วันจันทร์, กันยายน 27, 2553

“เมื่อเสียงปืนดังขึ้น นักกฎหมายต้องนั่งลง” หรือ??!!

by Generallhero on 2010-09-28 - 11:09 am
Ref: มติชนออนไลน์ (update วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 19:15:09 น.)
บทความชื่อ: บทบาทของนักกฎหมายไทยต่อการรัฐประหาร และการจัดการกับคณะรัฐประหารแบบตุรกี
บทความโดย: คุณนรินทร์ อิธิสาร

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

รัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั่นคือเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนในฐานะนักเรียนกฎหมายที่พอจะได้ติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการรัฐประหารดังกล่าวอยู่บ้างเกิดความฉงนและจับต้นชนปลายไม่ถูกคือ พฤติกรรมของนักกฎหมายบางคนบางกลุ่มในประเทศไทยซึ่งหลายคนเคยเป็นครูบาอาจารย์ของผู้เขียนที่ได้มีพฤติกรรมไปในทางสนับสนุนการทำรัฐประหาร


พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนที่ผู้เขียนเริ่มเรียนวิชากฎหมายในปีแรกๆ ของการศึกษาในระดับปริญญาตรี อาจารย์คนหนึ่งได้พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น นักกฎหมายต้องนั่งลง” ซึ่งหากเปรียบกับการรัฐประหารเป็นเสียงปืนเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นนักกฎหมายก็ต้องนั่งลง

กรณีนี้ก็ไม่มีเหตุใดๆ ที่จะต้องไปตำหนิติเตียนหรือว่ากล่าวนักกฎหมายนั้นๆ หรือเรียกร้องให้พวกเขาเหล่านั้นออกมาดำเนินการต่อต้านการทำรัฐประหารแต่อย่างใดได้เพราะเป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่จะรักชีวิตร่างกายของตน การที่จะไปเรียกร้องให้ทุกคนกระทำการต่อต้านรัฐประหาร เช่น ขับรถไปชนรถถังเพื่อต่อต้านการรัฐประหารเหมือนคุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ก็ย่อมเป็นไปได้ยาก


สิ่งที่น่าผิดหวังคือนักกฎหมายของไทยบางกลุ่มเมื่อเสียงปืนดังขึ้นหรือหลังจากที่เสียงปืนได้สงบลงแล้ว นักกฎหมายบางคนบางกลุ่มไม่ได้แค่นั่งลงเฉยๆ แต่กลับเข้าไปนั่งให้ความร่วมมือช่วยเหลือเป็นเครื่องมือให้กับคณะรัฐประหาร แล้วยังสามารถมากล่าวอ้างว่าเป็นคนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปาก


บางคนบางกลุ่มก็เป็นครูบาอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยที่สอนหลักประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ หลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งนักกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ต่างไปจากคนที่เอาดอกไม้ ข้าวปลาอาหาร หรือแต่งชุดยอดมนุษย์ หรือส่งสาวพริตตี้ไปเต้นให้กำลังใจผู้ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ประการใด เพราะบุคคลเหล่านี้ก็คือกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและสนับสนุนรัฐประหารนั่นเอง


กลุ่มนักวิชาการไทยบางกลุ่มโดยเฉพาะนักกฎหมายไทยที่เข้าไปร่วมกับคณะรัฐประหารภายหลังการล้มรัฐบาลสำเร็จแล้วไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการตรา หรือร่าง ประกาศคณะรัฐประหาร, ร่างกฎหมาย หรือร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฯลฯ หรือเข้าไปทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ(พิเศษ) ที่คณะรัฐประหารได้จัดตั้งขึ้นมา หรือยอมรับและรับรองการกระทำของคณะรัฐประหารว่าเป็นการกระทำของ “รัฐาธิปัตย์” โดยไม่มีปากเสียง ไม่ว่าจะเป็นด้วยข้ออ้างประการใดก็ตามการกระทำทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นการสนับสนุนการทำรัฐประหารและเป็นการทำลายหลักประชาธิปไตย ซึ่งพฤติกรรมของนักกฎหมายไทยบางกลุ่มในลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นประจำซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยถือเป็นเรื่องปกติ

หลายครั้งหลายคราที่เกิดการรัฐประหารและนักกฎหมายเข้าไปสนับสนุนให้การรัฐประหารนั้นดำเนินไปได้ด้วยดีโดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานา

เหตุผลประการหนึ่งคือ “ถ้าตนไม่เข้าไปดำเนินการต่างๆ ดังกล่าว ก็จะส่งผลให้เสียให้เกิดความเสียหายหรืออาจจะเกิดความวุ่นวายต่อประเทศชาติบ้านเมืองได้” ซึ่งเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ยากอย่างยิ่ง เพราะกรณีที่น่าพิจารณาคือถ้าคณะรัฐประหารไม่ได้รับการสนับสนุนจากนักกฎหมายในการเข้าไปเป็นเครื่องมือให้กับคณะรัฐประหาร ผลเสียจากการทำรัฐประหารก็คงจะมีความชัดเจนมากขึ้น และประชาชนชาวไทย คงได้เห็นข้อเสียของการทำรัฐประหารชัดเจนมากขึ้น และไม่เกิดความเคยชินกับรัฐประหาร และเห็นว่าเป็นเรื่องปกติเพราะตนไม่ได้มีความเดือดร้อนอะไรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ


ปัญหาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาคือปัญหาเกี่ยวกับผลในทางกฎหมายของการทำรัฐประหารที่เกิดนั้นว่าจะมีผลในทางกฏหมายอย่างไร?

นักกฎหมายไทยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการทำรัฐประหาร หรือวิธีการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ทำรัฐประหารโดยวิธีการทางกฎหมายภายหลังการทำรัฐประหารอย่างไร? ปัญหาประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยคือการที่ไม่มีผลในทางกฎหมายใดๆ เกิดขึ้นกับคณะรัฐประหารเลย ด้วยเหตุผลที่ว่าคณะรัฐประหารได้ออกกฎหมายซึ่งมานิรโทษกรรมการกระทำของตนเองเพื่อไม่ให้ตนเองได้รับผลในทางกฎหมายที่จะตามมาจากการล้มล้างรัฐบาลนั่นเอง


เมื่อได้นิรโทษกรรมการกระทำของตนไปแล้วทุกอย่างก็จบสิ้นลงไม่มีใครหยิบยกกล่าวโทษหรือเอาผิดกับการทำรัฐประหารได้อีก นักกฎหมายที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างก็ยินยอมน้อมรับคำสั่ง ประกาศ ฯลฯ ของคณะรัฐประหารโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ความเคยชินในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยวิธีการแบบนักการเมืองหรือ กลุ่มรัฐประหาร ที่ “ชอบ” นิรโทษกรรม เห็นได้ชัดเจนจากปรากฏการณ์ในปัจจุบันที่มีการเสนอแนะให้มีการ “นิรโทษกรรม” การดำเนินการดังกล่าวก็เป็นการเพิ่มความเคยชินและสร้างความเป็นธรรมดาของ

หรือกล่าวอีกประการหนึ่งคือการลดความร้ายแรงของเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องปกติ ทำนองว่าหลับหูหลับตากวาดขยะไว้ใต้พรมแล้วหลอกตัวเองว่าไม่มีขยะอยู่แล้ว พร้อมกันนั้นก็ปิดกั้นการพิสูจน์ความจริงที่จะเป็นบทเรียนของคนไทยทุกคน


มุมมองในทางกฎหมายต่อปัญหาดังกล่าวข้างต้นนั้น ชาวตุรกีได้มีวิธีการทางกฎหมายในการดำเนินการกับคณะรัฐประหารไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาประชาชนชาวตุรกีได้แสดงให้เห็นถึงทางเลือกหนึ่งในการดำเนินการกับคณะรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ประชาชนชาวตุรกีได้ลงประชามติเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


ซึ่งก็มีประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่ประชาชนหรือพรรคการเมืองในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ประสบปัญหาการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าแบบซ้ำซาก และเป็นวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยมาตลอดเวลา คือ ประชาชนเลือกตั้ง-รัฐบาลบริหารประเทศ-บุคคลบางกลุ่มเข้ามาทำรัฐประหารล้มรัฐบาล-ล้มรัฐธรรมนูญ-นิรโทษกรรมตัวเอง-ออกรัฐธรรมนูญใหม่(หรือชั่วคราว)-จัดการเลือกตั้งใหม่-ประชาชนเลือกตั้ง.....เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไปเป็นวัฏสงสาร วนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีทางได้หลุดพ้นไปจากวงจรอุบาทว์ดังกล่าวได้


ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติของชาวตุรกีที่ได้กล่าวถึงข้างต้นถือกันว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญของประเทศตุรกีที่ในการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมยุโรป และแสดงให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศตุรกี ในการลงประชามติเห็นด้วยในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของชาวตุรกีนั้นมีหลายประเด็นด้วยกัน ทั้งนี้โดยมีประเด็นที่สำคัญๆ คือ


1. การจำกัดอำนาจของอำนาจศาลทหาร ในส่วนของการพิจารณาคดีพลเรือนเช่นในกรณีข้อกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นผลกระทบต่อความมั่นคง และนอกจากนั้นยังให้อำนาจศาลพลเรือนในการพิจารณาคดีกองทัพในกรณีที่มีข้อสงสัยว่ากองทัพจะทำการล้มรัฐบาล


2. การปฏิรูปคณะกรรมการสูงสุดของผู้พิพากษาและอัยการ เดิมคณะกรรมการดังกล่าวซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาและอัยการ โดยประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 5 คน โดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโดยแต่งตั้งจากบัญชีรายชื่อที่เสนอโดยศาลสูง ผลจากการปฏิรูปคณะกรรมการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 21 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี และการเลือกตั้งโดยผู้พิพากษาและอัยการทั้งประเทศ


3. การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเพิ่มขึ้น จากเดิม 10 คน เป็น 19 คน ที่มาจากเดิมมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดยบัญชีเสนอจากศาล และดำรงตำแหน่งจนถึงเกษียณอายุ เปลี่ยนมาเป็นสภาแต่งตั้ง 3 คน และที่เหลือประธานาธิบดีแต่งตั้งโดยเลือกจากบัญชีที่เสนอจากสภาทนายความ จากสภาสูงการศึกษา และศาล โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 12 ปี


4. การปฏิรูปการปิดพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาปิดพรรคการเมืองได้ก็แต่โดยมีเหตุว่าพรรคการเมืองนั้นเรียกร้องให้มีการใช้กำลัง ไม่ใช่โดยเหตุว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง


5. การคุ้มครองข้อมูล มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความเข้มข้นมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น


6. สิทธิสตรี และสิทธิสำหรับกลุ่มพลเมืองที่มีความอ่อนแอให้มากขึ้น โดยเพิ่มสิทธิสตรี, คนพิการ, ลูกจ้าง และสหภาพแรงงาน


7. การปฏิรูปสภาทหารสูงสุด ในส่วนที่เกี่ยวกับคำสั่งในการปลด โดยให้สามารถร้องขอให้ทบทวนคำสั่งปลดดังกล่าวได้


8. ความรับผิดทางอาญาของสมาชิกของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญเดิมสมาชิกของคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้รับความคุ้มครองโดยไม่ให้ได้รับการดำเนินการทางอาญา นั่นหมายถึงบรรดานายพลทั้งหลายที่ทำรัฐประหารในปี ค.ศ. 1980 (ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น) จะถูกแตะต้องและถูกดำเนินคดีไม่ได้ แต่ด้วยผลของการลงประชามติครั้งนี้ ความคุ้มครองดังกล่าวจะถูกลบล้างไป และบรรดานายพลทั้งหลายสามารถถูกดำเนินคดีในศาลได้


9. ให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อรับผิดชอบคำร้องทุกของประชาชน และดำเนินแก้ไขปัญหาโดยวิธีการที่ไม่ใช่การดำเนินคดีทางศาล


จากเนื้อหาสาระสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศตุรกีดังกล่าวข้างต้น นานาประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประชาคมยุโรปต่างก็ออกมาแสดงความเห็นยอมรับและชมเชย ถึงการลงประชามติดังกล่าวของชาวตุรกีโดยเห็นว่าเป็นการก้าวสู่สังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง แม้ว่าเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมกลุ่มนายทหารโดยข้อหาว่าเตรียมการล้มล้างรัฐบาล ก็ตามที

และนอกจากนั้นการที่รัฐบาลของนาย Erdogan ได้กำหนดเลือกเอาวันที่ 12 กันยายน 2553 เป็นวันลงประชามติในครั้งนี้นั้นเป็นการที่มีเจตนาประสงค์ที่จะให้การลงประชามติดังกล่าวเกิดขึ้นในวันครบรอบ 30 ปี ของการเกิดการรัฐประหารในปี ค.ศ. 1980 นั่นเอง


ผลของการลงมติของชาวตุรกีที่ได้ยกเลิกการนิรโทษกรรมของคณะรัฐประหารดังกล่าวข้างต้นนั้น ส่งผลให้ภายหลังจากรับทราบผลของการลงประชามติ ก็ปรากฏว่ามีประชาชนชาวตุรกีบางส่วนได้เริ่มเข้าแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อคณะรัฐประหารเมื่อ 30 ปีก่อนโดยทันทีแล้วเช่นกัน


วิธีการในการจัดการกับคณะรัฐประหารของชาวตุรกีที่ได้ใช้วิถีทางประชาธิปไตยและวิธีการในทางกฎหมายในการดำเนินการกับคณะรัฐประหารดังกล่าว เป็นวิธีการที่น่ายกย่องชมเชยและถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะว่าได้แสดงให้เห็นว่าการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลนั้นผู้กระทำย่อมจะได้รับผลร้ายตามกฎหมาย

แม้ว่าเหตุการณ์จะพ้นมาแล้ว 30 ปี และมีการออกรัฐธรรมนูญออกมานิรโทษกรรมการทำรัฐประหาร แต่ระยะเวลาที่ยาวนานและการนิรโทษกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้การกระทำของคณะรัฐประหารในปี ค.ศ. 1980 เป็นสิ่งที่มีความถูกต้องชอบธรรมขึ้นมาแต่ประการใด


ดังนั้นการให้มีการยกเลิกการให้ความคุ้มครองโทษทางอาญาต่อคณะรัฐประหารดังกล่าวย่อมเป็นหนทางหรือวิธีการหนึ่งในการดำเนินการต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้น

หากบางประเทศที่มีการทำรัฐประหารบ่อยๆ และจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำแนวความคิดนี้ไปดำเนินการบ้างก็ย่อมจะดีไม่น้อย เพราะจะได้แสดงให้เห็นถึงความคงอยู่ของระบอบประชาธิปไตย การคงอยู่ของอำนาจอธิปไตยตามวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศนั้นๆ

เพราะเมื่ออำนาจอธิปไตยกลับมาอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว ประชาชนผู้ทรงอำนาจดังกล่าวย่อมสามารถตัดสินและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ ประเทศไหนที่อยากจะนำเอาแนวความคิดดังกล่าวของชาวตุรกีไปใช้บ้าง คิดว่าชาวตุรกีคงไม่สงวนวิธีการดังกล่าวแต่ประการใด

-----------------
( บทความทางวิชาการจาก เว๊บไซต์ www.pub-law.net 27 กันยายน 2553 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น