จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
เป็นที่ทราบกันดีว่า "กรุงธนบุรีฯ" เป็นราชธานีหนึ่งของประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2310-2325 แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นบทเรียนสำคัญของการศึกษา เพื่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของไทย ในด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง และความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ และนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อความเข้าใจในแง่มุมต่างๆของสังคมไทยในปัจจุบันอีกด้วย
สมาคมจดหมายเหตุสยาม ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันกันจัดการสัมมนาเรื่อง "จดหมายเหตุสยาม : จากกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ถึงเมืองจันทบูร" โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิมาให้คำบรรยาย อาทิ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายกสมาคมจดหมายเหตุสยาม ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ เห็นว่า การปาฐกถาพิเศษ ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในหัวข้อ "Siam to Burma Map : แผนที่เส้นทางเดินทัพจากกรุงธนบุรีถึงกรุงอังวะ ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตากสินมหาราช" มีประเด็นที่น่าสนใจ จึงนำเนื้อหาดังกล่าวมานำเสนอดังนี้
สมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบรีฯ เป็นสมัยของการกู้บ้านเมือง "อยุธยา" และสถาปนา "สยามประเทศ" ณ กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรได้แล้ว ก็ต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง "กรุงไทย" กับ "กรุงจีน"ตามระบบและระเบียบของโลกเอเชีย นั่นก็คือ การส่งคณะทูตบรรณาการไป "จิ้มก้อง" หรือ "เจริญสัมพันธไมตรี" อันเป็นโบราณราชประเพณี ที่ฮ่องเต้จีนใช้กับทุกๆประเทศในเอเชีย และประเทศอื่นทั่วโลก
การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในรูปแบบของ "การทูตบรรณาการ" นี้ เป็นหลักหมายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีฯ และนี่ก็เป็นความยากลำบากอย่างยิ่งยวด เพราะการล่มสลายของกรุงศรีิอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสิ้นสุดของ "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง" เกิดบ้านเมืองแตกแยก "เป็นก๊กเป็นชุมนุม" ในขณะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีฯ ก็สืบเชื้อสายมาจาก "สามัญชน" ก็มิใช่เป็น "ผู้ดี" หรือ "เชื้อสายเจ้านาย-ราชวงศ์เก่า" แต่อย่างใด
ทางราชสำนักของฮ่องเต้เฉียนหลง ซึ่งเป็นจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน ก่อนที่จะมีการปฏิวัติเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ในปี ค.ศ 1911 พระองค์ทรงครองราชสมบัติยาวนานถึง 60 ปี กับ 124 วัน ระหว่าง พ.ศ. 2278-2339 เทียบได้ว่าทรงครองราชย์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา 32 ปี และอยู่จนถึงปีที่ 14 ในรัชกาลที่ 1 ดังนั้นราชสำนักของไทยสยาม ไม่ว่าจะเป็นสมัยกรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงธนบุรีของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และสมัยรัตนโกสินทร์ของรัชกาลที่ 1 ต่างก็ต้องติดต่อสัมพันธ์กันในเชิง "การทูตบรรณาการ" กับราชสำนักจีนของฮ่องเต้เฉียนหลงทั้งสิ้น
ทางราชสำนักของฮ่องเต้เฉียนหลง ต้องการรักษาไว้ซึ่งระเบียบแบบแผนอันเป็น "สถานะเดิม" หรือ "Status Quo" นั่นก็คือ ไม่ต้องการรับรองบุคคลที่ไม่มี "หัวนอนปลายตีน" มาก่อน ดังนั้น แม้ราชสำนักใหม่ ณ กรุงธนบุรี จะพยายามส่ง "ทูตบรรณาการ" ไปกรุงจีน แต่ก็ไม่ได้การรับรองให้เข้าเฝ้า หรือได้รับพระราชทาน "ตราโลโต" แต่อย่างใด โดยฮ่องเต้จะพระราชทาน "ตราโลโต" ให้กับกษัตริย์ต่างๆ เพื่อใช้ประทับในพระราชสาสน์ สำหรับการติดต่อกับจีน โดย "โลโต" หมายความว่า "อูฐ" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการ "หมอบ" เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อฮ่องเต้ของจีน
ดังนั้น กว่าราชสำนักของพระเจ้ากรุงธนบุรีฯ จะได้การรับรองและได้ตรามา ก็ต้องเพียรพยายามส่งแล้วส่งอีก ตลอดรัชสมัย 14 ปีกว่า ของพระองค์ สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปภายหลังปี พ.ศ. 2314 เมื่อดูเหมือนว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีฯ จะสามารถสถาปนาพระราชอำนาจ และปราบปรามบรรดา "คู่แข่ง" หรือหัวหน้า "ก๊ก" และ "ชุมนุม" ต่างๆได้ แต่กว่าที่คณะทูตของพระองค์จะไปถึงเมืองจีน ก็ตกปี พ.ศ. 2324 เข้าไปแล้ว
นักวิชาการทั่วไปเชื่อว่า เมื่อคณะทูตชุดนี้กลับมาถึง "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" การเมืองไทยก็ผลัดแผ่นดินและสิ้นบุญของ "พระเจ้าตากสินมหาราช" และถูก "สำเร็จโทษ" หรือประหารชีวิตไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามอานิสงส์ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีฯ ได้ทรงเพียรพยายามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงจีน ได้ในปี พ.ศ. 2324 นั้น ก็ตกเป็นผลประโยชน์ทั้งทางการทูตและการค้า ให้กับต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ของราชวงศ์จักรี นับเป็นเวลานานถึง 72 ปีต่อมา คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่1 ถึงรัชกาลที่ 4 ระหว่าง พ.ศ. 2325-2397
มีคณะทูตบรรณาการจากกรุงไทย ไปกรุงจีน ถึง 35 ครั้ง หรือประมาณ 2 ปี ต่อ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก ก่อนที่ระบบการทูตนี้จะถูกยกเลิกไป โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงส่งทูตไป "จิ้มก้อง" ชุดสุดท้าย ก่อนที่สยามจะลงนามในสนธิสัญญาที่ "ไม่เสมอภาค" กับอังกฤษ คือ "สนธิสัญญาเบาว์ริง" เมื่อปี พ.ศ. 2398 เพียง 1 ปี
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่ทาง "กรุงไทย" มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ "กรุงจีน" การค้าข้าว การค้าโดยเรือสำเภา การอพยพโยกย้ายของคนจีนแต้จิ๋ว กวางตุ้ง และฮกเกี้ยน หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เป็นความสัมพันธ์เชิง "สันติภาพ" นั้น ความสัมพันธ์ของจีนกับพม่ากลับเลวร้ายลง และมีสงครามขนาดใหญ่อยู่ตลอดเวลา และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำไม ฮ่องเต้เฉียนหลงจึงทรงต้องการ "แผนที่" จากกรุงสยาม และทำไมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีฯ จึงส่งแผนที่ไปถวายให้
โดยสงครามจีนและพม่าครั้งใหญ่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2308-2313 หรือก่อนเสียกรุงฯครั้งสุดท้ายเกือบ 2 ปี และดำเนินมาอีกจนถึงหลังเสียกรุงฯอีกเกือบ 3 ปี
สงครามที่จีนบุกจากยูนนานเข้าไปในพม่าครั้งนี้ กองทัพชาวพื้นเมืองจากชายแดนจีน ปราชัยต่อ "คนป่าเถื่อน" หรือพม่า อย่างย่อยยับ ฮ่องเต้เฉียนหลงต้องส่งกองทัพชั้นนำที่เป็นทหาร "แมนจู" ของพระองค์ไปช่วย แต่ในปลายปี พ.ศ. 2312 แม่ทัพทั้งสองฝ่ายตกลงสงบศึกกัน และจีนก็ต้องถอนทหารออกอย่างทุลักทุเล องค์จักรพรรดิเฉียนหลง ต้องวางกองกำลังทหารไว้ตลอดแนวชายแดนยูนนานถึง 10 ปี และออกคำสั่งห้ามการค้าขายชายแดนในเวลาต่อมานานถึง 2 ทศวรรษ พร้อมๆกับการวางแผนโจมตีใหม่อีกครั้ง ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมเมื่อพม่าพิชิตอยุธยาได้ในปี พ.ศ. 2310 จึงต้องรีบถอยทัพส่วนใหญ่กลับประเทศ และทำไมฮ่องเต้เฉียนหลงจึงต้องการ "แผนที่" จากกรุงสยาม และทำไมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีฯ จึงทรงส่งไปถวายมากกว่า 1 ครั้ง
โดยแผนที่ดังกล่าวน่าจะถูกส่งไปถวายฮ่องเต้เฉียนหลง เมื่อประมาณก่อน พ.ศ. 2324 เมื่อพิจารณาดูจากรายละเอียดแล้ว ก็คือเป็นเส้นทางเดินทัพ หรือยุทธศาสตร์ที่ตั้งต้นจาก "เสียนหลอก๊ก" หรือกรุงธนบุรีฯ ไปยังกรุงหงสาวดีและอังวะ โดยผ่านเส้นทางหลายเส้น เช่น เส้นทางกาญจนบุรี เส้นทางเชียงใหม่ หรือเส้นทางเรือ ลงไปยังนครศรีธรรมราช ปัตตานี ปาหัง เข้าช่องแคบมะละกา ผ่านภูเก็ต ตะนาวศรี มะริด ทวาย เมาะตะมะ จนถึงกรุงหงสาวดีและอังวะ
โดยวิธีการวางแผนที่ให้ทิศเหนืออยู่ทางขวามือ ทิศใต้อยู่ซ้ายมือ ทิศตะวันออกอยู่ด้านล่าง ส่วนทิศตะวันตกอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นวิธีการวางทิศของโลกตะวันออก เช่น จีน ไทย และอุษาคเนย์ ที่ต่างกับโลกตะวันตก
ตรงกลางตามแนวนอนของแผนที่ น่าจะเป็นรูปของเทือกเขาตะนาวศรี ที่คั่นระหว่างไทยสยามและมอญพม่า ส่วนด้านล่างของเทือกเขานั้น เป็นรูปของคลื่นหรือน้ำ คือบริเวณทะเลอ่าวไทย ในขณะที่ด้านบนหรือด้านตะวันตก คือทะเลอันดามัน
ถ้าเรานำเอาป้ายชื่อของ "เสียนหลอก๊ก" หรือกรุงธนบุรีฯ ซึ่งอยู่บริเวณด้านล่างตรงกลาง ให้เป็นจุดศูนย์กลาง เราจะเห็นได้ว่า แผนที่นี้ได้บอก "เส้นทาง" จากกรุงธนบุรีฯ ไปยังศูนย์กลางของอาณาจักรพม่านั่นเอง หากตามเส้นประด้านบนก็คือ "กาญจนบุรี เขตแดนสยาม" และ "จากราชธานีหรือเมืองหลวงที่ธนบุรี ถึงกาญจนบุรี เดินทางบก 8 วัน ทางน้ำ 12 วัน" จากนั้นเส้นทางก็แยกเป็นเส้นประไปทางขวาหรือทิศเหนือ ไปยัง"เมาะตะมะ เขตแดนพม่า" และเส้นประไปทางซ้ายหรือทิศใต้ ก็จะถึง "เมืองทวาย เขตแดนพม่า เดิมเป็นเขตสยาม"
จากเมืองเมาะตะมะ มีเส้นประต่อไปทางซ้ายหรือทิศเหนือสู่ "หงสา ทางบก 15 วัน" ข้อความภาษาจีนยังขยายความต่ออีกว่้า แผนที่เก่าเขียน "ก๊กหงสา" จากหงสาต่อไปทางซ้ายหรือทางทิศเหนือ "ทางบก 15 วันถึงอังวะ เขตแดนพม่า"
ส่วนทางขวามือหรือทางทิศเหนือของ "เสียนหลอก๊ก" ก็จะพบว่า มีแผ่นป้ายสี่แผ่น วางตามแนวขวาง อ่านได้ว่าเป็นเมือง "กำแพงเพชร เขตสยาม สวรรคโลก พิษณุโลก" โดยมีเส้นประจากกำแพงเพชร ไปเชียงใหม่ ระยะทาง 10 วัน
ที่เชียงใหม่นั้น แผ่นป้ายเขียนอักษรจีนกลับหัวกลับหาง และเขียนว่าเดิม คือ "เชียงใหม่ก๊ก" และ "พม่ายึดไป" โดยมีเส้นประต่ีอไปยัง "15 วันก็จะถึงกรุงอังวะ"
โดยป้ายชื่อของ "เสียนหลอก๊ก" หรือกรุงธนบุรีฯ มีตัวอักษรจีนหนึ่งแถว ซึ่งทอดยาวไปทางซ้ายหรือทางทิศใต้ และไปตามทะเลและน้ำ โดยอ่านได้ใจความว่า "จากกรุงสยามไปถึงปาหัง (มลายู) ทางเรือทะเลระหว่างเดือน 9-10 ตามลมไป ใช้เวลา 15-16 วัน"
กล่าวโดยสรุปก็คือนี่คือ แผนที่ของกรุงสยาม หรือ "เสียนหลอก๊ก" ในปลายสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีฯ ที่แสดงเขตแดน ดินแดนและเมืองต่างๆ ทั้งทางด้านทิศตะวันตก ด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้ แต่ไม่มีทิศตะวันออก คืิอแถบจังหวัดจันทบุรี และตราด และเลยไปถึงประเทศกัมพูชา และเวียตนาม แต่อย่างใด
ที่มา: มติชนออนไลน์
วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 17:59:17 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น