000
8. ข้อเรียกร้องหาความยุติธรรม
ประเทศไทยมีพันธกรณีหลายระดับภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องนำผู้ ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะต้องทำการสืบสวนและดำเนินคดี(หากเป็นไปได้)ในทุกกรณีที่มีเหตุอันเชื่อได้ ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น การสังหารพลเรือนอย่างรวบรัดหรือตามอำเภอใจ (summary or arbitrary execution) โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ การสืบสวนจะต้องมีความเป็น ธรรม ครบถ้วน และดำเนินการโดยคณะที่เป็นอิสระและเป็นกลางอย่างแท้จริง นี่คือมาตรฐานที่ ระบอบอภิสิทธิ์ต้องปฏิบัติ ในการตรวจสอบว่ามีทหารหรือผู้นำพลเรือนคนใดหรือไม่ที่ต้องรับผิดชอบกับ 90 ชีวิตที่สูญเสียไป กับคนนับพันที่ได้รับบาดเจ็บ และคนนับร้อยที่ถูกจับกุมคุมขังตามอำเภอใจอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก ในกรณีร้าย แรงอย่างการสังหารอย่างรวบรัดตัดตอนหรือตามอำเภอใจนั้น การปกปิดของรัฐบาลเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
8.1 หน้าที่ในการสืบสวนและหาผู้กระทำความผิดของประเทศไทย
ประเทศไทยมีข้อผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งที่เป็นลายลักษณ์ อักษรและกฎหมายจารีตประเพณีที่จะต้องสืบสวนทุกกรณีที่มีเหตุอันควรให้เชื่อ ได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงและการกระทำผิดอื่นๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเกิดขึ้น และดำเนินคดี(ในกรณีที่ทำได้)กับผู้กระทำการละเมิด หน้าที่นี้เกี่ยวพันโดย ตรงกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของทหารในการปราบปรามพลเรือนในช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2553 ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างมีการชุมนุมและหลังการชุมนุม นั่นคือ การสูญหาย การคุมขังตามอำเภอใจโดยไม่มีกำหนดในสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ข้อเท็จจริงต่างๆ บ่งชี้มูลความผิดจำนวนมากที่ต้องมีการดำเนินคดีต่อทหารในกองทัพไทย รัฐไทย จึงมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการสืบสวนโดยคณะที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง
ประเทศไทยมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการสืบสวนตามหลักการ aut dedere aut judicare (หน้าที่ที่ต้องดำเนินคดีและส่งผู้ร้ายข้ามแดน) ที่ปรากฏในสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคี เช่น มาตราร่วมของอนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่ฉบับ พ.ศ. 2492 อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ พ.ศ. 2527 อนุสัญญาการก่อการร้ายแห่งยุโรป พ.ศ. 2520 อนุสัญญาการจับตัวประกัน พ.ศ. 2522 และอนุสัญญานิวยอร์กว่าด้วยอาชญากรรมต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองโดยสากล พ.ศ. 2516 [160]
หน้าที่ที่ต้องดำเนินการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงปรากฏ อยู่ทั่วไปในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นกฎข้อหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นจารีต ประเพณี สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกล้วนยอมรับในหน้าที่นี้ ในกรณีของประเทศไทย มีหน้าที่นี้โดยตรงภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมือง (ICCPR) [161] คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่ดูแลและเป็นผู้ตีความ ICCPR ระบุว่า
พันกรณีเชิงบวกของรัฐภาคีในการดูแลให้มีสิทธิตาม กติกาฯ จะถือปฏิบัติสมบูรณ์ได้เพียงต่อเมื่อปัจเจกบุคคลได้รับการคุ้มครองโดย รัฐ.......จากการละเมิดสิทธิในกติกาฯโดยเจ้าหน้าที่รัฐ.... อาจจะมีสถานการณ์ที่การไม่สามารถรับประกันสิทธิตามกติกาฯ ดังที่กำหนดไว้ในข้อ 2 จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเหล่านั้นโดยรัฐภาคี อันเป็นผลจากการที่รัฐภาคีอนุญาตให้มี หรือไม่สามารถที่จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสม หรือไม่ได้ดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อป้องกัน ลงโทษ สืบสวน หรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำเช่นนั้น รัฐได้รับคำเตือนให้ระลึกถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างพันธกรณีเชิงบวก ที่กำหนดไว้ในข้อ 2 และความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพเมื่อเกิดการ ละเมิดสิทธิตามข้อ 2 วรรค 3 [162]
พึงสังเกตว่า ICCPR ระบุให้รัฐภาคีต้องดำเนินการสืบสวนอย่างครบถ้วนและเป็นธรรม และดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ:
จะต้องมีกลไกทางการปกครองต่างๆ เพื่อทำให้พันกรณีทั่วไปในการสืบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นโดยทัน การ รอบด้าน และมีประสิทธิภาพ ด้วยหน่วยงานที่เป็นอิสระและเป็นกลาง [163]
และพึงสังเกตด้วยว่า ความล้มเหลวของรัฐภาคีในการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยังจะเป็น การละเมิดสนธิสัญญาอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมร้ายแรง เช่น การฆ่าตามอำเภอใจ:
เมื่อการสืบสวนตามที่กล่าวไว้ในย่อหน้า 15 พบว่ามีการละเมิดสิทธิตามกติกาฯ บางประการ รัฐภาคีจะต้องดูแลให้ผู้ที่รับผิดชอบต้องถูกนำตัวสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น เดียวกับในกรณีความล้มเหลวที่จะสืบสวน ความล้มเหลวในการนำตัวผู้กระทำการละเมิดเช่นนั้นสู่กระบวนการยุติธรรมจะทำ ให้เกิดการละเมิดกติกาฯ เป็นกรรมแยกต่างหากไปอีกในตัวของมันเอง พันธกรณีเหล่านี้เกิดขึ้นกับการละเมิดที่ถูกถือว่าเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายใน ประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี (ข้อ 7) [และ] การฆ่าโดยพลการและตามอำเภอใจ (ข้อ 6)..... ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐได้กระทำการละเมิดสิทธิตามกติกาฯ ที่กล่าวถึงไว้ในย่อหน้านี้ รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ปล่อยให้ผู้กระทำการละเมิดหลุดพ้นจากความรับ ผิดชอบส่วนตนไปได้ [164]
ประเทศไทยจึงมีข้อผูกมัดภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะต้องจัดให้มี การดำเนินการสืบสวนที่ครบถ้วนและเป็นธรรมโดย “คณะที่เป็นอิสระและเป็นกลาง” ไม่เพียงแต่มีเหตุอันเชื่อได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยเจ้า หน้าที่รัฐเท่านั้น ยังมีหลักฐานหนักแน่นชี้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นเกิดขึ้นภายใต้ การชี้นำของรัฐบาล การใช้กระบวนการยุติธรรมที่มีความลำเอียงทางการเมืองของ ไทยหรือคณะกรรมการสืบสวนที่ไม่มีความโปร่งใสที่ควบคุมโดยระบอบอภิสิทธิ์นั้น ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยความอิสระและความเป็นกลาง อันที่จริง การล้มเหลวในการดำเนินการสืบสวนควรได้รับการพิจารณาว่าอาจเข้าข่ายเป็นการ ละเมิดพันธกรณีที่ไทยมีต่อ ICCPR อีกคดีหนึ่งด้วย
8.2 การสังหารโดยพลการและตามอำเภอใจ: การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่นๆ
ICCPR ระบุว่าต้องไม่มีใครถูกพรากชีวิตไปโดยอำเภอใจ [165] และยังรับรองสิทธิที่จะปลอดพ้นจากการถูกทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายหรือย่ำยีศักดิ์ศรี [166] และการถูกคุมขังตามอำเภอใจ [167] นอกจากการเสียชีวิตของคนจำนวนมากแล้ว ยังมีสมาชิกนปช.จำนวนมากที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวด้วยข้อหา ละเมิดพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และ/หรือพระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน ที่ประกาศใช้และคงไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สิทธิในการเข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรมที่เป็นธรรมของบรรดาผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้วย
ต่อให้ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของ ICCPR ก็ยังต้องมีหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องดำเนินการสืบสวนอย่าง ครบถ้วนและเป็นกลางต่อกรณีการวิสามัญฆาตกรรม การสังหารอย่างรวบรัดหรือตามอำเภอใจ พันธกรณีนี้ได้รับการตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำ เล่าโดยสมัชชาสหประชาชาติ ล่าสุดในปี 2552 [168] ที่ประชุมสมัชชาฯ “ประณามอย่างรุนแรง” ต่อการวิสามัญฆาตกรรม การสังหารอย่างรวบรัดหรือตามอำเภอใจ “เรียกร้อง” ให้ภาคีทุกประเทศดำเนินการให้การกระทำเช่นนี้ยุติลง และย้ำเตือนถึง “พันธกรณีที่ทุกรัฐภาคีต้องดำเนินการสืบสวนอย่างครบถ้วนและเป็นกลางในทุก กรณีที่น่าสงสัย” ว่ามีการสังหารเช่นนั้น
ไม่ใช่เพียงแต่สืบสวนเท่านั้น ยังต้องมีการดำเนินคดีตามความเหมาะสมอีกด้วย ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติย้ำ เตือนพันธกรณีนี้ของทุกรัฐ ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรม การสังหารอย่างรวบรัดหรือตามอำเภอใจ “ต้องหาตัวผู้กระทำผิดและนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม […] และใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็น รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อยุติภาวะการรอดพ้นจากการรับผิด และป้องกันไม่ให้การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นอีก” [169]
พันธกรณีเหล่านี้เกี่ยวเนื่องอย่างยิ่งโดยเฉพาะในกรณีอย่างที่เกิดใน ประเทศไทย ที่อาจมีการหมายหัวหรือใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม นักข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์) ที่ประชุมสมัชชาประชาชาติเรียกร้องเป็นการเฉพาะต่อ ทุกรัฐภาคี “ให้ทำการสืบสวนโดยทันท่วงทีและรอบด้านต่อกรณีการฆ่าฟันทั้งหมด รวมทั้งการฆ่าอย่างเจาะจงกลุ่มบุคคลเฉพาะ อย่างเช่น ... การสังหารบุคคลด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของพวกเขาเหล่านั้นในฐานะนัก ปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย นักข่าว หรือผู้ชุมนุมประท้วง […] และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” [170]
เช่นเดียวกับการสืบสวน การดำเนินคดีก็ต้องเกิดขึ้นต่อหน้าคณะตุลาการที่ “เป็นอิสระและเป็นกลาง” เมื่อศาลในประเทศขาดความเป็นอิสระและความเป็นกลาง คดีต่างๆ ควรถูกนำขึ้นศาลระหว่างประเทศตามที่เหมาะสม ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติระบุ ว่า การแสวงหาความยุติธรรมจะต้องกระทำ:
ต่อหน้าคณะตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลางใน ระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ (หากเหมาะสม) และต้องมีการดูแลไม่ให้มีการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐในคดีการสังหารที่ กระทำโดยกองกำลังความมั่นคง ตำรวจและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย กลุ่มติดอาวุธหรือกองกำลังเอกชน หรือมีการไม่เอาผิดกับการสังหารเหล่านั้น [171]
กรณีประเทศไทยเกี่ยวข้องกับพันธกรณีเหล่านี้ทั้งหมด เนื่องจากมีเหตุอันเชื่อได้ว่ากองกำลังฝ่ายความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่อื่น ของรัฐได้กระทำการวิสามัญฆาตกรรม การสังหารอย่างรวบรัดหรือตามอำเภอใจ ตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุว่าการสังหารอย่างผิดกฎหมายเข้าข่ายใดในสามกรณีดังกล่าว (วิสามัญฆาตกรรม ฆ่าอย่างรวบรัด หรือตามอำเภอใจ) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการวิสามัญฆาตกรรม การสังหารอย่างรวบรัดตัดตอนหรือตามอำเภอใจ กล่าวไว้ว่า “คำเหล่านี้เคยมีบทบาทสำคัญในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภารกิจของผู้ รายงานพิเศษฯ นี้ แต่ปัจจุบันมันแทบไม่มีความหมายอะไรเลยเกี่ยวกับลักษณะที่เป็นอยู่จริงของ เรื่องเหล่านี้” [172] สิ่ง สำคัญคือกองกำลังความมั่นคงอาจจะฆ่าเฉพาะในกรณีที่สอดคล้องกับหลักการสากล ว่าด้วยความจำเป็นและความเหมาะสมได้สัดส่วน (principles of necessity and proportionality) [173]
การฆ่าผู้ชุมนุมโดยกองกำลังความมั่นคงของไทยนั้นไม่ปรากฏว่าสอดคล้องกับ หลักการเหล่านี้ ผู้รายงานพิเศษฯ บอกว่า หลักการเหล่านี้ได้สร้าง “มาตรฐานทางกฎหมายที่ชัดเจนว่าด้วยการใช้กำลังที่รุนแรงถึงชีวิต” ซึ่ง “ระบุว่าตำรวจ(หรือเจ้าหน้าที่ความมั่นคงส่วนอื่นที่ปราบปรามการชุมนุม)จะ สามารถยิงเพื่อสังหารได้ก็ต่อเมื่อเห็นได้ชัดว่าบุคคลใดกำลังจะฆ่าใคร อื่น(ทำให้การใช้กำลังรุนแรงถึงชีวิตมีความเหมาะสม) และไม่มีหนทางอื่นใดแล้วที่จะทำการควบคุมตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยนั้นไว้(ทำให้ การใช้กำลังรุนแรงถึงชีวิตมีความจำเป็น)” [174]
ไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่จะเชื่อได้ว่าได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ในประเทศไทย ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่(หรืออาจทั้งหมด)ที่ถูกฆ่าไม่ได้กำลังจะฆ่า ใครอื่น และไม่มีความพยายามใดเลยที่จะหลีกเลี่ยงการคุกคามดังว่านั้นด้วยวิธีการอื่น นอกเหนือจากการใช้กำลังรุนแรงถึงชีวิต ในทางตรงกันข้าม การประกาศของทหารไทยว่าบางพื้นที่เป็น “เขตกระสุนจริง (live fire zones)”เป็นหลักฐานสำคัญว่าไม่ได้มีการปฏิบัติตามหลักการความจำเป็นและความ เหมาะสมซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้การสังหารนั้นถูกกฎหมาย ดังที่ผู้ รายงานพิเศษฯ ได้เน้นย้ำ นโยบาย “การยิงเพื่อฆ่า” เป็น “สำนวนทางการที่อันตราย ที่แทนที่มาตรฐานทางกฎหมายที่ชัดเจนด้วยการใช้กำลังที่รุนแรงถึงชีวิต” [175]
กองทัพไทยควรปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลัง (ตามที่สรุปไว้ก่อนหน้านี้) อย่างเข้มงวด ความสำคัญของหลักการนี้ได้รับการเน้นย้ำโดยผู้รายงานพิเศษฯ ที่ทำการศึกษาและสรุปว่า “สิทธิในชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างรุนแรงในรัฐที่แนวปฏิบัติเรื่องการใช้ กำลังไม่สอดคล้องกับกฎเหล่านี้” [176]
แน่นอนว่าเราไม่ควรด่วนพิพากษาเพียงจากข้อมูลที่จำกัดที่มีปรากฏอยู่ใน สาธารณะเกี่ยวกับการปฏิบัติของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทย และเกี่ยวกับความจำเป็นและสัดส่วนที่เหมาะสมในการวิสามัญฆาตกรรม การสังหารอย่างรวบรัดตัดตอนหรือตามอำเภอใจที่พวกเขาอาจกระทำ สิ่งที่จำเป็น และเป็นไปตามที่กำหนดไว้โดยทั้ง ICCPR และกฎหมายระหว่างประเทศแบบจารีตประเพณีก็คือ ต้องมีการสืบสวนการสังหารเหล่านี้อย่างครบถ้วน เป็นอิสระและเป็นกลาง
8.3 การประหัตประหารทางการเมือง
ครั้นเมื่อกลุ่มเสื้อแดงเริ่มปักหลักชุมนุมในกรุงเทพฯ ในวันที่ 12 มีนาคม 2553 นั้น กระบวนการตามล่าล้างทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินมา เป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเริ่มจากการรัฐประหารปี 2549 ที่นายพลไทยยึดอำนาจรัฐและฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อเป้าหมายประการเดียวคือทำลาย ล้างพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น จัดการยุบพรรคไทยรักไทยด้วยการใช้กฎหมายย้อนหลัง ตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองพรรคไทยรักไทย ดำเนินคดีอาญาอย่างเลือกปฏิบัติต่อผู้นำพรรค ครอบงำศาล ยึดทรัพย์สินของทักษิณ ชินวัตร และแก้กฎกติกาต่างๆ เพื่อสกัดการหวนกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งของพรรคไทยรักไทย ตลอดช่วงเวลาที่ นายพลเหล่านี้กุมอำนาจ (กันยายน 2549 – ธันวาคม 2550) พวกเขาทุ่มเทกับการถอนรากถอนโคนผู้สนับสนุนทักษิณโดยอาศัยการไล่ล่าทางการ เมืองทุกรูปแบบ ทำลายหลักนิติรัฐ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุม ตัดสิทธิทางการเมือง ลิดรอนเสรีภาพในการรวมตัว กลั่นแกล้งทางกฎหมาย ยึดทรัพย์ และใช้กฎหมายเพื่อเล่นงานตัวบุคคล ตามถ้อยแถลงของเหล่านายพลในเวลานั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความพยายามที่จะขจัดพรรคไทยรักไทยทำกันเป็นขบวนการที่ มุ่งเลือกปฏิบัติบนฐานของฝักฝ่ายทางการเมือง
กระบวนการทำลายล้างนี้ยังคงดำเนินไปในช่วงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (มกราคม 2551 – ธันวาคม 2551) แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปก็ตาม ดังที่บันทึกไว้ในเอกสารฉบับนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ให้สิทธิแก่ศาลที่จะแทรกแซงการเมืองด้วยจุดประสงค์ในการพลิกผลการเลือกตั้ง เปลี่ยนองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร สั่งยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค(ไม่เว้นกระทั่งผู้ที่ไม่ได้กระทำผิด)ไม่ให้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎกติกาต่างๆ เหล่านี้ละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคลหลายประการดังที่ระบุไว้ใน ICCPR เช่น สิทธิในการ“มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการรัฐ ทั้งโดยตรงหรือผ่านตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกอย่างเสรี” (ข้อ 25) และสิทธิที่จะมี“เสรีภาพในการรวมตัวกับผู้อื่น” (ข้อ 22) มันแทบไม่มีความหมายอะไรเลยที่คณะรัฐประหารอุตส่าห์เขียนเนื้อหาเหล่า นี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎกติกาเหล่านี้ขัดโดยตรงกับพันธกรณีตามกติการะหว่าง ประเทศฯ ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยสมัครใจ แม้ว่าอำนาจพิเศษของศาลไม่จำเป็นว่า จะต้องนำไปสู่การทำลายล้างทางการเมือง แต่การบังคับใช้กฎกติกาอย่างเลือกเป้าและเป็นระบบต่อบรรดาผู้ที่ถูกมองว่า ภักดีต่อทักษิณ ผู้ที่คัดค้านการรัฐประหาร และผู้ที่เรียกร้องให้มีการลดอำนาจนอกรัฐธรรมนูญของอำมาตย์นั้นเป็นการเลือก ปฏิบัติบนฐานของฝักฝ่ายทางการเมือง
บางทีหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดของการตามทำลายล้างทางการเมืองคือการลิดรอน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน ด้วยการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น (censorship)ที่เข้มงวดที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทยในรอบสามสิบปี ตลอดจนการดำเนินคดีต่อคนจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในข้อหาอาชญากรรมทาง ความคิด
และเช่นกัน มันไม่สำคัญเลยว่าการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการคุมขังนักโทษทางการ เมืองจะได้รับการรับรองในกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติการกระทำผิดทาง คอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญามาตรา 122 กฎหมายเหล่านี้โดยตัวของมันเองเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนไทยที่จะมี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการ “แสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท” ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะอ้างความชอบธรรมสำหรับการลิดรอนดังกล่าวว่าจำ เป็นในการรักษาความมั่นคงของชาติ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ ICCPR ยินยอม) แต่ก็ยังไม่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอที่จะอ้างว่าความเห็นหนึ่งในเฟซบุคจะคุก คามความมั่นคงของชาติได้ หรือการปราศรัยที่มีข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ส่งผลต่อความสงบ เรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสาธารณชนเหมือนการฆ่าคนตาย (และสมควรติดคุกสิบแปดปี) นี่คือการแสดงความคิดเห็นที่ ICCPR มุ่งคุ้มครอง นั่นก็คือเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างๆ ของรัฐ นอกจากนี้ การเซ็นเซอร์สื่อต่างๆ ที่อาจวิพากษ์วิจารณ์ “สถาบันกษัตริย์ ชาติ หรือศาสนา” ก็ฟังไม่ขึ้นแม้กระทั่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจาก ICCPR ระบุว่าสิทธิในการมีความคิดเห็นทางการเมืองและแลกเปลี่ยนกับบุคคลอื่นนั้น ไม่อาจลิดรอนได้ (ข้อ 4(2)) กล่าวโดยสรุปก็คือ อาชญากรรมของ “การไล่ล่าประหัตประหารทางการเมือง” เป็นผลมาจากการใช้กฎหมายกดขี่เหล่านี้ต่อกลุ่มคนที่คัดค้านรัฐบาล
สิทธิอื่นๆ ของประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาได้ถูกละเมิดอย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการไล่ล่าประหัตประหารทางการเมืองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ อาจกล่าวได้ ว่าพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในและพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ถูกบัญญัติ ประกาศใช้ และคงไว้เพื่อลิดรอนสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญของประชาชนไทย ที่เห็นได้ ชัดเจนคือการดำเนินคดี การคุมขังโดยไม่มีกำหนดและการปฏิเสธที่จะดำเนินการตามครรลองกระบวนการ ยุติธรรมต่อผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระราชกำหนด สถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ในขณะที่ผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาลที่กระทำการละเมิดแบบเดียวกันกลับไม่ ต้องรับผิดชอบใดๆ) นั้นเป็นสองมาตรฐานที่ไม่อาจยอมรับได้ ที่สำคัญที่สุด กระบวนการไล่ล่าที่เกิดขึ้นหลังการชุมนุม (คล้ายกับการไล่ล่าหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ปี 2519) เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการบดขยี้ปฏิปักษ์ด้วยการจับกุมคุมขังตาม อำเภอใจ (ละเมิดข้อ 9 ของ ICCPR) ละเมิดสิทธิของพวกเขาที่จะได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม (ข้อ 14) และการได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาคในแง่กฎหมาย (ข้อ 26)
พึงสังเกตว่าการไล่ล่าประหัตประหารทางการเมืองในบางรูปแบบนั้นเทียบเท่า กับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มาตรา 7(1)(ซ) และ 7(2)(ช) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) นิยามอาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วย “การไล่ล่าประหัตประหาร(persecution)” ว่าเป็น “การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงและจงใจอันขัดต่อกฎหมายระหว่าง ประเทศด้วยเหตุทางอัตลักษณ์ของกลุ่มหรือการรวมตัว” รวมถึงการไล่ล่าประหัตประหารด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อกระทำโดยเชื่อมโยงกับอาชญากรรมอื่นภายใต้บทบัญญัติของธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างเช่นการฆาตกรรม ดังที่กล่าวมาแล้วในบทข้างต้น มีเหตุอันเชื่อได้ว่าการสืบสวนที่เป็นอิสระและเป็นกลางจะสรุปได้ว่ามีการ ฆาตกรรมโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ และยังเห็นได้ ชัดเจนว่าการปราบปรามคนเสื้อแดงนั้นเป็นไปบนฐานความเชื่อทางการเมืองของพวก เขา
ปัญหาข้อกฎหมายอีกเพียงหนึ่งประการก็คือ การปฏิบัติต่างๆ เช่น การคุมขังโดยไม่มีกำหนด การตั้งข้อหาเกินจริงและการพิพากษาลงโทษเกินกว่าเหตุสำหรับการแสดงความคิด เห็นนั้น เป็น “การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง” หรือไม่? มีกรณีตัวอย่างมากมายที่สนับสนุนว่าการใช้ระบบยุติธรรมเพื่อทำร้าย และการไล่ล่าประหัตประหารในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป็นการทำร้ายทางกายภาพ สามารถถือเป็นการไล่ล่าประหัตประหารที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประกอบอาชญากรรม ต่อมนุษยชาติได้ คณะตุลาการระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) ได้ยอมรับว่าองค์ประกอบของอาชญากรรม (actus reus) นั้นรวมถึงการกระทำที่ไม่ได้ระบุไว้ในธรรมนูญกรุงโรมฯ [177] ด้วย ศาล Kupreškić อธิบายเรื่องนี้ในแง่มุมกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและคำตัดสินของศาล ระดับประเทศ และนิยามการไล่ล่าประหัตประหารว่าเป็น “การปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรงหรืออย่างชัดแจ้ง โดยมีการเลือกปฏิบัติ ตามที่ระบุในกฎหมายระหว่างประเทศทั้งที่เป็นกฎหมายจารีตประเพณีหรือเป็น กฎหมายสนธิสัญญา ซึ่งมีความรุนแรงเท่ากับการกระทำอื่นที่ห้ามไว้ในข้อ 5” [178] คณะตุลาการระหว่างประเทศคณะต่างๆ ถือว่าการจงใจในการไล่ล่าประหัตประหารนั้นมีโทษสูงกว่าอาชญากรรมต่อ มนุษยชาติแบบอื่นๆ เนื่องจากว่ามีความจงใจเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการเลือกฝักฝ่ายทางการเมือง [179]
ศาล Kupreškić สรุปว่า “การคุมขังอย่างเป็นกระบวนการ” นั้นอาจเป็นการไล่ล่าประหัตประหารได้ [180] มุมมองนี้อาจสามารถใช้ได้กับการคุมขังผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดยไม่มีกำหนดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้
กระทั่งความเสียหายทางเศรษฐกิจก็สามารถถือเป็นการถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้น ฐานได้ ศาล Kupreškić ระบุว่า แม้ว่าการยึดทรัพย์สินอุตสาหกรรมไม่ถือว่าเป็นการไล่ล่าประหัตประหารในคดี Flick และ Krauch ที่พิจารณาโดยคณะตุลาการนูเร็มเบิร์ก กรณี Flick ก็ทำให้เกิดคำถามว่าการยึดทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นเป็นการไล่ล่าประหัตประหาร หรือไม่ [181] ศาลดังกล่าวระบุว่าการปฏิเสธสิทธิทางเศรษฐกิจต่อชาวยิวและการยึดทรัพย์สิน ชาวยิวนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการไล่ล่าประหัตประหารตามคำพิพากษาของคณะ ตุลาการทหารระหว่างประเทศ และยังกล่าวด้วยว่าการใช้ระบบกฎหมายในการดำเนิน การดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อกล่าวหาว่ามีการไล่ล่าประหัตประหารในคดี Justices [182] ศาลดังกล่าวยังระบุด้วยว่า “การทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สิน” ของพลเรือนมุสลิมถือเป็นการไล่ล่าประหัตประหารหากการทำลายนั้นมี “ผลกระทบร้ายแรงต่อเหยื่อ” อย่างเช่น “การทำลายสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกลุ่มหนึ่ง” [183] ศาลตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าจะมีคดี Flick และ Krauch ก็ตาม คณะตุลาการทหารระหว่างประเทศก็ตัดสินลงโทษบุคคลในข้อหาเลือกปฏิบัติทาง เศรษฐกิจ รวมถึงเกอร์ริงที่การกระทำการไล่ล่าประหัตประหารที่มุ่งเน้นไปที่ “การยึดทรัพย์สินของชาวยิวและการบังคับพวกเขาออกจากระบบเศรษฐกิจยุโรป”
กล่าวโดยสรุป หากพิจารณาตามเงื่อนไขต่างๆว่าด้วยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแล้ว (ดูบทถัดไป) ก็เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ไทยได้ทำการเลือกปฏิบัติทางการเมืองที่ลิดรอนสิทธิ พื้นฐานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศของผู้ชุมนุมเสื้อแดงอย่างร้ายแรงและโดย ตั้งใจ โดยเกี่ยวเนื่องกับการสังหารผู้ชุมนุมบางส่วน การลิดรอนสิทธิโดยเลือก ปฏิบัติดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยการไล่ล่าประหัต ประหาร
8.4 อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
นอกจากการละเมิด ICCPR และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้ว การสังหารอย่างกว้างขวางและเป็นระบบโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงในกรุงเทพฯ ในช่วงเมษายน – พฤษภาคม 2553 และการไล่ล่าประหัตประหารทางการเมืองต่อคนเสื้อแดงที่เกี่ยวข้องกันนั้นคง ชัดเจนเพียงพอแล้วที่จะเรียกว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติภายใต้ธรรมนูญกรุง โรมฯ ที่ก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นมา
นับแต่คณะตุลาการนูเร็มเบิร์ก กฎหมายอาญาระหว่างประเทศได้ยอมรับว่าการฆาตกรรมเป็นรูปแบบหนึ่งของอาชญากรรม ต่อมนุษยชาติ ซึ่งทำให้บุคคลต้องมีความรับผิดชอบในอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ [184]
ธรรมนูญกรุงโรมฯ นิยามการฆาตกรรมว่าคือการที่ “ผู้กระทำลงมือฆ่าบุคคลหนึ่งคนขึ้นไป” [185] ส่วนจะเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่นั้น การฆ่านั้นจะต้อง (1) มุ่งไปที่ “ประชากรพลเรือน” (2) เป็นส่วนหนึ่งของ “การโจมตีอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ” (3) เป็นไปตามหรือโดยการผลักดันของ “นโยบายรัฐหรือองค์กรที่จะดำเนินการโจมตีนั้น” (4) มีการรับรู้ถึงการโจมตีดังกล่าว [186] เงื่อนไขแต่ละข้อดังกล่าวดูจะมีครบถ้วนในการเข่นฆ่าพลเรือนกว่า 80 รายโดยกองทัพไทยในช่วงเมษายน – พฤษภาคม 2553
“ประชากรพลเรือน (civilian population)”
ตามคำพิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศ การโจมตีนั้นจะต้องกระทำต่อ “ประชากรพลเรือน” ซึ่งนิยามว่าเป็นกลุ่มคนที่ “มีลักษณะเด่นชัดในแง่สัญชาติ ชนชาติ หรือลักษณะเด่นอื่นใด” [187] นอกจากนี้ การโจมตียังจะต้องกระทำต่อประชากรพลเรือนทั้งหมด ไม่ใช่เลือกสุ่มต่อปัจเจกบุคคล และประชากรพลเรือนนั้นต้องเป็นเป้าหลักในการโจมตีและไม่ใช่เป็นเหยื่อที่โดน ลูกหลงที่ไม่ได้ตั้งใจ [188]
แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าได้ใช้กำลังรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตต่อฝ่ายที่ใช้ ความรุนแรงในกลุ่มคนเสื้อแดง แต่จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าผู้ที่ถูกฆ่าเมื่อ วันที่ 10 เมษายน และวันที่ 13-19 พฤษภาคม นั้นเป็นภัยคุกคามต่อฝ่ายรักษาความมั่นคง ที่จริงแล้ว มีวิดีโอคลิปหลายสิบชิ้น ภาพถ่าย และปากคำจากพยาน ที่ชี้ว่าผู้ที่ถูกฆ่านั้นไม่ได้กระทำการอันตรายใดๆ เลย แต่กลับถูกยิงกระสุนทะลุศีรษะในขณะที่กำลังถือหนังสะติ๊ก ธง กล้อง หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รัฐบาลพยายามอธิบายถึงอันตรายของแต่ละบุคคลที่ถูก ฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการของทหารในภาพรวมๆ ไม่ได้อธิบายเป็นรายๆ ไป โดยอธิบายอยู่บนฐานว่าเหยื่อเข้าร่วมในกิจกรรมของกลุ่มที่รัฐบาลเรียกว่า เป็นองค์กร “ผู้ก่อการร้าย” ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ถูกฆ่าจึงตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่รัฐบนฐานของ “ลักษณะเฉพาะ” ที่ระบุตัวพวกเขาว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มพลเรือนเฉพาะกลุ่มหนึ่ง เช่น การใส่เสื้อสีแดง และการแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลต่อหน้าสาธารณะ ไม่ว่าคนแต่ละคนนั้นจะกระทำการรุนแรงหรือข่มขู่คุกคามกองกำลังฝ่ายความมั่น คงหรือไม่ก็ตาม
“อย่างกว้างขวาง” หรือ “อย่างเป็นระบบ”
การที่จะเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่นั้น การโจมตีจะต้องเป็นไป “อย่างกว้างขวาง” หรือ “อย่างเป็นระบบ” แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นทั้งสองอย่าง “อย่างกว้างขวาง” หมายถึง “ลักษณะการโจมตีขนานใหญ่และมีผลเป็นเหยื่อจำนวนมาก” ส่วน “อย่างเป็นระบบ” นั้นหมายถึง “ลักษณะการกระทำความรุนแรงอย่างมีการจัดตั้งจัดการ และความเป็นไปไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างสุ่ม” [189]
ในกรุงเทพฯ ขนาดและระยะเวลาของการฆ่า รวมถึงลักษณะการฆ่า ชี้ให้เห็นว่าเป็นไปตามเกณฑ์ทั้งสองข้อ ในด้านหนึ่ง การที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือนอย่างน้อย 80 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณสองพันคน ในช่วงระหว่างเวลา 40 วัน ก็เป็นการยืนยันลักษณะการเป็นไป “อย่างกว้างขวาง” ของการโจมตีแล้ว ในขณะเดียวกัน การเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันขึ้นซ้ำๆ ตลอดระยะเวลาและพื้นที่หนึ่งๆ ชี้ให้เห็นถึงการละเมิด “อย่างเป็นระบบ” ที่ไม่ใช่การสุ่มปฏิบัติการ
“นโยบายรัฐหรือองค์กร”
ธรรมนูญกรุงโรมฯ ไม่ได้นิยามคำว่า “นโยบาย” หรือ “รัฐหรือองค์กร” แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ระบุว่าเงื่อนไขข้อนี้หมายถึง :
[...] การโจมตี หรือหากเป็นการดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขวางหรือมุ่ง เป้าไปที่เหยื่อจำนวนมาก ยังจะต้องเป็นการกระทำที่มีการจัดตั้งอย่างดี และเป็นไปตามแบบแผนประจำแบบใดแบบหนึ่ง การโจมตีนั้นยังจะต้องเป็นปฏิบัติการ เพื่อเสริมนโยบายหนึ่งๆ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรของสาธารณะหรือของเอกชน นโยบายเช่นนั้นอาจจะถูกกำหนด ขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่ควบคุมดินแดนบริเวณหนึ่ง หรืออาจจะโดยองค์กรที่มีศักยภาพในการก่อการโจมตีอย่างกว้างขวางหรืออย่าง เป็นระบบต่อประชากรพลเรือน นโยบายนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนโยบายที่กำหนด โดยกลุ่มองค์กรอย่างชัดเจนก็ได้ ที่จริงแล้ว การโจมตีใดๆ ที่มีการวางแผน มีเป้าหมายเฉพาะ หรือมีการจัดตั้งเป็นระบบ ซึ่งต่างไปจากการกระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนหรือไม่เกี่ยว เนื่องกัน ก็ถือว่าเข้าข่ายตามเกณฑ์นี้แล้ว [190]
ในคดีที่ดำเนินกับ Tihomir Blaskic คณะตุลาการระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) ได้ตัดสินอย่างชัดเจนว่า แผนการที่จะก่อการโจมตี “ไม่จำเป็นจะต้องมีการประกาศออกมาหรือมีการระบุอย่างชัดเจนและอย่างตรงตัว” และระบุว่าสามารถตัดสินจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้ เช่น:
* สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์โดยทั่วไป และพื้นฐานทางการเมืองโดยรวม ของการกระทำอาชญากรรมนั้น
* การโฆษณาชวนเชื่อของสื่อ
* การระดมกองกำลังฝ่ายความมั่นคง
* การปฏิบัติการทางทหารที่มีการประสานงานอย่างดี และเกิดขึ้นซ้ำๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งและภายในภูมิประเทศหนึ่งๆ
* ความเชื่อมโยงระหว่างโครงสร้างลำดับชั้นของทหาร(military hierarchy)และโครงสร้างทางการเมือง(political structure) และโครงการทางการเมืองของทหาร(political programme)
* การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับองค์ประกอบทาง “ชาติพันธุ์” ของประชากร
* มาตรการที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในการบริหารปกครองหรืออื่นๆ (เช่น การจำกัดการทำธุรกรรมทางการเงิน การออกใบอนุญาตต่างๆ...)
* ขนาดของการกระทำความรุนแรง โดยเฉพาะการฆ่าและการกระทำความรุนแรงทางกายอื่นๆ การข่มขืน การกักขังตามอำเภอใจ การเนรเทศออกนอกประเทศ และการขับไล่หรือการทำลายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ทรัพย์สินทางการทหาร โดยเฉพาะการทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ [191]
การก่ออาชญากรรมคล้ายๆ กันขึ้นซ้ำๆ (เช่น ในระหว่างการโจมตีประชากรพลเรือนอย่างต่อเนื่อง) โดยตัวของมันเองก็เป็นการแสดงออกถึงนโยบายแล้ว [192] ส่วนในเรื่องคำนิยามของคำว่า “รัฐหรือองค์กร” องค์คณะศาลอาญาระหว่างประเทศที่พิจารณาคดีของเคนยาได้ระบุว่า ในขณะที่คำว่า “รัฐ” นั้นมีความหมายชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว นโยบายอาจจะไม่จำเป็นจะต้องออกโดย “กลไกรัฐระดับสูงสุด” ก็ได้ [193]
การสังหารในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั้นไม่ได้เป็นเหตุการณ์โดดๆ หรือเป็นเหตุที่เกิดขึ้นแบบประปราย แต่เป็นผลของแผนการที่มีการประสานร่วมมือเพื่อตอบโต้กับการชุมนุมประท้วงของ คนเสื้อแดง มีการระดมกองกำลังติดอาวุธซ้ำๆ และมีการออกคำสั่งไปตามสายการบังคับบัญชา รวมถึงเครือข่ายพลเรือนภายในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น ไม่นานก่อนการปฏิบัติการปราบปรามโดยทหารเมื่อวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการเปิดโอกาสให้แก่สิ่งที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนเรียกว่า “ใบอนุญาตฆ่า” [194] ให้แก่กองทัพ นั่นคือการให้อิสระแก่การใช้กำลังใดๆ ที่พิจารณาเห็นว่าเหมาะสมเพื่อเคลียร์พื้นที่ ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า ผู้ที่อยู่ในระดับสูงสุดของระบอบอภิสิทธิ์นั้นรู้หรืออนุมัติโดยนัยให้แก่ การปฏิบัติการนั้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตคนโดย ไม่จำเป็น
ความรับรู้ (knowledge)
อาชญากรรมทุกประเภทจะต้องมี mens rea หรือเจตนาที่จะก่ออาชญากรรม ในบริบทของการฆาตกรรมที่เป็นอาชญากรรมต่อ มนุษยชาตินั้น เจตนาของผู้กระทำ “เพื่อก่อความเสียหายรุนแรงแก่เหยื่อโดยไม่สนใจชีวิตของมนุษย์” [195] ก็เพียงพอแล้วที่จะเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ องค์คณะอุทธรณ์ของคณะ ตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย ในคดี Tadic เมื่อปี 2542 ระบุว่า ผู้กระทำผิดจะต้องรู้ว่าการโจมตีเกิดต่อขึ้นประชากรพลเรือน และรู้ว่าการกระทำของตนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีนี้ และตระหนักถึงความ เสี่ยงที่เกิดจากการกระทำของตนแต่ยังเต็มใจที่จะรับผลความเสี่ยงนี้ [196] อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่าผู้กระทำผิดจะต้องรู้ถึงรายละเอียดของการโจมตีทั้งหมด [197]
แม้ว่ารัฐบาลจะปฏิเสธว่าทหารไม่ได้ตั้งใจทำร้ายพลเรือน แต่พยานที่อยู่ทั้งสองฝั่งของแนวทหารได้อ้างว่าเห็นทั้งเจตนาของฝ่ายกอง กำลังความมั่นคงของไทยที่จะก่อความเสียหายรุนแรง และการไม่ใส่ใจต่อชีวิตมนุษย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การปราบปรามการ ชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคมยาวนานถึงหนึ่งสัปดาห์เต็ม และเกิดขึ้นในลักษณะทำนองเดียวกันในหลายๆ ส่วนของกรุงเทพฯ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยต่างๆ ของทหาร แบบแผนเช่นนี้ดูเหมือนจะชี้ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการชุมนุมดำเนินการภายใต้แนวทางการปฏิบัติ การที่มีการกำหนดชัดเจน
เมื่อประสบกับรายงานต่างๆ เรื่องการละเมิดอย่างกว้างขวางและเป็นระบบที่กระทำโดยกองกำลังฝ่ายความมั่น คง ผู้นำทางทหารและพลเรือนไม่ได้หยุดปฏิบัติการหรือปรับเปลี่ยนปฏิบัติการให้ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ที่จริงแล้ว เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์มติชนได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ “วอร์รูม” ที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งขึ้นนั้นพอใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีคนเสียชีวิต ณ เวลานั้น “เพียง” 35 คน ซึ่งต่ำกว่าจำนวนผู้เสียชีวิต 200-500 คนตามที่ตนได้คาดการณ์ไว้มาก [198] จำนวนที่กล่าวถึงนั้นสอดคล้องกับรายงานภายในของรัฐบาลที่อ้างว่ารั่วไหลออก มา และนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำนปช. ได้เปิดเผยต่อสื่อเมื่อวันที่ 19 เมษายน ซึ่งระบุว่า ทหารได้วางแผนจะปราบปรามการชุมนุมเป็นเวลานานหนึ่งสัปดาห์ และได้กำหนดจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นที่ยอมรับได้ไว้ที่ห้าร้อยคน [199] ในวันก่อนการสลายการชุมนุม รัฐบาลได้เตือนว่ารัฐบาลจะยิง “ผู้ก่อการร้ายที่ติดอาวุธ” และโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงเอกสารที่รั่วไหลออกมา โฆษกรัฐบาลได้ประมาณการณ์ว่ามี “กลุ่มผู้ติดอาวุธ” ห้าร้อยคนแฝงตัวอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง [200]
8.5 หลักฐานเรื่องการพยายามปกปิด
รัฐบาลไทยได้ยอมรับต่อสาธารณะว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสืบสวนกรณีการ ละเมิด แต่ประวัติของรัฐบาลหรือมาตรการขั้นตอนต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการหลังจากการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นไม่ได้ ชี้เลยว่าจะมีการไต่สวนอย่างจริงจังและอย่างเป็นอิสระเกิดขึ้น รัฐบาล อภิสิทธิ์กลับดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ชี้ไปในทางการปิดบังข้อมูลมากกว่า ผู้สังเกตการณ์ที่เป็นอิสระต่างสงสัย ว่าจะมีการสืบสวนอย่างเต็มรูปแบบเกิดขึ้นได้อย่างไรในขณะที่ยังคงมีการ ประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อยู่ อันทำให้รัฐบาลกำราบข้อมูลที่เห็นว่าเป็นผลเสีย และกักขังทุกคนที่เห็นว่าเป็นภัยต่อ “ความมั่นคงของชาติ” [201] เนื่อง จากรัฐบาลนี้มีประวัติของการนำเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” มาปนกับความมั่นคงในการรักษาตำแหน่งของตน ก็มีเหตุผลให้เราตั้งข้อสงสัยกับเจตนาของรัฐบาลได้
หลังจากการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ตกลงที่จะตั้งคณะกรรมการ “สอบข้อเท็จจริง” ที่มีหน้าที่สืบสวนกรณีความรุนแรง คณะกรรมการฯ นั้นนำโดยนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ในขณะที่คณิตได้เสนอชื่อของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ทางกฎหมายเพียงสิบคนที่จะเข้าร่วมในการสืบสวนไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม [202] คณะกรรมการฯก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากขาดความเป็นอิสระและมี ภารกิจที่คลุมเครือ ตัวคณิตเองได้ชี้ว่า “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” นั่นไม่สนใจในเรื่อง “การค้นหาความจริงหรือการชี้ว่าใครเป็นฝ่ายถูกใครเป็นฝ่ายผิด” เท่ากับเรื่อง “การส่งเสริมการให้อภัย” [203] ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การสืบสวนครั้งนี้ก็จะเหมือนกับคณะกรรมการชุดคล้ายๆ กันที่คณิตเป็นประธานหลังจากการรัฐประหารที่สอบข้อเท็จจริงเรื่อง “สงครามต่อต้านยาเสพติด” เมื่อปี 2546 ที่จะไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดีใดๆ หรือทำให้เกิดข้อกล่าวหาที่ชัดเจนต่อการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ได้ ยิ่งไปกว่านั้น คณิตเองยังได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเสียเอง ไม่เป็นที่ น่าประหลาดใจเลย ที่คณะกรรมการชุดนี้จะเต็มไปด้วยคนที่จงรักภักดีต่อกลุ่มอำนาจเก่าของไทย เช่น สมชาย หอมละออ ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย [204]
การเลือกผู้ที่จะมาเป็นประธานของคณะกรรมการชุดอื่นๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นหลังจากการปราบปรามการชุมนุมนั้นก็เป็นไปในทางเดียว กัน นายอานันท์ ปันยารชุน จะเป็นประธาน “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” อานันท์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหารปี 2534 และปัจจุบันเป็นประธานกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งควบคุมโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนคณะกรรมการ “สมัชชาปฏิรูปประเทศ” ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาประเด็นการมีส่วนร่วมของสาธารณะและความเป็นธรรมทางสังคม [205] นั้นมีศ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ศ.ประเวศเป็นผู้สนับสนุนหลักของแนวคิดเรื่อง “ประชาสังคมชนชั้นนำ” [206] และคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิก 19 คน ก็เต็มไปด้วยผู้สนับสนุน พธม. สมาชิกคนหนึ่งคืออ.บรรเจิด สิงคะเนติ ซึ่งเคยกล่าวว่า ทักษิณ ชินวัตรนั้น “แย่กว่าฮิตเล่อร์” [207]
ควรกล่าวด้วยว่ารัฐบาลปัจจุบันมีประวัติที่เลวร้ายอย่างยิ่งในเรื่อง “การสืบสวนที่เป็นอิสระ” การสืบสวนที่ผ่านๆ มาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลเป็นผู้ถูกกล่าวหาในช่วงสิบเก้า เดือนที่ครองอำนาจก็บอกได้แล้วว่าจะคาดหวังอะไรได้จากการสืบสวนกรณีความ รุนแรงช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553
สิ่งที่บรรยายได้ดีเป็นพิเศษถึงแนวทางการสืบสวนตัวเองของรัฐบาลนี้ก็คือ ประวัติการทำงานของพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดัง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวมาแทบทั้งหมด การที่รัฐบาลพึ่งพาอาศัยคุณ หญิงพรทิพย์อย่างมากมายอย่างนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นเพราะว่าคุณหญิงผู้มี สีสันฉูดฉาดรายนี้เป็นคนดังของประเทศ การสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของนิตยสารรีดเดอร์สไดเจสต์ก็พบว่าเธอคือคนที่ได้รับความเชื่อถือมากที่ สุด [208] ที่เยี่ยมกว่านั้นอีกคือ ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่รัฐบาลมักเรียกใช้บริการเมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวใดๆ ขึ้นมา คุณหญิงพรทิพย์เป็นที่พึ่งพาได้เสมอในอันที่จะได้ข้อสรุปที่เกื้อหนุนทฤษฎี ของฝ่ายรัฐบาลและพันธมิตร
กระทั่งก่อนที่อภิสิทธิ์จะเป็นนายกฯ คุณหญิงพรทิพย์ก็มีบทบาทสำคัญในการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลพลัง ประชาชนในกรณีการปะทะระหว่างพันธมิตรและตำรวจบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่สมาชิกพันธมิตร นส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิเป็นที่ร่ำลือว่าเสียชีวิตจากการระเบิดของระเบิดปิงปองที่ พันธมิตรนำมาเอง คุณหญิงพรทิพย์สรุปว่าการเสียชีวิตเป็นผลมาจากกระบอกแก๊ส น้ำตาผลิตจากจีนที่ตำรวจยิงใส่ผู้ชุมนุมตรงๆ คำอ้างนี้ถูกปฏิเสธในภายหลัง ด้วยการสืบสวนของตำรวจ ซึ่งพบร่องรอยคราบซีโฟร์บนเสื้อผ้าของอังคณา [209] คุณ หญิงให้คำอธิบายว่า “ทีมของเราใช้เครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT-200 และไม่พบสารที่ใช้ในการทำระเบิด เราได้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ร่างกายและเสื้อผ้าของผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว” [210]
ทว่าเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT-200 ได้รับการพิสูจน์เมื่อไม่นานมานี้ว่าเป็นแค่กล่องพลาสติกไม่มีอุปกรณ์อิเล็คโทรนิค [211] หลัง จากที่พบว่ามันทำงานไม่ได้โดยสิ้นเชิง รัฐบาลอังกฤษได้สั่งห้ามการส่งออกเครื่องมือที่คล้ายกันคือ ADE-651 และจับกุมกรรมการผู้จัดการของบริษัทผู้ผลิตด้วยข้อหาหลอกลวง [212] เร็วๆ นี้ สำนักงานของบริษัทผู้ผลิตสามรายรวมทั้งบริษัทโกลบอลเทคนิคคัลก็ถูกเจ้าหน้าที่อังกฤษบุกตรวจค้น [213] ทั้งๆ ที่มีข้อพิสูจน์หนักแน่นขนาดนี้ที่แสดงถึงความไร้ประโยชน์ของ GT-200 คุณหญิงพรทิพย์ก็ยังแก้ต่างและยืนยันให้ใช้งานมันต่อไปในบทสัมภาษณ์หลายชิ้น เมื่อต้นปีนี้ ความไร้ประสิทธิผลของเครื่องมือนี้ก่อให้เกิดคำถามต่อความน่า เชื่อถือของการสืบสวนต่างๆ ที่ได้นำไปสู่การพิพากษาลงโทษคนจำนวนนับร้อย (รวมถึงชาวมุสลิมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ก่อความไม่สงบ” ในภาคใต้) มิพักต้องพูดถึงชีวิตทหารระดับล่างที่ต้องพึ่งพาเครื่องมือนี้ในการตรวจหา ระเบิดในพื้นที่ที่ตนลาดตระเวน ยิ่งกว่านั้น ก็ยังมีคำถามว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐบาลจึงจ่ายเงินหลายหมื่นเหรียญสำหรับ เครื่องมือที่ไม่ทำงานนี้ นอกไปจากการทุจริตในการจัดซื้อกล่องพลาสติกเปล่าๆ ในราคาเกือบล้านบาท หน่วยงานของคุณหญิงพรทิพย์เองก็มีรายงานว่าได้ซื้อ เครื่องมือนี้มาหกเครื่อง ในราคาเครื่องละ 1,100,000 บาท ซึ่งแพงกว่าที่กรมศุลกากรจ่ายไปถึงสามเท่า [214]
ในประเทศใดๆ ที่ยึดถือคุณค่าของความซื่อสัตย์และประสิทธิภาพมากกว่าความภักดีทาง อุดมการณ์ การสิ้นเปลืองเงินภาษีและการดึงดันใช้งานเครื่องมือหลอกลวงนี้ต่อไปของคุณ หญิงพรทิพย์คงจะทำให้เธอสูญเสียความน่าเชื่อถือที่จะทำการสืบสวนเรื่องสำคัญ ใดๆ ได้อีกแล้ว แต่ว่าในเมืองไทย คนอย่างคุณหญิงพรทิพย์พิสูจน์ว่าเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลอภิสิทธิ์เสมอ
ขณะกำลังเป็นเรื่องอื้อฉาวในเดือนมกราคม 2552 เมื่อมีการเปิดเผยว่ากองทัพไทยได้ปฏิบัติอย่างทารุณต่อผู้อพยพชาวโรฮิงยา หลายร้อยคนที่มาขึ้นฝั่งไทย ด้วยการลากเรือของพวกเขาออกสู่ทะเลและปล่อยให้พวกเขาตายด้วยความหิวโหยและ การขาดน้ำบนเรือที่ปราศจากเครื่องยนต์ คุณหญิงพรทิพย์ก็ให้ความชอบธรรมแก่ ปฏิบัติการโหดต่อชาวโรฮิงยาในฐานะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เธอแถลงว่าพบ ร่องรอยคราบระเบิดบนเรือเหล่านั้น ไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีการใช้ GT-200 ในคราวนี้ด้วยหรือไม่ [215]
ทำนองเดียวกัน ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา คุณหญิงพรทิพย์ก็สืบพบอะไรหลายอย่างที่เข้าทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผลการสืบสวนการปาระเบิดที่ศาลาแดงของเธอก็ชวนสับสน คือ บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่ระเบิดบางลูกอาจถูกยิงออกมาจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ก็ไม่ยอมปฏิเสธการด่วนสรุปของรัฐบาลที่มีตั้งแต่คืนที่เกิดเหตุ [216] ใน การสืบสวนกรณีทหารนายหนึ่งที่ถูกยิงในระหว่างที่คนเสื้อแดงกำลังเคลื่อนขบวน ไปตามถนนวิภาวดีรังสิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน ซึ่งในคลิปวิดิโอพบว่าเป็นการยิงจากทหารด้วยกันเอง เธอก็สรุปว่ากระสุนนัดนั้นถูกยิงมาจากอาคารที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งบังเอิญอยู่ในบริเวณที่สื่อต่างชาติได้เคยเผยแพร่ภาพผู้ชุมนุมเสื้อแดง รายหนึ่งถือปืนพก [217] ส่วนการสืบสวนกรณีการลอบสังหารเสธแดง [218]ยัง ไม่ปรากฏผลออกมาในขณะนี้ และการสืบสวนของเธอในกรณีการสังหารผู้เข้าไปหลบ อยู่ภายในวัดปทุมวนารามถึงหกศพเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ก็บอกว่า เป็นไปได้ว่าผู้เสียชีวิตถูกยิงในระยะประชิด [219] ซึ่งตรงข้ามกับคำบอกเล่าของประจักษ์พยานที่รวมถึงนักข่าวต่างชาติ มาร์ค แม็คคินนอนและแอนดรูว์ บันคอมบ์ ที่ไม่สงสัยเลยว่ากระสุนนั้นถูกยิงมาจากภายนอกวัด พวกเขาระบุว่าคนยิงคือ ทหาร [220]
คุณหญิงพรทิพย์ได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปอยู่ในศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในวันที่ 20 เมษายน และมีแนวโน้มที่จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปในการสืบสวนกรณีต่างๆ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยรายในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม [221] ตราบ ใดที่การสืบสวนของรัฐบาลยังคงพึ่งพา “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ไร้ความน่าเชื่อถือและเอียงข้างเช่นคุณหญิงพรทิพย์แล้ว ก็แทบจะคาดหวังผลที่จะออกมาเป็นอะไรอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากถ้อยแถลงทางการ เมืองและเครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อ
8.6 ความเป็นธรรมสำหรับผู้ถูกกล่าวหา
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เริ่มเดินหน้าดำเนินคดีผู้นำนปช. ซึ่งก็มีประเด็นเรื่องความเป็นธรรมและการเปิดเผยข้อมูล แม้ว่ารัฐบาลประสงค์ จะทำอะไรต่อคนเหล่านี้ก็ตาม ICCPR รับรองการไต่สวนที่เป็นธรรมในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเลือกทนาย การเตรียมการแก้ข้อกล่าวหาโดยมีระยะเวลาและเครื่องมือที่เหมาะสม และการสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานได้โดยเท่าเทียม [222] ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะตรวจสอบหลักฐานอย่างเป็นอิสระ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญและทนายของตัวเองภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับฝ่ายรัฐบาล และมีสิทธิรวบรวมหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหา [223]
ในการดำเนินคดีผู้นำนปช. รัฐบาลอ้างว่าพวกเขาเป็นผู้บงการให้เกิดการฆ่าฟันที่สะพานผ่านฟ้าและแยกราช ประสงค์ โดย “คนชุดดำ” ที่ควบคุมโดยนปช. ด้วยข้อกล่าวหาเหล่านี้ การระบุตัวตนที่แท้จริงของมือปืนและมือยิงระเบิดทุกคนเป็นประเด็นพื้นฐาน สำคัญในแต่ละกรณี ภายใต้ ICCPR ทีมทนายจำเลยมีสิทธิที่จะรวบรวมหลักฐานอย่างเช่น วิถีกระสุนและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ ดีเอ็นเอ บันทึกวิดิโอ คำสั่งในสายการบังคับบัญชาของทหารและอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้แบบอื่น เช่น ความเป็นไปได้ที่กระสุนอาจมาจากปืนไรเฟิลของกองทัพไทย หรือว่า “คนชุดดำ” กระทำการอย่างเป็นอิสระจากนปช.
ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะตรวจสอบข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญฝ่ายรัฐบาลอย่าง คุณหญิงพรทิพย์และคนอื่นๆ ตลอดจนหลักฐานที่พวกเขาอ้างถึง ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะใช้ผู้เชี่ยวชาญ นิติวิทยาศาสตร์ของตนเองในการจำลองสภาพที่เกิดเหตุ วิเคราะห์ดีเอ็นเอ ตรวจสอบภาพวิดิโอ และหลักฐานอื่นทั้งหมดที่อยู่ในมือของรัฐบาล (โดยสามารถเข้าถึงได้เท่าเทียมกับรัฐบาล) และใช้หลักฐานนั้นแก้ข้อกล่าวหา ความเป็นธรรมและการเปิดเผยข้อมูลสำหรับผู้ ถูกกล่าวหามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด มีแต่การสืบสวนที่ดำเนินการโดยคณะที่เป็นอิสระและเป็นกลางเท่านั้นที่สามารถ รับรองได้ว่าสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการคุ้มครอง ได้มีการยื่นหนังสือ เรียกร้องอย่างเป็นทางการในนามผู้ถูกกล่าวหาไปแล้ว โดยยืนยันสิทธิของพวกเขาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการสงวนรักษาและเข้าถึง หลักฐานทั้งหมด รวมทั้งหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ทั้งทางกายภาพและอื่นๆ วิดิโอ เอกสารและรายงานของผู้เชี่ยวชาญ [224] และยังได้มีการนำเรื่องนี้ไปร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตาม ICCPR อีกด้วย
000
9. บทสรุป : หนทางเดียวสู่การปรองดอง
กระทั่งก่อนที่คนเสื้อแดงอีก 55 คนจะถูกสังหารด้วยน้ำมือของกองทัพไทยเสียด้วยซ้ำที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ให้คำมั่นว่าตนเองและรัฐบาลของตนจะสร้างความ “สมานฉันท์” และโดยเฉพาะยิ่งหลังจากมีการสังหารหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งเลว ร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ประเทศไทยก็ยิ่งต้องการการสมานฉันท์กว่าที่เคยเป็นมา แต่น่าเศร้าใจที่เห็นได้ชัดว่าผู้มีอำนาจที่ปกครองอยู่ในขณะนี้ไม่มีความ สามารถหรือมีความตั้งใจแรงกล้าเพียงพอที่จะส่งเสริมการสมานฉันท์อย่างแท้ จริง
อีกทั้งมาตรการที่เข้มงวดและการโหมไล่ล่าในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา (เห็นได้จากการต่ออายุ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การจับกุมคุมขังผู้ที่สนับสนุนคนเสื้อแดงจำนวนหลายร้อยคน การกักขังแกนนำ นปช.ไว้ในค่ายทหาร การปราบและปิดกั้นสื่อทางเลือกทั้งหมด) การแต่งตั้งคณะกรรมการหลากหลายคณะเพื่อแสร้งให้เห็นว่าประเทศกำลังเดินหน้า ไปสู่หนทางแห่งการ “สมานฉันท์” ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วเป็นเพียง “การสร้างความเห็นพ้องทางอุดมการณ์” โดยการใช้อำนาจบังคับผ่านการโฆษณาชวนเชื่อและการปราบปราม
นายกรัฐมนตรีและคณะนายทหารซึ่งกำลังชักใยอยู่เบื้องหลังรัฐบาลนั้น เลือกที่จะเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงพื้นฐานสองประการที่คนทั้งโลกเข้าใจแล้ว ประการแรกคือ การสมานฉันท์ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความจริง ประการที่ 2 การปราบปรามไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ความจริงและการสมานฉันท์ เผด็จการนั้นมีแต่จะสร้างความเกลียดชังและการหลอกลวงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
การทบทวนเหตุการณ์ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพไทยต้องรับผิด ชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำอย่างต่อเนื่อง อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการกลั่นแกล้ง ไล่ล่าทางการเมืองอย่างเป็นระบบ ขณะที่รัฐบาลไทยมีหน้าที่ตามหลักกฎหมาย ระหว่างประเทศที่ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนการกระทำละเมิดของตน และต้องนำตัวผู้รับผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประชาคมนานาชาติก็มีความรับผิดชอบด้านศีลธรรมที่จะทำให้มั่นใจว่าการก่อ อาชญากรรมของรัฐจะไม่ถูกปกปิด อันที่จริง ขณะนี้เห็นได้ชัดเจนว่า มีแต่แรงกดดันจากนานาชาติและการเข้ามามีส่วนร่วมของนานาชาติเท่านั้นที่จะ สร้างความมั่นใจได้ว่าการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์สังหารหมู่ในกรุงเทพฯ ที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพนั้นจะไม่เป็นเพียงการสร้างความยุ่งเหยิง ที่นำไปสู่การฟอกตัวเองจากกระบวนการยุติธรรมเพื่อซ่อนผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ต่อความรุนแรงโดยรัฐอย่างที่เป็นมาตลอดทุกครั้งในประวัติศาสตร์ไทย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินความผิดของผู้ที่ต้องรับผิด ชอบต่อกรณีการสังหารหมู่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เฉกเช่นเดียวกับการสังหารหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนมาก เมื่อปี 2516, 2519 และ 2535 อย่างไรก็ตามสำหรับครั้งนี้ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบจะต้องเผชิญกับความรับผิดจากการกระทำของตนเองในศาล ยุติธรรมที่แท้จริงซึ่งไม่ใช่ศาลที่พรั่งพร้อมไปด้วยมิตรสหาย หรือคนในการอุปถัมภ์ หรือผู้ที่ถูกแต่งตั้งจากพวกเขากันเอง
“การสมานฉันท์” ยังต้องอาศัยการยอมรับว่าความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันเป็นผลมาจากการ ทำลายและปฏิเสธเจตจำนงของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้นแล้ว การแก้ไขจะทำได้ก็ด้วยการยินยอมให้ประชาชนไทยได้พูดด้วยตัวเองในการเลือก ตั้งเท่านั้น แน่นอนว่าเพียงการจัดการเลือกตั้งนั้นยังไม่เพียงพอ ประเทศไทยต้องการการเลือกตั้งในบริบทที่ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบอันไม่สมควรจาก การปิดกั้นฝ่ายตรงข้าม จากการหนุนหลังจากกลไกรัฐ จากความโน้มเอียงของศาลที่จะบิดเบือนผลการเลือกตั้ง จากโอกาสที่กลุ่มอำนาจเก่าจะบ่อนทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซ้ำอีก หรือความหวาดกลัวว่าการรัฐประหารโดยกองทัพจะเกิดขึ้นอีก ประเทศไทยจึงต้อง การการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันของทุกฝ่ายภายใต้กฎกติกาที่เคารพในสิทธิของ ประชาชนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครที่พวกเขาเลือกได้ด้วยตัวเอง และมีรัฐบาลจากพรรคการเมืองที่พวกเขาได้เลือกมา รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ที่ประกาศใช้ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารซึ่งให้อำนาจศาลในการยุบพรรคการ เมืองและตัดสิทธิทางการเมืองของผู้นำพรรคนั้นสอบตกด้านความชอบธรรม ตราบเท่า ที่อภิสิทธิ์ยังมีความจริงใจต่อความเชื่อของตัวเองว่าเขามีความชอบธรรมที่จะ ปกครองประเทศ เขาก็ควรยินดีกับโอกาสที่จะได้แสดงว่าตนเองมีความชอบธรรมผ่านสนามเลือกตั้ง ที่สู้กันอย่างเท่าเทียม ตราบเท่าที่เขาหวาดกลัวการตัดสินจากประชาชน เขาย่อมไม่ที่อยู่ที่ยืนในรัฐบาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น