วันจันทร์, กันยายน 27, 2553

ผ่าสมอง"สิงห์ดำ"วัยละอ่อนกับ "ความขัดแย้ง": รัฐประหาร เจ้าพ่อ และความตายของคนชายขอบ

by Generalhero on 2010-09-27 - 03:28 pm
Ref: มติชนออนไลน์ update วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 11:40:54 น.

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์
ผ่าสมอง"สิงห์ดำ"วัยละอ่อนกับ "ความขัดแย้ง": รัฐประหาร เจ้าพ่อ และความตายของคนชายขอบ

เมื่อวันที่ 22 กันยายน เวลา 9.00 น. นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการ "รัฐไทยกับการจัดการความขัดแย้ง" เป็นส่วนหนึ่งของการสอบปลายภาควิชา "รัฐและสังคม" ดำเนินการสอนโดยอ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อ.ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยในการเสวนาเป็นการนำเสนอรายงานจากตัวแทนของกลุ่มในประเด็นปัญหาต่างๆได้แก่

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

"การแก้ไขความขัดแย้งของรัฐไทย: รัฐประหาร 19 กันยายน ในฐานะการจัดการความขัดแย้ง" โดยภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร

นายภัทรนันท์ กล่าวตอนหนึ่งในการรายงานว่า กลุ่มของตนเลือกประเด็นเรื่องรัฐประหาร 19 กันยายน เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต้องอยู่กับมันตลอดชีวิตเหมือนเป็นเรื่องที่ตามหลอกหลอนคนรุ่นนี้ไปซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดแม้ว่าข้ออ้างของคนที่สนับสนุนให้ทำรัฐประหารคือ การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายนจะมีการนองเลือด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าการนองเลือดอาจเป็นเรื่องที่ปล่อยให้เป็นไปบ้าง เพราะจุดแตกหักนี้จะทำให้การเมื่องไทยเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่การทำรัฐประหาร ประเด็นสำคัญคือเราไม่ปล่อยให้สังคมไทยมีจุดแตกหัก ยังคงแก้ไขในระบบวิถีเดิมๆ เพียงเพราะเรากลัวเลือด

มิเชล ฟูโก้ (Michel Foucault) เชื่อว่าการรัฐประหารเป็นการแสดงตัวตนของรัฐ คือรัฐมองเห็นความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น ซึ่งความไม่ปลอดภัยของรัฐคือ "เสรีนิยมประชาธิปไตย" ที่มีมาตั้งแต่ 2540 และความขัดแย้งที่นำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน คือความขัดแย้งระหว่าง เสรีนิยมประชาธิปไตย กับ รัฐนิยม ตรงนี้เหมือนกการถกเถียงว่าเราต้องมีรัฐหรือไม่มีรัฐอย่างกลายๆ

มีข้อถกเถียงของนักวิชาการว่าประเทศไทยเป็น "ครอบครัวแบบจินตกรรม" คือวันนี้เราต้องไม่มาเถียงกัน รักกัน วิธีการแก้ไขปัญหาของครอบครัวเป็นแบบนี้ การแก้ไขปัญหาของเราจึงเป็นการแก้ไขปัญหาแบบครอบครัวทำให้ประชาธิปไตยของเราไม่เดินไปไหน เพราะคิดว่าเป็นพี่น้องกัน

สุดท้ายความขัดแย้งทั้ง 2 ระบบคือ ความเชื่อเรื่องรัฐ กับ เรื่องประชาธิปไตย โดยรายงานฉบับนี้ฟันธงว่า ถ้าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงแล้วพลเมืองไม่ได้รับการศึกษาที่ดีพอ ที่สุดแล้วประชาชนก็จะเหมือนเด็กทะเลาะกัน และจะนำไปสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นคำถามว่าเราอยากได้สภาพแบบนั้นหรือไม่หลังการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

"ปัญหาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น" โดย นางสาวณัฎฐา ทั้วสุภาพ

ณัฎฐา ทั้วสุภาพ นำเสนอรายงานโดยมองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ โครงสร้างของรัฐเอง โดยรัฐไทยถูกกำหนดเป็นรัฐเดี่ยว ทำให้เรามองเห็นปัญหาเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่เกิดขึ้น การที่ประเทศไทยมีเจ้าพ่อส่งผลให้รัฐไทยไม่สามารถทำงานได้ดี ไม่สามารถจัดสรรผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนระดับล่างได้จริง ทำให้ประชาชนในระดับท้องถิ่นไปพึ่งพาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากในวัฒนธรรมทางการเมือง รวมถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในไทยมานาน โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยเป็นโครงสร้างระบบศักดินามาตั้งแต่สมัยก่อน

วัฒนธรรมอุปถัมภ์เป็นสิ่งที่ปูพื้นทางสังคมไทย พอเกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้น หน้าที่ของรัฐสมัยใหม่ก็ต้องสามารถจัดสรรผลประโยชน์ ดูแลทุกข์สุขประชาชนได้ แต่เจ้าพ่อทำให้รัฐไทยไม่สามารถควบคุมความรุนแรงเหนือดินแดนของไทยได้

ยิ่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เน้นเรื่องกระจายอำนาจมากขึ้น โครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมของผู้มีอิทธิพลแบบเก่าไม่เชื่อมต่อกับรัฐส่วนบนก็แปรสภาพเปลี่ยนตัวเองจากที่เคยเป็นผู้นำมีอิทธิพลกันอยู่ในชุมชนตัวเองก็ลามเป็นระดับชาติเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่นในยุคของคุณทักษิณ มีการส่งตัวแทนพรรคลงเล่นการเมืองท้องถิ่น มันไม่ได้เป็นการโยงใยอำนาจท้องถิ่นขึ้นไปถึงในระดับชาติ เครือข่ายอิทธิพลก็ผันตัวเองไปจนเข้มแข็ง และเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์กันเอง ในรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ไม่สามารถจัดการได้เพราะมีการถ่วงดุลกันของกลุ่มผู้มีอิทธิพลแต่เดิมที่ขยายตัวขึ้น

โดยสรุปคือการที่มีเจ้าพ่อทำให้รัฐไทยที่มีหลักว่าเป็นรัฐเดี่ยว ทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะกลไกของรัฐไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจไม่สามารถจัดการความัขัดแย้งหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้และการที่รัฐไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทำให้เกิดผู้มีอิทธิพลขึ้นอีก แต่ถ้าหากจัดสรรผลประโยชน์หรือตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีปัญหาของผู้มีอิทธิพลก็จะลดน้อยลง


"เปิดม่านความขัดแย้งกับคนตายที่ชายขอบ" โดย นายสิทธิพล พาเจริญ

สิทธิพล เป็นตัวแทนกลุ่มเสนอรายงาน โดยกล่าวว่า เมื่อรัฐกับสังคมเกิดความขัดแย้งขึ้น ความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งที่ไม่สมมาตร ความขัดแย้งจึงผูกกับความรุนแรง และเป็นความรุนแรงระหว่างเมืองกับชายขอบรวมถึงรัฐกับคนชายขอบด้วย ซึ่งรัฐบอกว่าคนชายขอบเป็นปัญหา เป็นอสูรกายแต่ไม่เคยพูดว่าอสูรกายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มองแค่ว่านี่เป็นปัญหา นี่ไม่ใช่คน ฆ่าทิ้งได้ เพราะเป็นภาระของเรา ซึ่งการนิยามแบบไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่เข้าใจความขัดแย้งเมื่อคนออกมาเรียกร้อง ทุกข้อขัดแย้งมักมีสารที่คนต้องการสื่อว่ามันมีอะไรในความขัดแย้งเบื้องหลังอยู่ แต่การที่มีม่านมาบังทำให้ไม่เข้าใจว่าการที่มาเรียกร้องคืออะไร

เมื่อนิยามว่าเป็นอสูรกาย ทำให้เกิดกลัวว่าเขาจะมาเอาอะไรไป ซึ่งบางเรื่องสังคมและรัฐก็ให้ได้ แต่ในบางเรื่องก็ทำให้เกิดความกลัว โดยสิ่งที่รัฐกลัวที่สุดคือความมั่นคงปลอดภัยเพราะรัฐต้องประกันความมั่นคงให้คนในสังคม และเมื่อรัฐเห็นว่าเกิดสิ่งที่ไม่มั่นคงก็ต้องลงไปจัดการ รัฐก็อาศัยการฝ่าฝืนกฎหมายแบบเสรีนิยม รัฐจึงสร้างความกลัวเพื่ออาศัยความกลัวให้คนในสังคมให้ความชอบธรรมกับรัฐใช้ความรุนแรงจัดการได้

สังคมไทยคิดว่า "แตกต่างได้ แต่อย่าแตกแยก" แต่ที่จริงสังคมไทยเป็นสังคมจารีตที่กลัวความแตกต่าง สิ่งที่สะท้อนได้ดีที่สุดคือ ความเชื่อเรื่องผี อย่างในสังคมอังกฤษยุคโบราณที่กลัว แดร็กคูล่าหรือแฟรงค์เกนสไตน์ ซึ่งเป็นผีที่แสดงความแตกต่างผิดแปลกไปจากสังคม กินอาหารที่คนไม่กิน สิ่งที่คนเรียนรู้คือ ถ้าไม่ฆ่าก็จะถูกผีเหล่านั้นฆ่า แต่ไม่เคยรับรู้เลยว่า เพราะเราเองไม่ใช่หรือที่ไปสร้างแฟรงค์เกนสไตน์ขึ้นมามันจึงมาฆ่าเรา สังคมไทยไม่ยอมรับความแตกต่างเพราะเชื่อว่าความแตกต่างผิดบรรทัดฐานจึงนำความแตกแยกแต่ในยุคหลังเริ่มยอมรับได้บ้างแล้วอย่างเรื่องเพศ

รัฐใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นรัฐรวมศูนย์ซึ่งความเป็นเอกภาพได้ละเลยความแตกต่างซึ่งเป็นฐานคิดเดิมในรัฐแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเมื่อเกิดความเป็นเอกภาพภายในรัฐเดียวขึ้นจึงส่งผลถึงความขัดแย้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ที่แบ่งได้เป็น 3 ด้านใหญ่ๆ คือ การสร้างรัฐชาติ การพัฒนารัฐสมัยใหม่ และสังคมยุคโลกาภิวัตน์ การสร้างรัฐชาติเกิดความช่วงชิงความเป็นชาติในหลายฝ่ายที่ซับซ้อน ความเป็นชาติของรัฐไทยที่สร้างขึ้นมาเป็นเอกภาพซึ่งทำให้เป็นภาพเดียว มีหลายคนตกภาพนั้นไป

ส่วนด้านสังคมรัฐสมัยใหม่ก็ควบคุมสังคม อย่างบอกว่า ในสังคมต้องมีเพศวิถีอย่างไร ต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะมีสุขภาวะ ด้านวัฒนธรรมว่าคุณเป็นคนไทยก็ควบคุมความคิดว่าถ้าเป็นคนไทยก็ต้องปฎิบัติตัวอย่างไร การรวมศูนย์โดยไม่เห็นความแตกต่างทำเห็นเกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากข้างล่าง

ส่วนประเด็นเรื่องโลกาภิวัตน์เห็นได้ว่ามีทั้งผลดีและไม่ดี รัฐสามารถคุมสื่อได้ บล็อกเว็บที่ไม่อยากให้คนเข้าได้ แต่อีกทางหนึ่งคนก็สามารถเริ่มเห็นสื่อใหม่ๆ คนเริ่มตระหนักและสำนึก เพราะเกิดวัฒนธรรมที่แพร่หลายไม่สามารถยึดโยงกับรัฐได้อีกต่อไป คนก็เลยติดกับท้องถิ่น เมื่อติดกับท้องถิ่น เขาจึงมีความทรงจำที่ขัดกันแล้วตัวเขาควรจะเชื่ออย่างไร ทำให้เกิดความไขว้เขวทางอัตลักษณ์

จุดที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งคือ ความขัดแย้งของอัตลักษณ์ คนที่อัตลักษณ์เดี่ยวอ้างอิงความเป็นตัวตนกับรัฐ เมื่อคนไม่สามารถอ้างอิงได้ก็เกิดความแปลกแยกเกิดความเป็นอื่นจึงเกิดความขัดแย้งเชิงประจักษ์ที่เห็นได้อย่างการแสดงออกด้วยการประท้วงฆ่าตัวตาย หรือก่อการร้าย

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์
Ref: มติชนออนไลน์ (updateวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 09:20:39 น.)

ผ่าสมอง"สิงห์ดำ"วัยละอ่อนกับ "ความขัดแย้ง"(2): รัฐไทยกับรัฐศาสตร์ การตลาด และชายแดนใต้

หลังจากตอนที่แล้วได้นำเสนอรายงานของนิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เหล่า"สิงห์ดำ"ออกมานำเสนอในการเสวนาทางวิชาการ "รัฐไทยกับการจัดการความขัดแย้ง" อันเป็นส่วนหนึ่งของการสอบปลายภาควิชา "รัฐและสังคม" เมื่อวันที่ 22 กันยายน เวลา 9.00 น. ไปเรียบร้อยแล้ว ลองมาดูความเข้มข้นทางความคิดของ"สิงห์ดำ"วัยละอ่อนในประเด็นเรื่องความขัดแย้งกันต่อ


ช่วงที่ 2 ของการสัมนาเริ่มด้วยการเสนอรายงานเรื่อง "รัฐไทยกับความขัดแย้ง: รัฐศาสตร์ บริบทเชิงโครงสร้างทางวัฒนธรรมและกรณีศึกษาเชิงประจักษ์"

โดยนายฤชากร ไตรรัตนานุสรณ์ ตัวแทนของกลุ่มกล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองของไทยเกิดจากความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่มีปัญหา เนื่องจากเราไม่ทบทวนความรู้ของเราแบบเพียงพอ แต่ไปนำเอาเทคโนโลยีทางรัฐศาสตร์ของตะวันตกมาใช้โดยที่ขาดการศึกษาความเป็นมาเรื่องประวัติศาสตร์และความคิดทางการเมือง เพราะเราไม่พยายามเข้าใจรากเหง้าของปัญหา ซึ่งแตกต่างจากตะวันตกที่พยายามหาจุดเริ่มต้นและนำมาสู่ปัจจุบัน สุดท้ายแล้วความรู้ทางรัฐศาสตร์ของไทยก็เหมือนไปลอกเลียนแบบจากตะวันตก

ปัญหาที่สำคัญอีกเรื่องคือ การศึกษารัฐศาสตร์ในแง่การสร้างพลเมือง ไม่มีความชัดเจนนอกจากต้องการเพียงแค่สร้างแรงงานในระบบตลาดมากกว่าสร้างคนที่มีจิตสำนึก โครงสร้างเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทยก็มีปัญหาเช่น วัฒนธรรมอุปถัมภ์ ทำกิจกรรมที่ไม่มีความคิดริเริ่ม แต่มักทำตามระบบมากกว่า

นอกจากนี้ รัฐศาสตร์ไทยยังขาดจิตวิญญาณ จึงอยากให้ทบทวนปรัชญาทางการเมืองและบริบททางประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งไทยได้รับอิทธิพลมาจากสหรัฐแต่เวลาที่เราเอาใช้กลับลืมบริบทและปรัชญาในความเป็นตัวเราไปทำให้ขาดพลัง ปัญหาหลักก็คือ เมื่อองค์ความรู้มีปัญหาจึงเกิดการแบ่งชิงพื้นที่ความรู้ อุดมการณ์ อย่างเช่นความคิดเรื่อง "รัฐประหารเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และเป็นประชาธิปไตยแบบไหน" ซึ่งควรมีคำอธิบายที่ลึกกว่าประโยคแค่ "รัฐประหารเป็นการฉีกธรรมนูญและทำลายประชาธิปไตย"

ทั้งนี้ จึงต้องการเสนอในเชิงทฤษฎีว่า ที่ผ่านมานิยามคำว่า "รัฐ" กับ "สังคม" ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ อยากให้เปลี่ยนหน่วยการวิเคราะห์มาเป็น "มนุษย์" โดยหลักแล้วมนุษย์เมื่อไม่มีรัฐก็รวมตัวเป็นสังคมอยู่แล้ว ตามวามคิดของนักคิดแนวสัญญาประชาคม รัฐเป็นกลไกที่ตอบสนองสังคมเอง รัฐเป็นเครื่องมือของการจัดการ จึงเกิดนิยามต่อมาคือ รัฐเป็นสนามพลัง เข้าปะทะสังสรรค์ในการแสดงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ในขณะที่ปัญหาทางการเมืองของเราคือ ความเหลื่อมล้ำ, เทคโนโลยีทางรัฐศาสตร์ไทย และการให้นิยามคำว่าประชาธิปไตย ที่ทุกคนต่างให้คำนิยามเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ซึ่งสังคมไทยกลายเป็น "สังคมไพร่สมัยใหม่" คนที่มีอำนาจยังคงอยู่ เพราะคนจะเป็นใหญ่ได้ก็ต้องพึ่งพาเสียงเลือกตั้ง

ส่วนเรื่อง "เหลือง-แดง" นั้นมองว่าทั้ง 2 ขบวนการมีตรรกะร่วมกันคือ เคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาล เลียนแบบ 14 ตุลา โดยใช้พลังประชาชนขับไล่ แต่คำถามก็คือ มีวิธีการอื่นหรือไม่ ที่ไม่ต้องแสดงพลังด้วยการชุมนุม 2 กลุ่มก็มีอุดมการณ์ความเชื่อของตัวเอง และอุดมการณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายต่างเป็นมาตรวัดของตัวเอง ไม่รับฟังกัน และไม่มีมาตรวัดมาตรฐาน จึงกลายเป็นสภาพ "สำเร็จเป็นเจ้า ปราชัยเป็นโจร" คนที่ต่างอุดมการณ์ ความเชื่อ และปัจจัยส่วนตัวก็โดนผลักให้ไปสู่ฝ่ายตรงข้าม จึงเกิดคำถามว่า ที่ทางของคนที่ไม่ใช่เหลืองและแดงจะอยู่ที่ตรงไหน

แนวทางแก้ไขที่จะเสนอคือ ให้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ทบทวนหลักสูตร โดยไม่จำเป็นต้องสร้างแรงงานตลาดให้มากนัก, ทบทวนรัฐศาสตร์ไทย ไม่ให้มีการช่วงชิงอุดมการณ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง สุดท้ายคือ ในเบื้องต้นต้องร่วมกันเห็นโลงศพแล้วหลั่งน้ำตา เข้ามาร่วมคุยกัน ทุกภาคส่วนไม่ควรตั้งแค่คณะกรรมการปฎิรูป แต่ต้องเสื้อเหลือง แดง ทหาร และทุกฝ่ายมาคุยกัน ทบทวนย้อนหลังว่าสิ่งที่ผ่านมาถูกหรือผิดอย่างที่เกาหลีใต้ทำเพื่อสร้างบรรทัดฐานอย่างแท้จริง คือ ต้องจำแต่ให้อภัย


"การตลาด กับการจัดการความขัดแย้งในรัฐไทย"

นายนพพล ผลอำนวย เป็นตัวแทนกลุ่มนำเสนอโดยตั้งคำถามหลักในรายงานเรื่องนี้ว่า "ทำไมรัฐไทยแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ หรือ ที่ผ่านมารัฐไทยไม่ได้แก้เลย ?" ที่ผ่านมารัฐไทยมีตรรกะการแก้ปัญหาไม่กี่อย่าง เมื่อมีปัญหาขึ้น ก็มักตั้งคณะกรรมการขึ้น

ซึ่งรัฐไทยมักใช้ "การตลาด" เป็นเครื่องมือทำให้เชื่อว่ามีการจัดการกับความขัดแย้งโดยรัฐไทยจัดการความขัดแย้งด้วยการสร้างความขัดแย้งที่ควบคุมได้ขึ้น อย่างเช่น การตัดถนนที่เขาใหญ่ เราเห็นภาพความขัดแย้งของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) แต่จริงๆแล้วอาจเห็นความขัดแย้งของราชการกันเองด้วยก็ได้ ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งของกระทรวงคมนาคมกับเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ได้ และ ความขัดแย้งระหว่างมาร์ควี 11 กับ มาร์ค ราบ 11รัฐไทยสร้างความขัดแย้งของมาร์ควี 11 เพื่อจัดการกับความขัดแย้งในอีกด้านหนึ่ง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ถูกลืมไปเฉยๆ เหมือนกับไม่เคยเกิดขึ้นโดยใช้ความบันเทิง อย่างเช่น หลังเหตุการณ์ราชประสงค์ ก็เห็นมิวสิควีดีโอที่มีเนื้อหาว่าให้ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วสร้างอนาคตขึ้นใหม่ เกิดคำถามว่าภายใต้ความหลงลืมนี้รัฐไทยดำเนินการอะไรจริงหรือไม่ คนไทยอาจเห็นภาพแต่ลืมคิด

รัฐไทยใช้รัฐธรรมนูญแบบวัฒนธรรม ใช้จารีตจัดการกับความขัดแย้งเยอะ อย่างเช่น กรณีเอาปาล์มมาปักสร้างฮวงจุ้ย ก็เห็นภาพว่าต่อไปจะไม่มีความขัดแย้ง เชื่อเรื่องบุญกรรม จริงๆแล้วรัฐไทยแก้ได้หรือเปล่าอาจก็ไม่อาจรู้ได้

สรุปแล้ว รัฐไทยทุกวันนี้ตอบคำถามว่า ทำไมรัฐไทยจึงจัดการความขัดแย้งไม่ได้ เพราะ รัฐไทยจัดการกับความขัดแย้งหนึ่ง ก็เกิดอีกความขัดแย้งหนึ่งวนเวียนไปมา แท้จริงแล้วรัฐไทยไม่ได้จัดการความขัดแย้งเพียงแต่ใช้การตลาดในการสร้างภาพให้เห็นภาพว่าจัดการความขัดแย้งแล้วโดยใช้จารีตและวิถีชีวิตของคน

รัฐไทยไม่ทำอะไรนอกจาก "ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ หมกเม็ดความจริง กลอกกลิ้ง ตลบแตลง แสดงเหตุผล ยอกย้อนตัวตนของตัวเอง"


"ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้"

ด้าน นายพายุ ปลั่งดี เป็นตัวแทนของกลุ่มมานำเสนอรายงานเรื่องปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ ว่า ประเด็นปัญหาของรัฐไทยเกิดขึ้นทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นพร้อมกัน แต่มักหลงลืมประเด็นท้องถิ่นไป ปัจจุบัน ท้องถิ่นถูกผลัก ถูกลืม แต่ไม่ได้ถูกแก้ไข ลืมเคอิโงะ ลืมคนใต้แต่ตนเชื่อว่าปัญหาอาจขึ้นอีก และที่ผ่านมารัฐไทยเพียงเบี่ยงเบนประเด็น ไม่เคยยอมรับความแตกต่างเลย

ต้นเหตุของปัญหาเป็นเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดความแปลกแยกคือ ปัญหาความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ อย่างเรื่องศาสนา เกิดความไม่ไว้วางใจ เกลียดชังกัน ล้อเลียนกัน อย่างเช่นภาพของผีอิสลามที่เชื่อว่ากลัวหนังหมู, ปัญหาการศึกษาก็มีอิทธิพลต่อการกำหนดชีวิตและความเชื่อ โดยครูมีอิทธิพลมากในการปลูกฝัง และปัญหาการเมืองคือ รัฐบาลไม่ค่อยให้ความสนใจกับประชาชนในพื้นที่มุสลิม เงินหลายแสนล้านบาทถูกนำไปใช้แต่ก็ยังอาจไม่ได้ผล

ทั้งนี้ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อ.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาคือ รัฐต้องยอมรับความจริงมองประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของทั้งสยามและปัตตานี, ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสังคม, ใช้ประโยชน์จากพลังศาสนาให้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา, ให้ข้าราชการเกิดความรู้ความเข้าใจทางความแตกต่าง, ต้องเข้าถึงทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม อย่าเลือกปฎิบัติ, ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ยุติมาตรการความรุนแรงกับประชาชน, ยึดครองพื้นที่ในใจประชาชน สร้างความเชื่อมั่นและไว้ใจ

สรุปแล้ว ทุกวันนี้เรากำลังลืมเหตุการณ์ความรุนแรงของภาคใต้ไป ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาอาจมาจากอคติในความคิดของเราเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น