วันจันทร์, กันยายน 27, 2553

“เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ” โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทยเริ่มต้นขึ้นง่ายดาย เงียบงำ

by Generalhero on 2010-09-28 - 11:28 am
Ref: มติชนออนไลน์ (update วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 19:04:14 น.)

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ณ ลานพระที่นั่งอนันตสมาคม ... ในนามของหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รองจเรทหารบกในขณะนั้น ได้เป็นผู้อ่านประกาศแถลงการณ์อันจะเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินขึ้นในสยามประเทศ ในเวลาต่อมา...


เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มาจนถึงปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ถูกถ่ายทอดโดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ผู้สื่อข่าวที่ผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวมายาวนาน ปัจจุบันเป็นคอลัมน์นิสต์แห่งหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

ประสบการณ์ที่สั่งสมนี้เอง เป็นผลให้ผู้ใหญ่หลายคนร้องขอให้คุณติ๋ม-วิมลพรรณ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองและพัฒนาการทางการเมืองตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

27 กันยายน ถือเป็นจังหวะดีในการเปิดตัวหนังสือ ซึ่งใช้เวลาค้นคว้ากว่า 3 ปี และอีก 1 ปีสำหรับการร้อยเรียงตัวอักษรออกมาเป็นหนังสือทรงคุณค่า ด้านประวัติศาสตร์ หนึ่งชุดจำนวน 3 เล่ม ที่โรงแรมโฟร์ ซีซั่น งานนี้คึกคักไปด้วยผู้มีเกียรติ ทุกระดับ ให้ความสนใจกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้อย่างคับคั่ง

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

การเปิดตัวหนังสือเรื่อง “เอกกษัตริย์ ใต้รัฐธรรมนูญ” โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ณ โรงแรมโฟร์ ซีซั่น โดยมีแขกผู้มีเกียรติเดินทางมาร่วมเปิดตัวหนังสืออย่างคับคั่ง

วิมลพรรณ เปิดใจก่อนถึงช่วงเสวนาว่า มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนถึงพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในลักษณะเฉลิมพระเกียรติมากกว่า เขียนถึงบริบททางประวัติศาสตร์ หนังสือ”เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ”นี้ อยากให้เห็นถึงรัชสมัยของพระองค์ท่านว่า ทรงครองราชย์อย่างไร ทรงพระราชกรณียกิจในฐานะกษัตริย์อย่างไร โดยเน้นย้ำถึงการทำงานของพระองค์ท่านภายใต้รัฐธรรมนูญ

“ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงกำหนดบทบาทของพระบาทกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเอง ที่ผ่านมาเราปล่อยให้ฝรั่งเขียนเอกสาร ข้อมูลเละเทะ หรือแม้แต่นักวิชาการสมัยใหม่ ถอดเรื่องราวเล่าแต่ละช่วงวิกฤต สถานการณ์ นับแต่พ.ศ.2500 มาถึงเหตุการณ์เดือนตุลาคม การปฏิวัติระยะหลังๆ ไม่มีใครเขียนว่า พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญผ่านอะไรมาบ้าง บทบาทที่ทรงทำ มีอย่างไรบ้าง ยิ่งนักวิชาการเล่าเรื่อง โดยนำข้อมูลจากเอกสารของคนต่างชาติมาใช้ นำข้อมูลมาเพียงบางส่วน หรืออาจไม่ได้สอบทานข้อเท็จจริง และนำข้อมูลนั้นมาอ้างอิงต่อ อาจคลาดเคลื่อน”

วิมลพรรณ ชี้ความตั้งใจของการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า ตนเองก็ค้นคว้าเอกสาร หลักฐานจากประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา แม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายดำเนินการที่สูงมาก ได้มีโอกาสไปค้นคว้าในห้องสมุด State of Congress ของสหรัฐฯ เป็นคนไทยคณะแรกที่ได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ ผ่านเอกสารบันทึกต่างๆ ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายใน นำมาสู่การสอบทานความถูกต้องของเอกสารมากมาย โดยเฉพาะกรณี การสวรรคตของรัชกาลที่ 8

“หนังสือเล่มนี้ ต้องการให้คนไทยเห็นข้อเท็จจริงของสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย แต่ผู้อ่านจะต้องพิจารณาเอาเองว่า เรื่องราวต่างๆ เป็นอย่างไร เพราะตัวเองไม่อยากจะใช้คำว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ แต่เป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยของบ้านเมือง”

“สิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเราอ่านทั้งหมด จะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง หรือใครก็ตามที่กระทำต่อบ้านเมือง มีบางคนที่เราอาจจะให้อภัยได้ มีบางคนเราไม่อาจให้อภัยได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับวิจารณญาณของคนอ่าน เพราะดิฉันมีหน้าที่ข้อมูลให้กับคน ไม่ไปวิเคราะห์หรือตัดสินแทนคนอ่าน หรือใครทั้งสิ้น”

วิมลพรรณ ยังกล่าวว่า ข้อมูลบางส่วนอาจไม่ใช่ข้อมูลใหม่ เพียงแต่นำมาเรียงร้อยให้ผู้อ่านได้เห็นว่าตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้เกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองบ้าง แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงทำหน้าที่ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้ถูกต้อง และรักษาบ้านรักษาเมืองมาได้อย่างไร ซึ่งอยากให้อ่านและพิจารณา

“ฉะนั้น หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือเฉลิมพระเกียรติ แต่เป็นหนังสือบอกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในยุคสมัยว่า ท่ามกลางความเป็นไป การอยู่รอดของบ้านเมือง มันมีใครบ้าง ที่ได้ทำอะไรไว้ที่เราควรจะให้อภัยหรือไม่ให้อภัย"

วิมลพรรณ เล่าเบื้องหลังว่า หนังสือเล่มนี้ ใช้เวลากว่า 3 ปี ก่อนจะออกมาเป็นเล่มอย่างสมบูรณ์ แต่การค้นคว้าทำแค่ปีเดียว ลงมือเขียน 1 ปี ครึ่ง ระหว่างการคว้ารวบรวมข้อมูล มีเจ็บป่วย ไม่สบาย แม้แต่เพื่อนที่ช่วยค้นคว้าก็ป่วยเป็นมะเร็ง ต้องหยุดพักเพื่อรักษาตัวก่อน แต่สุดท้ายก็เขียนจนจบ นับตั้งแต่ปี 2549 รวมเวลากว่า 3 ปี ส่วนลงมือเขียน ปีครึ่ง

กับคำถามที่ว่า หวั่นใจหรือไม่ หากมีการนำเนื้อหาดังกล่าว ไปอ้างอิงหรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง วิมลพรรณ ตอบชัดเจนว่า ไม่กลัวเลย เนื่องจากเจตนาของการเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีเจตนาทำลายเกียรติของผู้ใด แต่ความแน่วแน่อยู่ที่การค้นคว้าข้อมูล และร้อยเรียงให้ถูกต้องตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากจะถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับใคร หวังใจว่า ผู้อ่านสามารถไตร่ตรอง และใช้วิจารณญาณได้

ตอนหนึ่งของหนังสือ เอกกษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ เล่ม 2 หน้า 29 กรณีข้อเท็จจริงในการสวรรคต

"....การสอบสวนชันสูตรพระบรมศพของตำรวจในครั้งแรกก็ทำอย่างหยาบๆ ไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่แรก เมื่อจะมีการร่างแถลงการณ์ให้เป็นที่รับทราบของประชาชน นายปรีดี พนมยงค์ ถามหลวงนิตย์ฯว่า แถลงว่าสวรรคตเพราะพระนาภี (ท้อง) เสียได้หรือไม่ หลวงนิตย์ฯ ตอบว่า ไม่ได้ หลวงเชวงศักดิ์สงครามถามว่า เพราะโรคหัวใจได้ไหม หลวงนิตย์ฯ ปฏิเสธอีก จะออกแถลงการณ์ว่า ในหลวงปลงพระชนม์เอง กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงคัดค้าน รับสั่งให้แถลงการณ์ตามที่เป็นจริง นายกรัฐมนตรี (นายปรีดี พนมยงค์) จึงแถลงการณ์ว่า "เป็นอุบัติเหตุ" ซึ่งกรมขุนชัยนาทฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่ได้คัดค้านหรือห้ามการสืบสวนตามกฎหมาย โดยอ้างว่าขัดกับพระราชประเพณีแต่อย่างใด"

อีกตอนหนึ่ง หน้า 40 ระบุว่า .... "หลังการชันสูตรพระบรมศพแล้วแพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุใดมีน้ำหนักว่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ปรากฎว่า ประเด็นถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุดคือ 16 เสียง ปลงพระชนม์เองมีน้ำหนักมากที่สุด 4 เสียง อุปัทวเหตุมีน้ำหนักมากที่สุด 2 เสียง"

"ความเห็นของคณะแพทย์และข้อเท็จจริงบางประการในการทดลองในการยิงศพล่วงรู้ไปถึงหนังสือพิมพ์บางฉบับเช่น หนังสือพิมพ์เสรี ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2489 ได้ลงรูปแสดงวิถีกระสุนและมีความละเอียดว่า คณะกรรมการได้ทดลองยิงในท่าต่างๆ แต่ที่คล้ายคลึงกับบาดแผลในพระบรมศพ คือผู้ยิงยืนเหนือศีรษะจ่อปืนใกล้หน้าผากในระยะ 10 ซม. แล้วยิง"

หนังสือดังกล่าว ยังนำรายงานของสถานเอกอัครราชทตูอังกฤษประจำประเทศไทย รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2489 เรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปเจรจาขอให้ทูตอังกฤษประจำประเทศไทยห้ามแพทย์ชาวอังกฤษที่ไปร่วมเป็นกรรมการชันสูตรพระบรมศพออกความเห็น สาเหตุแห่งการสวรรคต ดังนี้

"โทรเลขฉบับนี้เป็นความลับอย่างที่สุดและควรเก็บไว้โดยผู้รับที่มีอำนาจหน้าที่เท่านั้น ไม่ให้ส่งต่อ ...แจกในคณะรัฐมนตรี

F. 9488 จากกรุงเทพฯ ถึงกระทรวงการต่างประเทศ
Mr.Thompson เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2489
No. 851

ด่วน โทรเลขของผมเลขที่ 834

"...มีการเชื่อกันอย่างกว้างขวาง (ซึ่งก็มีเหตุผล) ว่าคณะกรรมการแพทย์ที่สอบสวนกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนกำลังจะรายงานโดยเสียงข้างมากเป็นการถูกลอบปลงพระชนม์ จริงๆ แล้วในการลงคะแนนเสียงวันนี้ เมื่อคณะกรรมการยอมรับถ้อยคำต่างๆ ในรายงานแล้ว 16 เสียงเห็นว่าเป็นการถูกลอบปลงพระชนม์ 4 เสียงเป็นอัตวินิบาตกรรม และ 2 เสียงเป็นอุบัติเหตุ ตัวเลขเหล่านี้ไม่รวมนายทหารอังกฤษ 5 คนผู้ปฎิเสธที่จะออกความเห็นใดๆ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น