วันอังคาร, ธันวาคม 27, 2554

"10 ปรากฎการณ์ที่สุดแห่งปี 2554"


สุดยอดการเมืองปี54 "ปู" ผู้นำหญิงคนแรก อิงกระแส "ทักษิณฟีเวอร์" ถึงเป็นนายกฯนกแก้ว แต่แรงฮึดเต็มร้อย-Matichon Online
วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:01 น.

หมายเหตุ : นับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2554 ไปจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2555 "มติชนออนไลน์" ได้จัดทำรายงานพิเศษ "10 ปรากฎการณ์ที่สุดแห่งปี 2554" โดยผู้ที่จะถูกรายงานนั้น ประกอบไปด้วย นานาบุคคลผู้ทรงอิทธิพล ที่มีบทบาท มาแรงในด้านต่างๆ จากหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ บันเทิง กีฬา ต่างประเทศ หรือแม้แต่ภาคประชาชน ทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้ รายงานบางชิ้นอาจจะมีลักษณะ "ทีเล่น" ขณะที่บางชิ้นอาจมีลักษณะ "ทีจริง" แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ทั้ง 10 ปรากฎการณ์ดังกล่าว ล้วนแล้วมีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมไทย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา

กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการการเมืองไทยจนได้ ภายหลังจาก "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ เพราะไม่ใช่แค่เธอมาจากตระกูล "ชินวัตร" เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้หญิงคนแรกของไทย ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ แม้จะใช้เวลาเพียง 49 วันก็ตาม

มากกว่านั้น สิ่งดังกล่าว ยังถูกพูดถึงมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อคราวเลือกตั้ง วันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นมา หรือก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยมีผู้นำที่เป็นผู้ชายมาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ขณะเดียวกัน คงจำกันได้ว่า "ยิ่งลักษณ์" ถูกวางตัวจากพี่ชาย นั่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ก่อนจะถูกริบหนังสือเดินทาง และถูกพิพากษายึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน


ครั้งหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ จะเอ่ยปากว่า "หากผมโกงจริงขอให้มีอันเป็นไปใน 3 วัน 7 วัน เราท่านประหารเราชอบ เราไม่ผิดดาบนั้นคืนสนอง วันนี้ผมไม่ได้รับความไม่ยุติธรรมสุดๆ" และขอเป็นเหยื่อคนสุดท้าย

จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
ถึงกระนั้นก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีบทบาทต่อการเมืองไทย จนอันเป็นที่รู้กันว่า เขายังไม่ได้หนีไปไหนไกล ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะได้รับฉายา "ทักษิณส่วนหน้า"

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องมารับบทบาท หรืออาจจะเรียกได้ว่า เป็นภาระทางการเมือง ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากพี่ชาย เพราะไม่ใช่แค่ "หัวโขน" ที่มาพร้อมภาระ-หน้าที่-ความรับผิดชอบ แต่ยังพ่วงด้วยสารพัดความคาดหวัง เพื่อทำหน้าที่คุมเกมการเมืองทั้งหมด

เมื่อครั้งเดินทางลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า เคยถูกกันไม่ให้มายุ่งกับการเมือง แต่กลับถูกลากมาสู่สมรภูมิการเมืองในฐานะตัวแทนคนสุดท้ายของ "ตระกูลชินวัตร" แถมยังต้องแบกภาระหนักถึง 4 บทบาทในเวลาเดียวกัน
นั่นก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเธอ และถูกวางตัวให้อยู่ในสคริปต์มาโดยตลอด

เช่นเดียวกับข้อหาโดนบงการหรือถูกชักใยนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า "ถ้าเราไม่เป็นตัวของตัวเอง เวลาเจอสื่อถาม ตอบกะทันหันใครจะช่วย การตัดสินใจในครม. ก็ใครจะช่วยล่ะคะ วันนี้ไม่มีใครเชื่อ ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป"

ก่อนจะบอกว่า สิ่งที่ยากที่สุดในฐานะนายกฯ คือการตอบคำถามสื่อ ต้องมีทริคในการเก็งข้อสอบทุกๆ เช้า ด้วยการดูพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ร่วมกับมอนิเตอร์รายการเล่าข่าวยามเช้าของโทรทัศน์ทุกช่องดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความท้าทายและความรู้สึกของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในสภูมิการเมือง ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย


นี่ยังไม่นับรวมเสียงวิพากษณ์ วิจารณ์ของพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงประชาชนทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะสังคมในโลกออนไลน์ ที่พูดถึงความเหมาะสม ไม่เหมาะสม ดี ไม่ดี ชอบ ไม่ชอบ ฯลฯ

พอๆ กับชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกจับตามทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง หรือเมื่อครั้งมีการชุมนุม ก่อนจะนำไปสู่การสูญเสียแบบหามิได้

จากหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง ที่ไม่ใช่แค่การพุ่งเป้าความสนใจมาที่ "นารี" เท่านั้น แต่ยังมีความสนใจในการสืบอำนาจทางการเมืองด้วย เพราะลำพังการต่อสู้ทางการเมืองของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่จุดเด่น ต่างจากบทบาทของสตรีที่ต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น

กลับกลายเป็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกพูดถึงประเด็นอื่นมากกว่า ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะความโชคร้ายของเธอด้วยหรือไม่ ตลอด 5 เดือนเศษ ที่ต้องเจอโจทย์หนักทุกข้อ

ไล่มาตั้งแต่ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ การตัดสินใจทุกอย่างต้องตกมาอยู่ที่เธอเพียงคนเดียว ซึ่งพร้อมจะเกิดความผิดพลาดได้ทุกเมื่อ และถือว่าเป็นภาระอันหนักอึ้งเมื่อเทียบกับความ "เก๋า" ทางการเมือง แม้กระทั่งการถูกล้อเลียนว่า "เอาอยู่"

แม้เรื่องน้ำท่วมจะไม่ใช่เรื่องที่ถนัด แต่ก็สามารถวัดความสามารถในการบริหารงาน หรือความเป็นผู้นำได้อยู่เหมือนกัน และตั้งแต่รับตำแหน่งมา ก็วนอยู่แต่เรื่องน้ำท่วม

ในระหว่างนี้ ก็มีเรื่องการผ่านร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เข้ามาพอเป็นสีสันบ้าง แม้ตัวละครหลักจะไม่ใช่น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ก็เป็นที่กล่าวถึงจนได้ เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขาดการประชุมครม. ซึ่งเป็นวันเดียวกับการผ่านร่างพ.ร.ฎ.อภัยโทษ รวมไปถึงกระแสปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)


มากกว่านั้น ยังมีเรื่องของการคืนพาสปอร์ตให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนจะนำมาสู่การยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุดยังมีเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นฐานเสียงอย่างดีมาโดยตลอดของพรรคเพื่อไทย

ทั้งหมด ก็ถูกกล่าวถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ แทบทั้งสิ้น

มากกว่านั้น ยังมีในเรื่องของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ก่อนจะกลายเป็นจุดโจมตีของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะเรื่องการลงรูปพระบรมฉายาลักษณ์ผิด

หลายสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็มีมาให้เห็นอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เมื่อภาพของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กลายเป็นกระแสประชาธิปไตย เมื่อครั้งเดินทางเยือนประเทศพม่า และได้พบกับนางออง ซาน ซูจี

คำว่า "นารี" ขี่กระแสประชาธิปไตย ก็เกิดขึ้น
ฉะนั้นการเดินทางเยือนพม่าและภาพการจับมือระหว่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนางออง ซาน ซูจี กลายเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

และอีกหลายๆ เหตุการณ์ในฐานะผู้นำของประเทศไทยในการพบผู้นำ ขณะเยือนต่างประเทศ แม้กระทั่ง การเข้าร่วมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือการประชุมอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย

อีกทั้ง ภาพเดินตีคู่ผู้นำเหล่าทัพของไทย ก็ปรากฎขึ้น การก่อนจะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย
ที่สำคัญน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังเดินตรวจแถวกองทหารครบทั้ง 3 เหล่าทัพแล้วด้วย

นอกจากนี้ ยังปรากฎภาพของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ขณะเยือนประเทศลาว เวียดนาม สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย ทั่วอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และน้อยนักที่จะเห็นภาพลักษณะนี้


ครั้งแรกของประเทศไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงกลาโหม ณ ศาลาว่าการกลาโหม ถนนสนามไชย


เช่นเดียวกับการนำนายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ขณะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย


ล่าสุดกองทัพภาค 1 ได้ขึ้นรูปน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาติดแทนนายอภิสิทธิ์ ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพแล้ว และนี่ก็ถือครั้งแรกที่รูปผู้หญิงติดอยู่บนสุดของ "บิ๊กกองทัพ"


และอีกหลายๆ เรื่อง ต่อจากนี้ไป ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาเป็นผู้นำประเทศ ที่ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น ต่างชาติก็ได้มีการพูดถึงเช่นกัน

บทบาทข้างต้น ยังไม่มีใครสรุปได้ว่าดีหรือไม่ดี ถือประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยผลสำรวจเรื่อง "เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์" ครั้งที่ 1 ในรอบปี คะแนนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังนำ


จากผลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าคนอีสานยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อ ประเมินผลงานให้ผ่านทุกด้าน การต่างประเทศประเมินผ่านสูงสุด แม้การแก้ปัญหาภัยธรรมชาติคะแนนรั้งท้าย และนักการเมืองคนอื่นๆ อาจจะโดดเด่นกว่า

ขณะที่หลายๆ โพล คะแนนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้แย่เช่นกัน หรือดีขึ้นด้วยซ้ำ

เหตุการณ์ทั้งหมด อาจเรียกได้ว่าเป็น "ปรากฎการณ์ยิ่งลักษณ์" หรือ "ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์" ก็ว่าได้ หลังจากที่ครั้งหนึ่ง ได้มีกระแส "ทักษิณฟีเวอร์" มาแล้ว

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีบทบาททางการเมืองร้อนแรงที่สุดในปีนี้ ไล่ตั้งแต่การหาเสียง จนถึงภาระหน้าที่อันทรงเกียรติ


ฉะนั้น การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถฝ่าความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านร้อนผ่านหนาว ท่ามกลางซากปรักหักพังมาได้ จึงถือว่า "ไม่ธรรมดา"
จนสามารถแจ้งเกิดได้เกิดในวงการการเมืองได้ แม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะได้รับฉายา "ดาวดับ" ในสภาฯ "กระดองปูแดง"

ล่าสุด เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 5 ธันวาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) ให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อีกด้วย



เท่ากับว่าการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ก็ถือเป็นการยอมรับในตำแหน่ง
คำถามต่อจากนี้ก็คือว่า ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เป็นนายกฯ เธอจะมีบทบาทอะไรในทางการเมือง
ขณะเดียวกัน ถ้าประเทศไทยไม่จมอยู่กับ "เอาทักษิณ" หรือ "ไม่เอาทักษิณ" ก็ไม่รู้ว่าจะได้เห็นอะไรในตัว "ยิ่งลักษณ์"

ก่อนจะส่งผลให้ทั่วโลกหันมาเคลื่อนไหวในบทบาทของ "สตรี" เพื่อให้เข้ามาทำงานทางการเมืองและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้นและต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น