วันอาทิตย์, กรกฎาคม 11, 2553

มติชนออนไลน์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์: ทิศทางการเมืองไทย นานาทรรศนะวิพากษปฎิรูปประเทศไทย


ภาพ: ประชุมคณะกรรมการปฎิรูปไทย(คปร) ครั้งที่ 1 ที่บ้านพิษณุโลก


"อานันท์"ถกคปร.นัดแรกวางกรอบแผนปฏิรูป เปลี่ยนอะไรดันรบ.ทำทันที "ชทพ."ติงยืด2-3ปีเกรงไม่ทันการณ์

"อานันท์"ยันเลือก"คปร."ไม่ได้ดูที่ ตำแหน่งแต่มองคุณสมบัติ เผยถกนัดแรกวางแนวเขียนแผนปฏิรูป ปัดวางกรอบเวลาทำงาน เผยกฎอะไรเปลี่ยนได้ให้ รบ.ทำทันที "ชทพ."ติงใช้เวลา 2-3 ปี เกรงไม่ทันการณ์

"อานันท์”ปัดเลือกกก.จาก ตำแหน่ง

คณะกรรมการปฎิรูป(คปร.) ที่ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็น ประธานได้ประชุมคณะกรรมการเป็นครั้งแรก เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 9 กรกฎาคม ที่บ้านพิษณุโลก กรุงเทพฯ โดยกรรมการทั้ง 19 คนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขาดเพียง พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ที่ติดกิจนิมนต์ ก่อนเริ่มประชุม นายอานันท์ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าบันทึกภาพการประชุม

ระหว่างนั้น นายอานันท์กล่าวว่า ตามที่สื่อมวลชนบางฉบับนำเสนอรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปโดยอ้างอิงถึงตำแหน่ง หน้าที่นั้น ขอยืนยันว่าการพิจารณาคัดเลือกกรรมการไม่ได้ผูกพันกับตำแหน่ง เช่น กรณี นายชัยอนันต์ สมุทรวณิช มีการระบุตำแหน่งว่าผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ทั้งที่พ้นจากตำแหน่งมา 4-5 ปีแล้ว ที่ตนเลือกเข้ามาเพราะเห็นว่าเป็นนักการศึกษาและพัฒนาระบบราชการ เช่นเดียวกับ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ และนายศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เลือกมาด้วยคุณสมบัตินักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สนใจเพราะเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยไหนมาก่อน

“กรณี อาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล ผมไม่ได้เลือกเพราะท่านเคยเป็นอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สนใจความเคลื่อนไหวในอดีตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งพวกคุณ (สื่อ) ยังไม่เกิด ตอนนั้น ท่านถูกประณามว่าเป็นกลุ่มคนหัวซ้าย เหมือนผมที่เคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน” นายอานันท์กล่าวและว่า บุคคลที่ตนเลือกมาเป็นกรรมการทุกคนเลือกจากประสบการณ์ อย่าไปยึดติดกับตำแหน่ง ถ้ารายงานข่าวอย่างนั้นก็ไม่ได้เรื่อง ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าความหลากหลายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามเมื่อกรรมการมี 19 คนย่อมมี 19 ความเห็นตนจะประสานความเห็นและทิศทางให้ใกล้เคียงกันต่อไป

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

เชิญ"หมอประเวศ"ร่วมถก

นายอานันท์ กล่าวว่า การประชุมนัดแรกจะหารือเรื่องกรอบการทำงาน และจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการก่อนหลัง หากเรื่องไหนมีความเร่งด่วนจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาโดยอาศัยอำนาจทางบริหาร และงบประมาณ ส่วนระยะยาวอาจต้องใช้เวลาศึกษา โดยอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญมาคุย หรือทำวิจัยเพิ่มเติม โดยประสานงานกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.)ที่มีนพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน

ต่อมาในเวลา 14.30 น. นพ.ประเวศ เดินทางมารว่มประชุมตามคำเชิญของนายอานันท์ ทั้งนี้นพ.ประเวศให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาวิจารณ์คณะกรรมการ ทั้ง 2 ชุดว่ามีจุดยืนเดียวกับรัฐบาลว่า “ไม่เป็นไรปล่อยให้เขาวิจารณ์กันไป”

ชี้"ปฎิรูป"เวลาไม่ใช่เรื่องใหญ่

ต่อมาเวลา 17.45 น.นายอานันท์ ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมว่า เป็นการอภิปรายทั่วไป เพราะประชุมครั้งแรก โดยเชิญ นพ.ประเวศ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการการปฏิรูปมาชี้แจงที่ประชุมให้ทราบว่ามีความคิด เห็นอย่างไร และคสป.ของ นพ.ประเวศคิดอย่างไร มีภาระหน้าที่และแผนงานใดที่จะประสานงานกับคณะกรรมการของตน

"คณะกรรมการชุดผมคุยเรื่องทั่วไปเพื่อนำไปสู่การ เขียนแผนการทำงานในเรื่องการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ไม่มีวันเสร็จสิ้น ในทุกประเทศก็ปฏิรูปกันอยู่เรื่อยๆ เช่น การศึกษา ระบบราชการ ดังนั้นการทำงานในเรื่องการปฏิรูปอาจจะมีอายุ 3 ปี 5 ปี หรือ 20 ปีก็ได้ เรื่องเวลาไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ต้องรู้ว่าจะปฏิรูปอะไร หากระเบียบวาระกว้างไปก็สำเร็จได้ยาก ถ้าแคบไปก็จะไม่สอดรับกับการปฏิรูป"นายอานันท์กล่าวและว่าเราต้องให้คนนอก ทราบว่า เรามีภารกิจใดบ้าง สิ่งหนึ่งคือเราไม่มีอำนาจในการบริหารจึงไม่สามารถล้วงลูกแก้ปัญหาปัจจุบัน ของชาวบ้านได้ทันที แต่มีช่องทางในการส่งเรื่องให้รัฐบาลผู้มีอำนาจดำเนินการเร่งด่วน ในฐานะประธานอาจช่วยเหลือได้หากเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องความเหลื่อมล้ำและ ความไม่ยุติธรรมจะเสนอให้รัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหจะกระตุ้นรัฐบาล

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

เผยกฎอะไรเปลี่ยนได้ให้รบ.ทำทันที

นายอานันท์ กล่าวว่า คณะกรรมการมีภารกิจระยะกลางและระยะยาว ส่วนระยะสั้นหากมีอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ปรับแก้กฎกระทรวง จัดงบประมาณรูปแบบใหม่ ถ้าอยู่ในอำนาจพื้นฐานของรัฐบาล เราก็สามารถทำได้ทันที แต่ถ้าเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงต้องมีกระบวนการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม หรือต้องนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภาก็ต้องนำเข้าสภาต้องใช้เวลา

"ส่วนกรอบการทำงานว่าเรื่องใดต้องทำก่อนหรือทำหลังนั้น คงต้องประชุมอีก 2 ครั้ง เรื่องแผนการทำงานไม่รีบ ขอให้กรรมการทุกคนได้พูดทุกเรื่องโดยไม่มีขอบเขตไม่มีข้อจำกัด เมื่อมีแผนงานระเบียบวาระแน่นอนจึงค่อยกำหนดให้ชัดเจน โดยสัปดาห์หน้าจะมีประชุมในวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม และวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม เวลา 13.30 น. เนื่องจากกรรมการหลายคนยังคงติดภารกิจเดิมอยู่ จากนั้นในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจึงจะประชุมทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีใน เวลาเดียวกันทุกสัปดาห์" นายอานันท์ กล่าว

กก.ไม่มั่นใจผลปฎิบัติได้จริง

นางสมปอง เวียงจันทร์ หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ยังไม่มั่นใจในคณะกรรมการชุดนี้ แต่เห็นว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่จะให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก แต่ในภาคปฏิบัติจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้นไม่รู้ และข้อมูลที่เรานำเสนอคณะกรรมการจะรับฟังหรือไม่นั้นตนก็ไม่ทราบ แต่ได้พยายามพูดให้คณะกรรมการเห็นปัญหาของคนจนและพยายามนำปัญหาของคนจนเข้า สู่เวทีการปฏิรูป ส่วนเรื่องกรอบการทำงานในวันนี้ยังไม่มีเป็นรูปธรรมว่าจะทำงานกันอย่างไร

โดน"คกป."แสดงละครล้อเลียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ คปร.จะเริ่มประชุม ปรากฎว่าเมื่อเวลา 13.30 น. กลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) ประมาณ 10 คน มาแสดงละครล้อเลียนการเมือง ที่บริเวณหน้าบ้านพิษรุโลก พร้อมถือป้ายระบุข้อความว่า "ไม่ขอปรองดองกับฆาตกร" "เสียดายคนตายไม่ได้ปฏิรูป" และ "ตาย 90 ศพ พวกคุณไม่แคร์" และมีนายวรรณเกียรติ ชูสวัสดิ์ ผู้ประสานงาน คกป. อ่านคำแถลงการณ์เรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย อำมหิตไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี"

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

โดยระบุว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินหน้าแผน "ปรองดอง" โดยกำหนดให้การปฏิรูปประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผน โดยแต่งตั้งนายอานันท์ เป็นประธานคปร.และนพ.ประเวศ เป็นประธานคสป. นั้น ในนามของเครือข่ายคกป. มีความเห็นต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองชุดข้างต้นดังนี้คือ

แถลงการณ์ซัดรบ.ซื้อเวลา
1.เห็น ว่าการปฏิรูปประเทศไทยเป็นเพียงการซื้อเวลาของรัฐบาล เพื่อจะไม่คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้เบี่ยงเบนประเด็นความสนใจของสังคมต่อข้อเรียก ร้องที่ให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตและ ผู้สูญหายนับร้อยราย และผู้บาดเจ็บพิการนับพันรายจากการที่รัฐบาลสั่ง "กระชับพื้นที่" ดังนั้นการเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะไม่แสดงความรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรงและใช้ อำนาจรัฐอย่างไร้ความเป็นธรรม การกระทำดังกล่าวย่อมนับเป็นความอำมหิตแบบหนึ่ง
2.ขณะที่ประชาชนกำลังให้ ความสนใจและตั้งคำถามถึงความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย แต่ที่มาของคณะกรรมการทั้งสองชุดข้างต้นกลับสวนทางกับหลักการประชาธิปไตยโดย สิ้นเชิง ใช้วิธีการแต่งตั้งจากบนลงล่างมาโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะที่กลุ่มเครือข่ายคกป. กำลังอ่านคำแถลงการณ์ นายอานันท์ ลงจากรถเพื่อเดินเข้าไปภายในบ้านพิษณุโลก เนื่องจากจราจรติดขัดอย่างหนักที่บริเวณหน้าบ้านพิษณุโลก และต่อมานายอานันท์ได้ขึ้นรถภายในบ้านพิษณุโลกเพื่อเดินทางเข้าไปประชุมร่วม กับ คปร.

"ชทพ.ชี้กรอบ 2-3 ปีเกรงไม่ทันการ

ที่พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา แถลงถึงกรณีการเปิดตัวของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการชุดต่างๆ ว่า ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมการอิสระจะทำงานประสบความ สำเร็จหรือไม่ แต่มีเสียงจากประชาชนว่าไม่คาดหวังกับการทำงานของคณะกรรมการชุดต่างๆมากนัก เพราะกรอบเวลาการทำงานคือ 2-3 ปี จึงไม่น่าแก้ปัญหาได้ทัน พรรคจึงเสนอว่าหากคณะกรรมการมีอะไรเป็นรูปธรรมรีบแถลงให้ประชาชนทราบเป็น ระยะไม่จำเป็นจะต้องตั้งเงื่อนไขว่าจะแถลงทุก 6 เดือน


ที่มา: มติชนออนไลน์
วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 10:37:59 น.
------------------------------------------------------

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์
ทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย หลังเมษา-พฤษภาอำมหิต

โดย เกษียร เตชะพีระ
(ปรับปรุงเรียบเรียงจากคำบรรยายบางตอนของผู้เขียนในโครงการอบรมหลักสูตร ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนนี้)

เพื่อสะดวกแก่การติดตาม ผมใคร่ขอสรุปประเด็นทิศทางการเมืองไทยหลังเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตในชั้น ต้นเป็น [4 แนวรบ-2 สุดโต่ง-2 แนวโน้ม]

4 แนวรบของการต่อสู้ขัดแย้ง ได้แก่ 1.รัฐสภา - 2.ท้องถนน - 3.สู้ด้วยความรุนแรง - 4.เครือข่ายอำนาจในกองทัพ-ราชการ

ดังได้ตั้งข้อสังเกตแล้วว่าในชั้นหลังนี้เส้นแบ่งระหว่างรูปแบบการ ต่อสู้ [การชุมนุมประท้วงบนท้องถนนโดยสันติ] กับ [การต่อสู้ด้วยความรุนแรงระดับต่างๆ] คลุมเครือรางเลือนลงในขบวนการทุกสีทุกฝ่าย ผลจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตน่าจะทำให้รูปแบบการต่อสู้ชุมนุมประท้วงบน ท้องถนนฝ่อลงไป ทั้งเพราะความเป็นจริงที่ถูกทางการล้อมปราบและป้องปรามด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเพราะพลังการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเองอาจเสื่อมศรัทธาในวิถีทางชุมนุม ประท้วงโดยสันติว่าจะปลอดภัยและนำไปสู่ชัยชนะได้จริงหรือ

ในทางกลับกัน รูปแบบการต่อสู้ด้วยความรุนแรงดูจะเด่นขึ้นมาและมีแนวโน้มจะลงใต้ดินใน ลักษณะก่อการร้ายหรือวินาศกรรม แต่ทั้งนี้การต่อสู้ในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ โดยเฉพาะปัญหาการจัดตั้ง, การนำ, การเงิน, และความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและอาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องยากที่จะก่อตัวจัดหาฝึกฝนอบรมได้อย่างเป็นระบบและต้องใช้เวลา

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

ทว่ายิ่งทางราชการเก็บกดปิดกั้นพลังฝ่ายค้านไม่ให้ต่อสู้แสดงออกทาง การเมืองอย่างสันติตามกฎหมายเช่นที่เกิดกับกิจกรรม "I saw dead people! 19 MAY 10" ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงที่ราชประสงค์เมื่อเสาร์ที่ 26 มิถุนายนนี้ โดยใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนำหมายจับ ศอฉ. เข้าจับกุมนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานกลุ่มแล้ว, แนวโน้มที่จะเกิดกรณีมือสมัครเล่นแสวงเครื่องทำเองอย่างเหตุวางระเบิดข้าง ที่ทำการพรรคภูมิใจไทยก็อาจมีมากขึ้น

ซึ่งจะยิ่งควบคุมป้องกันยากเพราะเป็นเรื่องกลุ่มย่อยๆ ริเริ่มเองอย่างกระจัดกระจายไร้การจัดตั้ง

สำหรับรูปแบบการต่อสู้ทางรัฐสภาก็หวังให้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาความขัด แย้งเฉพาะหน้านี้ได้ยากเพราะแบ่งข้างแยกขั้วรุนแรงเกินไป จนไม่อาจแสวงหาฉันทามติผ่านการประนีประนอม ทำให้รัฐสภาเดินหน้าแก้ปัญหาอันใดไม่ได้ ตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพ-ชะงักงันทางการเมืองที่เสียงข้างมากไม่มีอำนาจนำที่จะ ชักดึงให้เสียงข้างน้อยยอมตามโดยไม่ต้องบังคับขืนใจ แต่เสียงข้างน้อยก็ไม่สามารถสร้างอำนาจนำทางเลือกขึ้นมาทดแทน ได้แต่ยกมือประท้วง เตะถ่วง เสนอนับองค์ประชุม วอล์กเอ๊าต์ บอยคอต ฯลฯ ไปเรื่อยๆ

ส่วนเครือข่ายเส้นสายอำนาจฝ่ายค้านในกองทัพและระบบราชการ หรือที่เรียกกันว่า "ทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ" นั้นก็ดูอ่อนเปลี้ยลง ไม่มีบทบาทเด่นชัดและคงยากจะฟื้นตัว

แต่นี่มิได้หมายความว่าจะปลอดความขัดแย้ง

ในสภาพที่กระแสการเข้าร่วมพัวพันมีส่วนได้เสียกับอำนาจการเมืองและ การแบ่งแยกฝักฝ่าย (politicization & factionalization) ในกองทัพและระบบราชการยิ่งถลำลึกเช่นนี้ ความตึงเครียดขัดแย้งกันเองระหว่างทหาร-ข้าราชการฝักใฝ่การเมืองกลุ่มฝ่าย ต่างๆ รวมทั้งกับทหาร-ข้าราชการอาชีพย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

การที่แนวรบ/เวทีการต่อสู้แสดงออกทางการเมืองด้านต่างๆ ฝ่อตีบชะงักงันชั่วคราวทำให้ดูเหมือนว่าความขัดแย้งตึงเครียดที่ปะทุระเบิด ขึ้นอย่างรุนแรงนองเลือดก่อนหน้านี้พลันมลายสูญไป แต่เอาเข้าจริงบาดแผลใจกลางสังคมไทยที่กว้าง, ลึกและเจ็บช้ำสาหัสอย่างไม่เคยมีมาก่อนขนาดนั้นย่อมมิอาจปัดเป่าพ้วงหายไป ได้เพียงด้วยลมปากโฆษณาปรองดองสมานฉันท์ซึ่งกระจายขยายเสียงผูกขาดช่องทาง สื่อสารมวลชนเกลื่อนกลบสำเนียงเสียงอื่น น่าจะเป็นไปได้มากกว่าว่ามันอยู่ในสภาพเก็บกด-ซึมลึก รอวันเวลาและเวทีที่จะระบายออก เหมือนภาวะอากาศนิ่งลมสงบก่อนพายุฝนใหญ่

ดังที่มันไปผุดโผล่ให้เห็นในภาพ "ป้ายหลังสามล้อไทย" ซึ่งมีผู้นำมาโพสต์ไว้ใน Facebook เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนนี้ (ก่อนที่ลิงก์เคาะตามดูที่มาของภาพจะถูกบล็อคโดย w3.mict.go.th !?!)

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

(ข้อความใน "ป้ายหลังสามล้อไทย" มีว่า: -
ถ้าคุณเป็นคนไทยจริง คุณจะต้องรู้จักคำว่าเสียสละ
ถ้าคุณเป็นชาวพุทธจริง คุณจะต้องรู้จักคำว่า "เขตอภัยทาน"
ถ้าคุณจบจากอังกฤษจริง คุณต้องรู้จักคำว่า เดโมเครซี่ หรือคำว่าสปิริต
ถ้าคุณคิดว่าคุณเป็นผู้นำประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยจริง คุณต้องรู้จักคำว่า "ยุบสภา" หรือลาออก)

ผลด้านกลับอย่างหนึ่งท่ามกลางภาวะแนวรบ/เวทีต่อสู้ทางการเมืองฝ่อตีบ ชะงักงันนี้ คือแนวคิดสุดโต่ง 2 กระแส ได้แก่ [กระแสสุดโต่ง-ปราบแหลก คุมเข้มสิทธิเสรีภาพ] กับ [กระแสสุดโต่ง-ลงใต้ดินสู้ด้วยความรุนแรง] ต่างเสียงดังมีน้ำหนักขึ้นด้วยกันทั้งคู่

เพราะทั้ง [ปฏิบัติการล้อมปราบ] และ [การก่อการร้ายเผาเมือง] ในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต ต่างก็เป็นข้อถกเถียงที่มีพลังที่สุดซึ่งคู่ขัดแย้งต่างฝ่ายต่างสำแดงให้ ฝ่ายตรงข้ามเห็นอย่างเป็นรูปธรรม - ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไร้เจตนา - ว่า: -

"การต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติวิธีนั้นเปล่าประโยชน์ และการใช้ความรุนแรงกลายเป็นสิ่งจำเป็น"

และในทางกลับกัน "ไม่อาจปรองดองรอมชอมใดๆ กับพลังฝ่ายค้านทางการเมืองได้ หากต้องตามล่าตามล้างขุดรากถอนโคนมันให้ราบคาบสิ้นซากโดยเร็วที่สุดทุกวิถี ทาง"

ยิ่งต่างฝ่ายต่างเชื่อตามแนวคิดข้างต้นนี้ - ต่างฝ่ายต่างทำตามความเชื่อที่ว่านี้ - แนวคิดดังกล่าวก็จะยิ่งโน้มเอียงปรากฏเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ (สกรรมสภาวะ transitive reality หรือนัยหนึ่งความจริงที่เกิดขึ้นเพราะ เชื่อ "ทำ" จริง) ความคิดสุดโต่ง 2 กระแสจึงรังแต่จะยิ่งนำไปสู่แนวโน้ม 2 อย่าง กล่าวคือ: -

1) แนวโน้มอำนาจนิยมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายสีไหนก็ตาม พอกุมอำนาจรัฐเข้าแล้ว ก็จะยิ่งหันไปใช้อำนาจพิเศษเล่นงานฝ่ายตรงข้ามและจำกัดควบคุมผู้คนพลเมือง ด้วยมาตรการลิดรอนสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร, ข้อหาก่อการร้ายในกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่กำลังจะออกตามมา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญหมดความหมาย ทางปฏิบัติลงไปทุกที, ทำให้เมืองไทยเข้าใกล้พม่า และภาคอื่นทุกภาคเข้าใกล้สภาพ "ภาวะฉุกเฉินตลอดกาลนาน" ของชายแดนภาคใต้เข้าไปทุกขณะ

2) แนวโน้มอนาธิปไตยของฝ่ายค้านนอกสภา ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายสีไหนก็ตาม พออำนาจรัฐตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามเข้า ก็พร้อมจะต่อสู้ในลักษณะที่ไม่ยอมจำกัดตัวอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์กติกาของสถาบัน การเมืองปกติมากขึ้นทุกที ขอแต่บรรลุเป้าหมายในการโค่นฝ่ายตรงข้ามลงจากอำนาจรัฐได้ ก็ยินดีทำทุกอย่างโดยไม่เลือกวิธีการ

ในทางปฏิบัตินี่คือการปฏิเสธระเบียบการเมืองดังที่เป็นอยู่ (เพราะขืนเล่นเกมการเมืองกันภายใต้ระเบียบนั้น ฝ่ายตนก็แพ้) ทว่า ก็ไม่สามารถนำเสนอระเบียบการเมืองใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนระเบียบเดิมได้อย่าง เด่นถนัดชัดเจน เนื่องจากขอบฟ้าจินตนาการทางการเมืองของโลกและของไทยเป็นพรมแดนกำกับ-จำกัด อยู่ ทำให้การต่อสู้มีลักษณะทำลายระเบียบเก่าลงแบบอนาธิปไตยมากกว่าจะสามารถสร้าง สรรค์สิ่งใหม่ขึ้นแทนอย่างเป็นระบบ

ท่ามกลางกระแส 2 สุดโต่งและ 2 แนวโน้มที่น่าวิตก คำพูดที่ทรงคุณค่าที่สุดและน่านับถือน้ำใจที่สุดที่บุคคลคนหนึ่งพึงกล่าวได้ เพื่อเตือนสติสังคมไทยให้ฉุกคิดและเลือกทางใหม่ก่อนจะสายเกินการณ์กลับไม่ ได้มาจากคณะกรรมการปรองดองหรือปฏิรูปใดๆ ที่รัฐบาลปั้นแต่งขึ้น หากมาจากผู้ถูก ศอฉ. คุมขังซึ่งฝากบอกจากที่ควบคุมตัว ณ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 คลอง 5 ปทุมธานีมาว่า:

จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์

การคิด ความเชื่อ
การแสดงออกโดยสันติ
ไม่ผิด
เพียงเราเกิดผิดยุค
ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนยุคสมัยของเราให้มีความเป็นธรรม


ที่มา: มติชนออนไลน์
วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 20:00:00 น.
----------------------------------------------------

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"ดรนันทวัฒน์"วิพากษ์ ปฏิรูปประเทศไทย

"ดร.นันทวัฒน์"วิพากษ์ ปฏิรูปประเทศไทยต้องยึดมั่นสิทธิเสรีภาพ ปฎิบัติมาตรฐานเดียว ควรปฏิรูปรัฐบาลด้วย

แล้วที่สุดเว็บไซต์กฎหมายมหาชน www.pub-law.net ได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง ล่าสุดในบทบรรณาธิการที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ได้หยิบประเด็นเรื่องการปฎิรูปประเทศไทยมาวิพากษ์วิจารณ์ อย่างแหลมคม " มติชนออนไลน์" เห็นว่า บทบรรณาธิการ ดังกล่าวมีสาระน่าสนใจ จึงนำมาเสนอดังนี้

บรรณาธิการเว็บไซต์กฎหมายมหาชน เปิดประเด็นว่า "หลังจากที่ www.pub-law.net ของเรา “มีปัญหา” ไม่สามารถให้บริการในรูปแบบเดิมเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ในวันนี้ เรากลับมาใหม่อย่างเต็มรูปแบบแล้ว และก็จะพยายามรักษาคุณภาพของเราไว้ให้ดีเช่นเดิมตลอดไปครับ "

@ประชาธิปไตยของไทยอยู่ในสภาวะ ลุ่มๆ ดอนๆ

ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 163 ที่เผยแพร่ไปในระหว่างวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2550 ผมได้เขียนถึง “75 ปีประชาธิปไตยไทย” เอาไว้ สรุปความได้ว่า แม้เวลาจะผ่านไปถึง 75 ปีแล้วก็ตาม แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยก็ยังอยู่ในสภาวะ “ลุ่มๆ ดอนๆ” เนื่องมาจากคนไทยยัง “ขาดความ เข้าใจ” และ “ไม่คุ้นเคย” กับระบอบประชาธิปไตยที่ถูกคณะราษฎร “ยัดเยียด” ให้ในขณะนั้น การขาดความเข้าใจและความไม่คุ้นเคยกับระบอบประชาธิปไตยจึงอยู่คู่กับสังคม ไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ตามความเข้าใจของผมนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ขาดการเตรียมพร้อมในส่วนที่สำคัญไปส่วนหนึ่งคือ “การ สร้างแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” ให้กับประชาชน จริงอยู่ที่แม้มาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกคือฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่บัญญัติไว้ว่า “เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณา เขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งและอย่างช้าต้องไม่ เกิน 10 ปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้ง สิ้น...”

มุ่งหวังที่จะให้คนไทยมีการศึกษาที่สูงขึ้นภายใน 10 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อที่จะยกระดับความรู้ความเข้าใจในระบอบ ประชาธิปไตยให้ดีขึ้น แต่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2519 กลับตอกย้ำให้เห็นว่า แม้เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี คนไทยก็ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย โดยคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กล่าวถึงการขาดความรู้ความเข้าใจใน ระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ว่า

“…แต่เท่าที่ผ่านมาสี่สิบปีเศษ การปกครองในระบอบนี้ก็ยังไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของประชาชนเพราะมิได้มีโครง สร้างที่จะต้องพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2517 มีอุปสรรคขัดข้องจนไม่อาจปฏิบัติให้เป็นไปโดยเรียบร้อยได้ ทั้งตัวบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศก็ มิได้เคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นด้วยประการต่าง ๆ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของชาติบ้านเมือง เป็นเหตุให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา และมีท่าทีว่าชาติบ้านเมืองจะถึงซึ่งความวิบัติ จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องกอบกู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูป การปกครองแผ่นดินให้เหมาะสม โดยจัดให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ”

@แผนพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 12 ปี

ดังนั้นจึงมีการกำหนดระยะเวลาในการพัฒนาการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ยาวนานถึง 12 ปีคือ

“ในระยะสี่ปีแรกเป็นระยะฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในระยะนี้สมควรให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินโดยทางสภาปฏิรูปการ ปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะเดียวกันก็จะเร่งเร้าให้ประชาชนเกิดความสนใจและตระหนักในหน้าที่ของตน

ในระยะสี่ปีที่สอง สมควรเป็นระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น โดยจัดให้มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ทั้งสองสภานี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่าเทียม กัน

ในระยะสี่ปีที่สาม สมควรขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้น และลดอำนาจของวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้ ต่อจากนั้นไปถ้าราษฎรตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อชาติ บ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีแล้ว ก็อาจยกเลิกวุฒิสภาให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร”

@ ผ่านไป 78 ปี ไปไม่ไกลจาก 2475 เท่าไรนัก ?

ปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไป 78 ปีแล้วก็ตาม แต่สภาพความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยของเราก็ยังไปไม่ไกลจากปี พ.ศ. 2475 เท่าไรนักทั้ง ๆ ที่ “จำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่า ครึ่ง” ไปตั้งนานแล้ว ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองหลายครั้งว่าทำไมเราจึงไม่ “ยอมรับ” และไม่ “ยอมเข้าใจ” การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในแบบที่ประเทศต่าง ๆ เขายอมรับกันแต่ก็ไม่เคยได้คำตอบจากตัวเองสักทีครับ

ลองมองดูสังคมไทยที่เราพูดกันอยู่บ่อยครั้งว่า เป็นสังคมของประชาธิปไตย เป็นสังคมที่เป็นนิติรัฐ กันบ้างว่า สังคมที่ว่านี้มีพัฒนาการมาอย่างไรในรอบ 78 ปีที่ผ่านมา คงพอมองเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ ชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น เดิมในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นอกเหนือไปจากกษัตริย์และราชวงศ์แล้ว “ขุนนาง” เป็นกลุ่มบุคคลที่มีสถานะทางสังคมและมีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศ

แต่ต่อมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทหารเข้ามามีบทบาทสูงเพราะเป็น “ผู้สนับสนุน” คณะราษฎรให้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนสำเร็จ จากนั้นก็เกิดนักการเมืองขึ้น ในเวลาต่อมา ทหาร ข้าราชการ นักการเมืองและนักธุรกิจก็กลายเป็นกลุ่มใหม่ที่ผลัดกันเข้ามามีอำนาจ มีอิทธิพลและมีบทบาทในการปกครองประเทศ การปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งเกิดจากนักการเมืองมีปัญหา กับข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “ผลประโยชน์” ทหารซึ่งเข้าใจว่าตนเองเป็น “ผู้พิทักษ์ประเทศไทย” ก็เข้ามา “แก้ไข” ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปกครองประเทศด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร

@ ทหารเองก็ “ติดกับ” วังวนเรื่องผลประโยชน์

ซึ่งต่อมาทหารเองก็ “ติด กับ” วังวนเรื่องผลประโยชน์ สังเกตได้จากการยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารและมาจากการรัฐประหาร 2 คน ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ สามารถหาอ่านได้ตามหนังสือต่าง ๆ มากมาย เป็นข้อมูลที่ทำให้เราได้ทราบว่า ไม่มีใคร “จริง ใจ” กับประเทศเราเท่าไรนัก ใครที่เข้ามามีอำนาจก็จ้องที่จะ “ฉกฉวย” ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ต่อมาในระยะหลังก็มีคนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่มองการณ์ไกลมากและเป็นกลุ่มที่ “ได้ประโยชน์” จากการ “สนับสนุน” ทหาร ข้าราชการและนักการเมืองให้เข้าสู่อำนาจ คนกลุ่มใหม่นี้สามารถเปลี่ยนฐานะของตนได้อย่างรวดเร็วมากจนไม่น่าเชื่อว่า ภายในชั่วอายุคนทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ มีชื่อเสียง เกียรติยศ ความร่ำรวยและสถานะทางสังคม

ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมาจึงเกิด “เศรษฐีใหม่” ขึ้นในสังคมจำนวนมาก และหากศึกษาให้ลึกไปกว่านั้นก็จะพบว่า เศรษฐีใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน เพราะเศรษฐีใหม่ “รุ่นเก่า” เป็นตัวอย่างให้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า หากเรา “เลือก” ที่จะให้การ “สนับ สนุน” คนที่ถูกต้อง คน ๆ นั้นก็จะนำมาซึ่ง ชื่อเสียง เกียรติยศ ความร่ำรวยและสถานะทางสังคมในวันข้างหน้า ด้วยเหตุนี้เองที่ในปัจจุบัน หากเราเข้าไปในสถานที่ ๆ ประกอบด้วยคนเหล่านี้ เราก็จะรู้สึกคล้าย ๆ กันก็คือ หลุดไปอยู่อีกภพหนึ่ง เป็นภพของคนที่ “มีอำนาจ” เป็นภพที่ทุกคนดูดี แต่งตัวดี ใช้ของดี ๆ ขับรถดี ๆ โดยไม่มีใครสักคนสงสัยว่า “ทรัพย์สินนี้ท่านได้แต่ใด มา”

@ ชาวบ้านเป็นแค่ "เครื่องมือ" ของเศรษฐีใหม่

ในขณะที่สังคมเมืองหลวงเต็มไปด้วยเศรษฐีใหม่และคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามากุม อำนาจ คนในชนบทก็ยังคงย่ำอยู่กับที่ คนจนก็ยังคงจนอยู่ ที่ดีขึ้นมาหน่อยก็คือคนชนบทซึ่งมีฐานะดีที่ต่างก็พากันขยับตัวขึ้นมาเป็น นักการเมืองท้องถิ่นเพื่อที่จะสร้างฐานอำนาจเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้า สู่ความเป็นนักการเมืองระดับชาติในวันข้างหน้า ส่วนชาวบ้านก็เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่จะทำให้คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จดังที่ได้วางแผนเอาไว้

78 ปีที่ผ่านมาเกิดช่องว่างระหว่างคนกรุงเทพฯ และคนชนบทมาก แม้การสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยจะยังมีอยู่อย่างต่อ เนื่อง แต่ในขณะเดียวกันการทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยนักการเมืองทั้งระดับชาติและ ระดับท้องถิ่นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ด้วยวิธีการที่จะทำให้ตัวเองชนะเลือกตั้งได้เข้าสู่ตำแหน่ง การซื้อสิทธิขายเสียงจึงเกิดขึ้นและขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง เมื่อเกิดปัญหาจากนักการเมือง คนชนบทก็จะถูก “ลงโทษ” ว่าเพราะการขายเสียงจึงทำให้นักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบโดยผู้ลง โทษมิได้มองย้อนกลับไปดูเลยว่าผู้ที่ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องนั้นต่างหากที่ เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมที่ผิด ๆ ให้กับคนชนบท

จะว่าไปแล้ว คนชนบทบ้านเรามีความเป็น “ผู้ดี” อยู่มาก ถูกต่อว่า ถูกกล่าวหามาตลอดระยะเวลา 30-40 ปีก็เงียบไม่มีปากไม่มีเสียง ก้มหน้าก้มตาประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวต่อไปอย่างปกติ ด้วยอุปนิสัยนี้เองที่ทำให้คนกลุ่มที่มีอำนาจย่ามใจ ละเลยไม่ให้ความสำคัญกับคนชนบท ช่องว่างระหว่างชนชั้นจึงเกิดขึ้นและขยายออกไปมากขึ้น เมื่อเกิดกรณี “เสื้อแดง” ขึ้นในประเทศไทย จึงทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสภาวะวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง

@ วิกฤติประเทศที่เกิดขึ้น มาจาก “เสื้อแดง” ?

ผมได้ยินข่าวของการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศที่ เกิดขึ้นจากกรณี “เสื้อแดง” แล้วก็ยังไม่มีความชัดเจนนักว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าเราจะ “ปฏิรูปประเทศไทย” กันอีกแล้วแต่ก็ไม่ทราบว่า “จะปฏิรูปกันอย่างไร” ครับ จะเหมือนหรือแตกต่างไปจาก “การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2511 ที่ได้นำเสนอไปแล้วข้างต้นหรือไม่ อย่างไร เพราะถ้าเหมือนหรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน ก็เป็นที่น่าเสียใจมากว่า 40 ปีเศษที่ผ่านมา เราไม่ได้มีพัฒนาการในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเลยครับ!!!

ในความเห็นผมนั้น การปฏิรูปประเทศไทยที่ถูกต้องและควรเป็นคงไม่ใช่การปฏิรูปประเทศไทยด้วยการ แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือด้วยการหาทางปรองดอง แต่การปฏิรูปประเทศไทยควรเริ่มต้นจากการทำให้สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ของคนไทยทุกคนอยู่ในสภาพที่เท่าเทียมก่อน

หากเรามองย้อนไปในอดีตทั้งของประเทศไทยและของหลาย ๆ ประเทศ ความวุ่นวายในประเทศส่วนหนึ่งเกิดจากการแบ่งชนชั้นที่ชัดเจนและเกิดการ เปรียบเทียบ การเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนชั้น หากสภาพสังคมไทยเป็นไปดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็คงต้องเริ่มจากการทำให้ตัวแทนประชาชนทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นรู้ บทบาท หน้าที่และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน

ต่อมา คงต้องทำการ “ปล่อย” คนชนบทหลังจากที่สภาพสังคมของเรา “กด” คนเหล่านี้ไว้เสียนาน ต้องเพิ่มพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศให้กับคนชนบทให้มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องเรียนรู้ที่จะ “ดูแล” คนจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันด้วย โดยมีจุดสำคัญคือ ต้องทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นปกติ มิเช่นนั้นก็จะเหมือนทุก ๆ ครั้งที่มีปัญหาขึ้นในประเทศที่ผู้มีอำนาจพยายามหาทาง “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” ให้จบไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่นาน ปัญหาเหล่านั้นก็วนกลับมาอีกเพราะไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างถาวร ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำในสังคม” ที่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การค้าขาย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

@สองมาตรฐานแพร่หลายออกไปไกลมาก เกินกว่าที่จะหยุดยั้งได้แล้ว

ส่วนเรื่องสองมาตรฐานที่กล่าวอ้างอยู่เสมอ ๆ นั้นควรเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่สำคัญของระบบราชการของไทยที่ทุกหน่วยงานควรที่จะต้องนำกลับไปทบทวนดูว่า จะหาทางแก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างไร วันนี้ คำว่าสองมาตรฐานแพร่หลายออกไปไกลมากเกินกว่าที่จะหยุดยั้งได้แล้ว การแก้ไขคงไม่สามารถทำได้ด้วย “การปรองดอง” แต่จะต้องมีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐานนั้นอยู่ในระหว่างการดำเนินการอย่างไร มีขั้นตอนที่จะต้องทำต่อไปอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร และจะจบเมื่อใด และทำไมถึงได้ถูกนำมากล่าวหาว่าสองมาตรฐาน เรื่องสองมาตรฐานนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ข้อขัดแย้งในสังคมลดน้อย ลงครับ

การปฏิรูปประเทศไทยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้อง ทำก็คือปฏิรูปความคิดของนักการเมืองและพรรคการเมืองเพื่อให้คนเหล่านี้เข้า มาทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง หยุดละโมบทั้งอำนาจ ทรัพย์สินเงินทอง เข้าใจถึงภารกิจและหน้าที่ที่ถูกต้องของตน หากนักการเมืองดี ประเทศชาติและประชาชนก็ดีตามไปด้วย หากนักการเมืองให้ความสนใจกับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ช่วยกันผลิตกฎหมายออกมาเพื่อดูแลคุ้มครองคนชนบทให้มากขึ้น วันหนึ่งความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะหมดลงไปเช่นเดียวกันครับ

การปฏิรูปประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 จึงต้องเป็นการปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญคือ การทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองครับ

@ ต้อง “ปฏิรูปรัฐบาล” ไปพร้อม ๆ กันด้วย

การปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่ ใช่การตั้งคณะกรรมการหรือสมัชชาใด ๆ ขึ้นมาทั้งนั้น แต่การปฏิรูปประเทศคือการ “สั่งการ” ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคนอย่างเท่า เทียมกัน รวมไปถึงการปฏิรูปอีกองค์กรหนึ่งที่ผมยังไม่ได้ยิน “เสียง” ใด ๆ จากผู้มีอำนาจในขณะนี้กล่าวถึงเลยคือ ต้อง “ปฏิรูปรัฐบาล” ไปพร้อม ๆ กันด้วย ผู้ที่ไม่มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง ผู้ที่มีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส คนเหล่านี้ต้องถูก “ปฏิรูป” ออกไป เหลือไว้แต่คนดี มีความรู้ความสามารถตรงกับงานที่ตนเองรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต และนึกถึงประเทศชาติเป็นหลัก


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออ นไลน์
วันที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 14:23:25 น.
----------------------------------------------------

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ฟันธงเลือกตั้งต้นปีหน้า สูตรผสมหลายพรรค ชี้รัฐไทยอำนาจนิยมชัดๆ


ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เคยเป็นคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มา 6 ปี ล่าสุด นักรัฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ " การปฎิวัติสยาม 2475" ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้เข้ามาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เจ้าตัวบอกว่า "อย่าเรียกผมว่า อรหันต์ ไม่ชอบเลย ไม่ได้อยากจะเป็นด้วย"

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา "ดร.นครินทร์ "ได้รับเชิญไปอภิปรายเรื่อง แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แนวคิดและทัศนะของนักรัฐศาสตร์ผู้นี้น่าสนใจ "มติชน ออนไลน์" จึงนำมาเสนอผู้อ่าน แบบเต็มๆ

@มรดกทางการเมืองจาก 2475 ถึงปฎิวัติใหญ่ 2540

ผมในฐานะที่เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ และนักเรียนประวัติศาสตร์ ต้องเริ่มต้นว่า ประชาธิปไตยไทยและประชาธิปไตยของทุกประเทศ มีความมหัศจรรย์ แม้มีรูปแบบความเป็นมาจากแหล่งใด แต่เมื่อไปเติบโตในสังคมใดสังคมหนึ่ง จะมีเนื้อหาที่คลุกเคล้าไปกับสังคมนั้นเสมอ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องประเมิน มีอยู่ 2 มิติ คือ มิติทางประวัติศาสตร์ กับ มิติทางสังคม

มิติทางประวัติศาสตร์นั้น ประชาธิปไตยไทยในหลายสิบปีทีผ่านมา ไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ แต่มีวิวัฒนาการและจุดพลิกผันอยู่หลายจุด แต่ละจุดมีมรดกตกทอด มาจนถึงปัจจุบัน ในช่วง 25 ปีแรกของประชาธิปไตยไทย มีลักษณะกึ่งประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร มีบทบาทนำ หลายคนบอกว่าเป็นเผด็จการ แต่ผมว่า ไม่ใช่ เพราะมีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ยุคแรกแล้ว

ความจริงในช่วง 25 ปีแรก เรามีนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่สายอีสานหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เตียง ศิริขันธ์ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้ว คนกรุงเทพก็ไม่ควรลืม ไถง สุวรรณทัต จะบอกว่ายุคนี้เป็นเผด็จการ คงไม่ใช่ เพราะมีการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยที่กึ่งผสมผสานระหว่างพลังของสังคมกับพลังของคณะราษฎร ผมเรียกว่า กึ่งประชาธิปไตย ที่คณะราษฎรมีบทบาทนำ ความจริงมีมรดกที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันหลายเรื่อง

ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ทำให้ผมนึกถึงประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังรัฐประหาร 2490 เรามีรัฐบาลคู่ มีนายกรัฐมนตรี 2 คน อยู่ 7-8 เดือน กบฎบวรเดช มีการยิงถล่มกันที่กรุงเทพดอนเมือง หลายเดือน นายทหารชั้นผู้ใหญ่ตายไปหลายคน เรื่องเหล่านี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

นี่ยังไม่พูดเรื่องการเนรเทศ ผู้นำออกนอกประเทศ อย่าลืมว่า นายกรัฐมนตรีคนแรก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี เดือนเดียว แต่พอพ้นตำแหน่งต้องไปอยู่เมืองนอก 14 ปี และสิ้นชีวิตที่ปีนัง มาเลเซีย นี่ยังไม่พูดถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา แม้ไม่ได้ถูกเนรเทศ แต่ก็ถูก อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และหลวงพิบูลย์สงคราม จัดการ

16 ปีถัดมา 2500-2516 เราก้าวเข้ามาสู่ยุคทหารปกครองประเทศจริงๆ เป็นเผด็จการเต็มรูป หรือ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ มรดกของยุคนี้คือ ประกาศคณะปฎิวัติ ธรรมนูญ มาตรา 17 ความจริง คนที่เติบใหญ่ในการเมืองไทยขณะนี้ ต่างได้ประโยชน์จากการพัฒนาประเทศสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ทั้งสิ้น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา ระบบมหาวิทยาลัย และระบบการเกษตรกรรมแบบใหม่ในชนบท คนที่ทำพืชไร เติบโต ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีคำว่า เจ้าพ่อ เกิดขึ้น เจ้าพ่อก็คือ ชาวนาที่ร่ำรวย

@ รัฐบาลผสมไม่ใช่ปัญหาของการเมือง

หลังปี 2516 การเมืองไทย ได้ก้าวไปสู่อีกยุคที่การเมืองไทยมีการแบ่งปันอำนาจกันหลายฝ่าย ถ้าดูรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปี 2540 จะพบว่าเป็นรัฐบาลผสมทั้งหมด อาจเป็นการผสมระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ นักรัฐศาสตร์หลายคน เรียกว่า กึ่งพรรคการเมือง กึ่งข้าราชการ หรือ พลังการตลาด กับ พลังของรัฐ แต่อีกมิติหนึ่ง คือ การผสมกันระหว่างผู้นำในกรุงเทพกับผู้นำในต่างจังหวัด ในปี 2517 -2518 เราเห็นการเติบใหญ่ของผู้นำจากชนบท หลายคนก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี

การก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เราต้องนึกถึงผู้นำจากชนบท ว่า เขาต้องมีที่มีทาง ถ้านับจากคะแนนเสียงจาการเลือกตั้ง คนกรุงเทพ ปกครองประเทศไม่ได้ ถ้าไม่มี ส.ส. จากต่างจังหวัด มาร่วมด้วยช่วยกัน แน่นอนว่า รัฐบาลผสม มีความผันผวน มีการรัฐประหาร แม้ว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่หลังปี 2520 เกิดความวุ่นวายมาก เป็นช่วงเวลาแห่งการแบ่งปันอำนาจของฝ่ายต่างๆ

ช่วงนั้น นักวิชาการ สื่อ นักธุรกิจ ภาคประชาชน ต่าง รังเกียจ ไม่ชอบเลยกับ คำว่า รัฐบาลผสม แต่สำหรับนักการเมือง ไม่มีปัญหาเลยกับรัฐบาลผสม เหตุที่คนไม่ชอบรัฐบาลผสม เพราะเชื่อว่า เป็นรัฐบาลที่ฮั้วกัน ต่างคนต่างมาแบ่งประเทศกินกัน มองแง่ร้ายมาก ทั้งๆ ที่ รัฐบาลผสม เป็นเรื่องที่ท้าทายความรู้ทางรัฐศาสตร์มาก เพราะรัฐบาลในยุโรปทั้งหมดเป็นรัฐบาลผสม แต่เราตอนนั้น ไม่อยากได้รัฐบาลผสม เราอยากได้รัฐบาล 2 พรรค แต่ท้ายที่สุด เราได้รัฐบาลพรรคเดียว

แต่ที่น่าสนใจคือ ปี 2540 สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้การเมืองไทย ต้องเป็นอยู่ทุกวันนี้ หลายคนชอบ หลายคนไม่เข้าใจ นั่นคือ การนำหลักการตรวจสอบ ผมถือว่าหลังปี 2540 ในความเห็นของผม คือ การปฎิวัติใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองจริงๆ เพราะระบบการตรวจสอบ ทำให้การเมืองแบบรัฐสภา ดั้งเดิม ที่เป็นการแบ่งปันอำนาจกันระหว่างหลายฝ่าย เปลี่ยนแปลงไป เพราะมีตัวละครเพิ่มเข้ามา นั่นก็คือ บรรดา องค์กรอิสระต่างๆ มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ

การเปลี่ยนแปลงในปี 2540 เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เรามีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คำถามคือ ใครเป็นคนอนุญาตให้ องค์กรพวกนี้ เข้ามาในการเมืองไทย เราไปเอาเข้ามาได้อย่างไร ความจริง เราต้องสำรวจตัวเองว่า ทำไมเราเอาระบบพวกนี้เข้ามา

ผมยังจำได้ว่า ตอนแรกที่มี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แรกๆ คนก็ไม่เข้าใจว่า ศาลฎีกาของนักการเมือง ทำงานอย่างไร เพราะไม่มีใครอยากทำคดีนักการเมือง ท้ายที่สุด นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ติดคุก และที่สำคัญคือ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องมาขึ้นศาลฎีกาแห่งนี้ หลังปี 2540 เนื้อหาประชาธิปไตยไทยเปลี่ยนไปจริงๆ

@ อย่าเอาระบบคิวซีมาใช้กับร้านขายข้าวแกง

ผมอยากเรียกระบบตรวจสอบที่เกิดขึ้นในปี 2540 ว่าเป็นระบบ คิวซี ผมเชื่อว่า คนไทยทำข้าวแกงมานาน แต่ถ้าเอาระบบคิวซี มาใช้กับร้านขายข้าวแกง ผมกล้ายืนยันว่า ร้านขายข้าวแกง เจ๊ง อยู่ไม่ได้ ไล่มาตั้งแต่การปรุงอาหาร การล้างจาน การกำจัดของเสีย สุขอนามัยต่างๆ เอาระบบคิวซี มาตรวจสอบ ร้านข้าวแกง ไม่ได้ เจ๊งทั้งระบบ แน่ๆ แต่เราก็เอาระบบคิวซี เข้ามาในการเมืองไทย หลายคนยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน วุ่นวายมาก ตรวจสอบกันวุ่นวาย เป็นกติกาที่มัดคอตัวเอง เราเดินมาถึงจุดที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เป็นการตรวจสอบที่ต้องมีลายลักษณ์อักษร ปัญหาหนึ่งก็คือ บ้านเรามีคนเรียนกฎหมายมหาชน น้อยเกินไป ส่วนใหญ่คนเรียนกฎหมายบ้านเราเรียนกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ทำให้สังคมเรามีรากฐานทางกฎหมายมหาชนที่ไม่เข้มแข็ง จนเกิดปัญหาการตีความ การใช้กฎหมายวุ่นวายไปหมด

เรื่องที่สองที่ผมจะกล่าวคือ มิติทางสังคม ประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดในสุญญากาศ แต่มันเกิดในสภาพสังคมใดสังคมหนึ่งเสมอ สังคมไทยมีลักษณะพิเศษมาก เราเป็นสังคมที่ไม่มีการตั้งถิ่นฐานที่ยาวนาน เราเป็นพวกที่ชอบ เคลื่อนไหว นักมนุษยวิทยา บอกว่า คนไทย โมบาย หรือ เคลื่อนที่ตลอด ผมไม่เคยเจอว่า ชุมชนใดที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนาน 700 ปี สังคมไทยมีโครงสร้างการรวมกลุ่ม ตรงกลาง และอุทิศทำงานเพื่อส่วนกลาง น้อยมาก อ่อนแอมาก สะท้อนผ่าน สมาคมต่างๆ หรือ นิติบุคคลอาคารชุด

ทุกคนอยากได้บริการดีๆ แต่ไม่มีใครอยากจ่าย ไม่ใครอยากทำงาน ไม่มีใครอยากเสียสละ คนไทยไม่มีชีวิตตรงกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยจะเคลื่อนโดนกลุ่มคนชั้นนำ เพราะตัวสมาคมไม่ทำงาน สังคมไทยก็เป็นแบบนี้ หากมองผ่าน องค์กรปกครองท้องถิ่นกว่า 7,500 แห่ง ทั้ง อบต. เทศบาล มีการประชุมปีละไม่เกิน 4 ครั้ง เพื่อประชุมผ่านงบประมาณเท่านั้น

นี่คือ ชีวิตการเมืองของไทย ที่มีลักษณะพิเศษ เฉพาะมาก การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด เคลื่อนไหวโดยนักเคลื่อนไหวจริงๆ ไม่มากนัก ชีวิตระดับกลาง ประชาคม ท้องถิ่นก็เหมือนกัน มีแต่รูป ไม่มีเนื้อหา สาระอยู่ภายใน ไม่มีแก่นสาร ไม่มีใครยอมเสียสละ ไม่มีใครอยากทำงาน ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ต้องฝ่าฝัน ต้องบากบั่น สร้างวัฒนธรรม และองค์กรใหม่ อีกมาก

@ สังคมแตกแยก หลากหลาย แต่ต้องศิวิไลซ์

จริงๆ แล้ว สังคมไทยมีความหลากหลายมากกว่าที่เราคิด และแตกแยกมากกว่าที่เราคิด เพียงแต่ว่าคนกรุงเทพมองชนบท ก็มองว่าเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพเดียว แต่ชนชั้นในชนบท ไม่ใช่มีแค่ชาวนารวย ชาวนาจน แต่มีพวกรวยเก่า พวกรวยใหม่ มีกลางบน และกลางล่าง จนแบบไม่มีที่ดินทำกิน ในชนบทมี 5-6 ชนชั้น แต่คนกรุงเทพมองว่า คนชนบท ชาวนาเหมือนกันหมด แต่จริง ๆ มีความแตกต่างกันมาก ยิ่งในเมืองยิ่งแตกต่าง หลากหลาย ฉะนั้นอย่าไปมองว่า สังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ผมไม่ค่อยห่วงจินตภาพตรงนี้ แตกต่างไม่เป็นไร แต่ปัญหาว่า มันศิวิไลซ์ หรือเปล่า ต่างหาก คือความแตกแยกมันต้องอยู่กับความศิวิไลซ์ด้วย สิ่งที่ผมสนใจคือ สังคมที่แตกแยก มันต้องมีความศิวิไลซ์ และต้องมีนวัตกรรม ด้วย เช่น ถ้าเรามีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ผมยืนยันได้ว่า เราจะมีพรรคแรงงงานที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกันถ้าเราไม่มีกลุ่มเกษตรกร ก็จะไม่มีพรรคเกษตร มันเป็นฐานที่ต่อเนื่องกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในทางการเมือง หลายสังคมที่แตกแยก แต่การเมืองนิ่งได้ เพราะสังคมไม่ใช่การเมืองทั้งหมด สังคมไทยมีคน 63-65 ล้านคน แต่คนในการเมืองมีเพียงไม่กี่พันคน แต่ปัญหาที่ผ่านมา การเมือง ไประดมให้คนมาเล่นการเมือง เหมือนเป็นความเชื่อทางศาสนาไปเลย การเมืองเป็นส่วนย่อยที่ต้องพัฒนากฎกติกา ให้ศิวิไลซ์

@ ฟันธงเลือกตั้งต้นปีหน้า สูตรผสมพันธ์ ความจำสั้น

ผมไม่อยากให้คาดหวังว่า รัฐไทยจะศิวิไลซ์ ทำไมเราไมคาดหวังว่า รัฐไทยจะศิวิไลซ์ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่รัฐที่ศิวิไลซ์ มันไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยม มาก่อน เป็นพื้นฐาน ถ้าเราเป็นเสรีนิยมมาก่อนเป็นพื้นฐาน ต้องเป็นแบบแองโกลแซกซอน รัฐไทยโดยธรรมชาติ มีแนวโน้มจะเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม เช่น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้ประกาศคณะปฎิวัติ ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจริงๆ ต้องกวาด ประกาศคณะปฎิวัติออกไปให้หมด จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ศิวิไลซ์ขนาดนั้น

เท่าที่ผมมีข้อมูล เลือกตั้งต้นปีหน้า ผมไม่เชื่อว่า จะเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ก่อนครบเทอม อย่างที่ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์เชื่อ ถ้าแหล่งข่าว ผมไม่ผิด เลือกตั้งต้นปีหน้า ผมเชื่อว่า นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็อยากเป็นสุภาพบุรุษ ยกเว้นว่า มีการระเบิด มีการเผา ก็เลือกตั้งต้นปีหน้าไม่ได้

จริงๆ แล้ว ฝ่ายบริหารที่ดี จะไม่ประกาศยุบสภาล่วงหน้า เหตุผลเพราะ ประกาศยุบสภาแล้ว กลไกจะไม่ทำงาน ทุกอย่างจะหยุดนิ่ง เพราะข้าราชการคาดหวังว่า รัฐบาลจะอยู่ไม่นานแล้ว ฉะนั้น ต้องอย่าบอกวันหมดอายุ ครับ ผมเห็นต่างจากอาจารย์ฐิตินันท์ ผมเห็นว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่กลัวการเลือกตั้ง ผมคุยกับแกนนำพรรคบางคน การเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นสูตรที่ดีที่สุดคือ พรรคการเมืองใหม่ผสมพันธ์กัน เป็นรัฐบาลผสม

สังคมไทยมีความมหัศจรรย์ มีข้อดี อย่างหนึ่งคือ ความจำสั้น อย่าจำอะไรนาน ความจำยาว จะมีความอาฆาตแค้นกันข้ามชั่วรุ่นคน แต่จริงแล้ว คนไทยความจำสั้น เกิดขึ้นเมื่อวานก็ลืมแล้ว เชื่อผมเถอะ แน่นอนว่า ความจำก็ดีอย่างหนึ่ง เหมาะกับคนเรียนประวัติศาสตร์ ถ้าความจำไม่ดี เขียนประวัติศาสตร์ไม่ได้

แต่จำมากไปก็ไม่ดี เพราจะทำให้เราทำงานกับคนรอบข้างไม่ได้เลย ผู้นำไทยก็มีสภาพความจำสั้น ไม่เคยรู้ว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผมจำได้ว่า เหตุการณ์หลัง 6 ตุลาคม 2519 น่ากลัวกว่าครั้งนี้ เช่นเดียวกับกบฎบวรเดช มีการสู้รบกันถึง หินกอง ถึงโคราช กบฎแมนแฮตตันก็น่ากลัวกว่านี้ เราลืมไปหมดแล้ว

ผมว่า ความจำน้อยดีกว่า จะได้ปรองดองกันง่ายๆ


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออ นไลน์
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 15:45:04 น.
-----------------------------------------------------

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ที่มา: คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 11:19:49 น.


ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าความขัดแย้งทางการ เมืองที่พัฒนาเป็นคู่กัดระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น แต่ละฟากมีมวลชนหนุนหลังเป็นจำนวนมากและก้ำกึ่งกัน คือระหว่าง 3-4 ล้านคน (งานวิจัยของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ) หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศ 2 กลุ่มรวมกันก็เป็นร้อยละ 20

แต่ละฟาก ระดมมวลชนโดยชูประเด็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการ เมือง

ฟากเหลืองชูประเด็นปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การเมืองจริยธรรมที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น การเมืองที่คนชั้นกลางมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย

ฟากแดงเรียกร้อง ประชาธิปไตยภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง ความเป็นธรรมในสังคม การยกเลิกระบบสองมาตรฐาน บางกลุ่มในคนเสื้อแดงตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากผู้ที่ศึกษาพบว่ากลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งไม่ได้ปฏิเสธเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยม

ในงานศึกษาของเอนกและคณะ ก็พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศ เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับ ต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้นั้น วิเคราะห์ได้เป็นความขัดแย้ง 2 ระดับที่ทับซ้อนกันอยู่

ระดับที่ หนึ่ง คือ ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ

อีกระดับหนึ่งเป็น ความขัดแย้งเกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ทับถมมานาน เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน

ความ ขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวชนชั้นนำ คือ การแก่งแย่งที่จะนำสังคม ระหว่างขั้ว นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากทักษิณ (แดง) กับนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากต่อต้านทักษิณ (เหลือง)

อันที่จริง ณ จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2544 ชนชั้นนำไทยยังไม่ได้แบ่งขั้ว แทบทุกกลุ่มสนับสนุนทักษิณให้ขึ้นเป็นรัฐบาล โดยพวกเขามีความคาดหวังให้ทักษิณฟื้นฟูและปกป้องระบบเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต อีกทั้งให้นำนักธุรกิจไทยอยู่รอดปลอดภัยจากกระแสโลกาภิวัตน์ พวกเขาได้ร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนพรรคทักษิณได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา แต่ต่อมาพบว่าทักษิณดำเนินนโยบายผิดแผกไปจากความคาดหวังในหลายเรื่องที่ สำคัญ ได้แก่

หนึ่ง แทนที่จะปกป้องทุนไทยจากโลกาภิวัตน์ ทักษิณกลับนำเศรษฐกิจถลำลึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นๆ พร้อมกับที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจของตนเองและครอบครัวรวมทั้ง พวกพ้องได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่สร้างปัญหาให้กับกลุ่มทุนที่ไม่ใช่พรรคพวก

สอง ทักษิณผงาดขึ้นเป็นผู้นำประชานิยมที่สามารถดึงดูดความนิยมชมชอบจากมวลชนชนบท ภาคเหนือ ภาคอีสาน และคนรายได้น้อย-ปานกลาง ในเขตเทศบาลอย่างล้นหลาม โดยใช้ชุดนโยบายประชานิยมและบารมีความเป็นผู้นำที่มวลชนรู้สึกว่าให้ความ เป็นกันเอง และทำให้พวกเขารู้สึกมีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีนักการเมืองใดในระบอบ รัฐสภาประชาธิปไตยเคยทำได้ถึงขนาดนี้

นโยบายประชานิยมส่งผลให้ต้อง ดึงเอางบประมาณประจำปีที่ชนชั้นกลางในเมืองเคยได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วยออกไปปันให้ชาวบ้าน

ขณะที่ชนชั้นกลางเห็นว่าเงินงบประมาณ ส่วนใหญ่มาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายมากกว่าชาวบ้านในชนบท ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเป็นกังวลต่อไปว่า การใช้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมนั้น นอกจากว่าพวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังจะก่อหนี้สาธารณะที่จะต้องชดใช้ต่อไปในอนาคต

สาม ความนิยมทักษิณอย่างล้นหลามมีนัยยะว่า พรรคของเขาจะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อให้เกิดความเป็นกังวลว่าทักษิณจะครองเมืองเนิ่นนานไม่สิ้นสุด

สี่ นโยบายต่อต้านยาเสพติดและวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ภาคใต้ ใช้ความรุนแรงจนเกินเหตุ อีกทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่นที่โยงกับตัวเขา สมาชิกครอบครัวและพรรคพวก ทำให้ผู้ที่เคยนิยมทักษิณเปลี่ยนใจ

ขบวน การคนเสื้อเหลืองจึงก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านทักษิณและพรรคพวกของเขา (ผู้สนับสนุนเสื้อแดงจำนวนมากก็เคยอยู่ในขบวนการนี้ แต่ได้แยกออกไปในภายหลัง) ต่อมาได้มีการขยายประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่น บวกกับความไม่จงรักภักดี เป็นประเด็นดึงมวลชนเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อเหลือง เพื่อล้มระบอบ "ทักษิณา-ประชานิยม"

แล้วนำเมืองไทยกลับสู่ระบอบก่อน ทักษิณ หรือที่เอนกเรียกว่า ระบอบหลัง 14 ตุลา 2516

สำหรับต้นตอของ ความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างนั้น นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ว่า เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างคนจนและคนรวย ซึ่งได้ทับถมมาจากอดีต (นิธิ, บวรศักดิ์, เอนก, เกษียร, ปีเตอร์ วอร์, ริค โดเนอร์, ชาร์ลส์ คายส์)

งาน วิจัยภาคสนามของเอนกและคณะ สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ใช้ตัวอย่างกว่า 5,500 ราย พบว่าผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาทต่อเดือน และเป็นที่ตระหนักกันว่า ผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงมาจากเขตชนบทของภาคอีสานและเหนือเป็นจำนวนมาก และที่เป็นคนงานอพยพทำงานในเขตเมืองต่างๆ และที่กรุงเทพฯ และยังมีมาจากคนรายได้ระดับปานกลางและต่ำภายในเขตเทศบาล

นอกเหนือจาก ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แล้ว ยังมีปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม ชาวบ้านที่อีสานและภาคเหนือของไทยรู้สึกอยู่เสมอว่าชาวเมืองโดยเฉพาะที่ กรุงเทพฯดูถูกดูแคลนพวกเขา บ้างก็ว่าเป็นคนลาว คนเมือง ไร้การศึกษา ไม่ศิวิไลซ์ ละครโทรทัศน์จำนวนมากให้ภาพตัวละครจากอีสานหรือชาวบ้านชนบทเป็นคนเซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ค่อยรู้อะไร ถูกหลอกได้ง่าย ฯลฯ และผู้สร้างละครมักจะไม่สนใจว่าชาวบ้านจริงๆ เขารู้สึกรู้สากับภาพพจน์เช่นนั้นอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วพวกเขาตระหนักดี และอาจจะเก็บกดความรู้สึกไม่พอใจเอาไว้ลึกๆ มาเป็นเวลานาน

สำหรับ ปัญหาโครงสร้างที่เกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้นั้น ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่อง "จนแทบตายแบบแต่ก่อน" แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง "คนมี" "คนไม่มี" โดยในประเด็นหลังเกี่ยวโยงกับความมุ่งหวัง (rising expectation) ด้วย

คน จนในเมืองไทยเคยมีถึงร้อยละ 60 ของประเทศ (พ.ศ.2503) แต่ขณะนี้ (2550) ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งกลับสูงขึ้น สถิติที่มีอยู่บอกเราว่า คนจนร้อยละ 20 ของประเทศเคยมีส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดของประเทศ ร้อยละ 6 ขณะนี้ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 แต่คนรวยสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศเพิ่มจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 54

ความ เหลื่อมล้ำด้านรายได้ในเมืองไทยขณะนี้สูงกว่าที่ในยุโรป และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน แต่สูงกว่าที่อเมริกาเพียงเล็กน้อย

นัก วิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า บางทีเจ้าตัวปัญหาอาจจะไม่ใช่ขนาดของความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เพราะที่อเมริกาก็ไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่ บางทีเจ้าตัวปัญหาหลัก คือ มีความคาดหวังแล้วผิดคาด

ในกรณีของเมืองไทยนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจได้ก่อตัวมาเป็นเวลาสักพักหนึ่งแล้ว แต่มาปะทุขึ้นมากหลังจากที่เศรษฐกิจบูม แล้วฟุบลงอย่างฮวบฮาบ เศรษฐกิจบูมสร้างความมุ่งหวังให้ผู้คนจำนวนมาก แล้วจู่ๆ เศรษฐกิจฟุบฮวบลงเมื่อ พ.ศ.2540 คนรวยก็เจอปัญหา แต่คนรวยสายป่านยาวกว่า และมีพรรคพวกอยู่ในศูนย์กลางอำนาจที่จะช่วยได้มากกว่าคนจน ผู้ที่อยู่ในฐานะด้อยว่าจึงมีความคับข้องใจสูง

โดยสรุป ปัญหาโครงสร้างมีองค์ประกอบของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม และความคาดหวังที่ไม่สมหวังด้วย

ภาวการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักการ เมืองแบบทักษิณพุ่งขึ้นสู่อำนาจได้ ปัญหาโครงสร้างนี้ถ้าไม่รีบเร่งหาทางแก้ไขที่ต้นตอก็ไม่จะไม่สามารถป้องกัน การก่อตัวของนักการเมืองแบบทักษิณในอนาคต กล่าวคือ ถ้าไม่ใช้ทักษิณก็อาจมีคนอื่นพุ่งขึ้นมาได้

จากข้อมูลที่ได้เรียบ เรียงมานี้ เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง?

ประการที่หนึ่ง การที่คู่ความขัดแย้งมีมวลชนหนุนหลังอยู่พอๆ กันและเป็นจำนวนมาก หมายความว่า ทางออกที่จะกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะต้องมีต้นทุนสูงมาก จนเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ประการที่สอง ทั้ง 2 ขั้ว มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก (พรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษนิยมที่อังกฤษยังอยู่ร่วมกันได้) ที่ต้องคิดคือ ต้องสร้างกรอบกติกาทางการเมืองที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้แบบสร้างสรรค์ เอนกและคณะได้กล่าวไว้ให้คิดต่อว่า

"ทางเลือกที่จะเดินต่อไปนั้น คือ การปราบปราม ขจัด หรือบั่นทอนสีแดง เพื่อที่จะรักษาประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา 2516 ให้คงต่อไป แต่วิธีการนี้อันตรายเหลือเกินสำหรับสถาบัน จำเป็นที่จะต้องร่วมกันลอกคราบประชาธิปไตยและเดินอีกทางหนึ่ง คือ ไม่ให้ใครแพ้หมด ชนะหมด...

ประชาธิปไตยจากนี้ไปจะต้องฟังเสียงของ ประชาชนในความหมายของข้างมาก...(หน้า 119)

แต่ต้องเคารพสิทธิของคน ส่วนน้อยด้วย" (หน้า 127) และ

"ระบอบใหม่นี้...ยังต้องขึ้นกับสาม ฝ่ายร่วมกัน ได้แก่ Monarchy (สถาบันในความหมายจำกัดยิ่งขึ้น) หนึ่ง Aristocracy (หมายรวมถึงคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา สื่อ ปัญญาชน ข้าราชการ) หนึ่งและ Democracy (ประชาชนผู้หย่อนบัตร คนธรรมดา สามัญชน คนยากจน) เพียงแต่ลูกตุ้มของนาฬิกาการเมืองเรือนนี้จะเหวี่ยงไปสู่ขั้ว Democracy มากขึ้น" (หน้า 119) ผู้เขียนเข้าใจว่าเอนกและคณะวิเคราะห์ระบอบนี้ภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง

ประการ ที่สาม เนื่องจากต้นตอของปัญหายังมีเรื่องความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วย

เมื่อ พูดถึงการประนีประนอมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ จึงต้องหมายถึงการนำคนระดับหัวของทั้งสองฝ่ายให้มาพูดคุยกัน ในประเด็นนี้นั้นข้อคิดจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงน่าพิจารณา "ถ้าคุณกล่าวว่ามิสเตอร์ x (ทักษิณ) เป็นต้นเหตุของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตามหลักเหตุผลคุณจะต้องเจรจากับมิสเตอร์ x"

ขอฝากข้อสังเกตทั้งสาม ประการนี้ให้รัฐบาลนำโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขบคิดและดำเนินการ เพราะว่านี่เป็นภารกิจของท่านโดยแท้ (จาก: นสพ.มติชน วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11792)
-----------------------------------------------------

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เตือนจาก"ดร.โกร่ง" ทำไมค่าเงินยูโรกำลังจะแย่ ทำไมศก.สหรัฐไม่มีทางฟื้นตัวอย่างมั่นคง !!

ค่าเงินยูโรกำลังจะแย่

คนเดินตรอก
วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวคราว เรื่องเศรษฐกิจของโลกก็คงหนีไม่พ้นวิกฤตการณ์ทางการเงินของยุโรปจะมีทิศทาง หันเหไปทางใด ซึ่งคงจะเกี่ยวโยงไปถึงค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินเยน ค่าเงินหยวน และค่าเงินยุโรปอื่น ๆ ไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

วิกฤตการณ์ ทางการเงินในยุโรปซึ่งเริ่มขึ้นที่ประเทศกรีซเมื่อ 2 ปีก่อน ได้ค่อย ๆ ขยายวงออกไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง จนกลายเป็นกลุ่มที่เรียกว่า PIGS หรือโปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน และทำท่าจะขยายไปประเทศอื่นที่ยังไม่ใช้เงินยูโรแทนเงินสกุลของชาติตน เช่น ฮังการี และอังกฤษ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรมหรือ หนี้ด้อยคุณภาพ ที่ลุกลามใหญ่โตกลายเป็นวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา จนเรื้อรังกลายเป็นเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเงินในยุโรป เริ่มขึ้นที่ประเทศที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอที่สุด แล้วก็ขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็คือ ความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างประเทศ

ในขณะที่ ประเทศจีนซึ่งเป็นยักษ์หลับมานานหลายทศวรรษหรือกว่าศตวรรษได้ฟื้นคืนชีพ ประเทศจีนมีพลเมืองมากกว่า 1,300 ล้านคน มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ในทางภูมิศาสตร์อาจถือได้ว่าจีนเป็นทวีปหนึ่งของโลกก็ได้

เมื่อ เศรษฐกิจการค้าของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการค้า การผลิต การลงทุนภายในประเทศ การบริโภค รวมทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การที่เศรษฐกิจการลงทุน การบริโภค และทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ก็เท่ากับจีนได้ดูดเอาทรัพยากรทั้งที่เป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน ทองคำ แร่ธาตุ และทรัพยากรที่เป็นพลังงาน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานต่าง ๆ ในประเทศจีน ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้มีราคาแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ ประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ก็ต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้ ในราคาที่แพงขึ้น อเมริกาและยุโรปจึงกลายเป็นประเทศผู้ใช้ไม่ใช่ผู้ผลิต

ขณะเดียวกัน การที่ทุนสำรองของจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นก็เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างมหาศาล ทั้งระบบขนส่งมวลชนทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ระบบโทรคมนาคม มีการรื้อเมืองเก่าทั้งเมืองแล้วสร้างเมืองใหม่ที่ทันสมัยที่สุดในโลกขึ้น โดยทั่วไป ตั้งแต่เมืองชายทะเลทางด้านตะวันออก เช่น เมืองกว่างโจว เมืองซัวเถา เมืองเสิ่นเจิ้น เมืองเอ้หมึง หรือเซียะเหมิน เซี่ยงไฮ้ เทียนสิน ปักกิ่ง เรื่อยไปถึงเมืองโฉงชิ่งไปที่เมืองลาซา ทิเบต

การลงทุนอย่างมหาศาลไม่ได้เกิดขึ้นทั้งเฉพาะในภาค รัฐบาล ทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลของมณฑล จังหวัด และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น แต่การลงทุนของภาคเอกชนทั้งจากต่างประเทศ และการลงทุนของบริษัทจีนภายในประเทศก็เกิดขึ้นอย่างมหาศาล

การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศเท่ากับการแย่ง ทรัพยากรของโลกมาใช้ภายในประเทศจำนวนมหาศาล ขณะเดียวกันภาคการผลิตของอุตสาหกรรมของจีนก็มีการเพิ่มพูนประสิทธิภาพจนไม่ มีใครแข่งขันกับสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนได้

ต่อมาจีน เริ่มส่งออกสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องมือ เครื่องจักรกล หัวรถจักรไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งที่ใช้กับเขื่อนขนาดใหญ่ หรือใช้กับถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก รวมทั้งจรวดส่งดาวเทียม และอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ จีนได้พัฒนาใช้เองเกือบทั้งหมดและกำลังจะส่งออกสินค้าไปแข่งขันกับยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น

ขณะ นี้ทิศทางของการค้าของประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกไกล รวมทั้งออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จึงมุ่งไปที่จีนแทนที่จะเป็นอเมริกาและยุโรป ไม่เหมือนเมื่อก่อน 20 ปีที่ผ่านมา

เมื่อทรัพยากรทั้งที่เป็นวัตถุดิบ และทรัพยากรทางการเงินไหลเข้าไปที่จีนก็เท่ากับว่าทรัพยากรเหล่านั้นก็ไหล ออกจากอเมริกาและยุโรป เมื่อเป็นเช่นนี้พื้นฐานเศรษฐกิจการเงินของอเมริกาและยุโรปก็จะต้องอ่อนแอลง เป็นของธรรมดา
ในขณะที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรป อ่อนแอลง เพราะความสามารถในการแข่งขันในตลาดเศรษฐกิจที่แท้จริง อันได้แก่ ความสามารถในการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการได้ลดลงเมื่อเทียบกับจีนและ ประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นใหม่ แต่มีตลาดที่ใหญ่โตเพราะมีประชากรจำนวนมาก เช่น อินเดีย และรัสเซีย บราซิล และประเทศอื่น ๆ

สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น โชคดีที่เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราที่ทั่วโลกใช้เป็นเงินทุนสำรองของ ประเทศ และบริษัทขนาดใหญ่โดยทั่วไปทั้งโลก เพราะทั่วโลกยังยอมรับที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยที่ดอลลาร์นั้นเป็นกระดาษแท้ ๆ ที่จะเปลี่ยนเป็นตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ สหรัฐจึงสามารถตื้ออยู่ไปได้เรื่อย ๆ โดยการออกพันธบัตรขายให้กับผู้ที่ถือเงินดอลลาร์ เศรษฐกิจของอเมริกาจึงไม่มีทางฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง นอกเสียจากอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีใหม่ และสามารถผูกขาดได้ตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนจะฟื้นตัวได้จากการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย การตีฆ้องร้องป่าวว่าเศรษฐกิจอเมริกาฟื้นตัวอย่างมั่นคงแข็งแรงแล้วจึงเป็น การโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นก็เพราะค่าเงินชาวบ้านอ่อนตัวลงเท่านั้นเอง ถ้ายังไม่เห็นอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในการผลิตได้ก็ไม่มีทางที่เศรษฐกิจของอเมริกาฟื้นตัวได้อย่างมั่น คง

ในขณะเดียวกัน ยุโรปก็ประสบกับปัญหาอย่างเดียวกับที่ตนเคยทำกับอเมริกา คือ ขายของให้อเมริกามากกว่าซื้อจากอเมริกา แต่นัดนี้โดนจีนแย่งเอาไป แม้แต่ผู้ผลิตภายในยุโรปเอง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเบาหรืออุตสาหกรรมหนัก กำลังถูกจีนแย่งตลาดและตีตลาดของตนไป

เมื่อจีนจะ ซื้อของหนัก ๆ ใหญ่ ๆ แพง ๆ จีนจะตั้งเงื่อนไขว่าต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีน ต้องให้แกะชิ้นส่วนทุกอย่างออกดู และต้องสอนให้จีนผลิตให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โรงไฟฟ้าปรมาณู รถไฟหัวกระสุน ดาวเทียม และอื่น ๆ ไม่ช้าไม่นานจีนก็ผลิตได้เอง และทำท่าจะส่งออกไปตีตลาดสินค้ายุโรปในภูมิภาคเอเชียและอื่น ๆ ด้วย

เมื่อ สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กระทบกระเทือนเศรษฐกิจและการเงินในทวีปยุโรปโดยทั่ว ไป
ระบบเศรษฐกิจยุโรปเป็นระบบที่แปลก คือ ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ยังเป็นประเทศเอกราช มีอิสระในทางการคลัง กล่าวคือ รัฐบาลแต่ละประเทศเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศในการเก็บภาษี และในการตั้งงบประมาณใช้จ่าย มีธนาคารกลางคอยดูแลทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ไม่มีเงินตราของตนเอง ที่อยู่ในเขตยูโร หรือ Euro-zone ใช้เงินยูโรซึ่งเป็นเงินของสหภาพเป็นทุนสำรองและสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

ประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปจึงไม่มีเครื่องมือทางการเงินในการแก้ปัญหา กล่าวคือ ไม่สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินที่สำคัญ อันได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหา วิกฤตการณ์ทางการเงินได้

ถ้ายุโรปรวมกันเป็นประเทศเดียวจริง ๆ แบบมลรัฐต่าง ๆ รวมกันเป็นประเทศเดียวแบบสหรัฐเสีย ก็จะไม่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน เพราะหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ไม่ใช่หนี้ของมลรัฐ หรือเทศบาล แต่ในยุโรปหนี้สาธารณะยังเป็นหนี้ของรัฐบาลแต่ละประเทศอยู่

เมื่อมีข่าวว่าฐานะทางการคลังของประเทศใดประเทศ หนึ่งอ่อนแอ อาจจะชำระหนี้ไม่ได้ ราคาพันธบัตรของประเทศก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

ผู้มีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีปัญหา เช่น กรีซ โปรตุเกส อิตาลี สเปน ก็จะพากันแห่ไปถอนเงินจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีปัญหา นำไปฝากประเทศที่มีความมั่นคงกว่า เช่น ธนาคารพาณิชย์ในเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือไม่ก็นำไปแลกเป็นทองคำ เงินดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินสกุลหลักของโลกสกุลอื่น เช่น เงินเยนของญี่ปุ่น
นโยบายที่ประเทศเหล่านี้จะทำได้ก็คือ นโยบายทางการคลัง อันได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ตัดงบประมาณแผ่นดินลง ปลดคนออกจากราชการ ขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มก็เพิ่มไม่ได้เพราะใช้อัตราเดียวกันทั้งยุโรป

ถ้าจะเปรียบเทียบนโยบายการเงินนั้นเหมือน "ยาปฏิชีวนะ" ส่วนนโยบายการคลังนั้นเหมือน ′ยาหม้อ′ ยาปฏิชีวนะนั้นได้ผลชะงัด แต่มีผลข้างเคียงสูง ส่วนยาหม้อมีผลข้างเคียงต่ำ แต่ไม่ได้ผลชะงัด

เมื่อราคาพันธบัตรของบางประเทศมีราคาต่ำลง ผู้ถือขาดทุนไม่คุ้มดอกเบี้ย เครดิตของธนาคารลดลง จะขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ได้เพราะใช้เงินยูโรด้วยกัน จะมีดอกเบี้ยต่างกันก็คงไม่ได้ มองไปข้างหน้าค่อนข้างมืดมน
ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนจึงน่าจะมีค่าต่ำลงไปเรื่อย ๆ ถ้าจะให้เดาค่าเงินยูโรคงจะเท่ากับค่าเงินดอลลาร์ก่อนสิ้นปีนี้หรืออย่างช้า กลางปี 2554

เมื่อเงิน ดอลลาร์ถูกหิ้วให้มีค่าสูงขึ้น เงินเยนก็คงมีราคาสูงขึ้น เงินสกุลอื่น ๆ ในเอเชียของเราน่าจะมีค่าอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หรืออย่างน้อยก็ไม่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนกับที่ ผ่านมา แต่เงินหยวนก็คงจะผูกติดกับดอลลาร์ต่อไป ถือโอกาสไม่ขึ้นค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

ความผันผวนทางการเงินข้างหน้าคงจะมีอีกมากและนาน


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 09:55:39 น.
----------------------------------------------------

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


เตือนจาก"เสถียร บาวแดง" มาร์คจะปฏิรูปศก.-สังคม-การเมืองต้องก้าวข้าม "ทักษิณ"ไปให้ได้

แนะต้องรณรงค์ปชช.ให้ยอมรับผลเลือกตั้งในอนาคต กันเสื้อแดง-เหลืองออกมาป่วนอีก !!

ในขณะนี้ภาคเอกชน นักธุรกิจ เครือข่ายต่าง ๆ ประสานเสียงรัฐบาลในเรื่องแผนปรองดองเพื่อให้ก้าวข้ามวิกฤตประเทศไทย สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นอีกกลุ่มหนึ่งแม้จะถูกกล่าวขานว่าเป็นแหล่งรวมของกลุ่มระดับบนของประเทศ 10% ที่ครอบครองความมั่งคั่งของประเทศประมาณ 80% ก็ตาม แต่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันหรือเยียวยาประเทศ ล่าสุดทางนักศึกษา วตท. 1-10 และสมาคมศิษย์เก่า วตท.ได้ร่วมกันจัดเสวนาในหัวข้อ "จุดเปลี่ยนประเทศไทย : ยุทธศาสตร์การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมเพื่อก้าวข้ามวิกฤตการเมืองไทย" มีตัวแทนจากทุกรุ่นเข้าร่วม แต่จะนำเสนอเพียงบางส่วนเท่านั้น

ประเด็นที่ "เสถียร เศรษฐสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด" ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เคยผ่านยุค 14 ตุลาคมมาแล้ว ได้เสนอข้อคิดเห็นว่า ประเด็นใหญ่ที่สังคมไทยเจอในวันนี้คือวิกฤตการเมืองที่ส่งผลกระทบอย่างกว้าง ขวางและลึกซึ้ง

"ผมคิดว่าปัญหาของเราขณะนี้สังคมไทยไม่เคยแตกแยก ร้าวลึก และกว้างขนาดนี้ เป็นปัญหาที่สะสมมาพอสมควร อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา 4-5 ปีติดต่อกันมา เมื่อ 2 ปีที่แล้วเราเจออย่างเหตุการณ์ยึดสนามบิน ล่าสุดยึดราชประสงค์ วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น ประเด็นหนึ่งใหญ่ ๆ มาจากที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลต่อ ๆ มาโดยเฉพาะรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) พยายามเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ผมคิดว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบ้านเมืองเราไม่สามารถก้าวพ้นไปไหนได้ เพราะไม่สามารถก้าวพ้นคุณทักษิณได้ ทุกอย่างในบ้านเมืองเรายังวนเวียนที่คุณทักษิณ ถ้าเรากำลังพูดกันว่า จากนี้ต่อไปถ้าเราจะปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต้องก้าวให้พ้นคุณทักษิณให้ได้"

แต่ก่อนที่จะก้าวพ้นคุณทักษิณ ทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่าคุณทักษิณทำอะไรมาบ้าง ในทางการเมืองหลายคนเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" สิ่งที่เป็นระบบทักษิณนั้นคืออะไร คุณทักษิณเป็นคนที่ใช้ความสามารถในการบริหารจัดการและวิธีคิดที่ก้าวหน้า กว่านักการเมืองในยุคนั้น จนรวบรวมกลุ่มนักการเมืองมาเป็นพวกได้อย่างที่ไม่เคยทำได้มากมาก่อน มีการเทกโอเวอร์นักการเมือง พรรคการเมือง

สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ คุณทักษิณสามารถที่จะสร้างนักการเมืองโนเนมขึ้นมา จนกระทั่งขึ้นมามีบทบาทในทางการเมือง เช่น แรมโบ้อีสาน คุณพายัพ ปั้นเกตุ คุณทักษิณสามารถปั้นคนเหล่านี้ขึ้นมาได้ เอานักการเมืองท้องถิ่นที่เห็นแววโดดเด่นมาสังกัดพรรคตัวเองและขึ้นมาเป็น ส.ส.ได้ ได้แสดงบทบาทที่ชัดเจน นี่เองที่ทำให้คุณทักษิณเหนือคนอื่นในเรื่องการเมือง

และสำคัญไปกว่านั้น ระบบการเมืองบ้านเรา การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองต้องมีเงิน คุณทักษิณมีเงินมาก อันนี้เองทำให้คุณทักษิณมีอำนาจมาก

จากนี้ไปสิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องการ คือ ก้าวพ้นคุณทักษิณในทางการเมือง ต้องคิดโจทย์นี้ว่าจะต้องแก้อย่างไร ประเด็นสำคัญที่พูดกันตลอดเวลาในทางการเมืองขณะนี้ คือ เรื่องสองมาตรฐาน ถ้ารัฐบาลยังวนเวียนในเรื่องพวกนี้คงก้าวไม่พ้นวิกฤตการเมือง และสังคมไทยเราต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังต่อสู้อยู่นี้เป็นเรื่องการเมือง แต่เรากำลังผลักเรื่องการเมืองเป็นเรื่องก่อการร้ายหรือไม่ หากเราคิดและก้าวไม่พ้น ผลักไม่พ้นเรื่องการเมืองเหล่านี้ สิ่งนี้ (การประท้วง) จะวนเวียนกลับมา คือการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ จะต้นปีหน้าหรือช้าที่สุดต้นปีหน้าเป็นต้นไปก็จะต้องเกิดขึ้น

สังคมไทยยอมรับหรือยังว่า จากนี้ไปเมื่อมีการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร คนในสังคมไทยต้องยอมรับมัน มีคนบอกว่า หากเสื้อแดงมา เสื้อเหลืองออกมาประท้วงอีก เป็นเรื่องที่หวาดผวาในจิตใจพวกเราทุกคน วันนี้รัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องรีบรณรงค์เรื่องเหล่านี้ ว่าที่สุดแล้วประเทศนี้ไม่มีระบบอื่น จริงอยู่จะไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่สังคมไทยที่สุดต้องมีการเลือกตั้ง แล้วทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในอนาคต ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรณรงค์ให้มีการยอมรับอย่างกว้าง ขวาง นี่คือการวางรากฐานที่จะทำให้การเมืองก้าวพ้นจากวิกฤต

"รัฐบาลต้องริเริ่มให้คนยอมรับ เรื่องนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่การก่อการร้าย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประเทศ หากผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไรต้องให้มีการยอมรับ ในทางการเมืองต้องปล่อยให้มันเดินไป ที่สุดของมันแล้วการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร อย่าใช้ความได้เปรียบทำลายล้างกัน หากทำร้ายเขา เขาก็หาทางตอบโต้คุณ"

เช่นเดียวกันกับเรื่องเศรษฐกิจ การมาชุมนุมของคนเสื้อแดงจำนวนมากในระยะต้น คนอาจจะบอกว่าถูกจ้างมา ไหว้วานมา เกณฑ์มาจาก ส.ส. แต่การต่อสู้ที่ยืดเยื้อมา 2-3 เดือน ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าสังคมไทยยอมรับว่ามันมีปัญหาอยู่ในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรมในสังคม การเข้าถึงทรัพยากร ช่องว่างระหว่างรายได้ นี่คือพื้นฐานที่สุดที่คนเหล่านั้นสัมผัสและได้รับ หลายคนได้รับประโยชน์และเข้าใจว่าคุณทักษิณเคยช่วยเขาทาง

นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่ว่ากองทุนหมู่บ้าน โอท็อป โครงการเอื้ออาทร และที่สำคัญโครงการด้านสังคม อาทิ การเรียนฟรี, 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นสิ่งที่ประชาชนไม่เคยได้รับก่อนหน้านี้ แต่คุณทักษิณทำให้คนเหล่านี้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิเขาควรได้รับ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เขาจะได้จากสภาพความเมตตา จากสังคมสงเคราะห์เมื่อภัยหนาวมาเอาผ้าห่มมาบริจาค น้ำท่วมมาก็หยูกยารักษาโรคมาแจก แต่เป็นเรื่องที่เขาสามารถเข้าถึงทุนในกองทุนหมู่บ้าน สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ในฐานะที่เขาเสียภาษี นโยบายเหล่านั้นทำให้คนเหล่านี้จำนวนมากยอมรับคุณทักษิณเข้ามามีส่วนที่ทำ ให้เขาเข้าถึงโอกาสและชีวิตที่ดีกว่า

ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ ๆ ถ้าหากรัฐบาลจะก้าวข้ามคุณทักษิณ ในเรื่องเศรษฐกิจจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและชัดแจ้งที่เหนือกว่าคุณทักษิณ ต้องมียุทธศาสตร์นโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประเทศไทยไม่มีเงินเยอะ ทุกเรื่องที่เราต้องใช้อย่างถูกต้องแม่นยำ เศรษฐกิจต้องมียุทธศาสตร์ชัดเจนที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทย เช่น นโยบายทางด้านพลังงาน ผมเห็นว่าประเทศไทยเรามีขีดความสามารถในการผลิตแก๊สโซฮอล์ได้ดีเพราะเรามี พืชเกษตรจำนวนมาก เราแค่ประกันราคาแก๊สโซฮอล์ลิตรละ 20 บาท จะมีคนปลูกมันสำปะหลังจำนวนมาก หรือเรื่องชลประทานเราควรลงทุนชลประทานขนาดใหญ่ เขื่อน คู คลอง ระบบชลประทานที่สมบูรณ์ รวมทั้งรัฐต้องลงทุนซื้อเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย
"เราบอกว่าเราอยากผลักดันเศรษฐกิจ ออก พ.ร.ก.กู้เงินมากมาย โครงการไทยเข้มแข็งปีที่แล้วบอกว่ามีเงินหลายแสนล้านบาท เรากระจายทำไปทั่ว แต่มีวัตถุประสงค์ไปหาเสียงไม่ใช่แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ หากทำจริง ๆ ก็แก้ปัญหาในชนบทได้"

ส่วนเรื่องทางสังคม เรื่องการศึกษา หลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สนใจดูแลอย่างจริงจัง คุณทักษิณให้เรียนฟรี 12 ปี รัฐบาลนี้เรียนฟรี 15 ปี สังคมไทยไม่ควรพูดเรื่องเรียนฟรีแต่ควรจะพูดเรื่องคุณภาพทางการศึกษาและ ผลิตผลทางการศึกษา โรงเรียนวัดไม่มีใครเรียนกลายเป็นโรงเรียนของคนจน ดังนั้นจุดเริ่มต้นทำให้โรงเรียนเล็กลง ทำห้องเรียนเล็กลง ไม่ใช่ห้องหนึ่งมี 50 คน ครูดูแลไม่ทั่วถึง แต่รัฐบาลคิดแต่เรื่องจะไปสู้กัน ไปทำเรื่องลดแลกแจกแถม เรียนฟรี 12 ปี 15 ปี หรือรักษา 30 บาท อีกคนบอกว่า 30 บาทไม่เก็บเลย...เพ้อเจ้อ ทำไมต้องเรียนฟรี ลูกคนรวยที่เรียนสามเสน สวนกุหลาบเขาพร้อมจะจ่าย เขาไม่ได้อยากเรียนฟรี หรือคนจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล พอรัฐให้รักษาฟรี รัฐต้องตีมูลค่าเป็นหัว หัวละ 1,700 กว่าบาท อย่างผมไม่เคยใช้ประกันสังคม โรงพยาบาลก็รับฟรีเพราะรัฐต้องจ่ายให้ผม

นอกจากนี้ เรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขทางสังคม คือ ต้องเยียวยาจิตใจผู้คน คนในหมู่บ้านมีเสื้อต่างสีมากมาย สิ่งที่เขาทำความดีถูกเลือนหายเพราะสีที่ต่างกัน ความคิดที่ต่างกัน เป็นเรื่องที่ต้องพูดกัน ไม่ใช่ออกสโลแกนว่า รักในหลวงต้องไม่ไปร่วมชุมนุม ไม่ควรเอาสถาบันมาเกี่ยวข้อง ถ้าผมไปชุมนุมก็หาว่าผมไม่รักในหลวง หรือชาวพุทธไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้นรัฐต้องจริงใจจริงจังในการแก้ไขปัญหา เพราะมันร้าวลึกมาก

"ผมออกกำลังกายตอนเช้า ถ้าวิ่งผ่านคนที่เขาพูดเรื่องการเมือง พอเราเดินใกล้เขาจะไม่พูดต่อ เขาไม่รู้ว่าเราจะคิดเห็นเหมือนเขาหรือไม่ ในสังคมประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องคิดเห็นเหมือนกัน แต่นี่ในสังคมที่เกิดการเผชิญหน้า คนที่คิดเห็นไม่เหมือนกันต้องทำลายล้างกัน จึงเกิดความหวาดระแวง เรากำลังผลักดันให้ประเทศไปสู่ยุคสงครามเย็นหรือเปล่า คนที่มีหน้าที่ในสังคมต้องคิดเรื่องเหล่านี้ ทุกคนเครียดหมกับสภาวะที่เป็นอยู่อย่างนี้"


ที่มาซ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 11:30:18 น.
--------------------------------------------------

จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ "ผมอยากมีรัฐบาลทางขวาง"


ชั่วโมงนี้ รัฐบาลไทย พร่ำพูดเรื่องการปฎิรูปประเทศไทย การปรองดอง และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่นั่นอาจ เป็นเรื่องของรัฐบาล ทางตั้ง ขณะที่โลกยุคใหม่กำลัง พูดเรื่อง รัฐบาลทางขวาง

“ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์"รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ได้พูดถึงการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทยในอีกมุมหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “HR อมตะ”ในโอกาสวัน คล้ายวันสถาปนาคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

งานนี้ซีอีโอ แห่งโลกตะวันออกได้แสดงทรรศนะต่อโลกในวันนี้ว่าไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าหาก 300 กว่าประเทศในสหประชาชาติ คือ รัฐบาลทางตั้ง ผมอยากมีประเทศหรือรัฐบาลทางขวาง

รัฐบาลทาง ขวางในความหมายของ ซีอีโอซีพีออลล์ คืออะไร

"ก่อ ศักดิ์"ขยายความว่า ในชีวิตประจำวันของเรามีบริษัทใหญ่ทั่วโลกอยู่ประมาณ 1,000 บริษัทที่มีผลต่อชีวิต

ทุกวันๆเราต้องเสียสตางค์ เสียภาษีให้กับโตโยต้า โนเกีย เชลล์ เอสโซ่ รวมถึงปตท. และบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย

บางบริษัท ที่ใหญ่ ๆ เช่น มิตซูบิชิของญี่ปุ่น เงินเดือนของพนักงานรวมกันมากกว่าเงินเดือนของข้าราชการไทยทั้งประเทศ

และบริษัท ใหญ่เหล่านี้ทุก ๆวัน จะมีสิ่งประดิษฐ์มานำเสนอให้เราเปลี่ยนแปลงในชีวิตตลอดเวลา

สิ่งเหล่านี้เปรียบเป็นรัฐบาลทางขวาง

“เอาง่าย ๆ ถ้าเกิดบิลเกตมาประเทศไทย ผู้คนจะให้การต้อนรับแบบเอิกเกริกใหญ่โต ซึ่งอาจจะมากกว่าประธานาธิบดีของประเทศระดับกลางมาประเทศไทยด้วยซ้ำ”

“ก่อศักดิ์”บอกว่า วันนี้เอาเข้าจริงประเทศที่มีอิทธิพลต่อโลก อย่างเก่งก็มี 20-30 ประเทศเท่านั้น นอกนั้นล้วนแต่เป็นประเทศที่ไม่มีใครรู้จัก

เอาแค่ ประเทศไทย หากมีชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทย สัก 3 วันแล้วกลับไป เผลอๆ ยังไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีของประเทศไทยชื่ออะไร หรือสมมติว่าเราไปเที่ยวจังหวัดลำปางสัก 3 วันกลับมา ถามว่ารู้ไหมว่าผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางชื่ออะไร ไม่มีใครรู้ เพราะตอนนี้รัฐบาลของประเทศเป็นทางตั้ง

วันนี้จึง ต้องยอมรับความจริงว่าหลายๆ ประเทศไม่มีบทบาท ไม่มีพลังในตลาดโลก แม้กระทั้งประเทศไทยถ้าวันนี้ปิดประเทศ ก็ไม่มีใครสนใจ ปิดไปตัวเองก็ลำบาก

ถ้าถามต่อ ว่า หากรัฐบาลไทยไปเกาหลีวันนี้อยากพบประธานซัมซุงมากกว่ารัฐมนตรีของประเทศ เกาหลีหรือเปล่า แน่นอนต้องอยากพบประธานซัมซุงมากกว่าเพื่อเชิญเขามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนรัฐมนตรีแทบจะไม่มีความสำคัญ แม้ว่าจะแย่งเก้าอี้กันแทบตาย เพราะปีหนึ่งอาจจะเปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 3 คนเหมือนประเทศไทย

“ก่อ ศักดิ์”ย้ำว่า ประเทศที่มีพลังมาก เพราะว่ามีบริษัทที่มีพลังมากอยู่จำนวนมาก ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกากับบราซิล หากลองเปรียบเทียบจะพบว่าทั้ง 2 ประเทศมีพื้นที่ใหญ่พอๆ จำนวนประชากรก็ใกล้เคียงกัน แต่ในเวทีโลก บราซิลกลับไม่มีพลัง เพราะว่าไม่มีบริษัทขนาดยักษ์มากเท่ากับสหรัฐอเมริกา

ชั่วโมงนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องสนใจอำนาจการแข่งขันในตลาดโลก โดยมุ่งไปที่องค์กรเอกชน เพราะทั้ง สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ล้วนแต่ให้การสนับสนุนองค์กรเอกชน เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อใดที่องค์กรเอกชนแข็งแกร่งยั่งยืน นั่นคือ เศรษฐกิจของประเทศเขา

ประเทศไทย วันนี้ เอกชน คือ คนที่กุมทรัพยากรเกือบทั้งหมดของประเทศ ดังนั้นต้องมองไปที่องค์กรเอกชน

ถ้าประเทศไทยมีองค์กรเอกชนที่เติบโต ไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน เศรษฐกิจของประเทศก็จะยั่งยืนเข้มแข็ง การบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะ HR จึงเป็น เรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องสำคัญเท่ากับเรื่องของชาติไม่ใช่เรื่องขององค์กรหรือบริษัทใด บริษัทหนึ่ง

แต่ถ้าจะถามว่าจะบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรอย่าง ไรให้องค์กรแข็งแกร่ง “ก่อศักดิ์”บอกว่า อยู่ที่มุมมองของผู้บริหาร

ถ้าผู้ บริหารมองว่าองค์กรประกอบด้วยคน องค์กรเป็นกิจกรรมของทีมเวิร์ค คนทั้งหมดที่อยู่ในองค์กรรวมพลังกันทำงาน ผลงานออกมาก็ตกเป็นขององค์กร

ซึ่งที่ ผ่านมามีหลายๆ องค์กรที่มองว่า องค์กรคือ เครื่องพิมพ์ธนบัตร

องค์กร เป็นแหล่งทำเงิน หาทางทั้งวัน ทั้งคืน ว่าจะทำเงินอย่างไร

บางบริษัท สร้างขึ้นมาโดยคนตระกูล แล้วมองว่าบริษัทเป็นของตระกูล การบริหารจัดการอำนาจทั้งหมดเป็นของตระกูล ลูกจ้างที่มีอยู่เป็นเพียงถูกจ้างที่ให้มาทำงานเป็นชิ้น ๆ ใครพอใจก็อยู่ ไม่พอใจก็เลิกจ้าง

พฤติกรรม ขององค์กรจึงมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะมีมุมมองด้าน HR อย่างไร

หลายคนอาจ จะคิดว่า บริษัทที่บริหารโดยคนในตระกูลไม่ทันสมัย แต่จากประสบการณ์ที่พบ หลายแห่งไม่ได้เป็นอย่างนั้น มีการมอบอำนาจที่แท้จริงให้กับซีอีโอคนนอก

ยกตัวอย่าง บริษัทเอสเอสบี ในประเทศเนเธอแลนด์ เป็นบริษัทค้าถ่านหินมากที่สุดในยุโรป แต่เป็นบริษัทครอบครัวที่อยู่มาถึง 9 ชั่วอายุคนแล้ว หัวหน้าของตระกูลเมื่อ 17-18 ปีที่แล้วถูกจัดอันดับให้เป็นเศรษฐีโลกอันดับที่ 23

บริษัท แห่งนี้บริหารจัดการโดยไม่ให้สมาชิกของครอบครัวมา 50 คน 100 คนมาทำงานในองค์กร เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีญาติของ เขย เขยของญาติ สะใภ้ของญาติ ญาติของสะใภ้มากันเป็น 10 เป็น 100 คน การปกครองก็จะยาก การลงโทษ ชมเชย ก็ลำบาก

ดังนั้น องค์กรนี้จึงให้ญาติถือหุ้นไว้เฉยๆ แล้วเลือกไม่กี่คนที่เก่งๆ เข้ามาอยู่ในบอร์ด แต่ไม่ให้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหรือซีอีโอ แต่ใช้วิธีการจ้างซีอีโอมืออาชีพเข้ามาบริหาร ทำให้บริษัทครอบครัวแห่งนี้ไม่ด้อยกว่าโฮลดิ้งอื่นๆ

ในขณะที่ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มากมายกลับมีปัญหา อย่างกรณีของเอ็นรอน แม้ว่าจะมีการสรรหาซีอีโอจากคนออกเข้ามาก็บริหาร แต่ด้วยพันธสัญญาที่กำหนดไว้ตั้งแต่การเซ็นสัญญาจ้างงานว่า ผู้บริหารจะต้องทำตัวเลขให้ได้เท่านั้นเท่านี้โดยไม่ได้สนใจว่าจะต้องสร้าง คนอย่างไร จะทำให้คนที่อยู่ในองค์กรรักองค์กรอย่างไร เพราะอีกไม่กี่ปีก็หมดสัญญาจ้าง

ตรงนี้จะ เห็นว่า เรื่องงาน HR สำคัญมาก เพราะเกี่ยวกับคนทั้งทีม ถ้าทีมงานอยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข เรียกว่ามีสุขภาพจิตที่ดี ทีมงานนั้นก็จะร่วมมือร่วมแรง ร่วมใจในการช่วยกันแก้ปัญหา แล้วก็มองไปข้างหน้า ก็จะทำให้องค์กรยั่งยืน

ซึ่งที่ ผ่านมาเวลาพูดถึงคำว่า stakeholderทุกคนจะคิดถึงผู้ถือหุ้น ลูกค้า ซัพพลายเออร์ แต่ลืมนึกถึงคนใกล้ตัว คือทีมงาน ที่เป็น stakeholderที่ สำคัญที่สุด

“องค์กรไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่ใบอนุญาต แต่องค์กรก็คือคนทั้งหมดที่ทำงานอยู่ด้วยกัน มีความสำคัญ มีความรักองค์กรมากกว่าผู้ถือหุ้น เพราะผู้ถือหุ้นมีหุ้นไว้ในมือ แต่อาจจะไม่ได้คิดถึงการทำงานขององค์กร ในขณะที่ทีมงานที่ทำงานกับองค์กร คิดถึงงานตั้งแต่ตื่นเช้ามา จนถึงเข้านอน

ฉะนั้น นโยบาย HR คือจะต้องทำให้ ทีมงานมีความสุข ทีมงานอยากมาทำงาน ไม่กลัววันจันทร์ เพราะที่ทำงานสนุก ไม่เครียด เพื่อนร่วมงานดี ผู้บริหารก็เป็นกันเอง เป็นห่วงเป็นใยต่อกัน ทุกคนก็จะรักองค์กร รักงาน รักลูกค้า รักอนาคตขององค์กร”

“ก่อ ศักดิ์”บอกว่า องค์กรจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้บริหาร ถ้าองค์กรใดที่หัวหน้าใหญ่ ผู้มีอำนาจสูงสุด เห็นทีมงานเป็นกระโถน รองรับอารมณ์ไม่ให้มีสิทธิเข้ามาร่วมในการตัดสินใจ ไม่ให้มีสิทธิในการออกความคิด พนักงานก็จะมองตัวเองว่าแค่มารับเงินเดือน อยู่ไปวันๆ อยู่ได้อยู่ อยู่ไม่ได้ไปหาที่อื่น องค์กรก็จะไม่มีพลัง

องค์กรอย่างนี้ ต่อให้มีคนมากก็เหมือนมีคนน้อยเพราะมีเพียงไม่กี่คนที่มีอำนาจ มีหัวคิด ไม่มีใครช่วยคิด

เพราะฉะนั้นองค์กรที่ดีที่สุดไม่ใช่องค์กร ที่คิดแต่กำไรสูงสุด แต่เป็นองค์กรที่ทำให้ทีมงานมีพลังสูงสุด



ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 13:54:35 น.
------------------------------------------------------------

จาก F/M "ปรองดอง สู่ หายนะ"

ผมได้อ่านได้ดู ข่าวแต่ละวันแล้วเกิดความ รู้สึกคล้าย ๆ กับว่ารัฐกำลังพยายามสร้างความรู้สึกบางอย่างสะสมให้ประชาชนเกิดความ
ไม่ชอบใจกับคนเสื้อแดงผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย

หลายครั้งที่มีการปะติดปะต่อเอา เหตุการณ์ หลาย ๆ เหตุการณ์เข้าไปไว้รวมกันเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจว่าทั้งแกน นำ นปช. และชาวเสื้อแดงได้มีแผนการที่จะจ้องคอยแต่จะทำลายบ้านเมือง ไม่ต่างกับในสมัยที่เผด็จการทหารในประเทศนี้ ได้เคยยัดเยียดความเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ให้แก่ทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเมื่อสี่ ห้า สิบปีที่แล้ว

นี่ ถ้าเป็นการตอบโต้ซึ่งกันและกันระหว่าง กลุ่มการเมืองแล้ว ผมคงจะเห็นว่าเป็นเรื่องสกปรกในระดับความเข้ม ข้นแบบ ธรรมดา ๆ ที่คาดเดาได้ แต่นึกไม่ถึงว่าจะเป็น Production ที่ถูกนำเสนอออกมาโดยฝ่ายรัฐ ซึ่งกำลังใช้ความได้เปรียบมาทำสงครามกับประชาชน

สิ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นนั้นมีสาระสำคัญอยู่ในประเด็น ที่ว่า รัฐนั้นเป็นผู้ ใช้กฏหมาย และเป็นผู้ที่มีหน้าที่สร้างสังคมที่ เป็นธรรมให้ เกิดขึ้น รวมทั้งยังต้องรับผิดชอบต่อการรักษาความเป็นนิติ รัฐไว้ ไม่ผิดไปจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์ที่เคยพูดไว้ เมื่อก่อนจะ ใช้ กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม

แต่จนแล้วจนรอด ผมยังมองไม่เห็นความพยายามตามที่นายอภิสิทธิ์ได้เคยอ้างไว้เลย จะ มีสลับฉากออกมาบ้างก็เป็นประเภทการตั้งคณะกรรมการอะไรก็ไม่ทราบ มากมายกัน จนไม่รู้ต่อกี่คณะ เหมือนเป็นเครื่องมือกันคนนินทาว่า “ไม่ปรองดอง”

ดู แล้วก็สนุกดีเหมือนโชว์มหรสพตามงานวัด แต่หา สาระ แก่นสารที่ถูกต้องเป็นธรรมไม่ได้ ท่านแต่งตั้งกันเอาเอง สอบสวนกันเอง แล้วก็สรุปกันเอง ที่ห่วยที่สุดก็คือ ดันตั้งนาฬิกาเอาไว้ว่าน่าจะ รู้ผลกันใน 2-3 ปี ให้เงินไปใช้กันอีก 600 ล้าน แถมยังกล้าพูดอีกว่า
ไม่ ได้ทำเพื่อหาคนผิดแต่ทำเพื่อปรองดอง .. โอ้โฮ คิดได้ไงฟระ

ทั้งองค์กรสากลและสื่อ ฯ ทั่วโลกเค้าต่างก็พากันสำลักกับมุกของไทยแลนด์เรา พากันขึ้นข่าวบน หน้า เน็ต บ้างก็ทำรายงานแจกกันไปทั่วโลกขายขี้หน้าเขาไปถึงไหนแล้ว

แต่ โอ้ .. คุณพระช่วย เหมือนผีจะเป็นใจ!! รัฐบาล ไทยของเราก็ดูจะมั่นคงและ ยืนหยัดต้านกระแสโลกได้ อย่างเยือกเย็น เย็นเสียจนเหมือนจะเป็นอาการของ เส้นประสาทบนใบหน้าเกิดอาการอัมพฤกษ์ หมด ความรู้สึกบนใบหน้าไปเสีย แล้วอย่างเฉียบพลันและถาวร ฝรั่งมันถึงแปะไว้ ที่หัวบรรณาธิการว่า “ยุคใหม่ของเผด็จการทหารในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว”

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็ยังมี

รัฐไม่เคยลดละที่จะสร้างจินตภาพให้เรา เห็นว่า การทำให้ประชาชนตายลงไปเกือบร้อยศพนั้นเป็นความจำเป็น เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ เป็นความชอบธรรมของ รัฐบาลและถูกกฏหมาย รัฐพยายามเสนออะไรต่อมิอะไรจนจำไม่ไหว เพื่อหวังให้เป็นโลโก้ของคำ ว่า”ปรองดอง” ในขณะที่ อีกทางหนึ่งก็กลับปล่อยให้คนในรัฐบาลออกมา ยกตัวอย่างประวัติอาชญากรรมของผู้เสียชีวิตเพียงไม่กี่ราย นำมากล่าวอ้างแก้ตัว

ในสภาต่อหน้าคนไทยหกสิบล้านคน พยายามจะสื่อและสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้กับประชาชนในทำนองว่า ผู้เสียชีวิตร่วมเกือบร้อยศพนั้นดูจะเป็นอาชญากร ไปเสียทั้งสิ้น และรัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจาก “ปลิดทิ้ง” เสีย

วัน ดี คืนดีก็ส่งโฆษกปากพล่อยออกมาปล่อยข่าวป้ายสีเค้าเสียเป็นตุเป็นตะ เคราะห์ดีนะที่ชาวบ้านเค้าไม่เล่นด้วย เลยโดนจระเข้ฟาดหางเข้าให้ ตีซะหน้าแหกจน เมียคงจะจำหน้าไม่ได้แล้ว

การสร้าง ความปรองดองนั้นมันไม่ได้ยากเย็นซับซ้อนอะไร ขอเพียงแค่การหยิบยื่น ความเป็นธรรม มอบความเมตตาให้แก่ประชาชนแทนการป้ายร้ายใส่สี และผู้ เสีย ชีวิตทุกคนควรจะต้องได้รับสิทธิในการสืบประวัติว่าพวกเขาเป็นใคร มาจาก ไหน เป็นโจรก่อการร้ายติดอาวุธ หรือเป็นเพียงแค่ชาวบ้านธรรมดา ๆ ที่ ปฏิเสธรัฐบาลคณะนี้เท่านั้น

หากรัฐตั้งใจที่จะละเลยในเรื่องนี้ ผมก็มองเห็นเหตุผล อยู่เพียงข้อเดียวเท่านั้นคือ รัฐบาลกลัวความจริงที่ว่าตนได้ทำผิดพลาด
และ ได้พลั้งมือสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ลงไปแล้วเป็นสิบ ๆ ศพและกลัวที่จะต้อง มีโทษอาญาติดตัวให้ได้ชดใช้กันในวันข้างหน้า

รัฐบาลมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงและ ต้อง ปล่อยข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงประชาชนได้ อย่างที่ประเทศในโลกเสรีประชาธิปไตยที่เจริญแล้วเขากระทำกัน รัฐ ต้องหัดที่จะเคารพต่อวิจารณญาณของประชาชน และต้องรู้จักจำใส่หัวใจเอา ไว้เสมอว่า วิจารณญาณอันเดียวกันนี้แหละที่เลือกให้พวกท่านทั้งหลาย ได้ มีโอกาสพากันเข้ามานั่งทำหน้าที่ในสภาและในทำเนียบ ฯ ได้จนทุกวันนี้

ทั้งหมดที่ผมยกมานี้ ไม่เพียงแต่จะไม่ใช่วิถีทางแห่งนิติรัฐเท่านั้น แต่กลับเป็นการใช้อำนาจที่มีอยู่ไปในทางมิชอบ และดูเหมือนจะเป็นการใช้สื่อ ฯ และคนในควบคุมของรัฐมาทำการโฆษณาชวน เชื่อเพื่อลบความผิดพลาดให้พ้นตัวพร้อม ๆ ไปกับการสร้างความชอบธรรมย้อน หลังให้แก่ตัวเองและคณะเท่านั้น .. และที่สำคัญที่สุด

รัฐบาล กำลัง ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างไม่มีขอบเขต

รัฐบาลละเมิดสิทธิเสรีภาพของ ประชาชน อย่างไม่มีข้อจำกัด โดยอาศัยแค่เพียงกฏหมายเล็ก ๆ ระดับแค่พระราชกำหนดเพียงฉบับเดียวมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดสิทธิในการงดใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นถึงแม่บทในการปกครองประเทศและเป็นหลักประกันเดียว ที่ยังเหลืออยู่เพื่อจะยืนยันความมีตัวตนของสิทธิและเสรีภาพที่ ชาวไทย พึงมีและ พึงได้

นึกแล้วก็ให้อดขำไม่ได้ ว่าอย่างนี้หรือคือ .. นิติรัฐ ?? และพาลให้สงสัยว่า จุดนี้คือที่เริ่ม ต้นของ “ความปรองดอง” หรือ “ความหายนะ” กันแน่


มหา ชำร่วย
--------------------------------------------------

จาก อัลบั้ม นสพ.ข่าวสดรายวัน

สลาย"แดง" เกมปฏิรูป-ปรองดอง

มหกรรมฟุตบอลโลกจะสิ้นสุดลงในคืนวัน ที่ 11 กรกฎาคมนี้

32 ทีมจากทุกทวีป ใช้เวลาเดือนเศษๆ วาดลวดลายสะกดโลกทั้งใบไว้ด้วยมนต์ลูกหนัง

ได้ตื่นตาไปกับแท็กติกยิง ประตู, เรียกลูกโทษ, เกมรุก- เกมรับ

และเทคนิคถ่วงเวลานาทีท้ายๆ เปลี่ยนตัวผู้เล่น ครองบอล ลากบอลไปกักไว้ที่มุมธง ฯลฯ

สารพัด เพื่อรักษาผลการแข่งขันที่ตัวเองต้องการ

สถานการณ์ของรัฐบาลพรรคประ ชาธิปัตย์ก็คล้ายๆกัน

เวลาใกล้หมดเต็มที แรงกดดันมหาศาลจากฝ่ายตรงข้าม และผลจากการสลายม็อบ เทคนิค-แท็กติกในการถ่วงเวลามีเท่าไหร่ งัดขึ้นมาใช้หมด

เดิมพันคือ "อำนาจรัฐ" ดังนั้น เล่นกันแบบเอาเป็นเอา ตาย

แม้จะเป็นต่อสารพัด กรรม การก็เข้าข้าง เป่าแหลก แจกใบเหลืองใบแดงฝ่ายตรงข้ามไม่อั้น แต่ก็ยังนอนใจไม่ได้ว่า หมดเวลาเข้าจริงๆ เลือกตั้งใหม่ จะได้ชูถ้วยหรือไม่

ขนาด เลือกตั้งซ่อมเขต 6 กรุงเทพฯ ก็ยังไม่แน่ใจว่าผู้สมัครปชป.จะชนะ

ยิ่ง ไม่แน่ใจ ยุทธศาสตร์ก็คือการเร่งสร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง

และ ถอนรากถอนโคนคู่ต่อสู้ไปพร้อมกัน


รัฐบาลสลายม็อบที่ราช ประสงค์เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม จับแกนนำไปควบคุม ไล่ล่าการ์ดเสื้อแดง และเรียกตัวท่อน้ำเลี้ยงมาสอบสวน

ดูเผินๆ เหมือนกับจับเสื้อแดงขึงพืดไว้แล้ว

แต่ก็รู้กันว่า สถานการณ์ยังไม่กลับสู่ปกติ

แม้จะเปิดเกมเรียกความสามัคคี ระดมศิลปิน-ดารา มาร้องเพลง

เปิดแคมเปญ 6 วัน 63 ล้านความคิด ให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น ระบายทุกข์ร้อนที่ทำเนียบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงทุนมารับสายด้วยตนเอง

และกิจกรรมเก๋ๆ สารพัด มีกองเชียร์และแม่ยกตามอวยไม่หยุดยั้ง

แม้จะสรุปผลแบบหน้า ชื่นตาบานว่า ประสบความสำเร็จ

แต่ทั้งหมดนี้ ยังเป็นแค่กิจกรรมสร้างภาพเท่านั้นเอง

ถ่ายรูปเป็นข่าว หรือนำไปออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อาจจะดูดี

แต่ไม่มีผลในทางสร้าง ความเข้าใจระหว่างที่มีความเห็นแตกต่างเลย

สนุกกันอยู่กลุ่มเดียว แถมได้ใช้งบประมาณแบบเนียนๆ อีก

ตราบใดที่รัฐบาล ยังไม่เลิกแนวคิด หรือยุทธศาสตร์ถอนรากถอนโคนเสื้อแดง

จงใจละเว้นกลุ่มคนที่ได้รับผล กระทบจากการสลายม็อบ จงใจละเว้นคนที่คิดต่าง ไม่เข้าไปเยียวยาคนเสื้อแดงอย่างจริงจัง

นอกจากละเว้นแล้ว ยังไล่ล่า พยายามจับกุมคุมขัง

ไฟเขียวให้ขบวนการล่าแม่มดในอินเตอร์เน็ต ไล่ประณาม จองเวรคนที่คิดต่างจากรัฐบาล

ลูกเล็กเด็กแดง แสดงความคิดเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ กลายเป็นโจรผู้ร้าย ต้องขับไล่จากสังคม ล่าสุดคือเหตุการณ์ที่เกิดกับ"มาร์ค วี 11"

กลายเป็นเงื่อนไขขยายแผล ความขัดแย้งในสังคมให้ถ่างกว้างขึ้นไปอีก

ส่วนคนเสื้อแดงจำนวนมากสูญ เสียอาชีพ เพราะบาดเจ็บ บ้างเสียชีวิต บ้างสูญเสียสมาชิกครอบครัวที่เคยเป็นตัวหลักในการทำมาหากิน

จนบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครเหลียวแล

แน่นอนว่า ความสูญเสียส่วนหนึ่งมาจากความดื้อดึงของแกนนำเสื้อแดงที่ไม่ยอมยุติการ ชุมนุมในจังหวะที่ควรจะยุติ

แต่ชี้ขาดที่การตัดสินใจของรัฐบาลว่า ไม่ควรตัดสินใจสลายการชุมนุม ซึ่งไป"เข้าทาง"แกนนำบางส่วนเข้าเต็มๆ

แค่ การสร้างความเป็นธรรมในเบื้องต้นยังล้มเหลว

แล้วจะมีความหวังกับความ เป็นธรรมในระดับรากฐานหรือระดับโครงสร้างได้หรือ



สถานการณ์ ที่ยังไม่ปกติ รวมถึงการที่รัฐบาลยังยืนยันใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉินเอาไว้

และออกข่าวร้ายเพื่อสนับสนุนการใช้พ.ร.ก. อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นข่าวลอบสังหารผู้นำรัฐบาล ข่าวเสื้อแดงฝึกอาวุธ ที่ชายแดนไทยพม่า อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี, ที่ป่าลึกต้องเดินเท้าเข้าไป 10 ก.ม. ที่อ.ปักธงชัย นครราชสีมา

และ ที่แฟลตการเคหะ 55 ถนนคู้บอน ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงประเทศไทยนี่เอง

เดือด ร้อนให้ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาปฏิเสธข่าวแบบเซ็งๆ

ที่ชวนฮาไม่แพ้ กัน คือข่าวรถเงาะบึ้มข้างพรรคภูมิใจไทย ที่ตำรวจโชวฝีมือจับกุมตัวมาได้

แต่ เปิดรายละเอียดออกมา กลับมีกลิ่นทะแม่งๆ ของคนกันเอง

แถมสมเด็จฮุน เซนยังใจดี จับ 2 ผู้ต้องหาที่หนีไปเขมร ส่งคืนมาให้

เพราะทั้ง 2 คนขยันผิดปกติ แทนที่จะซุ่มซ่อนนิ่งๆ กลับไปวุ่นวายตามตัวแกนนำเสื้อแดงที่ลี้ภัยที่นั่น

เลยต้องส่งคืน เป็นผู้ร้ายข้ามแดน เพราะขี้เกียจจับข้อหาสปายให้ทะเลาะเบาะแว้งกันอีก

ข่าว ฮาๆ แบบนี้ ชั่งน้ำหนักว่าใครได้ประโยชน์

คำตอบง่ายๆ คงไม่ใช่คนเสื้อแดงแน่นอน



ที่ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ได้แก่การดึงเอาผู้อาวุโสอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี, น.พ. ประเวศ วะสี นักกิจกรรมสังคม และนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด

เพื่อ จัดทีมปฏิรูปประเทศไทย, สอบสวนหาข้อเท็จจริง การสลายม็อบเสื้อแเดง

กรอบ เวลาในการทำงานสบายๆ ไม่ต้องเร่งรัดรีบร้อน

งบประมาณมีให้เต็มที่ ด้วยเหตุผลที่นายสุเทพบอกว่า เผาบ้านเผาเมืองยังมากกว่านี้เยอะ

เปิด โฉมคณะกรรมการออกมาแล้ว มีทั้งเสื้อเหลือง คนรัฐบาล และนักวิชาการอิสระ ผสมๆ กันไป

เป็นอีกเกมที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้เวลาที่เหลืออยู่ ของรัฐบาล

หลายคนไม่เป็นที่เชื่อถือ เพราะมีประวัติรับใช้การเมืองมาตลอด

แต่นักวิชาการอิสระหลายคน ตอบรับทำงานด้วยความจริงใจ และหวังดีต่อบ้านเมือง

ส่วนจะทำงานบรรลุ เป้าหมายแค่ไหนยังน่าสงสัย

เพราะทิศทางของผู้สนับสนุนรายใหญ่ เห็นชัดว่ามุ่งแต่ผลทางการเมืองของรัฐบาล บั่นทอนขบวนการเสื้อแดง โดยชูคำว่าปฏิรูปและปรองดองอำพรางไว้

"ตอ"ที่นักปฏิรูปอาจเดินสะดุด ในอนาคตอันใกล้ อาจไม่ใช่ใครที่ไหน

แต่คือเจ้าของโครงการปฏิรูปนั่น เอง


ที่มา: ข่าวสดรายวัน
วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7164
หน้า 3

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นหน้าไอ้เหี้ยผู้ดีอังกฤษแล้วเกลียดขี้หน้ามัน...ไอ้สัตว์ ปันยาอ่อน

    ตอบลบ