วันอังคาร, สิงหาคม 16, 2554

เสธ.ทบ.ตอบโจทย์ ทำไม! ทหารต้องสลายม็อบ



เสธ.ทบ.ตอบโจทย์ ทำไม! ทหารต้องสลายม็อบ
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:48:22 น.

หมายเหตุ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างนำคณะนายทหารเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านความมั่นคงกับคณะผู้บริหารในเครือมติชน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม

เราคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำให้ความแตกแยกที่มีขยับเข้ามาใกล้ขึ้น เราคาดหวังแบบนั้น เพื่อให้คนไทยเป็นสยามเมืองยิ้มเหมือนเดิม ตรงนี้สำคัญ ผมเข้าใจบทบาทของสื่อดีว่าต้องทำหน้าที่อย่างไร แต่คนไทยใช้ความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง ดังนั้นการมาวันนี้เพื่อเปิดหน้าให้เข้าใจความรู้สึกของเรา

ปัญหาการควบคุมม็อบ ต้องมองว่าก่อนหน้านี้ยังไม่มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มีความพยายามจะใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯอีกครั้ง โดยจะเข้าไปสลายคนเสื้อเหลืองในทำเนียบรัฐบาล แต่ทำไม่ได้ ถ้าทำบาดเจ็บแน่ ซึ่งวันนั้นเป็นวันที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เกษียณอายุราชการพอดี ซึ่งท่านสมัครมีสิทธิลงโทษได้เลย แต่ว่าคำสั่งการของนายกฯก็ห้วนๆ ไปนิดหนึ่ง ให้ ผบ.ทบ.รับผิดชอบไปเลย แต่เมื่อถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ พ.ร.บ.มั่นคงฯก็มี แต่ท่านไม่ได้ใช้เรา แต่ให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาดูแล และสั่งการต่อตำรวจเป็นส่วนใหญ่ มาถึงสมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านหยิบเรามาใช้ตามอำนาจของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ทำให้เราต้องเข้าไป ท่านสมัคร หรือท่านสมชายก็มีสิทธิแต่ไม่ใช้เองครับ

ท่านนายกฯอภิสิทธิ์มีสิทธิที่จะใช้ได้ทั้งทหาร ตำรวจ ซึ่งเท่าที่เห็นก็ใช้ตำรวจก่อน แต่เมื่อกำลังไม่พอ เพราะตำรวจเราไม่ได้ออกแบบเพื่อมารับสถานการณ์ขนาดนี้ ไม่ไหวแน่ ทั้งประเทศไทยมีกองร้อยควบคุมฝูงชนแค่ 2 กองร้อย มีคนอยู่ 300 คน ที่เหลือคือ ตำรวจตามโรงพักที่เกณฑ์มา ดังนั้น ทำให้ต้องเอาทหารเข้ามา ซึ่งนำ พ.ร.บ.มั่นคงฯเอาทหารออกไปใช้การประชุมที่ จ.ภูเก็ต และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พอใช้ทหารมาเรื่อยๆ จนคล่อง เพราะทหารมีโครงสร้างผู้บังคับบัญชาที่ดี เป็นธรรมดาที่ผู้บริหารมองว่าใช้ใครทำงานได้

แต่เราระวังตัวมาก เรารู้ว่าคนที่เรากลัวที่สุดคือ ประชาชน ไม่เคยกลัวโจร ไม่เคยกลัวศัตรูที่ไหนเลย ยกกองทัพมาไม่เคยกลัว แต่กลัวประชาชนที่สุด และตำรวจไทยถูกออกแบบให้จับโจร ผู้ร้าย ไม่ได้ถูกออกแบบเจอสถานการณ์อย่างที่เขาเจอ เลยเป็นภาพที่เราเข้าไปร่วมกับรัฐบาลด้วยกฎหมายจริงๆ ถ้าไม่มีกฎหมายตัวนี้เขาก็ไม่มีสิทธิ

@ แนวคิดตั้งทบวงความมั่นคงเป็นอย่างไร

ในการประชุม กอ.รมน. ที่มีนายกฯในฐานะ ผอ.รมน.เป็นประธาน ซึ่งเรามองเห็นว่าความมั่นคงภายในปัจจุบันมีความรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้ง กอ.รมน.ถูกระแวงว่าเป็นทหารบก แต่จริงแล้วในโครงสร้าง กอ.รมน.ออกแบบโครงสร้างมาเพื่อพลเรือน ตำรวจ ทหาร ภัยความมั่นคงที่เรามองเห็นขณะนี้ คือ ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว การก่อการร้ายสากลข้ามชาติ การบุกรุกทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพระราชดำริ ดังนั้น 6 เรื่องที่เราเลือกมาทหารทำส่วนใหญ่ โดยที่ยาเสพติดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นหัวหน้าใหญ่ ส่วนแรงงานต่างด้าวให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าใหญ่ การก่อการร้ายอาชญากรรมข้ามชาติให้ผู้การสันติบาลเป็นหัวหน้า แต่ในทางปฏิบัติท่านไม่มาเลย เราจึงเล่นเองตลอด ภาพจึงกลายเป็นกองทัพบก คนก็มาระแวง กอ.รมน.เพราะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน. มี เสธ.ทบ.เป็นเลขาฯ กอ.รมน.

พล.อ.ประยุทธ์ก็มาคุยกับผมว่า ทำไงเมื่อมีการระแวงกัน แต่วันนี้ภัยความมั่นคงมีมากขึ้น หากเป็นทบวงแบบเมืองนอกจะเป็นอย่างไร เขาจะได้มาดูแลกันเต็มๆ แต่ทั้งหมดเป็นแนวคิดจุดเริ่มเล็กๆ ใช้เวลา 5-10 ปีก็ยังไม่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งไปคิดว่าจะไปเร็วขนาดนั้น แต่ กอ.รมน.ถูกระแวงทั้งประชาชน ฝ่ายการเมือง ข้าราชการด้วยกันเอง ว่าจะเข้าไปทุบหม้อข้าวเขา

กฎหมายเขียนไว้ว่า กอ.รมน.มีหน้าที่บูรณาการ เวลาของบประมาณเขาจะอ้างว่าเราไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ คุณเป็นผู้บูรณาการ เอาไปแค่ 600 ล้านบาทพอ ดูแลทั้งประเทศ ผมมี 600 ล้านบาทที่จะดูภัยความมั่นคงทั้ง 77 จังหวัด ทั้งนี้ ที่เราได้งบประมาณในปีนี้ 6,000 กว่าล้านบาท แต่เป็นงบประมาณภาคใต้ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยเลี้ยง 4,000 ล้านบาท ดังนั้น ตัวเลข 30,000 กว่าล้านบาท ที่เหลือเป็นของกระทรวง ทบวง กรมอื่นที่ลงใต้ แต่คนพูดว่า กอ.รมน.เอาไป 30,000 ล้านบาทนั้นคงไม่ตรง

@ ชุดเฉพาะกิจ 315 (ฉก.315) ปราบปรามยาเสพติดจะทำต่อหรือไม่

ลองไปถามประชาชนดู ซึ่งเรื่อง ฉก.315 รัฐบาลที่แล้วมีนโยบายทำเรื่องนี้กับ ป.ป.ส. โดยไปคุยกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ซึ่งท่านมีตำรวจไม่พอ เพราะเอาตำรวจออกมาทำหน้ารักษาความปลอดภัยที่ทำเนียบรัฐบาล ผมจึงบอกว่าหากจะเอาทหารไปอย่าให้ทหารเป็นหัวหน้า เพราะใกล้เลือกตั้งไม่เช่นนั้นจะระแวงกันตายเลย ดังนั้น ตำรวจจึงเป็นหัวหน้า ฉก.315 ทั้งหมด ทหารเป็นลูกทีมเท่านั้น ขนาดกลัวอยู่แล้วแต่ก็ยังไม่วายโดน โดยที่แผนงานของ ฉก.315 ก็มีการระดมในช่วงนั้น แต่จะเป็นแทคติกของรัฐบาลที่จะระดมก่อนเลือกตั้งก็เป็นเรื่องปกติ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร หากพูดกันตรงๆ

@ หลังการเลือกตั้งกองทัพวิเคราะห์ 2 สีจะจบลงหรือไม่

ผมยังไม่วิเคราะห์เรื่องนี้เลย (หัวเราะ) ที่ปวดหัวและเบาใจลงคือ เรื่องกัมพูชา เพราะมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่เขาดีกัน ซึ่งน่าจะเบาลงทำให้ทหารจะมีเวลาดูแลเรื่องภาคใต้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราก้าวหน้า 5 ยุทธศาสตร์ แต่เหลือยุทธศาสตร์เดียวที่เราเหนื่อย คือการรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน เขาก็รู้เพราะเขาแพ้ในยุทธศาสตร์ทั้งหมด เขาจึงเหลือยุทธศาสตร์เดียวคือ สร้างความหวาดกลัว ไม่มีทางเลือกอื่น เผอิญเรื่องนี้เป็นอิมแพค (มีผลกระทบ) ข่าวที่ออกไปไม่ครอบคลุม แต่ก็เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ด้วยที่ไม่ให้ข่าวเขาเอง

@ เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลทิศทางนโยบายของผู้ปฏิบัติในการแก้ปัญหาภาคใต้จะมีผลกระทบหรือไม่

ผมคิดว่า สิ่งที่รัฐบาลพูดในเขตปกครองพิเศษภาคใต้ เรื่องนี้เราต้องคุยกับรัฐบาลในรายละเอียดอีกที เพราะเรามีข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไร ถ้าเกิดแบ่งออกไปจะเกิดอะไรขึ้น มีความเสี่ยงอะไรบ้าง และรัฐบาลนี้ที่ประกาศนโยบายนี้ออกมาก็ยังไม่มีรายละเอียดในพื้นที่จะลงลึกขนาดไหน เราจะชี้ให้รัฐบาลเห็นว่าความเสี่ยงท่านจะรับได้แค่ไหน ถ้าท่านรับได้ก็เป็นนโยบาย เราคงไม่มีทางเลือกอื่น

@ ความเสี่ยงที่ว่ามีแค่ไหน

ความเสี่ยงของผมจะอย่างหนึ่ง แต่ถ้าถามนักธุรกิจ นักการเมือง หรือประชาชนเขาจะมองความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง ผมจะมองในมิติของผม เหมือนกับคนไทยขอใช้คำว่าถ้าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา นั้นแปลว่าหลายๆ ภาคส่วนไม่ได้ตระหนักข้อมูลภัยพวกนี้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความสำคัญมาก แต่ถ้าไม่มองถึงภัยความมั่นคง คิดถึงแต่เด็กที่จะมาศึกษาอย่างเดียวคงไม่ครบด้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดคิดแต่จะให้เป็นที่ท่องเที่ยวแต่ลืมมองเรื่องความมั่นคง ถ้าจังหวัดท่านไม่มีความเรียบร้อยสิ่งที่ท่านคิดคงไปไม่ถึงจุด

สิ่งที่เรามอง เราจะรู้ว่าอะไรก้าวหน้าไม่ก้าวหน้า กราบเรียนต่อหน้าพระก็ได้ เราไม่นั่งเทียนมองว่าก้าวหน้า 6 ยุทธศาสตร์ที่เราทำมีความก้าวหน้าจริง แต่ถามว่าสำเร็จหรือไม่ ผมไม่กล้าใช้คำนั้น แต่ต้องใช้เวลา แน่นอนถ้าให้เขาปกครองตนเองเขาจะหยุดยิงแน่ หรือถอนทหารก็หยุดยิง แต่เมื่อหยุดยิงคงไม่มีใครไปอยู่กับเขา

กอ.รมน.โดยกองทัพบก มองว่าทหารที่มาจาก กทม. อีสาน เหนือ ที่ลงไปใต้ไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น เดือนตุลาคมนี้จะปรับเปลี่ยนกำลังทหารได้ 4 กองพัน โดยนำทหารหลักขึ้นมา โดยให้ทหารพรานดูพื้นที่แทน ค่อยๆ ทยอยๆ ไป

7 ปีที่ผ่านมา การทำความเข้าใจใน 2 ปีแรกตั้งแต่ปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส ข้าราชการทุกส่วนเข้าไปหมู่บ้านไม่ได้เลยหากเขาไม่ให้เข้า แปลว่าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจเขา และเขาก็ไม่เข้าใจเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเราเลยใช้เวลา 2-3 ปีแรก ช่วงพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. เราสร้างความเข้าใจ จากนั้นสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. เราเริ่มเข้าถึง แต่เขามีความรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่คุ้มครองเขาไม่ได้ พล.อ.อนุพงษ์ จึงขยายฐานปฏิบัติการ 7-8 ร้อยฐานเกาะตามหมู่บ้านเพื่อคุ้มครองและเข้าถึง เมื่อเวลา 3 ปีผ่านไปเราคิดว่าทำสำเร็จ รถทหารผ่านเด็กก็เริ่มโบกมือให้ เมื่อมาถึงรอยต่อระหว่าง พล.อ.อนุพงษ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลก็เอางบฯไทยเข้มแข็งลงเพื่อพัฒนา ดังนั้น หากย้อนไปดู "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" จริงๆ (ยกมือไหว้) ยุทธศาสตร์พัฒนาเป๊ะ

เราจะหยุดความรุนแรงได้เมื่อไร ผมคงตอบไม่ได้จริงๆ แต่จุดศูนย์ดุลหัวใจของเราคือ ประชาชน ทหารใช้คำนี้ และมุ่งไปที่ประชาชนในพื้นที่กว่า 2 ล้านคน ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงลดลงเรื่อยๆ

ที่มา : มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น