอนที่ นปช.ชุมนุมผมก็ขอเหมือนกัน วันนี้สังคมไทยต้องก้าวพ้นตรงนี้ไปให้ได้ว่าบางเรื่องเราสามารถใช้กระบวนการรัฐสภาได้ บางเรื่องรัฐสภาต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ บางเรื่องกลุ่มมวลชนเคลื่อนไหวได้ทุกเรื่องทุกคนต้องยับยั้งชั่งใจไม่ให้นำไปสู่เรื่องของใช้ความรุนแรง สังคมต้องเติบโตอย่างนี้ ไม่มีวันหรอกที่เราจะไปสู่จุดที่สังคมเห็นตรงกันในทุกประเด็น แต่ประเด็นไหนเห็นไม่ตรงกันเราต้องมีกระบวนการที่เหมือนกับมาตรฐานของประเทศประชาธิปไตยว่าเราหาข้อยุติได้" นายอภิสิทธิ์

ป้อง "เทพไท" ซัดถูกด่าก่อน "เนรคุณ"

เมื่อถามว่า พันธมิตรฯ อยากให้รัฐบาลฟังบ้างเพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ถ้าผมไม่ฟัง ผมก็เสนอ 5 ประเด็น และต้องทำอีกหลายอย่างแล้ว นี่ก็ฟังเชิญมาคุยกันทำความเข้าใจ มวลชน นปช. ก็อยากให้ผมฟัง ผมถึงตั้งคณะกรรมการมาพอตั้งกรรมการบอกอีกอย่างไม่ถูกใจผม หรือไม่ถูกใจอีกกลุ่มแล้วผมไม่ทำเลย นปช.ก็บอกไม่ฟังเขา เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าคนจำนวนมากเห็นหลากหลายไม่มีวันเห็นตรงกันในหลายเรื่องเราต้องหาความพอดี และต้องเริ่มสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองว่าต่อไปนี้จะบริหารราชการกันอย่างไร ไม่เสนอประเด็นปัญหานำไปสู่การขัดหลักนิติธรรมนิติรัฐ และกระบวนการรัฐสภาต้องเดินได้"

เมื่อถามว่า จะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ใช่ แต่การแสดงความเห็นคัดค้านในรัฐสภาทำได้หลายขั้นตอน เรื่องของฉบับที่จะมีปัญหาเรื่องนิรโทษกรรมยืนยันว่าไม่รับหลักการ ส่วนที่รัฐบาลเสนอแก้ 2 ประเด็นยังมองไม่เห็นว่ามีอะไรเสียหายต่อบ้านเมือง

ถามถึงกรณีที่นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ใช้คำว่าเนรคุณกับกลุ่มพันธมิตรฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "เขาไม่ได้เป็นคนเริ่มพูด เพราะพันธมิตรฯเป็นคนกล่าวหาผม" เมื่อถามอีกว่า หวั่นใจหรือไม่ว่ารัฐบาลจะต้องล้มไปเพราะกลุ่มพันธมิตรฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ติดใจอะไรเพราะถือว่าถ้าสถานการณ์มันถึงจุดที่รัฐบาลต้องพ้นไปก็ต้องพ้น ขอให้เป็นไปตามประชาธิปไตยเท่านั้นเอง แต่ตนจะดูแลรัฐผิดชอบไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย

ปชป.หารือแก้รธน.ลงมติ 22พ.ย.ยันแก้2ประเด็น

เมื่อเวลา 10.30 น.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วนโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีรัฐสภาจะพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็นวันที่ 23-24 พฤศจิกายน พรรคจะมีมติถึงจุดยืนของพรรคอย่างเป็นเอกภาพในการประชุมพรรควันที่ 22 พฤศจิกายน โดยจะเปิดให้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวางซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคและนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคจะแสดงความคิดเห็นด้วย บนพื้นฐานการสนับสนุนรัฐบาลตามแนวทางปรองดอง

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายระบุว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของครม.ไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา แล้วรัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะคุมเสียงข้างมากนั้น ผู้พูดคงเข้าใจผิด เพราะตามธรรมเนียมระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาที่มีส.ว.ด้วย ลำพังเสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่พอ และส.ว.ก็มีเอกสิทธิ์ในการโหวต นอกจากนี้ การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 และมาตราที่ว่าด้วยระบบเลือกตั้งส.ส. มาจากข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งโดยประธานรัฐสภา มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ต่อมามีเหตุการณ์เมษยน-พฤษภาคม 53 นายกฯก็นำปัญหาเข้าปรึกษารัฐสภา ต่อมาจึงตั้งกรรมการอิสระศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑืตพัฒนาบริหารศาสตร์(นิด้า)เป็นประธาน ตอนนี้ที่นำเรื่องเข้ารัฐสภาอีกครั้ง วิปรัฐบาล ก็ดำเนินการตามฝ่ายบริหารให้งานของกรรมการทั้งสองชุดสมบูรณ์ ฉะนั้นร่างของรัฐบาลจะผ่านหรือไม่ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐสภา

"รัฐบาลมองการแก้รัฐธรรมนูญต้องตอบโจทย์การแก้ไขความขัดแย้งได้ ซึ่งมาตรา 190 และเขตเลือกตั้ง ไม่สร้างความขัดแย้ง กรรมการชุดนายสมบัติ ไปสอบถามความเห็น ประชาชนก็เห็นด้วย นอกจากนี้ ยังไม่ได้แก้เรื่องยุบพรรค หรือเพิ่มอำนาจส.ส.ที่เป็นประเด็นขัดแย้ง ซึ่งนายสมบัติ ก็บอกว่า ค่อยแก้ประเด็นอื่นเพิ่มเติมในสภาชุดหน้าหรือสมัยหน้าก็ได้ อย่างไรก็ดี พรรคยืนยันสนับสนุนแนวทางปรองดอง 5 ข้อของรัฐบาล ในการนำพาประเทศไปข้างหน้า และอยากให้สังคมสบายใจ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม หรือแก้บทบัญญัติที่เพิ่มอำนาจให้นักการเมือง" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ส่วนที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นแผนยุบสภานั้น ขอยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่จริง และตอนนี้เงื่อนไขการยุบสภาเช่น ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและพรรคร่วมฯหรือกับฝ่ายนิติบัญญัติไม่มี และเรื่องดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยที่สนัยสนุนร่างคปพร. พรรคไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนสมัยพรรคพลังประชาชนที่เสนอแก้ไข ซึ่งมีเจตนายกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อปลดคดีการเมืองและคดีของพ.ตงท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้หลุดพ้น การแก้กฎหมายสูงสุดหวังผลให้เกิดกับเฉพาะบุคคล จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ส่วนที่มีบางฝ่ายทวงเรื่องการทำประชามติ นั้น เรื่องนี้เป็นข้อเสนอหลังจากที่กรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอผลการศึกษา แต่คราวนั้นพรรคเพื่อไทยถอนตัว ทำให้การประชามติตอบโจทย์ความขัดแย้งไม่ได้จึงต้องตั้งกรรมการชุดนายสมบัติ ขึ้นมาอีกรอบ

-------------------------------------


“จตุพร” สั่ง “เสื้อแดง” ห้ามป้วนเปี้ยนหน้าสภาฯ ให้อยู่บนภูดู พธม.ฟัด ปชป. เชื่อปฏิวัติมีมูล


เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง แถลงที่พรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรี ถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 23 พ.ย.เพื่อคัดค้านการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่นำเสนอโดยรัฐบาลคนภายนอกไม่รู้ว่ารัฐบาลกับพันธมิตรฯนั้นจะมีการคัดค้านกันจริงแค่ไหนและอย่างไร

แต่สำหรับคนเสื้อแดงนั้นตนขอบอกเอาไว้เลยว่าห้ามเดินทางมายังหน้าอาคารรัฐสภาอย่างเด็ดขาด เพราะคนเสื้อแดงไม่จำเป็นจะต้องมามีส่วนในปัญหาของพวกที่เคยร่วมกันปล้นประชาธิปไตย และขอให้อยู่บนภูเพื่อดูว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปเท่านั้น รวมทั้งต้องขอร้องให้คนในซีกรัฐบาลที่คิดจะเอาคนมาใส่เสื้อแดงแล้วไปแถวๆ หน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 23 พ.ย. หากเลิกคิดเพราะหากมีการจับตัวได้จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด

นายจตุพร กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เสนอโดยคณะกรรมการประชาชนเพี่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) นำโดย น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดงนั้นแม้จะถูกบรรจุในวาระเร่งด่วนของรัฐสภามานาน แต่เราก็เชื่อว่ารัฐสภาชุดนี้จะไม่พิจารณาร่าง คปพร.อยู่แล้ว ดังนั้นพรรคเพื่อไทย จึงคิดว่าแม้ครั้งนี้รัฐบาลจะไม่เหลียวแลร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน

แต่หากมีการยุบสภาพรรคเพื่อไทยจะหาเสียงโดยการให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ทั้งฉบับ ซึ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งก็จะดำเนินการทันที หากถึงวันนั้นถ้าพันธมิตรฯ มาคัดค้านอีกก็จะมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง จึงขอให้คนเสื้อแดงอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เรายืนยันว่าจะเข้าไปทำหน้าที่ และจะไม่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล

นายจตุพร กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าบางคนในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพยายามที่จะเคลื่อนไหนเพื่อให้เกิดการปฏิวัตินั้นพวกตนไม่ได้มีความคิดเห็นอะไร แต่รู้ว่าเป็นกฎแห่งกรรม เพราะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ลงทุนลงมาจัดการกับรองเท้าแตะด้วยตัวเองแล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้ การจับมือกันของกลุ่มพันธมิตรฯกับทหารบางกลุ่มนั้นมีมูลแน่นอน แต่ตนขอไม่เป็นฝ่ายบอกว่าอะไร อย่างไร เพราะเป็นคนนอกและอยากปล่อยให้เป็นการดำเนินการของพวกที่เคยร่วมมือกันปล้นประชาธิปไตยไปจัดการกันเอง


ที่มา: matichon.co.th/news
วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 17:30:05 น.
วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 14:37:04 น.

-------------------------------------------------


ระเบิดเวลาทำงาน ม็อบเหลืองล้อมสภาพาประเทศเสี่ยง

ที่มา: posstoday.com โดย...ทีมข่าวการเมือง
(update: 23 พฤศจิกายน 2553 เวลา 09:06 น.)


ถนนการเมืองทุกสายจะพุ่งตรงไปที่รัฐสภาอีกครั้งระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย. หลังจากมีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ร่างด้วยกัน ท่ามกลางการจับตามองของสังคมว่าถึงที่สุดแล้วเสียงของรัฐสภาจะพอผ่านในวาระที่ 1 หรือไม่ เข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

ถนนการเมืองทุกสายจะพุ่งตรงไปที่รัฐสภาอีกครั้งระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย. หลังจากมีการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ร่างด้วยกัน ท่ามกลางการจับตามองของสังคมว่าถึงที่สุดแล้วเสียงของรัฐสภาจะพอผ่านในวาระที่ 1 หรือไม่ เข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

เมื่อดูเสียงในสภาของรัฐบาลมีถึง 270 เสียง โดยต้องการเพียงอีกประมาณ 40-50 เสียงโดยประมาณ เพื่อรวมให้ได้ 310 เสียง เพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระแรกไปได้ ซึ่งจะดูว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะในวุฒิสภาเองมีเสียงทั้งส่วนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน

ก่อนที่จะไปลุ้นว่าผ่านหรือไม่ ต้องระทึกใจกันก่อนกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ว่าจะมีผลต่อการเร่งอุณหภูมิการเมืองให้พุ่งสูงขึ้นแค่ไหน และจะเป็นปัจจัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแท้งก่อนหรือไม่

การชุมนุมของ พธม. ช่วง 3 วันนี้ จะสร้างความยุ่งยากให้กับรัฐบาลแน่ ทั้งประเด็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ารัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขนาดไหน หรือจะสองมาตรฐาน เมื่อเทียบกับการชุมนุมของม็อบเสื้อแดงที่ ศอฉ.ค่อนข้างเข้มงวดเป็นพิเศษ

ระเด็นสำคัญที่จะเกิดในการชุมนุม 3 วันนี้ ไม่ได้อยู่ที่การควบคุมการชุมนุมของรัฐบาล แต่จะอยู่ตรงที่จังหวะการออกมาเคลื่อนไหวของพลพรรคเสื้อเหลือง ซึ่งนี่ถือเป็นยกสำคัญ และอีกครั้งคือวันที่ 11 ธ.ค. ที่จะมาชุมนุมอีกครั้งเพื่อกดดันให้รัฐบาลล้มเลิกบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) และกระบวนการของคณะกรรมาธิการเขตแดนไทยกัมพูชา (เจบีซี)

ปัญหามีอยู่ว่า พลังของ พธม.เพียงพอสำหรับการล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

ที่น่าสนใจอยู่ตรงที่กระบวนการจัดรูปแบบการชุมนุมของ พธม. เนื่องจากเป็นลักษณะของการมาเช้าเย็นกลับ ไม่ใช่แบบปักหลักไม่ชนะไม่เลิกเหมือนช่วงที่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลนอมินีทักษิณ ทำให้พลังในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญดูอ่อนลง ซึ่งปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้อยู่ ทำให้ไม่สามารถชุมนุมยืดเยื้อได้ถนัด

แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของ พธม.นั้น ก็เพื่อต้องการแสดงจุดยืนเดิมของตัวเองในการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นจุดยืนที่คนเสื้อเหลืองมีมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ห้ามใครแตะ แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าการเอาจริงเอาจังของม็อบเหลืองแผ่วเบาลงไปพอควร โดยเฉพาะจำนวนมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมามีน้อยลง

เป็นเพราะท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันมาตลอดว่าจะไม่มีการผลักดันการนิรโทษกรรมทางการเมืองผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผิดกับจุดยืนของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญพ่วงเรื่องการนิรโทษกรรม จึงเป็นผลให้กลุ่มคนเสื้อเหลืองนำมาแปรเป็นพลังล้มรัฐบาลพลังประชาชนได้

แม้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีถึง 4 ฉบับ แต่มีเพียงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) ของคนเสื้อแดง เท่านั้นที่เป็นปัญหามากที่สุด เพราะมีเนื้อหาให้นำเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ทั้งหมด

เมื่อมาดูร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2 ประเด็นที่เสนอโดยรัฐบาล ไม่ได้ปรากฏเงื่อนไขเหมือนกับของ คปพร. เพียงแต่แก้เรื่องหนังสือสัญญาประเภทใดที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากเขตใหญ่เป็นเขตเล็ก ซึ่งก็ช่วยลดแรงเสียดทานในการต่อต้านลงได้บ้าง

“คิดว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรไม่น่าจะมีผลอะไรมากนัก ในวาระที่ 1 น่าจะผ่านไปได้ แต่คงจะมีบางร่างที่ต้องตกไป ส่วนวาระที่ 2 และ 3 จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่การประสานงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าการชุมนุมจะมีผลต่อการเข้าออกสภาของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ และถ้ามีผลถึงลงมติโหวตไม่ได้ จะมีการดำเนินการแก้ไขอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาที่สำคัญมากกว่า” พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สว.สรรหา แสดงทัศนะ

การเคลื่อนไหวของ พธม.ในครั้งนี้ ไม่น่าต่างอะไรกับการแสดงจุดยืนปกติ เพราะตัวแกนนำ พธม. คงตอบมวลชนลำบากเหมือนกันหากให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินไป โดยที่ไม่ได้แสดงท่าทีอะไรออกมาเลย ทั้งๆ ที่เป็นวาระที่ พธม.แสดงความคัดค้านมาตลอด

นี่อาจมองได้ว่า พธม.เองก็ไม่ได้หวังถึงขั้นล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรติดไม้ติดมือเลยเสียทีเดียว

เพราะอย่างน้อยที่สุดเป็นการปลุกกระแสสร้างชื่อ พรรคการเมืองใหม่ ให้เริ่มติดหูคนในสังคมมากขึ้น หลังจากมีกลิ่น “ยุบสภา” ออกมาเป็นระยะๆ จากนายกฯ อภิสิทธิ์ ดังนั้นพรรคการเมืองใหม่จึงต้องใช้ พธม.เป็นกลไกคู่ขนานในการสร้างพลังให้กับพรรคตัวเอง

อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถดูแคลนพลังของ พธม.ได้ทั้งหมด เพราะหากมีการปลุกเร้าและสร้างพลังกระเพื่อมไปยังสังคมให้เห็นคล้อยเพื่อกดดันรัฐบาล โดยชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ และไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองแม้แต่น้อย ก็อาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาในวาระที่ 1 ได้เหมือนกัน เนื่องจากตัวแปร คือ เสียงของ สว.ที่รัฐบาลต้องหวังพึ่งอยู่ 4050 เสียง ยังเป็นห่วงสถานการณ์วันข้างหน้าที่เกรงว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเกิดวิกฤตประเทศระลอกใหม่ เพราะบรรยากาศขณะนี้ยังเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง ทั้งกลุ่มสร้างสถานการณ์ มือที่สามที่จ้องป่วนให้เกิดการล้มกระดานทางลัด

การเมืองไทยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ย. จึงต้องจับตามองแบบห้ามกะพริบตา ทั้งแรงกดดันในสภาและนอกสภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น