วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 29, 2553

ไทยรัฐออนไลน์: ไขปริศนา 'สันดานฤดูฝน' ...!?! แล้วคุณละฝนตกตรงเวลาเหมือนแกล้งแบบนี้ คุณคิดว่าเป็นเพราะว่าเราทำผิดอะไรไปหรือเปล่า...???



ช่วงนี้ ฝนกับคนกรุงดูเหมือนเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออกไปแล้ว, หลายวันที่ผ่านมาแทบจะทุกเช้าที่ตื่นมาแล้วมองไปนอกหน้าตาสิ่งที่เห็นก็คือ "ฝนตก" กระทั่งตอนเย็นกำลังเก็บของจะกลับบ้านฝนก็เริ่มกระหน่ำอีกระรอกใหญ่ แต่ทว่าสิ่งที่คาใจทุกๆ คน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่เข้างาน 08.00 เลิกงาน 17.00 น.ก็คือทำไมฝนมันจึงมีพฤติกรรมที่น่าฉงนสงสัย...

กล่าวคือ ช่วงเวลาอื่นๆ ที่คนทำงานหาเช้ากินค่ำกลับไม่ค่อยจะตก แต่ดันมาตกขณะจะไปทำงาน และขณะจะเลิกงาน

จาก ไทยรัฐออนไลน์


หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าฟ้าฝนมีอะไร “กินใจ” กับคนหาเช้ากินค่ำหรือไม่ กระทั่งแท้จริงแล้วคนกรุงเทพฯ ทำอะไรผิดไปหรือเปล่า เช่น ปล่อยให้นักการเมืองเลวโกงรายวัน, ปล่อยให้คนเผาบ้าน-ยึดสนามบิน, มอมเมาลูกหลานให้บ้าดาราจนไม่สนใจการเรียน, ปล่อยให้ทหารรัฐประหาร, ปล่อยให้โฆษณาขอโทษประเทศไทยโดนแบน กระทั่งเรื่องขี้หมาๆ อย่าง ปล่อยคนให้เอาเปรียบเพื่อนที่ทำงาน, ทิ้งขยะไม่ทิ้งลงถัง, จอดรถยนต์บนฟุตบาต, ยืนฉี่รดรั้วบ้านคนอื่น ฯลฯ จะโดยไม่ตั้งใจหรือเปล่า “ฟ้า” จึงนั่งร้องไห้ หรือ ตกเพราะต้องการลงโทษทัณฑ์เพื่อจะสอนว่าชีวิตมันไม่ง่าย

ไทยรัฐ ออนไลน์ ปุจฉา ตั้งคำถาม โดยมี 3 กูรูวิสัจนาตอบปัญหาเบาๆ ในวันที่สังคมมีแต่สิ่งหนักๆ กับเรื่อง “ฝนๆ”

นักวิชาการคนแรกที่จะมาถอดรหัสผ่าน ไทยรัฐ ออนไลน์ คือ นายทรง กลิ่นประทุม หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า เป็นการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจ เพราะถ้าเปรียบไปฝนถือว่าเป็นมีสิ่งที่เราเรียกว่า วงจรชีวิต แม้จะไม่มีชีวิตเหมือนคน แต่มีอุปนิสัยที่ตรงต่อเวลา

“เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่คนสงสัยกันเยอะ โดยเฉพาะคนเมืองและพนักงานออฟฟิศว่าทำไมฝนตกตอนเช้าก่อนจะไปทำงาน พอเย็นก่อนจะกลับบ้านฝนก็มาตกอีกรอบ เป็นแบบนี้ประจำสำหรับฝนตอนเช้าอธิบายได้ว่าตอนใกล้ๆ จะสว่างเป็นช่วงที่มีภาวะยกมวลอากาศ โดยลมมันจะพัดสอบอยู่ช่วงหนึ่งที่เกิดเหตุอย่างนี้ ส่งผลให้มวลอากาศที่อยู่ล่างๆ ปกติจะยกตัวขึ้น ซึ่งการที่มันจะยกตัวได้ก็ต้องมีปัจจัย เช่น กระแสความกดที่มันเบียดมาแล้วไปทางไหนไม่ได้ ที่สุดแล้วก็ต้องยกตัวขึ้นด้านบนกลายเป็นเมฆ-ฝน และสภาพที่กล่าวมามักเกิดใจช่วงเช้าๆ พอช่วงเย็นที่มาตรงเวลาก็เป็นลักษณะของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพอมรสุมตัวนี้เข้ามาแล้วมันจะมีวงจรของมันที่เกิดจากพลังงานดวงอาทิตย์ พอถึงวงรอบได้ที่ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาคนเลิกงานพอดี”

จาก ไทยรัฐออนไลน์


แต่จะเหมารวมง่ายๆ แบบชั้นเดียวว่าฤดูฝนที่มาตรงเวลาเช้า-เย็นในกรุงเทพฯ มันไม่มีชีวิตนั้น หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือบอกว่าพูดไม่เต็มปาก ซึ่งเราเรียกพฤติกรรมฝนตกเช้า-เย็นฝนเป็นประจำแบบว่าเป็น “วงชีวิต”

“จริงๆ คำนี้ไม่ได้หมายถึงฝนมีชีวิตแบบคนเรา ซึ่ง “วงชีวิต” ของเขาก็คือ เกิด เติบโต คงอยู่ แล้วมันก็สลายการตก คือ การสลายตายอย่างหนึ่ง เปรียบไปก็เหมือนกันชีวิตพนักงานออฟฟิศเช้าก็ต้องรีบไปทำงาน เย็น-มืดก็ออกจากออฟฟิศ วนอยู่แบบนี้เรื่อยๆ เพียงแต่ว่าเสาร์-อาทิตย์เขาไม่หยุดเท่านั้น ถามว่าภาคอื่นๆ ฝนตกเช้า-เย็นตรงเวลาเหมือนกันกับพฤติกรรมฝนในกรุงเทพฯ ไหมไม่ต้องพูดถึง เพราะแม้แต่ภาคเดียวกัน กระทั่งคนละบริเวณกัน ฝนก็ยังตกไม่เหมือนกันเลย อย่างไรก็ดี เรื่องฝนตกตรงเวลาหรือไม่ หรือตรงไหนตกมาก-น้อยเพียงไรมันจะต้องมีเรื่องปัจจัยและสภาพภูมิศาสตร์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝน ผู้นี้ ยังฝากทิ้งท้ายเรื่องน้ำด้วยว่า จากที่เฝ้าสังเกตุการณ์ดูพฤติกรรมฝนมาหลายปี ปีนี้ฝนตกช้ามากที่สุดในรอบหลายๆ ปี ซึ่งนอกจากจะมาช้ามากแล้วปีนี้ฝนยังมาเร็ว ไปเร็ว แล้ว ฤดูฝนประจำปีเวลามันยังเพี้ยนไปมากๆ จากที่ประมาณกันว่าต้นเดือนพฤษภาคมจะเข้าสู่ฤดูฝนของทุกปีจะเข้าหน้าฝน หรือเอาตามกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศก็คือวันที่ 8 -20 -22 พ.ค.ซึ่งผลกระทบจากพอผ่านไปเร็วแบบนี้เขตพื้นที่ภาคเหนือแล้งเยอะ

แต่ โชคดีปีนี้เราได้หางพายุหลายลูกเข้ามาช่วยในช่วยที่เป็นวิกฤตการขาดน้ำ ดังนั้น จึงไม่อยากให้บ่นว่าฝนตกหนัก เพราะวันนี้ตกดีกว่าไม่ตกแน่นอน

มาฟังเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายข้อมูลสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ ไขปริศนาเรื่องนี้ว่า ตามทฤษฎีแล้วธรรมชาติของพฤติกรรมประจำของมรสุมในประเทศไทยคือฝนมีสิทธิจะตกช่วงบ่ายๆ เป็นต้นไป

“แต่ ที่เราเห็นว่าตกตอนเช้า เย็นตรงเป๊ะๆ ทุกๆวันตลอดระยะเวลาฤดูฝนนั้น น่าจะมีจากร่องความกดอากาศที่มีต่ำ ผนวกเข้ากับเป็นพฤติกรรมของฤดูมรสุมประเทศไทยอีกแรงหนึ่งด้วย ดังนั้นพอเช้ามันก็จะตกเยอะ แต่จริงๆ ธรรมชาติของฝนบ้านเราจะต้องอยู่ระหว่างบ่าย 1 บ่าย ถึง 3 โมงเย็น นอกจากนี้สังเกตถ้าฝนตอนตกเช้าจะตกไม่หนัก”
นอกจากนี้ เจ้าหน้าฝ่ายจากสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กล่าวว่า หลังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเพียงไม่กี่วัน มีปริมาณน้ำเฉลี่ยมากถึง 200 มิลลิเมตร เมื่อเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมปกติของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 200 มิลลิเมตร ซึ่งประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่น่าจะรับมือได้ เพราะกทม.สามารถระบายน้ำในปริมาณฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตรเท่านั้น และหากปริมาณฝนที่ตกลงมาเกิน 100 มิลลิเมตร จะต้องใช้เวลาระบายน้ำไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง จึงทำให้มีน้ำท่วมขังบ้างในพื้นที่ลุ่มและจุดอ่อนน้ำท่วมขังแน่นอน

“แต่ ถามว่าน้ำจะท่วมใหญ่ในเวลาอันใกล้ไหม ตามตัวเลขดังกล่าวไม่น่าจะท่วมได้แต่อาจจะเป็นสภาวะน้ำขังบริเวณเมืองใหญ่ เนื่องจากเราผังเมืองเรามันห่วย สร้างบ้าน สร้างถนนทับเส้นทางอันมากมาย อีกทั้ง ถนนบางสายยังอยู่ในที่ต่ำอีก เช่น สุขุมวิท บางนา ธนบุรี, ถนนรัชดาตัดลาดพร้าว, ถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนงามวงศ์วาน เป็นต้น ซึ่งปีนี้ถือว่าฝนตกไม่ตรงเวลามากที่สุดในรอบ 20 ปี โดยจะเห็นได้ว่าเมืองไทยไม่มีพายุใหญ่ๆ เข้ามา 3 ปีแล้ว ซึ่งคำว่าเข้าหมายถึงใจกลางพายุจะเข้าไทย ทั้งอีสาน-เหนือ ปัจจัยหลักก็น่าจะมาจากเรื่องปัญหาโลกร้อน”

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายข้อมูลสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ บอกว่ามักจะมีคำถามอยู่เรื่อยๆ ว่าน้ำในเขื่อนไม่เก็บเยอะๆ เราถามว่าถ้าเก็บเยอะๆ แล้วพายุเข้ามันจะเกิดอะไรขึ้น เขื่อนก็พัง ก็มาบอกว่าทำไมกรมชลฯ หรือไฟฟ้าไม่ปล่อยน้ำ ถ้านึกภาพตามแล้วน้ำมันไหลเป็นโดมิโน ในกรณีที่อยากได้น้ำจริง ๆ แต่เราไม่มีปัญญาสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ๆ เพราะว่าฝนบางที่ก็ตกบ้างไม่ตกบ้างทำอย่างไร มันถึงจะสมดุลนั่นคือปัญหาทำไมกรมชลฯ ปล่อยให้น้ำท่วม ถ้าลองมานั่งด้วยกันมันไม่ง่าย บางที่เราถูกตี ซึ่งถ้าผู้มีส่วนรับผิดชอบตั้งแต่ปูรากฐานของการวางพังเมืองให้ดี เหตุการณ์น้ำท่วมแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

ในฐานะที่อยู่กับตัวเลขสิ่งที่แนะนำได้ก็คือรีบย้ายเมืองหลวงเพื่อหนี้น้ำท่วมใหญ่ดีกว่า


สุดท้ายฟังการไขปริศนา จากปาก นายอังสุมาล ศุนาลัย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

“เป็น เรื่องที่ตอบยาก จริงๆ น่าจะเป็นพฤติกรรมประจำๆ ของฝนในภาคกลางโดยเฉพาะในที่ตกตรงเวลาในกรุงเทพฯ อย่างที่รู้กันอยู่ว่ากรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ฝนตกต้องตามฤดูกาลค่อนข้างดีมากที่สุดแห่งหนึ่ง เขาจึงตั้งมาเป็นเมืองหลวงอย่างทุกวันนี้ เนื่องจากสมัยก่อนรุ่นพ่อแม่ของเรา มีอาชีพหลักเป็นการเกษตร ฉะนั้นพื้นที่ที่ใช้เป็นเมืองหลวงตรงนี้ ถือว่าเป็นที่เหมาะสมที่สุดกับความสม่ำเสมอของฝน ส่วนเรื่องฝนตกตรงเวลาเหมือนแกล้งคนทำงานก็น่าจะมาจาก ธรรมชาติของมันฝนภาคกลาง ซึ่งหากเกิดมีหย่อมกดอากาศต่ำเมื่อไรมันก็จะสั่งเมฆฝนเข้ามา” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวในที่สุด

แล้วคุณละฝนตกตรงเวลาเหมือนแกล้งแบบนี้ คุณคิดว่าเป็นเพราะว่าเราทำผิดอะไรไปหรือเปล่า...???



ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

* โดย ทีมข่าวไลฟ์สไตล์
* 23 กรกฎาคม 2553, 05:15 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น